Humberger Menu

อพาร์ตเมนต์ของรัฐบาลสิงคโปร์ ให้เลี้ยงแมวได้แล้ว หลังถูกห้ามมากว่า 30 ปี

มากกว่า 3 ทศวรรษ แมวถูกห้ามเลี้ยงในอพาร์ตเมนต์ที่รัฐบาลสิงคโปร์สร้างขึ้น หรือที่เรียกกันว่า แฟลต HDB ที่มีประชากรชาวสิงคโปร์ 80 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่

แม้ข้อห้ามนี้จะไม่ได้ถูกบังคับอย่างเคร่งครัดมาก แต่เมื่อเพื่อนบ้านร้องเรียน คนที่ถูกจับได้ว่าแอบเลี้ยงแมวจะถูกปรับ 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 108,684 บาท หรือต้องนำสัตว์ออกไปจากที่พัก

เหล่าทาสแมวชาวสิงคโปร์ผลักดันให้แก้ไขข้อห้ามนี้ หลังจากมีการทำแบบสำรวจของหน่วยงานดูแลสัตว์ในสิงคโปร์ (Animal and Veterinary Service) พบว่าผู้ทำแบบสำรวจประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าแมวควรได้รับอนุญาตให้เป็นสัตว์เลี้ยงในแฟลต HDB ทำให้ภายในปีนี้คำสั่งห้ามเลี้ยงแมวจะถูกยกเลิก

ทำไมสิงคโปร์

ถึงมีข้อห้ามเลี้ยงแมว

แฟลต HDB ก่อตั้งขึ้นในปี 1960

และขายยูนิตอาคารที่รัฐบาลสร้างขึ้นให้กับพลเมืองที่มีคุณสมบัติตามสัญญาเช่า เป็นระยะเวลา 99 ปี เพื่อแก้ไขวิกฤติที่อยู่อาศัยที่ทำให้ประชากรหลายคนต้องอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด โดยไม่มีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม

นั่นส่งผลให้สิงคโปร์

มีอัตราการเป็นเจ้าของบ้านสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ข้อเสียคือผู้อยู่อาศัยที่นี่จะต้องปฏิบัติตามข้อจำกัดและกฎระเบียบหลายข้อ

หนึ่งในนั้นคือข้อห้ามเลี้ยงแมว

ที่ถูกกำหนดขึ้นเมื่อปี 1989 ด้วยเหตุผลว่า แมวมักมีขนร่วง ถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะในที่สาธารณะ และยังส่งเสียงด้วย ซึ่งอาจทำให้เดือดร้อนเพื่อนบ้าน

แต่ที่แปลกคือแฟลต HDB

กลับอนุญาตให้สามารถเลี้ยงสุนัขได้ ในกรณีที่มีใบอนุญาตจากหน่วยงานดูแลสัตว์ในสิงคโปร์ กลายเป็นคำถามว่า นี่เป็นกฎที่สองมาตรฐานหรือไม่

Replay

ผมไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีการสั่งห้ามตั้งแต่แรก ปกติแล้วแมวไม่ใช่ปัญหา

แต่บางทีสุนัขอาจเป็นปัญหามากกว่า เพราะพวกมันส่งเสียงดัง และถ้าสุนัขกัด คุณก็เดือดร้อน

อดัม (นามแฝง) ชายวัย 42 ปี ผู้อาศัยในแฟลต HDB ที่แอบเลี้ยงแมว

เลี้ยงแมวได้แต่ก็ยังมีเงื่อนไข

กฎระเบียบใหม่ที่อนุญาตให้เลี้ยงแมวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป โดยผู้อยู่อาศัยจะได้รับอนุญาตให้เลี้ยงแมวได้สูงสุด 2 ตัว รวมถึงสุนัขสายพันธุ์ที่ได้รับการอนุมัติ 1 ตัว

เจ้าของจะต้องได้รับการอบรมหลักสูตรการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงออนไลน์ และต้องพาแมวไปฝังไมโครชิปและลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง รวมถึงเจ้าของจะต้องดูแลความปลอดภัยของแมวตามสมควร เช่น ติดตั้งตาข่ายหรือตะแกรงเพื่อป้องกันไม่ให้แมวสัญจรไปมา หรือตกจากหน้าต่าง

นอกจากนี้จะมีการยกโทษให้สำหรับครัวเรือนที่มีแมวมากกว่า 2 ตัว กรณีที่เจ้าของยื่นขอใบอนุญาตในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างการแก้ไขกฎใหม่ประมาณ 2 ปี

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ ทำให้มีผู้รับเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างมาก พร้อมกับมีจำนวนเงินที่ใช้จ่ายไปกับการซื้อสัตว์มากขึ้น ซึ่งตั้งแต่ในปี 2023 มีแมวถูกรับเลี้ยงประมาณ 94,000 ตัว เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2019

สิงคโปร์ยังมีแมวจรจัดที่อาศัยอยู่ตามแฟลต HDB จำนวนมาก และได้รับการดูแลจากผู้อยู่อาศัยที่ทิ้งน้ำ อาหาร และที่นอนไว้ให้

อาร์ธี ซันการ์ (Aarthi Sankar) กรรมการบริหารของสมาคมป้องกันการทารุณกรรมสัตว์แห่งสิงคโปร์ หวังว่าในระยะยาวข้อกำหนดให้จดทะเบียนแมวที่มีเจ้าของทุกตัวจะป้องกันไม่ให้ผู้คนทิ้งสัตว์เลี้ยง ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น

“สิ่งที่ฉันกังวลคือ เจ้าของบางรายจะเข้าใจกฎใหม่ผิด และทิ้งแมวที่เกินกำหนด 2 ตัว โดยไม่ทราบว่าสามารถจดทะเบียนและเลี้ยงสัตว์เพิ่มเติมได้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านกฎใหม่นี้”

อาร์ธี กล่าวอีกว่า นักรณรงค์ด้านสวัสดิภาพสัตว์ยังต้องการให้รัฐบาลมีกฎบังคับใช้สัตว์เลี้ยงต้องทำหมันด้วย เนื่องจากแมวมักผสมพันธุ์โดยที่เจ้าของไม่ได้ตั้งใจอยู่แล้ว

การห้ามแมวในแฟลต HDB ของสิงคโปร์เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมการใช้กฎเกณฑ์อันเข้มงวด นอกจากนี้ก็มีกฎอื่นๆ เช่น การขายและการนำเข้าหมากฝรั่งยังคงถูกห้ามในสิงคโปร์ 

แต่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายจะไม่เกิดขึ้นหากเราตบมือแค่ข้างเดียว สิ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์ทำคือการรับฟังประชากรของพวกเขาและแก้ไขปัญหาร่วมกัน แม้ยังคงระบบและระเบียบที่เคร่งครัดเช่นเดิมก็ตาม


อ้างอิง: theguardian.com, CNA, reuters.com