แสงสะท้อนของพระอาทิตย์กอดเกี่ยวอยู่กับน้ำ
จังหวะกระเพื่อมทำให้เกิดประกายระยิบระยับ
ภาพธรรมชาติที่ทำให้เราไม่อาจละสายตา
มาพร้อมกับเสียงสายธารอันนุ่มนวล
ยามใดที่เราได้จ้องมองไปยังผืนน้ำ
หลายครั้งก็ทำให้เรารู้สึกสงบใจ
ปัญหาที่แบกเอาไว้ก็คล้ายจะปลดเปลื้องออกจากความคิดชั่วขณะ
ทำไมเพียงนั่งมองน้ำถึงทำให้เรารู้สึกดีได้ขนาดนี้
ฉันมักเกิดคำถามนี้ทุกครั้งเมื่อไปนั่งเล่นริมน้ำในสวนสาธารณะ มันคือที่ที่ฉันได้ปลดเปลื้องความกังวลใจ แม้จะทำเพียงนั่งนิ่งๆ จับจ้องอยู่กับสายธารที่ไหลไปตามจังหวะของมันอย่างเชื่องช้า
จู่ๆ ก็คล้ายว่าปัญหาเบาลงได้เพียงแค่นั่งมองแสงแดดกับผิวน้ำเต้นรำด้วยกัน แล้วเราได้ชื่นชมแสงระยิบระยับที่เปล่งออกมา
เรื่องพวกนี้ไม่ได้เป็นเพียง ‘การคิดไปเอง’ แต่อย่างใด นักจิตวิทยาและนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยพยายามค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และคำตอบคือ พวกเรากอดเกี่ยวกับความเป็นไปของโลกอย่างแยกไม่ขาด ธรรมชาติเยียวยาเราได้จริง โดยเฉพาะ ‘น้ำ’
ความมหัศจรรย์คือ พื้นที่บนโลกนี้มีสัดส่วนของน้ำราว 80% เช่นเดียวกับร่างกายของมนุษย์มีมวลน้ำในร่างกาย 80% เช่นเดียวกัน
มันจึงเป็นส่วนหนึ่งของความผูกพัน มนุษย์ต้องดื่มน้ำและการใช้ประสาทสัมผัสไปกับน้ำยังช่วยเยียวยาจิตใจเราด้วย
งานศึกษาของ ลูอิส เอลเลียต จากมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์และบลูเฮลธ์ พบว่า ผู้คนที่ไปเที่ยวชายฝั่งทะเลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง มักจะมีสุขภาพร่างกายโดยรวมและสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
แมทธิว ไวท์ อาจารย์อาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์และนักจิตวิทยาสิ่งแวดล้อมแห่ง BlueHealth ซึ่งเป็นโครงการวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพื้นที่สีน้ำเงินใน 18 ประเทศของยุโรป กล่าว
น้ำมีสรรพคุณหลายอย่างที่ช่วยเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจ
ข้อแรก–การเคลื่อนไหวของสายธารทำให้จิตใจเรานิ่งขึ้น
แคทเธอรีน เคลลี่ นักวิจัยชาวไอริช กล่าวว่า น้ำมีคุณสมบัติในการทำสมาธิ
ไม่ว่าจังหวะน้ำจะเป็นแบบไหน แต่คุณกำลังได้มองดูบางสิ่งบางอย่างด้วยความตั้งใจ
ลองนึกภาพคุณกำลังจับจังหวะเคลื่อนไหวของทะเลยามเข้าหาฝั่ง เมื่อแรงผลักของมหาสมุทรทำงานอย่างแข็งขันจากห้วงความลึก จากนั้นค่อยๆ ม้วนตัวเข้าหาฝั่ง หรือเมื่อแรงอ่อนๆ กระทบกับพื้นทรายตื้นๆ ทำให้ฟองอากาศกระจายตัวบนทราย
การจดจ่ออยู่กับการเคลื่อนที่ของสายธารจึงเป็นกระบวนการที่เราได้ออกจากห้วงความวิตกกังวล พร้อมกับตกตะกอนความคิดไปด้วย เมื่อมองในเชิงปรัชญา ระหว่างที่นั่งมองทะเลหรือผืนน้ำท่ามกลางปัญหาที่ต้องเผชิญ คุณจะพบว่า สายธารตรงหน้าไม่ได้คะยั้นคะยอให้เราตอบปัญหาชีวิตให้เร็วที่สุด แต่ต้องการให้เราอยู่กับปัจจุบันมากที่สุด
แมทธิว ไวท์ นักจิตวิทยาสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่า ในยามที่มนุษย์ครุ่นคิดหรือจดจ่ออยู่กับความคิดเชิงลบเกี่ยวกับความทุกข์ หากพวกเขาไปเดินเล่นใกล้แหล่งน้ำ มันช่วยให้เราเปลี่ยนผ่านความคิดไปหาสิ่งแวดล้อม ทำให้เรามองเห็นชีวิตในมุมมองใหม่ๆ มากขึ้น
นั่นคือเหตุผลที่เมื่อเรามองเห็นความยิ่งใหญ่ของทะเลก็ทำให้รู้ว่า ปัญหาที่เราเจอนั้นเล็กจ้อยเพียงใด หากคลื่นทะเลยังมีขึ้น-ลงชีวิตของเราก็เป็นเช่นนั้น มีวันที่คลื่นแรงปะทะกับโขดหินบนฝั่ง มีวันที่คลื่นเบาหวิวเคลื่อนตัวเข้าหาทรายอย่างใจเย็น
สรรพคุณเยียวยาใจข้อที่สอง คือ การได้ฟัง ‘เสียง’ เคลื่อนไหวของน้ำช่วยสร้างความผ่อนคลายให้เรา
ไม่ว่าจะเป็นเสียงคลื่น เสียงน้ำค่อยๆ ไหลลงจากที่สูง เสียงสายธารในแม่น้ำ สิ่งเหล่านี้จัดอยู่ในประเภท ‘เสียงสีชมพู’ หรือเสียงที่ไม่มีความซับซ้อน มอบความนุ่มนวลและผ่อนคลาย นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า เสียงสีชมพูช่วยให้เรานอนหลับได้ดีขึ้น เพราะช่วยลดกิจกรรมของคลื่นสมอง
ข้อสาม สีน้ำเงินในน้ำทะเลช่วยทำให้จิตใจและร่างกาย สงบ ผ่อนคลาย และมีพลัง นักวิทยาศาสตร์บางคนยังกล่าวว่า มนุษย์มีวิวัฒนาการบนโลกที่มีแต่สีฟ้าและท้องฟ้าเป็นส่วนใหญ่ นั่นคือเหตุผลที่สีน้ำเงินมีผลในแง่บวกต่อเรา
ประการสำคัญคือ หากเราได้เอาตัวจุ่มลงน้ำ ดำผุดดำว่ายเพื่อให้ร่างกายได้สัมผัสกับมัน น้ำจะช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวล ความเครียด ความดันโลหิต และปลอบโยน เพราะระดับคาเทโคลามีน ฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ตอบสนองต่อการสู้หรือหนี ซึ่งผลิตขึ้นมาจากต่อมหมวกไตเมื่อมนุษย์เครียด และทำให้ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และอัตราการหายใจสูงขึ้น แต่เมื่อคุณแช่อยู่ในน้ำ ร่างกายของคุณจะส่งสัญญาณเพื่อเปลี่ยนสมดุลของคาเทโคลามีนให้ลดลงในระดับที่ใกล้เคียงกับการนั่งสมาธิหรือพักผ่อน
ส่วนงานศึกษาของแมทธิว ไวท์ อาจารย์อาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์และนักจิตวิทยาสิ่งแวดล้อมแห่ง BlueHealth ยังค้นพบว่า สิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำยังกระตุ้นให้เราออกกำลังกายมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่กีฬาทางน้ำแต่ยังรวมถึงการเดินและขี่จักรยาน อีกทั้งมลพิษรอบแหล่งน้ำก็น้อยกว่า ทำให้คนอยากออกจากบ้านมารับแสงแดดและเจอบรรยากาศธรรมชาติมากขึ้น
แม้ว่าการเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวอย่างทะเล หรือการไปเยือนแหล่งน้ำก็ยังเป็นข้อจำกัดสำหรับคนบางกลุ่ม แต่งานศึกษาในปี 2010 โดย แมทธิว ไวท์ พบว่า เพียงแค่มีน้ำพุ บ่อน้ำเล็กๆ หรือการได้เห็นภาพ ‘น้ำ’ ก็ทำให้คนได้รับอารมณ์เชิงบวก อีกทั้งการได้ยิน ‘เสียงประกอบ’ ของน้ำ หรือแสงบนน้ำก็มีผลต่อการฟื้นฟูเช่นกัน กล่าวอย่างเข้าใจง่ายคือ การมีแหล่งน้ำ-ไม่ว่าเล็กแค่ไหน-ก็ยังดีกว่าไม่มีเลย
ถึงอย่างนั้น การรักษาแหล่งน้ำตามธรรมชาติก็ยังเป็นสิ่งสำคัญอยู่ดี ยิ่งมีข้อพิสูจน์ที่ว่าน้ำมีส่วนสำคัญในการเยียวยาจิตใจเรา การรักษาธรรมชาติให้คงอยู่ได้ในระยะยาวคือการ ‘รักษาทุนทางธรรมชาติ’ ของมนุษย์ แหล่งน้ำไม่ได้เป็นเพียงทรัพยากรของใครคนใดคนหนึ่ง และไม่ควรถูกทำลายเพียงเพื่อ ‘การเติบโตและการพัฒนา’ ของเมืองเท่านั้น แหล่งน้ำควรได้รับการปกป้อง รักษา และดูแล
เพราะความเป็นอยู่ที่ดีของน้ำคือความเป็นอยู่ที่ดีของเราเช่นกัน