Humberger Menu

ทำไมการเยียวยาจิตใจถึงใช้เวลา?

ภาวะของความรู้สึกพ่ายแพ้

เราเข้าใจตัวเองแทบทุกอย่างเกี่ยวกับปัญหาจิตใจ เราเปิดเผยกับคนที่ไว้ใจ จิตแพทย์ และเพื่อนๆ เกี่ยวกับปมวัยเด็กที่ส่งผลมาจนถึงวัยผู้ใหญ่ ทุกคนช่วยสะท้อนความคิดให้เราเห็นแผนที่อารมณ์ตัวเอง แต่ไม่ว่าเราจะเข้าใจมากเพียงใด มันก็ไม่เคยง่ายที่จะแก้ไขได้ กลับมาจมกับความรู้สึกแย่ ชีวิตไม่ได้ขยับไปในทางที่ดี ไม่มีอะไรเป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้ ยิ่งทำให้เรารู้สึกพ่ายแพ้มากขึ้นทุกที

ความคาดหวังที่พังทลายทำให้เรากดดันตัวเองหนักขึ้นเรื่อยๆ คำถามอย่าง “ทำไมเราถึงไม่หายสักที?” “หรือเพราะจริงๆ เราเป็นคนแย่แบบนี้นี่แหละถึงทำให้เราพังขนาดนี้” กลายเป็นภาระสะสมในใจ จนอาจทำให้เรายอมแพ้กับการเยียวยาได้ง่าย

บาร์ตัน โกลด์สมิธ จิตแพทย์และนักเขียนชาวอเมริกันกล่าวว่า การเยียวยาจิตใจเหมือนการขึ้นบันไดยากๆ มันมีอุปสรรคเล็กน้อยระหว่างทางบ้าง คุณอาจจะขึ้นบันไดสักสองสามขั้น แล้วอาจจะหยุดพักหรือถอยหลังสักก้าว แล้วค่อยขึ้นบันไดอีกสักสองสามขั้น

ปัญหาคือช่วงเวลาแย่ๆ เหล่านี้อาจดูยากเกินจะรับไหว สำหรับคนที่เคยผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือมีอารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นช่องว่างที่ทำให้เรากลับไปเลือกทำพฤติกรรมเดิมได้ง่ายๆ

การดำดิ่งกับปัญหาตั้งแต่กระบวนการเยียวยาครั้งแรกไม่ใช่คำตอบ

ขณะที่ โรบิน อี. บริกเคิล นักบำบัดด้านความสัมพันธ์ครอบครัว กล่าวว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้ารับการบำบัด อยากเข้าใจปมปัญหาด้านอารมณ์อย่างลึกซึ้งตั้งแต่ครั้งแรก แต่การดำดิ่งสู่เบื้องลึกของจิตใจในทันที ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว เพราะเรายังไม่มีวิธีรับมือกับความเจ็บปวด เมื่อต้องย้อนกลับไปทบทวนบาดแผลทางใจ

“การเยียวยาบาดแผลทางใจนั้นใช้เวลาต่างกันไปในแต่ละคน การเยียวยาต้องใช้เวลาในการสำรวจและยอมรับจุดแข็งของคุณ และพัฒนาความตระหนักรู้ในมุมมองที่หลากหลายที่คุณมี และใช้จุดแข็งเหล่านั้นทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือหรือปกป้องคุณ ซึ่งคุณอาจไม่เห็นมันในตอนนี้หรอก” โรบิน อี. บริกเคิล นักบำบัดด้านความสัมพันธ์ครอบครัว เขียนในบทความ This Is Why You Can’t Be In a Rush to Heal Trauma

บาดแผลในใจของเรามีความทรงจำ มีต่อมปกป้องตัวเองจากการสะกิดแผล บางครั้งเราไม่รู้ว่าอะไรที่ทำให้เกิดปัญหานั้นตั้งแต่ครั้งแรก ทักษะการรับมือและความสามารถจัดการความรู้สึกยากๆ จึงไม่ได้เกิดขึ้นได้ภายใน 2-3 ครั้งของการเข้ารับบำบัด แต่เกิดจากการทำงานของหลายปัจจัยร่วมกัน

ความสัมพันธ์ของเรากับนักบำบัดช่วยพาเราสร้างทักษะรับมืออารมณ์ได้ไหม? เราได้ฝึกพัฒนาขอบเขตของความอดทนต่ออารมณ์ที่กว้างขึ้นไหม? ได้ฝึกฝนความกล้าที่จะไม่พาตัวเอง ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตัดสินใจด้วยรูปแบบเดิม

หรือบาดแผลบางอย่างก็ท่วมท้นเกินกว่าจะรับมือไหว เพราะมันต้องการ ‘การยอมรับ’ และ ‘การเข้าใจ’ จากตัวเราอย่างแท้จริง เช่น บางคนทำผิดพลาดกับคนรักอย่างเจ็บปวด เพราะเชื่อมโยงกับการถูกทอดทิ้งในตอนเด็ก แล้วเรา ‘ยอมรับ’ ความรู้สึกโดดเดี่ยวของเด็กคนนั้นในตัวเราได้ไหม แม้จะมีเหตุผลมากมายที่เราเข้าใจเพียงใด แต่เด็กคนนั้นก็ต้องการเวลาในการ ‘ยอมรับ’ ทางความรู้สึกอยู่ดี

บางบาดแผลก็มาจากพฤติกรรมของกลไกป้องกันตัวในวัยเด็ก มันทำงานบ่อยครั้งจนกลายเป็นจิตใต้สำนึกของเรา​ ทำให้มีพฤติกรรมนั้นโดยไม่รู้ตัว เราจึงต้องอาศัยการฝึกฝันอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อจะหลุดออกจากพฤติกรรมที่เราเคยใช้ตัดสินใจ หรือรูปแบบการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ

แล้วเราควรทำอย่างไรหากรู้สึกกดดันตัวเองกับการเยียวยา

โกลด์สมิธ จิตแพทย์แนะนำว่า ช่วงเวลาที่คุณรู้สึกล้มลุกคลุกคลานกับการเยียวยาแผลใจ มันท้าทายคุณด้วยคำถามที่ว่า คุณจะรับมือกับช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านี้อย่างไร สิ่งสำคัญคือ อย่าลืมเก็บเกี่ยวการเยียวยาเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณทำสำเร็จ

สัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกถึงการเยียวยาทางอารมณ์ อาจเป็นการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณอาจทำโดยไม่รู้ตัว เช่น คุณลุกขึ้นมาจัดเตียง อาบน้ำ แต่งตัว ทานข้าว พยายามปรากฏตัว ทำงานจนสำเร็จ แม้ในใจยังไม่คลี่คลายดี คุณยังเปิดเพลงที่ชอบให้ตัวเองฟัง หรือแม้จะยากแค่ไหนก็จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปให้ได้ แต่หากวันไหนไม่ไหวก็จะให้โอกาสตัวเองได้ใช้เวลากับความรู้สึกนั้น

กระบวนการเยียวยาบาดแผล ไม่ใช่แค่การคาดหวังปลายทางว่าเรารู้สึกดีขึ้นเท่านั้น แต่เป็นระหว่างทางที่เราจะค่อยๆ รู้จักตัวเอง ปลอบประโลม รับฟัง และเข้าใจตัวเองในวัยเด็ก และเลือกหนทางดูแลบาดแผลเหล่านั้นในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่ง ผู้ใหญ่ที่มุ่งหวังอยากเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น ทั้งกับตัวเองและผู้คนรอบตัว

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
สุดารัตน์ พรมสีใหม่