Humberger Menu

หน้าตาประเทศไทยในอีก 25 ปีต่อจากนี้ หากมนุษย์ยังแก้ไขโลกรวนไม่ได้

หากเราชวนคุณมาลองจินตนาการประเทศไทยในอีก 25 ปี หน้าตาของมันจะเป็นอย่างไร? 

25 ปีข้างหน้า นั่นจะเท่ากับ ค.ศ. 2049 หรือ พ.ศ. 2592 และหากเส้นทางอนาคตเดินทางเป็นเส้นตรง เราจะผ่านการเปลี่ยนแปลงปกครองสู่ประชาธิปไตยมาเป็นเวลา 118 ปี และถ้ายังรักษาเสถียรภาพของระบบได้ ไม่มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากนัก ประเทศไทยในปี 2049 จะมีรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งครั้งที่ 34 (นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2475) ทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีคนที่ 37 ผ่านแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจฉบับที่ 18 

คนที่เกิดในปี 2000 จะอายุ 49 ปี จากหนุ่มสาวเจ็นซี พวกเขาจะเป็นวัยกลางคน และถ้าคนที่เกิดในปี 2024 ก็จะอายุ 25 ปี หรือถ้าลองจินตนาการถึง ‘หมูเด้ง’ ดาราสัตว์ที่กลายเป็นมีมไปทั่วโลกในปี 2024 อาจกลายเป็นคุณแม่ของดาราคนใหม่ ในปี 2049 เพราะอายุ 25 ปีแล้ว 

แล้วถ้าระยะเวลา 25 ปีต่อจากนี้ไม่ได้เดินทางอย่างซื่อตรงเช่นนั้น แต่หากตลอดเส้นทางของมันกลับเต็มไปด้วยปัญหาต่างๆ ที่เราเผชิญกันอยู่ในปัจจุบันแต่ยังไม่คลี่คลายล่ะ? 

อย่างเรื่องเทคโนโลยีที่แม้ว่าในอนาคตข้างหน้าเราอาจยังเผชิญหน้าอยู่กับคำถามเรื่อง A.I.? ยังมีคนมากมายต้องตกงานเพราะปรับตัวตามเทคโนโลยีไม่ทัน? สิ่งแวดล้อมถูกทำลายจนมนุษย์ต้องหาทางอพยพไปเรื่อยๆ? คนจนยังเข้าไม่ถึงทรัพยากรและการช่วยเหลือ? ปัญหาสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปกลายเป็นวาระใหญ่ของโลก? หรือหลายประเทศยังไม่สามารถก้าวข้ามผ่านปัญหาทางการเมืองได้? 

เหตุผลที่เราชวนนึกถึงอนาคตในอีก 25 ปีข้างหน้า เพราะคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) และ สหประชาชาติกำหนดให้ปี 2050 คือหมุดหมายของการแก้ปัญหาภาวะเรือนกระจก โลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ทำให้อุณหภูมิโลกคงที่ ลดการใช้พลังงานฟอสซิลได้สำเร็จ มนุษย์ดำเนินชีวิตด้วยพลังงานสะอาด สังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่แนวทางที่ยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับ ‘ความเป็นอยู่ที่ดี’ มากกว่า ‘การเติบโตทางเศรษฐกิจ’ การลงทุนด้านการศึกษาและสุขภาพเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความไม่เท่าเทียมลดลง

นั่นคือความหวังแรกที่พวกเขาอยากให้เราลงมือทำปัจจุบันให้ก้าวไปสู่อนาคตที่เป็นเช่นนั้น โดยที่ระหว่างทาง หลายประเทศต้องปูแนวทางแก้ปัญหาอย่างจริงจังเพื่อก้าวไปสู่โลกอุดมคติที่มุ่งหวัง

แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น อีก 25 ปีข้างหน้าโลกก็อาจจะอยู่เหนือจินตนาการของเรา รวมถึงประเทศไทยที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศลำดับต้นๆ ของโลกที่จะได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศสุดขั้วที่เกิดจากภาวะเรือนกระจกด้วย

ภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม ความปกติใหม่ (New-normal) ที่เราต้องเตรียมใช้ชีวิตร่วมกัน?

กระแสน้ำข้นคลั่กพัดตะกอนดินไหลเข้าบ้านเรือน น้ำบนที่สูงลงสู่ที่ต่ำ จากที่เคยมีช่องระบายน้ำได้สะดวก กลับติดค้างเติ่งอยู่ตามถนนหนทาง ไหลไปสู่พื้นที่เกษตรกรรมสร้างความเสียหายหนัก สัตว์น้อยใหญ่หนีเอาชีวิตรอดให้ได้แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

น้ำท่วมอย่างรวดเร็วหลายจังหวัดในปี 2024 อาจเป็นเพียงตัวอย่างของอีกหลายปีต่อจากนี้ที่ความรุนแรงของสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงสุดขั้วจะบ่มเพาะให้เกิดภัยพิบัติมากขึ้นเรื่อยๆ 

ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมีผลมาจากภาวะเรือนกระจก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซอื่นๆ กระจายขึ้นบนชั้นบรรยากาศ พูดอย่างเข้าใจง่าย คือ การปล่อยควันของโรงงานอุตสาหกรรม การขับรถสันดาป การใช้เครื่องบินส่วนตัว หรือแม้กระทั่งการเลี้ยงสัตว์สำหรับการบริโภค และกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ ล้วนมีส่วนปล่อยก๊าซเหล่านี้ขึ้นไปยังชั้นบรรยากาศ และเมื่อมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ธรรมชาติก็ไม่สามารถรองรับได้ รวมทั้งก๊าซเหล่านี้ยังมีคุณสมบัติในการดูดซับความร้อนของพื้นผิวโลกไม่ให้ปล่อยออกไปสู่อวกาศ เมื่อชั้นบรรยากาศปกคลุมไปด้วยก๊าซเหล่านี้จึงทำให้เราอยู่ในเรือนกระจกของความร้อน อุณหภูมิโลกสูงขึ้น นำมาซึ่งสภาวะอากาศสุดขั้ว ทั้งอากาศที่ร้อนขึ้นทุกปี ฝนตกหนัก น้ำท่วมและภัยแล้งรุนแรง

สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เผยแพร่งานศึกษาเกี่ยวกับสถิติอุณหภูมิในไทย พบว่า ในรอบ 50 ปี (1970-2009) บ้านเรามีอุณหภูมิภาพรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียส และในอีกประมาณ 25-26 ปีข้างหน้า (นับจากปี 2024) มีแนวโน้มที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1–2 องศาเซลเซียสในช่วงประมาณปี 2050 ศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ทำแบบจำลองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตแบบวิถีความเข้มข้นตัวอย่างระดับ 8.5 พบว่า นับตั้งแต่ปี 2020-2050 ไทยมีแนวโน้มอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลต่อสภาพอากาศแปรปรวนและภัยพิบัติต่างๆ Global Climate Risk Index 2021 สำรวจสถิติในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ไทยติด 1 ใน 10 ประเทศเสี่ยงเผชิญน้ำท่วมมากที่สุดในโลก ไทยเจอกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่า 140 ครั้ง จึงทำให้อยู่ในอันดับ 9 ของโลกที่เผชิญกับความเสี่ยง

ในรายงานของสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย พบสถิติว่า ตั้งแต่ปี 1955-2014 ไทยมีปริมาณฝนสะสมเพิ่มมากขึ้นในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย บางพื้นที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ส่วนภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามันจะมีปริมาณฝนลดลง นอกจากนี้ พายุหมุนเขตร้อนที่มีความรุนแรงมากกว่าพายุดีเปรสชันยังมีปริมาณมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงคือ ไทยมีภาวะแห้งแล้งยาวนานสลับกับฝนตกหนักจนน้ำท่วมฉับพลัน

สถาบัน Swiss Re Institute ระบุเช่นกันว่า ไทยยังอาจเจอความเสี่ยงต่อภัยแล้งสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่ขีดความสามารถในการรับมือของไทยอยู่อันดับที่ 39 เมื่อเทียบกับ 48 ประเทศทั่วโลก

ส่วนสำคัญคือ สภาวะอากาศสุดขั้วยังส่งผลให้ไทยเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 7,719 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อันที่จริง ความเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น ไทยก็ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้แล้ว จากงานศึกษาโครงการการจัดทำแผนพัฒนากำลังคนภาคการเกษตรของประเทศไทย ปีงบประมาณ 2564 โดย วิษณุ อรรถวานิช พูนพิภพ เกษมทรัพย์ ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ จรวย สุขแสงจันทร์ และศศิธร ตรงจิตภักดี ระบุว่า ระหว่างปี 2011-2045 สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอาจสร้างความเสียหายสะสมต่อเกษตรกร ประมาณ 0.61-2.85 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะผลกระทบในหมวดข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร เพราะไทยส่งออกมันสำปะหลังและยางพาราอันดับ 1 ของโลก และส่งออกข้าวและน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก จากการย้อนดูสถิติเหล่านี้ ยังพบว่า 10 จังหวัดแรกที่มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุด คือ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร สงขลา นครราชสีมา ตรัง จันทบุรี ระยอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์

ประเทศไทยลงมือทำอะไรไปแล้วบ้างก่อนที่เราจะเดินทางไปถึงปี 2050

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการยื่น พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ. Climate Change เข้าสู่สภา โดยมีทั้งร่างที่มาจากรัฐบาล พรรคก้าวไกล และร่างจากภาคประชาสังคม 

โดยองค์กรภาคประชาชน 24 กลุ่มซึ่งรวมตัวในฐานะเครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างกฎหมายของฟากรัฐบาลนั้น มีหลายส่วนที่ไม่ครอบคลุมต่อการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และส่วนใหญ่ยังเอื้อกลุ่มทุนมากกว่าด้วย เช่น การมุ่งส่งเสริมธุรกิจรายใหญ่สู่เศรษฐกิจการค้าคาร์บอนตํ่าระหว่างประเทศ, การร่างนิยามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้อย่างคลุมเครือ โดยไม่ได้ระบุว่ามาจากพลังงานฟอสซิล, ไม่มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน, และยังขาดหลักการคุ้มครองสิทธิประชาชนต่อสภาพภูมิอากาศที่ดี

รัฐสภาได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นต่อ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และองค์กรภาคประชาชน 24 กลุ่มได้เสนอ ‘กฎหมายโลกร้อนฉบับประชาชน’ เข้าไปเสนอในสภาด้วยเช่นกัน 

ในวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและหยุดคาร์บอนเครดิต ได้รวมตัวหน้าที่ทำการองค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเรียกร้องรัฐบาลไทยให้คำนึงถึงความเป็นธรรมต่อประชาชนในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม และหยุดการเอื้อประโยชน์ให้ทุนผ่านการ ‘ฟอกเขียว’ บริษัทต่างๆ ซึ่งการเรียกร้องครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนที่ไทยจะไปร่วมเจรจาในประชุมสภาพภูมิอากาศโลก หรือ COP29 ที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน ซึ่งจะจัดในเดือนพฤศจิกายนนี้

จะทำยังไงไม่ให้ไทยต้องเผชิญหน้ากับแนวโน้มที่แย่มากขึ้นเรื่อยๆ

IPCC ได้สร้างแผนจำลองโลกเอาไว้ 5 แบบเพื่อให้หลายประเทศเห็นภาพมากขึ้นว่า ถ้าเราไม่แก้ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ โลกในปี 2050 รวมถึงการเข้าสู่ศตวรรษใหม่ในปี 2100 พวกเราจะเผชิญหน้ากับอะไรบ้าง

แบบแรกคือ ‘การมองโลกในแง่ดี’

ปี 2050 โลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Net Zero) สังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่แนวทางที่ยั่งยืน ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม มากกว่ากำไรทางธุรกิจและเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำลดลง ความเสมอภาคเพิ่มขึ้น แม้จะยังไม่สามารถขจัดสภาพอากาศเลวร้ายไปได้หมด แต่มนุษย์สามารถรับมือหรือหลีกเลี่ยงความร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ 

แนวทางคือ ทุกประเทศต้องทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้อุณหภูมิโลกร้อนเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่ง 195 ประเทศได้ลงนามแนวทางนี้ในข้อตกลงปารีส ปี 2016 มาแล้ว (Paris Agreement)

แบบที่สองคือ ‘สิ่งที่พอจะดีอยู่บ้าง’

โลกยังคงพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ในอัตราที่ช้าลง ทำให้เป้าหมายการแตะระดับการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์จะเกิดอีกทีก็เมื่อหลังปี 2050 ส่งผลไปถึงอุณหภูมิโลกร้อนช่วงสิ้นศตวรรษ หรือก้าวเข้าสู่ปี 2100 จะมีอุณหภูมิ 1.8 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม ในแง่ทางสังคมและเศรษฐกิจยังมีบริบทแบบภาพแรก คือ ลดความเหลื่อมล้ำ ความเสมอภาคเพิ่มขึ้น

แบบที่สามคือ ‘ทางสายกลาง’

โลกยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับเกือบใกล้กับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก่อนจะค่อยๆ ลดลงในช่วงกลางศตวรรษ ทำให้ไม่ถึงระดับเป็นศูนย์ภายในปี 2100 ส่วนปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปตามแนวโน้มในอดีต แต่ก็มีความก้าวหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปในทิศทางของความยั่งยืนและการพัฒนาที่ไม่สม่ำเสมอ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2.7°C ภายในสิ้นศตวรรษ

แบบที่สี่ อันตราย

การปล่อยมลพิษและอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2100 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงเพิ่มเป็นสองเท่าจากระดับปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของชาติและแหล่งอาหาร ส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูง อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 3.6 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษ

แบบที่ห้า หลีกเลี่ยงภาพนี้ให้ได้มากที่สุด

เป็นภาพที่ระหว่างทางก่อนเราจะไปสู่ปี 2050 เราแทบไม่ได้แก้ไขอะไรเลย ในทางตรงข้าม เรากลับเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสองเท่าจากระดับปัจจุบัน เร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยยังคงขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลและวิถีชีวิตที่ใช้พลังงานเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิโลกร้อนเพิ่มขึ้น 4.4 องศาเซลเซียสในปี 2100 ซึ่งเมื่อแตะตัวเลขนี้แล้ว นั่นหมายความว่า สถานการณ์ภัยพิบัติที่เราจะเผชิญอาจเลวร้ายเหนือจินตนาการ

จากรายงานของ Swiss Re Institute คาดการณ์เช่นกันว่า ถ้าปี 2050 อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึง 3.2 องศา ภาวะโลกรวนอาจส่งผลต่อ GDP ของไทย 43.6% และคนไทยอาจได้รับผลกระทบในภาคการท่องเที่ยว ผลผลิตของภาคเกษตรกร และความเครียดจากความร้อน 

เพื่อไม่ให้เกิดภาพดังกล่าว IPCC ได้ออกรายงานในปี 2023 ให้คำแนะนำไว้ว่า หลายประเทศจะต้องปูทางการแก้ปัญหาเพื่อเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด โดยอาจจะต้องเริ่มจากเป้าหมายใกล้ๆ ก่อน คือ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 43% ในปี 2030 

แนวทางในการจัดการในระยะ 7 ปีต่อจากนี้ IPCC เน้นย้ำให้ผู้นำแต่ละประเทศ ‘ออกนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงในปริมาณมากทันที’ แต่หากมีการปล่อยก๊าซออกมาก็จะต้องชดเชยด้วยการกำจัดคาร์บอน ทว่าทุกวันนี้แนวทางกำจัดคาร์บอน ทั้งจากธรรมชาติและเทคโนโลยีล้วนไม่สมบูรณ์แบบ และไม่สามารถทำได้จริงเมื่อพิจารณาจากปัญหาสภาพอากาศที่เรากำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งความสามารถและต้นทุนของแต่ละประเทศก็ไม่เท่ากันในการจัดการปัญหาดังกล่าว

นั่นทำให้การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ใช่เป้าหมายเดียวที่ IPCC กระทุ้งให้ผู้นำหลายประเทศปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่รวมถึงการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในการรับมือกับภัยพิบัติที่เป็นผลมาจากภาวะโลกรวนที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และต้องคำนึงถึงการ ‘เปลี่ยนผ่านพลังงาน’ (Just Energy Transition) ในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้แน่ใจว่าประเทศต่างๆ สามารถลงทุนโครงการพลังงานสะอาดและความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพอากาศได้เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว

การจะจัดการปัญหาภาวะโลกร้อนและวิกฤตก๊าซเรือนกระจกได้ จึงต้องประกอบไปด้วย ‘นโยบายกระจายความมั่งคั่ง’ หรือการกระจายรายได้ให้ทุกคนเข้าถึงแหล่งทุนที่สามารถนำมาดูแลตัวเองเมื่อต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตได้ ในรายงานฉบับล่าสุดของ IPCC จึงระบุด้วยว่า หนทางที่ดีที่สุดในการก้าวไปข้างหน้าคือการสร้างโลกที่สังคมสามารถเปลี่ยนผ่านและพัฒนาเศรษฐกิจพลังงานสะอาดได้โดยไม่ทำให้ความพยายามต่อสู้ต่อปัญหาและความไม่เท่าเทียมในปัจจุบันเลวร้ายลง

การแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่การส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลในประเทศเท่านั้น แต่เรายังต้องจับตาการเคลื่อนไหวของประเทศโลกที่หนึ่ง โดยเฉพาะมหาอำนาจที่ส่งออกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด 5 อันดับแรก ทั้งจีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย สหภาพยุโรป และรัสเซีย นอกจากนี้ สหประชาชาติยังเรียกร้องให้ประเทศที่เคยเป็นผู้ล่าอาณานิคมมีบทบาทในการสร้างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

สำรวจความเชื่อที่ทำให้การแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องยากไปอีกขั้น

ถ้าเราไม่อยากเห็นประเทศไทยในอีก 25 ปีข้างหน้าด้วยรูปแบบน้ำท่วม ภัยแล้ง ขาดแคลนอาหาร การแก้ปัญหาไม่ได้อยู่แค่ที่ผู้นำ แต่ภาวะสังคมยังต้องต่อสู้กับอุปสรรคทางใจที่ผู้คนรู้สึกท้อแท้ หมดใจ หมดหวังกับการแก้ปัญหาโลกร้อนมากขึ้นทุกวัน 

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภัยพิบัติและผลกระทบของอากาศสุดขั้วได้เกิดขึ้นแล้ว การเห็นผู้นำแต่ละประเทศยังคงนิ่งเฉยต่อการแก้ปัญหา เศรษฐกิจโลกยังคงขับเคลื่อนด้วยบริษัทและองค์กรที่ปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศอยู่ หรือที่เห็นกันใกล้ชิดที่สุด คือเหล่าคนดังยังใช้เครื่องบินส่วนตัวเดินทางไปไหนมาไหนได้ตามใจตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อคนอื่น

บางคนที่รับรู้ข้อมูลเหล่านี้มากๆ จึงรู้สึกว่า “ปัญหาของโลกเราใบนี้สายเกินกว่าจะแก้ไขแล้วล่ะ”

ศาสตราจารย์ไฮดี โทอิโวเนน แห่งมหาวิทยาลัยทเวนเต้ในเนเธอร์แลนด์ สัมภาษณ์ผู้ใหญ่ทั่วไปที่มีอายุระหว่าง 21 ถึง 83 ปี รวมถึงผู้ใหญ่ที่มุ่งมั่นจะปกป้องสิ่งแวดล้อม 

ผู้ให้สัมภาษณ์บางคนกล่าวว่าพวกเขาไม่เชื่อว่าการกระทำของพวกเขาจะสามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ ในขณะที่บางคนก็ไม่รู้ว่าพวกเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง 

“การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอาจผลักดันให้ผู้คนรู้สึกว่าสูญเสียอำนาจโดยสิ้นเชิง ความรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่เราทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำถามที่ว่าสายเกินไปแล้วหรือไม่ที่จะป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เป็นอันตรายนั้นก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังเช่นกัน” โทอิโวเนนกล่าว

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยทเวนเต้ ยังพบอีกว่า สถานที่ที่ผู้คนอาศัยอยู่นั้นหล่อหลอมมุมมองของพวกเขาเกี่ยวกับภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ

“เช่น ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มักเกิดขึ้นในประเทศตะวันตกนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกล มองไม่เห็น และซับซ้อน แต่การนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกที่ยากจะเข้าใจและอึดอัดได้เช่นกัน ซึ่งขัดขวางความคิดริเริ่มใดๆ ที่จะกระตุ้นให้ผู้คนลงมือทำ”

เธอจึงกล่าวว่า เพื่อเอาชนะความรู้สึกเหล่านี้ พวกเราจึงจำเป็นต้องทำมากขึ้นเพื่อปลุกจินตนาการของสาธารณชนให้สามารถลงมือปฏิบัติจริงได้มากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการร่วมมือกันและยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต่อการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยโดยนักวิชาการจากสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ยังพบว่าแนวคิด ‘สายเกินไปที่จะแก้แล้ว’ ยังเป็นแนวคิดโต้แย้งที่มีอิทธิพลกับกลุ่มคนที่ไม่เชื่อเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาด้วย เนื่องจากที่ผ่าน คนกลุ่มนี้ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าโลกกำลังเกิดหายนะจริงๆ สุดท้ายเขาก็คิดว่าแต่ถ้าจะแก้ปัญหาก็คงไม่ทัน และข้อโต้แย้งนี้เองที่ทำให้การดำเนินการแก้ปัญหาล่าช้าลงเรื่อยๆ 

ลอเรน อัปพิงก์ คัลเดอร์วูด หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์สภาพอากาศของ World Economic Forum กล่าวว่า “สิ่งสำคัญคือเราต้องเอาชนะคำบอกเล่าที่ว่าสายเกินไปแล้วที่จะช่วยโลก ซึ่งละเลยทั้งความก้าวหน้าที่สำคัญที่เกิดขึ้นในการลดการปล่อยคาร์บอนในสังคมของเรา และยังเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการเรื่องอื่นๆ ด้วย เราไม่สามารถปล่อยให้ความคิดเชิงลบเกี่ยวกับสภาพอากาศมาทำให้หยุดชะงักได้ แต่ต้องเร่งดำเนินการในทุกระดับของสังคม ตั้งแต่ชุมชนในท้องถิ่นไปจนถึงบริษัทระดับโลก ทุกเศษเสี้ยวขององศาโลกมีความสำคัญเมื่อเป็นเรื่องของภาวะโลกร้อน และทุกการกระทำของเราเพื่อลดผลกระทบจากสภาพอากาศก็มีความสำคัญเช่นกัน”

อ้างอิง: atmos.earth, anthesisgroup.com, greennews.agency, pier.co.th, swissre.com, germanwatch.org, weforum.org

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
สุดารัตน์ พรมสีใหม่