Humberger Menu

บางขุนเทียน ป่าชายเลน ชีวิตที่ถูกลืม

ชีพจรของ ‘คน’ และ ‘ป่า’

ในวันที่เกราะธรรมชาติของกรุงเทพฯ กำลังหายไป

ปลาตีน ไม้โกงกาง ปูแสม

เหล่านี้คือสิ่งที่คนมักนึกถึงเมื่อพูดถึง ‘ป่าชายเลน’

แต่นอกจากสัตว์และต้นไม้แล้ว ป่าชายเลนยังมี ‘ผู้คน’ อาศัยอยู่ด้วย ซึ่งปัจจุบันป่าและความเป็นเมืองก็ขยับเข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ

หากใครยังจดจำกันได้ในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน ป่าชายเลนเคยถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก เนื่องจากป่าถูกทำลายไปหลายแสนไร่จากการใช้ประโยชน์พื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำนากุ้ง และการลักลอบตัดไม้ จนกระทั่งมีการกำหนดให้ป่าชายเลนเป็นพื้นที่อนุรักษ์และรณรงค์ให้คนหันมาฟื้นฟูป่ามากขึ้น 

แต่ในปัจจุบัน ข้อมูลของ UNESCO ปี 2024 ระบุว่าป่าชายเลนทั่วโลกกำลังหายไปเรื่อยๆ และลดลงเร็วกว่าการสูญเสียป่าทั่วโลกถึง 3-5 เท่า เนื่องจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน 

ป่าชายเลนในประเทศไทยเองแม้จะมีการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังฟื้นฟูได้ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทยที่สมัยก่อนมีประมาณ 1 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันป่าชายเลนลดลงเหลืออยู่เพียงครึ่งหนึ่ง  และเหลืออยู่ในกรุงเทพฯ แค่ประมาณ 3,000-4,000 ไร่

เป็นที่น่าแปลกใจว่า ทำไมการรณรงค์หรือการช่วยกันปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมายังไม่เพียงพอ และยังไม่สามารถฟื้นฟูป่าชายเลนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อใช้เป็นเกราะกำบังธรรมชาติของเมืองหลวง

ยิ่งไปกว่านั้น ชาวบ้านที่อาศัยในบริเวณนั้นถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติต่างๆ มากที่สุด แต่กลับไม่ได้ถูกให้ความสนใจจากภาครัฐเท่าไรนัก และเมื่อพื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นที่ดินมีโฉนด ก็ทำให้การฟื้นฟูป่าชายเลนทำได้ยากขึ้น เพราะนั่นคือที่ทำมาหากินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่อยู่มาเนิ่นนาน

การอนุรักษ์ธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของคน หากต้องเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งคงเป็นเรื่องน่าลำบากใจและหาข้อยุติร่วมกันได้ยาก เป็นคำถามต่อไปว่า ‘เมือง’ และ ‘ป่าชายเลน’ จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร?

เมืองและป่าชายเลนอยู่ร่วมกัน (ไม่) ได้

เราเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่ไปยังเขตบางขุนเทียน พื้นที่แห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่ติดกับทะเลอ่าวไทย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวปลูกป่าชายเลนยอดฮิตของคนเมือง

เราเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่ไปยังเขตบางขุนเทียน พื้นที่แห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่ติดกับทะเลอ่าวไทย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวปลูกป่าชายเลนยอดฮิตของคนเมือง

แม้พื้นที่นี้จะถูกนับว่าเป็นกรุงเทพฯ แต่ด้วยระยะทางที่ห่างไกลตัวเมืองและขนส่งสาธารณะที่ยังไม่ทั่วถึง ทำให้พื้นที่นี้มักถูกมองว่าเหมือน ‘ต่างจังหวัด’ และความสัมพันธ์ของคนเมืองและป่าชายเลนก็ยิ่งห่างเหินกันมากขึ้น 

“ที่นี่อยู่จังหวัดอะไรคะ” เป็นคำถามที่พี่บัง เจ้าของร้านกาแฟวัย 50 ปีที่หน้าสะพานรักษ์ทะเลบางขุนเทียนมักถูกถามอยู่บ่อยครั้งจากลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ 

“คนที่นี่เองก็มองว่าพื้นที่นี้ไม่เคยเป็นกรุงเทพฯ กันดาร เหมือนลูกเมียน้อยที่ไม่เคยถูกมองว่ามีค่า พวกเราไม่เคยมีหน่วยงานรัฐมาเหลียวแล นอกจากมาแล้วต้องมีผลประโยชน์” พี่บังเล่า

พี่บังเล่าว่า โซนพื้นที่นี้มักมีหน่วยงานมาปลูกป่าชายเลนอยู่บ่อยครั้ง แต่บางคนปลูกต้นไม้ไม่ถูกวิธี เช่น ปักต้นไม้ไปไม่ลึกเพียงพอ ทำให้เมื่อมีลมหรือน้ำขึ้นต้นไม้พวกนั้นก็ถูกพัดหายไป 

แม้การปลูกฝังให้คนรู้จักธรรมชาติจะเป็นเรื่องดี แต่สิ่งที่เธอคิดว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขไปด้วยคือการช่วยชาวบ้านในพื้นที่ที่กำลังเดือดร้อนอยู่ด้วย เพราะในชุมชนใกล้ป่าชายเลนไม่มีถนนและจำเป็นต้องใช้เรือหรือจักรยานเดินทางเท่านั้น อีกทั้งคนในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เมื่อเกิดเหตุเจ็บป่วยก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ รวมถึงไฟฟ้าที่มักดับอยู่บ่อยครั้ง


พี่บังเป็นคนในพื้นที่ที่อยู่มาตั้งแต่เกิด ครอบครัวมีอาชีพทำนากุ้งตามวิถีชีวิตดั้งเดิม แต่ด้วยธรรมชาติที่เปลี่ยนไปทำให้อาชีพนี้ทำเงินไม่ได้เท่าเดิมจึงผันตัวมาทำอาชีพขายกาแฟแทน 

“บ้านพี่ทำวังกุ้ง” พี่บังเล่าถึงอาชีพที่ครอบครัวเคยทำ – ‘วังกุ้ง’ คือคำเรียกที่คนที่นี่ใช้เรียก ‘นากุ้ง’ เช่นเดียวกับการทำเกษตรกรรมอื่นๆ อย่าง วังปลา วังหอย

“แต่ไม่ได้ทำแล้วเพราะเลี้ยงยากมาก ตอนนี้ทำวังหอยแครง ซึ่งถ้าเจอน้ำเสียก็ตายเหมือนกัน สิ่งหนึ่งที่แย่คือน้ำเสียจากโรงงาน โดยเฉพาะจากมหาชัย เราก็เคยทำวังหอยแครงเองเพราะหวังว่าจะขึ้นเป็นเงินเท่าตัว ปรากฏว่าลงทุนไป 40,000 บาท ได้กลับมา 500 บาท เราทำอยู่อย่างนี้ 3 ครั้งก็เลิกทำ”

เมื่อลองถอยมามองปัญหานี้ในภาพใหญ่ มีรายงานสถิติพบว่าพื้นที่ในประเทศไทยเกือบครึ่งหนึ่ง 46.54 เปอร์เซ็นต์ถูกใช้เพื่อทำเกษตรกรรม โดยมีเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 12 ล้านคนเสี่ยงได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด ซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่ผลผลิต ทั้งการปลูกพืช การเลี้ยงปศุสัตว์ และการเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา 

พี่บังยังบอกว่า เคยคิดจะเปลี่ยนอาชีพแต่ไม่คิดจะย้ายไปจากตรงนี้ พื้นที่นี้เป็นของคนดั้งเดิมตั้งแต่บรรพบุรุษ คนพื้นที่จะไม่ค่อยขายที่กัน 

“คนที่นี่รักบ้านเกิดมาก คนแก่ยังอยู่โซนที่ใกล้กับป่าชายเลนกันเพราะเป็นถิ่นฐานที่เขาอยู่มาตั้งแต่ต้น เมื่อก่อนยังมีคลอง แต่ตอนนี้ดินทับถมไปเรื่อยๆ ก็ทำให้คลองตื้นขึ้น เรือก็ออกมาไม่ได้ พอชาวบ้านจะขอทำถนน หน่วยงานรัฐก็บอกว่าไม่ได้เพราะป่าชายเลนเป็นพื้นที่สีเขียว แต่ทำไมอุทยานถึงมีถนนได้ ทุกวันนี้เรางงกับคำว่า พื้นที่สีเขียว คุณอนุรักษ์อะไรอยู่ไม่รู้ แต่ตอนนี้คนจะตายกันหมดแล้ว”

ถ้าจะให้ไปอยู่ที่อื่นก็ต้องนับหนึ่งใหม่

อีกทางเลือกหนึ่งที่หลายคนคิดถึงเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยคือ ‘การย้ายออกไปอยู่ที่อื่น’ และเริ่มต้นชีวิตใหม่

แม้เรื่องนี้ฟังดูอาจดูง่าย แต่ชีวิตจริงนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด 

เราเดินสำรวจร้านรวงอยู่หน้าสะพานรักษ์ทะเลบางขุนเทียนที่มักเต็มไปด้วยร้านขายกุ้งหอยปูปลา แม้จะเงียบเหงาไปบ้าง แต่ที่นี่ก็ขึ้นชื่อเรื่องอาหารทะเลอร่อยและราคาย่อมเยา 

“เราไปมาหลายที่ เมื่อก่อนเรายังวัยรุ่นก็ไปเรียนกรุงเทพฯ ไปอยู่ภาคใต้ สุดท้ายก็กลับมาอยู่ที่นี่” 

คือคำพูดของ พี่เก๋ ชาวประมงเจ้าของแผงปลาแดดเดียววัย 40 ปีเล่าให้เราฟังขณะเรียงปลาชนิดต่างๆ ทั้งปลากระบอก ปลาจวด ปลากุเลาและปลาเก๋าบนแผงตั้งแต่เช้า ซึ่งปลาเหล่านั้นเกิดขึ้นจากความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน

บ้านของพี่เก๋อยู่ติดกับป่าชายเลน ซึ่งเป็นที่อยู่ดั้งเดิมตั้งแต่ต้นตระกูลและมักเผชิญกับภัยธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีน้ำหนุนขึ้น หรือช่วงฤดูน้ำเสียที่จะเกิดขึ้นประจำทุกปีช่วงพฤศจิกายนต่อเนื่องไปอีก 3 เดือน ทำให้หาปลาไม่ค่อยได้

พี่เก๋เล่าว่า เมื่อ 5-10 ปีก่อน คนรุ่นพ่อแม่จะมีปลาอุดมสมบูรณ์มากกว่านี้ ปัจจุบันเธอจะรับปลามาขายอีกทีและไม่ได้ออกหาปลาเหมือนเมื่อก่อน เพราะกฎระเบียบของชาวประมงพื้นบ้านทำให้มีข้อจำกัดในการหาปลามากขึ้น บางคนก็โดนจับหรือยึดของเพราะทำผิดกฎ เธอจึงเลือกทำแผงปลาแดดเดียวมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว และเป็นอาชีพหลักของครอบครัวที่สร้างรายได้ประมาณเดือนละ 20,000-30,000 บาท

“คนที่นี่บางส่วนยังคงทำประมง เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย  มีนากุ้ง หอยแครง ตอนนี้เด็กรุ่นหลังส่วนมากก็ไม่ค่อยทำอาชีพนี้แล้ว และเริ่มมีนาร้างเพราะได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำที่เข้ามากินสัตว์น้ำวัยอ่อนจนเราไม่ค่อยมีของมาขายเลย” 

ด้วยความเสี่ยงทั้งภัยธรรมชาติที่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ และความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมลงอาจทำให้พื้นที่นี้ถูกเวนคืน นั่นหมายความว่าชาวบ้านที่ทำมาหากินตรงนี้อาจต้องย้ายถิ่นฐานหรือเปลี่ยนอาชีพ 

“พี่ทำใจแล้ว ถ้าพื้นที่นี้ถูกเวนคืนก็อาจจะขอเงินสักก้อนหนึ่งให้ไปตั้งตัวทำอาชีพใหม่ เพราะถ้าพื้นที่นี้ไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว เราก็ต้องนับหนึ่งใหม่” พี่เก๋ทิ้งท้าย

ป่าชายเลนกำแพงสีเขียวด่านแรกกำลังพังทลาย

ในช่วงสายเราเจอกับฝนตกหนักจนบริเวณสะพานรักษ์ทะเลบางขุนเทียนน้ำท่วมสูงถึงข้อเท้า พอเดาได้ว่าบริเวณใกล้ชายฝั่งคงท่วมสูงกว่านี้ เห็นได้จากต้นไม้ในคลองที่จมอยู่ในน้ำจนเกือบถึงยอด และดูเหมือนว่านี่จะเป็นเรื่องปกติของพื้นที่ใกล้ป่าชายเลน ที่น้ำขึ้นในช่วงเช้าและน้ำลดในตอนบ่าย

เป็นที่รู้กันดีว่าพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียนถือเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติสูงมาก โดยเฉพาะน้ำท่วมและการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งตามข้อมูลของ 2050 Climate Change City Index ระบุว่าในกรุงเทพฯ ถือเป็นภูมิภาคที่เปราะบางต่อระดับน้ำที่สูงขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก

พื้นที่นี้จึงไม่ค่อยมีใครเข้ามาอยู่อาศัยมากนัก มีแต่คนพื้นที่ดั้งเดิมที่ยังคงอยู่ เดิมทีพื้นที่บริเวณป่าชายเลนเคยมีข้อพิพาทหลังจากการประกาศให้ป่าชายเลนเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้ชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เดิมต้องร้องเรียนกัน จนกระทั่งมีการประกาศเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มีการออกโฉนดให้ชาวบ้าน 

“ผมอยู่กับทะเลตั้งแต่เกิด ปู่ย่าตายายก็ตั้งรกรากอยู่ที่นี่ เมื่อก่อนก็สู้กันมาจนทำให้กลายเป็นพื้นที่ที่ให้ชาวบ้านทำมาหากินเลี้ยงกุ้งหอยปูปลาได้  ตอนเด็กๆ กว่าผมจะไปถึงทะเลต้องลุยทะลุป่าไปถึงจะได้เล่นน้ำทะเล เพราะเมื่อก่อนป่าใหญ่กว่านี้ แต่ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้โดนกัดเซาะชายฝั่งจนป่าพังหมดแล้ว”

สุธี ช้างเจริญ หรือ พี่หนุ่ม ประธานชุมชนชายทะเลบางขุนเทียน วัย 50 ปีเล่าพร้อมชี้ให้เราดูบนแผนที่ป่าชายเลนทะเลบางขุนเทียนตรงบริเวณพื้นที่หายไปเพราะการกัดเซาะชายฝั่ง

พี่หนุ่มเล่าว่า ตอนนี้มีที่ดินหายไป 3,000-4,000 ไร่ เป็นที่หลวงและที่ดินในโฉนดของชาวบ้าน ซึ่งปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งก็ได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านอยู่บ่อยครั้ง แม้จะไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐแล้ว แต่ภาครัฐก็ช่วยเหลือได้ไม่เต็มที่ เช่น บางครั้งให้งบช่วยเหลือมา 10,000-20,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอเพราะปกติจะต้องใช้เงินหลักแสนถึงล้านบาทสำหรับการสร้างแนวป้องกัน

“ชาวบ้านต้องสู้กันเองและใช้งบตัวเองในการทิ้งหินสร้างคันหิน เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บางครั้งการทิ้งหินก็ไม่เสมอกันเพราะต่างคนต่างทำ ทำให้ช่วงน้ำทะเลขึ้นหรือช่วงมรสุมคันหินก็พังหมด สุดท้ายก็ต้องร่นหนีกันมาเรื่อยๆ ตอนนี้เราสู้การกัดเซาะชายฝั่งไม่ได้เลย”

แม้หน้าที่ในการฟื้นฟูป่าชายเลนจะมีหน่วยงานรัฐดูแลอยู่แล้ว แต่พี่หนุ่มอธิบายว่า ต้นไม้ที่ปลูกใหม่จากโครงการต่างๆ เมื่อคลื่นมาก็พังหมด บางส่วนที่ปลูกใหม่ไปก็ไม่ได้ผล ตอนนี้เขตบางขุนเทียนจึงใช้วิธีสร้างตัวช่วยให้ต้นไม้ที่ปลูกใหม่คือการนำดินกรอกเข้าไปในท่อซีเมนต์และปักไว้สำหรับนำต้นไม้มาใส่ เพื่อให้ต้นไม้อยู่สูงกว่าระดับน้ำ วิธีนี้ทำให้ต้นไม้โตขึ้นจริง แต่ก็มีโอกาสที่ในอีก 2-3 ปีต้นไม้จะหักโค่นลงมาได้

ระหว่างที่เราเดินคุยกับพี่หนุ่มเข้าไปใกล้ป่าชายเลนมากขึ้น สิ่งที่เราสังเกตเห็นคือ ‘ขยะ’ ที่มักพบเห็นได้ง่ายตามต้นไม้ ดินเลน และในคลอง พี่หนุ่มบอกว่าพื้นที่ข้างในอยู่ใกล้ทะเลและไม่มีถนน ทำให้ไม่มีคนเข้าไปเก็บขยะให้ชาวบ้าน 

“ให้ชาวบ้านวางขยะไว้แล้วใครจะมาเก็บให้เขา พื้นที่นั้นเข้าไปยากและไม่มีเรือเข้าไปเก็บขยะ แล้วให้ชาวบ้านทำยังไง เขาก็ต้องทิ้ง บางบ้านขยันก็เอาขยะมากองไว้แล้วค่อยเผา” พี่หนุ่มกล่าว

โครงสร้างพื้นฐานอย่าง ‘ถนน’ ถือเป็นสิ่งสำคัญในการเดินทาง แต่ในอีกมุมหนึ่ง ‘ถนน’ ก็ได้เชื่อมโยงให้เราเห็นปัจจัยอีกหลายอย่างที่ส่งผลกระทบทั้งคุณภาพชีวิตและธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน เพราะป่าชายเลนถือเป็นพื้นที่สีเขียว ทำให้คนในพื้นที่นั้นไม่สามารถพัฒนาอะไรได้ แม้แต่การสร้างถนนดีๆ แต่ในขณะเดียวกันหากมีการสร้างถนนขึ้นมาก็อาจเป็นอุปสรรคในการฟื้นฟูป่าชายเลน 

พี่หนุ่มบอกว่า ตอนนี้ชาวบ้านที่เริ่มทนไม่ไหวกับการไม่มีถนนก็เริ่มตั้งสมาคมเพื่อพัฒนาพื้นที่ของพวกเขาเอง โดยจะทำถนนกันเองและให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาสนับสนุนตรงนี้ แต่หน่วยงานรัฐยังไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ แม้จากการถามความเห็นชาวบ้านทุกคนจะเห็นด้วย

“ตัวผมเองก็แทบตายเพราะไม่มีถนน ผมเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบและที่นี่ไม่มีโรงพยาบาล มีแต่ศูนย์อนามัย ผมเคยไปเรียกร้องกับชาวบ้านเกือบ 2 คันรถบัส ทำหนังสือขอทำถนนไปยื่นผู้ว่าฯ เพราะมีหลายหมู่บ้านอยู่ข้างในใกล้ชายทะเลกว่า 100-200 หลังคาเรือน แต่ผู้ว่าฯ กทม. ตอบปฏิเสธ เพราะเขาต้องการอนุรักษ์ตรงนี้อย่างเดียว เรียกร้องมา 10 ปีเขาก็ไม่เคยมาสนใจ”

“ตอนนี้ชาวบ้านที่อยู่ไม่ไหวแล้วก็ขายที่หนีกันไปหมดแล้วร้อยกว่าแปลง ส่วนใหญ่ที่ขายไปก็มีบริษัทห้างร้านมาซื้อ คนซื้อที่ดินบางคนก็นำที่ดินนั้นให้เจ้าของที่คนเดิมเช่าเพื่อเลี้ยงกุ้งทำมาหากินต่อไป ค่าเช่าบ่อนึงก็ปีละ 160,000 -170,000 บาท หรือบางคนก็ซื้อที่ให้คนเข้ามาปลูกป่า”

อีกแนวคิดหนึ่งที่นิยมในปัจจุบันคือการปลูกป่าเพื่อขายคาร์บอนเครดิตและจูงใจให้คนปลูกป่ามากขึ้น แต่วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนที่นี่คือการเลี้ยงกุ้งหอยปูปลา คงเป็นเรื่องยากที่จะทิ้งที่ดินทำกินของพวกเขาเพื่อไปปลูกป่า

“ชาวบ้านจะยอมเหรอให้เอามาปลูกป่าหมด” คือคำตอบของพี่หนุ่มหลังจากที่เราถามว่าถ้าเอานากุ้งไปปลูกป่าจะยอมหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นคนในพื้นที่นี้ยังไม่เคยเข้าร่วมหรือได้รู้รายละเอียดที่แน่ชัดเกี่ยวกับโครงการคาร์บอนเครดิตเลย 

ธรรมชาติเท่านั้นที่จะป้องกันธรรมชาติได้

ป่าหรือชีวิตคน ถ้าเป็นเราจะเลือกอะไร?

นี่เป็นคำถามที่ค้างคาใจเราหลังจากลงพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียน แน่นอนว่าความคิดเห็นของแต่ละคนก็มองเรื่องนี้แตกต่างกันออกไป แต่หากมองเรื่องนี้ด้วยวิทยาศาสตร์ก็มีหลายสิ่งที่น่ากังวลหากวันหนึ่งป่าชายเลนจะหายไปจริงๆ

เราโทรไปสอบถามกับ ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ที่ผ่านการทำงานในองค์กรสิ่งแวดล้อมมากว่า 25 ปี ถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างคนเมืองและป่าชายเลนในปัจจุบัน 

ดร.เพชร มองว่า ป่าชายเลนของไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวและค่อยๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าที่เสียไปในสมัยก่อนก็ยังถือว่าไม่ได้มีการฟื้นตัวกลับมา ซึ่งความท้าทายขณะนี้คือจะทำอย่างไรให้ชุมชนในพื้นที่ปรับตัวกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพราะในอนาคตอีก 100 ปีข้างหน้าระดับน้ำทะเลสูงขึ้นแน่นอน ระบบนิเวศทางทะเลต่างๆ จะต้องถอยร่นขึ้นมาในแผ่นดินมากขึ้น 

แต่ปัจจุบันจะเห็นว่าเมื่อมีการตัดถนนและสร้างบ้านเรือนใกล้พื้นที่บริเวณนั้น ทำให้เมื่อป่าชายเลนถูกกัดเซาะชายฝั่งเข้ามาเรื่อยๆ ป่าชายเลนไม่มีโอกาสถอยร่นขึ้นมาบนแผ่นดิน ส่งผลให้ป่าชายเลนจะค่อยๆ ลดลงในอนาคตด้วย


“ผมคิดว่าเราก็จะตามแก้ปัญหากันไม่จบ หากเราปล่อยให้มีการพัฒนาในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมหรือไปตัดถนนขวางทางน้ำจะทำให้ในอนาคตชุมชนบริเวณนั้นอาจยิ่งเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วม น้ำทะเลหนุนและปัญหาอีกสารพัด”

ดร.เพชรยกตัวอย่างโครงการ ‘สร้อยไข่มุกอ่าวไทย’ 1 ใน 3 เมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เพื่อถมทะเล สร้างเกาะเป็นคันกั้นน้ำรอบทะเลอ่าวไทย ซึ่งได้แนวคิดมาจากทีมนโยบายสิ่งแวดล้อมพรรคเพื่อไทย 

“ผมคิดว่าบทเรียนสำคัญอย่างหนึ่งคือ เราไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติในสเกลระดับนั้นได้อยู่แล้ว การอาศัยความเข้าใจในการปรับตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ” 

“ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศจะเป็นอาวุธสำคัญ เพราะพื้นที่ดั้งเดิมของกรุงเทพฯ เป็นที่ราบต่ำ เป็นพื้นที่รับน้ำ และมีความเสี่ยงในเรื่องของน้ำท่วมอยู่แล้ว คนกรุงเทพฯ ต้องเข้าใจก่อนว่าระบบนิเวศดั้งเดิมเป็นอย่างไรแล้วเราจะอยู่รอดในระยะยาว ผมคิดว่าเราต้องอาศัยธรรมชาติมาเป็นพวกเดียวกันแทนที่จะต่อต้านธรรมชาติ”

ดร.เพชรเสนอว่า การวางแผนปรับตัวของรัฐบาลต้องใช้ความรู้ยุคใหม่ที่ฝั่งอเมริกาหรือยุโรปนำมาใช้ อย่าง แนวคิดการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions) หรือโครงสร้างสีเขียว (Green infrastructure:พื้นที่กึ่งธรรมชาติ) เช่น แก้มลิง การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำให้เป็นพื้นที่รับน้ำ และการฟื้นฟูพื้นที่ระบบนิเวศชายฝั่งดั้งเดิมกลับมาเพื่อให้เป็นปราการธรรมชาติ 

“วิธีนี้ผ่านการงานวิจัยจำนวนมากและตกผลึกว่า Nature-based Solutions มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และยั่งยืนกว่า อีกทั้งยังมีประโยชน์ร่วมกันกับหลายๆ อย่างด้วย ซึ่งผมคิดว่าการมีประโยชน์ร่วมกันในทางสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เข้ากับบริบทคนไทยมากๆ หมายความว่าถ้าเราสามารถฟื้นฟูป่าชายเลนกลับมาได้ ไม่ใช่แค่ผลดีทางด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นการลดปัญหาเรื่องภัยพิบัติและเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนด้วย”

ดร.เพชรคิดว่า  สมการการแก้ปัญหาเรื่องนี้จึงต้องมีคนเข้ามาร่วมด้วย เพราะบริเวณป่าชายเลนเป็นพื้นที่ของชาวบ้าน ไม่ใช่พื้นที่ที่จะฟื้นฟูธรรมชาติแบบดั้งเดิมหรือที่ทุกคนคิดว่าต้องเป็นป่าชายเลนทั้งหมด จึงมีการวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้คนพื้นที่นี้อาศัยอยู่ได้และยังมีช่องทางประกอบอาชีพ

“ผมคิดว่าการปลูกต้นไม้กลายไปเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นฟู ซึ่งความจริงแล้วอาจจะจำเป็นหรือไม่จำเป็นก็ได้ ในเชิงนิเวศวิทยา การฟื้นฟูป่าชายเลนนอกจากการปลูกแล้วต้องรวมไปถึงการฟื้นฟูการไหลเวียนของน้ำด้วย เช่น การเปิดพื้นที่ทำลายคันดินต่างๆ ที่เป็นพื้นที่นากุ้งเก่าๆ หลายแห่ง เพื่อให้มีระบบไหลเวียนของน้ำกลับมาเหมือนเดิม จากนั้นค่อยดูว่ามีความจำเป็นต้องปลูกไหม”

นอกจากนี้ ดร.เพชรยังสะท้อนถึงอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงคือระบบนิเวศในทะเลที่จะส่งผลต่อวงจรชีวิตของสัตว์ทะเลหลายๆ ชนิด เช่น ปลากระพงหรือปลาฉลาม ที่ในช่วงเวลาเป็นตัวอ่อนต้องอาศัยป่าชายเลนเพื่อซ่อนตัวจากสัตว์ผู้ล่า 

“ถ้าไม่มีพื้นที่ตรงนี้วงจรชีวิตของสัตว์ทะเลก็ยิ่งเสี่ยงในการถูกล่าได้ง่าย โดยทั่วไปเราอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าปลาพวกนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับป่าชายเลนเพราะอยู่ในทะเลลึก แต่ความจริงเมื่อดูจากวงจรชีวิต ถ้าเราไม่มีป่าชายเลนก็กลายเป็นว่าเราตัดตอนวงจรชีวิตของสัตว์ทะเลเหล่านี้”   

“วงจรชีวิตของสัตว์ทะเลหลายๆ ชนิดไม่ได้อยู่เฉพาะแค่ระบบนิเวศใดระบบนิเวศหนึ่ง หมายความว่าปลาในแนวปะการังจำนวนมากก็ใช้เวลาช่วงหนึ่งในหญ้าทะเล พอโตอีกหน่อยก็มาอยู่ในป่าชายเลน พอถึงวัยที่โตพอสมควรแล้วถึงจะออกไปในทะเลลึก หรือว่ากลับมาใช้ในพื้นที่แนวปะการังอีก ฉะนั้นจึงจำเป็นจะต้องเข้าใจความเชื่อมโยงตรงนี้ เพราะถ้าระบบนิเวศส่วนใดส่วนหนึ่งหายไป แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อทะเลในภาพรวมทั้งหมด”

อนาคตของป่าชายเลน

ด้วยภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ป่าชายเลนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนขนาดใหญ่ในอนาคต

ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)  และภาคีเครือข่ายป่าชายเลน ประเทศไทย มีเป้าหมายที่จะร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทยอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ หรือ 500,000 ไร่ภายในปี 2574 และจะขยายการฟื้นฟูพื้นที่จนครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2593 

เราเดินทางไปที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและมีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.สนใจ หะวานนท์ ที่ปรึกษากรมทรัพยากรทะเลฯ และประธานคณะทำงานวิชาการพื้นที่ชุ่มน้ำวัย 75 ปี ผู้ทำงานกับป่าชายเลนมายาวนานถึง 48 ปี 

ดร.สนใจอธิบายว่า ป่าชายเลนสามารถดูดซับคาร์บอนได้มากเป็นเพราะจากการวัดผลที่ศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลนในปากน้ำปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ปรากฏว่าป่าชายเลนที่มีอายุ 6-15 ปี สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 17 ตันต่อไร่ต่อปี และคายออกซิเจนออกมาก็ประมาณ 13 ตันต่อไร่ต่อปี 

“เมื่อลองเปรียบเทียบว่าในประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดก็ประมาณ 244 ล้านตัน และสมมติมีป่าชายเลน 1.7 ล้านไร่ก็จะดูดซับคาร์บอนได้เกือบ 30 ล้านตันต่อไร่ต่อปี หรือเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ของคาร์บอนที่ไทยปล่อยทั้งหมด”

“ขณะเดียวกันเราไปวิจัยป่าชายเลนที่ชุมพร อายุประมาณ 20 กว่าปี พบว่าการดูดซับคาร์บอนในดินเลนสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 200 ตันต่อไร่ แต่ป่าบกเก็บได้ 20 ตันต่อไร่ แสดงว่าดินเลนกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าถึง 10 เท่า นั่นเป็นเพราะดินเลนมีความลึกลงไปอีกกว่าหลาย 10 เมตร จึงเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนมหึมา”

แต่ด้วยพื้นที่ป่าชายเลนที่น้อยลง แม้จะกำลังฟื้นฟูอยู่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล 

ดร.สนใจเล่าว่า แต่เดิมพื้นที่ป่าชายเลนในไทยมีประมาณ 2.8 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันนี้ป่าชายเลนเหลือเพียง 1.7 ล้านไร่ เท่ากับหายไปอีกกว่าล้านไร่ ซึ่งบริเวณอ่าวไทยถูกทำลายไปหลายแสนไร่ โดยเฉพาะชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการกรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และเพชรบุรี รวมไปถึงบางส่วนในชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด 

“สมัยก่อนพื้นที่ป่าชายเลนเป็นสัมปทานโรงงานทำฟืนเผาถ่าน แต่ก็ยกเลิกสัมปทานไป และทำให้กลายเป็นป่า แต่พื้นที่ที่สูญเสียไปคือก็เปลี่ยนไปใช้ประโยชน์เพื่อทำนากุ้ง ช่วงแรกรัฐบาลก็ไม่ได้สนใจเท่าไหร่ จนในปี 2532 ป่าชายเลนเหลืออยู่ประมาณล้านไร่ เพราะมีการบุกรุกกันมาก รัฐบาลจึงต้องออกนโยบายในการกำหนดพื้นที่ป่าชายเลนให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ เป็นการขีดเส้นแบ่งทำให้พื้นที่ป่าชายเลนเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน” 

“การขีดเส้นแบ่งก็มีปรับเปลี่ยนอยู่อย่างต่อเนื่อง หากมีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มเติม พื้นที่ที่สามารถนำกลับคืนมาได้ เช่น พื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิก็ถูกผนวกเข้ามาเป็นพื้นที่อนุรักษ์ป่าชายเลน ถ้ามีเอกสารสิทธิก็ไม่สามารถเข้าไปยุ่งอะไรได้ แต่เมื่อรัฐบาลประกาศเส้นแบ่งออกมา ไม่ว่าประชาชนจะทำอะไรเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เช่น ทำถนน ก็จะโดนห้ามไว้เพราะต้องมีการขอผ่อนผัน การขอใช้ประโยชน์ให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะผิดกฎหมาย โดยเฉพาะส่วนราชการก็ยิ่งเข้มงวดเรื่องนี้”

แต่อีกปัญหาสำคัญคือแม้จะมีการขีดเส้นแบ่งที่ชัดเจนแล้ว แต่พื้นที่ป่าชายเลนในที่ดินของชาวบ้านบางแห่งกลับถูกเก็บภาษี ทำให้ชาวบ้านเลือกตัดต้นไม้และทำเกษตรกรรมแทนเพื่อเลี่ยงภาษีที่ดิน ซึ่งเรื่องนี้เคยเป็นที่ถกเถียงว่าควรถูกยกเว้นภาษีเมื่อหลายปีก่อน เพราะนี่เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนลดลง

ดร.สนใจอธิบายว่า พื้นที่เหล่านั้นถือเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวบ้าน แต่ประกาศกระทรวงมหาดไทยกลับไม่ได้ประกาศยกเว้นภาษีให้ที่ดินบริเวณที่มีพรรณไม้โกงกางหรือป่าชายเลน เพียงแค่ระบุว่าให้ขึ้นอยู่ในดุลยพินิจของผู้จัดเก็บภาษี ซึ่งคือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แต่ อบต.บางแห่งกลับไปยึดถือระเบียบที่ไม่ยกเว้นเก็บภาษี จึงเก็บภาษีจากพื้นที่เหล่านี้ 

“แม้ปัจจุบันก็มีปัญหาอยู่บ้าง แต่เข้าใจว่ามีการพูดคุยให้แก้ไขกันไปเรียบร้อยแล้ว เพราะเป็นเพียงประกาศกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่การแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดเก็บภาษี” 

ดร.สนใจคิดว่ายังมีพื้นที่ที่สามารถนำมาฟื้นฟูป่าชายเลนได้อีกหลายแสนไร่ โดยเฉพาะนากุ้งที่ไม่ได้ทำการเกษตรแล้ว กรมทรัพยากรทางทะเลฯ พยายามส่งเสริมให้พื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิของประชาชนเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ปลูกป่าชายเลน โดยภาครัฐจะเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายและเริ่มจูงใจให้ชุมชนมีส่วนร่วมปลูกเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต แต่วิธีนี้ก็ยังไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากนัก

“ตอนนี้โครงการปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิตมีประมาณ 300,000 ไร่ โดยพยายามให้บริษัทเอกชนและชุมชนต่างๆ มาปลูกป่าชายเลนกัน แต่ถ้าหากรัฐบาลลงทุนเวนคืนพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลระยะประมาณ 100 เมตร เพื่อสร้างป่าชายเลนในการทำหน้าที่เป็น Green Belt หรือกันชนสีเขียว ก็เป็นอีกวิธีที่สามารถทำได้”

“เรามีเครือข่ายชุมชนเยอะเป็นร้อยๆ ในการดูแลอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เข้าใจว่าป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นแหล่งกำเนิดห่วงโซ่อาหาร คนในพื้นที่ก็พยายามดูแลอยู่แล้ว”

อีกด้านหนึ่งการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าชายเลนสำหรับคนเมืองก็ยังเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับใครหลายคน หากอาศัยเพียงกำลังของคนในพื้นที่ก็อาจไม่เพียงพอ เพราะนอกจากการสร้างความตระหนักแล้ว การส่งเสริมให้คนเมืองเข้ามามีส่วนร่วมกับการฟื้นฟูป่าชายเลนยังคงเป็นเรื่องสำคัญ

ดร.สนใจมองว่า คนเมืองชั้นในกรุงเทพฯ หรือคนที่อยู่พื้นที่ห่างไกลมักมีส่วนร่วมแบบฉาบฉวยคือปลูกเสร็จก็กลับ ทำให้การมีส่วนร่วมฟื้นฟูป่าชายเลนไม่มีความต่อเนื่อง แม้จะเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าป่าชายเลนมีบทบาทสำคัญในเรื่องของการป้องกันชายฝั่ง แต่ประชาชนก็มักลืมสิ่งเหล่านี้ไป 

“ต้นไม้ที่ปลูกจะตายก็ตายไป จะรอดก็รอดไป เพราะเขาไม่ได้อยู่ใกล้ เราจึงต้องอธิบายและประชาสัมพันธ์ความสำคัญของป่าชายเลน ที่จะเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนมหึมา แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยมีคนในพื้นที่ทำหน้าที่ช่วยฟื้นฟูป่าชายเลนเพื่อให้พื้นที่เหล่านี้อยู่ได้อย่างยั่งยืน”

ดร.สนใจ อธิบายว่า ต้นไม้ที่ปลูกอย่างน้อยต้องอายุ 5 ปีขึ้นไปและปลูกอย่างหนาแน่นก็สามารถช่วยปกป้องชายฝั่งได้แล้ว ส่วนการดูแลต่างๆ ก็ต้องคอยตัดแต่งเพื่อรักษาระยะให้ลำต้นโต ไม่เช่นนั้นต้นไม้ก็จะล้มง่าย จากฟ้าผ่าหรือต้นไม้ล้มทับกันเองเป็นโดมิโน 

นั่นเท่ากับว่าหากเราเริ่มปลูกป่าชายเลนตั้งแต่วันนี้ต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้า เราก็จะสามารถช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและยังเพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอนได้อีกด้วย แต่สิ่งสำคัญคือการแก้ไขเรื่องนี้ต้องอาศัยเวลาในระยะยาว

“ถ้ามีรัฐบาลที่เอาจริงเอาจังและสนใจที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ก็จะแก้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะปัญหานี้ขึ้นอยู่กับนโยบายการเมือง เรื่องนี้ควรรีบทำเพราะว่าถ้าเราช้าไป ก็จะอยู่อย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้ารีบทำอีก 5 ปีก็เห็นผล ต้องประเมินและคำนวณถึงผลได้ผลเสียในการลงทุนแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นให้เห็นชัดเจนขึ้นและเห็นผลในระยะยาว”

“เราพูดกันเยอะถึง Climate Change การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และ Net Zero (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) แต่จริงๆ แล้วมันเดินไปถึงไหน ตรงนี้ก็น่าคิดอยู่เหมือนกันว่าเราจะทำอย่างไรให้มุ่งไปสู่สิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่แค่การลดแต่พลังงานอย่างเดียว เพราะการลดพลังงานก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและยังจำเป็นต้องใช้ แต่ขณะเดียวกันถ้าเราลงทุนเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือสร้างพื้นที่สีเขียวก็จะทำให้สร้างสมดุลได้เร็วขึ้นและยั่งยืนกว่า” 

“ป่าชายเลนมักเป็นการคุยกันในคนกลุ่มน้อย เวลาเราไปพูดอะไรเขาก็ฟังและรู้ว่าสำคัญ แต่เขาก็ไม่ค่อยทำ ถ้าเป็นคนกลุ่มใหญ่ก็อาจจะทำไปแล้ว แต่เรามันส่วนน้อย เราก็ได้แต่พูดไปเรื่อย”

เรื่องราวของป่าชายเลนที่ละเอียดยิบย่อยและเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมายอาจทำให้หลายคนเริ่มสิ้นหวัง แต่ ดร.สนใจยังคงมีความหวังและความฝันว่าป่าชายเลนจะเติบโตและอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะบริเวณทะเลอ่าวไทยและอยากให้ทุกคนมาร่วมฟื้นฟูป่า 

“ความหวังนี้จะเกิดไม่เกิดก็อยู่ที่พวกเราจะช่วยกระตุ้นกัน เพราะว่าด้วยการเมือง การช่วงชิงต่างๆ ก็ทำให้เรื่องนี้ถูกให้ความสำคัญน้อย แต่หากคนส่วนใหญ่ซึ่งคือคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยทำต่อไปก็น่าจะดีขึ้น เพราะว่ารุ่นผมก็ได้แต่หวัง” ดร.สนใจทิ้งท้าย

แม้เราจะได้ยินคำว่า ‘ป่าชายเลน’ มานับครั้งไม่ถ้วน แต่ความสัมพันธ์ของผู้คน สัตว์ และป่า กลับเป็นเรื่องที่เรามักมองข้ามและลืมเลือนความสำคัญไป 

ป่าชายเลนที่กำลังหายไปเรื่อยๆ สะท้อนให้เราเห็นว่าไม่ใช่แค่เมืองที่ขยับเข้าใกล้ธรรมชาติ แต่ธรรมชาติก็ก็กำลังเรียกร้องบางอย่างจากเมืองเช่นกัน 

อนาคตของป่าชายเลนจึงอาจไม่ใช่การเลือกระหว่างชีวิตคนหรือป่า แต่คือการร่วมมือกันระหว่างคนและธรรมชาติ โดยหวังว่าสักวันหนึ่งป่าชายเลนจะกลับมาอุดมสมบูรณ์ และคุณภาพชีวิตของผู้คนก็จะดีขึ้นไปพร้อมกัน


บทความนี้จัดทำขึ้นโดยผู้สื่อข่าวที่ได้เข้าร่วมโครงการ UNDP Media Fellowship on Sustainable Development

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย