Humberger Menu

20 ปีจากวันโลกเปลี่ยน สำรวจ 20 เหตุก่อการร้ายหลัง 9/11

08 ก.ย. 2564 09:00 น. 18 ภาพ

20 ปีจากวันโลกเปลี่ยน สำรวจ 20 เหตุก่อการร้ายหลัง 9/11

Politics & Society

Politics

10 ก.ย. 64

creator
รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว 11 กันยายน 2001 คือวันที่โลกพบความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ หลังเครื่องบิน 2 ลำพุ่งชนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนิวยอร์ก อาคารฝั่งเหนือและฝั่งใต้ไฟลุกไหม้ ก่อนจะพังลงมา ทิ้งม่านฝุ่นควันลอยสูงเบื้องบน

ตามมาด้วยการจี้เครื่องบินอีก 2 ลำ ลำแรกพุ่งชนด้านหน้าอาคารเพนตากอน ลำสุดท้ายก่อเหตุร้ายไม่สำเร็จ ตกลงในเพนซิลเวเนีย

ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ 9/11 มีราว 3,000 ราย ส่วนใหญ่คือผู้ที่ไม่สามารถหนีออกมาจากตึกแฝดได้

ผู้รับผิดชอบการลงมือคือ อัลกออิดะห์ ภายใต้การนำของ โอซามา บินลาเดน ที่ในภายหลังทำให้เกิดนิยามของ ‘การก่อการร้าย’ และ ‘ผู้ก่อการร้าย’ ขึ้นบนโลก

เมื่อโลกถูกเขย่ารุนแรง ระลอกการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามมารวดเร็ว ในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประกาศสงครามกับการก่อการร้าย ระดมทัพบุกอัฟกานิสถาน เพื่อตามล่า โอซามา บินลาเดน เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามยาวนานที่เพิ่งจบลงไม่นานนี้ เมื่ออัฟกานิสถานตกอยู่ในการปกครองของกลุ่มตาลีบัน

นั่นคือปฏิบัติการทางทหารระดับนานาชาติ แต่ในระดับความรู้สึกของคน ‘ความหวาดกลัวอิสลาม’ (Islamophobia) ถูกหว่านเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่วันนั้น ก่อนจะออกผลต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน 2 ทศวรรษ พร้อมๆ กับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงอีกหลายกลุ่มที่เริ่มปรากฏตัว ประกาศอุดมการณ์ และออกปฏิบัติการ จนภาพของผู้นับถือศาสนาอิสลามถูกนำไปทาบกับ ‘ผู้ก่อการร้าย’ ทำให้ความหวาดกลัวค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความเกลียดชัง ผู้คนเริ่มไม่ไว้ใจกระทั่งเพื่อนบ้าน หรือระแวงมิตรสหายใกล้ตัวว่าจะมาพร้อมกับปืนหรือระเบิด

แน่นอนว่าชาวมุสลิมไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่ผู้ก่อเหตุที่อยู่ในข่าย ‘ก่อการร้าย’ มักอ้างศาสนาอิสลามในการก่อเหตุ เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อทางศาสนากลายเป็นความขัดแย้งในสังคม เป็นสาเหตุให้เกิดวิวาทะ และเป็นสาเหตุของการฆาตกรรม

นับจาก 9/11 มีการก่อเหตุร้ายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงหลายครั้ง ในรูปแบบต่างกัน ทว่าหลักการคล้ายคลึงกัน ในหลายประเทศ เป็นข่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนโลกใบนี้ไม่มีทางหมุนกลับไปอยู่ที่องศาเดิมได้อีก

หลังจากวันที่โลกใบเดิมถูกเขย่า สิ่งก่อสร้างสูงตระหง่านทรุดโค่น พร้อมๆ กับชีวิตคนที่ร่วงหล่นราวใบไม้ผลัดจากต้น การก่อการร้ายโดยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง นิยาม ‘การก่อการร้าย’ และผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ทั้งหมด ตลอด 20 ปี มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ชวนมองเรื่องราวผ่าน 20 เหตุการณ์สำคัญในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

LATEST

+

Politics & Society

4 ปีการกลับมาของมาตรา 112 จากกฎหมายปราบม็อบ 2563 สู่ปัจจัยตั้งรัฐบาลและยุบพรรค

20 พ.ย. 67

Thai Politics
4 ปีการกลับมาของมาตรา 112 จากกฎหมายปราบม็อบ 2563 สู่ปัจจัยตั้งรัฐบาลและยุบพรรค
morebutton read more

2001

The Shoe Bomber กับการวางระเบิดเครื่องบิน

22 ธันวาคม 2001

The Shoe Bomber กับการวางระเบิดเครื่องบิน

ไม่กี่เดือนหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ริชาร์ด รีด (Richard Reid) หรือที่รู้จักกันในนาม The Shoe Bomber พยายามจุดระเบิดที่ซ่อนอยู่ในรองเท้าบนสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 613 เดินทางจากปารีสมุ่งหน้าไปไมอามี

รีดเป็นชาวอังกฤษ มีประวัติอาชญากรรม เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามขณะอยู่ในเรือนจำ และเชื่อกันว่าช่วงปี 2001 เขาเดินทางไปอัฟกานิสถานและปากีสถาน เพื่อร่วมฝึกกับอัลกออิดะห์

เขาถูกพิพากษาด้วยข้อหาเกี่ยวกับการก่อการร้าย เขารับสารภาพ และบอกว่าต้องการเป็นศัตรูกับอเมริกา เป็นนักรบของพระเจ้า ทำงานในนามอัลกออิดะห์ และรับคำสั่งมาจาก โอซามา บินลาเดน

แม้ไม่มีใครเสียชีวิต ไม่มีการระเบิด แต่นี่ถือเป็นความพยายามก่อการร้ายครั้งสำคัญครั้งแรกหลังจาก 9/11 ไม่นาน

2002

เหตุระเบิดที่บาหลี อินโดนีเซีย , ยึดโรงภาพยนตร์ รัสเซีย

12 ตุลาคม 2002

เหตุระเบิดที่บาหลี อินโดนีเซีย

เป็นการก่อการร้ายครั้งใหญ่ในเอเชีย มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับ โอซามา บินลาเดน และเป็นการออกคำสั่งโดย ‘ฮัมบาลี’ ผู้นำอัลกออิดะห์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผู้ก่อเหตุเป็นสมาชิกกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง เจมาห์ ลิสลามายาห์ (Jemaah Islamiyah: JI) ซึ่งมี ริดวน อิสามุดดิน (Riduan Isamuddin) หรือ ฮัมบาลี เป็นผู้บัญชาการ โดยการระเบิดเกิดขึ้น 3 ครั้ง ทั้งการระเบิดฆ่าตัวตายและคาร์บอมบ์ ไม่ไกลจากแหล่งสถานบันเทิงในคูตา (Kuta) และสถานกงสุลสหรัฐฯ

เหตุผลที่กลุ่ม JI เลือกสถานบันเทิงในบาหลี เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ เป้าหมายคือเพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ที่ประกาศทำสงครามกับการก่อการร้าย รวมไปถึงออสเตรเลียที่เข้ามามีบทบาทในการแบ่งแยกติมอร์-เลสเต

การระเบิดหลายจุดทำให้มีผู้เสียชีวิต 202 ราย จาก 21 ประเทศ เป็นชาวออสเตรเลีย 88 คน อินโดนีเซีย 38 คน และนักท่องเที่ยวอีกจำนวนมาก มีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 209 คน

ผู้ก่อเหตุที่ถูกจับกุมได้ภายหลังถูกประหารชีวิต และถูกตำรวจยิงเสียชีวิต ส่วน ฮัมบาลี ผู้นำของ JI ถูกจับกุมได้ที่อยุธยา ในปี 2003 ก่อนถูกส่งไปยังสถานที่ลับของ CIA และท้ายสุดคือจำคุกที่เรือนจำกวนตานาโม ในปี 2006

23 ตุลาคม 2002

ยึดโรงภาพยนตร์ รัสเซีย

เหตุยึดโรงภาพยนตร์ดูบรอฟกา (Dubrovka Theater) ในมอสโก โดยกลุ่มนักรบติดอาวุธเชเชน ราว 40 คน จับตัวประกันไว้ 850 คน จุดประสงค์ของการปฏิบัติการครั้งนี้คือต้องการปลดปล่อยเชชเนีย และให้รัสเซียถอนทหารออกไป

หลังยึดโรงภาพยนตร์ไว้ 2 วันครึ่ง ตัวประกัน 2 คนถูกสังหาร จากนั้นหน่วย Vympel ภายใต้สังกัดกองกำลังรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (Federal Security Service: FSB) บวกกับการสนับสนุนของกองกิจการภายในรัสเซีย ได้บุกเข้าสู่อาคาร โดยการปล่อยแก๊สพิษเข้าระบบระบายอากาศของโรงภาพยนตร์ จนสามารถสังหารกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ทั้งหมด

เรื่องใหญ่หลังจากนั้นคือ ปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันของรัสเซียถูกประณามอย่างหนัก ว่าใช้วิธีรุนแรงเกินเหตุ เพราะตัวประกันที่ถูกสังหารโดยกลุ่มมุสลิมแบ่งแยกดินแดนมีเพียง 2 คน แต่ตัวประกันที่เสียชีวิตจากแก๊สพิษมีถึง 130 คน

2004

ระเบิดรถไฟที่มาดริด สเปน , ยึดโรงเรียนที่เบสลัน รัสเซีย

11 มีนาคม 2004

ระเบิดรถไฟที่มาดริด สเปน

เหตุการณ์ระเบิดตู้โดยสารขบวนรถไฟ 4 ตู้ในมาดริด เกิดขึ้นเพียง 3 วันก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของสเปน ระเบิดในครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 192 ราย บาดเจ็บประมาณ 200 คน

จากการสืบสวนพบว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มที่ได้แรงบันดาลใจจากอัลกออิดะห์ในประเทศ อาจไม่ใช่จากสายการสั่งการจากกลุ่มอัลกออิดะห์โดยตรง กลุ่มผู้ต้องสงสัยเกิดจากการรวมตัวของชาวโมร็อกโก มุสลิมแอลจีเรีย และเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์พลเรือนของสเปนเอง

หลังผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ทางการสเปนระบุว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและถูกตั้งข้อหาวางระเบิดตู้โดยสารรถไฟมีทั้งหมด 29 คน

1 กันยายน 2004

ยึดโรงเรียนที่เบสลัน รัสเซีย

เหตุยึดโรงเรียนและจับตัวประกันที่ School Number 1 (SNO) เมืองเบสลัน (Beslan) ในนอร์ธออสเซเทีย ประเทศรัสเซีย เป็นฝีมือของกองกำลังมุสลิมติดอาวุธชาวเชเชน นำโดย ริยาด-อุส ซาลิฮีน (Riyad-us Saliheen) ภายใต้คำสั่งการของ ชามิล บาซาเยฟ (Shamil Basayev) ผู้นำกลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนเชชเนีย

ข้อเรียกร้องในการยึดโรงเรียนคือ เพื่อเรียกร้องเอกราชของเชชเนีย และให้รัสเซียและสหประชาชาติถอนกองกำลังออกจากเชชเนีย

ในวันที่ 3 ของการจับตัวประกันในโรงเรียน เกิดการระเบิดขึ้นหลายครั้ง ทำให้กองกำลังความมั่นคงของรัสเซียโจมตีตัวอาคารด้วยรถถังและจรวด ท้ายที่สุดมีตัวประกันเสียชีวิตอย่างน้อย 330 ราย ในจำนวนนั้นเป็นเด็กนักเรียน 186 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

หลังการก่อการร้ายที่เบสลัน รัฐบาลรัสเซียเริ่มบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการก่อการร้ายอย่างเข้มงวด รวมถึงเพิ่มอำนาจให้หน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย

2005

ระเบิดขนส่งมวลชนลอนดอน อังกฤษ

7 กรกฎาคม 2005

ระเบิดขนส่งมวลชนลอนดอน อังกฤษ

วันที่ 7 เดือน 7 เกิดเหตุก่อการร้ายครั้งแรกในสหราชอาณาจักร นับตั้งแต่การระเบิดเครื่องบินในปี 1988 ที่ล็อกเกอร์บี เมื่อมีการวางระเบิดระบบขนส่งมวลชนใจกลางกรุงลอนดอน

กลุ่มผู้ก่อเหตุคือมุสลิมหัวรุนแรงทั้งหมด 4 คน ที่ศรัทธาแนวทางของอัลกออิดะห์ ทราบชื่อภายหลังคือ เชห์ซัด ทานวีร์ (Shehzad Tanweer), ฮาซิบ ฮุสเซน (Hasib Hussain), โมฮัมหมัด ซิดิค ข่าน (Mohammed Sidique Khan) และ เจอร์เมน ลินด์เซย์ (Jermaine Lindsay) แยกกันปฏิบัติการ โดยวางระเบิดในรถไฟใต้ดิน 3 จุดภายในครึ่งชั่วโมง ไม่นานจากนั้นรถบัสสองชั้นอีกหนึ่งคันก็ระเบิด เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 52 ราย อีกกว่า 700 คนบาดเจ็บ

สาเหตุของการโจมตีลอนดอน คาดว่าเป็นการตอบโต้ของกลุ่มอัลกออิดะห์ หลังอังกฤษส่งทหารไปร่วมสมรภูมิอิรักและอัฟกานิสถาน ส่วนลักษณะการก่อเหตุก็คล้ายคลึงกับการระเบิดรถไฟที่มาดริด คือเกิดในช่วงเช้า เวลาเร่งด่วน เกิดขึ้นกับขนส่งมวลชนหลายจุดต่อเนื่องกันกลางเมืองหลวง และไม่มีการเตือนล่วงหน้า

2011

การวางระเบิดและกราดยิง นอร์เวย์

11 กรกฎาคม 2011

การวางระเบิดและกราดยิง นอร์เวย์

แม้ไม่ใช่การโจมตีจากผู้ก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงโดยตรง แต่ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญมาก เพราะเป็นผลสืบเนื่องมาจากการก่อการร้ายและกระแสหวาดกลัวชาวมุสลิม (Islamophobia) เมื่อคลื่นผู้อพยพหนีสงครามจากซีเรียหลั่งไหลสู่ยุโรปมากขึ้น

อันเดอร์ส เบรวิก (Anders Breivik) ก่อเหตุใหญ่สองครั้ง หนึ่งคือการวางระเบิดคาร์บอมบ์ในออสโล โดยใช้รถตู้ระเบิดอาคารที่ทำการรัฐ ที่จุดนี้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บ 209 คน

ไม่ถึง 2 ชั่วโมงถัดมา เบรวิกใส่ชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจติดบัตรปลอมเดินทางข้ามฝั่งไปยังเกาะอูโทยา (Utoya) ซึ่งเป็นค่ายเยาวชนฤดูร้อนของพรรคแรงงานนอร์เวย์ จากนั้นจึงเปิดฉากยิงเข้าใส่ทุกคน มีผู้เสียชีวิตที่อูโทยา 69 ราย บาดเจ็บอย่างน้อย 110 คน

เบรวิกถืออุดมการณ์ขวาจัด สนับสนุนขบวนการไซออนิสต์ คัดค้านเฟมินิสต์ และเกลียดชังอิสลาม ก่อนก่อเหตุ 6 ชั่วโมง เขาเผยแพร่แถลงการณ์ที่มีเนื้อหาต่อต้านมุสลิม และเขียน ‘2083-คำประกาศเอกราชยุโรป’ (2083: A European Declaration of Independence) เพื่อประณามชาวยุโรปที่ทรยศไปสนับสนุนผู้อพยพมุสลิม

เบรวิกรับเป็นผู้ก่อเหตุ ทั้งการวางระเบิดในออสโล และกราดยิงที่ค่ายเยาวชน แต่ปฏิเสธการรับผิดในกระบวนการยุติธรรม และยืนยันว่าการกระทำของเขาคือความจำเป็น เพื่อประกาศว่าเป็นอัศวินผู้อุทิศตนเพื่อสกัดกั้นคลื่นผู้อพยพชาวมุสลิมไม่ให้เข้าสู่ยุโรป

เนื่องจากเหตุผลที่อ้างว่าเป็น ‘ความเลวร้ายที่จำเป็น’ กรณีของเบรวิกจึงถูกยกมาพูดถึงบ่อยครั้ง ว่าการกระทำที่ตั้งต้นจากความเกลียดชังมุสลิมครั้งนี้ เป็นความเลวร้ายในตัวเขาจริงๆ ความเสียสติ หรือเป็นเจตนาฆาตกรรมกันแน่

ความผิดฆาตกรรม 77 ราย ของเบรวิกถูกพิพากษาโทษสูงสุดตามกฎหมายนอร์เวย์ คือไม่มีการประหารชีวิต แต่เป็นการจำคุกแบบพิเศษ ภายใต้กรอบเวลา 21 ปี

2013

บอสตันมาราธอน สหรัฐฯ

15 เมษายน 2013

บอสตันมาราธอน สหรัฐฯ

เป็นการก่อเหตุอีกครั้งที่เกิดขึ้นใจกลางเมืองในสหรัฐฯ ในวันแข่งขันบอสตันมาราธอน รัฐแมสซาชูเซตส์ มีการระเบิด 2 ครั้ง ในระยะ 190 เมตร ห่างกันเพียง 12 วินาที ไม่ไกลจากเส้นชัย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บประมาณ 264 คน

สามวันถัดมา ทางการเปิดเผยวิดีโอผู้ต้องสงสัย ระบุตัวได้เบื้องต้นว่าเป็นพี่น้องชาวเชเชนอพยพ ซอการ์ (Dzhokhar) และ ทาเมอร์ลัน ซานาเยฟ (Tamerlan Tsarnaev) ซึ่งในวิดีโอปรากฏภาพผู้ต้องสงสัยวางกระเป๋าสะพายทิ้งไว้ไม่นานก่อนเกิดการระเบิด

คืนวันที่ 19 เมษายน ทาเมอร์ลัน พี่ชาย ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่ ซอการ์ ซึ่งขณะนั้นอายุ 19 ปี เป็นนักศึกษาแพทย์ปี 2 แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง สงครามซีเรีย และมีความสนใจขบวนการปลดปล่อยเชชเนีย ถูกจับกุมจากนั้นไม่นาน

ก่อนหน้านี้ซอการ์ถูกตัดสินโดยศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิต จากความผิด 30 กระทง แต่เมื่อปี 2020 ศาลอุทธรณ์ได้พลิกคำตัดสิน ให้มีการหาลูกขุนเพื่อพิจารณาใหม่ เนื่องจากการตัดสินครั้งก่อนหน้ามีแรงกดดันจากสังคมและสื่ออย่างหนัก จึงอาจทำให้ผลการตัดสินประหารนั้นไม่เป็นธรรม

บอสตันมาราธอน สหรัฐฯ

2014

สังหารหมู่ในโรงเรียน ปากีสถาน

16 ธันวาคม 2014

สังหารหมู่ในโรงเรียน ปากีสถาน

กลุ่มก่อการร้ายตาลีบัน 7 คน บุกเข้าโรงเรียนประถมและมัธยมในสังกัดกองทัพบก ที่เมืองเปศวาร์ (Peshawar) คร่าชีวิตผู้คนไป 150 ราย ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 134 คนเป็นนักเรียน

โรงเรียนแห่งนี้มีบุคลากรและนักเรียนมากกว่า 1,000 คน นักเรียนจำนวนไม่น้อยเป็นลูกหลานของนายทหาร

ผู้ก่อการร้ายที่ติดระเบิดฆ่าตัวตายไว้กับตัว เริ่มปฏิบัติการด้วยคาร์บอมบ์ และบุกเข้าสู่ภายในอาคารโรงเรียน เริ่มกราดยิงใส่นักเรียนกลุ่มใหญ่ ก่อนไล่ไปตามห้องเรียน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นนักเรียนอายุ 12-16 ปี และครู ก่อนที่หน่วยคอมมานโดปากีสถานจะบุกเข้าเคลียร์พื้นที่ ช่วงเวลาแห่งความโหดร้ายในวันนั้นกินเวลาราว 8 ชั่วโมง

การก่อการร้ายครั้งนี้มีลักษณะคล้ายกับการยึดโรงเรียนในเบสลัน รัสเซีย ถือเป็นครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศ ผู้ก่อเหตุคือกลุ่มตาลีบันสาขาปากีสถาน (Tehrik-e-Taliban: TTP) โดยหนึ่งในผู้ก่อเหตุและผู้สั่งการ โอมาร์ โกราซานี (Omar Khorasani) เสียชีวิตจากการโจมตีด้วยโดรนในปี 2013

2015

กราดยิง ชาร์ลี เอบโด ฝรั่งเศส , กราดยิงบนชายหาด ตูนิเซีย , ระเบิดและกราดยิงที่ปารีส ฝรั่งเศส

7 มกราคม 2015

กราดยิง ชาร์ลี เอบโด ฝรั่งเศส

การสังหารหมู่สื่อมวลชนที่โด่งดังไปทั่วโลกเกิดขึ้นที่สำนักงานหนังสือพิมพ์แนวเสียดสีรายสัปดาห์ ชาร์ลี เอบโด (Charlie Hebdo)

ต้นเหตุจากการเขียนการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดและศาสนาอิสลามในหนังสือพิมพ์ นำมาสู่การบุกเข้าไปกราดยิงในสำนักงานชาร์ลี เอบโด มีผู้เสียชีวิต 12 ราย ซึ่ง 2 รายในนั้นเป็นนักวาดการ์ตูนชื่อดัง กับผู้บาดเจ็บอีก 11 คน โดยผู้ก่อเหตุอ้างว่าเป็นสมาชิกของอัลกออิดะห์ในเยเมน

สองพี่น้องชาวฝรั่งเศสเชื้อสายแอลจีเรีย ซาอิด (Saïd) และ เชริฟ คูอาชี (Chérif Kouachi) คือมือปืนผู้ลั่นกระสุน เชริฟเคยถูกส่งไปฝึกเป็นนักรบจีฮัดร่วมกับอัลกออิดะห์ที่อิรัก เคยถูกจับกุมเมื่อปี 2005 หลังพยายามออกนอกประเทศไปยังซีเรียเพื่อต่อสู้กับกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามอิรัก ขณะที่ซาอิดเคยเดินทางไปยังเยเมน มีความสัมพันธ์กับกลุ่มก่อการร้าย และร่วมฝึกกับอัลกออิดะห์

ทั้งคู่ถูกปิดเมืองไล่ล่า ก่อนเข้าจับตัวประกันที่บริษัทป้าย Création Tendance Découverte หลังการบุกจู่โจมของหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายฝรั่งเศส และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซาอิดและเชริฟประกาศสละชีพ ออกมาเปิดฉากยิงใส่เจ้าหน้าที่ และถูกสังหาร ขณะที่ตัวประกันปลอดภัย

28 มิถุนายน 2015

กราดยิงบนชายหาด ตูนิเซีย

ปี 2015 ดูจะเป็นปีที่เหตุที่มีลักษณะเข้าข่ายการก่อการร้ายเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ แม้กระทั่งชายหาด เมื่อ ไซเฟดดีน เรซกุย (Seifeddine Rezgui) นักศึกษาวิศวกรรม อายุ 23 ปี เปิดฉากสังหารหมู่ จนมีผู้เสียชีวิต 38 ราย และบาดเจ็บอีก 39 คน

บริเวณชายหาดหน้าโรงแรมอิมพีเรียล มาร์ฮาบา (Imperial Marhaba) แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมไม่ไกลจากตัวเมืองซูสส์ (Sousse) เรซกุยเดินเล่นบนชายหาดเหมือนนักท่องเที่ยวปกติ แต่มาพร้อมกับปืนอาก้าที่ซ่อนไว้ในร่ม และเปิดฉากยิงนักท่องเที่ยวบนชายหาดอย่างใจเย็น

ขณะที่ผู้คนบริเวณหาดแตกตื่นหลบหนี เรซกุยเดินเข้าไปยังสระว่ายน้ำของโรงแรม และลั่นกระสุนอีกหลายครั้ง ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมาถึง และยิงเขาเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

พยานผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า เขาเดินผ่านนักท่องเที่ยวชาวตูนิเซียไป เล็งเป้าหมายเฉพาะชาวต่างชาติ โดยผู้เสียชีวิตเป็นชาวอังกฤษ 30 คน ไอริช 3 คน เยอรมัน 2 คน รัสเซีย เบลเยียม และโปรตุเกส ชาติละ 1 คน

ตามประวัติของเรซกุย เขาชอบเพลงฮิปฮอป เป็นนักเต้นเบรกแดนซ์ เป็นแฟนบอลเรอัล มาดริด และไม่เคยมีความสนใจในแนวทางอิสลามหัวรุนแรงมาก่อน แต่ด้านกลุ่มรัฐอิสลามอ้างว่า เรซกุยเข้าร่วมการฝึกกับกลุ่ม IS หรือรัฐอิสลาม ที่ลิเบีย

13 พฤศจิกายน 2015

ระเบิดและกราดยิงที่ปารีส ฝรั่งเศส

เหตุร้ายของฝรั่งเศสเกิดขึ้นอีกครั้งใจกลางกรุงปารีส ทั้งระเบิดฆ่าตัวตายและกราดยิงใส่ผู้คน

มีการระเบิดฆ่าตัวตาย 3 จุด ใกล้สนามกีฬาสตาด เดอ ฟรองส์ (Stade de France) ในแซงต์-เดอนีส์ (Saint-Denis) ตามมาด้วยการกราดยิงใส่ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และสถานที่แสดงดนตรี

มีประชาชนเสียชีวิต 130 ราย ซึ่งรวมถึงตัวประกัน 89 คนที่ถูกจับไว้ในโรงภาพยนตร์บาตาคลัน (Bataclan) มีผู้บาดเจ็บ 368 คน สาหัส 80-90 คน ก่อนที่ผู้ก่อการร้าย 7 คนจะถูกสังหาร

เรื่องนี้สร้างความตื่นกลัวการก่อการร้ายในฝรั่งเศสอย่างมาก เพราะเกิดตามหลังการกราดยิงที่ ชาร์ลี เอบโด ไม่นาน และนับเป็นการโจมตีใส่ฝรั่งเศสครั้งร้ายแรงที่สุด นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และอันตรายที่สุดในสหภาพยุโรป นับตั้งแต่การระเบิดขบวนรถไฟที่มาดริด ทำให้กระแสความหวาดกลัวผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิม

กลุ่ม IS ที่กำลังแผ่อิทธิพลในหลายภูมิภาค อ้างความรับผิดชอบการโจมตีครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการตอบโต้ที่ฝรั่งเศสโจมตีกลุ่ม IS ในซีเรียและอิรัก

ระเบิดและกราดยิงที่ปารีส ฝรั่งเศส

2016

ระเบิดที่บรัสเซลส์ เบลเยียม

22 มีนาคม 2016

ระเบิดที่บรัสเซลส์ เบลเยียม

ยุโรปยังคงเป็นเป้าหมายการก่อการร้ายต่อเนื่อง เมื่อการระเบิดชุดใหม่เกิดขึ้นที่เบลเยียม ทั้งสนามบินและสถานีรถไฟใต้ดิน จนกลายเป็นการโจมตีที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นเดียวกับฝรั่งเศส

การก่อการร้ายครั้งร้ายแรงที่สุดของเบลเยียมลงมือโดยมือระเบิดพลีชีพ 2 คนที่บรรจุระเบิดไว้ในกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ โจมตีอาคารผู้โดยสารขาออก สนามบินบรัสเซลส์ และจากการค้นหาของเจ้าหน้าที่ พบระเบิดอีกลูกที่ไม่ทำงาน และสามารถเก็บกู้ได้

หลังการระเบิดที่สนามบินไม่ถึง 1 ชั่วโมง ก็เกิดระเบิดที่สถานีรถไฟใต้ดินมัลบีค (Maalbeek) ใกล้กับสำนักงานใหญ่ของคณะกรรมาธิการยุโรปในบรัสเซลส์ รวมสองจุด ที่มีผู้เสียชีวิต 32 ราย บาดเจ็บกว่า 300 คน

ผู้ก่อเหตุมีทั้งหมด 5 คน โดย 3 คน เสียชีวิตจากการพลีชีพ อีก 2 คนถูกจับกุมหลังจากนั้นไม่นาน การสอบสวนเปิดเผยว่า กลุ่มนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางแผนการก่อการร้ายกลางกรุงปารีสก่อนหน้านี้

เบลเยียมคือประเทศที่ส่งเครื่องบินรบไปทิ้งระเบิดฐาน IS ในอิรัก จึงตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้าย ช่วงก่อนเกิดเหตุระเบิดที่สนามบินและสถานีรถไฟ กลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มหัวรุนแรงในเบลเยียมถูกจับกุม ภายใต้ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายที่เข้มงวดขึ้นหลังการวางระเบิดที่ปารีส

2017

กราดยิงไนต์คลับ อิสตันบูล , ขับรถชนและไล่แทงที่เวสต์มินสเตอร์ อังกฤษ , ระเบิดแมนเชสเตอร์อารีนา อังกฤษ , ขับรถชนและไล่แทงที่บาร์เซโลนา สเปน , ระเบิดโมกาดิชู โซมาเลีย

1 มกราคม 2017

กราดยิงไนต์คลับ อิสตันบูล

ช่วงปี 2016 กองกำลังตุรกีเริ่มใช้กองกำลังทหารในซีเรียเพื่อต่อต้าน IS เป็นครั้งแรก ทำให้ตุรกีกลายเป็นเป้าหมายในการโจมตีของผู้ก่อการร้ายเช่นกัน

เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังพ้นชั่วโมงแรกของปี 2017 ไม่นาน เมื่อมือปืนได้บุกเข้าไปในไนต์คลับเรนา (Reina) ในเขตเบซิกตัส (Besiktas) เมืองอิสตันบูล และลั่นกระสุน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 39 ราย บาดเจ็บอีก 70 คน

ผู้ก่อเหตุ อับดุลกาดีร์ มาชาริปอฟ (Abdulkadir Masharipov) ถูกจับกุมจากย่านที่อยู่อาศัยในอิสตันบูล แหล่งข่าวด้านความมั่นคงระบุว่า มาชาริปอฟได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี เชื่อว่าได้รับคำสั่งให้ก่อการร้ายในอัฟกานิสถานและปากีสถาน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าเขามีประสบการณ์การต่อสู้ในซีเรียอีกด้วย

มาชาริปอฟเป็นชาวอุซเบกิสถาน พูดได้ 4 ภาษา หลังจากการจับกุม เขากล่าวว่า ได้รับคำสั่งจาก IS ให้โจมตีจัตุรัสทักซิม แต่เนื่องจากมีการเฝ้าระวังสูง จึงเปลี่ยนเป้าหมายไปยังไนต์คลับเรนาแทน

22 มีนาคม 2017

ขับรถชนและไล่แทงที่เวสต์มินสเตอร์ อังกฤษ

เป็นการก่อเหตุในลักษณะการขับรถพุ่งชนคน ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งในยุโรป และเป็นวันครบรอบ 1 ปี การวางระเบิดที่บรัสเซลส์พอดี

เริ่มต้นจากรถยนต์ยี่ห้อฮุนได สีเทา วิ่งมาด้วยความเร็วสูงบนสะพานเวสต์มินสเตอร์ (Westminster) และเริ่มพุ่งชนผู้คนที่เดินอยู่บนสะพาน ต่อมาได้มุ่งหน้าไปชนรั้วเหล็กของอาคารรัฐสภา ซึ่งขณะนั้นกำลังมีการประชุมสภาฯ

คนร้ายใช้อาวุธมีดยาว 8 นิ้ว แทงเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัยรัฐสภาเสียชีวิต ต่อมาก็ถูกวิสามัญในที่เกิดเหตุ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลา 82 วินาที มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 40 คน

ผู้ก่อเหตุคือ คาลิด มาซูด (Khalid Masood) ชาวอังกฤษ วัย 52 ปี ที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามเมื่อปี 2005 เคยมีประวัติจำคุก 2 ครั้ง จากการทำร้ายร่างกายและครอบครองอาวุธ

มาซูดไม่ได้อยู่ในข่ายต้องสงสัยของทางการว่าจะเป็นภัยคุกคามระดับการก่อการร้าย นอกจากเป็นเพียงมุสลิมหัวรุนแรง แต่ IS ก็อ้างความรับผิดชอบอีกครั้ง ด้านทางการยังเชื่อว่านี่เป็นปฏิบัติการฉายเดี่ยวจากเจตนาส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับขบวนการเหมือนที่ถูกอ้าง

22 พฤษภาคม 2017

ระเบิดแมนเชสเตอร์อารีนา อังกฤษ

ถือเป็นการก่อการร้ายครั้งสำคัญอีกครั้งในยุโรป และครั้งนี้เกิดขึ้นที่เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ

หลังจากคอนเสิร์ตของนักร้องดัง อาเรียนา แกรนเด (Ariana Grande) จบลง เกิดการระเบิดบริเวณทางออกด้านนอกอาคารแสดงคอนเสิร์ตที่มีผู้ชมถึง 21,000 คน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย รวมทั้งมือระเบิด มีผู้บาดเจ็บ 119 ราย สาหัส 23 ราย ซึ่งนับเป็นการระเบิดครั้งร้ายแรงที่สุดของเมืองแมนเชสเตอร์นับตั้งแต่ยุคขบวนการ IRA

ผู้วางระเบิดแสวงเครื่องคือ ซัลมาน รามาดัน อาเบดี (Salman Ramadan Abedi) ชาวอังกฤษเชื้อสายลิเบีย วัย 22 ปี ซึ่งอยู่ในรายชื่อผู้ต้องสงสัยว่าทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้ก่อการร้าย แม้ยังไม่สรุปว่านี่คือการทำงานเป็นขบวนการ หรือฉายเดี่ยว แต่หลังจากนั้นไม่นาน IS ก็ออกแถลงการณ์เป็นทางการ ว่าอยู่เบื้องหลังการวางระเบิดครั้งนี้

สำหรับอังกฤษ การระเบิดครั้งนี้เกิดหลังเหตุการณ์ที่เวสต์มินสเตอร์ไม่นาน และ 1 สัปดาห์หลังระเบิดที่แมนเชสเตอร์ ก็เกิดเหตุขับรถพุ่งชนและไล่ฟันผู้คนที่สะพานลอนดอน ทำให้เชื่อกันว่าอังกฤษยังคงเป็นเป้าหมายของการก่อการร้ายที่อาจมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

17 สิงหาคม 2017

ขับรถชนและไล่แทงที่บาร์เซโลนา สเปน

เป็นซีรีส์การก่อเหตุในยุโรป และเป็นอีกครั้งที่คนร้ายลงมือด้วยการขับรถพุ่งชนคนเดินถนน

เหตุเกิดเมื่อรถตู้คันหนึ่งวิ่งมาด้วยความเร็วสูงบนถนนลา รัมบลาส (La Ramblas) ในบาร์เซโลนา ไล่ชนผู้คนตลอดระยะทาง 550 เมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย บาดเจ็บ 130 ราย ก่อนที่คนขับจะหลบหนีไปจี้รถยนต์อีกคัน และใช้มีดแทงเหยื่อเสียชีวิตอีก 1 ราย

วันต่อมา ไม่ไกลจากที่เกิดเหตุในบาร์เซโลนา เกิดเหตุคล้ายกันในเมืองแคมบริลส์ (Cambrils) เมื่อชาย 5 คนขับรถอาวดี้พุ่งชนผู้คน และใช้มีดไล่แทง ก่อนถูกตำรวจยิงเสียชีวิตทั้งหมด

สี่วันถัดมา ยูเนส อาบูยาคูบ (Younes Abouyaaqoub) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นคนขับรถตู้ในเหตุที่บาร์เซโลนา ก็ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตเช่นกัน

รวมยอดผู้เสียชีวิตจาก 2 เหตุการณ์ 16 ราย และบาดเจ็บประมาณ 100 คน

ขับรถชนและไล่แทงที่บาร์เซโลนา สเปน

14 ตุลาคม 2017

ระเบิดโมกาดิชู โซมาเลีย

การโจมตีของผู้ก่อการร้ายครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของโซมาเลีย จากเหตุคาร์บอมบ์ในเมืองโมกาดิชู คร่าชีวิตผู้คนไป 350 คน และบาดเจ็บกว่า 400 คน

ผู้ก่อเหตุ 2 คนขับรถมินิแวนโตโยต้า และรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่บรรทุกทั้งระเบิดทางการทหารและระเบิดแสวงเครื่อง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่บริเวณสนามบินในเมืองหลวงของโซมาเลีย ซึ่งเป็นที่ตั้งองค์กรรักษาสันติภาพระหว่างประเทศ แต่เมื่อคนขับรถมินิแวนถูกควบคุมตัวที่จุดตรวจ คนขับรถบรรทุกได้จุดชนวน ซึ่งขณะนั้นอยู่ใจกลางเมืองหลวง ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

แม้ไม่มีองค์กรใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ แต่เชื่อันว่ากลุ่มอัลกออิดะห์และกลุ่มอัล-ชาบับ อยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้

ระเบิดโมกาดิชู โซมาเลีย

2019

กราดยิงที่ไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ , ระเบิดโบสถ์และโรงแรม ศรีลังกา

15 มีนาคม 2019

กราดยิงที่ไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์

การกราดยิงครั้งใหญ่ของนิวซีแลนด์ เกิดขึ้นที่มัสยิดสองแห่ง มัสยิดอัลนูร์ (al-Noor Mosque) และ ศูนย์อิสลามลินวูด (Linwood Islamic Center) ในไครสต์เชิร์ช ขณะมีพิธีละหมาดวันศุกร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 51 ราย และที่น่ากลัวคือ ระหว่างการลั่นกระสุนสังหาร เขาทำการไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กให้เห็นวินาทีที่เหยื่อแต่ละคนเสียชีวิต พร้อมกับมีแถลงการณ์อีก 74 หน้า

ผู้ก่อเหตุคือ เบรนตัน ทาร์แรนต์ (Brenton Tarrant) ชายวัย 28 ปี จากนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งถูกจับหลังจากนั้นไม่นาน โทษของเขาคือจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งเป็นโทษสูงสุดของนิวซีแลนด์ที่ไม่มีการประหารชีวิต

นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวจาก จาร์ซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ว่า นอกจากโทษในคำพิพากษาตามกฎหมายแล้ว สิ่งที่ชายคนนี้จะได้รับคือการถูกทำให้หายไปจากโลก จะถูกลืม จะไม่มีการกล่าวถึง หรือได้ยินอะไรเกี่ยวกับเขาอีก

ไม่นานจากนั้น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ประกาศปฏิรูปกฎหมายการครอบครองอาวุธปืน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายแบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต

21 เมษายน 2019

ระเบิดโบสถ์และโรงแรม ศรีลังกา

เกิดเหตุระเบิดพลีชีพหลายจุดที่ศรีลังกา เป้าหมายคือโบสถ์คาทอลิก และโรงแรมหรู แชงกรีลา, ซินนามอน แกรนด์ และคิงส์เบอรี ใจกลางกรุงโคลัมโบ ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 253 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวศรีลังกา มีชาวต่างชาติ 38 คนเสียชีวิต ซึ่งรวมถึงชาวอินเดีย อังกฤษ และอเมริกัน นอกจากนั้นบาดเจ็บอีกราว 500 คน

ตำรวจศรีลังการะบุภายหลังว่า มือระเบิดพลีชีพมีทั้งหมด 9 คน หนึ่งในนั้นเป็นผู้หญิง มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม IS และนี่เป็นครั้งแรกที่เหตุก่อการร้ายในศรีลังกาเชื่อมโยงกับกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงข้ามชาติ

Share article
  • Line
  • link
Follow