Humberger Menu

ทำไมต้องยอมรับรัฐปาเลสไตน์

เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเกิดขึ้นหลายแห่งทั่วโลกช่วงต้นปี 2024 แต่สงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่า 7 เดือนหลังกลุ่มฮามาสก่อวินาศกรรมหลายจุดในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ยังถูกจับตามองอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ จากประชาคมโลก เพราะสถิติผู้เสียชีวิตในสงครามเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนักวิเคราะห์เกรงว่าความขัดแย้งครั้งนี้อาจลุกลามบานปลายไปทั่วตะวันออกกลาง แต่การกดดันให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายเจรจาสงบศึกหรือเปิดทางสู่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยา ยังไม่มีทีท่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ 



ด้วยเหตุนี้ ทันทีที่ประเทศยุโรปอย่างนอร์เวย์ สเปน และไอร์แลนด์ ประกาศว่าจะรับรองรัฐปาเลสไตน์ โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2024 จึงกลายเป็นประเด็นร้อนแรงระลอกใหม่ที่ซ้ำเติมให้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ยิ่งทวีความดุเดือดเพิ่มขึ้น เนื่องจากทั้งสามชาติคือพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา (ซึ่งมีจุดยืนหนุนหลังอิสราเอลมาจนถึงปัจจุบัน) การประกาศรับรองรัฐปาเลสไตน์จึงถูกเปรียบกับการเปลี่ยนขั้วไปสนับสนุนฝั่งตรงข้าม

รัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงสหราชอาณาจักร เยอรมนี และฝรั่งเศส ตอบโต้ท่าทีของนอร์เวย์ สเปน และไอร์แลนด์ โดยระบุว่าแม้จะสนับสนุนแนวทาง ‘สองรัฐ’ หรือ Two State Solution ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ผ่านการเห็นชอบจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อปี 1947 แต่การรับรองรัฐปาเลสไตน์ในเวลานี้เป็นเรื่องไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะการสู้รบในกาซายังไม่ยุติ 

ขณะที่ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ประณามว่าการกระทำของทั้งสามประเทศเป็นการมอบรางวัลแก่ผู้ก่อการร้าย (reward for terror) และจะยิ่งทำให้โลกตกอยู่ในอันตราย เพราะรัฐที่ได้รับการรับรองสถานะหลังก่อเหตุร้ายย่อมจะกลายเป็นรัฐที่ก่อการร้ายอย่างรุนแรงยิ่งกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี ผู้นำทั้งสามชาติยุโรปที่ประกาศรับรองรัฐปาเลสไตน์ต่างยืนยันหนักแน่นว่า สิ่งที่ทำลงไปเกิดจากการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน และเชื่อว่านี่คือแนวทางเดียวที่จะนำไปสู่สันติภาพตะวันออกกลางได้อย่างแท้จริง พร้อมทั้งแจกแจงว่า การรับรองรัฐปาเลสไตน์คือก้าวแรกที่จะทำให้การแก้ปัญหาตะวันออกกลางด้วย ‘แนวทางสองรัฐ’ กลายเป็นความจริงได้ เพราะประเด็นสำคัญของแนวทางนี้คือการรับรองสถานะที่เท่าเทียมกันระหว่าง ‘รัฐอิสราเอล’ และ ‘รัฐปาเลสไตน์’ แต่จนถึงตอนนี้มีเพียงฝั่งอิสราเอลที่ได้รับการรับรองสถานะความเป็นรัฐจากกลุ่มประเทศทรงอิทธิพลอย่างสหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรป หลังก่อตั้งประเทศในปี 1948

เหตุผลของฝ่ายเห็นด้วยและฝ่ายคัดค้านการรับรองรัฐปาเลสไตน์ล้วนหนักแน่นน่าเชื่อถือ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาคมโลกจะถูกแบ่งขั้วโดยอัตโนมัติเพราะเห็นด้วยกับเหตุผลคนละฝั่ง 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายฝ่าย ‘เห็นตรงกัน’ คือการรับรองรัฐปาเลสไตน์เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญ แต่เส้นทางสู่สันติภาพและความสมานฉันท์ระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์นั้นยังต้องเดินอีกไกลกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง เพราะถ้าย้อนมองอดีตจะเห็นว่าการเจรจาสันติภาพเคยเฉียดใกล้ความจริงอย่างมากครั้งหนึ่ง แต่ก็ถูกขัดขวางจนไม่อาจดำเนินต่อไปได้อย่างที่ควรจะเป็น


เมื่อเสียงปืนดับความหวังหลังข้อตกลงออสโล

ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2024 เป็นต้นไป ประเทศสมาชิกสหประชาชาติที่รับรองรัฐปาเลสไตน์จะเพิ่มเป็น 142 ประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลปาเลสไตน์มีหนทางได้รับความช่วยเหลือและสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากชาติยุโรปที่มีความสำคัญในเวทีโลกเพิ่มขึ้นอีกสามชาติ 

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมทั้งสามชาติถึงออกมาเคลื่อนไหวในเวลานี้ แต่ท่าทีของนอร์เวย์ กลับเป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยากในสายตานักวิเคราะห์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ เพราะปี 2023 ที่ผ่านมา เป็นวาระครบรอบ 30 ปี ‘ข้อตกลงออสโล’ หรือ Oslo Accord ซึ่งอดีตรัฐบาลนอร์เวย์และรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นตัวกลางเจรจาแนวทางสันติภาพครั้งสำคัญระหว่างผู้นำอิสราเอลและผู้นำขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization: PLO) การที่นอร์เวย์พยายามจะรื้อฟื้นกระบวนการสันติภาพขึ้นมาอีกครั้งในห้วงสงครามอิสราเอล-ฮามาส จึงถูกมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวนำร่องให้ประเทศยุโรปอื่นๆ ร่วมกดดันคู่ขัดแย้งให้กลับสู่กระบวนการเจรจาแทนการใช้อาวุธ

ข้อตกลงออสโลคืออะไร?

ข้อตกลงออสโลถูกเปรียบเปรยว่าเป็นพิมพ์เขียวร่างแรกของเส้นทางสู่สันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เพราะในครั้งนั้น ยิตซ์ฮัก ราบิน นายกรัฐมนตรีอิสราเอลที่เคยเป็นนายทหารสายเหยี่ยวมาทั้งชีวิต ยอมร่วมโต๊ะเจรจากับ ยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ PLO ที่เคยใช้วิธีการรุนแรงก่อเหตุนองเลือดควบคู่กับการเคลื่อนไหวของปีกการเมือง โดยมีเป้าหมายเพื่อหาทางยุติความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ซึ่งยืดเยื้อยาวนานข้ามทศวรรษ และรัฐบาลนอร์เวย์เป็นผู้อำนวยความสะดวกจัดการเจรจาขึ้นที่กรุงออสโล เมืองหลวงของนอร์เวย์ โดยมี บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นผู้ร่วมไกล่เกลี่ย


ยิตซ์ฮัก ราบิน, บิล คลินตัน และ ยัสเซอร์ อาราฟัต

กระบวนการเจรจาข้อตกลงออสโลใช้เวลานานหลายปีกว่าที่ราบินและอาราฟัตจะยอมเห็นชอบร่วมกัน ซึ่งในตอนนั้นสื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่าเนื้อหาหลักของข้อตกลงออสโลคือการรับรองสถานะของรัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์ในฐานะ ‘รัฐอิสระ’ ที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง และการแบ่งดินแดนระหว่างรัฐอิสราเอลกับรัฐปาเลสไตน์จะยึดเอาพื้นที่ที่อิสราเอลและปาเลสไตน์ถือครองหลังสิ้นสุดสงคราม 6 วันเมื่อปี 1967 ซึ่งกินอาณาเขตกว้างใหญ่กว่าพื้นที่ดินแดนปาเลสไตน์ในปัจจุบันที่ถูกแบ่งเป็นเขตเวสต์แบงก์กับฉนวนกาซา

แน่นอนว่าข้อตกลงออสโลยังมีช่องโหว่ และมีผู้วิจารณ์มาตลอดว่าเนื้อหาในข้อตกลงขาดรายละเอียดสำคัญอีกหลายอย่าง เช่น ไม่มีการระบุสถานะที่ชัดเจนของนครเยรูซาเลม ซึ่งทั้งฝ่ายอิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างถือเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของฝ่ายตนเอง ทั้งยังไม่ได้พูดถึงแนวทางปักปันดินแดนหรือการจัดการกับชาวอิสราเอลที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ซึ่งถูกเรียกว่าดินแดนปาเลสไตน์ก่อนเกิดข้อตกลงออสโล แต่ในตอนนั้นการที่ผู้นำของทั้งสองฝ่ายยอมจับมือกันหลังลงนามเห็นชอบในข้อตกลงได้ก็นับว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่แล้ว 

แต่กระบวนการสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์ก็สะดุดหยุดลงเมื่อ ยิตซ์ฮัก ราบิน ถูกนักศึกษาชายชาวยิวซึ่งมีแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 1995 โดยผู้ก่อเหตุไม่พอใจเงื่อนไขเรื่องการแบ่งปันดินแดนในข้อตกลงออสโล และผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองของอิสราเอลถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง เพราะไม่สามารถปกป้องชีวิตผู้นำคนสำคัญเอาไว้ได้

หลังจากนั้นการดำเนินการตามเงื่อนไขในข้อตกลงออสโลก็ถูกขัดขวางจนกระทั่งถูกแช่แข็งในเวลาต่อมา เพราะการเมืองอิสราเอลเผชิญกับความผันผวนและการเปลี่ยนตัวขั้วรัฐบาล เกิดการชุมนุมประท้วงและปะทะกันทางความคิดระหว่างชาวยิวที่มีแนวคิดขวาจัดและชาวยิวฝ่ายซ้าย เช่นเดียวกับปาเลสไตน์ซึ่งกลุ่มฟาตาห์ (Fatah) หนึ่งในปีกการเมืองที่สำคัญของ PLO ได้รับความเห็นชอบจากประชาคมโลกเป็นผู้นำทางการเมืองปาเลสไตน์ หรือ PA (Palestinian Authority) แต่ก็ถูกขัดขวางโดยกลุ่มฮามาสที่ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงออสโล ความหวังในการผลักดันกระบวนการสันติภาพระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์จึงหยุดชะงักไป 


แนวทางสองรัฐ กับความแตกแยกยิ่งกว่าสองขั้ว 

เกือบหนึ่งทศวรรษหลังเหตุลอบสังหาร ยิตซ์ฮัก ราบิน ก็ถึงคราวของ ยัสเซอร์ อาราฟัต ซึ่งกลายมาเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณคนสำคัญของชาวปาเลสไตน์ เขาเสียชีวิตในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2004 ขณะมีอายุ 75 ปี ทำให้ผู้ติดตามสถานการณ์อิสราเอล-ปาเลสไตน์บางส่วนเข้าใจว่าเป็นการเสียชีวิตเนื่องจากอายุมาก และถือเป็นสาเหตุธรรมชาติ แต่การพิสูจน์หลักฐานภายหลังกลับบ่งชี้ว่าอาราฟัตถูกวางยาพิษ

หลังจากนั้นความขัดแย้งทางการเมืองภายในปาเลสไตน์ก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง กลุ่มฮามาสท้าทายฟาตาห์ซึ่งมีสถานะผู้นำทางการเมืองปาเลสไตน์จนมีผู้ร่วมอุดมการณ์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือการต่อต้านข้อตกลงออสโลและการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบการทำงานของ PA จนในที่สุดฮามาสก็ใช้กำลังบุกยึดอำนาจปกครองฉนวนกาซา ก่อนชนะเลือกตั้งในปี 2006 และประกาศตัวเป็นผู้นำรัฐบาลแห่งชาติร่วมกับ PA ได้สำเร็จในปี 2014 ทำให้สถานะของ PA ในการเป็นรัฐบาลปาเลสไตน์สั่นคลอนอย่างหนัก 

แม้ PA จะได้รับความเห็นชอบและถูกรับรองสถานะความเป็นผู้นำทางการเมืองจากประชาคมโลก แต่ในสายตาชาวปาเลสไตน์บางส่วน ฮามาสกลับเป็นผู้นำอันชอบธรรมของกลุ่มชาวปาเลสไตน์ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบชาตินิยมและอิสลามนิยมยิ่งกว่า PA 

ปาเลสไตน์คิดอย่างไร?

องค์กรเพื่อสิทธิชาวปาเลสไตน์ AWRAD ได้สำรวจความคิดเห็นของชาวปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาช่วงปลายปี 2023 พบว่า 59 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม ‘เห็นด้วย’ กับการก่อเหตุโจมตีอิสราเอลของฮามาสในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ซึ่งมีการสังหารและลักพาตัวพลเรือนทั้งชาวอิสราเอลและต่างชาติ โดยเหตุผลของผู้ที่เห็นด้วยมองว่าฮามาสมีความจำเป็นต้องตอบโต้รัฐอิสราเอลที่กดขี่ชาวปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่องยาวนาน



ส่วนการกดขี่ของอิสราเอลในสายตาผู้ตอบแบบสอบถาม มีตั้งแต่การปล่อยให้ชาวอิสราเอลที่มีอุดมการณ์ขวาจัดเข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่อง การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเดินทางโยกย้ายถิ่นฐานของชาวปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์และกาซา การสั่งระงับเงินช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ที่ถูกส่งผ่านโครงการความร่วมมือหรือองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ และการเลือกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมต่อผู้มีเชื้อสายปาเลสไตน์

อย่างไรก็ดี ถ้าไปดูรายละเอียดของผู้ตอบแบบสอบถามของ AWRAD จะพบว่าชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากปฏิบัติการของอิสราเอลเพื่อตอบโต้ฮามาส ตอบว่าเห็นด้วยกับการก่อเหตุของกลุ่มฮามาสเพียง 21 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสัดส่วนน้อยกว่าผู้อาศัยอยู่ในฝั่งเวสต์แบงก์ที่ตอบว่าเห็นด้วยกับฮามาสสูงถึง 68 เปอร์เซ็นต์ และคนกลุ่มหลังไม่ได้รับผลกระทบถึงขั้นสูญเสียครอบครัวหรือบ้านเรือนเหมือนผู้อยู่ในฝั่งกาซา จึงอาจสะท้อนได้ว่าความเห็นของชาวปาเลสไตน์ก็แตกต่างไปตามพื้นที่และสถานการณ์ที่พบเจอในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อนอร์เวย์ สเปน และไอร์แลนด์ ประกาศรับรองรัฐปาเลสไตน์ แม้จะมีท่าทีตอบสนองในเชิงบวกจากกลุ่มชาวปาเลสไตน์ แต่ไม่ได้หมายความว่าแนวทางสองรัฐที่ชาติยุโรปกลุ่มนี้ต้องการผลักดันจะได้รับการสนับสนุนจากขั้วการเมืองหรือกลุ่มอุดมการณ์ที่สนับสนุนอิสรภาพปาเลสไตน์เสมอไป และการดำรงอยู่ของฮามาสก็ยังเปรียบได้กับหนามยอกอกที่ทำให้หลายชาติหวาดระแวงจนไม่อาจสนับสนุนการรับรองรัฐปาเลสไตน์ได้ เพราะเกรงว่าจะให้ท้ายฮามาสที่ใช้ความรุนแรงขับเคลื่อนเป้าหมายโดยไม่คำนึงถึงชีวิตของพลเรือนผู้ไม่เกี่ยวข้อง 

อิสราเอลคิดอย่างไร?

ขณะเดียวกัน ท่าทีของรัฐบาลอิสราเอลและพันธมิตรก็ไม่ช่วยบรรเทาเบาบางความดุเดือดของสงคราม เพราะนอกจากประณามผู้นำสามชาติอย่างเปิดเผยแล้ว ยังเรียกตัวทูตอิสราเอลในนอร์เวย์ สเปน และไอร์แลนด์ กลับประเทศทันที ทำให้ความหวังว่าจะผลักดันการเจรจาสันติภาพผ่านการรับรองรัฐปาเลสไตน์ถูกมองด้วยสายตาตั้งคำถามจากอีกหลายประเทศที่รอดูทิศทางลงว่าจะเข้าร่วมกับฝั่งไหนดี



แต่นักวิเคราะห์บางส่วนประเมินว่า การสนับสนุนให้รับรองรัฐปาเลสไตน์อาจมีแนวโน้มเป็นไปได้เพิ่มขึ้นในอีกหลายประเทศ เห็นจากการสนับสนุนแนวทางสองรัฐของเสียงข้างมากในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และการเคลื่อนไหวของรัฐบาลแอฟริกาใต้ที่ยื่นเรื่องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) ให้ไต่สวนข้อกล่าวหาว่าผู้นำรัฐบาลอิสราเอลเข้าข่ายก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยอ้างอิงปฏิบัติการทางทหารที่ทำให้ชาวปาเลสไตน์ในกาซาเสียชีวิตชีวิตรวมกันมากกว่า 34,000 รายภายในเวลาเพียง 8 เดือน ก็ได้รับเสียงสนับสนุนไม่น้อย


เบนจามิน เนทันยาฮู

อย่างไรก็ดี รัฐบาลอิสราเอลประกาศกร้าวไม่ยอมทำตามมติของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ) ที่สั่งให้ระงับการปฏิบัติการทางทหารในเมืองราฟาห์ ทางใต้ของฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2024 เพื่อให้คณะเจ้าหน้าที่ระหว่างประเทศเข้ารวบรวมพยานหลักฐานและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทำให้นักวิเคราะห์คาดคะเนสถานการณ์ในอนาคตว่าการสงบศึกยังไม่มีความหวังสักเท่าไร จึงไม่ต้องหวังถึงขั้นสร้างสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์ให้เกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้ 

อ้างอิง: Aljazeera, AP, AWRAD, Axios, BBC, Britannica, CFR, CNN, DW, Euro News, Global Security, The Global Times, The Guardian, Israel Embassies, MFA, Reuters, Solidar, TIME, The Times of Israel, Xinhua, Yahoo! News