Humberger Menu

โอลิมปิก กวาดล้างคนชายขอบ?

ฝรั่งเศสมีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง คือ ปี 1900, 1924 และล่าสุดปารีสโอลิมปิกเกมส์ 2024 ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม-11 สิงหาคม 2024 จึงไม่แปลกอะไรที่ประเทศเจ้าภาพจะพยายามสร้างภาพลักษณ์อันดีให้ปรากฏแก่สายตานักกีฬาและบรรดาผู้ชมจากนานาประเทศที่กำลังจะเดินทางมาชมการแข่งขันกีฬาระดับโลกครั้งนี้ 

การกวาดล้างและทำความสะอาดพื้นที่แคว้นอีลเดอฟรองซ์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแข่งขันปารีสโอลิมปิกเกมส์จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และรัฐบาลฝรั่งเศสใช้โอกาสนี้พุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนชายขอบ ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย โดยให้เหตุผลว่า คนกลุ่มนี้เสี่ยงก่อเหตุละเมิดกฎหมายและเกี่ยวพันกับการก่อคดีทั้งหลายซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของนักกีฬาและแขกเหรื่อที่จะมาเยือนช่วงโอลิมปิก ทำให้คนไร้บ้าน ผู้ค้าบริการทางเพศ และผู้ติดยาเสพติด ซึ่งกระจายตัวตามพื้นที่สาธารณะในแคว้นแห่งนี้ถูกผลักดันหรืออพยพออกไปหมด

อย่างไรก็ดี สื่อหลายสำนักรายงานว่าการปฏิบัติต่อกลุ่มคนชายขอบเหล่านี้อาจเข้าข่ายละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะบางครั้งใช้วิธีรุนแรงขับไล่ผู้คนออกจากพื้นที่ 

แต่ถ้าย้อนกลับไปดูการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกทั่วโลกตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จะเห็นว่าหลายประเทศถูกกล่าวหาว่ากีดกัน (และซ้ำเติม) กลุ่มคนชายขอบกันมาแล้วถ้วนหน้า เพราะคนจน คนไร้บ้าน แรงงานต่างถิ่น รวมถึงผู้อยู่อาศัยในสลัมกลางเมือง คือคนกลุ่มแรกที่รัฐบาลส่วนใหญ่กำจัดให้พ้นจากพื้นที่รอบๆ สถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และแทบจะไม่มีการชดเชยเยียวยาคนกลุ่มนี้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายจัดระเบียบชุมชน 

ขณะเดียวกัน เสียงตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการจัดการแข่งขันโอลิมปิกก็ดังขึ้นเรื่อยๆ เพราะยุคหลังมีการดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องกับการจัดโอลิมปิกที่รับเงินสินบนจนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว และในบางประเทศที่เคยเป็นเจ้าภาพก็ต้องเจอภาวะวิกฤติเศรษฐกิจหลังจบการแข่งขัน ขณะที่อีกบางประเทศต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการบำรุงรักษาสนามกีฬาระดับโลกซึ่งเมื่อจบโอลิมปิกเกมส์แล้วแทบจะถูกปล่อยทิ้งร้าง ทั้งยังกลายเป็นภาระที่ประชาชนต้องร่วมกันแบกรับเพราะงบประมาณด้านอื่นถูกปรับลด กีฬาโอลิมปิกที่มีเป้าหมายเป็นการแข่งขันเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีจึงถูกสงสัยว่าเป็นจริงตามวัตถุประสงค์มากน้อยแค่ไหน

กีฬาเพื่อความสมานฉันท์ หรือเครื่องมือปั๊มเงินระยะสั้น?

โอลิมปิกจัดขึ้นเพื่ออะไร?

การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน เริ่มจัดขึ้นอย่างเป็นทางการปลายศตวรรษที่ 19 แต่อ้างอิงแนวคิดในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกของอาณาจักรกรีกยุคโบราณ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนสนามประลองกำลังและความสามารถของนักกีฬาจากนครรัฐต่างๆ ในยุคนั้น ตัวแทนจากประเทศยุคใหม่ทั่วโลกซึ่งรวมตัวกันในนาม ‘คณะกรรมการโอลิมปิกสากล’ (IOC) จึงลงมติให้โอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงเอเธนส์ของกรีซในปี 1896 ก่อนจะเปิดพื้นที่ให้ประเทศสมาชิกต่างๆ เสนอชื่อเมืองเพื่อท้าชิงการเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกเกมส์ที่จัดแบบหมุนเวียนทุกๆ 4 ปีโดยเฉลี่ย

ในฐานะที่เป็นการแข่งขันกีฬานานาชาติที่มีอายุยาวนานราว 128 ปี โอลิมปิกเกมส์ได้ผ่านห้วงเวลาแห่งการทำสงครามระหว่างประเทศในโลกสมัยใหม่มาแล้วหลายครั้ง คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) จึงมักจะย้ำอยู่เสมอว่า โอลิมปิกเป็นกีฬาแห่งความสมานฉันท์ เพราะเป็นพื้นที่เปิดกว้างให้ประเทศต่างๆ ส่งตัวแทนมาสู้กันในกรอบกติกาของกีฬาสากล จึงสามารถพิสูจน์ศักยภาพของบุคลากรและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแต่ละด้านผ่านการชิงชัยในเกมได้ โดยไม่ต้องเอาชนะคะคานกันด้วยการต่อสู้ทางอาวุธ 

แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้หลายชาติอยากเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกเกมส์อาจไม่ใช่แค่เรื่องการแข่งขันกีฬาเพื่อความสามัคคี เพราะ IOC พยายามโฆษณาประชาสัมพันธ์อยู่บ่อยๆ ว่าการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นผลดีต่อประเทศเจ้าภาพอย่างไรบ้าง 

ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญจนหลายประเทศพยายามต่อสู้เพื่อแย่งชิงการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก คือ ความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในแง่การสร้างงาน การส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงการวางรากฐานด้านสาธารณูปโภคเพิ่มเติม เพราะการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์แต่ละครั้งจะต้องรองรับนักกีฬาและผู้เข้าชมการแข่งขันหลายแสนคน

ข้อมูลในเว็บไซต์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ CFR ซึ่งเผยแพร่ในปี 2021 อ้างอิงผลการศึกษาหลายชิ้นเกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า นักกีฬาที่เดินทางไปเข้าร่วมโอลิมปิกฤดูร้อนแต่ละครั้งมีจำนวนเฉลี่ยมากกว่า 10,000 คน ส่วนกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวซึ่งมีนักกีฬาเข้าร่วมน้อยกว่าก็ยังมีจำนวนมากกว่า 3,000 คน และผู้ชมที่เดินทางมาจากต่างประเทศมีจำนวนหลายแสนคน จึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง

แต่การศึกษาวิจัยหลายชิ้นก็เตือนว่าการจัดโอลิมปิกเกมส์ส่วนใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น เพราะช่วงก่อนจัดการแข่งขันรัฐบาลแต่ละประเทศจะอุดหนุนงบประมาณในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อรองรับผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านนักกีฬา ระบบขนส่งคมนาคม ไปจนถึงการก่อสร้างโรงแรมที่พักตามมาตรฐาน IOC ให้มีจำนวนเพียงพอกับจำนวนผู้เข้าชมที่คาดว่าจะมาเยือนในช่วงที่มีการแข่งขัน สิ่งที่ตามมาจึงเป็นการจ้างงานผู้คนจำนวนมาก

พิธีจุดคบเพลิงโอลิมปิก 2024 ที่กรีซ ต้นกำเนิดโอลิมปิก

อย่างไรก็ตาม มีเพียงไม่กี่ธุรกิจเท่านั้นที่จะได้เม็ดเงินหมุนเวียนไปเต็มๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง การท่องเที่ยว และธุรกิจที่พักโรงแรม ซึ่งจะได้รับอานิสงส์เต็มๆ ช่วงก่อนและระหว่างการจัดแข่งขัน และในประเทศที่มีปัญหาเรื่องกลุ่มทุนผูกขาด ผลประโยชน์จากโอลิมปิกจะยิ่งกระจุกตัว

เมื่อพูดถึงผลประโยชน์ในระยะยาว กลับมีการตั้งคำถามในรายงานหลายชิ้น เพราะมีกรณีศึกษาในหลายชาติที่ต้องรับภาระในการใช้หนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินมาก่อสร้างสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการจัดโอลิมปิก เช่น กรณีของกรีซ เจ้าภาพจัดเอเธนส์โอลิมปิกเกมส์ในปี 2004 มีรายงานว่าการทุ่มงบกับโอลิมปิกเป็นหนึ่งในเหตุผลที่กรีซเผชิญกับวิกฤติหนี้ครั้งใหญ่ และมอนทรีอัลโอลิมปิกเกมส์ที่แคนาดาเป็นเจ้าภาพในปี 1976 ต้องใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษกว่าจะจัดการเรื่องชำระหนี้สำเร็จ

ชะตากรรมประเทศเจ้าภาพหลังจบกีฬาโอลิมปิก

ถ้าเข้าไปดูเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของโอลิมปิก สิ่งที่พบคือข้อมูลเชิงบวกเรื่องการลงทุนและรายได้จากการเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกเกมส์ของแต่ละประเทศ รวมถึงเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจในเส้นทางนักกีฬา ซึ่งรวมแล้วจะถูกเรียกว่า มรดกโอลิมปิก หรือ Olympic Legacies ที่มุ่งเน้นเรื่องราวสร้างสรรค์และการขับเคลื่อนแวดวงกีฬาให้ได้มาตรฐานโลก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีแง่มุมอื่นเกี่ยวกับโอลิมปิกที่ไม่อาจหาข้อมูลเจอในเว็บไซต์โอลิมปิกได้

การลงทุนมีความเสี่ยง

หลายประเทศลงทุนมหาศาลกับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก แต่ผลในท้ายที่สุดอาจได้ไม่คุ้มเสีย

อีกด้านของโอลิมปิกเกมส์ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนและเครือข่ายผู้ต่อต้านการจัดโอลิมปิกที่รวบรวมผลการศึกษาวิจัยในเชิงเศรษฐศาสตร์และมานุษยวิทยาเกี่ยวกับโอลิมปิกเกมส์เพื่อถ่วงดุลกับข้อมูลในแง่ดีซึ่งมักจะถูกนำเสนอโดยทั่วไป และหนึ่งในเว็บไซต์ที่โดดเด่นเรื่องนี้คือ noBoston2024 ซึ่งเป็นฐานข้อมูลของภาคประชาสังคมในสหรัฐอเมริกา ผู้รวมตัวต่อต้านการเสนอชื่อบอสตันเป็นสถานที่จัดโอลิมปิกเกมส์ปี 2024 

การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในบอสตันเกิดขึ้นราว 10 ปีก่อน ซึ่งมีการรณรงค์อย่างจริงจังและมีการนำข้อมูลวิชาการมาโต้แย้ง ส่งผลให้สภาท้องถิ่นในบอสตันพิจารณาถอนตัวจากการขอท้าชิงการเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกเกมส์ เหลือเพียงนครลอสแอนเจลิสที่ยังสู้ต่อจนได้เป็นเจ้าภาพในปี 2028 ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ผู้บริหารสภาท้องถิ่นในบอสตันใช้ประกอบการตัดสินใจถอนตัวคือ ไม่อยากเอาเงินในอนาคตของเมืองมาเสี่ยงกับการลงทุนที่ไม่รู้ว่าจะคุ้มค่าหรือไม่

ในรายงานที่ noBoston2024 รวบรวมไว้ มีการศึกษาหลายชิ้นที่บ่งชี้ว่า งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและการเตรียมตัวจัดโอลิมปิกในทุกประเทศนั้นเกินงบที่ตั้งไว้ทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ไม่อาจมองข้ามคือศักยภาพในการบริหารจัดการงบประมาณในการจัดโอลิมปิกเกมส์ของแต่ละประเทศนั้นไม่เท่าเทียมกัน 

แม้จะมีบางประเทศจะได้รับการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ เช่น กรณีลอนดอนโอลิมปิกเกมส์ช่วยเพิ่มการจ้างงานในอังกฤษราว 90 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเตรียมงาน และได้รับแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจในช่วงจัดการแข่งขันจริงในปี 2012 โดยมีเงินสะพัดในธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว รวมถึงรายได้จากค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขันแต่ละแมตช์ แต่ก็ไม่ใช่ทุกประเทศที่จะได้เจอด้านบวกของโอลิมปิกเสมอไป 

กรณีของบราซิล ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันริโอเดอจาเนโรเกมส์ในปี 2016 มีข้อมูลบ่งชี้ว่า รายได้จากการจัดโอลิมปิกยังไม่ครอบคลุมกับเงินงบประมาณด้านการลงทุนที่เสียไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจำนวนนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันเพิ่มขึ้นจากการแข่งขันโอลิมปิกครั้งก่อนหน้า (ซึ่งอังกฤษเป็นเจ้าภาพ) เพราะริโอฯ เกมเป็นปีแรกที่มีการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกผู้ลี้ภัยเกิดขึ้น ทำให้งบประมาณที่ตั้งไว้บานปลายหนัก แม้จะจบการแข่งขันไปแล้วก็ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนที่เคยประเมินไว้ ประกอบกับมีข่าวอื้อฉาวว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ IOC ถูกแฉว่ารับเงินสินบน ทำให้ภาพการทุจริตเกี่ยวพันกับการจัดมหกรรมกีฬาครั้งนี้อย่างไม่มีทางเลี่ยง

อีกกรณีคือ จีน ซึ่งจัดโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งแรกในปี 2008 และได้รับเสียงตอบรับอย่างดี เพราะงานถูกจัดขึ้นอย่างอลังการ สนามกีฬารูปรังนกที่ใช้จัดพิธีเปิดและปิดการแข่งขันก็ได้รับคำชมเชยอย่างมาก เพราะ อ้าย เว่ยเว่ย ศิลปินและสถาปนิกชาวจีนที่ออกแบบสนามกีฬาแห่งนี้ร่วมกับสถาปนิกชาวต่างชาติเคยให้สัมภาษณ์ว่า นี่คือสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพและการเปิดกว้างของจีนในโลกยุคใหม่ 

สนามรังนก กรุงปักกิ่ง

แต่หลังจบปักกิ่งโอลิมปิกเกมส์ สนามกีฬาแห่งนี้แทบไม่ได้ถูกใช้งาน เพราะไม่มีการแข่งขันในประเทศในระดับที่จะยิ่งใหญ่ขนาดโอลิมปิกมากนัก แต่กลับต้องใช้งบประมาณในการบำรุงรักษาสนามกีฬาอย่างมหาศาลในแต่ละปี 

อ้าย เว่ยเว่ย ซึ่งออกมาวิจารณ์รัฐบาลจีนอีกหลายเรื่องในภายหลัง ถูกตั้งข้อหาแบบคลุมเครือ หลังจากจีนมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจเข้าสู่ยุคของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศในที่สุด แต่เขาก็ไม่เคยหยุดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนแต่อย่างใด 

หนึ่งในเรื่องที่ อ้าย เว่ยเว่ย เปิดเผยกับสำนักข่าว AP คือการย้ำว่ามรดกโอลิมปิกไม่เคยเกิดขึ้นจริงหลังปักกิ่งโอลิมปิกเกมส์ในปี 2008 เพราะการแข่งขันกีฬาระดับโลกครั้งนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนจีนส่วนใหญ่ แม้จะมีโค้ชและนักกีฬาจีนได้รับประโยชน์จากการผลักดันครั้งนี้ก็มีเพียงไม่กี่ร้อยกี่พันคน และรัฐบาลจีนได้ประโยชน์ในการปรับภาพลักษณ์ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ แต่ถ้าเทียบจำนวนประชากรทั้งหมดที่เหลือกับเงินงบประมาณมหาศาลที่ถูกทุ่มลงไป มหกรรมกีฬาครั้งนั้นก็ยังไม่อาจเรียกได้ว่าคุ้มค่า 

อ้าย เว่ยเว่ย

หลังจาก อ้าย เว่ยเว่ย วิจารณ์เกี่ยวกับโอลิมปิกเกมส์ปี 2008 รัฐบาลจีนก็เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในเดือนเมษายน 2022 แต่ก็ยังไม่อาจลบล้างข้อกล่าวหาว่า ‘ผลาญงบ’ ได้อย่างหมดจด เพราะเป็นการจัดแข่งขันกีฬาในช่วงคาบเกี่ยวกับห้วงเวลาที่ทั่วโลกยังเฝ้าระวังและควบคุมการเดินทางช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้จำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันและจำนวนนักกีฬาที่มาเข้าร่วมโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งมีน้อยกว่าเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ 

ด้านมืดของโอลิมปิก

...แต่ด้านมืดเหล่านี้หาไม่เจอในเว็บไซต์ Olympics

จะเห็นได้ว่าหลายประเทศที่พยายามเสนอตัวให้ IOC พิจารณาเลือกเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์มีมากมาย แต่ประเทศที่มีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกมากกว่าหนึ่งครั้งมักเป็นประเทศมหาอำนาจและประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากฝรั่งเศสก็มีเพียงอังกฤษ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ที่เคยเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก 3 ครั้งเท่ากัน ส่วนจีนเป็นชาติเดียวที่เคยจัดทั้งกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน (ปี 2008) และโอลิมปิกฤดูหนาว (ปี 2022) 

ในรายงานการศึกษาวิจัยบางชิ้นจึงมีข้อสรุปว่าประเทศที่มีศักยภาพจะจัดโอลิมปิกเกมส์ได้โดยไม่ขาดทุนน่าจะมีเพียงประเทศใหญ่ๆ ที่มีระบบสาธารณูปโภคพร้อมอยู่แล้ว ไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้หรือเงินในอนาคต แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีด้านมืดที่เว็บไซต์ IOC ไม่ได้พูดถึงอีกหลายเรื่อง

ประเด็นร่วมที่หลายประเทศเจ้าภาพโอลิมปิกถูกวิพากษ์วิจารณ์คล้ายคลึงกันช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คือการกวาดล้างคนชายขอบของสังคมไปจากพื้นที่โดยรอบสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เช่น ลอนดอนโอลิมปิกเกมส์ที่อังกฤษเมื่อปี 2012 เป็นช่วงที่ บอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรีฝ่ายขวา รับตำแหน่งนายกเทศมนตรีลอนดอน จึงมีการออกคำสั่งผลักดันคนไร้บ้านออกจากพื้นที่ด้วยวิธีที่ถูกวิจารณ์ว่า ‘หนักมือ’ เพราะมีทั้งการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าใส่คนไร้บ้านตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่วงที่กลุ่มคนเหล่านี้ยังหลับพักผ่อนข้างถนน ทั้งยังมีรายงานในสื่ออังกฤษซึ่งบ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่ต่างๆ ใช้วาจาและท่าทีข่มขู่คุกคามคนไร้บ้านอย่างรุนแรงกว่าปกติ เพราะได้รับไฟเขียวจากผู้มีอำนาจให้สามารถจัดการกลุ่มคนไร้บ้านไปจากพื้นที่ได้เพื่อเปิดทางต้อนรับการแข่งโอลิมปิก

ส่วนกรณีของญี่ปุ่น เป็นเพราะโตเกียวโอลิมปิกเกมส์มีกำหนดจัดขึ้นในปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 กำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก การแข่งขันในปีนั้นจึงถูกเลื่อนไปแข่งในปี 2021 และรัฐบาลญี่ปุ่นถูกวิจารณ์ว่าใส่ใจกับการแข่งขันโอลิมปิกมากกว่าการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ทั้งยังมีกรณีที่คนไร้บ้านถูกกวาดล้างออกจากพื้นที่รอบสนามกีฬา และไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปใช้อาคารสถานที่หรือสาธารณูปโภคต่างๆ ในช่วงโควิด จนต่อมามีกระแสเรียกร้องจากทั้งคนในประเทศและนอกประเทศให้รัฐบาลญี่ปุ่นอนุโลมให้คนไร้บ้านใช้หมู่บ้านนักกีฬาพักพิงในช่วงโควิดได้ 

ขณะที่จีนมีข่าวตั้งแต่ช่วงเตรียมความพร้อมว่าแรงงานต่างถิ่นในกรุงปักกิ่งถูกไล่ที่พ้นจากสถานที่จัดการแข่งขัน และมีการตั้งกำแพงสูงวาดรูปทิวทัศน์เพื่อปิดกั้นทัศนียภาพของย่านที่พักอาศัยของคนรายได้น้อยในกรุงปักกิ่งให้พ้นจากสายตาของนักกีฬาและผู้เข้าชมปักกิ่งโอลิมปิกเกมส์ในปีนั้น รัฐบาลจีนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เคารพเจตนารมณ์ของการแข่งขันโอลิมปิกที่เป็นกีฬาแห่งความสมานฉันท์และเปิดรับคนทุกกลุ่ม 

แต่ถ้าดูจากข้อมูลที่ถูกรวบรวมไว้ในงานวิจัยและบทความจากสื่อหลายชิ้นก็จะเห็นได้ว่าแทบไม่มีประเทศไหนเลยที่จะไม่เจอข้อกล่าวหาว่ากีดกันคนชายขอบของสังคมให้พ้นไปจากเวทีการแข่งขันกีฬาระดับโลก 

เกมปลอดการเมือง ...คือการเมืองอย่างหนึ่ง

นอกเหนือจากมรดกโอลิมปิกที่พูดถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและการเปิดพื้นที่ให้นักกีฬา ยังมีมรดกที่จับต้องไม่ได้รวมอยู่ด้วย

สิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น ‘ความภาคภูมิใจ’ ของคนในชาติที่ได้มีส่วนร่วมในกีฬาระดับโลก รวมถึงการเป็นอาสาสมัครต้อนรับนักกีฬาและผู้ชมในระหว่างจัดการแข่งขัน ทำให้ IOC พยายามชูหลักการ ‘ปลอดการเมือง’ ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกทุกครั้ง โดยระบุว่าจะช่วยเสริมสร้างความสามัคคีสมานฉันท์ในกลุ่มผู้มีส่วนร่วมได้ดีกว่าการใช้พื้นที่แข่งกีฬาพูดเรื่องการเมือง

แต่นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่าการยืนยันไม่ให้นักกีฬาพูดเรื่องการเมือง หรือห้ามผู้เข้าร่วมทุกฝ่ายแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองตลอดการแข่งขันโอลิมปิกแต่ละครั้ง แท้จริงแล้วก็เป็นการ ‘เล่นการเมืองระหว่างประเทศ’ อย่างหนึ่ง เพราะ IOC เองก็ใช้การแข่งขันโอลิมปิกแสดงจุดยืนทางการเมืองเช่นกัน โดยมีการยกมติ IOC ที่สั่งห้ามนักกีฬารัสเซียและนักกีฬาเบลารุสเข้าร่วมการแข่งขันทั้งโอลิมปิกฤดูร้อนและฤดูหนาวในช่วงที่ผ่านมา หลังรัสเซียทำสงครามบุกรุกยูเครนตั้งแต่ปี 2022 และเบลารุสก็สนับสนุนรัสเซียอีกต่อหนึ่ง

การแบนนักกีฬารัสเซียและเบลารุสถูกวิจารณ์จากรัฐบาลรัสเซียและประเทศอดีตสหภาพโซเวียตจำนวนหนึ่งที่เป็นพันธมิตรกับรัสเซีย โดยล่าสุดมีการเปรียบเทียบกรณีอิสราเอลซึ่งปฏิบัติการโจมตีฉนวนกาซาจนทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตมากกว่า 34,000 คนในช่วงเวลาไม่ถึงปี เรียกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตยังมีมากกว่าผู้สูญเสียจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่นักกีฬาอิสราเอลไม่ได้ถูกสั่งห้ามเข้าร่วมโอลิมปิกเกมที่ปารีสแต่อย่างใด

ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวโยงโอลิมปิกที่พรรคการเมืองขวาจัดของฝรั่งเศส Rassemblement National (RN) ใช้เป็นหนึ่งในประเด็นโจมตีประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง หลังจากสื่อในประเทศรายงานว่ามาครงจะเสนอชื่อ อายา นาคามูระ นักร้องหญิงชาวฝรั่งเศสเชื้อสายมาลี ให้เป็นผู้ร้องเพลงของ อีดิธ เปียฟ นักร้องหญิงระดับตำนานของฝรั่งเศส ในพิธีเปิดปารีสโอลิมปิกเกมส์ในวันที่ 26 กรกฎาคมที่จะถึง

สมาชิกหลายคนของพรรค RN โจมตีว่า อายา นาคามูระ ไม่ใช่ตัวแทนชาวฝรั่งเศสที่แท้จริง ซึ่งมีนัยพาดถึงว่าอายาเป็นแค่ลูกหลานผู้อพยพในฝรั่งเศส ไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมในสายตาของพรรคที่มีแนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง ในขณะที่คนจำนวนมาก ทั้งที่เป็นแฟนเพลงและไม่ใช่แฟนเพลงของอายา ต่างมองว่าเธอคือตัวแทนความเป็นชาติของฝรั่งเศสซึ่งโอบรับและหลอมรวมผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย ที่สำคัญอายายังเป็นนักร้องหญิงสัญชาติฝรั่งเศสเพียงคนเดียวที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลกในยุคศตวรรษที่ 21

อายา นาคามูระ

การเลือกประเด็นชาตินิยมมาโจมตีการจัดปารีสโอลิมปิกเกมส์ของมาครงสะท้อนว่าพรรค RN ต้องการหล่อเลี้ยงความไม่พอใจของชาวฝรั่งเศสชาตินิยมขวาจัดซึ่งออกมารวมตัวต่อต้านรัฐบาลสายกลางของมาครง โดยประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือการต่อต้านนโยบายรับผู้อพยพลี้ภัยจากต่างประเทศ เพราะคนกลุ่มนี้มองว่าผู้อพยพเป็นภาระในการดูแล ทั้งยังมีคดีอาชญากรรมที่ผู้อพยพลี้ภัยก่อเหตุ ทำให้ฝ่ายขวาจัดมีภาพจำติดลบแบบเหมารวมต่อกลุ่มผู้อพยพทั้งหมด 

การโหนกระแสต่อต้านผู้อพยพเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่พรรคฝ่ายขวาจัดในยุโรป (ไม่ใช่แค่ฝรั่งเศส) ใช้เป็นนโยบายหาเสียงและเรียกคะแนนนิยม แต่กรณีของฝรั่งเศสอาจเปรียบได้กับหมัดน็อกของรัฐบาลมาครง เพราะหลังจากที่พรรค RN พยายามตีประเด็นนี้มาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งสภายุโรปวันที่ 6-9 มิถุนายน 2024 ซึ่งมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 373 ล้านในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ บ่งชี้ว่าพรรคขวาจัดฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการหาเสียงด้วยประเด็นชาตินิยม เพราะมีสมาชิกพรรคได้รับเลือกเข้าไปในสภายุโรปมากกว่าพรรค Renaissance ของมาครงซึ่งมีแนวทางสายกลาง และเรื่องนี้สั่นสะเทือนถึงขั้นที่มาครงประกาศยุบสภาก่อนกำหนดทันที 

ชาวฝรั่งเศสต่อต้านชัยชนะของฝ่ายขวา

สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่า ขั้วการเมืองสายกลางยังมีแนวโน้มที่จะครองเสียงข้างมากในสภายุโรปได้ต่อไป (ประมาณ 189 ที่นั่ง จากทั้งหมด 720 ที่นั่งในสภา) แต่การที่พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดสามารถคว้าที่นั่งในสภายุโรปเพิ่มขึ้นได้ อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ ในยุโรปที่เกี่ยวกับความมั่นคง การเปิดรับผู้อพยพลี้ภัย สิ่งแวดล้อม และการจัดการระบบเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงในฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าภาพจัดกีฬาแห่งความสมานฉันท์ครั้งล่าสุดนี้ด้วย


อ้างอิง: AP, Asahi, BBC, CBC, CFR, China Daily, CNN, CORE, The Guardian, Journalists Resource, Nikkei Asia, NoBoston2024, Olympics, Reuters