Humberger Menu

ทรัมป์ 78 vs. ไบเดน 81

จอห์น วอลล์ ศาสตราจารย์ด้านปรัชญา ศาสนา และเยาวชนศึกษาในสหรัฐอเมริกา วิเคราะห์ผ่านบทความที่เผยแพร่ทางวารสาร Havard Human Rights Journal เมื่อปี 2023 ว่า ‘อายุ’ ไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่เป็นปัจจัยสำคัญในเวทีการเมือง เพราะคนจำนวนมากมักจะยกย่องว่าผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะและประสบการณ์มากกว่าคนวัยหนุ่มสาวและเยาวชน การที่ผู้นำทางการเมืองหลายประเทศอยู่ในตำแหน่งยาวนานจนถึงอายุ 70-80 ปีจึงเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ทั่วไป 

แม้ในสหรัฐฯ จะมีกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติทางการเมืองด้วยเหตุแห่งอายุ (นอกเหนือจากประเด็นเชื้อชาติ เพศ อุดมการณ์ทางศาสนา และอื่นๆ) แต่การกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่ง สส. สว. และประธานาธิบดีว่าจะต้องมีอายุระหว่าง 25-30-35 ปีขึ้นไป กลับไม่เคยมีใครมองเป็นการ ‘เลือกปฏิบัติ’ ทั้งที่คนหนุ่มสาวและเยาวชนถูกกีดกันจากเวทีการเมืองตั้งแต่ต้น เพียงเพราะอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ 

ถ่ายทอดสดดีเบตระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ โจ ไบเดน

จนกระทั่งต้นเดือนกรกฎาคม 2024 สังคมอเมริกันเริ่มถกเถียงกันอย่างจริงจังว่าถึงเวลาหรือยังที่จะต้องจำกัดอายุ ‘สูงสุด’ ของผู้มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยเฉพาะตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะ โจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครต ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนปัจจุบันในวัย 81 ปี และ โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน วัย 78 ปี อดีตประธานาธิบดีซึ่งพ่ายศึกเลือกตั้งครั้งที่แล้วให้กับไบเดน เผชิญหน้ากันล่าสุดบนเวทีอภิปรายหรือเวทีดีเบตนโยบายหาเสียงช่วงปลายเดือนมิถุนายน แต่ปรากฏว่าผลลัพธ์ที่ได้ ‘น่าผิดหวัง’ ในสายตาของผู้ชมจำนวนมาก 

ทั้งคู่ถูกวิจารณ์ว่าไม่อยู่กับร่องกับรอยและไม่น่าเชื่อถือ จนเกิดคำถามเกี่ยวกับสุขภาพกายและใจของแคนดิเดตประธานาธิบดีทั้งคู่ว่ามีความพร้อมเพียงพอที่ประชาชนอเมริกันจะฝากความหวังด้านการบริหารประเทศต่อไปอีก 4 ปีข้างหน้าได้หรือไม่ 

ที่สำคัญ คำถามนี้ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญหลายรายว่าไม่ใช่การเลือกปฏิบัติหรือการเหยียดผู้สูงอายุ แต่เป็นข้อมูลที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งควรรู้ก่อนถึงวันเลือกตั้งจริงปลายปี 2024

วิเคราะห์อาการท่านผู้นำ แค่เหนื่อยล้า หรือสัญญาณบ่งชี้โรค?

เริ่มต้นที่ข้อสังเกตถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน โจ ไบเดน

หลังการดีเบตนโยบายเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2024 จบลงไป สื่ออเมริกันก็รายงานความเห็นของผู้ชมตามธรรมเนียม ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าไบเดนล้มเหลวในเวทีนี้ เพราะมีหลายครั้งประธานาธิบดีดูสับสน อ้ำอึ้ง สมาธิแตกซ่าน และใช้เวลานานกว่าจะตอบคำถามได้ ทั้งยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายบางด้านคลาดเคลื่อน ซึ่งไบเดนเองก็ยอมรับในการสัมภาษณ์หลังจากนั้นว่าเขาดีเบตได้ไม่ดีจริงๆ พร้อมชี้แจงว่าเป็นเพราะเหนื่อยล้าสะสมจากการเดินทางไปต่างประเทศและการปฏิบัติหน้าที่ผู้นำในแต่ละวัน 

โจ ไบเดน วัย 81 ปี

สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า กลุ่มมหาเศรษฐีซึ่งสนับสนุนพรรคเดโมแครต เช่น อบิเกล ดิสนีย์ หนึ่งในทายาทตระกูลดิสนีย์ผู้มีบทบาทสำคัญในวงการภาพยนตร์อเมริกัน ประกาศระงับการบริจาคเงินสนับสนุนหลังจบดีเบต พร้อมย้ำว่าจะไม่บริจาคเงินจนกว่าไบเดนจะถอนตัวจากการเป็นแคนดิเดตท้าชิงประธานาธิบดี ทั้งยังเสนอให้ คามาลา แฮร์ริส ซึ่งเป็นรองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน มาแทนที่ไบเดนในศึกเลือกตั้งครั้งนี้


นักวิเคราะห์การเมืองมองว่าผลการดีเบตของไบเดนเข้าขั้นล้มเหลว เพราะท่าทีที่เขาแสดงออกบนเวทีทำลายความเชื่อมั่นของผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตเสียเอง และดูเหมือนจะไม่สามารถโน้มน้าวผู้มีสิทธิ์โหวตที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครให้หันมาโหวตตัวแทนพรรคเดโมแครตได้ด้วยเช่นกัน โดยข้อมูลที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียในเวลาต่อมาคือการไล่เลียงว่า ไบเดนมีอาการเข้าข่ายภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ โดยประเด็นที่ผู้ใช้สื่อหยิบยกมาถกเถียงกันไม่ใช่แค่สิ่งที่ปรากฏบนเวทีดีเบต แต่รวมถึงอีกหลายเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นที่ถูกรายงานผ่านสื่อมวลชนมาตลอด

ไบเดนเคยเดินหลงทิศและสะดุดล้มหลายครั้ง จนดูเหมือนคนไม่มีเรี่ยวแรงและมีปัญหาเรื่องความจำ ทั้งยังเคยทักทายเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวโดยเอ่ยชื่อผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว จนมีคนตั้งคำถามว่าไบเดนหลุดปากเรียกตามความเคยชิน หรือจำไม่ได้จริงๆ ว่าเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวจากไปแล้ว หลังจากนั้นไบเดนยังหลุดปากต่อหน้าสื่อมวลชนว่าเขาภูมิใจที่ได้เป็นผู้หญิงผิวดำคนแรกที่รับตำแหน่งในทำเนียบขาว ซึ่งเป็นการเผลอรวบรัดคำพูดของตัวเอง เพราะที่จริงไบเดนหมายถึง คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีของตัวเอง ทั้งยังมีอีกหลายครั้งที่เขาเงียบไปนานกว่าจะตอบคำถามสื่อได้

การเผลอไผลเหมือนคนสติหลุดเป็นพักๆ ของไบเดน บวกกับการตอบสนองที่ช้าลงเมื่อเทียบกับช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในสมัยรัฐบาล บารัค โอบามา ทำให้คนอเมริกันจำนวนมากเชื่อมโยงอาการเหล่านี้กับภาวะสมองเสื่อมและโรคทางประสาทวิทยาอื่นๆ ซึ่งผู้ตั้งข้อสงสัยส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีสมาชิกครอบครัวหรือคนรู้จักมีอาการทางด้านนี้ แต่อีกส่วนก็พอจะบอกได้ว่ามาจากกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์และพรรครีพับลิกันที่อาศัยข้อมูลดังกล่าวมาโจมตีไบเดนว่าไม่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะสูงวัยจนเกิดอาการหลงลืมบ่อยๆ อาจกระทบการตัดสินใจในเรื่องสำคัญระดับประเทศ

โจ ไบเดน และสุภาพสตรีหมายเลข 1 จิล ไบเดน

อย่างไรก็ดี แพทย์ประจำตัวไบเดนและโฆษกประจำทำเนียบขาวยืนยันเพิ่มเติมว่าไบเดนมีสภาพร่างกายและใจแข็งแรงพอจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปได้ เช่นเดียวกับ จิล ไบเดน สุภาพสตรีหมายเลข 1 ซึ่งเคยถูกจับภาพขณะกระซิบบอกบทโจ ไบเดน ระหว่างการปราศรัย ก็ย้ำหนักแน่นว่าสามีตัวเองไม่มีอาการสมองเสื่อมอย่างที่ผู้คนสงสัยกัน แต่คำยืนยันทั้งหมดก็ไม่ช่วยให้ข้อกังขาในตัวไบเดนหมดไป มีเสียงเรียกร้องให้เขาทดสอบสมรรถภาพการรู้คิด หรือ Cognitive Test เพื่อประเมินผลการทำงานของสมองในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่ใช้ในการประเมินภาวะสมองเสื่อมด้วย

คู่ท้าชิงสุดป่วนก็หนีไม่พ้นข้อสงสัย ‘สมองเสื่อม-ป่วยทางจิต’

ด้านผู้ท้าชิงจากรีพับลิกันก็ดูทรงไม่ดีไปอีกแบบ

โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีคนก่อนหน้าไบเดน หวนกลับมาท้าชิงตำแหน่งนี้อีกครั้งในฐานะตัวแทนพรรครีพับลิกัน ถูกสื่อตัดสินว่าทำผลงานได้ดีกว่าในเวทีดีเบต เพราะพูดจาคล่องแคล่วและมีท่าทางมั่นใจเกินร้อย ซึ่งก็เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวทรัมป์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่นับว่าดีพอในสายตาของนักวิเคราะห์การเมือง เพราะสิ่งที่ทรัมป์พูดบนเวทีดีเบตหลายเรื่องถูกสื่อแจกแจงละเอียดยิบว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง 

โดนัลด์ ทรัมป์ วัย 78 ปี

สำนักข่าว AP เปรียบเทียบการดีเบตนโยบายแต่ละประเด็นระหว่างไบเดนและทรัมป์ พร้อมสรุปคร่าวๆ ว่าไบเดนอาจดูสับสน พูดจาไม่ลื่นไหลเท่าทรัมป์ และบางประเด็นก็ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน เช่น การประเมินค่ายาในโครงการประกันสุขภาพที่สืบเนื่องจากอดีตรัฐบาลโอบามา แต่ไม่นับว่าเป็นการโกหกหรือจงใจให้ข้อมูลเท็จ ถ้าเทียบกับทรัมป์ที่พยายามอ้างผลงานในอดีตของตัวเองและด้อยค่าผลงานรัฐบาลไบเดน จะพบว่าข้อมูลจำนวนมากที่ทรัมป์กล่าวบนเวทีดีเบตเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือไม่ก็กล่าวอ้างเกินจริง

เนื้อข่าวของ AP อ้างอิงกรณีที่ทรัมป์พูดถึงการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา โดยอ้างอย่างมั่นใจว่าการเก็บภาษีในสมัยที่เขาเป็นประธานาธิบดีนั้นต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน และโจมตีว่านโยบายของไบเดนจะขึ้นภาษีคนอเมริกันเพิ่มถึง 4 เท่า ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริงทั้งคู่ รวมถึงเรื่องที่ทรัมป์บอกว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ ได้รับการฟื้นฟูอย่างมากในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่ง แต่ในความเป็นจริงรัฐบาลทรัมป์ระงับโครงการสีเขียวที่ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในยุคโอบามา และผ่อนปรนมาตรการควบคุมอุตสาหกรรมถ่านหินและน้ำมันเชื้อเพลิงจนกระทบเป้าหมายการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมาในแต่ละปี และทรัมป์ยังปราศรัยหลายครั้งว่าตัวเองไม่เชื่อเรื่องปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อน 

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังกล่าวด้วยว่าการบุกรุกอาคารรัฐสภาในวันที่ 6 มกราคม 2021 ของกลุ่มผู้สนับสนุนตนเองที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร แต่ AP อ้างว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการจลาจลร้ายแรงสุดในรอบ 200 ปีของประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เพราะที่เกิดเหตุคือสถานที่สำคัญทางการเมืองระดับประเทศ และกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ที่บุกรุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาบางส่วนมีอาวุธครบมือ ทั้งยังมีผู้เสียชีวิตและทรัพย์สินราชการถูกทำลายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย

ประเด็นทั้งหมดที่ถูกแจกแจงสะท้อนว่าทรัมป์มีแนวโน้มจะปฏิเสธข้อเท็จจริงและพยายามปลุกเร้าให้คนเชื่อในข้อมูลซึ่งบิดเบือนเข้าข้างตัวเอง และยังมีอีก 2 ประเด็นที่จุดชนวนให้คนสงสัยว่าทรัมป์ก็อาจเข้าข่ายผู้มีภาวะสมองเสื่อมหรือป่วยทางจิตเช่นกัน เพราะผู้เปิดประเด็นนับว่าเป็นคนวงในที่เคยมีปฏิสัมพันธ์หรือเคยมีโอกาสใกล้ชิดกับทรัมป์มาก่อน

กรณีแรก คือ นิกกี เฮลีย์ คู่แข่งทรัมป์ในการชิงตำแหน่งแคนดิเดตพรรครีพับลิกันไปสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2024 เคยแฉช่วงต้นปีว่าตอนที่ยังมีการหาเสียงภายในพรรคอยู่ ทรัมป์จำสับสนระหว่างเธอกับ แนนซี เพโลซี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยทรัมป์กล่าวหาว่าเธอไม่ยอมทำอะไรเลยตอนที่เกิดเหตุบุกรุกอาคารรัฐสภา แต่คนที่มีอำนาจสั่งการเรื่องนี้คือเพโลซี และทรัมป์ยังโจมตีเฮลีย์เรื่องนี้อีกหลายครั้งซึ่งบ่งชี้ว่าเขาแยกแยะความแตกต่างระหว่างเฮลีย์และเพโลซีไม่ได้อยู่นานหลายเดือน

กรณีที่สอง คือ แมรี ทรัมป์ นักจิตวิทยาคลินิก ออกมาเตือนสาธารณชนทันทีที่มีข่าวทรัมป์ประกาศลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 โดยระบุว่าทรัมป์มีภาวะถดถอยทางสมองและการรู้คิด ทั้งยังมีอาการทางจิตที่ควรรักษา ซึ่งแมรีไม่ได้ระบุว่าอาการนั้นคืออะไรแน่ แต่อ้างว่าทักษะการพูดจาให้ตรงประเด็นและการตัดสินใจในประเด็นต่างๆ ของทรัมป์แย่ลงจากสมัยที่เขายังทำธุรกิจของครอบครัวและเข้าร่วมรายการโทรทัศน์จนเป็นที่รู้จักในวงกว้างก่อนจะผันตัวสู่เวทีการเมือง 

และคำเตือนของแมรีมีคนที่มองว่าน่าเชื่อถือ เพราะเธอคือหลานสาวซึ่งเกิดจากพี่ชายคนรองของทรัมป์ ส่วนคนที่ไม่เชื่อเป็นเพราะแมรีสนับสนุน โจ ไบเดน จึงมองว่าเธอนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นโจมตีทรัมป์เพื่อตัดกำลังคู่แข่ง

รู้จัก Cognitive Test ที่คนอยากให้ไบเดน-ทรัมป์เผยผลทดสอบ

ด้วยความที่ไบเดนและทรัมป์ถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีภาวะสมองเสื่อมและถดถอยด้านการรับรู้ทั้งคู่ และกรณีของไบเดนยังเป็นผู้ทำลายสถิติประธานาธิบดีอายุมากสุดของสหรัฐฯ เพราะมีอายุถึง 78 ปีขณะรับตำแหน่ง (สถิติเดิมคือ โรนัลด์ เรแกน เข้ารับตำแหน่งตอนอายุ 73 ปี) จึงไม่แปลกที่จะมีเสียงเรียกร้องให้พวกเขาเข้ารับการทดสอบ Cognitive Test และเผยผลประเมินด้านสมองต่อสาธารณะจะดังขึ้นจากหลายฝ่าย ไม่ใช่แค่ในสื่อโซเชียล แต่รวมถึงบทความในสื่อกระแสหลักอย่าง Bloomberg และ CNN ที่หัวหน้าโต๊ะข่าวด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์พุ่งเป้าไปยังไบเดนและทรัมป์ด้วยประเด็นเดียวกัน

ท่าทีของไบเดนต่อข้อเรียกร้องให้ไปทดสอบ Cognitive Test เป็นการปฏิเสธแบบตรงไปตรงมา โดยเขาอ้างอิงคำยืนยันของแพทย์ประจำตัวที่บอกว่าไม่จำเป็นต้องทดสอบก็ได้ ทั้งยังบอกด้วยว่าการทำหน้าที่ประธานาธิบดีในแต่ละวันเปรียบได้กับการทำแบบทดสอบทางสมองอยู่แล้ว อีกทั้งเขามั่นใจว่าแพทย์ที่ดูแลอยู่รอบตัวนั้นเป็นระดับเพชรยอดมงกุฎที่คัดมาแล้วอย่างดี คงไม่มีความป่วยไข้ใดที่จะเล็ดลอดสายตาคนเหล่านี้ไปได้ 

ขณะที่ทรัมป์เคยปราศรัยต่อหน้าผู้สนับสนุนว่าตัวเองทำแบบทดสอบสมรรถภาพการรู้คิด Cognitive Test อยู่บ่อยๆ สมัยที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทั้งยังทำคะแนนได้ในระดับ ‘ดีเยี่ยม’ เต็ม 30 คะแนน โดยเป็นการอ้างถึงการทดสอบแบบ Montreal Cognitive Assessment หรือ MoCa ซึ่งทรัมป์บอกด้วยว่าการทำแบบทดสอบในช่วงแรกๆ ต้องแยกแยะภาพวาฬและสัตว์อื่น ก่อนจะนำไปสู่คำถามที่ยากขึ้นเรื่อยๆ

ตัวอย่างแบบทดสอบ MoCa / ภาพ: Science Direct

แต่แพทย์ด้านประสาทวิทยาให้ข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน USA Today ว่า โดยทั่วไปแล้วแบบทดสอบสมรรถภาพการรู้คิด MoCa ไม่ได้มีการแยกแยะภาพวาฬหรือภาพแพะแกะใดๆ และผู้ทำแบบทดสอบที่มีภาวะการรับรู้ปกติจะได้คะแนนประมาณ 30 โดยเฉลี่ยอยู่แล้ว การอ้างว่าตัวเองได้คะแนนดีเยี่ยมของทรัมป์จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้มีคนสงสัยเพิ่มเติมว่าเขาจงใจพูดอย่างนั้นเพียงเพื่อโน้มน้าวให้ผู้สนับสนุนเชื่อว่าตัวเองนั้นยอดเยี่ยม หรือว่าจริงๆ แล้วเขามีปัญหาเรื่องความจำที่สับสนกันแน่

ทั้งนี้ แบบทดสอบ Cognitive Test เป็นการถามคำถามเพื่อประเมินการทำงานของสมองด้านต่างๆ เช่น ความตั้งใจ ความมีสมาธิ ความสามารถในการบริหารจัดการ ความจำ การมองภาพรวม การคิดคำนวณ ไปจนถึงการรับรู้สภาวะรอบตัว ซึ่งผลประเมินอาจใช้บ่งชี้อาการที่เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมได้ และแบบทดสอบนี้มักใช้เวลาทำไม่นาน เฉลี่ยประมาณ 10-15 นาที ทั้งยังเป็นคำถามที่ไม่ยากจนเกินไป เพราะถูกออกแบบมาโดยคำนึงถึงผู้ที่สูญเสียสมรรถภาพในการรู้คิดด้วย 

อย่างไรก็ดี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและประสาทวิทยาอธิบายว่าผู้ที่ได้คะแนนต่ำจากการทำแบบทดสอบสมรรถภาพการรู้คิด (บางทีก็เรียกว่าแบบทดสอบความถนัดทางปัญญา) อาจไม่ใช่ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมหรือมีอาการด้านประสาทวิทยาอื่นๆ เสมอไป เพราะบางครั้งผู้ตอบแบบสอบถามอาจอยู่ในสภาพที่ร่างกายบกพร่องในด้านต่างๆ เช่น ภาวะไทรอยด์ต่ำหรือภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้การคิดหรือทำอะไรต่างๆ ช้าลง หรืออาจมีความเหนื่อยล้าสะสมจากการทำงานหนักหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของสมองและระบบประสาทได้เช่นกัน

แม้การเรียกร้องให้ไบเดนและทรัมป์เปิดเผยผลทดสอบ Cognitive Test จะเป็นเรื่องที่ดูแล้วสมเหตุสมผล แต่สหรัฐฯ ยังมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลอยู่ จึงมีแนวโน้มสูงว่าคนอเมริกันจะไม่มีทางได้รู้เรื่องนี้อย่างละเอียด หรืออย่างน้อยที่สุดก็น่าจะถูกปิดเงียบตลอดช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้งซึ่งกำลังดุเดือดก่อนถึงโค้งสุดท้าย เพราะทีมแคมเปญหาเสียงประเมินแล้วคงรู้ได้ว่าการเปิดเผยผลทดสอบต่อสาธารณะจะถูกนำไปขยายผลเป็นประเด็นทำลายความน่าเชื่อถือของผู้สมัครทั้งสองฝั่งอย่างแน่นอน 

ส่วนผลสำรวจความเห็นคนอเมริกัน 2,063 รายที่ CBS News และ YouGov ร่วมกันจัดทำก่อนดีเบตนโยบาย พบว่า 42 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่าทรัมป์มีความพร้อมมากกว่าไบเดนในแง่สมรรถภาพการรู้คิดและสุขภาพจิต ส่วนผู้ตอบว่าไบเดนพร้อมมากกว่าทรัมป์คิดเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ และอีก 23 เปอร์เซ็นต์คิดว่าทั้งสองคนไม่มีความพร้อมด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งคำตอบว่าเชื่อมั่นในไบเดนหรือทรัมป์สอดคล้องกับจุดยืนทางการเมืองของผู้ตอบแบบสอบถามด้วยว่าเป็นผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกัน


ความแก่ไม่ใช่ปัญหา แต่สุขภาพของผู้นำสูงวัยเป็นประเด็นการเมือง

สถาบันวิจัย Pew Research รวบรวมข้อมูลด้านอายุของผู้นำในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก พบว่าค่ากลางของอายุผู้นำโลกในปี 2024 อยู่ที่ 62 ปี ซึ่งทั้งไบเดนและทรัมป์ต่างมีอายุแซงหน้าค่ากลางของอายุผู้นำทั่วโลกไปหลายปี แต่พวกเขายังไม่ใช่ผู้นำประเทศที่อายุมากสุดในโลก เพราะคนที่ครองสถิตินี้อยู่คือ ปอล บิยา ประธานาธิบดีแคเมอรูน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมานานกว่า 40 ปีแล้ว 

ปอล บิยา ประธานาธิบดีแคเมอรูน

ข้อมูลของ Pew Research ยังระบุด้วยว่าผู้นำประเทศที่ติดโผ ‘ไม่เสรี’ หรือ Not free จากการจัดกลุ่มขององค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิเสรีภาพ Freedom House มีแนวโน้มจะอายุมากกว่าค่ากลางของอายุผู้นำทั่วโลก เพราะประเทศในกลุ่มนี้มักจะต้องเจอกับผู้นำที่ยื้ออำนาจและอยู่ในตำแหน่งยาวนาน แต่ถ้าเทียบกับประเทศติดกลุ่ม ‘เสรี’ ทั่วโลก สหรัฐฯ ยังคงเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่มีผู้นำอายุเกิน 80 ปีอยู่ดี โดยสองประเทศที่เหลือ ได้แก่ กานาและนามิเบีย ซึ่งกรณีของนามิเบียเป็นภาพสะท้อนว่าการมีผู้นำอายุมากอาจกระทบต่อการบริหารประเทศอยู่บ้าง เพราะผู้นำคนก่อนหน้าเสียชีวิตระหว่างดำรงตำแหน่งขณะมีอายุได้ 82 ปี ส่วนผู้นำที่ได้รับเลือกมาดำรงตำแหน่งแทนอย่างนังโกโล บัมบา ก็มีอายุ 82 ปีในปีนี้เช่นกัน 

จากข้อมูลทั้งหมดบ่งชี้ว่าความสูงวัยของผู้นำประเทศไม่ใช่ปัญหาใหญ่เสมอไป และองค์กรรณรงค์เรื่องโรคสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ Alzheimer’s Society ในสหราชอาณาจักรยังหยิบยกกรณีไบเดนและทรัมป์ขึ้นมาเตือนว่าการสรุปเรื่องใครมีภาวะสมองเสื่อมหรือมีอาการทางจิตโดยที่ผู้วินิจฉัยโรคไม่เคยพบปะหรือพูดคุยโดยตรงกับผู้ถูกวินิจฉัย เข้าข่ายละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่มีข้อห้ามแพทย์วินิจฉัยโรคผู้ที่ไม่ใช่คนไข้ในความดูแลของตัวเอง และผู้ที่เปิดเผยข้อมูลด้านนี้ของบุคคลอื่นต่อสาธารณะมีสิทธิ์ถูกฟ้องร้องเอาผิดได้

ถึงอย่างนั้นก็ตาม Alzheimer’s Society มองว่าการตั้งคำถามต่อสมรรถภาพการรู้คิดของผู้นำเป็นสิ่งที่ทำได้ และประชาชนควรมีสิทธิ์ได้รับรู้ข้อเท็จจริง แต่ไม่ควรผลักดันจนเกิดการจำกัดอายุสูงสุดของผู้มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะมีความเป็นไปได้มากว่าผู้สูงวัยหลายรายมีความพร้อมและมีประสบการณ์มากพอจะรับตำแหน่งสำคัญได้อย่างราบรื่น การตั้งข้อจำกัดเรื่องอายุจึงอาจกีดกันผู้สูงวัยออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง 

นอกจากนี้ยังมีคำเตือนอีกว่าการอ้างภาวะสูงวัยหรือสมองเสื่อมเพื่อบั่นทอนความน่าเชื่อถือของผู้สมัครลงแข่งทางการเมืองอาจทำให้ผู้มีภาวะนี้คนอื่นๆ ในสังคมไม่อยากจะยอมรับอาการของตัวเองหรือไม่กล้าไปพบแพทย์เพราะกลัวถูกคนรอบข้างตีตรา และยังมีอีกหลายกรณีที่การวินิจฉัยโดยสังเกตอาการอยู่ห่างๆ เกิดความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แต่กลับส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผู้ถูกวินิจฉัย

ผู้นำกับอาการหลงลืมไม่ใช่เรื่องใหม่ในการเมืองอเมริกัน

ที่จริงแล้วข้อสงสัยเรื่องผู้นำอเมริกันกับอาการสมองเสื่อมเคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในยุคของ โรนัลด์ เรแกน

ประธานาธิบดีคนที่ 40 ถูกสื่อมวลชนและพรรคฝ่ายค้านตั้งข้อสงสัยว่าเขาเริ่มมีอาการเบลอๆ และมีปัญหาเกี่ยวกับการพูดขณะรับตำแหน่ง 

อาการที่ถูกหยิบยกเป็นตัวอย่าง ได้แก่ การนึกคำศัพท์หรือนึกชื่อคนไม่ออก แต่เหตุการณ์ที่ชัดเจนที่สุดคือตอนที่เรแกนขึ้นเวทีดีเบตนโยบายหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี 1984 เขามีท่าทางเลื่อนลอยเป็นพักๆ และอีกครั้งที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยคือตอนที่เขาไม่อาจชี้แจงข้อมูลได้อย่างต่อเนื่องแก่คณะกรรมาธิการวุฒิสภาสหรัฐฯ กรณีอิหร่าน-คอนทรา (Iran-Contra Scandal) เพราะรัฐบาลเรแกนถูกสอบสวนว่าขายอาวุธให้อิหร่านและนำเงินไปสนับสนุนกลุ่มกบฏในนิการากัว ซึ่งละเมิดข้อห้ามของสภาทั้งคู่ 

อดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน 

เรแกนป่วยด้วยโรคทางสมองหรือไม่? จึงเป็นคำถามที่วนเวียนไม่ไปไหนตลอดการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ของเขา แต่คนในรัฐบาลและสมาชิกครอบครัวเรแกนปฏิเสธมาตลอดว่าข่าวลือนั้นไม่เป็นความจริง และเขาก็อยู่ในวาระได้ตลอดรอดฝั่งเช่นกัน 

อย่างไรก็ดี 5 ปีหลังเรแกนพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดี มีการเปิดเผยจากครอบครัวว่าเขาป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมจากอัลไซเมอร์ และ รอน เรแกน ลูกชายของ โรนัลด์ เรแกน เคยเขียนหนังสือกึ่งชีวประวัติที่บ่งชี้ว่าพ่อของตัวเองมีอาการอัลไซเมอร์ตั้งแต่ตอนเป็นประธานาธิบดีแล้ว แต่ ไมเคิล เรแกน ลูกชายอีกคนซึ่งเป็นพี่น้องต่างแม่ของรอน โต้กลับอย่างไม่ไว้หน้าว่าคำกล่าวอ้างของรอนไม่เป็นความจริง และรอนพูดเรื่องนี้เพื่อเรียกร้องความสนใจในการขายหนังสือของตัวเองเท่านั้น

คามาลา แฮร์ริส

กว่าคนอเมริกันจะได้รับรู้ว่าประธานาธิบดีของตัวเองมีปัญหาสุขภาพอะไรบ้างก็อาจต้องรอจนกระทั่งคนที่ตกเป็นข้อสงสัยพ้นจากตำแหน่งไปก่อน แต่ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้คนในสังคมกดดันอย่างจริงจังจนมีการเปลี่ยนตัวแคนดิเดตประธานาธิบดีจริงๆ ก็มีสิทธิ์จะได้เห็นผู้หญิงเป็นคู่ท้าชิงตำแหน่งสำคัญนี้เป็นครั้งแรก เพราะฝั่งเดโมแครตเสนอชื่อ คามาลา แฮร์ริส เอาไว้แล้ว ส่วนฝั่งรีพับลิกันอาจพิจารณา นิกกี เฮลีย์ ซึ่งระหว่างการลงคะแนนหยั่งเสียงเลือกตัวแทนพรรครีพับลิกันเคยมีคะแนนนิยมนำทรัมป์อยู่ช่วงหนึ่งก่อนที่เฮลีย์จะถอนตัวไป

นิกกี เฮลีย์

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
ตติกานต์ เดชชพงศ