Humberger Menu

ชีวิต ‘ลูกเรือประมง’ กับการเอาตัวรอดกลางมหาสมุทร ในวันที่ลูกเรือยังเข้าไม่ถึงสิทธิแรงงาน

ในวันที่เมฆครึ้มพร้อมฝนตกพรำๆ เราเดินทางโดยเครื่องบินประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าจากกรุงเทพฯ มาลงที่สนามบินนครศรีธรรมราช แล้วต่อรถตู้เพื่อไปที่อำเภอขนอม แหล่งท่าเรือประมงสำคัญแห่งหนึ่งของไทย 
เรือประมงหลายสิบลำจอดเรียงราย มีตลาดสดอยู่ใกล้เคียงที่เหล่าพ่อค้าแม่ค้านำปลา กุ้ง หมึก หอย ที่เพิ่งจับมาจากทะเลสดๆ ตั้งวางขายด้วยราคาสุดย่อมเยา

สัตว์ทะเลต่างๆ เหล่านี้ต่างถูกจับขึ้นมาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของชาวประมง ซึ่ง ‘ลูกเรือประมง’ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ เพราะอาหารทะเลถือเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของประเทศไทย

ใครก็รู้จักดีว่าลูกเรือประมงเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตรายอันดับต้นๆ และประเทศไทยยังเคยโดน ‘ใบเหลือง’ จากสหภาพยุโรป (EU) เมื่อปี 2558 หลังมีปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU: Illegal, Unreported and Unregulated fishing) ส่งผลให้หลายประเทศแบนการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากไทย

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้น จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 มีคำสั่งให้ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 และใช้เวลากว่า 4 ปี EU จึงประกาศปลดใบเหลืองประมงไทยช่วงต้นปี 2562

แม้ปัจจุบันประมงไทยจะมีระบบการตรวจสอบเรือประมงเข้ามาควบคุมมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ลูกเรือประมงมักพบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่หลายกรณี โดยเฉพาะการถูกลิดรอนสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงความเสี่ยงที่อาจเจอกับการค้ามนุษย์

เพราะทะเลนั้นกว้างใหญ่ หากอยู่ไกลฝั่งที่ไร้สัญญาณโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต ความเป็นตายร้ายดีของลูกเรือบนทะเลเหมือนถูกเงามืดปกคลุมไว้ โดยไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่นบ้าง แน่นอนว่าช่องทางการติดต่อจากเรือยังมีอยู่บ้าง เช่น โทรศัพท์ผ่านดาวเทียม แต่ก็ยังมีข้อจำกัดและเรียกความช่วยเหลือได้ล่าช้ากว่าบนฝั่ง

ปัจจุบันแรงงานประมงส่วนใหญ่ยังคงเป็นแรงงานข้ามชาติ เช่น ชาวพม่าและกัมพูชา ซึ่งพวกเขาต้องเผชิญกับความเสี่ยงภัยอันตรายต่างๆ จากการทำงานในหลายด้าน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขายังเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ ด้วยกำแพงภาษาและอำนาจต่อรองกับนายจ้างที่น้อย เป็นคำถามว่า ลูกเรือประมงควรได้รับสิทธิคุ้มครองอะไรบ้างจากความเสี่ยงและอันตรายในมหาสมุทรนี้

ลูกเรือและความ (ไม่) ปลอดภัย

เช้าตรู่วันถัดมา เราเดินทางขึ้นรถเพื่อไปร่วมการอบรมด้านความปลอดภัยในกิจการประมงทะเลให้กับลูกเรือและไต๋เรือ (หัวหน้าเรือ) ทั้งหมด 49 คน จัดโดยศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 9 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่แพกิจเจริญ อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเสริมความรู้ให้ลูกเรือตระหนักถึงสิทธิแรงงานพื้นฐาน รวมไปถึงฝึกทักษะการกู้ชีพและกู้ภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วย

บรรยากาศการอบรมเป็นไปอย่างราบรื่นเคล้าเสียงหัวเราะ มีล่ามแปลภาษาเพื่อสื่อสารกับลูกเรือต่างชาติ โดยในช่วงเช้าจะอบรมเรื่องสิทธิกองทุนเงินทดแทนของสำนักประกันสังคม การกู้ภัยและการใช้อุปกรณ์รักษาความปลอดภัย เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงชูชีพและถังดับเพลิง ส่วนช่วงบ่ายจะเป็นการสอนปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น CPR หรือการช่วยเหลือผู้ป่วยหมดสติ 

แม้นี่จะเป็นการอบรมพื้นฐานที่หลายคนน่าจะเคยถูกสอนกันมาบ้าง แต่เมื่อวิทยากรถามว่า ใครรู้วิธีการกู้ภัยและสิทธิกองทุนเงินทดแทนบ้าง ลูกเรือส่วนใหญ่ไม่ได้ยกมือและบอกว่า พวกเขาไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน

“พอรู้เรื่องบ้างนิดหน่อย แต่ผมไม่รู้เรื่องวิธีการดับเพลิงมาก่อน และ CPR ผมก็ไม่เคยทำเลย” แสง ลูกเรือชาวพม่า อายุ 40 ปี กล่าว

“ผมรู้เรื่องที่อบรมบ้าง แต่เราไม่เคยทำจริง” มิตร ลูกเรือชาวพม่า อายุ 44 ปี กล่าว

(จากซ้าย) แสงและมิตร ลูกเรือชาวพม่า


แสงและมิตรทั้งคู่คือลูกเรือที่มีประสบการณ์ทำงานมากว่า 20 ปี จึงเป็นที่น่าแปลกใจว่าการเข้าถึงทักษะพื้นฐานต่างๆ ที่จะสามารถช่วยชีวิตพวกเขาได้ กลับเป็นสิ่งที่พวกเขาเข้าไม่ถึง 

เมื่อถามว่า สิ่งที่อบรมจะเอาไปใช้ได้จริงไหม แสงและมิตรตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “นำไปใช้ได้”

เชื่อว่าหลายคนคงนึกภาพไม่ออกว่าลูกเรือประมงต้องทำงานอย่างไรกันแน่ แสงเล่าให้ฟังว่า การทำงานของลูกเรือประมงจะมีเวลาไม่แน่นอน โดยปกติแล้ว 1 วันจะต้องทำงานประมาณ 3 ช่วง คือช่วงกลางวัน 2 รอบ และตอนเย็นอีก 1 รอบ จะได้นอนพักประมาณ 3 ทุ่ม และตื่นขึ้นมาทำงานช่วงตี 5

“บางลำงานก็ไม่เยอะ แต่มันเกี่ยงกันทำงาน กว่าจะทำงานเสร็จก็ได้นอนแป๊บเดียว” แสงเล่า

“การทำงานก็ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าถ้าเรารีบทำงานก็มีเวลาพักเยอะ ถ้าเราทำช้าเราก็ไม่ได้พัก” มิตรเสริม

สวัสดิภาพบนเรือก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยปกติแล้วหากเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บบนเรือท่ามกลางทะเล คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปโรงพยาบาลได้ทันที ส่วนใหญ่ลูกเรือจึงต้องดูแลตัวเองไปก่อน

“ถ้าเจ็บนิดหน่อย ทำแผลกินยาก็หายเองได้ ยังไม่เคยบาดเจ็บหนักๆ ปกติเราจะเจ็บปวดกล้ามเนื้อบ้าง เขาก็มียาให้อยู่ทุกเที่ยว ถ้าคนป่วยหนักก็จะส่งเขากลับบ้าน แต่อยู่ในทะเลก็จะฝากเรือใหญ่ๆ พากลับ หรือให้ไต๋เรือแจ้งให้เรือมารับ” แสงเล่า

อุบัติเหตุที่มักเกิดเป็นประจำบนเรืออันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้นการตกน้ำ แต่อุปกรณ์อย่างเสื้อหรือห่วงชูชีพมักกลายเป็นสิ่งที่ลูกเรือหลายคนไม่รู้ว่าถูกเก็บไว้ตรงไหนเมื่อเกิดเหตุ

“ถ้าคนตกน้ำจะโยนเชือกหรือห่วงได้แค่นั้น เราไปเอาชูชีพไม่ทันก็ตัวใครตัวมัน ตอนเวลาทำงานก็ใส่ชูชีพไว้ไม่ได้ มันเกะกะ ไม่สะดวก” แสงอธิบาย

“สิ่งแรกคือต้องบอกไต๋เรือถ้ามีคนตกน้ำ แต่เวลาเกิดเหตุจริงเราก็ไปเอาชูชีพไม่ทันเหมือนกัน” มิตรเสริม

อาชีพที่ต้องเสี่ยงภัยในทะเลแบบนี้ หลายคนคงเคยสงสัยว่าทำไมพวกเขาถึงมาทำอาชีพลูกเรือประมง

มิตรเล่าว่า ในตอนแรกที่เข้ามาทำงาน เขาพูดภาษาไทยไม่ได้และยังเมาเรืออีกด้วย แต่เรือบางลำก็มียาแก้เมาเรือให้ และแม้บางลำจะไม่มียาให้ แต่เขาก็ถนัดทำประมง จึงเลือกทำอาชีพนี้

แสงบอกว่า เขาเคยมีครอบครัวแต่ตอนนี้เลิกกันไปหมดแล้ว ตอนที่เข้ามาทำอาชีพนี้แรกๆ เขาพูดไทยไม่ได้เลย แต่หัวหน้าสามารถสื่อสารกับเขาและเป็นล่ามให้แทนได้ในตอนนั้น 

“ผมเข้ามาทำงานเป็นลูกเรือ เพราะได้เงินก้อนใหญ่ประมาณหมื่นกว่าบาทต่อเดือน หรืออาจได้ถึง 20,000-30,000 บาทก็ยังได้ แต่ทำงานที่อื่นจะได้เงินมาทีละเล็กทีละน้อย ผมตามคนรู้จักมาและไปสมัครออกเรือเอง ผมไม่เคยมาทำงานผ่านนายหน้า แต่ก็มีนายหน้าที่หลอกคนเข้ามาทำงานบ้าง” แสงเล่า

“เราชอบออกทะเล งานบนฝั่งเราทำไม่ได้ เพราะเราใช้เงินเปลือง ถ้าออกทะเลก็ไปเป็นครึ่งเดือน เข้าฝั่งมาใช้เงินเยอะได้ ไม่เป็นไร ไม่ใช่ว่างานบนบกเหนื่อย แต่เราทำไม่คล่องมือ เพราะเราไม่ได้ทำประจำ เราจับปลาได้ แต่ทำอย่างอื่นแล้วงง” แสงกล่าว

ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกเรือก็เป็นอีกประเด็นที่มักพบปัญหาอยู่ไม่น้อย เมื่อเราถามถึงเรื่องนายจ้าง แสงมีสีหน้าลำบากใจเล็กน้อยก่อนตอบกลับมาว่า 

“ผมก็มีปัญหากับนายจ้างอยู่บ้าง ไม่ใช่ว่าเขาทำไม่ดีกับเรา แต่นายจ้างอยากให้ทำตามที่เขาต้องการ แต่เราทำให้ไม่ได้ นายจ้างก็ว่าเรา ซึ่งถ้าเราไม่ชอบนายจ้างคนนั้น เราก็หนีไปทำงานให้นายจ้างคนอื่นแทน” แสงเล่า

ด่านตรวจท่าเรือ PIPO ปราการเหล็กก่อนเข้า-ออกทะเล

นอกจากความเสี่ยงในทะเลแล้ว ลูกเรือยังต้องเจอกับความกดดัน เงื่อนไขและข้อจำกัดในการทำงานที่ยังไม่เอื้อให้พวกเขาทำงานได้อย่างสบายใจ เพื่อป้องกันและให้ความช่วยเหลือพวกเขา หน่วยงานรัฐบาลมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานของพวกเขานั้นปลอดภัย

ท่ามกลางการอบรมที่เหล่าลูกเรือกำลังฟังวิทยากรกันอย่างตั้งใจ ระหว่างนั้นเราได้มีโอกาสพูดคุยกับ 
มาโนช อัจนากิตติ หัวหน้าศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกขนอม (PIPO) ถึงบทบาทการดูแลลูกเรือของ PIPO 

มาโนช อธิบายว่า PIPO จะทำหน้าที่ตรวจสอบ 3 ส่วนคือ หลักฐานเอกสาร เรือ และลูกเรือ ซึ่งรวมถึงวิธีการขั้นตอนการทำประมงด้วย โดยส่วนของลูกเรือจะตรวจเช็กอัตลักษณ์หรือการระบุตัวตนว่าเป็นคนที่ถูกต้องตามที่แสดงในเอกสารหรือไม่ และตรวจควบคุมเรื่องการลักลอบแรงงานผิดกฎหมาย เช่น อายุน้อยกว่า 18 ปี หรือการใช้แรงงานเถื่อนด้วย 

“แต่หลังจากเรือออกไปในทะเล เราจะไม่ทราบว่าจะมีโอกาสหรือไม่ ที่จะมีการลักลอบแรงงานเถื่อนหรือแอบแฝงตรงส่วนนั้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานดูแลภาคทะเลที่เข้าไปตรวจสอบอีกที แต่รับรองว่าในส่วนของท่าจะไม่มีโอกาสแอบแฝงเข้าไปแน่นอน เพราะเราใช้ระบบต่างๆ หรือการใช้เลขบัตรประจำตัวลูกเรือตรวจสอบ จึงไม่มีโอกาสที่จะหลุดออกไปได้เลย 100 เปอร์เซ็นต์”

“ส่วนเรื่องนายหน้าปลอมแปลงเอกสารเพื่อให้ลูกเรือสามารถลงไปในเรือได้ เรารับทราบข่าวเมื่อ 1-2 ปีที่แล้วว่ามีกรณีนี้เกิดขึ้น แต่ตอนนี้ก็มีระบบที่พัฒนาให้ดีขึ้นและมีการคัดกรองที่ละเอียดขึ้นแล้ว ทำให้ตัดปัญหาการปลอมเอกสารไปได้ ซึ่งในพื้นที่ขนอมยังไม่พบกรณีการปลอมแปลงเอกสารจากนายหน้า”

“มีส่วนหนึ่งที่นายจ้างจะใช้บริการนายหน้าเพื่อให้ติดต่อประสานงานเอกสารลูกเรือ เพราะมีเอกสารหลายฉบับที่กฎหมายบังคับ ซึ่งปัญหาที่พบในขนอมจะมีแค่กรณีการต่อเอกสารล่าช้า เพราะขนอมอยู่ไกลจากในเมืองจึงต้องใช้เวลาเยอะกว่าที่อื่น และหน่วยงานที่ทำเอกสารก็หยุดเสาร์อาทิตย์ ทำให้มีการติดขัดกับการออกทำประมงและส่งผลถึงลูกเรือด้วย”

มาโนช เล่าว่า PIPO ยังเป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียนให้กับลูกเรืออีกด้วย แต่ปกติลูกเรือมักจะแจ้งผ่านทางล่ามและล่ามจึงส่งเรื่องร้องเรียนถึง PIPO เพราะลูกเรือมักจะไม่พูดกับเจ้าหน้าที่โดยตรง ปัญหาของลูกเรือส่วนใหญ่ที่พบคือเรื่องนายจ้างและลูกจ้าง คาดว่าอาจเป็นเรื่องความไม่พอใจส่วนตัว ค่าจ้าง หรือพฤติกรรมที่ปฏิบัติต่อกัน แต่เรื่องการทำงานจะไม่ค่อยมีปัญหาอะไร เพราะลูกเรือมีความเชี่ยวชาญการทำงานในเรืออยู่แล้ว จึงยังไม่พบกรณีที่ลูกเรือถูกบังคับใช้งานหรือถูกใช้ความรุนแรง 

ทั้งนี้ หน่วยงานที่ดูแลลูกเรือตรงส่วนนี้จะมี 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมประมง และกรมเจ้าท่า แต่หากเป็นเรื่องที่นอกเหนืออำนาจขึ้นไป ก็จะเสนอให้ต้นสังกัดทราบว่ามีการร้องเรียนหรือมีประเด็นอะไรเกี่ยวกับลูกเรือประมงเข้ามา

มาโนช อธิบายว่า การดูแลของ PIPO ด้านอื่นๆ เช่น ระบบความปลอดภัย สุขอนามัย สวัสดิภาพของคนทำงานในเรือประมง จะมีกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุให้เจ้าของเรือหรือนายจ้างมีหน้าที่ขอใบอนุญาตประมงพาณิชย์และเตรียมความพร้อม เช่น เครื่องมืออุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ลูกเรือต้องรู้และทราบว่าใช้งานอุปกรณ์นั้นอย่างไร โดยผู้ควบคุมเรือจะต้องเป็นผู้อบรมให้ความรู้กับลูกเรือ

ทั้งนี้ ยังมีกฎที่ระบุข้อบังคับแบ่งเป็นประเภทเรือต่างๆ เช่น เรือ 60 ตันกรอสขึ้นไปจะต้องมีพื้นที่ห้องสุขา พื้นที่รับประทานอาหาร พื้นที่ห้องพักเป็นสัดส่วน และมีระบบความปลอดภัย ตามหลักการเดินเรือในน่านน้ำไทยของกรมเจ้าท่าระบุไว้ว่า ต้องมีอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ถังดับเพลิงหรือพวงชูชีพเท่าไรตามขนาดเรือ และต้องมียารักษาโรคกับอาหารที่เพียงพอ รวมถึงบังคับให้ลูกเรืออย่างน้อย 1 คน ต้องผ่านการอบรมปฐมพยาบาลจากโรงพยาบาลของรัฐ 

“ในมุมมองของผมคิดว่าทุกคนควรจะได้รับความรู้ในเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพราะลูกเรือจะต้องอยู่เพียงลำพังในทะเล ความช่วยเหลือเบื้องต้นจึงเป็นส่ิงสำคัญ เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของเขา ลดความบาดเจ็บลงได้ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะไปถึงเรือ ท่านจะต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน โดยหลักเรือนั้นก็จะรีบนำส่งผู้ป่วยเข้ามาถึงฝั่ง แต่ในขณะเดียวกันก็มีเรือจากเจ้าหน้าที่สามารถไปช่วยได้เร็วขึ้นอีก นั่นจะเป็นทิศทางที่ดีขึ้นและอัตรารอดก็จะมากขึ้น”

นอกจากความปลอดภัยของลูกเรือที่อาจเกิดจากอุบัติเหตุ หรือปัญหาระหว่างนายจ้างและลูกจ้างแล้ว ปัจจัยที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญคือการค้ามนุษย์ ซึ่งลูกเรือประมงถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงมาก และมีหลายกรณีมีหลักฐานว่าเกิดขึ้นจริง ด่านตรวจการเข้าออกเรือแบบ PIPO จึงเป็นหนึ่งในปราการเหล็กที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย 

มาโนช บอกว่า หลังจากมีระบบแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายเข้ามา ทำให้ปัญหาการค้ามนุษย์หายไปจากระบบการทำงานในเรือประมงพาณิชย์เป็นจำนวนมากหรือแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์

“ปัจจุบันมีการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชกำหนดการประมงที่กำหนดให้การแจ้งเข้าออกเรือจะต้องแจ้งชื่อและเลขลูกเรือ รวมถึงเอกสารต่างๆ ที่ต้องผ่านหน่วยงานต่างๆ ช่วยคัดกรองให้ แต่นอกเหนือจากเรือประมงพาณิชย์ อย่างเรือประเภทอื่นๆ ที่ไม่ผ่านการตรวจจากศูนย์ PIPO หรือเรือที่ไม่ได้ถูกบังคับใช้ตามกฎหมาย ก็อาจยังมีโอกาสเกิดการกระทำผิดกฎหมายได้”

สิทธิที่ลูกเรือยังเข้าไม่ถึงแต่ใกล้ตัว ความเสี่ยงของชีวิตและสุขภาพกลางทะเล

หลังจากจบการอบรม ลูกเรือทุกคนต่างยิ้มแย้มกับเกียรติบัตรที่พวกเขาได้รับ เพื่อเป็นสิ่งรับรองว่าพวกเขาได้เรียนรู้วิธีดูแลความปลอดภัยบนเรือและสิทธิของพวกเขาแล้ว ก่อนทยอยกันเดินทางกลับ

ช่วงเย็นที่เมฆเริ่มครึ้มเป็นสัญญาณว่าฝนใกล้จะตกอีกครั้ง เรานั่งคุยกับ นาตยา เพชรรัตน์ ผู้จัดการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (Stella Maris) หนึ่งในวิทยากรการอบรมครั้งนี้ บริเวณริมคลองขุนนมที่เชื่อมไปยังอ่าวไทย 

จากการอบรมเช้าถึงบ่ายกว่าหลายชั่วโมง นาตยาพูดคุยกับลูกเรือด้วยความเป็นมิตรพร้อมเน้นย้ำถึงความปลอดภัยและสิทธิของลูกเรือ อย่างสิทธิกองทุนเงินทดแทน (สิทธิที่จะจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เช่น อุบัติเหตุ บาดเจ็บ เสียชีวิต หรือสูญหาย)

นาตยา เพชรรัตน์ ผู้จัดการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (Stella Maris) ขณะกำลังอบรมฯ


“ลูกเรือเพิ่งรู้สิทธิกองทุนเงินทดแทนจากการอบรมครั้งนี้” นาตยาเล่าพร้อมอธิบายต่อไปว่า “สิทธิกองทุนเงินทดแทนเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่ต้องนำเงินเข้ากองทุนฯ และจึงจะเกิดสิทธิกับลูกจ้าง โดยจำนวนเงินที่ส่ง จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากเงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้าง เช่น สมมตินายจ้างจ่ายเงินให้ลูกจ้าง 1 ล้านบาท นายจ้างจะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุน 0.2 เปอร์เซ็นต์ คือแค่ 2,000 บาทต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่เยอะ เชื่อว่านายจ้างมีศักยภาพในการนำส่งได้อยู่แล้ว”

“เรามองว่าตรงนี้เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย นายจ้างและลูกจ้างก็เกิดประโยชน์ เพราะถ้าเกิดเหตุแล้วนายจ้างไม่ได้นำส่งเงินเข้ากองทุนนี้ นายจ้างจะต้องจ่ายด้วยเงินจากกระเป๋าตัวเองไม่น้อย แต่ถ้านายจ้างนำส่งกองทุนเงินทดแทน ก็จะบรรเทาเงินที่ต้องสูญเสียไปได้เยอะเลย”

นาตยา เสนอว่า เนื่องจากลูกจ้างใช้สิทธิสุขภาพ เป็นบัตรประกันสุขภาพ ส่วนคนไทยเป็นบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ทำให้ประกันสังคมจะไม่รู้จักนายจ้างคนไทยที่อยู่ในภาคประมงเลย การออกจดหมายติดตามให้นำส่งก็อาจจะเป็นเรื่องยาก ซึ่งถ้าใช้กลไกของรัฐก็สามารถเข้าไปช่วยนายจ้างเรื่องนี้ได้ 

“เป็นคำถามว่า ตรงนี้จะบูรณาการกันอย่างไร ทั้งสำนักประกันสังคม กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (PIPO) ที่จะมีข้อมูลว่ามีเจ้าของเรือคนไหนบ้างที่ขนอม แล้วจะแชร์ข้อมูลกันอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง และให้นายจ้างปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง”

ส่วนหนึ่งที่ลูกเรือประมงหลายคนไม่ทราบว่าตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง นั่นเป็นเพราะการอบรมในรูปแบบนี้เพิ่งเริ่มมีขึ้นมาเพียงไม่กี่ปี ซึ่งแต่เดิมนายจ้างจะมีหน้าที่จัดอบรมให้กับลูกจ้างของตัวเอง เพื่อมีใบรับรองเป็นเอกสารที่บังคับใช้ตรวจก่อนออกเรือ 

แต่การอบรมครั้งนี้ นาตยา บอกว่า ศูนย์ความปลอดภัยภาค 9 ได้งบประมาณจากการเขียนโครงการเข้าไปที่กองทุนเงินทดแทนเพื่อจัดอบรมให้กับลูกเรือประมง ทั้งหมด 3 รุ่นคือที่จังหวัดสงขลา ตรัง และนครศรีธรรมราช โดยจะมีผู้เข้าอบรมรุ่นละ 50 คน และรุ่นที่อบรมครั้งนี้จะเป็นรุ่นสุดท้ายของงบประมาณส่วนนี้  

“จากการทำวิจัยของ Stella Maris พบว่า ลูกเรือตั้งแต่ระดับไต๋ นายท้าย พ่อครัว หรือลูกเรือ ต้องการให้สนับสนุนการอบรมให้ความรู้ เพื่อให้เขามีทักษะการใช้เครื่องมือความปลอดภัยบนเรือ ไม่ว่าจะเป็น ถังดับเพลิง เสื้อชูชีพ ห่วงชูชีพ หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ที่กฎหมายไม่ได้กำหนด แต่เป็นอุปกรณ์ที่มีอยู่ในเรืออยู่แล้ว และสามารถเอามาปรับใช้เพื่อช่วยชีวิตเวลาเกิดเหตุได้ เช่น ขวดน้ำพลาสติก หรือแกลลอนน้ำมัน”

“สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการช่วยชีวิตทางน้ำคือ 'ตะโกน โยน ยื่น' คนก็จะเข้าใจตะโกนคือร้องช่วย แต่ไม่ได้ลงลึกว่า โยนยังไง ยื่นยังไง ถ้าสถานการณ์จริงโยนห่วงไปแต่เป็นช่วงที่ทะเลมีคลื่น โยนลงไปเขาก็คว้าไม่ได้บ้าง หรือถ้าคว้าได้แต่ว่ายน้ำไม่เป็น คลื่นที่ซัดเข้ามาก็ทำให้เขาไหลไปกับคลื่น ฉะนั้นวิธีการจัดการคือโยนแล้วเราต้องดึงเขากลับเข้ามาได้ด้วย”

“การทำให้ไม่มีใครตกน้ำเลย คงเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นแล้ว เราจะได้รับการช่วยชีวิตอย่างทันท่วงที ซึ่งแม้แต่ระบบคู่หูในการทำงานมีหรือไม่ มีรอยรั่วหรือช่องว่างตรงไหนบ้างที่ทำให้เกิดเหตุเหล่านี้อยู่ ซึ่งเรามองว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องทำไปในอนาคตข้างหน้าด้วยกัน”

“เรายังต้องดึงไต๋เรือเข้ามาอบรมด้วย เพราะนอกจากความรู้พื้นฐาน ไต๋ต้องเป็นคนบริหารเหตุการณ์และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนเรือ หรือการบริหารสถานที่จัดเก็บอุปกรณ์ เรามองว่าเป็นประเด็นสำคัญ เพราะจะเก็บตรงไหน จะเก็บอย่างไรให้ไม่หาย เวลาเจอเหตุสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว”

นาตยา อธิบายต่อว่า ตั้งแต่ปี 2022 Stella Maris ขอเพิ่มหลักสูตรกู้ชีพและกู้ภัยเข้ามา ซึ่งการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่าง CPR มีความสำคัญมากในการช่วยลดการสูญเสีย เพราะแม้แรงงานจะต้องตรวจสุขภาพก่อนต่อใบอนุมัตินำเข้าแรงงานเข้ามาที่ไทย แต่จะระบุให้ตรวจบางรายการเท่านั้น เช่น วัณโรค (TB) แต่ไม่ได้ตรวจโรคทางอายุรกรรม เช่น ความดัน หรือเบาหวาน

“ในกรณีของแรงงานชาวกัมพูชา ประเด็นหนึ่งที่เขาไม่กล้าทำอะไรเมื่อเกิดเหตุ เช่น  CPR เพราะเขาคิดว่าเรื่องอะไรที่ไม่ได้ถูกฝึกอบรมมาจากหน่วยที่รับรอง เขาก็จะคิดว่าส่ิงที่เขาทำจะผิดกฎหมายไหม เพราะฉะนั้นการที่เรามาอบรมให้กับเขา แล้วก็เชิญหน่วยที่มีความชำนาญในแต่ละเรื่องมาสอนเขา ก็จะเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้เขาได้อย่างหนึ่ง”

“อย่างกรณีไต๋เรือคนไทยที่เข้ามาอบรมครั้งนี้เคยช็อกหมดสติ และลูกเรือไปปั๊มหัวใจให้จนรอดชีวิต ความคิดที่ลูกเรือช่วยตอนนั้น เพราะเขาเห็นจากละครว่าคนหมดสติต้องทำแบบนี้ แต่ไม่ได้มาจากฐานว่าเขาฝึกมาก่อน ซึ่งไต๋เรือมีความดันสูงถึง 200 กว่า แต่เขาไม่รู้ เพราะเขาไม่มีโอกาสได้ตรวจสุขภาพ”

“แรงงานเกือบทุกคน ไม่ใช่แค่เฉพาะลูกเรือ ไม่มีการกำหนดว่าอายุเท่านี้ต้องไปตรวจสุขภาพ ขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัท บางบริษัทก็อาจจะมีระบบการตรวจสุขภาพประจำปี และอาจมีแผนการตรวจให้ว่า อายุเท่านี้ควรจะตรวจอะไรบ้าง แต่โดยทั่วไปแล้วจะไม่มีเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวข้อง”

“เราเคยเจอกรณีที่ลูกเรือเสียชีวิตกลางทะเล ผลวินิจฉัยระบุว่า เป็นโรคทางอายุรกรรม เช่น หลับแล้วเสียชีวิตไปเลย มุมหนึ่งเรามองว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำงานก็เป็นตัวกระตุ้นโรคทางอายุรกรรมได้เหมือนกัน”

“คนกัมพูชา พอเข้าฝั่งมาก็จะมีพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ดื่มเหล้า เพราะไม่รู้ว่าจะจัดการเรื่องความเครียดด้วยวิธีไหน และคนกัมพูชาส่วนใหญ่จะเป็นชายโสด หรือถ้าไม่โสดก็ไม่ได้พาครอบครัวมาด้วย เพราะฉะนั้นวิถีชีวิตของเขาจะอยู่บนเรือ แต่นำเหล้าขึ้นเรือไปไม่ได้ เขาก็จะดื่มเหล้าเยอะช่วงที่เรือจอดเข้าฝั่ง”

นาตยา เล่าว่า ส่วนใหญ่ลูกเรือมักจะมาเบิกยาคลายกล้ามเนื้อ และยารักษาโรคกระเพาะ เพราะอาหารที่พวกเขากินทำให้เกิดอาการปวดท้อง เช่น ถ้าเป็นลูกเรือชาวกัมพูชาจะกินอาหารรสจัด จึงมักขอยาธาตุน้ำขาว แต่ถ้าเป็นลูกเรือชาวพม่ามักขอยาธาตุน้ำแดง แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ซึ่งส่วนใหญ่พ่อครัวประจำเรือก็มักจะเป็นสัญชาติเดียวกันกับคนบนเรือเพื่อให้อาหารถูกปาก 

“ปกติเรื่องเสบียงบนเรือ PIPO จะมีหน้าที่ตรวจว่าอาหารที่เตรียมไปเพียงพอหรือไม่ เป็นเรือประเภทไหน ออกเรือประมาณกี่วัน และมีจำนวนลูกเรือที่ไปเท่าไร ซึ่งเสบียงจะมีทั้งเครื่องปรุงอาหาร ข้าวสาร ผัก เนื้อ น้ำดื่มที่ทางเจ้าของเรือจะเตรียมไป ส่วนหนึ่งก็จะมีกาแฟหรือขนมปังบ้าง ขึ้นอยู่กับการจัดของแต่ละเรือ” 

“สิ่งสำคัญอีกอย่างคือกล่องยา ถ้าเป็นเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย นอกจาก PIPO จะต้องตรวจว่ามีกล่องยาบนเรือหรือไม่ สิ่งที่เราพยายามคุยกับ PIPO คือเราอยากให้เช็กเพิ่มด้วยว่ากล่องยาหมดอายุหรือยัง หรือดูแลเรื่องการเข้าถึง เช่น คนเรือใช้ยาหรืออุปกรณ์รักษาอะไรบ่อยๆ”

ลูกเรือประมงไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป

นาตยา ให้ข้อมูลว่า จากช่องทางการร้องเรียนของ Stella Maris พบว่ามีการร้องเรียนลดลง โดยเฉพาะกรณีการเปลี่ยนย้ายนายจ้างของลูกเรือ เป็นผลมาจากการประชาสัมพันธ์ความรู้ให้กับนายจ้าง

“เมื่อกฎหมายออกมาบังคับใช้ การสร้างความรู้ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นเรื่องสำคัญ เพราะบางครั้งเราจะสังเกตเห็นว่าช่วงปี 2557 มีกฎหมายเกี่ยวกับประมงออกมาเยอะมาก ทั้งที่ปรับปรุงและเกิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งบางครั้งนายจ้างก็ไม่สามารถทำความเข้าใจได้ทั้งหมดเหมือนกัน ยิ่งตัวลูกเรือไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะว่าถ้าที่ผ่านมาเราเห็นหน่วยงานรัฐจะคุยกับนายจ้างก่อน เพื่อให้นายจ้างไปคุยกับคนงานของเขา”

“แต่ตามความเป็นจริงนายจ้างไม่ค่อยมีโอกาสเจอลูกจ้างทุกคนบ่อยนัก เพราะฉะนั้นอาจต้องมีกลไกเข้าไปสร้างความรู้ให้กับตัวลูกจ้างด้วยเหมือนกัน เพราะเมื่อนายจ้างและลูกจ้างเข้าใจกฎหมายที่ตัวเองต้องปฏิบัติ โอกาสของการถูกละเมิดก็จะลดลง”

“เราว่าประเด็นค้ามนุษย์ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน เพราะตอนที่ไม่มี PIPO เรือลำหนึ่งออกไปทำประมงนานหลายเดือน หรือเป็นปีก็มี ทำให้โอกาสที่ลูกเรือจะกลับเข้าฝั่งที่ท่าในประเทศไทย หรือกลับเข้ามาใช้ชีวิตอยู่บนบกก็จะน้อย แต่ปัจจุบันหลังจากที่มีการแก้กฎหมายตรงนี้ ทำให้เรือต้องกลับเข้าฝั่งอย่างน้อย 1 เดือน ทำให้ลูกเรือได้กลับมาพักเพิ่มมากขึ้น ช่วยลดความเครียด และถ้าเขารู้สึกไม่สบายใจอะไรก็มีโอกาสไปบอกกับหน่วยงานได้”

“กลไกของ PIPO ส่วนตัวมองว่ามีจุดอ่อนเพียงเล็กน้อยที่อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ คือการบูรณาการข้อมูลให้แต่ละหน่วยที่มีข้อมูลอยู่ สามารถเชื่อมข้อมูลเพื่อช่วยกลั่นกรองและเพิ่มประสิทธิภาพร่วมกัน เพราะการตรวจแรงงานประมงบางที่ยังถือกฎหมายคนละฉบับ ถือเอกสารการตรวจกันคนละใบ เรื่องนี้จะมีการร่วมมือทางข้อมูลกันอย่างไร”

นาตยา บอกว่า การอบรมครั้งนี้มีการบูรณาการกันระหว่างภาครัฐ และภาคประชาสังคม ทางกรมประมงมีหน้าที่เป็นหน่วยหลักในการออกตรวจการทำประมง แต่ส่วนงบประมาณสนับสนุนให้เกิดความรู้กับคนงานลักษณะนี้กลับไม่มี 

“จริงๆ ก็มีแนวคิดว่าต้องเป็นเวิร์กช็อปอีกแบบหนึ่งหรือไม่ เช่น ลงไปที่เรือสักลำหนึ่งเลย มีทั้งนายจ้าง ไต๋เรือ คนงาน เพื่อจำลองว่าจะมีเหตุการณ์อะไรบ้าง เช่น คนตกน้ำ อุบัติเหตุจากการใช้เครื่องมือประมง เกิดตรงจุดไหนอย่างไร ที่ผ่านมามีการจัดการแก้ไขปัญหาอย่างไร วิธีนั้นดีที่สุดแล้วหรือยัง หรือมีวิธีอะไรที่ดีกว่านี้ที่เราจะทำด้วยกันได้อีก”

“ทุกคนบนเรือมีความสำคัญทั้งหมดและต้องได้รับการสนับสนุน แต่อาจต้องช่วยกันดูว่าแต่ละคนมีจุดอ่อนจุดแข็งอยู่ตรงไหน และรัฐควรเข้าไปสนับสนุนให้พวกเขาทำได้ดีมากกว่านี้ รัฐเองก็ไม่ได้เข้าใจทุกบริบท รัฐก็ต้องการการสนับสนุนด้วยเหมือนกัน แต่เราต้องสร้างพื้นที่คุยที่เป็นมิตรต่อกัน เพื่อสร้างแนวปฏิบัติหรือแนวทางในการทำงานที่บูรณาการจริงๆ ไม่ใช่บูรณาการเพียงแต่ชื่อ"

“เราอยากให้บูรณาการวิธีคิด จนนำไปสู่กิจกรรมที่สร้างสุขภาพหรือสิทธิแรงงานที่ดีให้กับลูกเรือประมง เพราะชีวิตเราก็ต้องอาศัยอาหาร ซึ่งคือสัตว์น้ำที่มาจากทะเล แต่เราก็อยากกินสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมงที่ทุกคนมีสิทธิและความเท่าเทียมกัน”

แม้ตอนนี้การทำประมงผิดกฎหมายจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายในปัจจุบันยังมีช่องโหว่ที่ต้องแก้ไข เพื่อป้องกันการเกิดเหตุที่ไม่คาดฝัน หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับลูกเรือประมง ไม่ว่าจะเป็น การจ่ายค่าจ้าง การทำงานหนักโดยไม่ได้พัก ไปจนถึงการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นอาชกรรมร้ายแรงที่ยังคงมีอยู่ในยุคสมัยนี้ 

ความปลอดภัยของลูกเรือประมงจึงต้องถูกให้ความสำคัญ เพราะปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะลูกเรือต่างชาติที่เข้าไม่ถึงข้อมูล หรือทักษะเอาชีวิตรอดในทะเล รวมถึงช่องโหว่อีกมากมายที่ลูกจ้างถูกละเมิดสิทธิโดยไม่รู้ตัว เช่น การยึดหรือการรับฝากหนังสือประจำตัวลูกเรือ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ไปจนถึงการค้ามนุษย์ได้ 

อาหารทะเลที่เรากินทุกวันนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่อาหารที่เสิร์ฟบนจานเท่านั้น แต่อาจหมายถึงแรงงานของเหล่าลูกเรือประมงในวันที่พวกเขายังต้องเสี่ยงภัย และเข้าไม่ถึงสิทธิที่ควรได้รับด้วย


ช่างภาพ: จิตติมา หลักบุญ

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
กองบรรณาธิการ