Humberger Menu

แม้ความเปลี่ยนแปลงจะพัดมา แต่ ‘ภาษาของเรา’ จะคงอยู่

‘ชาติพันธุ์ญ้อ’ หนึ่งเดียวในมหาสารคาม ที่หยัดยืนท่ามกลางกระแสธารของโลกสมัยใหม่


เรื่อง: สุดารัตน์ พรมสีใหม่, กัญมณฑ์ แต้มวิโรจน์

ภาพถ่าย: จิตติมา หลักบุญ


รถแล่นไปบนถนนทางหลวงชนบท ผ่านหมู่บ้าน ร้านอาหาร และแสงของวันธรรมดา ถนนสี่เลนน่าจะต้องเต็มไปด้วยรถคันใหญ่ แต่ดูเหมือนว่าปริมาณมอเตอร์ไซค์จะมากกว่า แม้จะไม่ถึงขั้นเบียดเสียดแน่นขนัด แต่ก็มากกว่าที่สายตาเคยคุ้นชิน 

ที่สร้างความสงสัยให้ผู้มาเยือน คือการมองเห็นป้ายทะเบียนรถระบุที่มาจากหลายจังหวัด โดยปกติแล้วหากเราเดินทางไปไหน ป้ายทะเบียนรถของเจ้าถิ่นจะเป็นสัญลักษณ์ว่าเรามาถึงที่หมาย แต่ที่นี่มีป้ายทะเบียนหลากหลายจนไม่มีคันไหนบ่งบอกความเป็น ‘มหาสารคาม’ หมุดหมายที่เราและเพื่อนเดินทางมาถึงเลย

มอเตอร์ไซค์บนถนนสี่เลนมุ่งหน้าไปในเส้นทางเดียวกัน ผ่านร้านค้าและตึกสูงแบบหอพักที่คราคร่ำเต็มถนน ขับไปเรื่อยๆ ทัศนียภาพนั้นก็ค่อยๆ เปลี่ยนจากบ้านเรือนเป็นต้นไม้ยืนเรียงใกล้ชิดอย่างมีระเบียบ ราวกับเป็นการต้อนรับสู่พื้นที่ใหม่ ก่อนที่ถนนย่อยจะเริ่มปรากฏเป็นทางเลือกให้มอเตอร์ไซค์แต่ละคันแยกย้ายไปคนละเส้นทาง 

บนเนื้อที่ 1,300 ไร่ ของ ‘มหาวิทยาลัยมหาสารคาม’ มอเตอร์ไซค์ย่อมเป็นยานพาหนะที่สะดวกสำหรับวิถีชีวิตของการเป็น ‘นิสิต’ ผู้ขับขี่บนท้องถนนจึงเป็นหนุ่มสาวที่กำลังมุ่งหน้าไปใช้ชีวิตยามเย็น เมื่อเราขับตรงไปบนถนนเส้นเดียวกับพวกเขาเรื่อยๆ ก็เริ่มพบอาคารเรียนและต้นไม้ ที่ค่อยๆ เปลี่ยนกลับมาเป็นร้านค้า และตึกแถวเรียงรายบนถนนสี่เลนอีกครั้ง

“อันนี้น่าจะเป็นหลังมอ” เรากล่าวโดยสังเกตจากบรรยากาศรอบตัว รถมอเตอร์ไซค์เริ่มจอดตามร้านค้าต่างๆ ผู้มาเยือนจึงเริ่มให้สายตาแวะมองป้ายร้านต่างๆ ด้วยความสนใจบ้าง ก่อนที่เราจะมองหาจุดมุ่งหมายที่ต้องการ

“ตรงนั้นไง ร้านอาหารญ้อภูไท” เพื่อนร่วมทางของเราคนหนึ่งรีบบอก ป้าย ‘ร้านอาหารญ้อภูไท’ เด่นขึ้นเมื่อมีคนชี้เป้า และสิ่งที่ทำให้เราสะดุดตากันคือคำอธิบายว่า ‘หมูกระทะบุฟเฟต์ ตำนานความอร่อย 25 ปี’

มอเตอร์ไซค์ของหนุ่มสาวที่ออกมาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามจำนวนหนึ่งก็จอดลงหน้าร้านนี้เช่นกัน

“หมูกระทะญ้อต่างจากหมูกระทะที่อื่นยังไงนะ” พวกเราต่างสงสัย ซึ่งด้วยความสนใจในคำว่า ‘ญ้อ’ ก็ได้นำพาให้เราตัดสินใจเดินเข้าร้าน

พนักงานแนะนำว่า ที่นี่มีบุฟเฟต์ราคา 149 บาท และมีเมนูอาหารทั่วไปให้สั่ง ซึ่งมีเมนูที่เขียนว่า ‘ส้มตำญ้อภูไท’ และ ‘แกงหวานญ้อภูไท’ อยู่ด้วย “หนูไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับญ้อในเชิงลึกเท่าไหร่ แต่รู้ว่าที่นี่มีชุมชนคนญ้ออยู่ตรงหลังมอค่ะ” เธอว่า

หากค้นหาผ่านอินเทอร์เน็ต จะพบข้อมูลวิกิชุมชนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ระบุว่า ญ้อ หรือ ไทญ้อ คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในหลายจังหวัดในอีสาน หนึ่งในนั้นคือ ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นพื้นที่ด้านหลังมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เมื่อขับรถเลี้ยวขวาออกจากถนน ‘หลังมอ’ จะเข้าสู่พื้นที่ชุมชน ซึ่งมีบ้านเรือนผู้คน ลานอเนกประสงค์หมู่บ้าน วัด อนามัยชุมชน ตั้งอยู่ และมีป้าย ‘หอพัก’ สำหรับนิสิต สอดแทรกอยู่บ้างประปราย สะท้อนให้เห็นชัดว่าความเป็นชุมชนดั้งเดิมยังคงดำรงอยู่ตรงนี้ ท่ามกลางการผลัดเปลี่ยนหน้าตาของผู้คนภายนอก เหมือนกับร้านอาหารญ้อภูไทที่ต่อรองกับความเปลี่ยนแปลงในคราบร้านหมูกระทะ

ข้อมูลของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรระบุด้วยว่า การสร้างมหาวิทยาลัยมหาสารคามขึ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน สร้างรายได้ให้คนญ้อที่ขายที่ดินให้กับผู้สร้างหอพักและร้านค้าต่างๆ หรือคนญ้อบางคนก็ได้เป็นเจ้าของกิจการเอง แต่วิถีชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไป จากการทำไร่ทำนาเปลี่ยนมาสู่พื้นที่ของระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความกังวลว่า อัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ โดยเฉพาะ ‘ภาษาญ้อ’ จะหล่นหายไปตามสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง

แดดจ้าเวลาเที่ยงสาดเข้าใส่สนามหญ้าสีเขียว รถทัวร์ขนาดใหญ่จอดเรียงรายอาบแสงอาทิตย์อยู่ด้านข้างสนาม เพียงแค่เห็นภาพก็เข้าใจได้ว่า ที่นี่กำลังจัดงานบางอย่างที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก และเสียงที่ดังออกมาจากข้างในอาคารอเนกประสงค์ใกล้ๆ กันก็เป็นการยืนยันความคิดนั้น

“สวัสดีจ้า พ่อเมือง แม่เมือง เป็นเลอเลอ ซำบายดีหะ ผู้ข้าชื่อ พานทอง จันทะเสม เป็นคนญ้อร้อยเปอร์เซ็นต์ มื้อนี้มาต้อนรับพ่อเมือง แม่เมืองมาโรงเรียนผู้สูงอายุบ้านท่าขอนยาง” เสียงหญิงสูงวัยดังขึ้นผ่านไมโครโฟน เธอยืนอยู่กลางอาคารอเนกประสงค์แบบเปิดโล่ง ต่อหน้าผู้คนนับร้อยที่กำลังฟังอย่างตั้งใจ

“คนญ้อเป็นเผอ เคยได้ยินบ่จ้า คนญ้ออพยพมาจากลาวตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 พู่น บ้านเฮาเป็นหมู่บ้านประวัติศาสตร์” เธอย้ำบอกความสำคัญกับผู้มาเยือน

พานทอง จันทะเสม เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนผู้สูงอายุบ้านท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งก่อตั้งมาในปี 2557 เพื่อให้ผู้สูงอายุในหมู่บ้านได้มีกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพและวัฒนธรรมท้องถิ่น การจัดตั้งโรงเรียนแห่งนี้ร่วมมือกับคณะพยาบาลศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง และคณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำให้เกิดการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จ จนทำให้มีผู้มาเยี่ยมเยียนและศึกษาดูงานจากหลายที่ 

เช่นเดียวกันกับวันนี้ที่มีแขกจากจังหวัดอุดรธานีและปราจีนบุรีเข้ามาบ้านท่าขอนยาง โดยมีสมาชิกในโรงเรียนผู้สูงอายุแต่งชุดผ้าพื้นเมืองสีคราม สะพายสไบหลากสีพร้อมเครื่องประดับ คอยต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยียน

“วันนี้มีคนมาดูงานผู้สูงอายุเยอะมาก” ศุจีนันนท์ บุตราช นายกเทศมนตรีตำบลท่าขอนยาง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘นายกฯ จุ๊บแจง’ บอกกับพวกเรา เธอแต่งตัวด้วยชุดพื้นเมืองญ้อ คาดด้วยสไบสีชมพูลาย ‘ขิดดวงเดือน’ ซึ่งเป็นลายพื้นเมืองของชาวญ้อ “ที่นี่ตั้งใจจะเป็นทั้งกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ และรักษาวัฒนธรรมญ้อเอาไว้ด้วยกัน” 

เธอเชื้อเชิญให้พวกเราเข้าไปในโรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อล้อมวงพูดคุยกับผู้สูงอายุแห่งบ้านท่าขอนยาง ทุกคนเป็นชาวไทญ้อที่บรรพบุรุษอาศัยอยู่ที่นี่มายาวนาน


ทำความเข้าใจภาษาญ้อท่าขอนยาง

“หนูอยากให้แม่ๆ พูดภาษาอะไรลูก” นายกฯ จุ๊บแจงถามผู้มาเยือน พร้อมให้ข้อมูลพวกเราเพื่อเป็นตัวเลือกในการสื่อสาร เพราะคนญ้อสามารถพูดได้สามภาษา คือ ภาษากลาง ภาษาลาวอีสาน และภาษาญ้อ 

“ภาษาญ้ออาจจะมีคำคล้ายๆ กับภาษาอีสาน ถ้าหนูฟังภาษาอีสานออก น่าจะฟังภาษาญ้อได้” เธอว่า ก่อนที่จะลองพูดแบบญ้อให้เป็นตัวอย่างสำหรับการตัดสินใจ 

“เดี๋ยวทางนายกฯ สิเหิมแม่ปราชญ์ชาวบ้านและคุณครูประวัติศาสตร์ญ้อเชิงลึกของเฮาเป็นผู้เล่าให้ฟัง แบบนี้ฟังออกไหมลูก” 

หากอ่านเป็นตัวหนังสือ ภาษาญ้อดูไม่แตกต่างกับภาษาอีสานเท่าไหร่นัก แต่หากได้ ‘ฟัง’ สำเนียงแบบภาษาญ้อ การออกเสียงจะแตกต่างกันอย่างชัดเจน คนอีสานมักกล่าวว่า ภาษาญ้อมีสำเนียงที่ ‘เหน่อ’ กว่าภาษาอีสานโดยทั่วไป 

“เขาเคยล้อพวกเราด้วยว่าเป็น ‘ญ้อดากแดง’” สธ.อานันท์ นันทวิจิตร แห่งบ้านท่าขอนยาง ชาวญ้ออีกคนในพื้นที่แห่งนี้แบ่งปันประสบการณ์ที่เคยถูกมองราวกับเป็น ‘คนแปลกแยก’ ในหมู่คนอีสาน “เมื่อก่อนเด็กก็จะไม่ค่อยอยากพูดภาษาญ้อ เพราะไปโรงเรียนแล้วเพื่อนล้อ” เขาว่า

“ตอนได้ยินผมก็รู้สึกโกรธบ้างครับ แต่ทำอะไรไม่ได้ เราห้ามเขาไม่ได้ตลอดหรอก เด็กๆ ที่ไปเรียนเขาก็เลยพยายามปรับตัว พูดไทยให้ชัด” สธ.อานันท์กล่าว “หรือเวลาคนกรุงเทพได้ยินเราพูดภาษาญ้อ เขาก็จะมองและสงสัยว่าพูดอะไรกัน อันนี้ภาษาอีสานหรือเปล่า” 

คำพูดของสธ.อานันท์ นับเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ เพราะโดยทั่วไป คนมักคิดว่าคนอีสานต้องพูดแค่ภาษาอีสานเท่านั้น แม้ว่าอีสานจะประกอบด้วยคนหลากหลายชาติพันธุ์ที่เข้ามาตั้งรกรากในดินแดนแห่งนี้ก็ตาม 

ในทางภาษาศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะเข้าใจว่าภาษาญ้อและภาษาอีสานคล้ายกัน เพราะทั้งหมดล้วนมีรากทางภาษาแบบเดียวกัน นี่คือข้อมูลที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดุจฉัตร จิตบรรจง นักวิชาการภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยมหาสารคามเล่าให้ฟัง เมื่อเราพยายามทำความเข้าใจเอกลักษณ์ของ ‘ภาษาญ้อ’ ให้ดียิ่งขึ้น

“ปัจจุบันเขาจะเรียกว่าตระกูลภาษา ขร้า-ไท โดยศาสตราจารย์ด้านภาษาอย่าง ฟัง กวย ลี เป็นผู้ศึกษาไว้ตั้งแต่ช่วงปี 1959 จัดกลุ่มภาษาขร้า-ไทออกเป็น 3 กลุ่ม คือ หนึ่ง–กลุ่มเหนือ ผู้พูดส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของจีน เช่น ภาษาจ้วง สอง–กลุ่มกลาง อยู่ตอนกลางเวียดนาม และสาม–กลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ อยู่ในแคว้นอัสสัมของอินเดีย รัฐฉานของพม่า และในประเทศไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา รวมถึงมาเลเซีย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดุจฉัตรให้ข้อมูล 

“ภาษาญ้อและภาษาอีสานอยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้ จึงมีคำศัพท์บางอย่างคล้ายๆ กัน” ด้วยต้นกำเนิดที่อยู่ในพื้นที่ใกล้กัน กล่าวคือ ‘คนญ้อ’ นั้น เดิมตั้งถิ่นฐานในเมืองหงสา แขวงไซยะบุรี พื้นที่เหนือหลวงพระบาง ประเทศลาว และอีกกลุ่มมาจากเมืองคำเกิด แขวงบอลิคำไซ ประเทศลาว ส่วนภาษาอีสานนั้น นักวิชาการภาษาศาสตร์จัดให้เป็นภาษาเดียวกันกับภาษาลาว แต่ที่คนมักเรียกชื่อต่างกัน เพราะแนวคิดการขีดเส้นรัฐชาติของสังคมสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม แม้ภาษาญ้อและภาษาอีสานจะอยู่ในพื้นที่ใกล้กัน และมีการใช้คำศัพท์เหมือนกันบ้าง แต่ก็มีความแตกต่างอยู่ จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมต้องเรียกสำเนียงแบบชาวบ้านท่าขอนยางว่า ‘ภาษาญ้อ’ เพราะในเชิงวิชาการ นักภาษาศาสตร์จะนิยามภาษาลักษณะนี้ว่า ‘ภาษาท้องถิ่นย่อย’ โดยนำลักษณะการออกเสียงและการใช้คำของแต่ละภาษามาเปรียบเทียบกัน 

“ส่วนใหญ่ภาษาตระกูลไทด้วยกัน โดยเฉพาะอยู่ในประเทศไทยเหมือนกัน พยัญชนะและสระไม่ต่างกัน จะมีแค่บางพยัญชนะต่างกันบ้างเล็กน้อย เช่น คนอีสานไม่มีตัว ช เขาจะออกเสียงเป็น ซ หรือภาษากลางออกเสียง ญ เหมือน ย แต่ภาษาอีสานมีเสียง ญ แยกกับ ย”  

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เสียง ญ ของภาษาอีสาน จะเป็นเสียงขึ้นจมูกเล็กน้อย เช่นคำว่า ผญา ออกเสียงว่า ผะ-หยา ไม่เหมือนการออกเสียงคำว่า พญา ในภาษากลาง

“ในขณะที่ภาษาญ้อก็มีความแตกต่างออกไปเหมือนกัน โดยปกติ นักภาษาศาสตร์จะให้ความสำคัญกับความแตกต่างจากเสียงวรรณยุกต์ ซึ่งภาษาญ้อมีวรรณยุกต์ต่างจากภาษาอีสาน และการใช้สระบางส่วนต่างกันบ้าง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดุจฉัตรกล่าว

“เคยมีงานศึกษาว่า ญ้อท่าขอนยางมีเสียงวรรณยุกต์ 5 หน่วย เช่น ภาษาลาวจะออกเสียงคำว่า ตี หรือ บิน เป็นเสียงสามัญ แต่ภาษาญ้อจะออกเป็นเสียงจัตวา เช่น ตี๋ บิ๋น หรือในความแตกต่างของสระ เช่น คำที่เขียนด้วยสระ ไอ คนญ้อจะออกเสียงเป็นสระเออ คำว่า หัวใจ คือ หัวเจ๋อ, ใส่ คือ เส่อ, ใบไม้ คือ เบอไหม, ใหม่ คือ เหม่อ, ใกล้ คือ เก้อ, ใน คือ เหนอะ”

ในทางวิชาการเรียกหลักการนี้ว่า ‘เสียงปฏิพากย์’ หมายถึง คำเดียวกันของภาษาตระกูลเดียวกันจะใช้พยัญชนะหรือสระต่างชุดกัน เหมือนกับที่เราได้ยินปราชญ์ชาวญ้อทักทายแขกผู้มาเยือนว่า “สวัสดีจ้า พ่อเมือง แม่เมือง เป็นเลอเลอ ซำบายดีหะ” ซึ่งคำว่า ‘เป็นเลอเลอ’ หมายถึง เป็นอย่างไรบ้าง คำว่า ไร จึงเป็น เลอ ในภาษาญ้อ

นี่เองคือเอกลักษณ์และจุดเด่นที่ทำให้ความเป็นญ้อแตกต่างกับภาษาอีสาน 

“ถ้าหนูฟังออก แม่ๆ ก็พูดภาษาญ้อเนอะลูก เป็นอัตลักษณ์ของเรา”

ทองปัก สุบิน หนึ่งในชาวบ้านท่าขอนยางกล่าว

พวกเรานั่งล้อมวงในโรงเรียนผู้สูงอายุบ้านท่าขอนยาง สมาชิกโรงเรียนจำนวน 3 คนเข้ามาพูดคุยกับเรา ร่วมด้วยนายกเทศมนตรีบ้านท่าขอนยาง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 สธ. อานันท์ และแม่ทองปัก สุบิน ทุกคนสวมชุดชาวญ้อ กำลังทบทวนความทรงจำวัยเด็กที่เติบโตมาในบ้านท่าขอนยางให้พวกเราฟัง

“สมัยก่อนนี้อุดมสมบูรณ์ แถวนี้เฮ็ดไฮเฮ็ดนากัน” คุณครูพานทองย้อนความหลัง เพื่อบอกพวกเราว่า เมื่อก่อนคนญ้อท่าขอนยางเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่ทำนา

“แถวนี้คือนาเบิดเนอะแม่ ตรงมหาวิทยาลัยก็เป็นป่า เป็นนา” นายกฯ จุ๊บแจงร่วมสมทบกับครูพานทอง

“ตะกี้เมื่อพ่อน้อยๆ ได้เห็นแฮ้งนำ มีแฮ้งอยู่ โตบักเญ้อ” คุณตาสมาชิกโรงเรียนผู้สูงอายุเล่า ‘แฮ้ง’ คือภาษาญ้อที่หมายถึง ‘แร้ง’ สัตว์ที่สื่อถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่ นั่นหมายความว่า ในอดีตนั้นบ้านท่าขอนยางเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ถึงขั้นมี ‘แร้งตัวใหญ่’ อยู่ในหมู่บ้านด้วย  

ก่อนบทสนทนาระหว่างพวกเราและผู้สูงอายุบ้านท่าขอนยางจะเดินทางต่อ ระหว่างนั้น แขกจากต่างจังหวัดที่เข้ามาเยี่ยมโรงเรียนผู้สูงอายุได้มาถึงอีกขบวนแล้ว ครูใหญ่และสมาชิกแห่งโรงเรียนผู้สูงอายุจึงขอตัวไปต้อนรับแขกและทำการแสดงไทญ้อก่อน

“รอชมได้นะลูก” แม่ทองปักเชื้อเชิญให้พวกเราเข้าไปนั่งเป็นผู้ชมด้วย 

การแสดงเริ่มต้นด้วยสมาชิกโรงเรียนผู้สูงอายุที่แต่งตัวด้วยชุด ‘ชาวไทญ้อ’ ยืนเรียงหน้ากระดานหน้าเวที โดยมีคุณครูทองพานยืนนำหน้า สีครามเข้มในชุดชาวไทญ้อร้อยเรียงให้พวกเขาเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ก็มีจุดเด่นของตัวเอง เพราะสไบที่พาดบนเสื้อนั้นช่วยขับเน้นให้แต่ละคนโดดเด่นขึ้นมา

ไม่นานนัก ดนตรีพื้นบ้านดังขึ้น ชาวไทญ้อร่ายรำไปตามท่วงทำนองอย่างพร้อมเพรียง เรียกเสียงปรบมือให้กับผู้ชม มองจากภายนอก แม้ท่ารำของพวกเขาจะไม่ต่างกับรำไทยมากนัก และเสียงดนตรีก็อาจคุ้นหูคนที่ชอบฟังเพลงหมอลำอีสานมาบ้าง แต่การแสดงนี้ก็สร้างความประทับใจให้แขกผู้มาเยือน ต่อมายังมีการจัดแสดง ‘รำวง’ ที่เชิญชวนให้ผู้มาศึกษาดูงานได้ร่วมฟ้อนรำไปพร้อมกับชาวญ้อด้วย

“พอดีว่ามีผู้สนับสนุนอูคูเลเล่ให้กับโรงเรียนผู้สูงอายุ เฮาก็มาฝึกเล่นกัน อยากชวนทุกคนมารำวงกันเด้อจ้า” คุณครูพานทองกล่าวขึ้น นักดนตรีคือผู้สูงอายุไทญ้อนั่งอยู่หน้าเวที 

ตำนานพื้นบ้านชาวญ้อ


ต่อจากนั้นมีการแสดงเล่าถึงตำนานหมู่บ้านท่าขอนยาง ตั้งแต่การตั้งหลักปักฐาน โดยคุณครูพานทองเป็นผู้เล่าเรื่อง

“แม่ขอกล่าวตามตำนานเพินว่าเลย เมืองญ้อเฮานี้ เริ่มต้นตั้งแต่พู้นในสมัยพระเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทน์ เพินเกิดกุลียุค หรือว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมือง เพินก็เลยเฮิกคนมากวดต้อนเอาเมืองคำเก้อ เมืองคำม่วน เมืองขวนลิงในสมัยนั้น กวดต้อนไปไว้เป็นของเจ้าของ พอควมซาบฮอดสมัยของรัชกาลที่ 3 ของเฮา เพินก็ไปเอาเมืองคำเกิด คำม่วงมา บัดทีนี้ไทญ้อเฮา ก็พากันมาตามแม่น้ำโขงเรื่อยๆ มาฮอดเมืองกันทราชัย หรือเมืองกันทรวิชัยในซูมื้อนี่แหละลูก มีหลวงพ่อพระยืนเป็นองค์ประมุขประดิษฐานอยู่” คุณครูพานทองเล่าด้วยภาษาญ้อ

กล่าวโดยย่นย่อ ตามประวัติศาสตร์การตั้งรกรากของชาวญ้อในหมู่บ้านท่าขอนยาง เกิดขึ้นในช่วงสมัยที่เจ้าอนุวงศ์ของอาณาจักรล้านช้างรบกับสยามในรัชกาลที่ 3 

เดิมทีชาวญ้อเป็นคนเมืองหงสา แขวงไซยะบุรี ใกล้กับเมืองเวียงจันทน์ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตประเทศลาว หลังสงครามจึงมีการต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ประเทศลาวในปัจจุบัน) มายังฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ประเทศไทยในปัจจุบัน) และมีกลุ่มที่อพยพหนีภัยสงครามลงมา โดยอาศัยการเดินทางผ่านแม่น้ำ 

ตามเรื่องเล่าและตำนานในบ้านท่าขอนยาง ผู้นำที่พาอพยพลงมานี้คือเจ้าเมืองจากฝั่งลาวสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ พระคำก้อน หรือท้าวคำก้อน (พระลำดวน) ตำแหน่งราชวงศ์ ราชบุตร เมืองคำเกิด อพยพผู้คนมายังเมืองท่าขอนยาง และกลุ่มที่สองคือ พระคำแดง ตำแหน่งอุปฮาด เมืองคำม่วน อพยพผู้คนมายังบริเวณตำบลบึงกระดาน อยู่ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์

เมื่อกลุ่มพระคำก้อนมาถึงบ้านท่าขอนยาง ได้ทำการเสี่ยงทายเพื่อดูความอุดมสมบูรณ์ในการตั้งรกราก โดยใช้วิธีการวางไก่ที่นำติดตัวมาด้วยลงพื้น ถ้าไก่ออกมาจาก ‘ตอนบางไก่’ หรือหาบยางที่ทำด้วยไม้ไผ่ แล้วเลือกจิกกินอาหารบนพื้น แสดงว่าพื้นที่นั้นอุดมสมบูรณ์ ปรากฏว่าไก่เดินออกมาจาก ‘ตอนบางไก่’ แล้วกินอาหารบนพื้นจริง ชาวญ้อจึงเชื่อว่าที่นี่เป็นดินแดนที่ดี ใกล้กับแม่น้ำชี จึงลงหลักปักฐานก่อนจะเกิดการขีดเขตแดนรัฐชาติขึ้น

“ในช่วงการรบครั้งนั้น ชาวญ้ออีกหลายกลุ่มก็ถูกต้อนมาอยู่ฝั่งสยาม ปัจจุบันจะตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ในหลายจังหวัด ทั้งในมหาสารคาม กาฬสินธุ์ สกลนคร หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุดรธานี สระแก้ว บางคนคิดภาพคนญ้อจะคิดแค่ภาคอีสาน แต่จริงๆ มีอยู่ที่อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดุจฉัตรช่วยเสริมข้อมูลการอพยพของชาวบ้านในสมัยก่อน

“อยู่ที่นี่เขาจะเรียกญ้อท่าขอนยาง เพราะเขาก็มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตัวเอง คนญ้อในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังสืบทอดอัตลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษาที่มีความแตกต่างกับคนในท้องถิ่น หรือความเคร่งครัดของการนับถือผี การทำพิธีกรรมต่างๆ และตำนานของหมู่บ้านนั้นๆ ” 

นี่จึงเป็นเหตุผลที่การแสดงของโรงเรียนผู้สูงอายุบ้านท่าขอนยางยังประกอบด้วยตำนานว่าด้วยเรื่อง ‘จระเข้’ ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญในหมู่บ้านนี้ โดยเล่าว่าบ้านท่าขอนยางเคยมีเจ้าเมือง และได้เลี้ยงจระเข้ที่เรียกว่า ท้าวเฮา หรือท้าวทองแดงให้เป็นเพื่อนกับลูกเจ้าเมือง วันหนึ่งลูกเจ้าเมืองไปเล่นน้ำกับท้าวเฮา และมีจระเข้ต่างถิ่นเข้ามาหวังจะทำร้ายลูกเจ้าเมือง ท้าวเฮาจึงเลือกอมลูกเจ้าเมืองไว้ แต่ระหว่างต่อสู้เผลอกลืนลงไป จึงทำให้มีคนต่อว่าท้าวเฮาว่าเลี้ยงไม่เชื่อง จึงตั้งทีมปราบท้าวเฮา แต่ปราบอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ท้าวเฮาได้หนีลัดเลาะตามเเม่น้ำชี จนสุดท้ายถูกปราบด้วยแม่ชีที่วังสามหมอ ส่วนเกล็ดของจระเข้ได้นำมาทำบันไดขึ้นธรรมาสน์ที่วัดเจริญผล บ้านท่าขอนยาง 

“จริงๆ การแสดงนี้มีขึ้นทุกปีในงานไหลเรือไฟประจำปีของชาวบ้านท่าขอนยาง” ทองปัก สุบิน สมาชิกบ้านท่าขอนยางกล่าว “เมื่อก่อนเราก็จัดกันเอง คนในชุมชนมาช่วยกัน แต่เดี๋ยวนี้มีน้องนักศึกษาเข้ามาช่วยเป็นส่วนใหญ่แล้ว”

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

นับเป็นมหาวิทยาลัยรัฐแห่งที่ 22 ของประเทศไทย เดิมทีเป็นสถาบันในสังกัดของวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร โดยใช้ชื่อว่าวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม

ต่อมาเมื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ได้ยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ สถาบันใต้สังกัดจึงเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาสารคาม

ปี 2537 รัฐบาลชวน หลีกภัย ได้มีนโยบายให้วิทยาเขตต่างจังหวัดของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ ทำให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม เปลี่ยนมาเป็น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย 2537 

การยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยรัฐอย่างเต็มตัว ทำให้สถาบันต้องขยายหลักสูตรการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ แต่เนื่องจากที่ตั้งเดิมของมหาวิทยาลัยสารคามในอำเภอเมืองมีเนื้อที่ไม่เพียงพอ ในปี 2537 จึงมีการย้ายมาตั้งที่ทำการแห่งใหม่ในอำเภอกันทรวิชัย บนพื้นที่ 1,300 ไร่

และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในบ้านท่าขอนยาง

“ตอนที่มหาวิทยาลัยมาตั้ง แม่อายุ 28 ปี เพิ่งบรรจุรับราชการเป็นคุณครู จริงๆ ก่อนหน้านี้เขามองหลายที่ มีกระแสมาว่าจะไปตั้งอยู่หนองโน แล้วมีหลายท่านไปซื้อที่กันไว้” นายกฯ จุ๊บแจงในวัย 50 กว่าย้อนความหลัง

“แต่ตอนนั้นท่านรัฐมนตรีสุทิน คลังแสง ซึ่งตอนนั้นท่านเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ท่านประสานมาทางแม่ว่า มหาวิทยาลัยจะมาตั้งที่นี่ แต่ต้องมีถนน อาจจะต้องขอที่จากชาวบ้าน ขยายข้างละ 20 เมตร ชาวบ้านจะว่ายังไง ท่านสุทินก็ออกมาพูดคุย มีการประชาคมและบอกชาวบ้านว่าให้ความเจริญสู่ตำบลบ้านเรา ชาวบ้านก็โอเค” 

“ตรงทางเข้ามหาวิทยาลัยที่มีป้ายใหญ่ๆ เมื่อก่อนตรงนั้นเป็นป่า เป็นทุ่งนา มีที่ดินของแม่ตรงนั้นด้วย แม่ก็บริจาคให้มหาวิทยาลัย 4 ไร่ ที่ดินของญาติแม่อีก 6 ไร่” นายกฯ แห่งบ้านท่าขอนยางใช้มือชี้ไปทางมหาวิทยาลัยเพื่อให้เรานึกภาพตามเธอ 

“พอมหาวิทยาลัยมาแล้ว ความเจริญก็ตามมาด้วย” 

ความเจริญเป็นหน้าตาของโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร การพัฒนาเมือง และการขยายทางเศรษฐกิจ จากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมเมือง คนเข้ามาอยู่มาก ทำให้มีแหล่งรายได้และสาธารณูปโภคที่สะดวกขึ้น ทว่าการก้าวขาเข้าสู่สิ่งใหม่ ย่อมหมายถึงการปล่อยบางอย่างออกจากมือเช่นกัน

“มีเด็กก็ต้องมีที่พักให้ แต่ชาวบ้านไม่มีกำลังที่จะสร้างหอพัก หลายคนก็ขายที่ให้กับคนข้างนอกที่เข้ามาลงทุน ที่ดินที่ขายส่วนใหญ่เป็นที่นา บางคนก็เลิกทำนาไปทำอย่างอื่น บางคนขายที่นา แต่ยังมีบ้านอยู่ในหมู่บ้าน บางคนเปิดร้านขายของ ซึ่งขายได้ตามกำลังที่มี ถ้าทุนไม่เยอะจะมาค้าขายใหญ่โตคงเป็นไปไม่ได้ ก็ขายอาหารเล็กๆ น้อยๆ” นายกฯ จุ๊บแจงกล่าว

“ถ้าลูกลองไปเดินดูร้านค้าต่างๆ จะเห็นว่าเป็นผู้ประกอบการจากที่อื่น ไม่ค่อยมีคนญ้อเป็นเจ้าของกิจการ ถ้ามีก็น้อยมาก ประมาณ 10%” คำตอบของนายกฯ จุ๊บแจงทำให้เรานึกถึงคาเฟ่รอบดึกด้านหลังมหาวิทยาลัยที่พนักงานบอกกับเราว่า เธอเพิ่งย้ายมาทำงานช่วยเพื่อนได้ไม่กี่เดือน ซึ่งเพื่อนของเธอก็เซ้งที่ต่อจากคนอื่นอีกที เช่นเดียวกับอดีตนิสิตของมหาวิทยาลัยหลายคนที่แบ่งปันข้อมูลกับเราว่า หากกลับมาเยือนสถาบันอีกครั้ง ทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วมากจนจำไม่ได้แล้วว่า ร้านที่เคยไปนั่งอยู่ตรงไหน

ตามข้อมูลประชากรท่าขอนยาง มีประชากรทั้งหมด 8,000 คน แต่มีประชากรแฝงถึง 20,000 คน จำนวนคนเท่านี้ ย่อมทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘การกลืนทางวัฒนธรรม’ ไปโดยปริยาย โดยเฉพาะอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์อย่าง ‘ภาษา’ และการทำกิจกรรมต่างๆ 

“ถามแม่ว่ากังวลไหมที่คนพูดญ้อน้อยลง แม่กังวลมากๆ” นายกฯ เล่าด้วยน้ำเสียงกังวล

มหาวิทยาลัยมหาสารคามพาชาวญ้อตามหารากเหง้า

ปี 2547 มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ลงพื้นที่ชุมชนท่าขอนยางเพื่อพูดคุยกับชาวบ้าน ในการสร้างความร่วมมือวิจัยข้อมูลภูมิหลังและรักษาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ภาษาชาวญ้อเอาไว้ โดยเริ่มตั้งแต่การประชุมหารือกับชาวบ้านเพื่อถามความเห็นต่อการทำงานประวัติศาสตร์ และเลือกตัวแทนชาวบ้านในการทำวิจัยร่วมกัน

งานศึกษานี้มีชื่อว่า การฟื้นฟูและอนุรักษ์ภาษา ตำนาน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการละเล่นพื้นบ้านญ้อ บ้านท่าขอนยาง โดยเริ่มตั้งแต่การประชุมหารือกับชาวบ้านเพื่อถามความเห็นต่อการทำงานประวัติศาสตร์ และเลือกตัวแทนชาวบ้านในการทำวิจัยร่วมกัน งานศึกษานี้มีชื่อว่า การฟื้นฟูและอนุรักษ์ภาษา ตำนาน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการละเล่นพื้นบ้านญ้อ บ้านท่าขอนยาง

“ตำนานในหมู่บ้านคือเรื่องที่เราได้ยินมาตั้งแต่เด็ก แต่เราไม่รู้ว่ารากเหง้าเรามาจากไหน รู้เพียงเรื่องเล่าว่าชาวไทญ้ออพยพมาจากทางฝั่งเวียงจันทน์ ที่บ้านคำเกิดคำม่วน ตอนนั้นอาจารย์บัญญัติ สาลี พาเราลงพื้นที่ไปดูแหล่งกำเนิดที่อพยพมาว่ามีจริงไหม เราจึงเป็นทีมวิจัยญ้อทีมแรกที่ได้ลงไปดู” ทองปัก สุบิน เป็นหนึ่งในผู้ร่วมวิจัยครั้งนี้

ทองปัก สุบิน“การทำวิจัยทำให้เรามั่นใจตามตำนานที่ว่า บ้านท่าขอนยางเคยมีเจ้าเมือง และได้เลี้ยงจระเข้ เรียกว่า ท้าวเฮา หรือท้าวทองแดงให้เป็นเพื่อนกับลูกเจ้าเมือง” ทองปักกล่าว

“เฮารู้สึกว่าบรรพบุรุษเฮาเก่งที่สุด ที่มาตั้งเมืองริมน้ำ ที่มีดินเจริญอุดมสมบูรณ์ขนาดนี้” การกลับไปหารากเหง้าทำให้น้ำเสียงเธอภาคภูมิใจต่อประวัติศาสตร์อัตลักษณ์ตัวเอง ทว่าแม่ทองปักก็พบด้วยว่า ‘ความเป็นญ้อดั้งเดิม’ นั้นไม่ได้ส่งต่อจากบรรพบุรุษและรากเหง้าของเธอมาที่ท่าขอนยางด้วย

“กลายเป็นว่าญ้อของเราถูกกลืนไปกับสภาพแวดล้อมอื่นๆ แล้ว เพราะคนลาว คนไทย แต่งงานเข้ามาในครอบครัวญ้อ ทำให้ลูกหลานไม่ได้ใช้คำบางอย่างของญ้อ เช่น เมื่อก่อนภาษาญ้อเดิมเรียก ‘ข้าวโพด’ ว่า ‘บักสาลี’ แต่ตอนนี้ญ้อเราเรียก บักข้าวโพด ข้าวคั่วที่ใช้ทำลาบ ญ้อเดิมเรียก ‘ข้าวใหม่’ แต่ตอนนี้เราเปลี่ยนมาใช้คำว่า ข้าวคั่ว ตามคนอีสานแล้ว” เธอกล่าว

งานวิจัยการฟื้นฟูและอนุรักษ์ภาษา ตำนาน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการละเล่นพื้นบ้านญ้อ บ้านท่าขอนยาง ระบุว่าสาเหตุที่ภาษาญ้อค่อยๆ เลือนหาย และคนญ้อเริ่มกลืนทางวัฒนธรรมร่วมกับสังคมอื่นๆ นั้น เกิดจากหลายส่วน หนึ่ง–ปัจจัยด้านสื่ออย่างอินเทอร์เน็ตและทีวี สอง–ปัจจัยด้านก่อตั้งมหาวิทยาลัย สาม–ปัจจัยจากคนภายนอกเข้ามาในชุมชน สี่–ปัจจัยจากค่านิยมภายนอก

“แม่กังวลว่าจะมีคนพูดภาษาญ้อน้อย แต่แม่ไม่ได้คิดว่าเกิดจากการเข้ามาของมหาวิทยาลัยขนาดนั้น เพราะเอาเข้าจริง มันเกี่ยวกับค่านิยมอื่นๆ ที่เกิดกับคนรุ่นใหม่ด้วย เช่น เด็กเล่นโทรศัพท์ เขาก็ใช้คำพูดตามที่เห็นในโซเชียล” นายกฯ จุ๊บแจงกล่าว ซึ่งตรงกับข้อสังเกตของผู้ช่วยศาสตราจารย์ดุจฉัตรที่ว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติในทางภาษาศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดุจฉัตร จิตบรรจง

“ภาษาเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เกิดทั้งจากปัจจัยภายใน คือตัวผู้พูดเอง เช่น สมมติเราไม่อยากหันลิ้นใน ร เลย ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าไม่ต้องมีแล้ว ภาษาก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไปตามกาลเวลา และอีกปัจจัยมาจากภายนอก คือสังคมอื่นๆ มีอิทธิพลต่อการใช้ภาษา การสัมผัสกับวัฒนธรรมอื่นๆ ก็ส่งผลทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลงไป”

“ภาษาญ้อเองก็เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ยิ่งช่วงประมาณ 10-20 ปีมานี้ที่คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทุกที่ แล้วสังคมเราเปลี่ยนจากสังคมที่มีไม่กี่ภาษา กลายเป็นมีหลายภาษาเข้ามา ตอนนี้ถึงเราอยู่ท่าขอนยาง เราก็ดูซีรีส์เกาหลี เรารู้ภาษาจีน คนจีนเดินเต็มไปหมดเลย”

ประกอบกับระบบโรงเรียนและการเรียนภาษาในไทยเองที่มีอิทธิพลต่อการส่งต่อภาษาญ้อของคนท่าขอนยาง นายกฯ จุ๊บแจงให้ข้อมูลว่า มีเด็กจำนวนมากในหมู่บ้านท่าขอนยางออกไปเรียนโรงเรียนในตัวเมืองมหาสารคาม เนื่องจากหมู่บ้านห่างจากอำเภอเมืองเพียง 6 กิโลเมตร เพียงแค่ข้ามแม่น้ำชีไปเท่านั้น คนในหมู่บ้านซึ่งส่วนใหญ่ทำอาชีพรับราชการ จึงส่งลูกไปเรียน ‘ในเมือง’ 

แน่นอนว่า สภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนรัฐที่สนับสนุนให้ใช้ภาษาไทยกลางเป็นภาษามาตรฐาน และการพบเจอกับเพื่อนที่เป็นคนอีสาน ย่อมทำให้ลูกหลานญ้อท่าขอนยางเลือกสนทนาภาษาที่คนส่วนใหญ่ในสังคมใช้งานมากกว่า

ในขณะเดียวกัน ตัวหมู่บ้านท่าขอนยางก็รายล้อมด้วยคนอีสานที่อาศัยในอำเภอกันทรวิชัย ในโมงยามที่พวกเขาจะติดต่อกับคนหมู่บ้านอื่น เขาก็ต้องใช้ภาษาอีสานหรือภาษากลาง เพราะคนอีสานอาจจะฟังญ้อไม่ออกเป็นบางคำ เราได้พูดคุยเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่ห้องพักในรีสอร์ตใกล้ๆ มหาวิทยาลัย เธอเป็นคนอีสานที่รู้จักกับคนญ้อ แต่ทุกครั้งที่พูดคุยกัน เธอต้องขอให้คนญ้อพูดช้าๆ หรือช่วยเปลี่ยนมาพูดภาษากลางหรือภาษาอีสานแทน

“คนคนหนึ่งเป็นคนที่รู้หลายภาษา แต่เมื่อเราใช้ไปเยอะๆ ภาษาเหล่านั้นก็เข้ามามีอิทธิพลต่อภาษาของเราด้วย เพราะฉะนั้น จากการพูดภาษาอื่นเพื่อติดต่อกัน หรือการไปโรงเรียน การต้องติดต่อกับราชการต่างๆ ทำให้คนญ้อรับภาษาอื่นๆ เข้ามา” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดุจฉัตรกล่าว 

“และอาจจะต้องยอมรับว่า การเข้ามาของมหาวิทยาลัยเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วด้วย ถ้าแถวนี้ยังไม่เป็นมหาวิทยาลัย เป็นหมู่บ้านอีสานธรรมดา การเปลี่ยนแปลงก็อาจจะมี แต่ไม่มากเท่ากับตอนนี้ การได้เห็นสิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งคาเฟ่ ร้านอาหาร หรือผู้คนจากข้างนอกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งทุกปีมีนักศึกษาเข้ามานับหมื่นๆ คน” 

ชาวญ้อรุ่นใหม่กับการรักษาความเป็นญ้อ

ศุภณัฐ จิตราช เติบโตมาในหมู่บ้านญ้อท่าขอนยางตั้งแต่เด็ก ตอนนี้เขาเป็นนักศึกษาปริญญาเอกบรรพชีวิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เขาเลือกเรียนสาขานี้เพราะความสนใจที่มีต่อการศึกษาอดีตผ่านชิ้นส่วนของสัตว์

“ตอนนี้ผมกำลังศึกษาอดีตผ่านสิ่งมีชีวิต คือ จระเข้ แต่ที่เลือกนี้ไม่ได้เกี่ยวกับที่หมู่บ้านมีตำนานเรื่องจระเข้นะครับ เป็นความบังเอิญ” เขาว่า ก่อนจะหัวเราะให้ตัวเอง

ครอบครัวของศุภณัฐสอนให้เขาพูดญ้อมาตั้งแต่เด็ก แต่วันที่เขาพบว่าภาษาตัวเองไม่เหมือนคนอื่นก็เมื่อต้องเข้าไปเรียนโรงเรียนในตัวเมืองของจังหวัด 

“เวลาเราพูดญ้อเพื่อนจะขำ แต่เขาก็ถามว่าพูดภาษาอะไร ครูเลยบอกกับเพื่อนๆ ว่า ภาษาที่เราใช้คือภาษาญ้อ ทำให้ทุกคนถึงรู้ว่า คนญ้อ เป็นอีกหนึ่งชาติพันธุ์ในมหาสารคาม ต่อจากนั้นเพื่อนก็เข้าใจ” หลังจากนั้นศุภณัฐไม่เคยโดนดูถูกที่พูดไม่เหมือนเพื่อน และเมื่อโตขึ้นเรื่อยๆ เขาก็เริ่มพูดภาษากลางและภาษาอีสานกับคนอื่นด้วย 

ศุภณัฐ จิตราช 

เขาไม่ได้รู้สึกว่าความเป็นญ้อหล่นหายไปไหน แม้เขาจะต้องพูดภาษาอื่นกับเพื่อน “เพราะกลับบ้านมาผมก็ยังพูดญ้อกับที่บ้านเหมือนเดิม” เขากล่าวก่อนจะบอกว่า แม้มหาวิทยาลัยจะทำให้มีคนนอกเข้ามามากมาย แต่นั่นคือข้อดีที่ทำให้โอกาสเข้าถึงคนในชุมชนบ้านท่าขอนยาง

“ผมคิดว่ามีมหาวิทยาลัยในพื้นที่ก็ดี อย่างผมไม่ได้มีทุนพอที่จะเรียนนอกพื้นที่ การมีมหาวิทยาลัยมาตั้งใกล้บ้าน ทำให้ผมมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา มันจึงสำคัญมากๆ ที่มีมหาวิทยาลัยมาตั้งใกล้ชุมชน”

“ผมคิดว่าต่อให้มีคนนอกมา แต่ผมก็ยังรู้ว่าตัวเองเป็นคนญ้อและพูดญ้อ”

แม้ศุภณัฐจะทำเช่นนั้น แต่ไม่ใช่ทุกบ้านจะทำคล้ายกัน นายกฯ จุ๊บแจงยอมรับว่า มีอีกหลายครอบครัวที่สอนให้ลูกพูดภาษากลางแทนภาษาญ้อ เนื่องจากง่ายต่อการติดต่อกับคนในสังคมมากกว่า 

“เมื่อก่อนมีการอนุรักษ์โดยคุณครูบรรหารเป็นแกนนำ สร้างชุมนุมภาษาญ้อในโรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เยอะมาก” นายกเทศมนตรีบ้านท่าขอนยางกล่าวถึง บรรหาร สุขี หนึ่งในแกนนำที่ร่วมในงานวิจัยการฟื้นฟูและอนุรักษ์ภาษา ตำนาน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการละเล่นพื้นบ้านญ้อ บ้านท่าขอนยาง ซึ่งผลจากการทำวิจัยครั้งนั้นทำให้เกิดแนวทางการอนุรักษ์ภาษาด้วยการจัดตั้งชุมนุมภาษาญ้อในโรงเรียน การจัดศาลาภาษาญ้อ หรือการฟื้นฟูการละเล่นของญ้อเพื่อให้อัตลักษณ์ยังคงอยู่

ศุจีนันนท์ บุตราช นายกเทศมนตรีตำบลท่าขอนยาง

“แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีแล้ว เพราะว่าคุณครูบรรหารเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว กิจกรรมหลายอย่างไม่ค่อยได้ทำกัน แต่ว่าแม่พยายามทำให้เกิดการพูดคุยภาษาญ้อผ่านการสนับสนุนให้ทุกบ้านสอนลูกให้พูดญ้อ ไม่ว่าเราจะออกไปพูดภาษาอะไรข้างนอก แต่กลับบ้านมาเราจะพูดญ้อกับครอบครัว”

“อีกอย่างคือ เราสร้างโรงเรียนผู้สูงอายุให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์วัฒนธรรมและภาษาของเราไปด้วย แม่ๆ พ่อๆ ที่เข้ามาเรียนจะพูดภาษาญ้อ เราให้ตรงนี้เป็นหลักเอาไว้เพื่อให้ภาษาญ้อยังคงอยู่ในชุมชน” การก่อตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุเกิดขึ้นในปีเดียวกับที่เกิดโครงการฟื้นฟูอนุรักษ์ภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งมีการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางด้านวัฒนธรรมของชาติ โดยภาษาญ้อ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ 2557 

“เป็นความจำเป็นของนักภาษาศาสตร์ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟู เราอยากให้ภาษายังอยู่ ความหลากหลายทางด้านภาษาเป็นสิ่งที่งดงาม แต่เราเห็นว่าบางภาษาเหลือใช้อยู่ 1,000 หรือ 2,000 คน ในอนาคตหายไปแน่ๆ จะทำอย่างไร การขึ้นทะเบียนจึงช่วยส่งเสริมให้เขารู้สึกภาคภูมิใจในภาษาของตัวเอง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดุจฉัตรให้ข้อมูล

“แต่เมื่อเกิดความภูมิใจและพวกเขาทำอะไรต่อ สิ่งต่อไปคือต้องเกิดกระบวนการอนุรักษ์ หลักการคือทำให้เจ้าของภาษาเห็นความสำคัญ ต้องมีการทำกิจกรรมให้ความรู้ชี้ให้เห็นว่าภาษาของเขามีความโดดเด่นและสำคัญ” อาจารย์จากภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออกยังเน้นย้ำว่า การอนุรักษ์ไม่ได้เป็นงานทางวิชาการเท่านั้น แต่ชาวบ้านหรือผู้พูดภาษานั้นๆ ต้องทำงานร่วมกันด้วย เพื่อไม่ให้เป็นเพียงความเห็นของนักวิชาการเท่านั้น ซึ่งอาจส่งผลต่ออิทธิพลในการใช้ภาษาของชุมชนได้

“แต่อาจารย์เข้าใจว่า ในชุมชนอีสานจะมีคนที่อยู่ในหมู่บ้านคือ เด็กมากๆ กับคนแก่ไปเลย คนวัยตรงกลางต้องออกไปทำงานข้างนอก หรือเขาไม่มีเวลามากพอในการทำงานด้านอื่นๆ เขาก็จะไม่สามารถแบ่งเวลาและพลังมาทำงานตรงนี้ได้ เพียงแค่ทำมาหากินก็เหนื่อยแล้ว”

“อีกอย่าง ต้องยอมรับว่าแนวการศึกษาในไทยปัจจุบันให้ความสำคัญกับภาษาต่างประเทศ แต่เราอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาษาท้องถิ่นมากนัก ถ้าโรงเรียนมีภาษาถิ่นของตัวเองแล้วได้ทำหลักสูตรสอนภาษาท้องถิ่นด้วยก็จะทำให้เกิดความสำคัญ ดังนั้น การอนุรักษ์ต้องไปทั้งระบบของผู้สนับสนุนและผู้ใช้ภาษาด้วย”

จริงอยู่ที่วันหนึ่งภาษาต้องเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของพลวัตโลก และคนพูดสามารถเลือกได้ว่าพวกเขาต้องการสร้างบทสนทนาด้วยภาษาแบบไหน

แต่สิ่งที่ลืมไม่ได้คือ ภาษาไม่ได้เป็นแค่การพูด เพราะมันสื่อสารถึงตัวตนของคนพูดเช่นกัน การเปิดกว้าง รับฟังภาษาพวกเขาด้วยหัวใจ จึงเท่ากับการมองเห็น ‘ตัวตน’ ของพวกเขาไม่ต่างกัน

“มีหลายคนที่ไม่รู้ว่ามีภาษาญ้อในอีสาน แต่ทุกคนรู้แล้วว่าสำเนียงอุบลเป็นยังไง สำเนียงศรีสะเกษเป็นยังไง หรือสุรินทร์เป็นยังไง ผมอยากให้ในประเทศไทยรู้จักพวกเราเหมือนกัน” สธ.อานันท์บอกความในใจ หลังจากถูกถามว่า เขาอยากให้คนจดจำความเป็นญ้อในแบบไหน

“เวลาเราพูดด้วยสำเนียงเรา แล้วคนมองเห็นว่าพวกเราคือคนญ้อท่าขอนยาง สิ่งนี้จะเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราครับ”

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
กองบรรณาธิการ