Humberger Menu

ตระกูลการเมืองเก่า ส่งทายาทสู่เส้นทางอำนาจเดิม

เมื่อการเมืองไม่ใช่แค่เรื่อง ตัวบุคคลแต่เป็นครอบครัว ส่องทายาทการเมืองไทย ครม. แพทองธาร 1

ในที่สุดเราก็ได้ชมโฉมหน้าทีมงานที่จะมาช่วยนายกรัฐมนตรีหญิง แพทองธาร ชินวัตร บริหารประเทศ แม้จะมีรัฐมนตรีถึง 23 คนจาก 35 คนที่เป็นหน้าเดิมจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดของ เศรษฐา ทวีสิน แต่ทีมของนายกฯ หญิงจะคัดรายชื่อที่รัดกุมมากขึ้น ทำให้รัฐมนตรีหลายคนที่มีความเสี่ยงว่าอาจบกพร่องเรื่องคุณสมบัติ จนถึงขั้นทำให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เหมือนกรณีของ เศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องพ้นตำแหน่งนายกฯ เพราะไม่ตรวจสอบประวัติครม.ก่อนที่จะลงนามทูลเกล้า รัฐมนตรีหน้าเก่าบางคนจึงเลือกส่งคนในครอบครัวเข้าดำรงตำแหน่งใน ครม. แทน 

การส่งคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวลงแทน สาเหตุหนึ่งคือการใช้โควตาในสัดส่วนของพรรคตัวเอง ตามข้อตกลงต่างๆ ที่ได้พูดคุยเจรจากันไว้ตามเงื่อนไขของพรรคร่วมรัฐบาล และเป็นการส่งต่ออำนาจ เปิดทางให้คนหน้าใหม่ในสายตระกูลเข้ามาเป็นทายาททางการเมืองที่ได้กรุยทางไว้ก่อนแล้ว

ครม. ชุดใหม่จึงถูกวิจารณ์ด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า เป็น ‘ครม.สืบสันดาน’ ตามชื่อซีรีส์ดัง ทั้งที่จริงแล้ว การเมืองระบบสายตระกูลไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในวงการเมืองไทย แต่เกิดขึ้นเป็นปกติมานาน และเป็นเรื่องธรรมดาของการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประเทศมักถูกขับเคลื่อนด้วยอิทธิพลของตระกูลการเมือง จากรุ่นปู่ สู่รุ่นพ่อ รุ่นลูก เช่น‘ตระกูลฮุน’ ของกัมพูชา เป็นต้น ไทยรัฐพลัสพาสำรวจ ครม. แพทองธาร ใครทายาทใครบ้าง 

ครม. 1 แพทองธาร ใครทายาทใคร

เริ่มจาก นายกฯ หญิงของเรา แพทองธาร ชินวัตร อย่างที่รู้กันว่า คือทายาทสายเลือดตรงของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คนแรกของตระกูลชินวัตร แต่ชีวิตการเมืองของเขาหลังนั่งนายกฯ ก็ต้องประสบกับเรื่องราวมากมายจนต้องหนีคดีออกนอกประเทศ

ทักษิณ ชินวัตร

ทำให้นายกฯตระกูลชินวัตรรุ่น 2 ได้กำเนิดขึ้น คือน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เจริญรอยตามในเส้นทางนายกฯ โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจเดิมที่สนับสนุนทักษิณ แต่ก็ลงเอยด้วยการหนีคดีออกนอกประเทศเช่นเดียวกัน

แพทองธาร ชินวัตร

มาในปี 2566 ที่มีการเลือกตั้ง แพทองธารมาเริ่มเดินเส้นทางเดียวกัน ในการลงสนามการเมือง ตั้งเป้าชนะแลนด์สไลด์ โดยเชื่อกันว่า ชัยชนะของเพื่อไทยจะนำไปสู่การสร้างดีลพาทักษิณกลับบ้าน ซึ่งสุดท้ายในช่วงเวลาที่แพทองธารได้รับตำแหน่งนายกฯ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับทักษิณ ชินวัตร กลับไทยและพ้นจากคดีต่างๆ ที่มีโทษจำคุกแล้ว

จิราพร สินธุไพร

จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สส.น้ำ ขวัญใจวัยรุ่นหลายคน ลูกสาวของ นิสิต สินธุไพร อดีต สส. ร้อยเอ็ด อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน และอดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) 

นิสิต สินธุไพร เป็นผู้เสนอ ‘โครงการอาจสามารถโมเดล’ ที่นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ใช้เป็นฉากหลังการทำเรียลลิตี้แก้จน ซึ่งการลงพื้นที่แก้จนครั้งนั้น ทักษิณทำให้การลงพื้นที่เป็นเรียลลิตี้ โดยถ่ายทอดสด 24 ชั่วโมง ตลอดการลงพื้นที่ 5 วัน 5 คืน ใช้ชีวิต กินนอนร่วมกับชาวบ้าน ผ่านช่อง UBC 16 ของ บริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แม้สุดท้ายโครงการดังกล่าวต้องถูกพับไปพร้อมกับการรัฐประหาร 2549 

ทั้งนี้ นิสิต สินธุไพร เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี จากคดียุบพรรคพลังประชาชน หลังพ้นการถูกตัดสิทธิก็ได้มาสังกัดพรรคเพื่อไทย  

กระทั่งการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 จิราพร ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรก และชนะการเลือกตั้ง สส.ร้อยเอ็ด และในการเลือกตั้ง 2566 ชญาภา สินธุไพร และ จิราพร สินธุไพร ลูกทั้งสองคน ชนะเลือกตั้งได้เป็น สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทยทั้ง 2 คน 

สรวงศ์ เทียนทองสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ลูก เสนาะ เทียนทอง หรือ ป๋าเหนาะ ที่เคยสังกัดพรรคไทยรักไทย เจ้าพ่อคอนเนกชันทางการเมือง มือปั้นนายกฯ ที่ผลักดันให้ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่คณะรัฐมนตรีของทักษิณเวลานั้น ไม่ปรากฏชื่อเสนาะ แต่ปรากฏชื่อ อุไรวรรณ เทียนทอง ภรรยา นั่งเก้าอี้ รมว.แรงงานแทน   

มาในยุค ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ป๋าเหนาะก็ยังคงสนับสนุนจนทำให้ได้เป็นนายกฯ และส่งหลาน ฐานิสร์ เทียนทอง นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แม้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ตระกูลทักษิณได้เป็นนายก

ตรีนุช เทียนทอง

รัฐมนตรี ตระกูลเทียนทองก็ยังคงมีชื่ออยู่ใน ครม. เช่น ในยุคของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลานสาวอย่าง ตรีนุช เทียนทอง นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้สังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และขณะนี้ก็ยังคงมีรายชื่อเป็นรองหัวหน้าพรรค พปชร.  

ในปัจจุบัน รุ่นลูกอย่าง สรวงศ์ เทียนทอง ได้เดินเส้นทางเดียวกันในการผลักดันตระกูลชินวัตรให้ได้เป็นนายกฯ และได้ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี 

ชวรัตน์ ชาญวีรกูล และอนุทิน ชาญวีรกูล

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นลูกชายของ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีต รมว.มหาดไทย ในรัฐบาลของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรมว.สาธารณสุข ในรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ด้วย

ทั้งนี้ ตอนที่อนุทินยังได้ตำแหน่งรมว.มหาดไทย ในรัฐบาลเศรษฐา ได้เคยโพสต์รูปคู่กับพ่อพร้อมแคปชั่นว่า “Senior and Junior” หรือรุ่นพี่และรุ่นน้อง ซึ่งเส้นทางการเหมือนของอนุทินนั้นก็เหมือนกับชวรัตน์ที่ก็เคยดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ทั้งยังเคยเป็น รมว.สาธารณสุข ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช 

ซาบีดา ไทยเศรษฐ์

ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลูก ชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้ประกาศชัดเจนว่าส่งรายชื่อของลูกสาวนั่งในตำแหน่งเดิมของตัวเอง ซึ่งในยุคของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น ชาดา ไทยเศรษฐ์ ก็ไม่ได้มีชื่อใน ครม. เช่นกัน แต่มีชื่อของ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ น้องของชาดา นั่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

เพิ่มพูน ชิดชอบ

พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ น้อง เนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัย ทักษิณ ชินวัตร โดยตระกูลชิดชอบก่อนหน้านี้เราจะไม่ได้เห็นชื่อของพลตำรวจเอกเพิ่มพูนมากนักในเส้นทางการเมือง แต่จะได้ยินชื่อ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว.คมนาคม สมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา น้องอีกคนของเนวิน ผู้มีบารมีแห่งพรรคภูมิใจไทย 

เนวิน ชิดชอบ

ปัจจุบัน ศักดิ์สยามถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคดีซุกหุ้น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ทำให้เราได้เห็นรายชื่อ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ ใน ครม. แทน

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์  และอัครา พรหมเผ่า

อัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น้อง ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งร้อยเอกธรรมนัส ประกาศแยกทางทางการเมืองกับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา และย้ายไปสนับสนุนพรรคเพื่อไทย โดยเราจะได้เห็นภาพกลุ่มธรรมนัสย้ายนั่งโซนของพรรคเพื่อไทยตอนประชุมสภา 

ธรรมนัส พรหมเผ่า

ทั้งนี้ การยื่นรายชื่อน้องให้นั่งแทนของธรรมนัสนั้น อาจเกี่ยวพันกับข้อกฎหมายในเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรี โดยธรรมนัสเองเคยถูก สส. ฝ่ายค้าน ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในยุคพลเอกประยุทธ์ ให้ตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี เนื่องจากเคยต้องโทษจำคุกคดียาเสพติดตามคำพิพากษาของศาลออสเตรเลีย แต่ในครั้งนั้นศาลได้ยกคำร้องไป เพราะไม่ก้าวก่ายอธิปไตยทางกฎหมายของต่างประเทศ 

สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล

สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ลูก วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล กำนันป้อ บ้านใหญ่โคราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในยุค พลเอกประยุทธ์ ในตอนที่เขาได้รับตำแหน่งก็เคยมีการกล่าวถึง คดีรุกที่ดินในเขต ส.ป.ก. 1,200 ไร่ ที่ศาลตัดสินว่ามีความผิด อาจทำให้เขาไม่ได้ตำแหน่งในครม.ได้ แต่ในเวลานั้นเขาก็สามารถนั่งจนถึงการยุบสภา แต่หลังจากหลังย้ายค่ายจากพรรคภูมิใจไทย มาพรรคเพื่อไทย สุดาวรรณ ลูก วีรศักดิ์ได้ติดชื่อเป็นคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ยุคของ เศรษฐา ทวีสิน จนมาถึงแพทองธาร 

อย่างไรก็ตามแม้คณะรัฐมนตรีหลายคนในยุคแพทองธารนั้นเป็นการสืบสายเครือญาติกันมาในการรับตำแหน่งครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็น รุ่นลูกรุ่นหลาน ทำให้การเมืองไทยแม้จะมาจากกลุ่มอำนาจเดิมแต่การเมืองอาจจะไม่เหมือนเดิม เพราะบริหารผ่านคนรุ่นใหม่  

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
กองบรรณาธิการ