Humberger Menu

จัดการภัยพิบัติ เชิงรุก

เชื่อว่าหลายคนน่าจะประทับใจคลิปที่รถใหญ่พากันชะลอความเร็วแล้วช่วยบังลมที่กระโชกแรงให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์บนทางด่วนในเวียดนาม รวมถึงรับรู้ถึงความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดจากพายุยางิ 

แต่ก็น่าแปลกใจ ที่แม้เราจะมีหน่วยงานกลางในการรับมือภัยพิบัติอย่าง ‘กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย’ (ปภ.) รวมถึง ‘ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ’ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยแล้วก็ตาม แต่การรับมือกับภัยน้ำท่วมฉับพลันครั้งนี้อาจไม่ใกล้เคียงกับสโลแกน ‘ปภ. 4.0’ ทว่าดูเหมือนย้อนกลับไปในยุคที่ ปภ. นิยามว่าเป็นการรับมือภัยพิบัติเชิงรับหรือก่อนปี 2545 เสียอีก

ทำอย่างไรประเทศไทยจะบริหารจัดการภัยพิบัติเชิงรุก งบประมาณและสัดส่วนในการใช้งบประมาณเพื่อรับมือภัยพิบัติเป็นอย่างไร ระบบเตือนภัยฉุกเฉินมีส่วนแค่ไหน และเมื่อไรเราจะเข้าใกล้การเตรียมความพร้อมทุกภาคส่วนเพื่อให้การช่วยเหลือด่วนเป็นไปได้จริง หลีกเลี่ยงสิ่งที่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่เชียงรายต้องเผชิญอย่างการหิ้วท้องรอความช่วยเหลือบนหลังคาชั้นสองนานสองวัน รวมถึงสามารถอพยพผู้ป่วยติดเตียงและผู้ประสบภัยออกมาได้อย่างทันท่วงที

ระบบเตือนภัยพิบัติฉุกเฉิน และบทบาทของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

ประเทศไทยมีหน่วยงานเพื่อรับมือภัยพิบัติ แต่มักถูกตั้งคำถามว่า สามารถส่งคำเตือนถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า และระบบเตือนภัยที่มีหลายระบบทำงานเชื่อมประสานกันหรือไม่

หลังจากกรณีน้ำท่วมแม่สาย มีผู้เรียกร้องให้มีระบบเตือนภัยยามเกิดเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert System) โดยเร็วที่สุด โดยเมื่อปีที่แล้วกระแสเรียกร้องเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างมากหลังเหตุกราดยิงในห้างสยามพารากอน 

ประเทศไทยมีแผนจะให้บริการระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์มือถือในชื่อ ‘Thai Alert’ ด้วยระบบเซลล์ บรอดแคสต์ (Cell Broadcast) ช่วงต้นปีหน้า 

ในปี 2567 นี้ รัฐบาลได้พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติบนแอปพลิเคชันไลน์ (Line Alert) และประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา แม้อาจยังไม่ครอบคลุมมากพอที่จะป้องกันเหตุได้อย่างเต็มที่ แต่นับเป็นการแสดงความตั้งใจในการปรับปรุงเรื่องนี้ 

17 กันยายน ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ยืนยันว่า ขณะนี้ไม่มีปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ในพื้นที่น้ำท่วมแล้ว และได้แนะนำแพลตฟอร์ม Help T (ช่วยด้วยน้ำท่วม) ที่ให้องค์กรท้องถิ่นแจ้งเตือนภัย โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรมอุตุนิยมวิทยา บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติจำกัด (มหาชน) และ กสทช. ผ่านไลน์ในชื่อ @HelpT

หนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จในการจัดการความเสี่ยงสาธารณภัยของประเทศคือ เพิ่มขีดความสามารถระบบเตือนภัย โดยจัดหาเทคโนโลยี เครื่องมือ อุปกรณ์ และประชาชนสามารถเข้าถึงการแจ้งเตือนภัยและข้อมูลความเสี่ยงสาธารณภัย ซึ่งระบุไว้ในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2570

ขณะที่หน่วยงานเจ้าภาพในการรับมือภัยพิบัติอย่าง ปภ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังภัยน้ำท่วมฉับพลันมาตั้งแต่ 5 กันยายน หรือก่อนที่ไต้ฝุ่นยางิจะพัดถล่มกรุงฮานอยของเวียดนาม 2 วัน โดยระบุว่าระหว่างวันที่ 5-9 กันยายน มี 64 จังหวัดในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และใต้ ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ พร้อมด้วยแผนที่ประเทศไทยระบุพื้นที่เสี่ยงด้วยสีฟ้าสดใส

เหตุผลหนึ่งที่การเตือนภัยนี้ไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควรอาจมาจากปัญหาด้านการสื่อสาร เนื่องจากประชาชนในพื้นที่คุ้นชินกับน้ำท่วมและน้ำท่วมฉับพลันอยู่แล้ว การเตือนภัยแบบเหมารวมเกินไปเช่นนี้ อาจทำให้ผู้รับสารนิ่งนอนใจ และมองว่าไม่น่าจะหนักหน่วงกว่าที่เคยประสบมา

นอกจากนี้ ปภ. ยังมีแอปพลิเคชันแจ้งเตือนภัย Thai Disaster Alert ในทุกระบบปฏิบัติการ และส่งสัญญาณเตอนอัตโนมัติตามพื้นที่ที่เลือกไว้ (เลือกได้ 3 พื้นที่) โดยสามารถทำการแจ้งเตือนสาธารณภัยร้ายแรง เช่น อุทกภัย แผ่นดินไหว สึนามิ เป็นต้น หากพื้นที่ไหนมีความเสี่ยง จะแสดงแถบสีในพื้นที่จังหวัดนั้น 

กรมทรัพยากรน้ำก็มีระบบเตือนภัยล่วงหน้ากรณีน้ำหลากและดินถล่มในเว็บไซต์ โดยปรากฏแผนที่ประเทศไทยพร้อมระบุระดับสถานการณ์เตือนภัย 4 ระดับ วัดจากปริมาณน้ำฝนสะสม 12 ชั่วโมง และปริมาณน้ำฝนราย 15 นาที

ระบบเตือนภัยล่วงหน้า น้ำหลาก-ดินถล่ม
Early Warning System

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

อีกเหตุผลที่น่ารับฟังคือ การที่ ‘ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ’ ถูกลดบทบาทลง จากเดิมในยุคก่อตั้งเมื่อปี 2548 หลังเหตุการณ์สึนามิ (ธันวาคม 2547)

  • ปี 2548 ศูนย์เตือนภัยฯ เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
  • ปี 2550 เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี ภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  •  ปี 2552 เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีการปรับโครงสร้าง แบ่งเป็น 4 กลุ่มงาน 1 ศูนย์ และ 1 ฝ่าย
  • ปี 2559 โอนย้ายมาเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย

หากประชาชนเข้าถึงการเตือนภัยเร็วและมีประสิทธิภาพเท่าไร ย่อมส่งผลให้การเยียวยาและบรรเทาทุกข์ซึ่งเป็นปลายเหตุลดลงได้มากเท่านั้น

แต่ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่การเตือนภัยได้ทันท่วงทีเพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นแล้ว ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงกลับล้มเหลวในการให้ความช่วยเหลือประชาชน และต้องหันหน้ามาพึ่งพาประชาชนด้วยกันเอง 

เราทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม?

ย้อนกลับไปในช่วงวันที่เชียงรายฝนตกหนักต่อเนื่องจนเกิดน้ำท่วมฉับพลันเมื่อ 9-10 กันยายน ตรงกับวันที่อธิบดี ปภ. เข้าเยี่ยมคารวะ อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.กระทรวงมหาดไทย ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งวันแรก 

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) วันที่ 15 กันยายน 2567

ย้อนไปเมื่อ 6 กันยายน เพจเฟซบุ๊ก ปภ. ระบุว่า 

“ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดี ปภ. เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในห้วงปัจจุบัน พร้อมประสานการปฏิบัติในการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในห้วงต่อไป ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึง และลดผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 12 หน่วยงาน รวมถึงผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัดร่วมประชุมฯ ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Webex)”

หมายความว่า มีการประชุมเตรียมความพร้อมรับมือล่วงหน้าแล้ว แต่ไม่สามารถจัดการอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ อุปสรรคอยู่ตรงไหน การรอคำสั่งจากส่วนกลางในระดับรัฐมนตรี ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีคำสั่ง top-down หรือการเปิดศูนย์ ศปภ. ช่วยเหลือน้ำท่วมรวมถึงวอร์รูมรับมือน้ำท่วมในวันที่ 16 กันยายน เป็นการตอบสนองที่ทันสถานการณ์มากน้อยเพียงใด

รับมือน้ำท่วมเชียงราย

9 กันยายน

ความเสียหายจากไต้ฝุ่นยางิที่เวียดนาม

พายุไต้ฝุ่นยางิคร่าชีวิตผู้คนไป 59 คน และสร้างความเสียหายใหญ่หลวงในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และจีน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 35 คนในเวียดนาม 20 คนในฟิลิปปินส์ และ 4 คนในจีน เนื่องจากดินถล่ม น้ำท่วม และผลกระทบอื่นๆ จากพายุนี้

10 กันยายน

น้ำเริ่มท่วมเชียงราย

ช่วงเที่ยง ปภ.เชียงราย รายงานกรณีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ 9 – 10 กันยายน ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้นในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สาย และเชียงของ จากนั้น 15.00 น. ปภ.เชียงราย อัปเดตสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย รวม 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน

สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ ประเทศไทย รายงานข้อมูลเวลา 23.02 น. สถานการณ์น้ำท่วมน้ำหลาก พื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่ยังไม่สามารถเข้าไปได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่สีแดง (มวลน้ำเยอะ ไหลเชี่ยว มีความลึก) ได้แก่ สายลมจอย หัวฝาย ไม้ลุงขน ผามควาย เกาะทราย เหมืองแดง เหมืองแดงใต้ เพชรยนต์

11 กันยายน

ปภ. ประชุมรับมือน้ำท่วม

เป็นวันที่นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันเดียวกัน 15.30 น. มีการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยมี มท.1 เป็นประธาน เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ประสบอุทกภัย และช่วงสามทุ่มคืนนั้น ศูนย์ ปภ. เชียงราย นำรถปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ชุมชนบ้านน้ำรัดตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย อย่างต่อเนื่อง 

12 กันยายน

ส่ง ฮ. KA-32 ช่วยผู้ประสบภัย

มีประชุมด่วน กอปภ.ก. โดยช่วงสาย ปภ. ส่งเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 และทีมกู้ภัย The Guardian Team เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดเชียงราย โดยทำภารกิจลำเลียงอาหาร-น้ำดื่ม ส่งช่วยครูและนักเรียน 140 ชีวิต ที่โรงเรียนสามัคคีพัฒนา บ้านม้งเก้าหลัง อำเภอแม่ฟ้าหลวง น้ำไฟ-ตัดขาดสัญญาณ บ้านพักครูถูกดินสไลด์ทับ มีดินสไลด์ปิดถนน เสาไฟฟ้า-ต้นไม้หัก

ต่อมา KA-32 รับภารกิจด่วน วางแผนขึ้นบินช่วยเหลือผู้สูงอายุติดอยู่ในที่อยู่อาศัยบ้านชั้นเดียว หมู่ 10 บ้านไม้ลุงขน ตำบลแม่สาย จำนวน 3 ราย เป็นผู้ป่วยติดเตียง 1 ราย ตั้งแต่คืนวันที่ 10 กันยายน 

ช่วงค่ำ รถสะเทินน้ำสะเทินบกของกองทัพเดินทางถึงแม่สาย

นอกจากคำถามที่เกิดขึ้นว่า สาเหตุที่ประเทศไทยมีจิตอาสา อาสาสมัคร และภาคเอกชนที่ร่วมมือร่วมใจกันและเข้มแข็งมากขนาดนี้มาจากอะไร อีกประเด็นที่หลายคนยังคงสงสัย นั่นคือหน่วยงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติโดยตรงอย่างกองทัพ กลับมีบทบาทโดดเด่นและชัดเจนกว่า เช่น กรณีที่ส่งรถสะเทินน้ำสะเทินบกช่วยเหลือประชาชนที่ติดค้างอยู่ในบ้านพัก หรือศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ ที่ส่งเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ รวมถึงกำลังพล รถยกสูง เครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่ ตลอดจนถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค และสิ่งของจำเป็นที่กองทัพอากาศได้รับบริจาคจากประชาชน ไปส่งมอบแก่ผู้ประสบภัย

หรือจะมีปัญหาเรื่องงบ?

เวลาเกิดเหตุภัยพิบัติแทบทุกครั้ง ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมต้องมีการระดมอาสาสมัคร จิตอาสา รวมถึงเอกชนเปิดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ประเทศไทยเราไม่เตรียมงบให้เพียงพอรับมือเรื่องนี้หรือ ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาซ้ำซากที่ประชาชนต้องประสบอยู่บ่อยครั้ง

เมื่อได้เห็นตัวเลข เราอาจตกใจที่ใช้งบประมาณไปกว่า 53,000 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว เพื่อแก้ปัญหาซ้ำซากอย่างน้ำท่วม (จากงบประมาณปี 2566 ทั้งหมด 3.185 ล้านล้านบาท ประกาศใช้เมื่อ 1 ตุลาคม 2565 ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) โดย Rocket Media Lab คำนวณจากงบประมาณรายโครงการของ 77 จังหวัด แบ่งลักษณะงานออกเป็น 5 ประเภทเพื่อหาคำตอบว่างบแก้ปัญหาน้ำท่วมถูกใช้ทำอะไรบ้าง

ใช้งบน้ำท่วมไปกับอะไร?

จะเห็นได้ว่างบแก้น้ำท่วมถูกนำไปใช้กับโครงการก่อสร้างมากที่สุด

ก่อสร้างอะไรบ้าง?

เมื่อแบ่งกิจกรรมเกี่ยวกับน้ำท่วมเป็นประเภทต่างๆ พบว่าเป็นงบก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งมากที่สุด 19,821 ล้านบาท คิดเป็น 37.13 เปอร์เซ็นต์ของงบน้ำท่วมทั้งหมด

กระทรวงไหนได้งบน้ำท่วมมากที่สุด?

จากงบประมาณที่จำแนกรายกระทรวงพบว่า กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับงบประมาณแก้ปัญหาน้ำท่วมรวมกัน 86.1 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด ขณะที่งบอีกส่วนหนึ่งกระจายให้กับหน่วยงานระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันแล้วน้อยกว่างบประมาณจากส่วนกลาง 10 เท่า

อีกจุดน่าสังเกตคือ กระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบกองทัพ ได้รับงบประมาณเกี่ยวกับน้ำท่วมสูงกว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการขุดลอกลำน้ำในพื้นที่ต่างๆ ทั้งหมดอยู่ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ มี 37 จังหวัดที่ได้รับงบจัดการน้ำท่วมจากกระทรวงกลาโหม

ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาระบบติดตามข้อมูลหรือรวบรวมข้อมูล ทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับผิดชอบสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับงบประมาณน้อยกว่ามาก

จากข้อมูลงบน้ำท่วมปีงบประมาณ 2566 สะท้อนให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ เป็นหลัก โดยเฉพาะเขื่อนป้องกันตลิ่งที่กระจายอยู่ตามแม่น้ำสาขาทั่วประเทศ และแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านหลายจังหวัด

มีข้อสังเกตว่างบสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งนี้เพิ่มขึ้นจากงบประมาณศึกษาการก่อสร้างของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่ปี 2554 - 2564 จากเดิม 5,900 ล้านบาท เป็น 19,821 ล้านบาท โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับงบประมาณหลัก ขณะที่กระทรวงคมนาคมมีสัดส่วน 2.36 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะเดียวกันพบว่างบประมาณบำรุงรักษาระบบเตือนภัยต่างๆ มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณด้านอื่นๆ 

นอกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว การแก้ปัญหาน้ำท่วมยังมีงบประมาณรายจ่าย ‘งบกลาง’ ที่จัดสรรเพิ่มเติมจากงบประมาณของหน่วยงานรับงบประมาณ เป็นรายการสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ผ่านการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีปีงบประมาณ 2560 – 2566

สำหรับปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลอนุมัติงบกลางกรณีอุทกภัยมาแล้ว 3 ครั้ง คือวันที่ 25 มิถุนายน 13 สิงหาคม และ 3 กันยายน รวม 22,967.75 ล้านบาท มีทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ในฤดูฝนและกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง ซ่อมแซมอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหาย และฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

ล่าสุดเมื่อ 13 กันยายน แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ได้มีการจัดเตรียมงบกลาง ซึ่งจะนำมาช่วยประชาชนได้ทันที รวมทั้งการเยียวยาขอให้ทำทันที ไม่ต้องรอสถานการณ์คลี่คลาย เพื่อเร่งบรรเทาความเดือดร้อน

นอกจากงบกลางแก้น้ำท่วมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีแล้ว งบประมาณบางส่วนยังเป็นงบประเภทเดียวกับงบประมาณประจำปีด้วย ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างและปรับปรุงแหล่งเก็บน้ำ การปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ รวมถึงการขุดลอกแหล่งน้ำ ซึ่งมีงบประมาณรวมกันเกือบ 16,695 ล้านบาท

ฮ. กู้ภัย จำเป็นแค่ไหน?

จากบทบาทของเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่มีปฏิบัติการทั้งในภารกิจดับไฟป่าภาคเหนือ รวมถึงช่วยอพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วมเชียงรายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญจึงเสนอว่า ปภ. ควรเพิ่มจำนวนเฮลิคอปเตอร์ KA-32 จากเดิมที่มี 4 ลำ และเพิ่งได้รับงบประมาณเพื่อจัดหาอีก 2 ลำในปีงบประมาณ 2568

ปลายปี 2560 มีการยกเลิกประกาศประกวดราคาเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวจำนวน 2 ลำ โดย ปภ. ให้เหตุผลว่า มีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว และเสนอราคาเกินวงเงินงบประมาณ โดยเอกชนได้เสนอราคามาถึง 1,862 ล้านบาท ขณะที่ราคากลางกำหนดไว้ที่ 1,700 ล้านบาท

ข้อมูลจาก aircraftcompare.com เว็บไซต์เปรียบเทียบข้อมูลอากาศยานทั้งพลเรือนและทหาร พบว่า เฮลิคอปเตอร์รุ่น KA-32 มีราคาอยู่ที่ 6.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อลำ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 213 ล้านบาท (ข้อมูลปี 2560) ดังนั้นราคาจัดซื้อ 2 ลำจะอยู่ที่ 426 ล้านบาท ไม่รวมแพคเกจการดูแลรักษา

เฮลิคอปเตอร์ KA-32

ส่วน thaiarmforce.com เปรียบเทียบราคาเฮลิคอปเตอร์กู้ภัยกับเฮลิคอปเตอร์วีไอพี 2 ลำ ราคา 3,300 ล้านบาท ที่มีแผนจะจัดซื้อในปี 2568 โดยราคาดังกล่าวสามารถเปลี่ยนเป็นเฮลิคอปเตอร์กู้ภัยได้อย่างน้อย 3 ลำ และระบุว่าตอนนี้ไทยมี ฮ.วีไอพี มากกว่า ฮ.กู้ภัย เกือบ 1 เท่า

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กองทัพอากาศได้จัดหาเฮลิคอปเตอร์วีไอพีมาแล้ว 5 ลำ และยังมีสภาพใหม่อยู่มาก ไม่นับ S-92 ที่อายุการใช้งานราว 10 กว่าปีอีก 5 ลำ ซึ่งไม่แน่ชัดว่ามีภารกิจและความจำเป็นใดจึงต้องมีการจัดหาเพิ่มอีก 2 ลำ

มีรายงานว่าในที่ประชุมกรรมาธิการงบประมาณฯ ปี 68 ผู้แทนกองทัพอากาศชี้แจงว่า ที่ผ่านมามีความจำเป็นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ในการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยมีเฮลิคอปเตอร์เตรียมพร้อมที่กองบินต่างๆ 12 ลำ ถ้ามีอีก 2 ลำ จะรวมเป็น 14 ลำทำให้ดำรงภารกิจนี้ได้

อย่างไรก็ตาม การมีเฮลิคอปเตอร์กู้ภัยมิใช่ทางออกเดียวในการรับมือภัยพิบัติ ด้วยข้อจำกัดในการใช้งาน เช่น ไม่ควรใช้ในสภาพอากาศแปรปรวน เนื่องจากอาจกลายเป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภัยให้เสี่ยงกว่าเดิม

กรณีต่างประเทศ รับมือภัยพิบัติ

สหรัฐอเมริกา 

ใช้ระบบแจ้งเตือนสำหรับเหตุฉุกเฉิน (EAS) ตั้งแต่ปี 1997 โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน นำโดยสำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง (FEMA) ร่วมกับคณะกรรมการกำกับดูแลการสื่อสารกลาง (FCC) และองค์กรบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA)

ในช่วงที่มีเหตุฉุกเฉินระดับประเทศ ผู้แพร่ภาพกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ เคเบิลทีวีทุกรูปแบบ และผู้ให้บริการดาวเทียม ต้องให้ประธานาธิบดีสามารถแจ้งเหตุแก่ชาวอเมริกันภายใน 10 นาที 

ส่วนการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินแบบไร้สาย (Wireless Emergency Alerts: WEA) เป็นข้อความสั้นๆ ที่ความยาวไม่เกิน 360 ตัวอักษร ซึ่งจะส่งไปยังโทรศัพท์มือถือเพื่อแจ้งข้อมูลสำคัญ

FEMA มีฐานะเป็นองค์กรอิสระตั้งแต่ปีที่ก่อตั้งคือ 1979 แต่หลังเหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2001 ถัดมาอีก 2 ปีหน่วยงานนี้ได้เข้าไปอยู่ภายใต้กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ

เมื่อปี 2021 มีการทดสอบ EAS ทั่วประเทศเป็นครั้งที่ 6 โดยก่อนหน้านี้ดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน 2011, กันยายน 2016 และ 2017, ตุลาคม 2018 และสิงหาคม 2019 โดยร่วมมือกับสถานีวิทยุ โทรทัศน์ และเจ้าหน้าที่จัดการเหตุฉุกเฉิน

การทดสอบระบบ EAS ส่งทางทีวี

ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว สหรัฐฯ เตรียมทดสอบระบบแจ้งเตือนฉุกเฉินทั้ง WEA ควบคู่กับ EAS ส่งข้อความฉุกเฉินหาโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วสหรัฐฯ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการส่งข้อความแจ้งเตือนใดๆ ต่อมาช่วงปลายเดือนตุลาคมได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 3.7 แมกนิจูด ในย่านเบย์แอเรีย ซานฟรานซิสโก ประชาชนในพื้นที่ให้ข้อมูลว่าได้รับข้อความแจ้งเตือนทางโทรศัพท์มือถือ

หากมีคำสั่งอพยพ สิ่งที่รัฐบาลท้องถิ่นแนะนำให้ชาวอเมริกันตระเตรียมคือ GO kit ที่สามารถบรรจุน้ำและอาหารปรุงง่ายสำหรับ 3 วัน ไฟฉาย อุปกรณ์สื่อสารและแบตเตอรีสำรอง ยา และเอกสารประจำตัว

 

ญี่ปุ่น 

ใช้ระบบเตือนภัยล่วงหน้าแห่งชาติ (National Early Warning System) ผ่านดาวเทียม หรือ J-Alert ตั้งแต่ปี 2007 และครอบคลุม 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ในปี 2009 โดยงบประมาณของปี 2009 อยู่ที่ 900 ล้านเยน หรือราว 250 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนปี 2563) หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ หน่วยงานดับเพลิงและป้องกันสาธารณภัย (FDMA)

ปภ. ประเทศไทยได้ลงนามทวิภาคีด้านการจัดการสาธารณภัยร่วมกับ FDMA ในปี 2005 (พ.ศ. 2548 หลังเหตุการณ์สึนามิ)

J-Alert เป็นระบบที่ช่วยให้ทางการส่งสัญญาณเตือนไปยังสื่อท้องถิ่นและประชาชนโดยตรงได้อย่างรวดเร็วผ่านระบบลำโพง โดยใช้เวลาประมาณ 1 วินาทีในการแจ้งเหตุให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทราบ และ 4-20 วินาทีในการส่งต่อข้อความไปยังประชาชน

ที่มาภาพ: fdma.go.jp

 การเตือนภัยที่ประชาชนได้รับจาก J-Alert

1. เตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้า

2. เตือนภัยสึนามิ

3. เตือนภัยภูเขาไฟระเบิด

4. ข้อมูลสภาพอากาศเลวร้าย

5. ภัยคุกคามฉุกเฉินอื่นๆ ได้แก่ การโจมตีด้วยขีปนาวุธ การโจมตีทางอากาศ การก่อการร้าย

6. ข้อมูลเกี่ยวกับภัยอันตรายและการอพยพ

คำเตือนทั้งหมด ยกเว้นคำเตือนเกี่ยวกับสภาพอากาศเลวร้าย จะเผยแพร่ 5 ภาษา ได้แก่ ญี่ปุ่น อังกฤษ จีนกลาง เกาหลี และโปรตุเกส

หนึ่งในภัยพิบัติรุนแรงที่สุดของญี่ปุ่นคือเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อเดือนมีนาคม 2011 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 22,000 ราย กุญแจสำคัญในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากคลื่นสึนามิคือการอพยพไปยังพื้นที่สูงทันทีหลังเกิดแผ่นดินไหว เมื่อเกิดแผ่นดินไหว รัฐบาลท้องถิ่นมักใช้ระบบวิทยุกระจายเสียงแจ้งข้อมูลการอพยพ

จากการสำรวจของกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร พบว่า ประชากร 35 เปอร์เซ็นต์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิไม่ได้ยินข้อมูลเสียงจากลำโพง การปรับปรุงระบบการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

ทาเคฮิโกะ อิมาอิ ประธานฝ่ายนโยบายข้อมูลข่าวสาร สำนักกิจการทั่วไปและการวางแผน เมืองเซนได สรุปสาเหตุที่เป็นไปได้ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ได้ยินประกาศจากลำโพง ได้แก่ อุปกรณ์กระจายเสียงไม่ทำงานเนื่องจากผลกระทบของแผ่นดินไหว และเสียงจากลำโพงฟังได้ยาก จำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาลำโพงที่ช่วยให้ได้ยินดีขึ้น

นอกจากนี้ เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งได้ติดตั้งวิทยุกระจายเสียงเพื่อป้องกันภัยพิบัติ (ระบบกระจายสัญญาณหลายจุด) จำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาวิธีการส่งข้อมูลที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นผ่านเครื่องมือที่มีอยู่

ที่มาภาพ: A Japan Meteorological Agency (JMA)

ในญี่ปุ่นยังมีการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวโดยเฉพาะคือ Earthquake Early Warning system หรือ EEW ให้บริการโดยสำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) ตั้งแต่ปลายปี 2007 ซึ่งประชาชนจะได้รับแจ้งล่วงหน้าถึงความรุนแรงของแผ่นดินไหวโดยประมาณและเวลาที่คาดว่าจะเกิด การประมาณการเหล่านี้มาจากการวิเคราะห์จุดศูนย์กลางและขนาดของแผ่นดินไหวโดยใช้ข้อมูลลักษณะของคลื่นที่ตรวจพบโดยเครื่องวัดแผ่นดินไหวใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว

JMA ยอมรับว่าการเตือนนี้อาจมีข้อจำกัด เช่น อาจเตือนกระชั้นไปในไม่ถึงนาที หรือเกิดข้อผิดพลาดได้เพราะใช้ข้อมูลจากเครื่องวัดตัวเดียว 

ในปี 2012 มีการเปิดตัวบริการอีเมลแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินโดยผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือหลัก 3 ราย โดยอัตราการเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ นี่จึงเป็นอีกวิธีการส่งข้อมูลที่จำเป็นอย่างรวดเร็วไปยังคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ให้บริการมือถือ

อีกบทเรียนที่ได้คือ แม้ประชาชนได้รับข้อมูลให้อพยพก็จริง แต่กลับไม่ได้นำไปสู่พฤติกรรมการอพยพ การเก็บข้อมูลจากผู้ประสบภัยพบว่า ประชาชนราว 40 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้อพยพออกนอกพื้นที่ แม้มีการประกาศเตือนภัยสึนามิครั้งใหญ่

ความท้าทายคือ ทำอย่างไรให้การรับทราบข้อมูลเหล่านี้นำไปสู่การอพยพจริงๆ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลท้องถิ่นไม่เพียงต้องพยายามสื่อสารข้อมูลการอพยพเท่านั้น แต่ยังต้องปรับปรุงการเรียนรู้เรื่องการป้องกันภัยพิบัติรวมถึงการซ้อมอพยพที่เชื่อมโยงกับการอพยพในทางปฏิบัติด้วย

วันที่ 1 กันยายนของทุกปีคือวันป้องกันภัยพิบัติของญี่ปุ่น มีที่มาจากเหตุแผ่นดินไหวคันโตครั้งใหญ่เมื่อปี 1923 ในวันดังกล่าว หน่วยงานท้องถิ่นจะจัดฝึกซ้อมเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ การฝึกซ้อมประกอบด้วยการก้มตัวใต้โต๊ะเพื่อหลบสิ่งที่จะร่วงลงมา และการอพยพออกจากอาคารทั่วไปรวมถึงโรงเรียนประถมและมัธยม

ปกติแล้ว 1 กันยายนเป็นวันเปิดเรียนหลังจากปิดเทอมฤดูร้อนด้วย ดังนั้นการฝึกซ้อมอพยพในโรงเรียนจึงถือเป็นหนึ่งในพิธีการ back to school ของเด็กๆ ที่มีส่วนสร้างความตระหนักรู้และการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติได้

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
อภิรดา มีเดช