Humberger Menu

อัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้องคดีตากใบ กรณีเจ้าหน้าที่นำตัวผู้ชุมนุมขึ้นรถบรรทุกอัดแน่นจนเสียชีวิต 78 ราย

อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน เมื่อ 12 ก.ย. ในคดีการนำตัวผู้ชุมนุมขึ้นรถบรรทุกไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จนมีผู้เสียชีวิต 78 คน เร่งตำรวจนำตัวส่งศาลก่อนหมดอายุความ 25 ต.ค.นี้


18 กันยายน อัยการสูงสุดแถลงถึงการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ในสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม และสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลาจาก พลตำรวจโทอิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา กรณีนำตัวผู้ชุมนุมขึ้นรถบรรทุกอย่างแออัด ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จนมีผู้เสียชีวิต 78 คน เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 

ผู้ต้องหาทั้ง 8 ได้แก่

  • ผู้ต้องหาที่ 1 พลเอกเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 ในขณะนั้น
  • ผู้ต้องหาที่ 2 ร้อยตรีณัฐวุฒิ เลื่อมใส
  • ผู้ต้องหาที่ 3 วิษณุ เลิศสงคราม 
  • ผู้ต้องหาที่ 4 เรือโทวิสนุกรณ์ ชัยสาร 
  • ผู้ต้องหาที่ 5 ปิติ ญาณแก้ว 
  • ผู้ต้องหาที่ 6 พันจ่าตรี รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ 
  • ผู้ต้องหาที่ 7 พันโทประเสริฐ มัทมิฬ
  • ผู้ต้องหาที่ 8 ร้อยโทฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์

อัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนและมีคำสั่งฟ้อง 8 ผู้ต้องหาโดยวินิจฉัยว่าจากพยานหลักฐานที่ได้ไต่สวน แม้ผู้ต้องหาทั้ง 8 ซึ่งมีทั้งพลขับและผู้ควบคุมการขนย้ายผู้ชุมนุม จะไม่ประสงค์ผลที่จะให้ถึงแก่ความตายก็ตามแต่การจัดหารถเพียงจำนวน 25 คันในการบรรทุกผู้ชุมนุมประมาณพันกว่าคนเป็นการบรรทุกที่แออัดเกินกว่าจะเป็นวิธีการ

บรรทุกคนที่เหมาะสม ซึ่งผู้ต้องหาที่ 1 และ 7 รู้อยู่แล้วว่าจำนวนรถกับจำนวนคนไม่เหมาะสม การที่ผู้ต้องหาที่ 2 -  6 และที่ 8 ซึ่งเป็นคนขับรถก็เห็นถึงสภาพการบรรทุกผู้ชุมนุมดังกล่าวอันเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คนขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในการควบคุมของพนักงานการกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจได้ ดังนั้นการกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น

ประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ย้ำว่า ได้ส่งเรื่องไปที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพร้อมระบุวันที่ขาดอายุความและวันที่ให้เอาตัวมาส่งฟ้องไม่เกินเมื่อไหร่ หากไม่ได้ตัวจะขอให้ศาลออกหมายจับ 

ทั้งนี้ คดีตากใบจะหมดอายุความลงในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ แม้จะมีการส่งฟ้องแต่ไม่ได้หมายความว่าเวลาของคดีจะหยุดเดิน หากไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหาต่อศาลได้ อายุของคดีดังกล่าวก็จะนับต่อจนหมดอายุความ ถ้าสามารถนำตัวผู้ต้องหามาส่งศาลได้ จากสถานะผู้ต้องหาก็จะเปลี่ยนเป็นจำเลย และเข้าสู่กระบวนการของศาล ส่วนคนที่ไม่ได้ถูกนำตัวส่งศาลก็จะพ้นคดีไป 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 กันยายน ศาลจังหวัดนราธิวาสได้นัดจำเลย 7 คน ในคดีที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ 48 คน ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐในข้อหา ฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว แต่จำเลยไม่มารายงานตัว ศาลจึงออกหมายจับจำเลยได้แก่

  • พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น 
  • พลเอกเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 ในขณะนั้น
  • พลตำรวจเอกวงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้าในขณะนั้น
  • พลตำรวจโทมาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ในขณะนั้น
  • พลตำรวจตรีศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับ สภ.ตากใบ ในขณะนั้น
  • ศิวะ แสงมณี รอง ผอ.สสส.จชต. หรือกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น
  • วิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ในขณะนั้น

สำหรับ พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี ที่ขณะนี้เป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากการมีฐานะเป็น สส. และอยู่ระหว่างการประชุมสภาฯ ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 125 ศาลได้มีหนังสือด่วนที่สุดไปยังประธานสภาฯ เพื่อขออนุญาตจับกุม รวมทั้งมีหมายเรียกและมีหนังสือด่วนที่สุดให้ พลเอกพิศาลแจ้งว่า ศาลได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ขอให้ พลเอกพิศาลแถลงต่อสภาฯเพื่อสละความคุ้มกันและมาศาลในนัดหน้าวันที่ 15 ตุลาคมนี้

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
กองบรรณาธิการ