Humberger Menu

18 ปี รัฐประหาร 49

ช่วงค่ำของวันที่ 19 กันยายน 2549 เกิดการรัฐประหาร ยึดอำนาจ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น 

สาเหตุของการรัฐประหารมีมากมายสารพัด จุดประกายจากรายการ ‘เมืองไทยรายสัปดาห์’ ของ สนธิ ลิ้มทองกุล โจมตีทักษิณด้วยข้อหาการทุจริต ทำตัวเทียมเจ้า ขายสมบัติชาติ ฆ่าตัดตอนทำสงครามยาเสพติด เรียกผู้ก่อเหตุภาคใต้ว่าโจรกระจอก กรณีกรือเซะ ตากใบ เอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง แทรกแซงสื่อ พัฒนากลายเป็นม็อบพันธมิตร ลุกลามเป็นความจงเกลียดจงชังนักการเมืองชั่วร้าย ทวงคืนพระราชอำนาจ และขอนายกฯ พระราชทาน

บวกกับความไม่พอใจของชนชั้นนำ ว่ารัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย มีลักษณะเป็น ‘เผด็จการเสียงข้างมาก’ จึงเกิดเครือข่ายฝ่ายตรงข้ามเรียกร้องให้มี ‘ช่องทางพิเศษ’ จัดการกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

 พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน

และ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ก็ถูก พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ในนามคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ยึดอำนาจ

เมื่อปีที่แล้ว ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับไทย รับโทษจำคุก 8 ปี จาก 3 คดี แต่ได้รับการพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี จากนั้นรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ก่อนจะถูกพักโทษและเดินทางกลับบ้านได้ กระทั่งก่อนครบรอบ 1 ปี การเดินทางกลับไทย 22 สิงหาคม ไม่นาน ทักษิณก็ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ

ทั้งสนธิแกนนำพันธมิตร และสนธิผู้นำรัฐประหาร แสดงท่าทีต่อการกลับมาของทักษิณไปในทางเดียวกันว่า ‘รับได้’ 

เวลาผ่านไป 18 ปี หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตอนนี้ทักษิณไม่ได้แค่ได้รับความเป็นธรรมคืนส่วนหนึ่งเพื่อชดเชยเวลา 17 ปีที่หายไป แต่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็ยังคงเป็นคนของตระกูลชินวัตร อิ๊งค์-แพทองธาร และเครือข่ายพรรคทหารของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะพรรคที่รองรับการรัฐประหาร 2557 ล้มรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ถูกแก้แค้นจนต้องหลุดจากพรรคร่วม และพลเอกประวิตรเองก็เผชิญสถานการณ์ทางการเมืองไม่สู้ดีนัก ตั้งแต่การทำร้ายสื่อมวลชนมาจนถึงกรณีเจ้าของเสียงปริศนาในคลิปเสียงหลุด

เวทีชุมนุมหยุดระบอบทักษิณ 7 กันยายน 2567

แม้จะมีเครือข่ายต่อต้านทักษิณพร้อมจะปลุกความกลัว ‘ผีทักษิณ’ และขับไล่ตระกูลชินวัตรให้พ้นเวทีการเมือง แต่ดูเหมือนว่ากระแสนี้จะแผ่วเบาและจุดไม่ติดเหมือนเมื่อสองทศวรรษก่อน จากภาพข่าวแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนถือมือตบ เป่านกหวีด ใส่เสื้อเหลือง มีผ้าลายธงชาติคาดหัว อันเป็นสัญลักษณ์ตกค้างจากยุคการชุมนุมของพันธมิตรและ กปปส. ก็มีจำนวนน้อยเกินกว่าจะแสดงพลังอะไรได้เหมือนที่คิด

ทักษิณ และ แพทองธาร ชินวัตร

จากรัฐประหาร 2549 ถึงวันที่เพื่อไทยตั้งรัฐบาลโดยมี แพทองธาร เป็นนายกฯ จึงเท่ากับว่า ทักษิณต้องใช้เวลาถึง 18 ปี จากวันที่ต้องหลบหนี พ่ายแพ้ ก่อนกลับมาอย่างผู้ชนะ 

ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ช่วงปี 2547-2548

เริ่มกระแสต้านทักษิณ

สนธิ ลิ้มทองกุล วิพากษ์วิจารณ์ ทักษิณ ชินวัตร ผ่านรายการ ‘เมืองไทยรายสัปดาห์’ และเริ่มมีการชุมนุมขับไล่ทักษิณช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ 1 (ปี 2544-2548) 

กันยายน 2548

เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร

รายการ ‘เมืองไทยรายสัปดาห์’ ถูกระงับการออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ทีวี สนธิจึงจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรนอกสถานที่ เช่น หน้าสวนลุมพินี มีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และขณะนั้นมีการนิยามคำว่า ‘ระบอบทักษิณ’ ขึ้นมา โดยมีการพาดพิงไปถึงพฤติกรรมคอร์รัปชั่น ละเมิดสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนใต้จากกรณีกรือเซะและตากใบ 

23 มกราคม 2549

ทักษิณขายชินคอร์ป

ตระกูลชินวัตรขายหุ้นในกลุ่ม บริษัท ชินคอร์ป ให้แก่ บริษัท เทมาเส็ก ของสิงคโปร์ มูลค่า 73,000 ล้านบาท เป็นที่มาของวาทกรรม ‘ขายชาติ’ 

8 กุมภาพันธ์ 2549

ก่อตั้งพันธมิตร

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเพื่อชุมนุมขับไล่ทักษิณ มีสัญลักษณ์คือเสื้อเหลือง โดยแกนนำรุ่นแรกคือ สนธิ ลิ้มทองกุล, สมศักดิ์ โกศัยสุข, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, พิภพ ธงไชย และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง

24 กุมภาพันธ์ 2549

ยุบสภาเพราะม็อบชนม็อบ

ทักษิณ ชินวัตร ประกาศยุบสภา ขณะที่การชุมนุมต่อต้านของกลุ่มพันธมิตรยังคงดำเนินต่อเนื่อง และมีเหตุการณ์ม็อบชนม็อบ ทักษิณจึงให้เหตุผลในการยุบสภาว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า และอาจมีการฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง  

2 เมษายน 2549

เลือกตั้งใหม่

การเลือกตั้งถูกฝ่ายค้านคือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน คว่ำบาตร ไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง แม้จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก แต่เป็นคะแนน no vote สูงถึง 9 ล้านคน รวมทั้งมีการประท้วงฉีกบัตรเลือกตั้ง กาบัตรด้วยเลือด ที่สำคัญคือ กกต. เปลี่ยนวิธีการจัดคูหาเลือกตั้งหันหลังออกด้านนอก

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรเริ่มเรียกร้องนายกฯ มาตรา 7 หรือ นายกฯ พระราชทาน โดยกระแสในตอนนั้นคือ ‘มาร์ค ม.7’ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

8 พฤษภาคม 2549

เลือกตั้งโมฆะ เริ่มต้นตุลาการภิวัฒน์

ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ เนื่องจากจัดคูหาละเมิดการลงคะแนนเสียงโดยลับ กกต. ถูกจำคุก เป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า ‘ตุลาการภิวัฒน์’ หรือการใช้คำตัดสินของศาลเพื่อพลิกโฉมหน้าทางการเมือง

การชุมนุมของพันธมิตรก่อนรัฐประหาร

ประเด็นสำคัญคือการขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร และเริ่มพูดถึงประเด็นการถวายคืนพระราชอำนาจ ขอนายกฯ พระราชทาน และเรียกร้องให้ทหารออกมารัฐประหารยึดอำนาจ

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ทักษิณเดินทางไปต่างประเทศ

9 กันยายน 2549 ทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศ เริ่มต้นที่ทาจิกิสถาน ต่อด้วยการประชุม Asia-Europe Meeting (ASEM) ที่ฟินแลนด์ และเตรียมตัวเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก ในวันที่ 25 กันยายน

สัญญาณยึดอำนาจ

ค่ำวันที่ 19 กันยายน ทักษิณประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ จากนิวยอร์ก ปลด พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก แล้วแต่งตั้ง พลเอกเรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ควบคุมสถานการณ์ เพื่อสกัดการรัฐประหาร แต่สัญญาณการสื่อสารจากอีกซีกโลกของทักษิณถูกตัด ขณะที่การยึดอำนาจในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้น

พลเอกสนธิรัฐประหาร

เวลา 22.54 น. โทรทัศน์ทุกช่องเผยแพร่ประกาศของ คปค. โดยมี พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ถึงเหตุผลการยึดอำนาจที่แทบไม่แตกต่างจากการยึดอำนาจทุกครั้ง คือมีข้ออ้างถึงความขัดแย้ง แตกแยก ทุจริต และหมิ่นสถาบันฯ

เหตุผลรัฐประหาร

“ด้วยเป็นที่ปรากฏความแน่ชัดว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระ ถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักร ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง แม้หลายภาคส่วนสังคม จะได้พยายามประนีประนอมคลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว แต่ยังไม่สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยุติลงได้ ดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ขอยืนยันว่า ไม่มีเจตนาที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินเสียเอง แต่จะได้คืนอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขกลับคืนสู่ปวงชนชาวไทยโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อธำรงรักษาไว้ ซึ่งความสงบสุข และความมั่นคงของชาติ รวมทั้งเทิดทูนไว้ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพยิ่งของปวงชนชาวไทยทุกคน”

นายกฯ คนใหม่หลังยึดอำนาจ

พลเอกสนธิถืออำนาจไว้ไม่กี่สัปดาห์ วันที่ 1 ตุลาคม 2549 ก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่จากการแต่งตั้ง คือ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ จากนั้นคณะ คปค. ผู้ยึดอำนาจก็เปลี่ยนสภาพเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และปีต่อมาพลเอกสนธิก็เข้ามาเป็นรองนายกฯ ดูแลความมั่นคงในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์

ยุบพรรคไทยรักไทย

30 พฤษภาคม 2550 กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 111 คน หรือกลุ่ม ‘บ้านเลขที่ 111’ เป็นระยะเวลา 5 ปี จากกรณีว่าจ้างพรรคเล็ก พัฒนาชาติไทยและแผ่นดินไทย รับจ้างจัดหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อช่วยเหลือพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้ง 2549 ที่ถูกคว่ำบาตร เป็นอันว่าการลบ ทักษิณ ชินวัตร ออกจากประวัติศาสตร์การเมืองในขั้นตอนแรก ดูจะเป็นไปตามแผน คือทักษิณต้องออกจากประเทศ พรรคการเมืองของทักษิณถูกยุบ ขั้นตอนต่อไปคือ ทำอย่างไรถึงจะไม่ให้เครือข่ายของทักษิณ ปฏิปักษ์ของสังคมไทยขณะนั้น กลับมามีอำนาจได้อีก

รัฐธรรมนูญฉบับรับๆ ไปก่อนค่อยแก้ทีหลัง

ผลของการรัฐประหาร 2549 ทำให้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ว่ากันว่าเป็นฉบับที่เป็นของประชาชนมากที่สุด ถูกฉีก และต้องมีการร่างฉบับใหม่ขึ้นมา

ที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เริ่มต้นจาก คมช. แต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติ จากนั้นสมัชชาแห่งชาติคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นยังต้องผ่านการคัดกรองและแต่งตั้งโดย คมช. ซึ่งเป็นผู้ทำรัฐประหารยึดอำนาจ ทักษิณ ชินวัตร อีกครั้งหนึ่ง

รายละเอียดที่น่าสนใจของรัฐธรรมนูญ 2550 คือมีนัยถึงการสกัดกั้นทักษิณ ป้องกันไม่ให้เครือข่ายพรรคไทยรักไทยเติบโตและกลับมามีอำนาจอีก เช่น ห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน 2 สมัย ห้ามไม่ให้รัฐบาลรักษาการช่วงยุบสภาจนถึงการเลือกตั้ง และทำให้มีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จากการแต่งตั้ง จากของเดิมที่เคยมาจากการเลือกตั้ง

คำพูดติดปากในบทสนทนาของผู้คนในปี 2550 ถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ คือคำถามว่า ‘รับ’ หรือ ‘ไม่รับ’ ที่ต่อมาถูกกลบด้วยกระแส ‘รับไปก่อน แก้ทีหลัง’ ผลการออกประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 จึงออกมาเป็น เห็นชอบ 57.81 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นชอบ 42.19 เปอร์เซ็นต์

กลไกหลังรัฐประหาร การกำจัดมรดกระบอบทักษิณ

หลังมีรัฐธรรมนูญใหม่ ‘รัฐบาลขิงแก่’ ของพลเอกสุรยุทธ์ก็เตรียมส่งต่ออำนาจให้รัฐบาลพลเรือน แต่กลไกที่คิดกันว่าออกแบบมาอย่างดีเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มการเมืองในสายสกุลชินวัตรกลับมา ก็ใช้ไม่ได้กับการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ชนชั้นนำประเมินพลาด เพราะชัยชนะตกเป็นของพรรคพลังประชาชน หน่อเนื้อของไทยรักไทย ที่ได้ สส. ไป 377 คน จากทั้งหมด 480 คน โดยมี สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น แม้ตัวอักษรในรัฐธรรมนูญจะมีโจทย์บางอย่างชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติ เครือข่ายของ ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังกลับมาได้ ด้วยชัยชนะท่วมท้นจากการเลือกตั้ง

และ 28 กุมภาพันธ์ 2551 ทักษิณเดินทางกลับประเทศไทยครั้งแรกหลังรัฐประหาร แต่ก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ หลังรายงานตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดี ทักษิณขอเดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 31 กรกฎาคม-10 สิงหาคม 2551 โดยให้เหตุผลว่า ต้องการไปชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน และไม่ได้กลับมาตามนัดของศาล

แต่เพราะเป็นสาแหรกของไทยรักไทย ทำให้รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ต้องเผชิญวิบากกรรมต่อเนื่อง ทั้งการชุมนุมขับไล่ของกลุ่มพันธมิตร ที่ยังมีกิจกรรมทางการเมืองต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 เพื่อถอนราก ‘ระบอบทักษิณ’ ออกไปจากการเมืองไทย โดยพันธมิตรกล่าวหาว่า นายกฯ สมัครเป็นนอมินีของทักษิณ และมีผลประโยชน์ทับซ้อน

สมัคร สุนทรเวช

ตามมาด้วยตุลาการภิวัฒน์ (อีกแล้ว) โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อ กันยายน 2551 ให้ สมัคร สุนทรเวช พ้นตำแหน่งนายกฯ จากกรณีเป็นลูกจ้างจัดรายการ ‘ชิมไปบ่นไป’ 

เครือข่ายการเมืองของ ทักษิณ ชินวัตร ยังคงรักษาอำนาจไว้ได้ โดยการเปลี่ยนตัวนายกฯ เป็น สมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่การชุมนุมของพันธมิตรยังเข้มข้น ทั้งปิดสนามบิน ล้อมทำเนียบฯ ทำให้สมชายเป็นนายกฯ ที่ไม่มีโอกาสได้เข้าห้องทำงาน  

และตุลาการภิวัฒน์ก็มีบทบาทสำคัญในความพยายามกำจัดระบอบทักษิณอีกครั้ง โดยวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน 2 ธันวาคม 2551 เนื่องจากรองหัวหน้าพรรค ยงยุทธ ติยะไพรัช ทุจริตเลือกตั้ง และให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นตำแหน่งนายกฯ กรรมการบริหารพรรค 109 คน หรือกลุ่ม ‘บ้านเลขที่ 109’ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 

ขั้วอำนาจทางการเมืองเปลี่ยนไปอยู่ในมือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตามความต้องการของฝ่ายตรงข้ามทักษิณ พร้อมๆ กับข้อกล่าวหาว่า ‘ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร’ โดย 22 สส.พรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มของ เนวิน ชิดชอบ ได้ยกมือโหวตให้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ จนทำให้เกิดข่าวลือถึงวรรคทองที่เนวินกล่าวต่อทักษิณว่า “มันจบแล้วครับนาย” 

การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ของอภิสิทธิ์ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ม็อบชนม็อบ โดยกลุ่มคนเสื้อแดงเคลื่อนพลจากหลายจังหวัด เข้ามาชุมนุมที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ยุบสภา ลาออก เนื่องจากไม่มีความชอบธรรมในตำแหน่งนายกฯ เพราะไม่ได้ชนะการเลือกตั้ง ขณะที่ม็อบเสื้อเหลืองในกรุงเทพฯ เริ่มต่อต้าน ก่อนจะพัฒนาไปสู่ ‘กลุ่มเสื้อหลากสี’ นำโดย หมอตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ที่เป็นต้นกำเนิดของคำว่า ‘สลิ่ม’ ที่นิยมใช้เป็นถ้อยคำทางการเมืองในยุคหลัง 

การชุมนุมของคนเสื้อแดงในนามแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ประกอบด้วยกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย กลุ่มต่อต้านเผด็จการล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และกลุ่มคนรักทักษิณ จบลงที่การล้อมปราบสลายการชุมนุม จากกระบวนการพิสูจน์หลักฐาน พบว่ากระสุนส่วนหนึ่งชัดเจนว่ามาจากฝั่งทหาร ผลของการสลายการชุมนุมทำให้มีผู้เสียชีวิต 99 ศพ 

ผลเลือกตั้ง 2554 ทำให้รัฐประหาร 2549 ดูแย่

หลังสลายการชุมนุม กระแสความนิยมของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ ตกลง ผลการเลือกตั้งแลนด์สไลด์ ชัยชนะของเพื่อไทยจากการหาเสียงเพียง 49 วัน เป็นหลักฐานว่าคนจำนวนมากต้องการตบหน้าประชาธิปัตย์ ชนชั้นนำประเมินพลาดอย่างแรงอีกครั้ง เพราะเสียงของประชาชนขณะนั้น มอบความไว้วางใจให้พรรคเพื่อไทยและคนนามสกุลชินวัตร ทำให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกฯ หญิงคนแรก 

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เครือข่ายของทักษิณไม่เคยหายไปจากวงการเมือง ไม่มีใครปฏิเสธว่าพรรคเพื่อไทยกับ ทักษิณ ชินวัตร มีความเกี่ยวข้องกัน การที่อำนาจบริหารอยู่ในมือพรรคเพื่อไทย จึงเป็นโอกาสให้ทักษิณคาดหวังถึงการกลับบ้าน 

แต่ความพยายามออกนิรโทษกรรมสุดซอย เพื่อเปิดทางให้ผู้กระทำความผิดในความขัดแย้งทางการเมืองพ้นโทษ ก็ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์สะดุดขาตัวเอง เพราะทำให้เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ของม็อบ กปปส. 

การชุมนุมที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ และมวลมหาประชาชนนับล้านนำไปสู่การรัฐประหาร โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 

เพราะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถูกพิสูจน์แล้วว่าเสียของและล้มเหลว ไม่สามารถทำตามวัตถุประสงค์ตั้งต้น คือเอาตระกูลชินวัตรออกไปจากการเมืองไทยได้ รัฐประหาร 2557 จึงเป็นเหมือนการแก้มือ และใช้ข้อผิดพลาดของรัฐประหารครั้งก่อนเป็นบทเรียน

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

พลเอกประยุทธ์ทำสำเร็จในการครองอำนาจยาวนาน ทั้งหลังการรัฐประหาร และการเลือกตั้ง 2562 ที่ทำให้พูดได้เต็มปากว่า เป็นนายกฯ ที่มาตามกระบวนการประชาธิปไตย 

มรดกชิ้นสำคัญของรัฐประหาร 2557 คือรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีกลไกซับซ้อนกว่าเดิม แก้ไขได้แสนยากเย็น มี สว. แต่งตั้ง และถูกกำกับอีกชั้นด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมและชนชั้นนำสามารถกำหนดทิศทางของประเทศไว้ได้อีกนาน แม้ผู้นำจะไม่ใช่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

18 ปี รัฐประหาร 2549 กับชัยชนะของทักษิณ

เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี หลังการรัฐประหาร และทักษิณรายงานตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดี

เช้าวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่สนามบินดอนเมือง ประชาชนกลุ่มคนเสื้อแดงและผู้สนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร เดินทางมารอรับอดีตนายกรัฐมนตรีที่จะเดินทางกลับประเทศไทย

ทักษิณแสดงความต้องการเดินทางกลับไทยผ่านหลายช่องทาง รวมแล้วประมาณ 20 ครั้ง เช่น โพสต์ข้อความผ่าน X ว่าขออนุญาตกลับไทยเพื่อไปเลี้ยงหลาน โดยครั้งสุดท้าย แพทองธาร ชินวัตร เป็นคนแจ้งข่าวนี้ต่อสาธารณะ และการกลับประเทศไทยอย่างเป็นทางการของทักษิณกลายเป็นจริง ท่ามกลางข่าวลือว่าการกลับมาของทักษิณมี ‘ดีลลับ’ ที่สัมพันธ์กับการจัดตั้งรัฐบาล 

ทักษิณวินเดินทางกลับไทย

และการกลับบ้านของ ทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 22 สิงหาคม วันเดียวกับการโหวตให้ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ คนที่ 30  โดยเสียงโหวตสำคัญมาจาก สว. สาย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทักษิณกลับมารับโทษจำคุก 8 ปีจาก 3 คดี ก่อนได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ และได้รับการพักโทษเดินทางกลับบ้าน หลังจากนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษก่อนครบกำหนดพ้นโทษ 1 ปี เพียงไม่กี่วัน

การกลับบ้านของทักษิณยังถูกหยิบมาเป็นสัญลักษณ์ของการสลายขั้วความขัดแย้ง สนธิ ลิ้มทองกุล ที่ครั้งหนึ่งขับไล่ทักษิณ ก็บอกว่า การต่อสู้กับทักษิณในยุคก่อน เพราะเรื่องคอร์รัปชันและข้อสงสัยเรื่องความไม่จงรักภักดี แต่จากท่าทีของพรรคเพื่อไทยนั้นชัดเจนว่าจงรักภักดีกับสถาบัน ไม่แก้มาตรา 112 และคิดว่าทักษิณอยู่ต่างประเทศมากว่า 17 ปีคงไม่มีความสุขเท่ากับอยู่ใกล้ลูกหลาน

“ถ้าสองเรื่องนี้เกิดขึ้น ถ้าคุณทักษิณยอมกลับมาติดคุก แสดงว่ายอมรับกระบวนการยุติธรรมไทย คือโอเค และประกาศชัดเจนผ่านพรรคเพื่อไทย คุณทักษิณก็พูดชัดเจนว่ายังคงจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จะเต็มใจไม่เต็มใจไม่รู้ แต่ถือว่าเขายอมรับแล้วในทางสาธารณะ”

พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน

ส่วน พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้ทำรัฐประหารบอกว่า เป็นสิทธิของทักษิณที่สามารถทำได้ เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย และเงื่อนไขก็มีหลายประเด็น

“ผมก็ว่าสมควรกลับนะ ก็ต้องมาสู้คดีเพราะมันเป็นเรื่องของกฎหมายอยู่แล้ว”

และนับถึงวันนี้ ไม่ใช่แค่ทักษิณจะได้กลับบ้านมาเลี้ยงหลาน เดินทางเข้าพรรคไทยรักไทย ทักษิณยังมีคนตระกูลชินวันตรคนที่ 3 ที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ คือ อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร 


หากมองว่าการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทางการเมือง 2 ทศวรรษ ข้ออ้างในการชุมนุมขับไล่และการทำรัฐประหารครั้งนั้นจึงถือว่าล้มเหลว เพราะสุดท้ายแล้วทักษิณก็กลับมา และสิ่งที่ฝ่ายต่อต้านเรียกว่า ‘ระบอบชินวัตร’ ยังไม่หายไปไหน ขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองไทยก็ไม่ได้จบลงเหมือนที่ใครจินตนาการ เพียงแต่รูปแบบและคู่ขัดแย้งเปลี่ยนไป โดยทักษิณและเพื่อไทยอยู่รอดปลอดภัย กลายเป็นตัวแทนฝ่ายอนุรักษนิยม ส่วนพรรคก้าวไกลที่ถูกยุบจนกลายเป็นพรรคประชาชน ก็กำลังเผชิญชะตากรรมไม่ต่างจากที่พรรคในเครือข่ายทักษิณถูกกระทำตลอดเวลาที่ผ่านมา ในฐานะกลุ่มการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงและล้มล้างการปกครอง 

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
กองบรรณาธิการ