Humberger Menu

เมื่อแม่น้ำโขง เปลี่ยนไป

เรื่องและภาพ: ณฐาภพ สังเกตุ


ณ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย รถตู้แล่นเลียบแม่น้ำโขงไปยังจุดหมายของการเดินทางในวันนี้ ที่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำคือประเทศลาว หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชีย แต่ภาพที่เห็นกลับตรงกันข้าม กลุ่มอาคารขนาดใหญ่ตั้งเรียงราย ภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำของกลุ่มทุนจีน เข้ายึดครองพื้นที่ริมฝั่งโขง โดยเฉพาะอาคารที่ขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับอาคารอื่นๆ ที่มีชื่อว่า อาณาจักรคิงส์โรมัน (Kings Roman)

“การเข้ามาของทุนจีนและคิงส์โรมัน สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อพื้นที่และแม่น้ำ เราแทบไม่รู้ถึงการจัดการของเสียของพวกเขาที่ปล่อยลงสู่แม่น้ำเลย”

จอห์น โรเบิร์ตส์ (John Roberts) ผู้อำนวยการแคมป์ช้าง จากมูลนิธิโกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอเชียน เอเลเฟนท์ (Golden Triangle Asian Elephant Foundation: GTAEF) ซึ่งทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตช้างในประเทศไทยและในแถบเอเชีย ได้กล่าวกับเราบริเวณพื้นที่เลี้ยงช้างติดกับแม่น้ำโขง สถานที่พักพิงของช้างจำนวนหนึ่งที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิ

การเดินทางครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นที่สามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ลัดเลาะตามริมฝั่งแม่น้ำโขงประเทศไทย ไปจนถึงอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ก่อนจะไปสิ้นสุดลงที่เมืองเกิ่นเทอ (Can Tho) ประเทศเวียดนาม เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงและผู้คนที่มีวิถีชีวิตพึ่งพิงอยู่กับแม่น้ำ

เชียงแสนในความเปลี่ยนแปลง หลังผลกระทบการเข้ามาของเขื่อนในประเทศจีน

เขื่อนในประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ของแม่น้ำโขง

“ระดับน้ำตอนนี้ขึ้นอยู่กับการปล่อยน้ำของเขื่อนจีน มีสิ่งเล็กน้อยนับล้านเปลี่ยนแปลงหลังการมีเขื่อน”

จอห์น โรเบิร์ตส์ 

จอห์นเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านสัตว์ ให้การช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตช้างมาเป็นเวลามากกว่า 20 ปี กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เขาได้พบในพื้นที่อำเภอเชียงแสน ระดับน้ำที่ลดลงส่งผลให้เกิดการลักลอบข้ามพรมแดนจากฝั่งประเทศพม่ามากยิ่งขึ้น สีของแม่น้ำที่เปลี่ยนไปจากสีน้ำตาลแดงขุ่นๆ กลายเป็นสีฟ้าใสที่มองเห็นถึงก้นแม่น้ำ นั่นหมายถึงตะกอนถูกเขื่อนที่อยู่บริเวณต้นแม่น้ำโขงกักเก็บไว้ ซึ่งตะกอนที่หายไปส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแม่น้ำ

“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ค่อนข้างจะเลวร้าย มันเกิดขึ้นจากการเอาทุกสิ่งทุกอย่างออกจากแม่น้ำโขงโดยที่ไม่เหลือภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกต่อไป”

นอกจากเขื่อนที่เกิดขึ้นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แม่น้ำโขงแล้ว การมาถึงของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในประเทศลาวซึ่งจีนเป็นผู้ลงทุนหลัก ยังสร้างผลกระทบต่อภูมิทัศน์ในพื้นที่ทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว

“มีคนจีนจำนวนมากเข้ามาเพื่อเล่นการพนัน ท่องเที่ยว หรือทำอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นที่นั่น เสียงและแสงเกิดขึ้นถึงตี 2 หรือตี 3 ในทุกวัน แม้แต่ช้างก็ได้รับผลกระทบจากสิ่งนี้”

อาณาจักรคิงส์โรมันดึงดูดและเปลี่ยนแปลงพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากภายนอก โดยเฉพาะชาวจีน ผลกระทบเชิงบวกที่สามารถเห็นได้ในฝั่งประเทศไทยคือ สนามบินเชียงรายมีผู้โดยสารมากขึ้น คนท้องถิ่นสามารถหารายได้จากนักท่องเที่ยว มีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นมากมายในอำเภอเชียงแสน

“ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา มีอาคารขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมายบนพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง” จอห์นกล่าวในตอนท้าย “ฝั่งประเทศไทยเองก็จะเห็นอาคารและร้านค้าที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่มั่นใจว่าคนท้องถิ่นจะได้รับประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้มากแค่ไหน”

เดินทางถัดมาไม่ไกลจากบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เราได้โอกาสในการพูดคุยกับ ณัฐพล  รัชตะศิลปิน ผู้จัดการท่าเรือเชียงแสนและเชียงของ ภายใต้สังกัดการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า ระดับน้ำโขงในตอนนี้ไม่ใช่ระดับน้ำตามธรรมชาติอีกต่อไป แต่เกิดจากการบริหารจัดการของเขื่อนในประเทศจีน  

ณัฐพล  รัชตะศิลปิน

“ก่อนที่จะมีการก่อสร้างเขื่อน ช่วงหน้าแล้งจะไม่สามารถเดินเรือขนส่งสินค้าได้ แต่ว่าพอสร้างเขื่อนเรียบร้อยแล้ว เราสามารถเดินเรือได้ตลอดทั้งปี”

ณัฐพลกล่าวถึงข้อดี ก่อนที่จะกล่าวต่อว่า ตอนนี้ผู้คนแทบไม่รู้ว่าเลยเมื่อไหร่น้ำจะขึ้นหรือจะลง โดยเขื่อนที่สร้างผลกระทบหลักต่อแม่น้ำโขงในพื้นที่อำเภอเชียงแสน คือ เขื่อนจิ่งหง เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน โดยน้ำจากเขื่อนจิ่งหงจะไหลมาถึงเชียงแสนใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 วัน นั่นหมายความว่า เมื่อไหร่ที่เขื่อนจิ่งหงเพิ่มหรือลดระดับการปล่อยน้ำ อีก 2 วันอำเภอเชียงแสนจะได้รับผลกระทบ 

ณัฐพลกล่าวถึงเรื่องการมาถึงของอาณาจักรคิงส์โรมันที่อยู่ฝั่งตรงข้ามอำเภอเชียงแสน ว่าทำให้คนรุ่นใหม่ในพื้นที่เลือกไปทำงานอยู่ที่นั่น รวมทั้งความคึกคักและแสงสีถูกย้ายออกจากตัวเมืองเชียงแสนไปอยู่ฝั่งตรงข้ามที่คิงส์โรมันแทน

การเดินทางวันแรกสิ้นสุดลงที่บ้านหาดบ้าย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในช่วงเย็นที่แสงสุดท้ายค่อยๆ ตกกระทบกับน้ำโขง ยังมีชาวบ้านบางส่วนใช้ชีวิตผูกพันกับแม่น้ำ ชายคนหนึ่งซึ่งทำอาชีพขับเรือโดยสารข้ามฝั่งไทย-ลาว กำลังนำเรือของตัวเองมาจอดเทียบท่า ถัดไปไม่ไกลเป็นบ้านหลังหนึ่งที่ตั้งลอยอยู่บนแม่น้ำโขง

การต่อสู้ในความเปลี่ยนของแม่น้ำโขงของคนเชียงของ

ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ ส่งผลทำให้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป

“จากที่เคยปลูกพืชสวนครัวตามริมน้ำและหาปลาก็ทำไม่ได้แล้ว พอวิถีชีวิตแบบเก่าอยู่ไม่ได้ ก็ต้องย้ายมาอยู่ข้างบนฝั่ง พอขึ้นมาข้างบน ก็ไม่มีที่ดินทำกินอีก เพราะที่ดินล้วนแล้วแต่เป็นของนายทุน”

สมศักดิ์ ติยะธะ ชาวบ้านจากบ้านหาดบ้าย จังหวัดเชียงราย ได้บอกเล่าเรื่องราวเมื่อเราเดินทางมาถึงในหมู่บ้านในช่วงหัวค่ำ น้ำที่ขึ้นลงไม่ตามฤดูกาลทำให้ชาวบ้านไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติเหล่านี้ได้ สมศักดิ์เล่าว่า ก่อนที่จะมีเขื่อน ชาวบ้านในหมู่บ้านหาปลาในแม่น้ำโขง เดินเรือไปมาหาสู่กับคนลาว ปลูกผักสวนครัวตามชายดอนริมฝั่งแม่น้ำโขงในฤดูแล้ง 

สมศักดิ์ ติยะธะ 

“ในฤดูที่น้ำแห้งจะเกิดเป็นพื้นที่กว้างโล่ง ชาวบ้านจะจัดสรรแบ่งกันทำการเกษตร ช่วยกันเพาะปลูก”  

การเพาะปลูกที่ว่านั้น มีตั้งแต่ถั่วลิสง มันแกว ข้าวโพด ผักกาด แตงโม ที่พอเป็นรายได้และอาหารประทังชีวิตของผู้คน โดยไม่จำเป็นต้องออกไปซื้อวัตถุดิบอาหารจากภายนอก แต่การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง ทำให้ชาวบ้านเองก็ต้องปรับตัวในการหาอาชีพใหม่

“คนรุ่นใหม่ออกไปทำงานข้างนอก บางส่วนก็เช่าที่ดินทำการเกษตร ทุกวันนี้คนเฒ่ารู้สึกเหงา เพราะไม่มีที่ทำกิน จึงต้องใช้ภูมิปัญญาในการทอผ้าเล่าเรื่องราวเพื่อบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านของพวกเรา”

สมศักดิ์หยิบผ้าผืนหนึ่งขึ้นมาโชว์ ลวดลายของมันดูแปลกตาไปจากลายผ้าท้องถิ่นอื่นๆ ในประเทศไทย เขาเล่าให้ฟังถึงความหมายของแต่ละลายผ้าว่า พูดถึงความแตกต่างในการดำรงชีวิตของชาวบ้าน บ้านหาดบ้ายที่เกิดความเปลี่ยนแปลง ได้ทำการจดบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านลายผ้า โดยมีทั้งลายน้ำไหล สื่อให้เห็นถึงชีวิตที่ผูกพันอยู่กับแม่น้ำโขง มีลวดลายเป็นลายแมลงปอและลายตาไก่อันเป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิมของคนที่นี่ มีการใส่ลายเขื่อนและเรือขนาดใหญ่เข้าไป ซึ่งชาวบ้านมองว่าคือต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

“ในฐานะที่เราอาศัยอยู่ในแม่น้ำเดียวกัน ก็ควรจะมีวัฒนธรรมในการใช้น้ำร่วมกัน” สมศักดิ์กล่าวในตอนท้าย “ผมรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มันไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ชาวบ้านคงปรับตัวได้”

จากบ้านหาดบ้ายใช้เวลาเดินทางอีกประมาณ 1 ชั่วโมง ก็มาถึงโฮงเฮียน แม่น้ำของ โรงเรียนที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงล้านนา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สาธารณชนให้ได้เข้าใจพื้นที่นิเวศลุ่มน้ำโขง

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ครูตี๋ คือผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนแม่น้ำของ และนักเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำโขง เจ้าของรางวัล Goldman Environmental Prize ประจำปี 2565 กล่าวว่า กลุ่มรักเชียงของก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้มา 9 ปีแล้ว เป็นกลุ่มคนเล็กๆ ในพื้นที่ ทำงานปกป้องสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น โดยมีหลักสำคัญให้คนท้องถิ่นได้รู้จักองค์ความรู้และทรัพยากรของตนเอง

“ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เขื่อนคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของแม่น้ำโขง มีการสร้างเขื่อนมากถึง 12 เขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบน”

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว

เขื่อนแห่งแรกในจีนคือเขื่อนม่านวาน (Manwan) ในมณฑลยูนนาน ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี 1996 ต่อมาคือเขื่อนต้าเฉาชาน (Dachaoshan) ที่ตามมาในปี 2003 หลังการเกิดขึ้นของ 2 เขื่อนนี้ ทำให้ระดับการขึ้นลงของน้ำเริ่มเปลี่ยนไปจากปกติ จนกระทั่งในปี 2010 เขื่อนเสี่ยวหวาน (Xiaowan) ที่มีขนาดความสูงกว่า 300 เมตร ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ความแห้งแล้งในแม่น้ำโขงลงไปอีก

“แม่น้ำโขงตายจะตายในสักวัน” นิวัฒน์เล่า “ถ้ายังปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนและการพัฒนาที่ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อไปแบบนี้”

อ้างอิงข้อมูลจากรายงานสรุปสถานการณ์แม่น้ำโขงสำหรับลูกหลานแม่น้ำโขง ธันวาคม 2022 ระบุว่า รัฐบาลจีนมีแผนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า 28 โครงการบนแม่น้ำโขงตอนบนในจีน  โดยมีเขื่อนที่เปิดใช้งานแล้ว 12 เขื่อน และกำลังดำเนินการก่อสร้างอีก 2 เขื่อน รวมทั้งในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่างเองก็มีโครงการก่อสร้างเขื่อนอยู่ถึง 11 เขื่อน ทั้งในไทย พม่า ลาว กัมพูชา 

นิวัฒน์ตั้งข้อสังเกตว่า การสร้างโครงการขนาดใหญ่ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของรัฐและทุนเท่านั้น ชาวบ้านแทบไม่เคยมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และกำหนดโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ของพวกเขาเอง

ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้นใน 20 กว่าปีที่ผ่านมา ปริมาณการไหลของน้ำไม่ได้เป็นไปตามฤดูกาล เช่น ฤดูฝนน้ำในแม่น้ำโขงควรยกระดับกลับเข้าไปยังแม่น้ำสาขา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ปลาเข้าไปวางไข่ในแม่น้ำสาขา แต่พอปัจจุบันน้ำถูกกักไว้ด้วยเขื่อน  น้ำก็ไม่สามารถเข้าไปสู่แม่น้ำสาขาได้ ทำให้เกิดปัญหาจำนวนปลาลดลงเรื่อยๆ 

“แม่น้ำโขงคือแม่น้ำนานาชาติที่ใช้ร่วมกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมีแต่การสร้างเขื่อนในประเทศของตัวเอง แต่เรื่องธรรมชาติมันไม่ใช่เรื่องของฉันหรือเธอ แม่น้ำให้ประโยชน์กับทุกประเทศ แม่น้ำโขงมันเป็นของทุกคนในโลก อำนาจของรัฐจะใหญ่กว่าได้อย่างไร”

สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ดินแดนปลายทางในความเปลี่ยนแปลง

ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงส่งผลกระทบตลอดลำน้ำ ทำให้ผู้คนตรงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เวียดนามต้องปรับตัวอย่างมาก

ณ เมืองเกิ่นเทอ ประเทศเวียดนาม หนึ่งในเมืองที่อยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (The Mekong Delta) แม้จะเป็นเมืองใหญ่แต่ก็ยังมีคนส่วนหนึ่งของเมืองเกิ่นเทอ ที่ยังผูกพันและใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำผ่านการทำมาค้าขายบนตลาดน้ำที่มีชื่อเสียงในเมืองเกิ่นเทออย่างตลาดนํ้าไคราง (Cai Rang Floating Market) ที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำสาขาแม่น้ำโฮ่ว (Hau)  อันเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำโขง

เหงียน ถิ หนาน (Nguyen Thi Nhan) อายุ 30 ปี ชาวเวียดนาม เธอประกอบอาชีพขายสับปะรดอยู่บนเรือซึ่งเป็นทั้งสถานที่ทำงานและบ้านของเธอกับสามีและลูกอีก 2 คน ก่อนหน้านี้เธอทำอาชีพขายปลา แต่หลังจากมีการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำ ทำให้จอดเรือเพื่อขึ้นฝั่งไปขายปลาไม่ได้อีกต่อไป เธอจึงเปลี่ยนอาชีพมาขายสับปะรดที่มีรายได้ต่อวัน 437-538 บาท (300,000-400,000 ดองเวียดนาม) โดยเริ่มขายตั้งแต่ตี 5 จนถึง 10 โมงเช้า

Iเหงียน ถิ หนาน และสามี

แม้ว่าเหงียนจะไม่ได้บอกออกมาตรงๆ ว่าแม่น้ำสำหรับเธอมีความสำคัญอย่างไร แต่จากวิถีชีวิตของเธอและครอบครัวที่ต้องอยู่อาศัยและทำมาหากินบนแม่น้ำโฮ่ว แม่น้ำจึงเป็นเหมือนที่ดินและพื้นที่ต่อลมหายใจให้กับเธอและครอบครัว

เลอ ถิ โต เกวียน (Le Thi To Quyen) ที่ทำอาชีพไกด์ท้องถิ่นและเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (School of Social Sciences & Humanities) มหาวิทยาลัยคันโถ (Can Tho University) คือคนท้องถิ่นอีกคนหนึ่งที่ออกมาเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ

“แม่น้ำสำคัญกับคนเกิ่นเทอมาก เพราะแม่น้ำพัฒนาการท่องเที่ยว แม่น้ำให้น้ำ ให้ที่อยู่และที่ทำกินกับคนที่นี่ ดังนั้น วัฒนธรรมของเราล้วนเกี่ยวข้องกับแม่น้ำทั้งหมด”

แต่ด้วยสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ผู้คนที่เคยได้พึ่งพิงแม่น้ำอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้นทุกปี จำนวนของสัตว์น้ำน้อยลงจนแทบไม่เหลืออาชีพการทำประมงในแม่น้ำ ตลิ่งพังทลาย รวมทั้งน้ำในฤดูแล้งก็ลดระดับลงอย่างมาก

“เมื่อแม่โขงเปลี่ยนก็ทำให้แม่น้ำสายนี้เปลี่ยนไปด้วย” เลอกล่าว ก่อนที่จะตอบคำถามว่า ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเรือ ทำการค้าขายบนแม่น้ำโฮ่ว ตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร “การใช้ชีวิตอยู่ในแม่น้ำ ผู้คนลดลงทุกปี พวกเขาต้องพบเจอสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้นทุกปี และการใช้ชีวิตอยู่บนบกก็ง่ายกว่า ทั้งการซื้อของ และสำหรับลูกๆ ของพวกเขาในการเรียนหนังสือ”

เลอกล่าวในตอนท้ายว่าเธอเป็นกังวลว่าวิถีชีวิตของผู้คนบนน้ำ รวมทั้งการมีอยู่ของตลาดน้ำไคราง ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของเมืองเกิ่นเทอ จะหายไปในไม่ช้านี้

จากเมืองเกิ่นเทอ ใช้เวลาโดยสารรถประมาณ 3 ชั่วโมง ก็มาถึงบริเวณปากแม่น้ำโขงทางตอนใต้สุดของเวียดนามที่เมืองวินห์ เชา (Vinh Chau) จังหวัดซอก ตรัง (Soc Trang) เพื่อพูดคุยกับ เหงียน จุง ก๊วก (Nguyen Trung Quoc) เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าผู้ทำหน้าที่ปกป้องพื้นที่ชายฝั่งกว่า 43 ตารางกิโลเมตร (4,300 เฮกตาร์) โดยพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งเป็นป่า ส่วนที่เหลือคือที่อยู่อาศัยของคนในท้องถิ่น แม้ว่าพื้นที่ในการดูแลของเขานั้นจะอยู่ห่างไกลจากพื้นที่สร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงไปหลายพันกิโลเมตร แต่เหงียนก็กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงว่า

เหงียน จุง ก๊วก

“การไหลของน้ำไม่เป็นธรรมชาติอีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนขึ้นและไม่สามารถคาดการณ์ได้ และปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลต่อคนในพื้นที่ เราจึงต้องปกป้องพื้นที่ป่าไว้สำหรับผู้คน”

สำหรับนโยบายการดูแลพื้นที่นั้น เหงียนตอบสนองตามแผนการของรัฐบาล และได้พยายามแสดงให้เห็นทั้งการใช้พลังงานทดแทนอย่างพลังงานลม การทำกำแพงป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเขามั่นใจว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะสามารถช่วยเหลือประชากรในพื้นที่จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ 

ในตอนท้ายของการเดินทางครั้งนี้ ศ.ดร.ชุง ฮวง ชอง (Prof. Dr. Chung Hoang Chuong) จากมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาตร์โฮจิมินห์ (VNU-HCM University of Social Sciences and Humanities) ได้ให้ข้อมูลภาพรวมของการร่วมกันปกป้องแม่น้ำโขง 

ศ.ดร.ชุง ฮวง ชอง

ประวัติโดยต่อของชุง เขาย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนในช่วงสงครามเวียดนาม ก่อนกลับมาบ้านเกิดอีกครั้งใน 50 ปีต่อมา และให้ความสนใจต่อประเด็นความร่วมมือข้ามพรมแดนในพื้นที่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยชุงกล่าวว่า

“แม่น้ำโขงเป็นปัญหาร่วมกันของทุกประเทศที่อยู่ในลุ่มน้ำ แต่รัฐก็ใช้แม่น้ำเพื่อเป็นอำนาจต่อรองทางการเมือง ด้วยการกักเก็บน้ำและควบคุมน้ำเอาไว้”

ชุงมองว่า แม่น้ำโขงมีความสำคัญมากกว่าแค่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่สายน้ำที่ไหลต่อกันยังเป็นการส่งต่อวัฒนธรรมร่วมกัน เช่น พันธุ์ข้าว พันธุ์ปลา วัฒนธรรมทางสังคม และประเพณีที่มีจุดเชื่อมโยงร่วมกันผ่านแม่น้ำโขง ดังนั้น หากประเทศพม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม สามารถจับมือร่วมกันในการปกป้องรักษาแม่น้ำโขงได้ จะช่วยเป็นอำนาจต่อรองต่อมหาอำนาจอย่างจีน ได้มากกว่าการต่างคนต่างดูแลแม่น้ำโขงแค่ในพื้นที่ประเทศของตนเอง

“ผมไม่คิดว่าตอนนี้จะสายเกินไป หนำซ้ำช่วงเวลานี้ยังเป็นช่วงเวลาสำคัญ เรามีการประชุมระดับนานาชาติมากมาย ที่ควรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงได้มาเข้าร่วมและขีดเส้นใต้การตัดสินใจร่วมกัน”

ชุงกล่าวในตอนท้ายว่า ความฝันของเขา คืออยากให้แม่น้ำโขงเป็นจุดเชื่อมโยงให้ผู้คนที่อยู่คนละประเทศมาทำงานร่วมมือกัน โดยไม่ให้มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของแม่น้ำโขง แต่ทุกคนคือเจ้าของร่วมกัน

การเดินทางจากสามเหลี่ยมทองคำ จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย จนมาสิ้นสุดการเดินทางอยู่ที่พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่เมืองวินห์ เชา  จังหวัดซอก ตรัง ประเทศเวียดนาม เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งจากนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ประชาชน ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และการเปลี่ยนแปลงยังคงมีอยู่ต่อไปและมีแนวโน้มที่จะย่ำแย่ลง เพราะจำนวนเขื่อนที่กำลังจะเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ในอนาคตบนแม่น้ำโขง

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
ณฐาภพ สังเกตุ