Humberger Menu

ใครคือ พ่อค้าความตาย?

ทุกวันอังคารที่ 3 ของเดือนกันยายนในแต่ละปี จะมีการประชุมใหญ่ระดับนานาชาติเกิดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งก็คือการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly: UNGA) ซึ่งรัฐสมาชิกของ UN ทั้งหมด 193 ประเทศจะส่งตัวแทนมาร่วมประชุมที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยคณะที่มาร่วมประชุมส่วนใหญ่มักจะรวมผู้นำประเทศในขณะนั้นด้วย แต่ก็มีบางประเทศที่ส่งรัฐมนตรีมาแทน

วาระการประชุมประจำปีคือการให้ตัวแทนประเทศสมาชิกเลือกตั้งประธานสมัชชาสหประชาชาติ (President of the General Assembly: PGA) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไปตามภูมิภาค 

แต่สิ่งที่เป็นดั่งไฮไลต์การประชุมกลับเป็นการกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมของผู้นำนานาชาติ เพราะบางครั้งก็มีผู้นำที่ใช้การประชุม UNGA เป็นเวทีแห่งการ ‘ฟ้องโลก’ แทนการนำเสนอผลงานหรือความคืบหน้าของประเทศตัวเอง

โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี

และในเวที UNGA เดือนกันยายน 2024 โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้ฟ้องโลกโดยพาดพิงถึงคู่อริอย่างรัสเซียที่รบกันมาตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปัจจุบัน โดยเขาอ้างเรื่องหน่วยข่าวกรองยูเครนสืบพบเบาะแสว่ารัสเซียมีแผนจะโจมตีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในยูเครน และหายนะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ยังเป็นสิ่งที่หลอกหลอนคนยูเครนอยู่ไม่น้อย เพราะตอนที่ยูเครนยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตก็เคยเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดมาก่อน ส่งผลกระทบร้ายแรงถึงขั้นเมืองที่ตั้งโรงไฟฟ้ากลายเป็นเมืองร้างเพราะผู้คนบาดเจ็บล้มตายจนต้องสั่งอพยพครั้งใหญ่

นอกจากนี้เซเลนสกียังกระทบชิ่งไปถึงจีนซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศทรงอิทธิพลในเวทีโลกอีกด้วย โดยเซเลนสกีอ้างว่า จีนเป็นผู้สนับสนุนด้านอาวุธแก่รัสเซียให้ทำสงครามเข่นฆ่าประชาชนในยูเครน ทั้งยังประกาศชัดเจนว่าเขาไม่เห็นด้วยกับแผนเจรจาหยุดยิงที่จีนกับบราซิลพยายามผลักดันให้เป็นแนวทางยุติศึกยูเครน-รัสเซีย เพราะแผนดังกล่าวไม่พูดถึงเรื่องรัสเซียต้องถอนกำลังออกจากยูเครนเลย เขาจึงมองว่าเป็นเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกรุกรานอย่างยูเครน

ฝั่งรัสเซียส่ง เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ มาประชุม UNGA แทนประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งไม่มาประชุมเพราะมีธุระส่วนตัว และลาฟรอฟก็ไม่ได้ตอบโต้เซเลนสกีเรื่องแผนโจมตีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ทำให้สื่อมวลชนส่วนหนึ่งประเมินว่านี่คือการยอมรับกลายๆ ว่าข้อมูลของเซเลนสกีคือเรื่องจริง 

เมืองซาโปริสเซียในยูเครนหลังถูกโจมตี ซึ่งเมืองนี้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่

แต่สิ่งที่ทำให้กลายเป็นประเด็นร้อนคือลาฟรอฟขู่ว่า ความคิดจะเอาชนะรัสเซียของยูเครนเหมือนกับการฆ่าตัวตายอย่างบ้าระห่ำ (suicidal escapade) เพราะในขณะที่ยูเครนมีแค่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่รัสเซียมี ‘อาวุธนิวเคลียร์’ ซึ่งมีอานุภาพทำลายล้างอยู่ในครอบครองเป็นจำนวนมาก 

รัสเซียขู่เรื่องอาวุธนิวเคลียร์ได้อย่างเต็มปาก เพราะจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ที่รัสเซียครอบครองอยู่นั้นมีมากถึง 5,580 ลูก แต่การแถลงตอบโต้ของรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียทำให้นักวิเคราะห์เตือนว่าความพยายามปลดอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ถูกลงนามโดยหลายประเทศตั้งแต่ปี 1968 หลังจากทั่วโลกได้เห็นหายนะร้ายแรงจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังมีสนธิสัญญาเกี่ยวกับนิวเคลียร์ออกมาอีกในภายหลัง แต่สหรัฐฯ กับรัสเซียต่างถอนตัวจากสนธิสัญญาเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ไปในปี 2019 และล่าสุดก็มีรายงานว่าประธานาธิบดีรัสเซียเพิ่งเสนอให้ปรับแก้กฎในประเทศเรื่องการใช้ขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยต่างๆ ที่สามารถโจมตีได้จากระยะไกล ภัยคุกคามจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์จึงเป็นประเด็นที่ทั่วโลกไม่อาจลดระดับการเฝ้าระวังลงได้ 

ผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์

9 ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง คือ

  • สหรัฐอเมริกา 5,748 ลูก
  • รัสเซีย 5,580 ลูก
  • จีน 500 ลูก
  • ฝรั่งเศส 290 ลูก
  • สหราชอาณาจักร 225 ลูก
  • อินเดีย 172 ลูก
  • ปากีสถาน 170 ลูก
  • อิสราเอล 90 ลูก
  • เกาหลีเหนือ 50 ลูก

องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการควบคุมและกำกับดูแลการครอบครองอาวุธ Arms Control รายงานว่า การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของหลายประเทศเป็นการสะสมหัวรบนิวเคลียร์ซึ่งสามารถนำไปบรรจุในขีปนาวุธนำวิถีประเภทต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นพิสัยใกล้ ระยะกลาง หรือระยะไกล 

ประเทศที่ครอบครองหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก คือ สหรัฐอเมริกา (5,748 ลูก) ซึ่งเคยทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งยังมีการดำเนินนโยบายในยุคสงครามเย็นที่สนับสนุนการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อสร้างอำนาจทางทหาร ซึ่งปัจจัยนี้มีส่วนทำให้รัสเซีย หรืออดีตสหภาพโซเวียตที่เป็นปฏิปักษ์สหรัฐฯ ตลอดยุคสงครามเย็น และยังไม่มีทีท่าว่าจะเป็นมิตรต่อกันจนถึงทุกวันนี้ พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องเช่นกัน จนปัจจุบันมีหัวรบมากเป็นอันดับ 2 ของโลก (5,580 ลูก)

ประเทศในเอเชียที่สะสมหัวรบนิวเคลียร์มากเป็นอันดับ 3 ของโลกคือจีน (500 ลูก) ขณะที่อันดับ 4-5 เป็นชาติตะวันตกอดีตเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส (290 ลูก) และสหราชอาณาจักร (225 ลูก) ตามด้วยอันดับ 6-9 ซึ่งเป็นประเทศแถบเอเชียทั้งหมด ได้แก่ อินเดีย (172 ลูก) ปากีสถาน (170 ลูก) อิสราเอล (90 ลูก) และเกาหลีเหนือ (50 ลูก) 

ขณะที่บางประเทศ เช่น อิหร่าน ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีโครงการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ แต่ทางการอิหร่านไม่ยอมให้ตัวแทนขององค์กรกำกับดูแลด้านนิวเคลียร์เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงไม่อาจระบุได้ว่าการทดลองด้านอาวุธในอิหร่านถูกพัฒนาไปมากน้อยเพียงไร

นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์มีเป้าหมายเพื่อแสดงบารมีและสร้างอำนาจต่อรองทางการทหารเท่านั้น ไม่น่าจะมีประเทศไหนในโลกอยากใช้อาวุธนิวเคลียร์จริงๆ เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นร้ายแรงและอาจเข้าข่ายก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และเมื่อมีชาติหนึ่งเริ่มยิง ชาติที่สองและสามก็อาจเริ่มยิงตอบโต้เป็นมหาสงคราม แต่ประเทศผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ก็ไม่เคยหยุดพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาวุธลงเลย ทำให้ภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องจับตามองต่อไป

TOP 5 ประเทศผู้ค้าอาวุธ หรือจะเป็นผู้ค้าความตาย?

เมื่อความขัดแย้งนองเลิอดเกิดขึ้นทั่วโลก ธุรกิจค้าอาวุจจึงเติบโต

แม้การสะสมอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัว แต่มูลนิธิ World Peace ระบุในรายงานประจำปี 2024 ว่าการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ทั่วโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่องช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กลายเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงความขัดแย้งให้คงอยู่ต่อไป และมีผู้เปรียบเปรยว่าอุตสาหกรรมค้าอาวุธคืออุตสาหกรรมการค้าความตาย เพราะอาวุธที่ถูกกระจายไปทั่วโลกถูกนำไปใช้ในการสู้รบนองเลือดจริงๆ

เช่นเดียวกับรายงานขององค์กรรณรงค์เพื่อสันติภาพ SIPRI (Stockholm International Peace Research Institute) ที่เผยแพร่ในเดือนมีนาคม 2024 ระบุว่ารัฐบาลและเอกชนที่ผลักดันการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ทั่วโลกอ้างเป้าหมายว่า ‘เป็นไปเพื่อปกป้องอธิปไตยและความมั่นคงของประเทศ’ แต่การค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เติบโตในนามของความมั่นคงสร้างรายได้มหาศาลให้กับผู้เกี่ยวข้องแทบจะถ้วนหน้า 

SIPRI ประเมินมูลค่าตลาดค้าอาวุธล่าสุดโดยอ้างอิงข้อมูลปี 2021 คาดว่า การส่งออกอาวุธสร้างรายได้แก่ผู้ผลิตและส่งออกทั่วโลกราว 127,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4.06 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากข้อมูลด้านนี้เปิดเผยต่อสาธารณะเพียงบางส่วนเท่านั้น และข้อมูลล่าสุดที่ SIPRI ใช้อ้างอิงนำมาจากฐานข้อมูลสาธารณะของรัฐและเอกชนที่ผลิตและค้าอาวุธระหว่างปี 2018-2023 และพบว่าหลายประเทศเพิ่มงบประมาณด้านการทหารมากกว่างบประมาณด้านสาธารณสุข ทั้งที่ช่วงเวลานี้คาบเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์อันดับ 1 ของโลกติดต่อกันมานาน และผลสำรวจตลาดค้าอาวุธโลกระหว่างปี 2023-2024 พบว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ส่งออกโดยสหรัฐฯ ยังคงครองอันดับ 1 เช่นที่ผ่านมา คิดเป็น 41.7 เปอร์เซ็นต์ของอาวุธทั้งหมดที่จำหน่ายไปทั่วโลก 

ประเทศที่ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นอันดับ 2-5 ในปี 2024 ได้แก่ ฝรั่งเศส (10.9 เปอร์เซ็นต์) รัสเซีย (10.5 เปอร์เซ็นต์) จีน (5.6 เปอร์เซ็นต์) และเยอรมนี (5.6 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งโลกเกือบทั้งหมดเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกด้วยเช่นกัน เพราะประเทศเหล่านี้มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาวุธยุทโธปกรณ์มาตลอด 

ประเทศที่นำเข้าอาวุธมากเป็นอันดับ 1 ของโลกคืออินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากสุดในโลก ณ ปัจจุบัน แถมยังมีความขัดแย้งด้านพรมแดนและการเมืองกับจีนและปากีสถาน ซึ่งต่างก็เป็นประเทศที่สะสมอาวุธนิวเคลียร์ด้วยกันทั้งคู่

อาวุธถูกกฎหมายหล่อเลี้ยงสมรภูมิความขัดแย้งทั่วโลก

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ระบุว่า ปัจจุบันมีการสู้รบดำเนินอยู่ใน 20 พื้นที่ทั่วโลก เกี่ยวพันกับรัฐชาติ 60 รัฐและคู่ขัดแย้งที่ไม่ใช่รัฐประมาณ 120 กลุ่ม ซึ่งการสู้รบเหล่านี้ไม่ถูกเรียกว่า ‘สงคราม’ แต่เป็น ‘ความขัดแย้งทางอาวุธ’ (armed conflict) เพราะนับตั้งแต่โลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ยังไม่เคยมีการประกาศสงครามเป็นทางการระหว่างรัฐต่อรัฐหรือคู่ขัดแย้งเกิดขึ้นเลย

การสู้รบนองเลือดในพื้นที่ต่างๆ จึงไม่อาจเรียกว่าสงครามตามนิยามของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ถูกนับเป็นความขัดแย้งทางอาวุธซึ่งมีความหมายครอบคลุมและตรงกับสภาพความเป็นจริงมากกว่า

ขณะที่องค์กรเฝ้าระวังวิกฤติระหว่างประเทศ International Crisis Group ระบุว่าในปี 2024 มีสมรภูมิความขัดแย้งทางอาวุธที่น่ากังวลอยู่ประมาณ 6 แห่ง คือ การรุกรานยูเครนของรัสเซีย, การโจมตีฉนวนกาซาที่เป็นผลจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส, ความขัดแย้งทางการเมืองในซูดาน, สงครามกลางเมืองในพม่า, การต่อสู้แย่งชิงอำนาจในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) และการก่อความรุนแรงแถบดินแดนซาเฮลในแอฟริกาซึ่งเกี่ยวพันกับกลุ่มติดอาวุธเครือข่ายกลุ่มก่อการร้ายและกองทัพของรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่มีพรมแดนเชื่อมต่อกับซาเฮลหรือเขตรอยต่อทะเลทรายซาฮารา

ความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างยูเครน-รัสเซีย ซึ่งคนจำนวนมากพร้อมใจเรียกว่า ‘สงครามยูเครน’ มีการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จากหลายประเทศ โดยยูเครนได้รับอาวุธและความช่วยเหลือด้านการทหารจากสหรัฐฯ และประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านอดีตสหภาพโซเวียต

ส่วนรัสเซียนั้นสามารถพัฒนาและผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ของตัวเองได้ แต่มีรายงานตรงกันหลายฉบับว่าจีนเป็นหนึ่งในผู้หนุนหลังด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แก่รัสเซียอีกทางหนึ่ง สอดคล้องกับคำแถลงของประธานาธิบดียูเครนในเวที UNGA และรายงานของ Reuters ที่บ่งชี้ว่ารัสเซียกำลังพัฒนาโดรนเพื่อการสู้รบในจีนก็ถูกเผยแพร่ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

ขณะที่ความขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาส ซึ่งนำไปสู่การถล่มดินแดนปาเลสไตน์และเลบานอนเพื่อกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธฮามาสในฉนวนกาซาและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน มีข้อมูลระบุว่า อิสราเอลได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ และสมาชิก NATO เช่นกัน อีกทั้งรัฐบาลอิสราเอลก็ยังเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีทางทหารและความมั่นคงที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก จำนวนอาวุธและความแข็งแกร่งของกองทัพอิสราเอลจึงถูกประเมินว่ามีความล้ำหน้ากว่าฮามาสและฮิซบอลเลาะห์ 

ด้วยเหตุนี้ การโจมตีฉนวนกาซาและเลบานอนของอิสราเอลจึงทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก โดยตัวเลขที่ประเมินล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2024 พบว่าผู้เสียชีวิตในกาซาและดินแดนปาเลสไตน์อื่นๆ มีจำนวนมากกว่า 43,000 คน แม้ฮามาสและฮิซบอลเลาะห์จะได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธจากอิหร่าน แต่เมื่อถูกอิสราเอลตอบโต้กลับก็ต้องเจอกับความสูญเสียที่ร้ายแรงกว่า

ส่วนอาวุธที่กองกำลังอ้างอุดมการณ์อิสลามและรัฐบาลประเทศต่างๆ ใช้ต่อสู้ในภูมิภาคซาเฮลหรือเขตรอยต่อทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา ถูกส่งออกโดยจีน ขณะที่รัฐบาลทหารพม่าปัจจุบันใช้อาวุธจากรัสเซียในการสู้รบกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เป็นหลัก แต่อาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ถูกระบุว่ามีต้นทางจากชายแดนจีน-พม่า โดยผู้ที่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวคือ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้รัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2021 ซึ่งปัจจุบันควบทั้งตำแหน่งประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีรักษาการ 

ที่จริงแล้ว มิน อ่อง หล่าย ไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศจีนโดยตรงว่าเป็นผู้ส่งออกอาวุธให้กลุ่มชาติพันธุ์ แต่ในถ้อยแถลงของ มิน อ่อง หล่าย หลังขยายเวลาประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศไปเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2024 ระบุว่า ประเทศเพื่อนบ้านบางแห่งสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธที่เป็นผู้บ่อนทำลายความสงบของพม่า ทั้งงบประมาณ อาวุธยุทโธปกรณ์ และการส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมสู้รบด้วย พร้อมระบุว่าอาวุธที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้อยู่ถูกผลิตที่ชายแดนจีน-พม่า และถูกขนย้ายผ่านไทยไปยังกลุ่มติดอาวุธที่สู้รบอยู่ในรัฐต่างๆ ของพม่า

กล่าวโดยสรุปคือ ประเทศที่ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับการต่อสู้และความขัดแย้งนองเลือดในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกเช่นกัน ทำให้มีความพยายามจากองค์กรระหว่างประเทศซึ่งเสนอให้มีการกำกับดูแลการค้าอาวุธไม่ให้ถูกนำไปใช้ในสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งส่งผลต่อชีวิตของพลเรือน 

แต่ถ้าดูจากสถานการณ์ในยูเครน กาซา พม่า ซูดาน ดีอาร์คองโก หรือซาเฮล ก็สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงว่าการค้าอาวุธจะยังคงอยู่ต่อไป และการควบคุมอาวุธไม่อาจเป็นจริงได้ตราบเท่าที่อุตสาหกรรมนี้ยังทำเงินรายได้มหาศาลให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทั่วโลก

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
ตติกานต์ เดชชพงศ