Humberger Menu

โศกนาฏกรรม ‘ตากใบ’ นับถอยหลัง 11 วัน ก่อนหมดอายุความ 20 ปี

เหตุการณ์ตากใบ เมื่อ 25 ตุลาคม 2547 เป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่รัฐไทยมีการใช้ความรุนแรงกับประชาชนจนนำไปสู่การได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพหรือพิการ และเสียชีวิต

ผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่เคยลืมเลือน คดีตากใบที่นับถอยหลังหมดอายุความลงในปีนี้ ชาวบ้านจำนวน 48 คน จึงตัดสินใจรวมตัวฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมตากใบ ถือเป็นการยื่นฟ้องครั้งสุดท้ายก่อนที่คดีตากใบจะหมดอายุความ ขณะเดียวกันอัยการสูงสุดเพิ่งมีคำสั่งฟ้องในสำนวนที่มีมาแล้วกว่า 19 ปี 

“เราอยากขอความยุติธรรมเป็นสิ่งแรก” เสียงจากญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ ที่รอมากว่า 19 ปี แม้ตอนนี้จะมีการออกหมายจับผู้ต้องหาแล้ว แต่ยังคงไม่พบตัวใคร ถ้าไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาปรากฏตัวต่อหน้าศาลภายในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ จะถือว่าคดีสิ้นสุดลง เนื่องจากขาดอายุความคดีอาญา 20 ปี 

ย้อนรอยเหตุการณ์ตากใบ และกรณีการยื่นฟ้องจากภาคประชาชนและอัยการสูงสุด มีความแตกต่างกันอย่างไร แล้วทำไมต้องรอมาจนใกล้หมดอายุความอัยการสูงสุดถึงเพิ่งมีความเห็นส่งฟ้อง  

คดีตากใบที่ประชาชนยื่นฟ้อง การสู้ครั้งสุดท้ายของญาติผู้เสียชีวิต

สำหรับยื่นฟ้องครั้งนี้ของภาคประชาชน (ญาติผู้เสียชีวิต) เป็นการฟ้องที่ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โดยยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน

25 สิงหาคม ศาลพิจารณารับคำฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐเพียง 7 คน โดยศาลเห็นว่า จำเลยที่ 2 อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น และจำเลยที่ 7 อดีตรองผู้กำกับ สภ.ตากใบ ในขณะนั้น คำฟ้องไม่ครบองค์ ทำให้อดีตเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 2 คนหลุดคำฟ้องดังกล่าว

ข้อหาในการยื่นฟ้อง

  • ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหา ฆ่าผู้อื่น โดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย ตามมาตรา 288 และ 289 (5)
  • ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ตามมาตรา 309
  • หน่วงเหนี่ยว หรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามมาตรา 310

รายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 7 ที่ศาลรับฟ้อง 

  • พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 
  • พลเอกเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 
  • พลตำรวจเอกวงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า
  • พลตำรวจโทมาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 
  • พลตำรวจตรีศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับ สภ.ตากใบ 
  • ศิวะ แสงมณี อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย 
  • วิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส 

สำหรับการยื่นฟ้องคดีอาญาแก่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นการยื่นฟ้องในนามของประชาชน โดยประชาชนเป็นโจทก์ และอดีตเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำเลย ขั้นตอนกระบวนการเมื่อมีประชาชนเป็นโจทก์จะแตกต่างกับกรณีที่พนักงานอัยการฟ้องดำเนินคดีเอง เพราะการฟ้องดำเนินคดีของพนักงานอัยการจะทำให้คดีนั้นเป็นคดีอาญาทันที โดยไม่ต้องมีขั้นตอนไต่สวนข้อมูลฟ้อง 

เมื่อประชาชนเป็นโจทก์ กระบวนการที่ตามมาคือ ศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน เพื่อพิจารณาว่าคดีมีมูลฟ้องพอเป็นคดีอาญาหรือไม่ หากศาลประทับรับฟ้องจะเป็นคดีอาญาทันที 

ศาลนัดสอบคำให้การรอบใหม่ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ทั้งนี้ระหว่างการนัดไต่สวนพยาน และหลังศาลรับคำฟ้องแล้วเรียกสอบคำให้การก่อนหน้านี้ยังคงไม่พบการปรากฏตัวของผู้ต้องหาทั้งหมดต่อศาล 


คดีตากใบที่อัยการสูงสุดฟ้อง สำนวนดองมานานกว่า 19 ปี

12 กันยายน 2567 อัยการสูงสุดมีคำสั่งส่งฟ้องคดีตากใบ ในสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม และสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลาจาก พลตำรวจโทอิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา กรณีนำตัวผู้ชุมนุมขึ้นรถบรรทุกอย่างแออัด ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จนมีผู้เสียชีวิต 78 คน เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 

อัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนและมีคำสั่งฟ้อง 8 ผู้ต้องหาโดยวินิจฉัยว่าจากพยานหลักฐานที่ได้ไต่สวน แม้ผู้ต้องหาทั้ง 8 ซึ่งมีทั้งพลขับและผู้ควบคุมการขนย้ายผู้ชุมนุม จะไม่ประสงค์ผลที่จะให้ถึงแก่ความตายก็ตามแต่การจัดหารถเพียงจำนวน 25 คันในการบรรทุกผู้ชุมนุมประมาณพันกว่าคนเป็นการบรรทุกที่แออัดเกินกว่าจะเป็นวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม ซึ่งผู้ต้องหาที่ 1 และ 7 รู้อยู่แล้วว่าจำนวนรถกับจำนวนคนไม่เหมาะสม การที่ผู้ต้องหาที่ 2 -  6 และที่ 8 ซึ่งเป็นคนขับรถก็เห็นถึงสภาพการบรรทุกผู้ชุมนุมดังกล่าวอันเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คนขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในการควบคุมของพนักงานการกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจได้ ดังนั้นการกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 จึงเป็น ‘ความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น’

คำสั่งฟ้องนี้ระบุผู้ต้องหา 8 คน ได้แก่ 

ผู้ต้องหาที่ 1 พลเอกเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 (ผบ.พล.ร. 5) ผู้สั่งสลายการชุมนุม  

ผู้ต้องหาที่ 2 ร้อยตรีณัฐวุฒิ เลื่อมใส พลขับ

ผู้ต้องหาที่ 3 วิษณุ เลิศสงคราม พลขับ

ผู้ต้องหาที่ 4 เรือโทวิสนุกรณ์ ชัยสาร พลขับ

ผู้ต้องหาที่ 5 ปิติ ญาณแก้ว พลขับ

ผู้ต้องหาที่ 6 พันจ่าตรี รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ พลขับ

ผู้ต้องหาที่ 7 พันโทประเสริฐ มัทมิฬ ผู้ควบคุมขบวนรถ

ผู้ต้องหาที่ 8 ร้อยโทฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ พลขับ

ซึ่งผู้ต้องหาชุดนี้ที่อัยการสูงสุดส่งฟ้องนั้น แตกต่างกับกรณีที่ประชาชนยื่นฟ้อง โดยผู้ต้องหาที่อัยการยื่นฟ้องเกี่ยวข้องกับการขนย้ายผู้เสียชีวิต ไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี จึงมีผู้บัญชาการ พลขับ และผู้ควบคุมการขนย้ายผู้ชุมนุมในเวลานั้น 

ทั้งนี้ย้อนไปเมื่อปี 2547 สำนวนวิสามัญฆาตกรรม พนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี เคยมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง โดยอ้างว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ก่อนส่งสำนวนการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ที่ถูกควบคุมตัวทั้ง 78 คน ให้พนักงานอัยการปัตตานี

ต่อมามีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามขั้นตอน แต่ระหว่างนั้น การไต่สวนถูกโอนสำนวนไปที่ศาลจังหวัดสงขลา และในปี 2548 ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งว่า ผู้ตายทั้ง 78 คน มีเหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่

ก่อนที่พนักงานอัยการ จะส่งเอกสารพร้อมถ้อยคำสำนวน คืนให้กับพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก เพื่อส่งสำนวนวิสามัญฆาตกรรม ให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณา แต่หลังอัยการสูงสุดได้รับสำนวนวิสามัญฆาตกรรม และสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลาจาก พลตำรวจโทอิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติมในหลายประเด็น 

ระหว่างการสอบสวนเพิ่มภาคประชาชนได้ส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงอัยการสูงสุดให้เร่งรัดคดี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 แต่สำนักงานคดีอัยการสูงสุด มีหนังสือตอบกลับประชาชน โดยมีคำสั่งยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรม เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 

แม้สุดท้ายอัยการสูงสุด ให้สั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน ในคดีตากใบ ข้อหาร่วมกันเจตนาฆ่า ซึ่งเป็นความเห็นแย้งพนักงานสอบสวน เมื่อ 19 ปีก่อน 

ปัจจุบันมีการออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 2 ชุด ซึ่งมีข่าวว่าได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว เช่น  พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้สั่งสลายการชุมนุม ที่ปัจจุบันลาป่วย ไปรักษาตัวอยู่ต่างประเทศ ทั้งนี้ตำรวจได้ทำการค้นหาตัวผู้ต้องหาไม่ว่าจะบุกบ้านของผู้ต้องหาทุกคนแต่ยังคงไม่พบตัว

ภาพบุกค้นบ้านพลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี

สำหรับในคดีตากใบหากผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีในคดีหนึ่งไม่ได้มามอบตัวตามหมายจับ ถูกจับกุม หรือถูกส่งตัว หรือไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาปรากฏตัวต่อหน้าศาลภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 จะถือว่าคดีสิ้นสุดลง เนื่องจากขาดอายุความคดีอาญา 20 ปี 


โศกนาฏกรรมตากใบที่ยังคงฝังอยู่ในความทรงจำของทุกคน

จุดเริ่มต้นของ เหตุการณ์ตากใบนั้น เริ่มจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ควบคุมตัว ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน กว่าสัปดาห์หลังจากพวกเขาแจ้งความว่าถูกกลุ่มติดอาวุธปล้นปืนที่รัฐแจกจ่ายให้พวกเขาไป 6 กระบอก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจมองว่า ชรบ. แจ้งความเท็จ

ทำให้ชาวบ้านรวมกันเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชรบ. ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 และการเรียกร้องครั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่พอใจจากเดือนมกราคมของปีเดียวกัน ปืนถูกปล้นจากค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 ไป 300-400 กระบอก กลับไม่มีการดำเนินการเอาผิดกับทหาร แต่กรณี ชรบ. ถูกปล้นปืน กลับถูกจับกุมและไม่ให้ประกันตัว

ในวันดังกล่าวได้มีการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน แต่หลังการเจรจาไม่เป็นผล และประชาชนเข้ามาสมทบการชุมนุมเพิ่มขึ้นจนจำนวนราว 2,000 คน เมื่อการชุมนุมส่อเค้าจะเกิดการใช้ความรุนแรงและบุกเข้าไปยังสถานีตำรวจ พลโทพิศาล รัตนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 จึงสั่งการให้สลายการชุมนุม โดยการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำ และกระสุนจริง มีผู้เสียชีวิตทันทีในเหตุการณ์ 7 ศพ 

หลังสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวประชาชนผู้ชุมนุม 1,370 คน ผู้ชุมนุมชายและหญิงถูกจับแยกกัน ผู้ชุมนุมผู้ชายถูกสั่งให้ถอดเสื้อมามัดมือไพล่หลัง จากนั้นเจ้าหน้าที่ขนย้ายผู้ชุมนุมไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหารด้วยรถบรรทุก ด้วยข้ออ้างว่ารถขนย้ายไม่เพียงพอ ผู้ชุมนุมชายที่ถูกจับต้องนอนซ้อนกันหลังรถบรรทุกมากกว่า 2 ชั้น และขนย้ายผู้ชุมนุมนานกว่า 6 ชั่วโมง ระยะทาง 150 กิโลเมตร

จากการขนย้ายผู้ชุมนุมด้วยวิธีการดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 78 ศพ ด้วยสาเหตุขาดอากาศหายใจ ถูกกดทับ ขาดอาหารและนํ้า และไตวายเฉียบพลัน ผู้รอดชีวิตบางคนพิการ 

แม้ในภายหลังรัฐจะมีการเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นคำถามว่า ไม่ว่าเหตุผลอะไรก็ตาม การกระทำแบบนี้กับเพื่อนมนุษย์สมควรเกิดขึ้นหรือไม่

การสลายการชุมนุมตากใบกลายเป็นคดีความ ผ่านมาจนถึงปัจจุบันในเดือนนี้คดีจะหมดอายุความ 20 ปี แต่มาในปีที่ 19 ศาลเพิ่งรับฟ้องคดีตากใบ จากการยื่นฟ้องของประชาชน ต่ออดีตเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมของประชาชน และอัยการสูงสุดเพิ่งมีคำสั่งฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องกับการนำตัวผู้ชุมนุมขึ้นรถบรรทุกไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จนมีผู้เสียชีวิต ก่อนหมดอายุความเพียงไม่กี่เดือน จนในขณะนี้ผ่านมา 19 ปี ยังคงไม่สามารถหาตัวผู้ต้องหาพบ  

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
กองบรรณาธิการ