Humberger Menu

ชายแดนใต้ 2547 มีมากกว่าตากใบ

อีกไม่กี่วันข้างหน้า คดีสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบก็จะหมดอายุความ ไม่สามารถเอาผิดผู้ที่มีส่วนร่วมทำให้ประชาชน 85 คนเสียชีวิตได้อีกต่อไป

เมื่อเห็นความอยุติธรรมเดินผ่านหน้า กระแสความรู้สึกของผู้คนจึงให้ความสนใจกับเหตุการณ์นี้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายตรงข้ามเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ที่สุดท้ายต้องหลบหนีการดำเนินคดี ไม่ปรากฏตัวในวันที่ศาลนัด และมีความเป็นไปได้สูงที่บุคคลทั้งหมดจะหายหน้าไปจนกว่าจะพ้นเที่ยงคืนวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นเส้นตาขาดอายุความ 20 ปีของคดีสังหารประชาชน

อย่างไรก็ตาม ‘ตากใบ’ เป็นเพียงจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ทำให้ชีวิตของผู้คนชายแดนใต้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

จริงอยู่ว่า หากมองประวัติศาสตร์ที่ยาวกว่านั้น จึงหวัดชายแดนใต้ถูกปฏิบัติเยี่ยง ‘คนนอก’ โดยตั้งแต่ไทยยังเป็นรัฐสยาม ต่อเนื่องมาถึงยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ใช่นโยบายรัฐนิยม ให้ทุกคนในชาติอยู่ใต้ความเป็นไทยหนึ่งเดียว เรื่องราวสำคัญเช่นการบังคับสูญหาย หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ผู้นำทางศาสนาและการเมืองของปตานี ในฐานะผู้เสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อ เพื่อการแสดงอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และสิทธิทางการปกครองของชาวปตานี จนสุดท้ายถูกจับด้วยข้อหาปลุกระดมและเป็นตัวการแบ่งแยกดินแดน และถูกอุ้มฆ่าในปี 2497 

แต่ปี 2547 เป็นปีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะมีเหตุรุนแรงสำคัญเกิดขึ้น จนทำให้รัฐไทยส่วนกลางต้องใช้กฎหมายพิเศษกับพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มายาวนาน ตั้งแต่ยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร มาถึง แพทองธาร ชินวัตร จังหวัดชายแดนใต้ก็ยังถูกครอบด้วยกฎหมายที่บ่งบอกถึงสถานการณ์ไม่ปกติไม่ต่างจากสงคราม การปฏิบัติเช่นนี้กินเวลายาวนานจนผู้คนในพื้นที่ - คนที่มีสิทธิและชีวิตไม่ต่างจากคนในจังหวัดอื่นๆ ของประเทศนี้ - บอกว่า พวกเขาชินชากับความไม่ปกติเหล่านี้เสียแล้ว 

ผ่านไป 20 ปี เหตุการณ์ดังต่อไปนี้เป็นหมุดหมายประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องอย่างเป็นเหตุเป็นผล แม้รัฐอาจไม่อยากให้จดจำ แต่ใช่หรือไม่ว่า บาดแผลที่เกิดขึ้นกับทั้งผู้คนและเจ้าหน้าที่รัฐในชายแดนใต้ไม่ควรถูกลืม

ความรุนแรงชายแดนใต้ 2547

ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง

'วันเสียงปืนแตก' เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2547

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เริ่มจากมีการเผาโรงเรียน 20 แห่งพร้อมๆ กัน ในจังหวัดนราธิวาส คาดว่าเป็นแผนเบี่ยงเบนความสนใจของเจ้าหน้าที่ เพราะในเวลาใกล้เคียงกัน เกิดเหตุบุกปล้นอาวุธปืน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

 หรือ ‘ค่ายปิเหล็ง’ ตำบลปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส มีทหารเสียชีวิต 4 นาย และการเข้าปล้นปืนครั้งนี้ใช้เวลาเพียง 20 นาที 

ภายหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้พยายามตามจับผู้ปล้นอาวุธปืน แต่ระหว่างทางที่ตามจับ ผู้ก่อเหตุปล้นปืนได้โรยตะปูเรือใบบนถนน เพื่อสกัดไม่ให้เจ้าหน้าที่ติดตามตัวได้ นอกจากนั้นยังมีการก่อเหตุคู่ขนานในจุดอื่นและจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย เช่น วางระเบิดในจังหวัดปัตตานี บุกถล่มโรงพักในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา สุดท้ายผู้ก่อเหตุทั้งหมดหลบหนีไปได้ 

กล่าวกันว่า การปล้นปืนจากค่ายทหารทำให้รัฐบาลเสียหน้าอย่างมาก จนมีข่าวว่า นายกฯ ถึงกับกล่าวว่า ถ้ามีทหารทั้งกองพันอยู่ที่นั่น แต่ยังไม่ระวังตัว ถ้าอย่างนั้นก็สมควรตาย

ต่อมา 5 มกราคม จากการปล้นปืนค่ายปิเหล็ง รัฐได้ประกาศ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก 2457 ใน 3 พื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ไม่นานจากนั้นพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ก็อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ, พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีการลดระดับการใช้ในบางครั้ง แต่กฎหมายที่รัฐไทยทำให้พื้นที่มลายูมุสลิมกลายเป็น ‘พื้นที่พิเศษ’ ก็ไม่เคยหายไป ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อำนาจของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก

- จับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล และแม้ไม่ใช่การกระทำผิดซึ่งหน้า แต่ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งเหตุแห่งการจับ หรือแจ้งข้อกล่าวหา และไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งผู้ปกครอง ญาติ หรือบุคคลที่ผู้ถูกจับไว้วางใจให้ทราบถึงการจับกุม หรือการปล่อยตัว - ในระหว่างการสอบปากคำ หรือสอบถามข้อมูลระหว่างควบคุมตัวนั้น ก็ไม่ได้กำหนดให้ต้องมีผู้ปกครอง ญาติ ผู้ไว้วางใจ หรือทนายความ เข้าร่วมการพูดคุย - กักตัวบุคคล (การควบคุมตัว) ทำได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล และสามารถควบคุมตัวบุคคลไว้ที่ใดก็ได้ และกักตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา และไม่ต้องแจ้งเหตุแห่งการต้องกักตัวแต่อย่างใด - ทั้งนี้ การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งผู้ปกครอง ญาติ หรือบุคคลที่ผู้ถูกกักตัวไว้วางใจถึงสถานที่ที่ใช้ควบคุมบุคคลที่ถูกกักตัวนั้นไว้ และไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาตให้ญาติเยี่ยม รวมถึงไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการทำบันทึกการควบคุมตัว

อุ้มหาย ทนายสมชาย นีละไพจิตร

เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547

หลังจากเกิดเหตุปล้นปืนค่ายปิเหล็ง ทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นคนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือผู้ต้องหา 5 คน โดยผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวมาแล้วหลายวันได้บอกเล่าถึงการถูกเจ้าหน้าที่ซ้อม และทรมานอย่างทารุณ ซึ่งทนายสมชายเป็นบุคคลหนึ่งที่กล้าออกมาพูดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนภาคใต้ให้สาธารณชนได้รู้ 

สมชาย นีละไพจิตร

นอกจากทนายสมชายจะคอยช่วยเหลือผู้ต้องหาและชาวบ้านทางด้านกฎหมายแล้ว ทนายสมชายยังเป็นคนที่พยายามรวบรวม 50,000 รายชื่อ ทั้งประชาชน องค์กรทางศาสนาอิสลามทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดชายภาคใต้ และเข้าพบนักการเมืองมุสลิมทั้งที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และ สส. เพื่อเรียกร้องสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนด ให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึก 

วันที่ 12 มีนาคม 2547 ขณะ สมชาย นีละไพจิตร ทนายความเดินทางไปพบเพื่อนที่โรงแรมชาลีนา ซอยมหาดไทย ย่านรามคำแหง เวลาประมาณ 20.30 น. ทนายสมชายถูกกลุ่มคนที่ขับรถสะกดรอยตามตั้งใจขับรถชน เมื่อทนายสมชายลงจากรถมาดู ก็ถูก ‘อุ้ม’ ลักพาตัวไป 

ล้อมยิงมัสยิดกรือเซะ

ก่อนวันเกิดเหตุ 26 เมษายน ได้มีการวมตัวกันของผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

ก่อนวันเกิดเหตุ 26 เมษายน ได้มีการวมตัวกันของผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

ต่อมา วันที่ 28 เมษายน 2547 ที่จังหวัดปัตตานี ในช่วงเช้ามืด มีเหตุการณ์โจมตีจุดตรวจและฐานปฏิบัติการของราชการนับสิบจุด  และมีการปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิต 108 ราย โดยเฉพาะที่กรือเซะ หลังจากมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ผู้ก่อเหตุได้ถอยหลบเข้าไปอยู่ที่มัสยิดกรือเซะ ถนนสายปัตตานี-นราธิวาส ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 

เจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือปิดล้อมนาน 9 ชั่วโมง โดยมีการยิงตอบโต้กันเป็นระยะๆ ก่อนที่ทุกอย่างจะจบลงด้วยการระดมยิงอาวุธหนักเข้าไปในมัสยิด แม้ชาวบ้านพยายามร้องขอให้หยุด แต่ก็ไม่เป็นผล มีผู้ก่อเหตุ 32 คนเสียชีวิตในมัสยิด ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐที่มีอาวุธเหนือกว่าจึงเลือกที่จะไม่เจรจา 

หลังการตรวจสอบ ผู้ก่อเหตุในเหตุการณ์กรือเซะส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-20 ปี มีอาวุธแค่มีดพร้าและกริช โดย ฟอรัมเอเชีย (Forum Asia) ออกแถลงการณ์กล่าวว่า “ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ใช้แค่มีดพร้าและกริชเท่านั้น…ทหารที่มีอาวุธครบมือ และตำรวจที่ได้รับการฝึกฝนเพื่อรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ย่อมสามารถจัดการกับเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้อย่างแน่นอน แล้วมันมีเหตุผลอะไรที่จะต้องฆ่าพวกเขา”  

ทักษิณ ชินวัตร ตั้งคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมัสยิดกรือเซะ โดยเสียงข้างมากสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นว่า  

“แม้ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะอ้างว่า จำเป็นต้องใช้อาวุธเพื่อปกป้องชีวิตตนเองและประชาชนผู้บริสุทธิ์ เมื่อคำนึงถึงที่ตั้งของมัสยิดกรือเซะซึ่งตั้งอยู่เป็นเอกเทศ ไม่ได้ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน และจำนวนประชาชนก็ไม่ได้มีจำนวนมากตามที่มีการกล่าวอ้าง การใช้วิธีปิดล้อมและตรึงกำลังไว้รอบมัสยิดควบคู่ไปกับการเจรจาและเกลี้ยกล่อมโดยสันติวิธี อาจทำให้ผู้ก่อความไม่สงบยอมจำนนได้ในที่สุด อันจะช่วยให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลเรื่องวัตถุประสงค์ของการดำเนินการครั้งนี้ รวมทั้งผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การประเมินสถานการณ์และป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การยุติเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะด้วยสันติวิธีจึงมีความเหมาะสมกว่าที่จะใช้วิธีรุนแรงและอาวุธหนักเพื่อยุติเหตุการณ์”

หลังการล้อมยิงมัสยิดกรือเซะ พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เป็นฝีมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมุสลิมซึ่งได้รับการฝึกฝนในต่างประเทศ แต่อีกด้านหนึ่ง วาทะที่ว่า เป็นฝีมือของ ‘โจร’ ในภาคใต้ หลุดออกจากปากนายกฯ ทักษิณอีกครั้ง หลังเคยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 7 เมษายน 2544 หลังมีการลอบวางระเบิดที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทักษิณกล่าวประโยคที่จดจำกันมายาวนานว่า “ไม่มีการแบ่งแยกดินแดน ไม่มีผู้ก่อการร้ายอุดมการณ์ มีแต่โจรกระจอก” สอดคล้องกับผู้มีอำนาจสมัยนั้น เช่น จักรภพ เพ็ญแข โฆษกรัฐบาล ที่บอกว่า ผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มอาชญากร และ พลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดชี้แจงว่าเป็นเรื่องยาเสพติด

วันเดียวกับเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ ที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา มีกลุ่มวัยรุ่นชายขี่รถจักรยานยนต์มายังหน่วยบริการประชาชนพร้อมอาวุธ และปะทะกับเจ้าหน้าที่ ผู้ก่อเหตุหลบหนีไปยังร้านอาหารและบ้านพักครูบริเวณนั้น มีการยิงปะทะกันจนกลุ่มวัยรุ่นซึ่งเป็นเยาวชนนักฟุตบอลเสียชีวิต 19 คน แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการยิงระยะเผาขน ผู้ก่อเหตุอาจถูกยิงหลังถูกควบคุมตัวแล้ว

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2549 ศาลจังหวัดปัตตานีนัดฟังคำสั่งศาลในคดีชันสูตรพลิกศพ 32 รายที่มัสยิดกรือเซะ ตามที่ญาติของผู้เสียชีวิตฟ้อง และสรุปว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมดถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่ ภายใต้คำสั่งการของ พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความปลอดภัยภายใน (กอ.รมน.) และ พันเอกมนัส คงแป้น ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 สำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ทหาร 6 นาย ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ตามที่ สการียา ยูโซ๊ะ และญาติของผู้เสียชีวิตกรณีมัสยิดกรือเซะยื่นฟ้อง โดยเจ้าหน้าที่ทั้ง 6 นาย คือ

  • จ่าสิบตำรวจอดินันท์ เกษตรกาลาห์ ผู้ต้องหาที่ 1
  • จ่าสิบเอกเดชา ผลาหาญ ผู้ต้องหาที่ 2
  • จ่าสิบเอกชูศักดิ์ ตรุณพิมพ์ ผู้ต้องหาที่ 3
  • สิบเอกชิดชัย อ่อนโต๊ะ ผู้ต้องหาที่ 4 
  • พลทหารสุรชัย ศิลานันท์ ผู้ต้องหาที่ 5 
  • พันเอกมนัส คงแป้น ผู้ต้องหาที่ 6 

ต่อมา ปี 2555 คณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อนุมัติจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้ญาติผู้เสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะรายละ 4 ล้านบาท ผู้เสียชีวิตนอกมัสยิดรายละ 500,000 บาท เจ้าหน้าที่ 2 ราย รายละ 4 ล้านบาท ส่วนเหตุการณ์ที่อำเภอสะบ้าย้อย 19 ราย รายละ 7.5 ล้านบาท

นายกฯ ทักษิณ ลงพื้นที่ภาคใต้

พับนกกระดาษเพื่อสันติภาพ

ปลายปี 2547 นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เสนอแนวทางยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายครั้งในปีเดียว

เพื่อผลักดันกระบวนการสันติภาพ จึงเชิญชวนประชาชนพับนกกระดาษ โดยตั้งเป้าไว้ที่ 62 ล้านตัว หรือเท่ากับจำนวนประชากรไทยในขณะนั้น เพื่อนำไปโปรยลงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการรวมพลังของผู้คนทั้งประเทศ แนวคิดนี้กลายเป็นกระแสและได้รับการตอบรับอย่างมาก ทั้งโรงเรียน หน่วยราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดารานักแสดง ต่างก็ออกมามีส่วนร่วมในการเชิญชวนเข้าร่วมโครงการครั้งนี้

นายกฯ ทักษิณ กับนกกระดาษ

นกกระดาษเริ่มถูกรวบรวมในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2547 มีประมาณ 120 ล้านตัว ก่อนจะนำไปโปรยจากเครื่องบิน C130 ในวันที่ 5 ธันวาคม 2547 จากท้องฟ้าเหนือผืนดินจังหวัดชายแดนใต้ 

หลังจากนั้น นกกระดาษที่ถูกโปรยลงมาได้ถูกนำไปหลอมรวมกันสร้างอนุสาวรีย์นกกระดาษ สูง 2.5 เมตร หนัก 2 ตัน ตั้งอยู่ที่วงเวียนข้างสวนกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

กฎหมายพิเศษบนแผ่นดินชายแดนใต้

วันที่ 28 มีนาคม 2548 ทักษิณออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 104/2548 ตั้ง คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะนโยบาย มาตรการ กลไกวิธีการสร้างความสมานฉันท์และสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากนั้นไม่นาน ก็ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ดังกล่าว 

ล่าสุด วันที่ 15 ตุลาคม 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ ให้ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2567 ถึง 19 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นการขยายเวลาครั้งที่ 78 นับตั้งแต่ประกาศใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ครั้งแรกเมื่อปี 2548

ทั้งนี้ รายละเอียดของการขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งล่าสุด มีพื้นที่บังคับใช้ในสามจังหวัดคือ

  • จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน 
  • จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน 
  • จังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง 

“เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการป้องกัน ระงับ ยับยั้งเหตุการณ์ในพื้นที่ให้ยุติลงโดยเร็ว รวมทั้งหากไม่มีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะส่งผลให้ผู้ก่อเหตุความรุนแรงที่อยู่ในการควบคุมตัวในกระบวนการซักถามของฝ่ายความมั่นคงและที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมต้องได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด ซึ่งอาจส่งผลต่อการสืบสวนสอบสวนเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานในการดำเนินคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกประกาศใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรกตั้งแต่สมัย ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 และมีการขยายระยะเวลาออกไปอีกได้ ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก. ว่า “ในกรณีที่มีความจําเป็น นายกรัฐมนตรีสามารถขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ครั้งละ 3 เดือน”

นอกจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เพิ่งขยายเวลาไป พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้หลัง 2547 ยังมีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษอีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ 

ทั้งนี้ ภารกิจในพื้นที่ชายแดนใต้เดิมที่ในปี 2547 เป็นความรับผิดชอบของกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อมาในปี 2549 หน้าที่นี้อยู่ในความดูแลของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) 

อำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

- จับกุมได้โดยต้องมีหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลออกให้ - ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่สามารถพบผู้พิพากษาได้ สามารถร้องขอให้ศาลออกหมายจับได้โดยทางโทรศัพท์ โทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสารสนเทศประเภทอื่น เพื่อให้ศาลออกหมายจับและส่งทางโทรสารได้ - การควบคุมตัวบุคคลจะควบคุมไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน แต่สามารถขอขยายระยะเวลาได้ทุก 7 วัน โดยต้องขออนุญาตจากศาล แต่รวมระยะเวลาการควบคุมตัวแล้วต้องไม่เกิน 30 วัน - สถานที่ควบคุมตัวต้องไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ

ความสูญเสีย 20 ปี

ข้อมูลจำนวนเหตุการความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ อ้างอิงจากตัวเลขความสูญเสียและงบประมาณเยียวยาผู้เสียหาย นับตั้งแต่ 2547- 31 มีนาคม 2567 โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ระบุว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การใช้กฎหมายพิเศษ มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 9,765 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ 5,897 ราย รวมงบประมาณชดเชยเยียวยา 4,334,623,615.85 บาท

นับตั้งแต่ปี 2547 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณไว้เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547-2559 ถูกจัดไว้ในแผนงานแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากนั้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2567 ถูกจัดไว้ในแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่เรียกว่า ‘งบบูรณาการ’ รวมแล้วประมาณ 500,000 ล้านบาท 

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
กองบรรณาธิการ