นิตยสาร Forbes จัดอันดับให้ อีลอน มัสก์ เป็นมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยอันดับหนึ่งของโลกมาตั้งแต่ปี 2021 และในปี 2024 ทรัพย์สินของเขาก็มีมูลค่ารวมมากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ไปแล้ว (มากกว่า 10.5 ล้านล้านบาท) เรียกได้ว่ามั่งคั่งยิ่งกว่างบประมาณของหลายๆ ประเทศทั่วโลก ทว่าสิ่งที่ทำให้มัสก์กลายเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของโลกไม่ใช่แค่ความร่ำรวย แต่เป็นเพราะเขาคือเจ้าของธุรกิจที่ทรงอิทธิพลต่อผู้คนจำนวนมาก
ปัจจุบัน อีลอน มัสก์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของสื่อสังคมออนไลน์ Twitter/X ซึ่งมีผลต่อการกำหนดทิศทางหรือประเด็นทางสังคมการเมืองไปจนถึงวัฒนธรรมย่อยอื่นๆ ตามด้วย Starlink ระบบอินเทอร์เน็ตดาวเทียมที่มัสก์ตั้งเป้าว่าจะให้บริการอย่างครอบคลุมทั่วโลก รวมถึงโครงการ SpaceX ที่ตั้งเป้าจะพาคนไปเยือนอวกาศ และรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ซึ่งถูกยกย่องว่าเป็นนวัตกรรมที่จะลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคต
นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของมัสก์ยังถูกจัดอยู่ในประเภทชายแท้ ผิวขาว วาจาจัดจ้าน แถมยังทำธุรกิจด้วยวิธีการแบบกล้าได้กล้าเสีย โดนใจคนจำนวนมาก เมื่อเขาประกาศสนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ แคนดิเดตท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งที่จัดขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2024 ก็เปรียบได้กับแม่เหล็กดึงดูดให้แฟนคลับของเขาหันไปสนับสนุนทรัมป์ด้วยเช่นกัน
แต่ประเด็นสำคัญที่มากกว่าการออกหน้าสนับสนุนคือ มัสก์เป็นผู้บริจาคเงินรายใหญ่ให้ทีมหาเสียงของทรัมป์ รวมกว่า 110 ล้านดอลลาร์ เขาจึงเป็นผู้ที่ทรัมป์กล่าวชื่นชมอยู่นานหลายนาทีในการปราศรัยบนเวทีเพื่อต้อนรับชัยชนะในการเลือกตั้ง และสื่ออเมริกันบางส่วนเรียกมัสก์ว่า Kingmaker ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทรัมป์ในครั้งนี้
ด้วยปัจจัยที่ว่ามาทั้งหมด ทำให้มัสก์กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจอเมริกันอย่างชัดเจน และมีคนจำนวนมากสงสัยว่าเขากำลังเตรียมสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2028 ด้วยตัวเองใช่หรือไม่ ซึ่งกระแสข่าวนี้มีคนเห็นด้วยเป็นจำนวนมาก แม้ในความเป็นจริงมัสก์จะไม่มีคุณสมบัติพอ แต่ก็อาจมีการใช้กระบวนการในชั้นศาลตีความใหม่ให้เอื้อต่อเส้นทางการเมืองของมัสก์ในอนาคตได้เช่นกัน
หลังประกาศผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2024 มีผู้ตั้งคำถามในสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากว่า อีลอน มัสก์ จะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2028 ได้หรือไม่
ถึงตอนนั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ถือว่าหมดสิทธิ์ลงสมัครแล้ว เพราะเกินกำหนดการดำรงตำแหน่ง 2 สมัยที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และมัสก์ก็ดูจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากๆ
ถ้ามัสก์มีโอกาสได้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จริง จุดแข็งของเขาคือเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ถึงขนาดที่ เบอร์นี แซนเดอร์ส อดีตผู้ท้าชิงตำแหน่งแคนดิเดตประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต ยังออกมายอมรับผ่านสื่อว่ามัสก์มีแนวโน้มจะหารายได้เข้ารัฐบาลได้มากกว่ารัฐบาลทุกชุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ บวกกับประเด็นเรื่องปากท้องและเศรษฐกิจคือสิ่งที่ชาวอเมริกันเห็นว่าเป็นประเด็นที่พวกเขาอยากให้รัฐบาลผลักดันมากที่สุด มัสก์จึงเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นมากกว่าใครในยุคนี้
แต่สื่อหลายสำนักรายงานทันทีว่าโอกาสที่มัสก์จะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้น ‘ไม่น่าเป็นไปได้’ โดยเหตุผลสำคัญที่คือข้อเท็จจริงว่าเขาเกิดในแอฟริกาใต้ แต่ในรัฐธรรมนูญอเมริกันกำหนดไว้ชัดเจนว่าผู้มีคุณสมบัติจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ต้องเป็นพลเมืองอเมริกันโดยกำเนิด และต้องเกิดบนแผ่นดินสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าตีความตรงตัวแบบนี้ มัสก์ก็หมดสิทธิ์แน่นอน เพราะเขาได้รับสัญชาติแอฟริกาใต้ก่อนจะได้รับสัญชาติอเมริกัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ก็เคยมีกรณี จอห์น แมคเคน แคนดิเดตพรรครีพับลิกันในปี 2008 ซึ่งเกิดที่ปานามา และตอนนั้นก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าแมคเคนมีคุณสมบัติเพียงพอหรือไม่ พรรครีพับลิกันจึงได้ยื่นเรื่องต่อศาลให้วินิจฉัยชี้ขาดแทน
ซึ่งมติเสียงข้างมากของศาลอเมริกันในปีนั้นก็เห็นว่าแมคเคน ‘มีคุณสมบัติเพียงพอ’ จะชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ เพราะพ่อแม่ของแมคเคนเป็นคนอเมริกันทั้งคู่ ทั้งยังเป็นทหารซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ในปานามา การที่แมคเคนเกิดในค่ายทหารอเมริกันที่ปานามาจึงพออนุโลมได้ว่าเป็นการเกิดในดินแดนอเมริกัน เนื่องจากฐานทัพอเมริกันในต่างประเทศก็ถือว่าเป็นดินแดนในความปกครองของรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่แล้ว
เมื่อย้อนกลับมาดูกรณีของมัสก์ สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญสุดคือพ่อของมัสก์เป็นชาวแอฟริกาใต้ และแม่เป็นชาวแคนาดา ซึ่งแตกต่างจากกรณีแมคเคนที่พ่อแม่เป็นคนอเมริกันทั้งคู่
ถ้าพรรครีพับลิกันต้องการสนับสนุนมัสก์ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีให้ได้จริงๆ ก็อาจต้องยื่นเรื่องให้ศาลพิจารณาตีความใหม่เรื่องคุณสมบัติของผู้สมัคร และอาจต้องหาเหตุผลอื่นๆ มาประกอบเพิ่มเติมด้วย เช่น เขาคือนักลงทุนรายใหญ่ที่สร้างคุณูปการหลายด้านให้สังคมอเมริกัน และยังเป็นผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างต่อเนื่องหลังได้รับสัญชาติอเมริกันอย่างเป็นทางการแล้ว แต่นักวิเคราะห์ก็ย้ำว่าประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่เหตุผลสนับสนุนที่หนักแน่นสักเท่าไหร่
แม้นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า อีลอน มัสก์ ไม่น่าจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ หรือถ้าได้ก็ต้องผ่านกระบวนการมากมาย แต่ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ เขาไม่จำเป็นจะต้องเป็นประธานาธิบดีก็ได้ เพราะอย่างไรเสีย อีลอน มัสก์ คือผู้ทรงอิทธิพลต่อการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อยู่แล้ว
ในวาระเร่งด่วนของ ‘ว่าที่รัฐบาลทรัมป์ 2.0’ ที่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการต้นปี 2025 มีการตั้งเป้าไว้ชัดเจนว่ามัสก์จะเป็นผู้นำคณะปฏิรูปหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ ไม่ยึดโยงกับโครงสร้างของหน่วยงานรัฐทั่วไป และมัสก์ตั้งเป้าว่าจะตัดงบประมาณราว 2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเปรียบเทียบจากงบรวม 6.7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2023 และสิ่งที่มัสก์จะตัดงบก็คือโครงการด้านสวัสดิการสังคมที่เขามองว่าไม่คุ้มค่า หรือไม่มีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ซึ่งแม้จะช่วยรัฐบาลประหยัดงบได้ แต่แผนนี้จะส่งผลกระทบต่อทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนอเมริกันจำนวนมากที่ยังต้องพึ่งพิงโครงการเหล่านี้
ในทางกลับกัน ความมั่งคั่งร่ำรวยของธุรกิจในมือมัสก์น่าจะรุ่งเรืองเฟื่องฟูกว่าเดิมจากการดำรงตำแหน่งที่เป็นคุณเป็นโทษกับรัฐบาลทรัมป์ 2.0 เพราะเพียงแค่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี 2024 มูลค่าหุ้นบริษัทต่างๆ ที่มัสก์เป็นเจ้าของในตลาดหลักทรัพย์ก็พากันพุ่งทะยานและมีกำไรเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว นักวิเคราะห์จึงเตือนว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดของมัสก์และทรัมป์อาจเข้าข่ายสนับสนุนให้เกิด ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ เอื้อผลประโยชน์ให้คนวงในรัฐบาลมากกว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอเมริกันส่วนใหญ่
สำนักข่าว CNN ยกตัวอย่างเป้าหมายเร่งด่วนของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ที่เตรียมตัวเดินหน้าโครงการด้านอวกาศหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือการจัดการขยะอวกาศ ซึ่งบริษัทลูกของ SpaceX น่าจะได้รับสัมปทานไปอย่างแน่นอน และโครงการนี้ถือเป็นโครงการระยะยาวที่ได้รับงบประมาณมหาศาลจากรัฐ จึงน่าจะช่วยเพิ่มความมั่นคงและเติบโตให้กับกิจการของมัสก์โดยตรงเช่นกัน
อย่างไรก็ดี CNN ย้ำว่า ธุรกิจของมัสก์นั้นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกันมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นยุคของรัฐบาลพรรครีพับลิกันหรือพรรคเดโมแครต เพราะกรณีของ Tesla ก็ได้รับประโยชน์จากการขายแผนการในอนาคต ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยุค บารัก โอบามา จัดสรรงบประมาณในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่โครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะมองว่าการใช้รถไฟฟ้าจะช่วยลดปัญหาโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้
แม้แต่ยุค โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก ก็มีมาตรการผ่อนผันด้านภาษีเพื่อช่วยเหลือนักลงทุน ซึ่งโครงการเกี่ยวกับอวกาศของมัสก์ก็ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ จนกระทั่งยุครัฐบาล โจ ไบเดน ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งในปีหน้า ถึงได้มีการปรับลดมาตรการผ่อนผันด้านภาษี ทำให้ธุรกิจของมัสก์ได้รับผลประโยชน์ลดลง แต่ว่าที่รัฐบาลทรัมป์ 2.0 มีแผนจะลดหย่อนภาษีให้กับธุรกิจขนาดใหญ่อีกครั้ง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่ม
นโยบายของทรัมป์ 2.0 สอดคล้องกับนโยบายชาตินิยมและกีดกันทางเศรษฐกิจต่อกลุ่มทุนต่างชาติที่ทรัมป์เคยใช้มาก่อนแล้วในระหว่างดำรงตำแหน่งช่วงปี 2017-2021 ทำให้นักวิเคราะห์ประเมินว่ารัฐบาลทรัมป์สมัยสองจะไม่มีทางแตกคอหรือทำอะไรขัดขวางผลประโยชน์ของมัสก์ซึ่งเป็นนายทุนใหญ่ของเขาในการหาเสียงปี 2024 และด้วยข้อเท็จจริงนี้ก็จะยิ่งทำให้มัสก์เปรียบได้กับ ‘ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ’ ตัวจริงเสียงจริง
แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นนักธุรกิจผู้ร่ำรวยและเป็นแรงบันดาลใจให้คนจำนวนมาก แต่คนทั่วโลกก็จดจำได้ว่า อีลอน มัสก์ คือคนหนุ่มฝีปากจัดจ้าน และเคยถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อมูลเกินจริงเพื่อล่อลวงให้คนเชื่อว่าธุรกิจของเขากำลังไปได้สวยกว่าความเป็นจริงเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด หรือพูดง่ายๆ ก็คือมีพฤติกรรม ‘ปั่นหุ้น’ ซึ่งเป็นคดีความไต่สวนยาวนานข้ามปีในสหรัฐฯ
เมื่อมัสก์กลายเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของว่าที่รัฐบาลยุคหน้า จึงมีสื่อออกมาไล่เรียงวีรกรรมของมัสก์กันใหญ่ โดยสำนักข่าว Quartz ระบุว่าความสำเร็จของมัสก์และธุรกิจในมือของเขาไม่ได้มาจากความเฉลียวฉลาดหรือวิสัยทัศน์ของมัสก์เพียงลำพัง แต่เป็นเพราะเขาสามารถรวบรวมคนเก่งระดับหัวกะทิในแวดวงต่างๆ มาทำงานให้ได้สำเร็จ บวกกับตัวเขาเองมีความสามารถในการพูดจาโน้มน้าวใจคน ทำให้หลายครั้งบริษัทของเขาได้รับเงินลงทุนล่วงหน้าก้อนใหญ่ ทั้งที่ในมือมีเพียงแผนการคร่าวๆ ว่าจะทำอย่างไรในอนาคตเท่านั้นเอง
แต่ก็มีหลายครั้งที่มัสก์ประเมินอนาคตแล้วไม่เกิดขึ้นจริง เช่น การย้ำว่าแท็กซี่อัตโนมัติไร้คนขับ หรือ Robotaxi จะเป็นนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริงภายในปี 2020 แต่การเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2024 ผ่านพ้นไปแล้ว Robotaxi ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะพร้อมเปิดบริการต่อสาธารณะได้จริง
นอกจากนี้ยังมีกรณี Hyperloop หรือระบบขนส่งความเร็วสูงผ่านท่อสุญญากาศ ซึ่งทรัมป์เคยพูดถึงบ่อยๆ ช่วงปี 2017-2018 ว่าจะกลายเป็นระบบขนส่งแห่งอนาคต และการทำนายว่ามนุษย์จะได้ไปเยือนดาวอังคารอย่างเต็มตัวในปี 2024 แต่จนถึงตอนนี้ทั้งสองโครงการก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะใกล้เคียงความจริง ทำให้คนจำนวนมากมองว่าสิ่งที่มัสก์เชี่ยวชาญมากสุดน่าจะเป็นการขายฝันและหาประโยชน์จากอนาคต
เมื่อว่าที่รัฐบาลทรัมป์ 2.0 ประกาศจะแต่งตั้งให้มัสก์เป็นหัวเรือใหญ่ในการปฏิรูปโครงสร้างและการทำงานของหน่วยงานรัฐบาลทั่วประเทศ นักวิเคราะห์จึงคาดการณ์ว่าจะต้องมีการปลดคนทำงานจำนวนมาก และหันไปใช้เทคโนโลยีแทนมนุษย์ เหมือนกับที่มัสก์เคยใช้วิธีการนี้กับ Twitter/X ซึ่งทำให้พนักงานบางส่วนฟ้องกลับ และความยุ่งเหยิงในองค์กรยังมีผลต่อประสิทธิภาพของระบบปฏิบัติการของ X มาจนถึงปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวของ Quartz ยกตัวอย่างตอนที่มัสก์ Live ผ่านทาง X ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2024 พูดถึงการลงทุนและการพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป หรือ AGI (Artificial General Intelligence) แต่ในขณะที่พูดเรื่องนี้ มัสก์กลับเจอปัญหาสัญญาณขาดๆ หายๆ หลายครั้ง เพราะระบบของ X ไม่เสถียรพอ สะท้อนว่าแม้แต่ระบบของ X ที่มัสก์บอกว่าจะพัฒนาให้ดียิ่งกว่าเดิมตอนเข้าเทคโอเวอร์กิจการ ก็ยังไม่ได้มีความคืบหน้าอะไรที่เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรม
สิ่งที่คนอเมริกันจำนวนหนึ่งสะท้อนผ่าน X และสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ ต่อการเข้ามาบทบาทในเวทีการเมืองของมัสก์ในครั้งนี้ จึงได้แก่ข้อกังวลว่าอนาคตของสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไร เมื่อนักธุรกิจที่โดดเด่นเรื่องพฤติกรรมปั่นๆ และขายความฝันมาเจอกับประธานาธิบดีที่ประกาศตัวว่า ‘พร้อมเป็นเผด็จการ’ และการบริหารประเทศในช่วง 4 ปีต่อจากนี้น่าจะเต็มไปด้วยเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ยิ่งกว่า 4 ปีของรัฐบาลทรัมป์ยุคก่อนหน้าเสียอีก
อ้างอิง:
Asia News, CBS News, CNN, The Conversation, Eurasia Review, The Independent, Quartz, TIME, Le Monde