กฎหมายรัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์เปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีไม่ต้องมาจากพรรคเดียวกันก็ได้ ทำให้ปัจจุบันฟิลิปปินส์มีประธานาธิบดีจากพรรค PFP (Partido Federal ng Pilipinas) คือ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือ ‘บองบอง’ และรองประธานาธิบดี ซารา ดูแตร์เต จากพรรค HNP (Hugpong ng Pagbabago) แต่ล่าสุดมีกรณีรองประธานาธิบดีอ้างว่าตัวเองถูกปองร้าย จึงประกาศผ่านสื่อเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2024 ว่าเธอจะจ้างคนไปสังหารประธานาธิบดีบองบองและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง รวมถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเป็นการตอบโต้ถ้าหากว่าตัวเธอไม่ปลอดภัยในวันใดวันหนึ่ง
แม้รองประธานาธิบดีจะปรับเปลี่ยนท่าทีในเวลาต่อมาไม่นาน โดยบอกว่าการพูดว่า ‘จะลงมือสังหาร’ กับการ ‘ก่อเหตุสังหารคนจริงๆ’ มีความแตกต่างกันอยู่ พร้อมทั้งบอกว่าสื่อและนักการเมืองขั้วตรงข้ามตีความคำพูดเสียดสีประชดประชันของเธอใหญ่โตเกินจริง ทำให้เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมออกมาให้ข่าวพฤติกรรมข่มขู่ผู้นำประเทศว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจปล่อยผ่านได้ง่ายๆ และถ้าหากประธานาธิบดีมีอันตรายจริงๆ ผู้ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือรองประธานาธิบดีที่จะต้องขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการแทน คำพูดและท่าทีของ ซารา ดูแตร์เต จึงดูไม่ใช่เรื่องล้อเล่น
นักวิเคราะห์การเมืองในสื่อต่างประเทศมองว่า ชนวนเหตุที่ทำให้ ซารา ดูแตร์เต ออกมาข่มขู่ บองบอง มาร์กอส เป็นเพราะทั้งคู่มีปัญหาขัดแย้งกันอย่างหนักช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากประธานาธิบดี บองบอง มาร์กอส เปิดโอกาสให้ สส.พรรคแนวร่วมรัฐบาลตั้งคณะกรรมการไต่สวนพฤติกรรมของอดีตประธานาธิบดี โรดรีโก ดูแตร์เต พ่อของรองประธานาธิบดี ซารา ดูแตร์เต ขณะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศช่วงปี 2016-2022 เพราะองค์กรสากลด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวหามาตลอดว่าดูแตร์เตผู้พ่อใช้อำนาจเกินกว่าเหตุในสงครามกวาดล้างยาเสพติด ทำให้ประชาชนจำนวนมากเสียชีวิตโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมถึงข้อกล่าวหาว่าอดีตประธานาธิบดีดูแตร์เตทุจริตใช้งบประมาณของประเทศไปกับเรื่องส่วนตัวและเอื้อประโยชน์ต่อสมาชิกครอบครัว
การตรวจสอบอดีตประธานาธิบดีดูแตร์เตย้อนหลังภายใต้รัฐบาล มาร์กอส จูเนียร์ ถูกมองเป็นการ ‘แทงข้างหลัง’ ในสายตาของผู้สนับสนุนดูแตร์เต เพราะช่วงปี 2022 ที่ดูแตร์เตผู้พ่อกำลังจะพ้นตำแหน่ง เขาได้ผลักดันให้ลูกสาวลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนตัวเอง จนกลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ บองบอง มาร์กอส แต่สุดท้ายแล้ว ซารา ดูแตร์เต ก็ยอมจับมือกับคู่แข่งและยอมรับตำแหน่งรองประธานาธิบดี ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นเหตุผลสำคัญอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ บองบอง มาร์กอส ได้รับเลือกด้วยคะแนนถล่มทลายในปีนั้น
แต่เวลาผ่านไป 2 ปีกว่า ประธานาธิบดี บองบอง มาร์กอส กลับเปิดทางให้อดีตประธานาธิบดีถูกไต่สวนความผิด ทำให้ความร่วมมือในวันก่อนกลายเป็นความแตกหัก รองประธานาธิบดี ซารา ดูแตร์เต จึงถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลกับบองบอง มาร์กอสไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2024 และหลังจากนั้นทั้งคู่ก็แลกเปลี่ยนคำประชดประชันและเหน็บแนมกันอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งครั้งล่าสุดที่ ซารา ดูแตร์เต ออกมาขู่ว่าจะลอบสังหาร บองบอง มาร์กอส รวมถึงภริยาของเขาและประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบพ่อของเธอ
ความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีย่อมส่งผลต่อสภาพการเมืองของประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และการเลือกตั้งกลางเทอมฟิลิปปินส์ที่จะจัดขึ้นในปี 2025 ก็อาจมีสภาพประหนึ่งสนามรบ เพราะตระกูลทรงอิทธิพลทางการเมืองอย่าง ‘มาร์กอส’ และ ‘ดูแตร์เต’ ไม่น่าจะปรองดองกันได้เหมือนสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2022
ประกอบกับที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางการเมืองของฟิลิปปินส์มีแนวโน้มจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงและวิธีนอกกฎหมายมาโดยตลอด ทำให้นักวิเคราะห์หลายรายมองว่าการปะทะกันของขั้วอำนาจทางการเมืองในฟิลิปปินส์จะส่งผลกระทบต่อประชาชนครั้งใหญ่ และอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนด้านนโยบายต่างๆ อีกด้วย
ความขัดแย้งระหว่าง ซารา ดูแตร์เต และ บองบอง มาร์กอส ไม่ได้ถูกมองเป็นเพียงเรื่องส่วนตัว เพราะทั้งคู่ต่างเป็นทายาทของตระกูลทรงอิทธิพลทางการเมืองในฟิลิปปินส์ที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญต่อเนื่องยาวนาน
โดยผู้เป็นพ่อของ บองบอง มาร์กอส คือ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประธานาธิบดีเผด็จการ ซึ่งยึดกุมอำนาจตั้งแต่กลางยุคทศวรรษที่ 1960 จนถึงกลางยุค 1980 ก่อนถูกประชาชนเดินขบวนขับไล่จนต้องพ้นตำแหน่ง
ขณะที่ ซารา ดูแตร์เต เป็นหลานของ วิเซนเต ดูแตร์เต ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงด้านความมั่นคงในรัฐบาลมาร์กอสผู้พ่อ และเธอก็ยังเป็นลูกของ โรดรีโก ดูแตร์เต อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ซึ่งดำรงตำแหน่งก่อน บองบอง มาร์กอส จึงนับเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่มีเครือข่ายและเส้นสายอยู่ในหน่วยงานรัฐบาลต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศ
นอกเหนือจากตระกูลดูแตร์เต-มาร์กอส ยังมีตระกูลการเมืองในฟิลิปปินส์อีกหลายตระกูลที่ถูกเปรียบกับ ‘ราชวงศ์’ ที่สืบทอดตำแหน่งและอิทธิพลแก่ทายาทจากรุ่นสู่รุ่น โดยรายงานของมหาวิทยาลัยอะเดนาวที่เผยแพร่เมื่อปี 2019 บ่งชี้ว่า 8 ใน 10 ของผู้ดำรงตำแหน่งในสภาหรือรัฐบาลฟิลิปปินส์ ล้วนเป็นทายาทหรือสมาชิกตระกูลใหญ่ที่คนในครอบครัวเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นๆ มาก่อน
ถึงแม้สมาชิกตระกูลการเมืองจำนวนมากจะมีประวัติอื้อฉาวเกี่ยวพันการทุจริต ฉ้อโกง หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะรอดพ้นการถูกลงโทษหรือดำเนินคดี ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าสุดท้ายแล้วการไต่สวนคดีของอดีตประธานาธิบดี โรดรีโก ดูแตร์เต คงไม่ต่างจากการไต่สวนสมาชิกตระกูลการเมืองทรงอิทธิพลอื่นๆ ที่ลอยนวลพ้นผิดมาจนถึงทุกวันนี้
กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนสุดคือตระกูลมาร์กอส เพราะแม้ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส และ อิเมลดา มาร์กอส จะถูกประชาชนขับไล่พ้นตำแหน่งสำเร็จในปี 1986 ทั้งคู่พาครอบครัวลี้ภัยไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาอยู่นาน จนกระทั่ง เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เสียชีวิต อิเมลดาจึงยื่นเรื่องขอกลับประเทศพร้อมทายาท และได้รับอนุญาตให้ลงสมัครชิงตำแหน่งทางการเมืองได้แม้จะมีเรื่องฟ้องร้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคดีทุจริตฉ้อโกงงบประมาณประเทศ รวมถึงการใช้อำนาจปราบปรามและสังหารผู้เห็นต่างในยุคที่ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ปกครองประเทศ
เมื่อ อิเมลดา มาร์กอส กลับฟิลิปปินส์ช่วงทศวรรษ 1990 เธอเริ่มเล่นการเมืองอีกครั้งด้วยการลงสมัครชิงตำแหน่งผู้บริหารในเขตปกครองส่วนท้องถิ่น และอาศัยโอกาสที่กระบวนการดำเนินคดีทางกฎหมายนั้นใช้เวลานาน ระหว่างรอการตัดสินคดีต่างๆ เธอก็ได้รับเลือกเป็น สส.จังหวัดอิโลกอสนอร์เตถึง 4 สมัย โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่าเธอได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก เป็นเพราะใช้วิธีเสนอนโยบายประชานิยมด้านการพัฒนาและเอื้อประโยชน์ต่อคนในท้องถิ่นโดยเฉพาะ
แม้ภายหลังศาลจะตัดสินว่า อิเมลดา มาร์กอส มีความผิดในคดีทุจริตสมัยที่สามีเธอยังเป็นประธานาธิบดี แต่อิเมลดาไม่เคยถูกจำคุกตามบทลงโทษที่ศาลพิพากษาเอาไว้ เพราะเธอวางเงินประกันตัวและอ้างปัญหาสุขภาพในวัยบั้นปลายชีวิต ทำให้ได้รับการปล่อยตัวในปี 2018 และใช้ชีวิตหรูหราเข้าสังคมกับคนสนิทตามปกติ
ยิ่งเมื่อ บองบอง มาร์กอส ผู้เป็นลูกชาย ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 2022 คดีหลายคดีที่มีการฟ้องอุทธรณ์อิเมลดาก็ถูกชะลอการไต่สวนไปด้วย รวมถึงคดีที่เธอถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดจนเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุคที่สามีของเธอประกาศกฎอัยการศึกปกครองประเทศยาวนานนับสิบปี
ส่วนตระกูล ‘ดูแตร์เต’ มีอดีตประธานาธิบดี โรดรีโก ดูแตร์เต เป็นดังสายล่อฟ้า เพราะเขากำลังถูกสอบสวนในคดีสั่งการให้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงใช้กำลังอาวุธทำสงครามปราบปรามยาเสพติด และมีประชาชนจำนวนมากเสียชีวิตจากการฆ่าตัดตอนและการสังหารหมู่ที่ไม่มีการสอบสวนมูลความผิดอย่างชัดเจน จึงถูกกล่าวขานว่าเป็นการก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงโดยรัฐและผู้กุมอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีหลักฐานปรากฏมากมาย แต่ในทางกลับกันก็มีผู้มองว่าเป็นการตัดคู่แข่งทางการเมืองของตระกูลมาร์กอสที่กุมอำนาจในรัฐบาลได้ไม่มั่นคงนัก เพราะมีคู่แข่งคนสำคัญอย่าง ซารา ดูแตร์เต เป็นเหมือน ‘หอกข้างแคร่’ พร้อมทิ่มแทงตลอดเวลา
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่า โรดรีโก ดูแตร์เต จะลอยนวลพ้นผิดได้ในที่สุด เพราะเขาประกาศบังคับใช้กฎอัยการศึกในสมัยดำรงตำแหน่งและประกาศสงครามกวาดล้างยาเสพติด โดยกฎอัยการศึกมีเงื่อนไขที่คุ้มครองผู้สั่งการด้านความมั่นคงไม่ให้ถูกดำเนินคดีย้อนหลังอยู่แล้ว ซึ่งหากดูแตร์เตลอยนวลพ้นผิด ก็จะส่งผลกระทบต่อการฟ้องร้องขอความเป็นธรรมและการชดเชยเยียวยาผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตในสงครามยาเสพติดทั้งหลาย เพราะการชดเชยเยียวยาจะกลับไปเป็นภาระหน้าที่ของรัฐและภาษีของประชาชน โดยที่ดูแตร์เตไม่ต้องจ่ายหนี้ในคดีที่ตัวเองเป็นผู้สั่งการแม้แต่คดีเดียว
นอกจากตระกูลมาร์กอส-ดูแตร์เต ที่มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลฟิลิปปินส์ปัจจุบัน ยังมีตระกูลเก่าแก่อื่นๆ ที่สมาชิกครอบครัวครองตำแหน่งผู้บริหารประเทศหรือไม่ก็เป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมืองฟิลิปปินส์จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอิทธิพลระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศ โดยตระกูลที่อยู่ยั้งยืนยงมานาน หรือมีบทบาทสำคัญทางการเมืองของฟิลิปปินส์ติดอันดับต้นๆ ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีอยู่จำนวนหนึ่งที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้
เกี่ยวพันกับ โจเซฟ เอสตราดา ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนที่ 13 และอดีตนักแสดงผู้ร่วมขบวนขับไล่ผู้นำจากตระกูลมาร์กอสซึ่งถูกเรียกว่า ‘การปฏิวัติประชาชน’ แต่ระหว่างที่ โจเซฟ เอสตราดา ดำรงตำแหน่งก็ถูกกล่าวหาว่าทุจริตและใช้งบประมาณประเทศเอื้อประโยชน์ต่อตัวเองและพวกพ้อง แต่ได้รับการลบล้างความผิดในสมัยอดีตประธานาธิบดี กลอเรีย แมคคาปากัล อาร์โรโย ทำให้ปัจจุบันสมาชิกครอบครัวเอสตราดายังมีอิทธิพลอย่างมากในเมืองซานฮวนซึ่งโจเซฟ เอสตราดา เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการมาก่อน อีกทั้งยังมีสมาชิกครอบครัวรับตำแหน่ง สส. และ สว. รวมถึงผู้ว่าการอีกหลายคน
เป็นตระกูลนักการเมืองทรงอิทธิพลในเขตมากินดาเนา และเป็นผู้ก่อคดีอื้อฉาวที่กินเวลาไต่สวนยาวนานข้ามทศวรรษ เนื่องจาก อันดาล อัมปาตวน ซีเนียร์ ผู้ว่าการมากินดาเนาที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2001 พร้อมด้วยลูกชายคือ อันดาล อัมปาตวน จูเนียร์ และ ซัลดี อัมปาตวน ถูกตั้งข้อหาบงการฆ่าและสังหารหมู่ขบวนหาเสียงของคู่แข่งทางการเมืองที่ลงสมัครชิงตำแหน่งเดียวกันกับ อันดาล อัมปาตวน ซีเนียร์ ในปี 2009 ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 57 ราย รวมนักข่าวที่ติดตามไปทำข่าวด้วย แม้จะมีหลักฐานชัดเจนจากการปากคำผู้รอดชีวิต แต่การดำเนินคดี อันดาล อัมปาตวน ซีเนียร์ และลูกชายไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้เป็นพยานหลายคน ‘หายตัวไป’ และ ‘ถูกสังหารอย่างมีเงื่อนงำ’ ก่อนที่จะมีการเปิดโปงในภายหลังว่าคนในตระกูลอัมปาตวนเป็นผู้สั่งการ แม้ผู้ต้องหาทั้ง 3 รายจะถูกคุมตัวเพื่อสอบสวนความผิด แต่ในช่วงปี 2009-2013 สมาชิกตระกูลอัมปาตวนยังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในมากินดาเนาแทนที่ อัมดาล อัมปาตวน ซีเนียร์ และจูเนียร์ ทั้งยังมีรายงานว่าตำรวจจำนวนมากรับสินบนจากตระกูลอัมปาตวน ปล่อยให้ผู้ลงมือก่อเหตุและผู้สมรู้ร่วมคิดกับตระกูลอัมปาตวนราว 200 รายลอยนวลพ้นผิดจนถึงทุกวันนี้
มีบุคคลสำคัญระดับตำนานหลายคน ไม่ว่าจะเป็น นายพลเซร์บิญาโน อากีโน หนึ่งในแกนนำการต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพฟิลิปปินส์ยุคอาณานิคมสเปน และต่อมาก็มีทายาทอย่าง เบนิกโน อากีโน จูเนียร์ เป็นแกนนำสำคัญในการเคลื่อนไหวขับไล่อดีตประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส แต่เขากลับถูกลอบสังหารอย่างอุกอาจ จนทำให้ กอราซอน อากีโน ผู้เป็นภริยา ต้องลงสนามการเมืองต่อสู้แทนสามีที่เสียชีวิต จนกลายเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของฟิลิปปินส์หลังตระกูลมาร์กอสลี้ภัยการเมืองในปี 1986 ต่อมาก็มี เบนิกโน อากีโน ที่ 3 ลูกชายของกอราซอนและ เบนิกโน อากีโน จูเนียร์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนที่ 15 ซึ่งดำรงตำแหน่งช่วงปี 2010 จนถึง 2016 ทั้งยังถูกขนานนามว่าเป็นประธานาธิบดีที่มือสะอาดที่สุด แต่ตระกูลอากีโนก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหา ‘ยื้ออำนาจ’ ได้เช่นกัน เพราะสมาชิกในตระกูลนี้ถูกวิจารณ์ว่าได้รับเลือกเป็น สส. และ สว. รวมถึงผู้ว่าการฯ โดยอาศัยความเกี่ยวโยงกับความยิ่งใหญ่ของบุคคลสำคัญในอดีตของตระกูลมาเป็นแรงผลักดันในการหาเสียง
ถึงแม้ฟิลิปปินส์จะมีปัญหาเรื่องตระกูลการเมืองทรงอิทธิพลและการใช้ความรุนแรงตัดกำลังคู่แข่งทางการเมือง รวมถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชันติดอันดับต้นๆ ในเอเชีย แต่คะแนนด้านประชาธิปไตยของฟิลิปปินส์ช่วงหลายปีที่ผ่านมายังนับว่า ‘ดีกว่า’ ประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงที่ไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลซึ่งขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร
สถาบัน EIU ซึ่งเป็นองค์กรวิชาการของ The Economist จัดฟิลิปปินส์อยู่ในกลุ่มประเทศประชาธิปไตยมีตำหนิ หรือ Flawed Democracy ในปี 2024 (อ้างอิงผลสำรวจในปีก่อนหน้า) หรืออันดับ 53 จาก 167 ประเทศที่ทำการสำรวจข้อมูล ในขณะที่ไทยติดอันดับ 63 ห่างจากฟิลิปปินส์ถึง 10 อันดับ
เหตุผลสำคัญที่ฟิลิปปินส์ได้รับการประเมินคะแนนในดัชนีประชาธิปไตยของ EIU มากกว่า เป็นเพราะกระบวนการเลือกตั้งฟิลิปปินส์เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม และหน่วยงานรัฐเคารพผลเลือกตั้ง ในขณะที่ไทยเกิดเหตุการณ์พรรคอนาคตใหม่ได้รับเลือกด้วยเสียงข้างมากของประชาชน แต่กลับไม่ได้รับการโหวตสนับสนุนจากเสียงข้างมากในวุฒิสภาซึ่งที่จริงแล้วมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลทหาร จึงเข้าข่ายบั่นทอนกลไกการเลือกตั้ง
ขณะที่องค์กรระหว่างประเทศด้านการสนับสนุนประชาธิปไตย Freedom House จัดกลุ่มฟิลิปปินส์และไทยอยู่ในประเทศ ‘เสรีบางส่วน’ (Partly Free) เหมือนกัน แต่คะแนนรวมด้านประชาธิปไตยของฟิลิปปินส์ก็ยังสูงกว่าไทย คือ 58 ต่อ 36 คะแนน โดยเหตุผลของ Freedom House ก็คล้ายกับการให้คะแนนในดัชนีประชาธิปไตยของ EIU ที่มองว่ากระบวนการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมของประชาชนฟิลิปปินส์ได้รับการสนับสนุนและคุ้มครอง ไม่มีการใช้อำนาจทางทหารเข้าแทรกแซง แต่ยังมีปัญหาเรื้อรังเรื่องธรรมาภิบาลของรัฐบาลกับวัฒนธรรมการเมืองที่ขาดการถ่วงดุลตรวจสอบผู้มีอำนาจในหลายตระกูลเช่นเดียวกับไทย
นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังเป็นประเทศที่ขบวนการภาคประชาชนเคยเข้มแข็งอย่างมาก เพราะสามารถเดินขบวนขับไล่ผู้นำเผด็จการอย่าง เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส พ้นจากตำแหน่งได้สำเร็จ ในขณะที่ไทยยังมีการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของภาคประชาชนฟิลิปปินส์ถูกลดทอนความสำคัญลงไปบ้างเมื่อการเมืองระดับประเทศตกอยู่ภายใต้การบริหารของตระกูลการเมืองที่พยายามผลักดันสมาชิกของตัวเองเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ซึ่งการเติบโตของตระกูลการเมืองเหล่านี้มีผลต่อการดำเนินนโยบายและโครงการต่างๆ เพราะมักจะนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องและการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงการผูกสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจนกลายเป็นระบบอุปถัมภ์และผูกขาดอำนาจ
ที่สำคัญคือสายสัมพันธ์ระหว่างตระกูลการเมืองเหล่านี้ทำให้กฎหมายป้องกันการดำรงตำแหน่งของผู้ที่เกี่ยวพันทางสายเลือดถูกเตะถ่วงไม่ผ่านการเห็นชอบในสภามานานกว่า 30 ปีแล้ว
ฟิลิปปินส์เต็มไปด้วยตระกูลการเมือง และตระกูลส่วนใหญ่ต่างก็มีประวัติทุจริตคอร์รัปชันและละเมิดสิทธิมนุษชนชัดเจน การที่สมาชิกตระกูลเหล่านี้ได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายต่อหลายครั้งทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าคนฟิลิปปินส์ไม่เรียนรู้บทเรียนในอดีตหรืออย่างไร เพราะเหตุใดจึงเลือกแต่คนจากตระกูลเดิมๆ มารับตำแหน่งสำคัญทางการเมืองอยู่เรื่อยๆ
เรื่องนี้มีนักวิชาการพยายามหาคำตอบหลายราย แต่ผลวิจัยล่าสุดมาจากนักวิจัยฟิลิปปินส์สังกัดมหาวิทยาลัยอะเดนาวที่เผยแพร่เมื่อปี 2019 บ่งชี้ว่าจริงๆ แล้วคนฟิลิปปินส์เรียนรู้บทเรียนทางการเมืองมาตลอด และสรุปผลลัพธ์ได้ว่าคนที่จะเล่นการเมืองต้องมี ‘อำนาจหนุนหลัง’ จึงจะสามารถขับเคลื่อนโครงการหรือนโยบายที่เป็นคุณเป็นโทษต่อประชาชนผู้ใช้สิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งต่างๆ ได้ ซึ่งผู้มีคุณสมบัติเหล่านี้ก็หนีไม่พ้นสมาชิกตระกูลการเมืองที่สั่งสมเส้นสาย ทรัพย์สิน และตำแหน่งสำคัญทางการเมืองการปกครองมายาวนานหลายรุ่น
แม้บางตระกูลจะมีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นมาร์กอส ดูแตร์เต หรืออัมปาตวน แต่ตระกูลเหล่านี้ก็ยังได้รับการยกย่องจากคนในท้องถิ่นที่พวกเขาชนะการเลือกตั้งว่าเป็นผู้นำพาการพัฒนาและความช่วยเหลือต่างๆ มาให้ประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจและปากท้อง รวมถึงการใช้เครือข่ายอำนาจในการจัดการกับปัญหาด้วยวิธีการนอกระบบหรือนอกกฎหมายอื่นๆ ที่เห็นผลรวดเร็วกว่าการดำเนินเรื่องตามขั้นตอนปกติ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการขอรับการปกป้องคุ้มครองจากผู้มีอิทธิพลในสมัยอดีต
อีกเหตุผลคือตัวเลือกทางการเมืองหน้าใหม่ๆ อาจมีจิตใจที่มุ่งมั่นหรือมีอุดมการณ์ในช่วงแรก แต่เมื่อต้องเผชิญกับข้อเท็จจริงว่าการลงแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งทางการเมืองต้องใช้ต้นทุนมหาศาลและต้องต่อสู้กับผู้เล่นเบอร์ใหญ่กว่ามาก ก็มักจะพ่ายแพ้หลุดลุ่ยหรือไม่ก็ถอดใจไปก่อน ทำให้ผู้ที่สามารถจะยืนหยัดต่อสู้ในเวทีการเมืองอันดุเดือดของฟิลิปปินส์ได้มีแต่ผู้ที่มีอำนาจอยู่ในมืออยู่แล้ว
แม้จะดูเหมือนการเมืองฟิลิปปินส์จะตกอยู่ในวังวนการแย่งชิงอำนาจของคนไม่กี่ตระกูล แต่ถ้าเปรียบเทียบกับไทยที่มีปัญหาเรื่อง ‘สภาผัวเมีย’ หรือไม่ก็ ‘เด็กเส้น’ ซึ่งเป็นทายาทของนักการเมืองบ้านใหญ่ บวกกับผู้ดำรงตำแหน่งในสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยไม่ยึดโยงกับมติของประชาชน อาจมีคนรู้สึกว่าการเมืองฟิลิปปินส์ตอบสนองความต้องการของคนทั่วไปได้มากกว่าก็เป็นได้ แต่นักวิชาการที่ทำวิจัยก็ย้ำว่า สิ่งที่ตระกูลการเมืองเหล่านี้นำมาจัดสรรแจกจ่ายให้ประชาชนในนามของตัวเอง ล้วนมีรากฐานจาก ‘ภาษีประชาชน’ ทั้งสิ้น
อ้างอิง:
Bangkok Post, BNN, Bloomberg, The Diplomat, Freedom House, Global Times, The Guardian, NPR, PCIJ (1), PCIJ (2), Philstar