Humberger Menu

'กฎอัยการศึก' เกือบกลายเป็น 'รัฐประหารตัวเอง'

ความวุ่นวายที่เกาหลีใต้เกิดขึ้นและจบลงในเวลาชั่วข้ามคืน เมื่อประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล ประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉินในคืนวันที่ 3 ธันวาคม 2024 ขณะที่สภาเร่งโหวตคว่ำกฎอัยการศึก จนสุดท้ายประธานาธิบดียอมยกเลิกกฎอัยการศึก ท่ามกลางแรงกดดันจากฝ่ายค้านและประชาชนให้ลงจากตำแหน่ง 

ปรธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล

ยุน ซอก-ยอล จากพรรคพลังประชาชน (People Power Party: PPP) ประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉินครั้งแรกในรอบ 40 กว่าปีของเกาหลีใต้ผ่านสถานีโทรทัศน์ โดยให้เหตุผลว่า มีกลุ่มฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกำลังสนับสนุนเกาหลีเหนือเพื่อทำลายประชาธิปไตยของเกาหลีใต้

“เพื่อปกป้องเกาหลีใต้จากภัยคุกคามจากกองกำลังคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ และเพื่อกำจัดกลุ่มต่อต้านรัฐบาล” คือส่วนหนึ่งของข้อความที่ประธานาธิบดีประกาศ

“นี่เป็นมาตรการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนยังมีเสรีภาพ ความปลอดภัย และรับประกันความมั่นคงของชาติจากความไม่สงบที่เกิดจากกลุ่มต่อต้านรัฐบาล”

‘ภัยคุกคามจากภายนอก’ มักถูกหยิบยกขึ้นมาเสมอๆ ในการรวบอำนาจของผู้นำ ไม่ว่าการประกาศกฎอัยการศึกหรือรัฐประหาร ซึ่งในกรณีของเกาหลีใต้คาดว่าเหตุผลเบื้องหลังไม่ใช่ภัยจากเกาหลีเหนือแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องการเมืองภายในที่ประธานาธิบดีกำลังเพลี่ยงพล้ำและหมิ่นเหม่ต่อการสูญเสียอำนาจ ซึ่งส่วนหนึ่งในคำประกาศของ ยุล ซอก-ยอล ก็กล่าวอ้างถึงเรื่องนี้เช่นกัน โดยระบุว่าพรรคฝ่ายค้านซึ่งเป็นเสียงข้างมากกำลังก่อความวุ่นวาย สนับสนุนเกาหลีเหนือ และบ่อนทำลายการทำงานของรัฐบาลให้เป็นอัมพาต

“รัฐสภาตัดงบประมาณที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานระดับชาติ การป้องกันอาชญากรรมยาเสพติด และความปลอดภัยสาธารณะจนหมดสิ้น ส่งผลกระทบต่อหน้าที่หลักของรัฐบาล ทำให้ประชาชนของเราอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวาย ประเทศกลายเป็นแหล่งหลบภัยของผู้ค้ายาเสพติด และความปลอดภัยสาธารณะกำลังถูกทำลาย”

เมื่อผู้นำรัฐบาลสั่งการ กองทัพจึงต้องรับลูก โดย พลเอก พัก อัน-ซู ในฐานะผู้บัญชาการที่มีอำนาจเต็มตามกฎอัยการศึก ได้ประกาศใช้มาตรการต่างๆ โดยเฉพาะห้ามกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นในสภานิติบัญญัติที่ถูกทหารและตำรวจปิดล้อม มีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่บุกเข้าไปในอาคารสภา ประกาศนี้รวมถึงสภาท้องถิ่น พรรคการเมือง ห้ามชุมนุมทางการเมือง และควบคุมสื่อมวลชน เพื่อป้องกัน “การกระทำใดๆ ที่ปฏิเสธหรือพยายามล้มล้างระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกับการเผยแพร่ข่าวปลอม การบิดเบือนความคิดเห็นของประชาชน หรือการโฆษณาชวนเชื่อที่เป็นเท็จ” โดยผู้ฝ่าฝืนกฎอัยการศึกจะถูกจับกุมคุมขังโดยไม่ต้องมีหมายค้นหรือหมายจับ

ประกาศกฎอัยการศึกเพื่อรักษาอำนาจตัวเอง?

ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2022 ยุน ซอก-ยอล จากพรรคอนุรักษ์นิยม PPP ถูกขนานนามจากสื่อว่าเป็นเหมือน ‘เป็ดง่อย’ ที่ไม่มีอำนาจสั่งการอะไรได้ และยังมีมลทินติดตัวไม่น้อย

ประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล

ยุน ซอก-ยอล อาจเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีก็จริง แต่ความต่างของคะแนนระหว่างเขา และ ลี แจ-มยอง จากพรรคประชาธิปไตยเกาหลี (Democratic Party of Korea: DPK) คือ 247,077 คะแนน หรือ 16,394,815 คะแนนต่อ 16,147,738 คะแนน และถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์คือห่างกันแค่ 0.73 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าน้อยมากๆ ทำให้ตำแหน่งของ ยุน ซอก-ยอล ไม่มั่นคงตั้งแต่วันแรก

ผู้นำฝ่ายค้าน ลี แจ-มยอง จากพรรค DPK

หนักกว่านั้นคือ ในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติที่จัดแยกกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 10 เมษายน 2024 พรรค DPK ชนะแบบแลนด์สไลด์จนได้ที่นั่งในสภา 173 ที่นั่ง ส่วน PPP ได้ 108 ที่นั่ง จากสภาที่มีสมาชิกทั้งหมด 300 คน 

นั่นทำให้พรรค DPK เป็นผู้นำฝ่ายค้านเสียงข้างมาก การผ่านกฎหมายต่างๆ ของรัฐบาลอนุรักษนิยมจึงเป็นไปได้ยาก ทำได้แค่เพียงใช้สิทธิยับยั้งหรือวีโต้เท่านั้น การทำงานของรัฐบาลจึงมีสภาพง่อยเปลี้ยไม่ต่างจากประธานาธิบดี

เหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นก่อนประกาศกฎอัยการศึกไม่นาน คือ ฝ่ายค้านเสนอกฎหมายงบประมาณที่นำไปสู่การตัดงบของรัฐบาล และตามข้อบังคับ ร่างกฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณไม่สามรถวีโต้ได้ ทำให้รัฐบาลต้องยอมรับสภาพการถูกตัดงบประมาณแบบหมดทางสู้

ผู้นำฝ่ายค้าน ลี แจ-มยอง จากพรรค DPK

นอกจากนั้น ฝ่ายค้านยังยื่นถอดถอนสมาชิกคณะรัฐมนตรีกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอีกหลายคน รวมถึงหัวหน้าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่ล้มเหลวในการสืบสวนคดี คิม กอน-ฮี ภรรยาของประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล จากกรณีปั่นหุ้นและรับของขวัญที่มีมูลค่าสูงกว่ากฎหมายกำหนด เป็นกระเป๋าแบรนด์ Dior มูลค่า 2,250 ดอลลาร์ เมื่อปี 2022 แลกกับความช่วยเหลือบางอย่าง กรณีนี้อาจเข้าข่ายทุจริตและคอร์รัปชั่น ซึ่งประธานาธิบดีเพียงแค่ออกมาขอโทษ แต่ไม่ตั้งกรรมการสอบสวนตามที่ฝ่ายค้านเรียกร้อง

หากย้อนไปก่อนหน้านั้น คิม กอน-ฮี ก็เคยมีข่าวฉาวตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง คือถูกกล่าวหาว่าแก้ไขประวัติเพื่อสมัครงานว่าจบจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และใช้หมอผีคนสนิทมาช่วยแคมเปญหาเสียง รวมทั้งแม่ของเธอก็เคยเปิดสถานดูแลผู้สูงอายุโดยไม่ได้รับอนุญาตและถูกจำคุกจากคดีฉ้อโกง

กฎอัยการศึกอายุสั้นที่ไม่กลายเป็นรัฐประหาร

เพราะรัฐธรรมนูญไม่ถูกฉีก ทหารไม่ล้ำหน้ารัฐบาลพลเรือน และสภายังทำงาน ตั้งแต่ปี 1948 รัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ผ่านการแก้ไขมา 10 ครั้ง และเกิดรัฐประหารหลายครั้งในช่วงการเมืองยังไม่นิ่ง ปี 1979 หลังการลอบสังหารประธานาธิบดี พัค จุง-ฮี ที่ครองอำนาจยาวนาน 18 ปี นำมาสู่การรัฐประหารโดย นายพล ชุน ดู-ฮวาน ที่ต่อมาขึ้นเป็นประธานาธิบดี ทำให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารในเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาและประชาชนที่ควังจู (Gwangju Uprising) ในปี 1980 ชุน ดู-ฮวาน จึงประกาศกฎอัยการศึกวันที่ 17 พฤษภาคม 1980 ซึ่งเป็นการใช้กฎอัยการศึกครั้งหลังสุดของเกาหลีใต้ เพื่อระงับกิจกรรมทางการเมือง ตามมาด้วยการสังหารหมู่ประชาชนผู้ต่อต้านระหว่างวันที่ 18-27 พฤษภาคม 1980 หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญในยุค ชุน ดู-ฮวาน เมื่อปี 1987 เกาหลีใต้ก็ใช้ระบบรัฐสภาเต็มรูปแบบและมีเสถียรภาพจนปัจจุบัน

กฎอัยการศึกในรอบ 40 กว่าปี

หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญในยุค ชุน ดู-ฮวาน เมื่อปี 1987 เกาหลีใต้ก็ใช้ระบบรัฐสภาเต็มรูปแบบและมีเสถียรภาพจนปัจจุบัน การประกาศกฎอัยการศึกในหลายๆ ประเทศจะบังคับใช้เป็นปี แต่ที่เกาหลีใต้ เนื่องจากสมาชิกสภาเชื่อว่าตนเองยังมีอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย บรรดาฝ่ายค้านจึงรีบประชุมด่วนและร่วมโหวตเพื่อล้มกฎอัยการศึกที่ประกาศโดยประธานาธิบดี แสดงให้เห็นว่า ผู้นำรัฐบาลไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือเสียงในสภา

ไอเดียกฎอัยการศึกจากรัฐมนตรีกลาโหม

ข้อมูลระบุว่า ผู้มีส่วนร่วมในความวุ่นวายเมื่อคืนวันที่ 3 ธันวาคม มาจากบุคคลสายทหาร คือรัฐมนตรีกลาโหม คิม ยง-ฮยอน ซึ่งเป็นคนให้คำแนะนำว่าประธานาธิบดีควรประกาศกฎอัยการศึก และหลังจากประกาศกฎอัยการศึกแล้ว พัก อัน-ซู เสนาธิการทหารบก เป็นผู้บัญชาการกองกำลังกฎอัยการศึก และ กวัก จอง-อึน ผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการพิเศษกองทัพบก เป็นผู้ระดมพลทหารเข้าสู่กองกำลังกฎอัยการศึก รวมทั้ง อี จิน-วู ผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันเมืองหลวง ทำให้การออกกฎอัยการศึกครั้งนี้เกือบตามมาด้วยรัฐประหารครั้งใหม่ในเกาหลีใต้ ซึ่งจะเป็นการรัฐประหารตัวเองของ ยุน ซอก-ยอล แทนการยุบสภา เพราะคงเป็นเรื่องยากมากที่เขาจะได้รับชัยชนะหากมีการเลือกตั้งใหม่

สภาหยุดกฎอัยการศึก 190 : 0

โชคดีที่แม้กฎอัยการศึกจะระงับกิจกรรมทางการเมือง แต่ระบบการทำงานแบบประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ก็แข็งแรงพอ ทั้งประชาชนที่ออกมาชุมนุมต่อต้าน และพรรคฝ่ายค้านที่รีบรวมตัวกันเข้าสภา เพื่อโหวตคว่ำการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดี ลี แจ-มยอง ตัวแทนของพรรค DPK รวมเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านประชุมด่วน และสภาก็มีมติเอกฉันท์ 190 ต่อ 0 เสียง ให้การประกาศกฎอัยการศึกกลายเป็นโมฆะ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า ในเมื่อกฎอัยการศึกระงับการทำงานของสภา มติของสภาจะมีน้ำหนักเหนือกว่าหรือไม่

ถอดถอนประธานาธิบดี

เช้าวันที่ 4 ธันวาคม ยุน ซอก-ยอล แถลงทางโทรทัศน์ ยกเลิกกฎอัยการศึก และทหารได้ถอนกำลังออกไปแล้ว การประกาศกฎอัยการศึกจึงไม่นำไปสู่การรัฐประหาร เพราะทหารไม่ได้ยึดอำนาจ และรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ถูกฉีก ต่อมา ช่วงบ่ายของวันที่ 4 ธันวาคม พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติถอดถอน ยุน ซอก-ยอล ออกจากตำแหน่งต่อสภา ซึ่งตามกฎหมายของเกาหลีใต้ เมื่อยื่นญัตติถอดถอนแล้วต้องลงมติภายใน 24-72 ชั่วโมง โดยฝ่ายค้านเสนอให้อภิปรายวันพฤหัสบดีและลงมติในวันเสาร์ ทั้งนี้ ญัตติถอดถอนต้องได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 จาก 300 เสียง ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านขณะนี้มี 192 เสียง ต้องการเสียงจากพรรครัฐบาลอีก 8 เสียงถึงจะยื่นถอดถอนได้

กฎอัยการศึกต้องมีคนรับผิดชอบ

ฮัน ดง-ฮุน หัวหน้าพรรค PPP ของประธานาธิบดี ก็ลอยแพ ยุน ซอก-ยอล โดยเรียกร้องให้ประธานาธิบดีอธิบายสถานการณ์อย่างละเอียดเป็นส่วนตัว และเรียกร้องให้ปลดรัฐมนตรีกลาโหม คิม ยง-ฮยอน ผู้เสนอให้ใช้กฎอัยการศึก และเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องคนอื่นรับผิดชอบด้วยเช่นกัน “ในฐานะพรรครัฐบาล เราจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เพื่อลดความเสียหายทางเศรษฐกิจและการทูตให้เหลือน้อยที่สุด” และทางพรรค PPP จะทำการสืบสวนเหตุการณ์นี้อย่างละเอียด

เหตุการณ์คล้ายๆ กันเคยเกิดขึ้นไทย แต่กลายเป็น ‘รัฐประหารตัวเอง’ ง่ายๆ ของจริง

เหตุการณ์รัฐประหารตัวเองด้วยเหตุผลว่าจัดการรัฐบาลไม่ได้เคยเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2514 ในยุค จอมพลถนอม กิตติขจร

ปี 2512 พรรคการเมืองของทหาร พรรคสหประชาไทยที่นำโดยจอมพลถนอม ถูกกลุ่ม สส.ของพรรค นำโดย ญวง เอี่ยมศิลา สส.อุดรธานี เรียกร้องผลประโยชน์ที่จอมพลถนอมเคยสัญญาไว้ในช่วงเลือกตั้ง เมื่อไม่ได้รับการตอบแทน สส. กลุ่มนี้จึงยกระดับข้อเรียกร้องเป็นการขู่ว่าจะลาออกและก่อปฏิบัติการขัดขวางการทำงานของรัฐบาลในสภา 

เนื่องจากรัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2515 โดยรับหลักการในวาระแรกไปแล้ว แต่เพราะ สส. กลุ่มดังกล่าวต้องการเพิ่มเงินงบประมาณบำรุงท้องที่เป็นเงิน 448 ล้านบาท แต่รัฐบาลจัดสรรงบให้เพียง 224 ล้านบาท จอมพลถนอมจึงไม่สามารถควบคุมสถานการณ์เรื่องงบประมาณและข้อเรียกร้องจากสภาได้ แม้กระทั่ง สส.ของสหประชาไทยเอง

จอมพลถนอมจึงยึดอำนาจตนเอง โดยเรียกตัวเองแค่ว่า ‘คณะปฏิวัติ’ ที่เกิดจากสาเหตุทางการเมืองภายใน แต่จอมพลถนอมให้เหตุผลการยึดอำนาจตัวเองว่า

“ภัยที่คุกคามประเทศและราชบัลลังก์ สถานการณ์ภายใน ความวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติ การนัดหยุดงานของกรรมกร การเดินขบวนของนักศึกษา การแก้ไขสถานการณ์ถ้าจะดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญย่อมไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องใช้การยึดอำนาจการปกครองเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเฉียบขาดและฉับพลัน”

จากนั้นจึงตามด้วยกระประกาศกฎอัยการศึก ยกเลิกพรรคการเมืองระงับกิจกรรมทางการเมือง ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

โชคร้ายของไทยคือจอมพลถนอมเป็นผู้นำทหาร ในยุคที่ทหารมีอำนาจทางการเมืองเหนือพลเรือน การรัฐประหารตัวเองจึงสำเร็จง่ายดาย

จากนั้นจอมพลถนอมก็ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงมติให้จอมพลถนอมกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ และประกาศใช้มาตรา 17 เหมือนยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้อำนาจเต็มกับนายกรัฐมนตรีในการสั่งการทุกอย่าง โดยมีเหตุผลเรื่องความมั่นคงของราชอาณาจักรรองรับ โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภา และไม่ต้องอ้างอิงถึงกฎหมายฉบับใดๆ

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
กองบรรณาธิการ