ในวันที่อากาศสดใส เราเดินทางด้วยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ลงที่สนามบินน่านต่อด้วยรถตู้ไปยังตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ในช่วงสาย ด้วยระยะเวลาการเดินทางกว่า 3-4 ชั่วโมง พร้อมสื่อมวลชนอีกหลายสำนักเป็นเพื่อนร่วมทาง
มื้ออาหารเที่ยงในวันแรกของเราที่นี่คือ 'หมูน้ำโจ้' ของขึ้นชื่อของตำบลสะเอียบที่ใช้ส่าเหล้าหรือกากเหล้าที่เหลือจากการกลั่นสุราให้หมูกิน หมูก็จะอารมณ์ดี ทำให้ได้เนื้อหมูที่เนื้อแน่นและอร่อย
ชาวบ้านที่นี่เล่าว่าสาเหตุที่ต้องนำส่าเหล้าไปให้หมูกินเพราะชาวตำบลสะเอียบโดดเด่นในด้านการทำสุราชุมชนจนขึ้นชื่อว่าเป็นเหล้าขาวที่ดีที่สุดของไทย ทำให้มีส่าเหล้าเหลือทิ้งปริมาณมากจึงลองนำไปเป็นอาหารหมูและเกิดเป็นหมูน้ำโจ้ขึ้นมา
หมูเลี้ยงในฟาร์มของชุมชนที่กินส่าเหล้า
“ลองกินหมูน้ำโจ้หรือยัง” พี่หาญ-หาญณรงค์ เยาวเลิศ อดีตประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ถามเราหลังจากเพิ่งถึงตำบลสะเอียบในวันแรกและลองกินหมูน้ำโจ้ไปแล้วตั้งแต่มาถึง
พี่หาญ-หาญณรงค์ เยาวเลิศ
ด้วยความสงสัยว่าอะไรที่ทำให้เหล้าและหมูน้ำโจ้ขึ้นชื่อมากขนาดนี้ พี่หาญ เล่าให้ฟังว่า น้ำที่ใช้ทำเหล้าของที่นี่ล้วนมาจาก ‘แม่น้ำยม’ เป็นน้ำธรรมชาติที่คนปรุงเหล้าบอกว่า น้ำที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น เพราะแต่เดิมที่นี่เคยเป็นภูเขาไฟทำให้มีแร่ธาตุต่างๆ รวมถึงดินที่นี่ก็มีความพิเศษ คือทำให้เกิด ‘ไม้สักทอง’ อันเป็นเอกลักษณ์เพราะเคยมีการนำสักที่นี่ไปปลูกที่อื่นก็ไม่เป็นไม้สักทอง
แม่น้ำยม
เมื่อเราลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเหล้าและชุมชนก็พบว่า ‘เหล้า’ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนที่นี่ เช่น การใช้เหล้าเป็นเครื่องเซ่นไหว้ถวายในพิธีเรียกขวัญ พิธีเลี้ยงผีและพิธีสืบชะตาแม่น้ำ การใช้เหล้าทำอาหาร หรือใช้ยาดองเหล้ากับสมุนไพรเพื่อรักษาโรค ซึ่งปัจจุบันชุมชนสะเอียบมีประชากร 60 หมู่บ้านที่ประกอบอาชีพทำสุรากลั่นชุมชน 103 ครัวเรือน เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนมากกว่า 200 ปี
ในช่วงเย็นเราไปเดินเล่นแถวหมู่บ้าน เห็นป้ายผ้าที่ติดเรียงรายตามข้างถนนและตามบ้านของผู้คน เขียนข้อความว่า “หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น” “ยกเลิกแก่งเสือเต้น” หรือ “อย่าคิดสร้างเขื่อนเลยนะ”
นั่นเป็นเพราะเขื่อนแก่งเสือเต้นคือโครงการของรัฐบาลตั้งแต่ในอดีตเพื่อป้องกันน้ำท่วม และถูกผลักดันให้เกิดขึ้นในสมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ
แต่ด้วยเสียงของชาวบ้าน นักวิชาการ และภาคส่วนอื่นๆ ร่วมกันคัดค้านเรื่องนี้มาโดยตลอดเพราะการสร้างเขื่อนอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและไม่ได้ช่วยป้องกันน้ำท่วมได้จริง
ภาพ:ศูนย์ข้อมูลไทยรัฐ
ทำให้รัฐบาลต้องพับเก็บโปรเจกต์นี้ไป แม้จะยังมีการพูดถึงอยู่ในอีกหลายช่วงยุคสมัยอยู่บ้าง แต่หลายคนมองว่าคงจะไม่นำกลับมาอีกแล้ว
จนกระทั่งปีนี้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดโซนภาคเหนือและภาคกลางตอนบน โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นจึงถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง โดย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่การกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) ให้สัมภาษณ์ในขณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมสุโขทัยเมื่อเดือนสิงหาคมแทนนายกฯ ว่า
“สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจังหวัดสุโขทัย ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมาพูดคุยกันถึง ‘เขื่อนแก่งเสือเต้น’ เพราะที่ผ่านมาสร้างอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ระหว่างพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ ต้องทุกข์ร้อนและต้องจมอยู่กับน้ำขังน้ำหลากมาเป็นเวลานาน ฉะนั้นเรื่องนี้ก็ขอให้เป็นประเด็นสาธารณะที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาอย่างถ่องแท้”
เรื่องนี้ทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นสู้อีกครั้งเพราะหากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ชุมชนตำบลสะเอียบจะต้องอพยพย้ายถิ่นออกไป แต่ไม่ใช่เพียงเท่านั้น วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความทรงจำและเหล้าที่พวกเขาภูมิใจก็จะหายไปด้วยเช่นกัน
ในวันที่สองที่ตำบลสะเอียบ เราตื่นตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นจากขอบฟ้า พร้อมกับเพลงศรัทธา ของหิน เหล็ก ไฟ จากเสียงตามสายที่ดังก้องทั่วหมู่บ้าน สร้างความฮึกเหิมด้วยท่อนฮุกที่ร้องว่า “ใจสู้หรือเปล่า ไหวไหมบอกมา โอกาสของผู้กล้า ศรัทธาไม่มีท้อ~”
หลังจากนั้นจึงมีผู้ดำเนินรายการพูดถึงความสำคัญในการคัดค้านแก่งเสือเต้นและต้อนรับสื่อมวลชนที่จะมาร่วมงานบวชป่าเนื่องในโอกาส 35 ปี การคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้นในทุกๆ 5 ปี และถือเป็นงานบุญใหญ่ของคนในพื้นที่
แต่ก่อนที่เราจะร่วมงานบวชป่าในวันพรุ่งนี้ ในตอนเช้าเราไปเดินตลาดที่วัดดอนชัย ที่นั่นมีชาวบ้านตำบลสะเอียบมาจับจ่ายซื้อของกันอย่างคึกคัก
เมื่อเดินไปสักพักเราสังเกตเห็นว่าบนหน้าร้านค้ามีข้อความที่เพ้นท์ด้วยสีสเปรย์ว่า ‘เราไม่อพยพ’ ตัวใหญ่อยู่หลายร้าน มีบางจุดที่จางไปบ้างแล้ว ซึ่งคาดว่าน่าจะเคยทำไว้ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน
หลังจากเดินตลาดได้ไม่นานเราก็ต้องรีบเดินทางต่อไปตามกำหนดการ คือการเดินทางขึ้นไปชมป่าสักทองจากบนผาอิงหมอก หล่มด้งที่เคยเป็นภูเขาไฟ และแก่งเสือเต้นที่มีแม่น้ำยมพาดผ่าน ซึ่งทั้งหมดคือจุดที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
เมื่อนั่งรถขึ้นไปยังผาอิงหมอกเป็นจุดแรก แม้จะมีหมอกลงหนาในช่วงเช้า แต่เรายังพอมองเห็นต้นสักทองบนผืนป่าจำนวนมากที่อยู่ติดกับตำบลสะเอียบ
ในระหว่างเรากำลังชื่นชมป่าสักทอง เราได้พบกับ ก้องไมตรี เทศน์สูงเนิน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยม วัย 55 ปี ซึ่งแม้เขาจะมีบ้านเกิดอยู่ที่โคราช แต่มาทำงานอยู่ที่อุทยานฯ แม่ยมเป็นเวลาประมาณ 7-8 ปีแล้วและมีประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับป่าไม้มาถึง 30 ปี
ก้องไมตรี เทศน์สูงเนิน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยม
หัวหน้าก้องไมตรีชี้ให้เราดูว่าบนพื้นที่นี้มีป่าอยู่หลากหลายทั้งป่าสักทอง ป่าสน ป่าเต็งรัง ซึ่งบริเวณนี้ถือเป็นป่าต้นน้ำ แม้จะมีปริมาณน้ำไม่เยอะเท่าป่าอื่นๆ
ส่วนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่นี่ก็มีหลายกลุ่ม คือคนอาศัยอยู่เดิมมาก่อนปี 2497 ที่ตำบลสะเอียบ ซึ่งถือเป็นเขตในอุทยานแม่ยม ปัจจุบันชาวบ้านก็มีเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 (หนังสือรับรองการทำประโยชน์) ของกรมที่ดินอย่างถูกต้อง และยังมีคนชาติพันธุ์อาศัยอยู่หลายกลุ่ม เช่น อาข่าบ้านแม่พร้าว เดิมเรียกชื่อว่า บ้านอีก้อสะเอียบ ซึ่งอพยพมาจาก อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย, เมี่ยน หรือ เย้า ที่รอยต่อของพะเยาและแพร่ และ มาลบลี หรือที่เราเรียกว่าเผ่าตองเหลือง
“โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นหนึ่งในโครงการ ผันน้ำ กก อิง ยม น่าน คือผันน้ำจากน้ำกก ที่เชียงใหม่ลงมาเชียงราย แล้วก็ลงมาน้ำอิงจากพะเยา แล้วก็ผันน้ำยมไปที่เขื่อนสิริกิติ์ แต่เขื่อนสิริกิติ์ยังไม่พอ จึงเหลือเพียงตรงแก่งเสือเต้นที่ทำให้โครงการนี้ไม่ได้ครบทั้งระบบ” หัวหน้าก้องไมตรีอธิบาย
“แต่ผมคิดว่าเขื่อนเป็นโครงการพัฒนาของคนที่คิดว่าจะเอาชนะธรรมชาติได้ ไม่ได้มองถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ผมมองว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมจากแม่น้ำยมยังสามารถแก้ปัญหาได้อีกหลายทาง นอกจากการสร้างเขื่อน” หัวหน้าก้องไมตรีทิ้งท้าย
หลังจากชมป่าสักทองที่แดดสอดส่องในช่วงสายจนเต็มอิ่มแล้ว เราเดินทางต่อไปที่ ‘หล่มด้ง’ แอ่งน้ำธรรมชาติ ที่เกิดจากแผ่นดินยุบบนยอดเขาสูง ซึ่งคาดว่าเคยเป็นภูเขาไฟมาก่อน แอ่งน้ำจะมีน้ำขังตลอดทั้งปีเป็นแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่า เช่น เสือ เก้ง หมูป่าและนกต่างๆ นอกจากนี้ยังมีพืชน้ำ เช่น ไข่ผำ ที่ชาวบ้านมักนำมารับประทาน
หล่มด้งจุดที่คาดว่าเคยเป็นภูเขาไฟมาก่อน
ต่อมาจึงเดินทางต่อลงไปที่แก่งเสือเต้นที่มีแม่น้ำยมไหลผ่านในช่วงเที่ยง ซึ่งฤดูนี้กำลังเป็นช่วงน้ำแล้ง ทำให้แม่น้ำดูคอดและน้ำตื้น
เราได้คุยกับ ลุงน้อย-ประสิทธิพร กาฬสีอ่อน แนวร่วมคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นวัย 58 ปี ที่อาศัยอยู่ที่ตำบลสะเอียบมานานถึง 20 ปี หลังจากแต่งงานมาเป็นลูกเขยที่นี่
ลุงน้อย-ประสิทธิพร กาฬสีอ่อน
ลุงน้อย ชี้ไปตรงแม่น้ำยมและบอกว่าตรงบริเวณนั้นเคยมีหินธรรมชาติที่มีลักษณะคล้ายรอยเท้าเสือ ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อแก่งเสือเต้นและสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า
ลุงน้อย บอกว่า ถ้าเกิดมีเขื่อนแก่งเสือเต้นรวมถึงโครงการของรัฐอื่นอย่างเขื่อนยมบน-ยมล่าง ซึ่งมีจุดประสงค์คล้ายกัน น้ำจะไม่ได้ท่วมแค่ในชุมชนสะเอียบ แต่ป่าสักทองและพืชผักป่าที่ชาวบ้านต้องพึ่งพาในธรรมชาติ เช่น ผัก เห็ด หน่อไม้ ก็จะถูกท่วมไปทั้งหมด
“ชาวสะเอียบพยายามไปศึกษาหาความรู้เรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในทุกๆ ที่ที่มีเขื่อน เราได้ไปคุยกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จนเรารู้ว่าการสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบอะไร ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทุกที่บอกให้เราสู้ อย่ายอม ไม่อย่างนั้นชุมชนจะแตกสลายเหมือนบ้านพ่อแม่ของเขา”
ลุงน้อย อธิบายถึงทางออก 19 แนวทางที่ชาวบ้านคิดขึ้นหรือที่เรียกกันว่า ‘สะเอียบโมเดล’ ที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การเพิ่มพื้นที่กับเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา หรือการขุดลอกและขยายแม่น้ำยมสายเก่า และแนวทางอื่นๆ
“ผมคิดว่าแนวทาง 19 แนวทางที่เราเสนอไป ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรักษาป่า ฟื้นฟูป่าให้มีประสิทธิภาพ ให้มีประสิทธิภาพในการรักษาระบบนิเวศไว้จะมีประโยชน์มากกว่า ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมเราเสนอโครงการย่อยไปโดยการทำเพิ่มทางน้ำผ่านตัวเมือง ทำอ่างเก็บน้ำเล็กๆ เท่าสนามบอลกระจายทั่วลุ่มน้ำยมเป็นหลุมขนมครก คิดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมนี้ได้ในอนาคต”
ลุงน้อย พูดต่อว่า สิ่งที่ชัดเจนคือเขื่อนนี้เลยจุดคุ้มทุนไปแล้ว หลังจากมีการศึกษาเพิ่มเติมพบว่าพื้นที่จะสร้างเป็นรอยเลื่อนแผ่นดินไหว จึงต้องลงทุนปรับงบเป็น 12,000 ล้านบาทในปี 2540 จากที่เดิมตั้งไว้ 4,700 ล้านบาท เพื่อรักษารากฐานให้แข็งแรง แต่ปัจจุบันคาดว่าถ้าจะสร้างเขื่อนจะใช้งบไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านแน่นอน ในขณะเดียวกัน เขื่อนยมบน-ยมล่างก็คาดว่าจะประมาณใช้งบ 15,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบมหาศาลเช่นกัน
“ด้วยงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจึงมีคนเกิดความคิดที่จะเอาไม้สักที่จะตัดออกคิดเป็นมูลค่า 10,000 ล้านบาทมาเป็นรายรับ เพื่อใช้สร้างเขื่อนแทน แล้วมาบวกลบตัวเลขให้เห็นว่าเขื่อนนี้คุ้มทุน เราไม่เชื่อเศรษฐศาสตร์โจรแบบนี้ เราจึงยืนยันที่จะต่อสู้คัดค้านต่อไป แล้วนี่ไม่ใช่ยุคสมัยของการสร้างเขื่อนแล้ว ในยุโรปและอเมริกาทุบเขื่อนทิ้งกันแล้วเพราะกระทบระบบนิเวศ เรายังจะมาสร้างใหม่อีก”
หลังจากได้รู้เรื่องราวของการคัดค้านเขื่อนมากขึ้น เราเดินทางกลับไปยังที่พักและเดินต่อไปเพียงไม่กี่ก้าวก็จะไปเจอกับโรงทำเหล้าชื่อดังของตำบลสะเอียบ
ที่นั่นเราเจอกับแม่สาย-กัญญาภัค ออมแก้ว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสุราสักทองแพร่ วัย 70 ปี ผู้มีประสบการณ์ทำเหล้ามาตั้งแต่เด็ก
แม่สาย-กัญญาภัค ออมแก้ว
แม่สายเล่าว่าในสมัยก่อนสุราชุมชนยังถือเป็นเหล้าเถื่อน ทำให้ต้องนำเหล้าไปซ่อนตามใต้ถุนบ้านหรือไว้ในป่าสักทองแทน จนกระทั่งสุราชุมชนถูกกฎหมายในปี 2545 จึงนำเรื่องราวที่ต้องนำเหล้าไปซ่อนในป่ามาตั้งชื่อว่า สุราสักทอง และแปะสแตมป์สรรพสามิตจำนวน 999 ดวงบนปากขวดเหล้าของเธอเป็นครั้งแรก
ระยะเวลากว่า 22 ปีของการทำธุรกิจเหล้าของแม่สายถือว่าประสบความสำเร็จมาก และยังทำให้คนในชุมชนมีรายได้และอาชีพจากสุราชุมชน แม่สายบอกว่าน้ำที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ทำให้ได้เหล้าคุณภาพดีกว่าที่อื่น เพราะเคยลองวิจัยทำเหล้าที่อื่นมาแล้วจะได้รสชาติไม่เหมือนกัน แต่หากเกิดจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เหล้าสักทองที่เหมือนเป็นสมบัติของชาวบ้านก็จะหายไปด้วย ซึ่งนั่นมีมูลค่าหลายล้านบาท
“แม่อยู่ที่นี่ แม่ก็จะตายที่นี่” แม่สายทิ้งท้าย
มาถึงวันสำคัญในวันที่สาม เราเดินทางเข้าไปในป่าสักทอง เพื่อร่วมงานบวชป่า เนื่องในโอกาส 35 ปี การต่อต้านแก่งเสือเต้น
ระหว่างทางเราเห็นต้นสักทองต้นใหญ่ที่มีผ้าจีวรห่มไว้ มีทั้งผ้าจีวรที่ดูเก่าและดูใหม่สลับกันไป ซึ่งชาวบ้านบอกว่านั่นเป็นไม้สักที่เคยบวชไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน
‘การบวชป่า’ อาจไม่ใช่สิ่งที่คนเมืองอย่างเราคุ้นเคยนัก แต่ในสมัยก่อนพื้นที่นี้เคยมีการทำสัมปทานป่าไม้ และถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2531 มีนายทุนบุกไปตัดต้นไม้และมีชาวบ้านบางส่วนไปร่วมมือ จนเกิดการปะทะและมีหน่วยงานรัฐพยายามตามจับกุม แต่ก็ไม่สามารถหยุดการลักลอบตัดต้นไม้ได้ รวมถึงในเวลาใกล้เคียงกันก็มีกระแสการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมา ซึ่งก็จะเกิดการตัดไม้เช่นกัน
ชุมชนจึงเริ่มจัดพิธีบวชป่าขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2535 โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำในการประกอบพิธี และนำผ้าเหลืองในพิธีห่มต้นไม้ไว้ เป็นกุศโลบายว่า “ถ้าใครนำผ้าเหลืองออกแล้วตัดต้นไม้จะถือว่าทำบาปมาก” ซึ่งหลังจากทำพิธีบวชป่าครั้งนั้นก็ส่งผลให้คนกลัวบาปและนายทุนที่เข้าไปตัดไม้ก็ล่าถอยออกไปเอง
ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีนี้ยังคงสืบทอดต่อไปรุ่นต่อรุ่น ภายในงานครบรอบ 35 ปี มีคนจำนวนมากมาด้วยรถหลากหลายคันเพื่อร่วมงานบวชป่า ทั้งคนในพื้นที่และเครือข่ายทั่วไทยที่คัดค้านการสร้างเขื่อนและการตัดไม้ทำลายป่า
ก่อนเริ่มงานบวชป่า ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา ประธานคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ถือไมค์กล่าวเปิดงานด้วยเสียงดังกึงก้องไปทั่วป่าว่า “ที่นี่คือสิ่งที่มีวิญญาณของบรรพบุรุษที่ช่วยกันสร้างและปกป้องป่าสักทองผืนสุดท้ายกันมา น้ำท่วมทีไรก็เอ่ยขึ้นมาว่าชาวบ้านตำบลสะเอียบใจแคบ แต่เราใจแคบกับรัฐบาลที่คิดถอยหลัง คิดแต่จะสร้างเขื่อน เอาความหายนะมาให้กับพวกเรา”
ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา ประธานคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น
“วันนี้เป็นวันครบรอบ 35 ปี เพื่อน้อมรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว วันนี้ผมในฐานะประธานฯ จะนำทุกท่านเข้าร่วมพิธีบวชป่าเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ป่าและพ่อแม่พี่น้องทุกคน” ณัฐปคัลภ์ กล่าวเปิดพิธีบวชป่าพร้อมการตอบรับด้วยเสียงปรบมือจากผู้เข้าร่วมงานทุกคน
เมื่อพระสงฆ์ทั้ง 6 รูปทำพิธีเสร็จแล้ว ณัฐปคัลภ์จึงนำผ้าจีวรห่มให้กับไม้สักเป็นต้นแรก
จากนั้นชาวบ้านจึงเริ่มกระจายกันไปห่มผ้าจีวรให้กับต้นอื่นๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีไม้สักทองที่คาดว่าน่าจะอายุเป็นร้อยปีอยู่ด้วย
ระหว่างที่เดินถ่ายรูปผู้คนที่นำผ้าเหลืองไปผูกต้นไม้ เราพูดคุยกับ พี่วี ชาวบ้านที่เคยได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลวัย 54 ปี เธอเล่าว่า หลังจากการสร้างเขื่อนที่ปากมูลทำให้ตอนนี้ธรรมชาติที่เคยมีหายไปหมด เมื่อก่อนเธอเคยทำอาชีพประมงได้ดี เพราะมีแก่งและมีโขดหิน ทำให้หาปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ได้ทุกอย่าง แต่ปัจจุบันไม่มีแก่งแล้วเพราะต้องระเบิดแก่งให้เป็นร่องน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า
พี่วี ชาวบ้านที่เคยได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล
“แต่ระหว่างไฟฟ้าและธรรมชาติ เรามองว่าธรรมชาติดีกว่า เพราะผลิตไฟฟ้ามาชาวบ้านเขื่อนปากมูลเรายังไม่ได้ใช้เลย เราต้องใช้ไฟฟ้าจากที่อื่น เขื่อนปากมูลมันล้มเหลวอยู่แล้ว”
“เราไม่อยากให้สร้างเขื่อนอีกแล้ว เราเห็นผลกระทบจากบ้านเราและที่นี่ยังมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ ถ้าสร้างเขื่อนรับรองว่าป่าแถวนี้คงไม่มีให้เห็นอีกแล้ว ในอนาคตคงได้เห็นเป็นภาพวาดเหมือนปากมูล” พี่วีกล่าว
แม้งานบวชป่าจะจบไปแล้วและมีชาวบ้านเริ่มทยอยเดินทางกลับ แต่ยังคงมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่กำลังทำกิจกรรมเรียนรู้เกี่ยวกับป่า โดยมี พี่แป๋ว-อริศราพรดิ์ สะเอียบคง แนวร่วมก่อตั้งกลุ่มตะกอนยม เป็นผู้นำเด็กๆ มาทำกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติที่ป่าสักทองแห่งนี้
พี่แป๋ว-อริศราพรดิ์ สะเอียบคง แนวร่วมก่อตั้งกลุ่มตะกอนยม
พี่แป๋ว เล่าว่า กลุ่มตะกอนยมเริ่มตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2537 เป็นการรวมกลุ่มกันกับเพื่อนผู้หญิงทั้งหมด 10 คน เพื่อศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะเธอเริ่มเห็นเหตุการณ์การต่อสู้เรื่องของผู้ใหญ่ในชุมชนในทุกๆ วัน จากนั้นก็เริ่มเขียนป้ายผ้าเพื่อแสดงออกว่าเด็กไม่เอาเขื่อนเหมือนกัน และทำกิจกรรมอื่นๆเช่น จัดนิทรรศการ และจัดค่าย หลังจากนั้นก็มีทั้งผู้หญิงผู้ชายเข้ามาร่วมทำกลุ่มตะกอนยม เพื่อการต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น
“ตอนแรกพวกผู้ใหญ่ก็ไม่สนับสนุน คิดว่าเด็กควรอยู่เฉพาะเด็ก เด็กควรจะตั้งใจเรียน เป็นเด็กดีช่วยงานในบ้าน แต่เราคิดว่าความเป็นเด็กของเราน่าจะสร้างประโยชน์ให้กับพวกผู้ใหญ่บ้าง เหมือนกับตะกอนของแม่น้ำยมที่สร้างประโยชน์ให้กับปลาและพืชในน้ำเช่นกัน เราคิดแบบนี้เราก็เลยตั้งชื่อกลุ่มว่าตะกอนยม”
สาเหตุที่ทำให้พี่แป๋วลุกขึ้นสู้ขนาดนี้อาจเป็นเพราะคุณพ่อของพี่แป๋วคือ ชุม สะเอียบคง อดีตกำนันตำบลสะเอียบ หนึ่งในแกนนำต่อต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น
กำนันชุมเคยให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2534 ถึงประเด็นการถูกให้ย้ายที่อยู่เพื่อสร้างเขื่อนว่า “ชาวตำบลสะเอียบอยู่ที่นี่มาหลายชั่วอายุคน จะให้ย้ายไปอยู่ที่อื่นก็คงเป็นเรื่องลำบาก เพราะฝืนใจกันมาก ถึงทางการจะให้สวัสดิการ แต่ก็กลัวจะเป็นเหมือนเขื่อนอื่นบางแห่ง ขอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน”
พี่แป๋วเล่าว่าคุณพ่อเป็นคนเริ่มต้นหาข้อมูลทุกอย่างที่เป็นประโยชน์กับชุมชนและนำตัวอย่างผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนอื่นๆ เข้ามาศึกษาว่าพื้นที่ตำบลสะเอียบจะได้รับผลแบบเดียวกันไหม
“เราก็ติดตามคุณพ่อไปเรื่อยๆ คุณพ่อทำอะไรเราก็ทำด้วย เพราะฉะนั้นเราก็มีแนวคิดเหมือนคุณพ่อ ที่เขาสอนผ่านการกระทำ ไม่ว่าจะสอนให้เราหรือคนในชุมชน”
“ตอนนี้พ่อเราไม่อยู่แล้ว แต่คนในชุมชนก็มีวิธีการจัดการเหมือนกับที่คุณพ่อเคยทำไว้ เป็นการปฏิบัติสืบต่อกันมา”
การร่วมคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นของชาวบ้าน สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือผู้นำท้องถิ่นที่เข้มแข็ง เพราะในอดีตการต่อสู้คัดค้านเขื่อนไม่ใช่เรื่องง่ายและถูกกดดันจากกลุ่มคนที่เชื่อว่าเขื่อนจะสามารถป้องกันน้ำท่วมได้
ภาพ:ศูนย์ข้อมูลไทยรัฐ
“อย่าลืมว่าการต่อสู้ชาวบ้านไม่ง่าย ในอดีตคนในตำบลสะเอียบจะไปที่ตัวเมืองแพร่ก็จะถูกเยียดหยามและถูกกดดัน เด็กๆ ก็ถูกกดดันจากครูและโรงเรียน ถูกมองว่าเป็นพวกไม่ยอมอพยพ ไม่ยอมเสียสละ เป็นพวกที่เห็นแก่ตัว”
คือคำพูดของ ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่มาร่วมงานบวชป่าในครั้งนี้ด้วย
ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เข้ามาทำงานกับกรณีของเขื่อนแก่งเสือเต้นเมื่อปี 2534 และทำงานกับชาวบ้านที่อำเภอเชียงม่วนและที่ตำบลสะเอียบเป็นเวลา 7 ปี ระหว่างการทำงานกับชุมชนก็ได้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องนิเวศวิทยาการเมืองของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทยกรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น
“องค์การอาหารและเกษตรโลกเคยศึกษาพบว่าหากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะสามารถป้องกันน้ำท่วมบริเวณที่ราบริมฝั่งแม่น้ำยมเล็กๆ ตั้งแต่สบเงา (จุดสิ้นสุดแม่น้ำเงา) ลงไปจนถึงแพร่ได้น้อยมาก”
“เพราะฉะนั้นเขื่อนแก่งเสือเต้นแทบจะไม่มีประโยชน์ในเรื่องการป้องกันน้ำท่วม แต่ที่พูดกันว่าเขื่อนจะป้องกันน้ำท่วมได้เป็นสิ่งที่นักการเมืองพูดโมเมทั้งหมด ไม่มีข้อมูลการศึกษามายืนยัน อาศัยความเดือดร้อนของประชาชนที่สุโขทัยลงไป มาอ้างเป็นเหตุผลเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการสร้างเขื่อน ต่อให้คุณสร้างเขื่อนน้ำก็ยังท่วมสุโขทัย”
ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เล่าต่อว่า การต่อสู้ของชาวบ้านในระยะแรก ตอนแรกชาวบ้านไม่เชื่อว่าจะสามารถหยุดเขื่อนนี้ได้
“ตอนที่ผมมาพูดเรื่องผลกระทบของเขื่อนแก่งเสือเต้นมีคนฟัง 4 คนและพระสงฆ์อีก 1 รูป แต่ปัจจุบันชาวสะเอียบสามารถยืนหยัดคัดค้านโครงการเกิดได้นานถึง 35 ปี ซึ่งพื้นที่แบบนี้หายากมากๆ ในประเทศไทยถือว่าเป็นพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการยันโครงการขนาดใหญ่ที่ทำลายชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้นานที่สุด ไม่มีที่อื่นอีกแล้ว”
ภาพ:ศูนย์ข้อมูลไทยรัฐ
แม้ข้อมูลการศึกษาจะปรากฏชัดว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้มากนักและอาจไม่คุ้มทุน แต่ความคิดที่การสร้างเขื่อนเพิ่มในประเทศไทยก็ยังไม่จบง่ายๆ
เมื่อกลับจากงานบวชป่ามานั่งพักที่คาเฟ่ใกล้วัดดอนชัย เราได้นั่งคุยกับ ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงความสำคัญของเขื่อนในปัจจุบันว่า
“ในความเห็นของอาจารย์นักวิชาการทรัพยากรน้ำสอนนิสิตสร้างเขื่อนและฝายต่างๆ คิดว่าในประเทศไทยโครงสร้างพวกนี้จำเป็นและในทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเราก็ยังอยากมีอยู่ แต่เราก็ต้องอยู่ร่วมกับชุมชนและป่าไม้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างด้วยบริบทของป่าไม้ที่เราเหลือแค่ 30% ในขณะที่เป้าของประเทศอยู่ที่ 40% และเมื่อไหร่จะไปถึง”
ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า
“ทุกที่มีชุมชนอยู่ ฉะนั้นการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะสร้างในป่าหรือนอกป่าจึงเป็นไปไม่ได้ การบริหารจัดการน้ำต้องทำวิธีอื่น ที่ไม่ใช่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งมีตั้งหลายวิธีที่สามารถทำได้”
ผศ.ดร.สิตางศุ์อธิบายว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมต้องย้อนกลับไปว่าโจทย์ของลุ่มน้ำยมคืออะไร และมีทางเลือกอื่นอีกไหม ซึ่งในแง่ของวิศวกรรมทรัพยากรน้ำจะไม่ได้มีคำตอบเดียว แต่ปกติวิศวกรจะชอบเขื่อนเพราะเป็นโครงสร้างชลศาสตร์ที่เก็บน้ำได้มากๆ แล้วยังมีโครงสร้างอื่นๆ อย่างประตูระบายที่สามารถบังคับน้ำได้ในเชิงเวลาและปริมาณ
“แต่ว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นหรือแม้กระทั่งเขื่อนยมบน-ยมล่างนั้นเหนือความเป็นวิชาการไปแล้ว หมายความว่าไม่มีใครสนใจแล้วว่าเขื่อนจะตอบโจทย์ของน้ำท่วมสุโขทัยได้ขนาดไหน แต่ว่าเป็นความเชื่อว่าถ้าน้ำท่วมสุโขทัยและมีเขื่อนแก่งเสือเต้นในลุ่มน้ำยมจะแก้ปัญหานี้ได้”
“ในทางวิชาการการมีเขื่อนเก็บกักน้ำมีอรรถประโยชน์ทั้ง 2 อย่าง สำหรับใช้ทั้งในหน้าแล้งและบรรเทาผลกระทบน้ำท่วม แต่ว่าไม่ได้แปลว่าสุโขทัยจะไม่ท่วม เพราะว่าสาเหตุของน้ำท่วมสุโขทัยมีมากกว่าน้ำที่มาจากทางนี้ด้วยซ้ำ หลักการของเราคือหาที่กักเก็บน้ำเพื่อหาทางให้น้ำอยู่และหาทางให้น้ำไป ซึ่งยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกมากมายนอกจากการสร้างเขื่อน”
ผศ.ดร.สิตางศุ์ มองว่า สุโขทัยต้องใช้หลายๆ วิธีประกอบกัน อย่างเช่น ตัดยอดน้ำบริเวณต้นน้ำในบ่อสระตามชุมชน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 9-10 ลุ่มที่อยู่เหนือแก่งเสือเต้นขึ้นไป เมื่อน้ำไหลลงไปแล้วต้องไปดูว่าศักยภาพของคลองระบายต่างๆ ทำได้แค่ไหนและจะเพิ่มศักยภาพของคลองให้ระบายน้ำได้มากขึ้นหรือไม่ หรือจะไปมีเส้นทางน้ำใหม่ได้ไหม
“อีกอย่างหนึ่งที่สามารถทำได้คือการใช้พื้นที่ทุ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ คือพื้นที่ที่ปลูกข้าว เพราะเป็นที่ที่ปกติควรเป็นพื้นที่รับน้ำ แต่ปัจจุบันเราก็มีคันกั้นน้ำ ไม่ให้น้ำไป ซึ่งถ้าหากว่าเราทำให้น้ำแผ่กระจายก่อนที่จะเข้าเมืองสุโขทัย ก็ช่วยลดน้ำที่จะเข้าเมืองสุโขทัยได้ แต่การนำน้ำไปเก็บในทุ่งก่อนที่จะไปถึงสุโขทัยก็ต้องคำนึงถึงการจัดรอบการปลูกข้าว คือให้ปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวก่อนที่น้ำจะมา”
“แต่ภัยพิบัติด้านน้ำหรือน้ำท่วมที่สำคัญอีกอย่างก็คือในระหว่างที่มันเกิดไปแล้ว เรามีการเตือนอย่างไร ซึ่งปีนี้เราจะเห็นว่าการแจ้งเตือนของรัฐก็ยังอ่อนด้อยอยู่ดี เรื่องน้ำท่วมต้องมีทั้งมาตรการป้องกันก่อนที่จะเกิด แล้วเมื่อเกิดแล้วก็ต้องมีมาตรการในการที่จะแจ้งเตือนรับมือ จะให้เขาไปอยู่ที่ไหน เมื่อน้ำลดแล้วจะให้ความช่วยเหลืออย่างไร”
เสียงฮือฮาของผู้คนเริ่มดังขึ้นเมื่องานครบรอบ 35 ปี คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่วัดดอนชัยไปจนถึงช่วงกลางคืน ทั้งพิธีบายศรีสู่ขวัญ เวทีเสวนาของชาวบ้าน การแข่งขันฟุตบอล และการแสดงดนตรี
จนกระทั่งเมื่อเริ่มดึกมากแล้ว ถึงเวลาที่งานเลี้ยงต้องเลิกรา หลายคนทยอยเดินทางกลับบ้าน ส่วนเราก็จะต้องเตรียมตัวเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในวันพรุ่งนี้เช้า
แต่ก่อนหน้านั้นเราไม่พลาดที่จะซื้อของฝากขึ้นชื่ออย่างเหล้าสักทองกลับไปด้วย แม้ตอนแรกเราไม่คิดว่าเหล้าจะไปเกี่ยวข้องกับเขื่อนได้ แต่หลังจากได้มาที่ตำบลสะเอียบ เราได้เห็นความสำคัญของเหล้าที่ไม่ใช่เพื่อให้ดื่มจนเมามาย แต่เป็นเหมือนสิ่งที่หล่อเลี้ยงปากท้องให้กับชาวบ้านแทนการใช้ประโยชน์จากป่าไม้เหมือนในอดีต และสิ่งที่ส่งเสริมกันก็คือ ‘แม่น้ำยม’ สิ่งที่พวกเขาพึ่งพาอาศัยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
นี่อาจเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ได้มาที่ตำบลสะเอียบ แต่ก็รู้สึกได้ถึงความหวนแหนบ้านเกิดของทุกคน ตอนนี้เขื่อนแก่งเสือเต้นอาจได้รับการยืนยันมากมายว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่การต่อสู้ของชาวบ้านตำบลสะเอียบยังไม่จบอยู่แค่นี้และพวกเขายืนยันที่จะสู้ต่อไป หากการแก้ปัญหาน้ำท่วมยังคงเมินเฉยต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพวกเขา