Humberger Menu

อิสราเอล-ฮามาสหยุดยิง สันติภาพชั่วคราว?

สงครามกาซาซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสในฝั่งปาเลสไตน์ ดำเนินมานานราว 15 เดือน นับตั้งแต่กลุ่มฮามาสบุกโจมตีพื้นที่หลายจุดทางใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 เพื่อตอบโต้ที่รัฐบาลอิสราเอลสนับสนุนให้กลุ่มชาตินิยมชาวยิวเข้ายึดครองพื้นที่ในฝั่งปาเลสไตน์เพิ่มเติม รวมถึงกวาดล้างสมาชิกกลุ่มฮามาสซึ่งมีฐานที่มั่นในฉนวนกาซา ทำให้กองกำลังป้องกันตนเอง (IDF) หรือกองทัพของอิสราเอล ปฏิบัติการโจมตีทางบกและทางอากาศโต้กลับฮามาสตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2023 เป็นต้นมา

เมืองกาซาซิตี้ทางตอนเหนือของฉนวนกาซา

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ว่า สงครามอิสราเอล-ฮามาสทำให้มีผู้เสียชีวิตในฝั่งปาเลสไตน์ราว 46,645 คน และผู้พลัดถิ่น (IDP) ในกาซามีจำนวนกว่า 1.9 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดราว 2.3 ล้านคน โดยอ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์ เผยแพร่ช่วงต้นเดือนมกราคม 2025 

ขณะเดียวกัน ผู้เสียชีวิตฝั่งอิสราเอลมีจำนวนราว 1,589 คน โดยที่ 1,200 คนเสียชีวิตในปฏิบัติการของฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 และสำนักงานกรรมาธิการอเมริกัน-ยิว (American Jewish Committee: AJC) ในสหรัฐอเมริกา ระบุว่าตัวประกันชาวอิสราเอลที่ถูกฮามาสคุมตัวยังเหลืออีก 94 คนในเดือนมกราคม 2025 จากจำนวนผู้ถูกลักพาตัวทั้งหมด 251 คนในวันที่ฮามาสบุกอิสราเอล

สื่อหลายสำนักรายงานว่าสงครามกาซาคือความสูญเสียของมนุษยชาติครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่โลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ขณะที่สหรัฐอเมริกา กาตาร์ และอียิปต์ พยายามเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยและกดดันให้อิสราเอลกับฮามาสร่วมกันเจรจาหยุดยิงเพื่อยุติศึกและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนจำนวนมหาศาลที่ได้รับผลกระทบ แต่ข้อตกลงหยุดยิงครั้งแรกซึ่งเริ่มต้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2023 กลับจบลงในเวลาอันสั้น 

เมื่อข้อตกลงหยุดยิงครั้งที่ 2 ซึ่งต้องใช้ความพยายามเจรจากันนานข้ามปีมีผลอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 11:15 น. วันที่ 19 มกราคม 2025 ตามเวลาท้องถิ่นอิสราเอลและปาเลสไตน์ จึงมีเสียงแสดงความยินดีจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะองค์กรด้านมนุษยธรรมใต้ร่มสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ซึ่งทยอยส่งความช่วยเหลือให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามตั้งแต่วันแรกที่ข้อตกลงหยุดยิงเริ่มบังคับใช้ แต่ผู้เฝ้าติดตามสถานการณ์ในตะวันออกกลางบางส่วนยังจับตามองว่าการหยุดยิงครั้งนี้จะสงบศึกได้อย่างถาวรหรือเป็นเพียงความสงบแค่ชั่วคราว เพราะมีอีกหลายปัจจัยที่อาจทำให้ข้อตกลงนี้ถูกยกเลิกไปในไม่ช้า 

ปฏิกิริยาสำคัญที่ต้องระวังมาจากสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดของอิสราเอลที่ต่อต้านข้อตกลงหยุดยิงกับฮามาสได้ประกาศลาออกจากการเป็นแนวร่วมรัฐบาลก่อนที่ข้อตกลงหยุดยิงจะมีผลบังคับใช้เพียงไม่นาน ซึ่งรวมถึง อิทามาร์ เบน-เกวียร์ รัฐมนตรีด้านความมั่นคงของอิสราเอล อาจมีผลให้รัฐบาลอิสราเอลขาดเสถียรภาพในการดำเนินตามเงื่อนไขข้อตกลงหยุดยิงในอนาคต ขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนล่าสุดอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ประกาศจุดยืนเข้าข้างฝ่ายอิสราเอลมาตลอด จึงมีผู้ประเมินว่าทรัมป์อาจ ‘ล้มดีล’ ที่อดีตประธานาธิบดี โจ ไบเดน เป็นคนผลักดันเช่นกัน 

อิทามาร์ เบน-เกวียร์

บทวิเคราะห์ในสื่อหลายสำนักและสถาบันวิชาการหลายแห่งจึงสรุปคล้ายกันว่า ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศของทั้งอิสราเอลและสหรัฐฯ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ข้อตกลงหยุดยิงล่าสุดของอิสราเอล-ฮามาสต้องล่มสลาย และสันติภาพตะวันออกกลางยังเป็นเพียงความหวังอันริบหรี่เหมือนเช่นเคย แต่ถ้าไม่ผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายยุติความขัดแย้งถาวร ผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งแสนและผู้พลัดถิ่นอีกนับล้านคนอาจเพิ่มจำนวนขึ้นอีกเรื่อยๆ โดยที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่อาจมองข้ามหรือเพิกเฉยได้ เพราะเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประชาคมโลกโดยรวม

กว่าจะบรรลุข้อตกลงหยุดยิง 2025 ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

ในการเจรจาหยุดยิงครั้งแรกระหว่างอิสราเอล-ฮามาสเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 ทั้งสองฝั่งยอมรับเงื่อนไขหยุดยิงเพื่อเปิดทางให้องค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศเข้าไปส่งเสบียงอาหารและยาที่จำเป็นให้พลเรือนในฝั่งกาซา จากนั้นไม่นานก็เกิดการปะทะกันระลอกใหม่ ทำให้ข้อตกลงหยุดยิงเป็นโมฆะภายในเวลาแค่สัปดาห์เดียว

อิสราเอลและฮามาสต่างกล่าวโทษว่าฝั่งตรงข้ามเป็นผู้ละเมิดข้อตกลงก่อน และการสู้รบหลังจากนั้นก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 

ฝั่งอิสราเอลยกระดับการโจมตีทางบกและทางอากาศในกาซา และเปิดทางให้ชาวอิสราเอลเชื้อสายยิวเข้าไปตั้งถิ่นฐานเพิ่มเติมในเขตเวสต์แบงก์ซึ่งเป็นดินแดนปาเลสไตน์ที่มีพรมแดนติดกับกรุงเยรูซาเลมในภาคกลางและพื้นที่ทางเหนือของอิสราเอล ทั้งยังขยายปฏิบัติการด้านอาวุธไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเลบานอนเพื่อตัดกำลังของกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ซึ่งเป็นแนวร่วมทางอุดมการณ์ในการปลดปล่อยปาเลสไตน์ของกลุ่มฮามาส โดยอิสราเอลลอบสังหารผู้นำระดับสูงของฮามาสและฮิซบอลเลาะห์ได้สำเร็จในปี 2024 ทำให้อิสราเอลกลายเป็นฝ่ายที่มีแต้มต่อในการทำสงครามกาซา 

ระหว่างที่สงครามดำเนินไปอย่างดุเดือด ประชาชนปาเลสไตน์บาดเจ็บล้มตายหลายหมื่นคน ส่วนฝั่งอิสราเอลสูญเสียชีวิตนายทหารและตัวประกันเพิ่มอีกนับร้อย รัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งนำโดย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนที่ 46 จากพรรคเดโมแครต ร่วมมือกับรัฐบาลกาตาร์และอียิปต์ ผลักดันให้อิสราเอลกับฮามาสเจรจาหยุดยิงครั้งที่ 2 แต่เจอแรงต่อต้านอย่างหนักจากนักการเมืองชาตินิยมขวาจัดทั้งในอิสราเอลและสหรัฐฯ ที่มองว่าการพูดคุยกับฮามาสคือการยอมอ่อนข้อให้กับ ‘กลุ่มก่อการร้าย’ 

เสียงคัดค้านข้อตกลงหยุดยิงที่ดังสุดมาจาก อิทามาร์ เบน-เกวียร์ รัฐมนตรีความมั่นคงของอิสราเอลและสมาชิกพรรคพลังยิว (Jewish Power) ที่ระบุว่าการเจรจากับฮามาสไม่ต่างอะไรกับ ‘การทำข้อตกลงกับปีศาจ’ เพราะเขาไม่เชื่อว่าฮามาสจะยอมทำตามข้อตกลงอย่างว่าง่าย 

อิทามาร์ เบน-เกวียร์ และสมาชิกพรรคพลังยิว แถลงท่าทีต่อการหยุดยิง

เบน-เกวียร์และสมาชิกพรรค JP อีก 2 คนที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี 2 กระทรวงประกาศถอนตัวจากการเป็นแนวร่วมพรรครัฐบาล ทำให้รัฐบาลผสมของอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู มีเสียงข้างมากในสภาลดลงจาก 68 เสียง เหลือเพียง 62 เสียง จากจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด 120 เสียง และประเด็นนี้อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินเงื่อนไขตามข้อตกลงหยุดยิงในระยะที่ 2 หรือ 3 จนถึงขั้นที่ไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ 

นอกจากนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 ซึ่งเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งสมัยที่ 2 ในวันที่ 20 มกราคม 2025 ก็ประกาศในเชิงข่มขู่ก่อนหน้านั้นไม่นานว่า ถ้าหากอิสราเอลกับฮามาสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิงได้ก่อนที่เขาจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ จะต้องเจอกับภาวะ ‘นรกแตก’ (all hell will break out) อย่างแน่นอน 

แม้ว่าทรัมป์ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ‘ความนรกแตก’ ที่เขาพูดถึงคืออะไรแน่ แต่ถ้าดูจากผลงานที่ผ่านมาในสมัยที่เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช่วงปี 2017-2021 ก็มีความเป็นไปได้มากว่าทรัมป์อาจสนับสนุนรัฐบาลอิสราเอลให้ใช้กำลังอาวุธกวาดล้างฮามาสโดยไม่สนใจชีวิตของพลเรือนปาเลสไตน์ ซึ่งอาจละเมิดเงื่อนไขของแนวทางสองรัฐ (two-state solution) ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เสนอเป็นพิมพ์เขียวเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางโดยมีเนื้อหาสำคัญระบุว่าประเทศสมาชิก UN ต้องรับรองสถานะรัฐของทั้งฝั่งอิสราเอลและปาเลสไตน์เพื่อนำไปสู่การเจรจายุติความขัดแย้งและหาหนทางอยู่ร่วมกันโดยสันติ

รายละเอียดข้อตกลงหยุดยิงอิสราเอลและฮามาส

ข้อตกลงหยุดยิงแบ่งเป็น 3 ระยะ

ข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอล-ฮามาสที่มีผลตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2025 มีการริเริ่มเจรจาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2024 โดยมีประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เป็นตัวตั้งตัวตี และมีรัฐบาลกาตาร์กับอียิปต์เข้าร่วมเพื่อเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย แต่หลังผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สิ้นสุดลงในเดือนพฤศจิกายน 2024 ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ส่งตัวแทนฝ่ายนโยบายต่างประเทศของตัวเองไปเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน กล่าวสุนทรพจน์หลังบรรลุข้อตกลงหยุดยิง

เมื่ออิสราเอลและฮามาสประกาศเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2025 ว่าจะลงนามรับรองข้อตกลงหยุดยิงอย่างเป็นทางการ ทั้งไบเดนและทรัมป์ต่างประกาศความสำเร็จโดยกล่าวอ้างว่าเป็นผลงานของตนเอง และสมาชิกพรรครีพับลิกันหลายรายก็ระบุว่าท่าทีแข็งกร้าวของทรัมป์ทำให้ฮามาสยอมรับเงื่อนไขในข้อตกลงแต่โดยดีหลังจากที่เคยเตะถ่วงไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมการเจรจาหลายครั้ง 

ขณะที่ฝั่งฮามาสให้เหตุผลว่าที่ไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมการเจรจาหยุดยิงหลายครั้งเป็นเพราะฝ่ายอิสราเอลลอบสังหารผู้นำของฮามาส ทั้งยังทิ้งระเบิดใส่โรงพยาบาล โรงเรียน และระบบสาธารณูปโภคหลายแห่งในปาเลสไตน์ เข้าข่ายละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) ซึ่งระบุเงื่อนไขการทำสงครามว่าจะต้องไม่โจมตีสถานที่สำคัญของพลเรือน จึงมองว่าอิสราเอลไม่มีความจริงใจที่จะยุติความขัดแย้ง แต่ในที่สุดฮามาสก็ยอมรับข้อตกลงหยุดยิงกลางเดือนมกราคม 2025 โดยระบุว่าเป็นเพราะต้องการให้ประชาชนปาเลสไตน์ได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และเงื่อนไขในข้อตกหยุดยิงแบ่งเป็น 3 ระยะ 

เงื่อนไขหยุดยิงระยะที่ 1

การประกาศให้ข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอล-ฮามาสมีผลในวันที่ 19 มกราคม 2025 ล่าช้าจากเวลาที่เคยตกลงกันไว้ 3 ชั่วโมง เนื่องจากฮามาสไม่ได้เปิดเผยรายชื่อตัวประกันที่จะได้รับการปล่อยตัวตามเงื่อนไขหยุดยิงระยะที่ 1 ผ่านสื่อทางการของตัวเองตามเวลาที่กำหนด โดยฮามาสชี้แจงภายหลังว่าเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิค แต่ยืนยันว่ายังคงสนับสนุนข้อตกลงหยุดยิงเช่นเดิม

เอมิลี ดามารี หนึ่งในตัวประกันชาวอิสราเอลที่ได้รับการปล่อยตัว

การดำเนินการในระยะที่ 1 ระบุว่าทั้งอิสราเอลและฮามาสต้องหยุดสู้รบ 6 สัปดาห์เพื่อแลกเปลี่ยนตัวประกันให้แล้วเสร็จ โดยฮามาสต้องปล่อยตัวประกัน 33 คน จากจำนวนผู้รอดชีวิตทั้ง 94 คนที่ยังถูกคุมตัวในฝั่งกาซาช่วงต้นเดือนมกราคม 2025 ขณะที่ผู้ถูกลักพาตัวในเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2023 มีทั้งหมด 251 คน แต่ 34 คนเสียชีวิตแล้ว โดยบางส่วนถูกฮามาสสังหารเพื่อตอบโต้การโจมตีของทหารอิสราเอล และบางส่วนเสียชีวิตเพราะถูกลูกหลงในปฏิบัติการของอิสราเอลเองที่ระดมโจมตีทางบกและทางอากาศฝั่งกาซา

นักโทษชาวปาเลสไตน์ฉลองอิสรภาพ

ในจำนวนตัวประกันที่ยังถูกในมือฮามาส คาดว่ามีคนไทยอยู่อีก 6 คน

ข้อมูลของสำนักงานกรรมาธิการอเมริกัน-ยิว (AJC) ระบุว่าตัวประกันที่ฮามาสปล่อยตัวในระยะแรกมีพลเรือนอเมริกัน 2 คน แบ่งเป็นผู้หญิงและเด็ก 12 คน รวมถึงตัวประกันชายที่ได้รับบาดเจ็บและผู้มีอายุมากกว่า 50 ปีอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดจะถูกแลกเปลี่ยนกับนักโทษชาวปาเลสไตน์ 50 คนที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวด้วยคดีความมั่นคงในอิสราเอล รวมถึง 30 คนที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในข้อหาสนับสนุนการก่อการร้าย

อย่างไรก็ดี ข้อมูลของสำนักข่าว Aljazeera ระบุว่านักโทษชาวปาเลสไตน์ที่ถูกตั้งข้อหาโดยรัฐบาลอิสราเอลในฐานะผู้สนับสนุนก่อการร้ายไม่ได้มีแค่ผู้ที่เป็นแนวร่วมของกลุ่มฮามาส แต่รวมถึงประชาชนชาวปาเลสไตน์ที่ถูกจับกุมเพราะต่อต้านการตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในดินแดนฝั่งปาเลสไตน์ รวมถึงผู้ชุมนุมต่อต้านการใช้กำลังอาวุธและใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของทหารอิสราเอลในพื้นที่รอยต่อระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์

เงื่อนไขหยุดยิงระยะที่ 2

ในระยะที่ 2 ระบุว่าฮามาสต้องปล่อยตัวประกันที่เหลืออีก 65 คนเป็นอิสระ ขณะที่ฝั่งอิสราเอลจะปล่อยตัวนักโทษการเมืองชาวปาเลสไตน์เพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีตัวเลขชัดเจนว่าจะเป็นจำนวนเท่าใด โดยมีข้อแม้ว่าฝั่งอิสราเอลและฮามาสต้องเห็นชอบร่วมกันให้ได้ว่าจะผลักดันข้อตกลงสู่กระบวนการสงบศึกระหว่างทั้งสองฝ่ายต่อไปอย่างไร 

รถบัสของนักโทษปาเลสไตน์เคลื่อนย้ายออกจากเรือนจำ

เป้าหมายหลักของการเจรจาตามเงื่อนไขหยุดยิงระยะที่ 2 คือทั้งสองฝ่ายต้องพิจารณาเสนอแนวทางเพื่อนำไปสู่การหยุดยิงถาวร และอิสราเอลต้องถอนกำลังทหารออกจากฝั่งกาซา โดยกรอบเวลาที่ทั้งสองฝ่ายต้องเจรจาเพื่อหาข้อสรุปต้องเสร็จสิ้นในเวลาไม่เกิน 16 วันหลังจากที่การทำตามเงื่อนไขหยุดยิงระยะที่ 1 บรรลุไปแล้วโดยไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเมิดเงื่อนไขที่เคยตกลงกันไว้

เงื่อนไขหยุดยิงระยะที่ 3

ในระยะที่ 3 ฮามาสต้องส่งร่างตัวประกันผู้เสียชีวิตหลังเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2023 รวมถึงทหารอิสราเอลที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ในฝั่งปาเลสไตน์ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา เพื่อให้ผู้ล่วงลับเหล่านี้ได้กลับคืนสู่ครอบครัวและบ้านเกิด 

ร่างทหารอิสราเอลถูกส่งกลับบ้าน

ข้อมูลของ AJC ระบุว่าร่างของผู้เสียชีวิตที่ฮามาสจะส่งกลับในระยะนี้จะรวมถึงชาวอเมริกัน 4 คน อายุตั้งแต่ 19–73 ปีซึ่งถูกลักพาตัวไปในเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ โดยก่อนหน้านี้ทหารอิสราเอลที่นำกำลังบุกกาซาได้นำร่างของตัวประกันและทหารที่เสียชีวิตรวม 37 คนกลับไปยังฝั่งอิสราเอลเป็นที่เรียบร้อยแล้วระหว่างปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้นตลอดปี 2024

รถขนส่งความช่วยเหลือพร้อมเข้าสู่พื้นที่กาซา

ส่วนเงื่อนไขที่อิสราเอลต้องปฏิบัติตามในระยะที่ 3 คือการเปิดทางให้องค์กรระหว่างประเทศเข้าไปช่วยเหลือรัฐบาลกาซาฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบภายในช่วงเวลา 3-5 ปีต่อจากนี้ แต่รัฐบาลอิสราเอลยื่นคำขาดว่าฮามาสต้องไม่ละเมิดเงื่อนไขหรือก่อเหตุรุนแรงใดๆ ในช่วงนี้ ไม่อย่างนั้นจะถือว่าข้อตกลงเป็นโมฆะ และยังระบุด้วยว่าอิสราเอลจะไม่ร่วมมือกับรัฐบาลปาเลสไตน์ในฝั่งเวสต์แบงก์ หรือ PA (Palestinian Authority) เพราะ PA ไม่อยู่ในเงื่อนไขหยุดยิงที่พูดคุยกับฮามาส

ตำรวจฮามาสดูแลความปลอดภัยช่วงหยุดยิง

จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขในระยะที่ 2-3 มีรายละเอียดน้อยกว่าระยะแรก เพราะทั้งสองฝ่ายต่างไม่ไว้ใจว่าคู่กรณีจะยึดมั่นในข้อตกลงจนถึงที่สุด ประกอบกับฝั่งปาเลสไตน์ไม่ได้มีกลุ่มติดอาวุธฮามาสเพียงกลุ่มเดียว แต่ยังมีกลุ่มแยกย่อยอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวในกาซาเช่นกัน จึงมีความเป็นไปได้มากว่าการก่อเหตุโจมตีอิสราเอลอาจเกิดขึ้นอีกระลอกและอิสราเอลอาจใช้เหตุผลนี้ในการตอบโต้กลับจนข้อตกลงหยุดยิงครั้งนี้เป็นโมฆะ

อนาคตปาเลสไตน์ ‘ไร้ความหวัง’ ท่ามกลางซากปรักหักพังของสงคราม

ในช่วงเวลา 467 วันที่เกิดสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาสจนถึงวันที่ประกาศหยุดยิง ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 50,000 คน

ชาวปาเลสไตน์ราว 1.9 ล้านคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นและต้องกระจัดกระจายไปอาศัยอยู่ตามค่ายพักพิงชั่วคราวซึ่งไม่ได้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีเท่าไรนัก ทั้งยังต้องประสบกับสภาพอากาศหนาวเย็นช่วงฤดูหนาว แต่ผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้ไม่มีเครื่องป้องกันความหนาวเพียงพอ เช่นเดียวกับอาหารและยาที่ขาดแคลนเพราะเส้นทางลำเลียงเสบียงอาหารและความช่วยเหลือถูกตัดขาดด้วยภาวะสงคราม ทำให้เกิดโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจภายในค่ายผู้อพยพ ส่งผลกระทบต่อประชากรกลุ่มเปราะบางอย่างเด็กและผู้สูงวัย

แม้ข้อตกลงหยุดยิงจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 มกราคม 2025 แต่ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากที่คิดจะกลับไปยังภูมิลำเนาอาจต้องเจอกับภาวะไร้ที่อยู่อาศัยเช่นเดิม โดยสำนักข่าว Aljazeera รายงานว่า 92 เปอร์เซ็นต์ของบ้านเรือนประชาชนในกาซาถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการโจมตีของอิสราเอล ขณะที่ 88 เปอร์เซ็นต์ของโรงเรียน และ 50 เปอร์เซ็นต์ของโรงพยาบาลที่มีอยู่แต่เดิมถูกทำลายจนไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ซึ่งเป็นข้อมูลอ้างอิงจากรัฐบาลในฝั่งฉนวนกาซา

อีกประเด็นที่น่ากังวลไม่แพ้กันคือการบูรณะฟื้นฟูที่อยู่อาศัยในชุมชน รวมถึงถนนหนทางและสาธารณูปโภคต่างๆ ในกาซาอาจต้องใช้เวลาเป็นปี เช่นเดียวกับพื้นที่เพาะปลูกซึ่งถูกทำลายไปมากมาย การฟื้นฟูระบบเกษตรกรรมในกาซาจึงเป็นเรื่องยากเย็นไม่แพ้กัน ซึ่งเมื่อผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรก็จะส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารจนต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอกเช่นเดิม 

อย่างไรก็ดี งบประมาณความช่วยเหลือจากภายนอกที่จะส่งมายังกาซาอาจถูกแทรกแซงหรือระงับยับยั้งจากอิสราเอลและสหรัฐฯ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลอิสราเอลตั้งข้อสงสัยว่าเจ้าหน้าที่องค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศบางส่วนมีจุดยืนสนับสนุนการก่อการร้ายของฮามาส 

ข้อกล่าวหาของอิสราเอลส่งผลปั่นป่วนต่อกระบวนการพิจารณาความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่จะส่งไปยังชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา แม้ว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจนก็ตาม และนักวิเคราะห์ยังประเมินด้วยว่ารัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ นำโดยโดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มจะสนับสนุนอิสราเอลในหลายด้าน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการช่วยเหลือและเยียวยาชาวปาเลสไตน์ไปด้วย

เมื่อบวกกับท่าทีของพรรคการเมืองขวาจัดของอิสราเอลอย่าง JP ที่ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ไปเรียบร้อย เค้าลางความขัดแย้งภายในประเทศที่อาจนำไปสู่การเตะถ่วงไม่ให้รัฐบาลทำตามเงื่อนไขข้อตกลงหยุดยิงจึงก่อตัวให้เห็นมาแต่ไกล อนาคตของชาวปาเลสไตน์ภายใต้กระบวนการสันติภาพอันเปราะบางจึงถูกซ้ำเติมด้วยความหวาดระแวงและความไม่แน่นอนของคู่กรณี และสิ่งที่รออยู่เมื่อกลับคืนสู่ภูมิลำเนาก็อาจจะมีเพียงแต่เศษซากปรักหักพังของสงครามเท่านั้น

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
ตติกานต์ เดชชพงศ