Humberger Menu

เสียงของผู้เสียหาย จากแก๊งสแกมเมอร์ปอยเปต

ปัตตานีอยู่ใน 5 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดต่อเนื่องกันอย่างน้อย 15 ปี สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความยากจนเรื้อรังในจังหวัด

ยา สะหมาน และ วรัสยา สะหมาน พร้อมลูกคนเล็กอายุ 3 ขวบ ชาวปัตตานีที่ประกอบอาชีพขายรองเท้ามือสองและทำกิจการบ้านลมตามตลาดนัด ตัดสินใจหลีกหนีความยากจนเพื่อไปลงหลักปักฐานที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เมื่อเดือนตุลาคม 2567

แต่โชคชะตาไม่เข้าข้าง พวกเขาถูกนายหน้าหญิงสาวชาวไทยหลอกให้ไปทำงานที่ เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา ถูกบังคับสแกนหน้าให้เปิดบัญชีธนาคารนับสิบบัญชี ถูกกักขังร่วมกับคนไทยอีกนับ 50 คน และต้องอดอาหารกว่า 5 วัน ก่อนตัดสินใจหนีเอาชีวิตรอดกลับมายังประเทศไทย เพื่อพบว่าตัวเองถูกออกหมายจับในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงฯ จาก 5 สถานีตำรวจทั่วประเทศ สืบเนื่องมาจากบัญชีธนาคารที่พวกเขาถูกกลุ่มสแกมเมอร์บังคับเปิดบัญชี 

นี่คือเรื่องราวของผู้เสียหายที่กำลังถูกลงโทษซ้ำสองจากอาชญากรรมที่พวกเขา ‘ถูกบังคับ’ ให้ทำโดยไม่เจตนา

จากปลายด้ามขวาน สู่แก๊งสแกมเมอร์ปอยเปต

ยา สะหมาน เคยทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ในโรงงานปลากระป๋อง ก่อนตัดสินใจลาออกมาทำกิจการส่วนตัวร่วมกับวรัสยา ผู้เป็นภรรยา ในทุกเย็นที่มีตลาดนัด พวกเขาจะตั้งร้านขายรองเท้ามือสอง พร้อมๆ กันกับเปิดให้บริการบ้านลมสำหรับเด็กเล่น แต่ด้วยปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 15.06 ทำให้พวกเขาสามารถเปิดร้านขายของได้เพียงสองสามวันต่อสัปดาห์

ร้านค้าของครอบครัวสะหมานที่ตลาดนัด

ผิดกับที่สระแก้ว ที่นี่มีตลาดนัดให้ได้ขายของในทุกวัน ยา สะหมาน ในฐานะหัวหน้าครอบครัว จึงตัดสินใจย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่อรัญประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 พร้อมตัดสินใจร่วมกับภรรยาว่าจะหาซื้อบ้านและลงหลักปักฐานใช้ชีวิตที่นี่

กระทั่งวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ขณะกำลังเปิดกิจการบ้านลมอยู่ที่ตลาดศูนย์การค้าอินโดจีน อรัญประเทศ มีผู้หญิงไทยอายุ 20-30 ปี รูปร่างหน้าตาดีเข้ามาชวนคุย และชวนเธอกับสามีไปทำงานที่ฝั่งกัมพูชา

“สนใจงานแอดมินไหม ส่วนสามีของเธอก็มีงานขับรถให้ มีค่าตอบแทนเดือนละ 20,000 - 30,000 บาท ที่พักอาศัยและอาหารฟรี” คือข้อความที่หญิงคนดังกล่าวชักชวนวรัสยา

หญิงไทยที่เข้ามาที่ร้าน และชักชวนให้วรัสยาไปทำงานที่กัมพูชา

เธอไม่ตอบตกลงในทันที แต่เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ปัจจุบัน เธอพบว่างานใหม่ให้รายได้มากกว่า และการทำงานประจำจะช่วยให้เธอกู้ซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น ประกอบกับเธอและสามีทำงานหาเช้ากินค่ำ จนไม่มีเวลาได้ติดตามข่าวสารเรื่องการถูกหลอกไปทำงาน วรัสยาตอบกลับไปว่า ขอไปดูสถานที่ทำงานก่อน จึงมีการนัดแนะพาไปดูสถานที่ในช่วง 20.00 น. ของคืนวันดังกล่าวที่บริเวณสถานีรถไฟอรัญประเทศ

เมื่อทั้งคู่พร้อมลูกคนเล็กไปถึงที่นัดหมาย ก็ปรากฏหญิงชาวไทยอายุ 20-30 ปี รูปร่างผอมสูงอีกคน เดินเข้ามาทักทายพวกเขา ก่อนจะพาซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปยังบริเวณร้านสะดวกซื้อ ใกล้เคียงกับห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซนเตอร์ อรัญประเทศ ที่นั่นมีผู้ชายชาวกัมพูชา 3 คนมารอรับ และพาเดินเข้าไปยังซอยแห่งหนึ่งที่บรรยากาศทั้งสองฝั่งเริ่มเปลี่ยนจากบ้านคนและชุมชนกลายเป็นทุ่งนา วรัสยารู้สึกเอะใจจึงหยุดเดินและถามชายทั้ง 3 คนว่า

“ทำไมพาเดินมาทางนี้ ไม่ไปทางด่านตรวจคนเข้าเมือง”

เธอได้รับคำตอบกลับมาว่าในช่วงเวลา 22.00 น. ด่านข้ามพรมแดนปิดลงแล้ว แต่เมื่อเธอและสามีทำท่าทีหยุดเดิน ชายชาวกัมพูชา 2 คน จึงหยิบอาวุธมีดและเหล็กปลายแหลมจี้พวกเขา ก่อนที่อีกคนจะกระชากกระเป๋าที่มีทั้งสมุดบัญชีธนาคาร 2 เล่ม หนังสือเดินทาง และโทรศัพท์ไปจากเธอ จากนั้นจึงบังคับให้ทั้งสองเดินไปตามร่องน้ำและเดินหลบกล้องวงจรปิดเพื่อไม่ให้ทิ้งร่องรอย ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 20 นาที วรัสยาก็พบเข้ากับกำแพงที่แสดงให้เห็นว่าเธอกำลังอยู่ในเขตประเทศกัมพูชา

ในดินแดนสแกมเมอร์

บริเวณก่อนถึงห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซนเตอร์ อรัญประเทศ ที่ ยา สะหมาน เล่าว่ามีบ่อน้ำและชายชาวกัมพูชาพาพวกเขาเดินข้ามพรมแดน 

สองข้างทางเดินเต็มไปด้วยบ้านพักคนงาน ถัดไปไม่ไกลเป็นตึกอาคาร เดินต่อไปได้ไม่นานก็มีรถซาเล้งมารับพวกเขาไปส่งที่ตึกอาคารแห่งหนึ่งใช้เวลาเดินทาง 10-15 นาที

“มีคนไทยรออยู่ 2 คน ชื่อเหมียวและอุ้ม”

วรัสยาเล่าต่อว่า ทั้งสองถูกพาขึ้นลิฟต์ไปยังชั้นบน ที่เปิดออกมาเป็นห้องที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์หลายเครื่องตั้งอยู่ รวมทั้งมีสมุดบัญชีธนาคารและโทรศัพท์มือถือจำนวนมากวางอยู่เกลื่อนโต๊ะ พวกเขาให้ ยา สะหมาน และวรัสยานั่งลงบนเก้าอี้ จากนั้นจึงยึดโทรศัพท์มือถือและบังคับให้พวกเขาบอกรหัสผ่าน และทำการสแกนใบหน้าทั้งสองคน

เมื่อถูกสแกนใบหน้าจนเป็นที่พึงพอใจ พวกเขาถูกพาจับขึ้นรถตู้ไปขังอยู่ที่บ้านปูนสองชั้นแห่งหนึ่งไม่ไกลจากตึกอาคารดังกล่าว วรัสยาเล่าว่าภายในบ้านนั้นสกปรก เต็มไปด้วยขยะและสารเสพติดกองเกลื่อนพื้น ในนั้นมีคนไทยถูกขังอยู่ประมาณ 20 คน เป็นเพศชายทั้งหมด ตั้งแต่เด็กจนถึงคนสูงวัย จากการสังเกตของ ยา สะหมาน เขาเล่าว่าเกือบทุกคนอยู่ในอาการมึนเมาไม่มีสติ  ครอบครัวสะหมานต้องลืมตาตื่นอยู่ในบ้านหลังนั้นจนถึงเช้า

‘อย่าคิดหนี เขาให้ทำอะไรก็ทำ ไม่งั้นเขาจะเอาไปขายต่อ’ ชายชราคนหนึ่งกล่าวกับยา สะหมาน “ลูกผมร้องไห้ตลอดเวลา จนกระทั่งเก้าโมงเช้าเขามารับแฟนผมออกไปกับลูกพาไปที่ตึกอีกแห่งหนึ่ง”

ภาพถ่ายที่ ยา สะหมาน ระบุว่าเป็นบริเวณอาคารที่ถูกบังคับสแกนหน้าในคืนแรก ซึ่งฝั่งตรงข้ามคือประเทศไทย ที่มีห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซนเตอร์ อรัญประเทศตั้งอยู่

เมื่อลองนำรูปมาเปรียบเทียบกับแผนที่ Google Earth สันนิษฐานว่าภาพถูกถ่ายจากบริเวณกลุ่มอาคารตรงข้ามกับห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซนเตอร์ อรัญประเทศ

ณ ตึกแห่งที่สองนี้ วรัสยากล่าวว่าด้านล่างของตึกเป็นกาสิโนร้าง และด้านบนมีลักษณะคล้ายโรงแรมโดยมีคนจีนเป็นผู้ดูแล ไม่นานนัก ยา สะหมาน ก็ถูกพามาสมทบในภายหลัง กลุ่มผู้ดูแลคนจีนและกัมพูชาพาครอบครัวสะหมานไปยังชั้น 4 ณ ที่แห่งนี้ถูกแบ่งเป็นทั้งห้องขังและห้องทำงานแบ่งส่วนกัน มีคนไทย 40-50 คนถูกขังอยู่ด้านใน จากนั้นไม่นานพวกเขาถูกเรียกให้ไปสแกนใบหน้าอีกหลายต่อหลายครั้งในหนึ่งวัน

ชายไทยที่เป็นคนนำตัวครอบครัวสะหมานไปที่ตึกที่สอง

“เขามีข้าวให้กิน แต่พวกเรากินไม่ได้ เพราะไม่ใช่อาหารสำหรับคนมุสลิม” วรัสยาเล่าถึงความลำบากตลอด 5 วัน (25-29 พฤศจิกายน 2567) ที่ถูกจับขัง “ต้องนอนเบียดเสียดกับคนอื่นๆ รวมทั้งไม่ได้อาบน้ำ เพราะมีเพียงห้องน้ำสำหรับขับถ่ายที่สกปรก ตอนนั้นทนไม่ไหวแล้ว ตายก็คือตายอยู่ตรงนั้น มันอยู่ต่อไม่ได้ จึงหนีออกมา”

คืนของวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ทั้งสองวางแผนหลบหนี โดยขอร้องให้ผู้ดูแลพาพวกเขาออกไปซื้อแพมเพิร์สให้ลูก เมื่อหัวหน้าชาวจีนอนุญาต ผู้ดูแลชาวกัมพูชา 2 คนจึงพาพวกเขาลงลิฟต์ไปทางด้านหลังของอาคาร จังหวะที่ผู้ดูแลทั้ง 2 คนกำลังทำการปัสสาวะอยู่ ยา สะหมาน และวรัสยา จึงตัดสินใจใช้ช่วงเวลาดังกล่าวหลบหนีออกมาบริเวณถนน ประกอบกับมีรถสามล้อขับผ่านมาพอดี พวกเขาจึงขึ้นรถและขอร้องให้คนขับสามล้อพาไปส่งที่บริเวณด่านพรมแดนบ้านคลองลึก

ครอบครัวสะหมานว่าจ้างคนท้องถิ่นให้พาพวกเขาข้ามพรมแดนกลับประเทศไทยมาในช่องทางธรรมชาติ เมื่อมาถึงฝั่งประเทศไทยพวกเขาตัดสินใจนั่งรถไฟมายังกรุงเทพฯ เพราะความหวาดกลัวว่าจะถูกตามล่า แต่เมื่อเงินหมดพวกเขาจึงจำเป็นต้องเดินทางกลับมายังบ้านที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ก่อนจะพบว่าตนเองถูกออกหมายจับในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงฯ ผู้อื่น จากบัญชีธนาคารที่ถูกบังคับเปิด กลายเป็น ‘บัญชีม้า’

บัญชีม้า

คือบัญชีที่ตัวแทนในการใช้ทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโอน รับโอน หรือชำระเงิน เป็นต้น ซึ่งการมีบัญชีม้าจะสามารถช่วยปิดบังตัวตนที่แท้จริงของผู้ดำเนินธุรกรรมได้

อาชญากรรมบังคับที่กฎหมายไทยยังไม่รับคุ้มครอง

วรัสยาทราบว่าตนเองถูกออกหมายจับช่วงต้นเดือนธันวาคม 2567 เมื่อเธอพยายามไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม และพบว่าบัญชีของเธอกับสามีถูกอายัด วันที่ 5 ธันวาคม 2567 ครอบครัวสะหมานตัดสินใจเดินทางไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับสถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศ ต่อเหตุการณ์ที่พวกเขาถูกหลอกและกักขังอยู่ที่ประเทศกัมพูชา 

ครอบครัวสะหมาน

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ยา สะหมาน และวรัสยา ก็ได้รับหมายเรียกจากสภ.เมืองสมุทรสาคร / นครพนม / ยะลา / หาดใหญ่ และสถานีตำรวจในกรุงเทพฯ รวม 5 หมายเรียก ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงผู้อื่น รวมเป็นมูลค่าความเสียหาย 600,000 บาท

“ตอนนี้อยู่ในช่วงลำบากที่สุดในชีวิต” วรัสยาเล่า “บัญชีธนาคารใช้ไม่ได้ เพราะปกติขายของออนไลน์ต้องใช้บัญชีธนาคาร ตอนนี้จะทำงานอะไรมันก็ไม่มีกะจิตกะใจทำอะไรแล้ว เหมือนกับคนล้มละลาย”

โดยล่าสุดจากความช่วยเหลือของมูลนิธิอิมมานูเอล (IMF Thailand) ได้พา ยา สะหมาน และวรัสยา เข้าร้องทุกข์กับทางกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 ในประเด็นการเป็นผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์ อย่างไรก็ดี คดีค้ามนุษย์ที่พวกเขาตกเป็นผู้เสียหาย กับคดีการฉ้อโกงที่พวกเขาตกเป็นจำเลย ถือว่ายังคงแยกส่วนกัน และประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษในกรณีถูกบังคับให้ทำอาชญากรรม

จารุวัฒน์ จิณห์มรรคา และทีมงานมูลนิธิอิมมานูเอล ที่เข้ามาช่วยเหลือครอบครัวสะหมาน

จารุวัฒน์ จิณห์มรรคา รองประธานมูลนิธิอิมมานูเอล กล่าวว่าในกรณีที่เกิดขึ้นกับยา สะหมาน และวรัสยานั้น จำเป็นต้องผลักดันให้พวกเขาผ่านกระบวนการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จากกรมสอบสวนคดีพิเศษร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ได้รับสิทธิในการคุ้มครองและมีโอกาสในการประกันตัวออกมาต่อสู้คดี ที่พวกเขาถูกบังคับเปิดบัญชีธนาคาร

จารุวัฒน์กล่าวด้วยความเป็นกังวลว่า แนวโน้มของผู้เสียหายชาวไทยที่ถูกหลอกให้ไปทำงานสแกมเมอร์ในประเทศกัมพูชากำลังเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ สอดคล้องกับสถานการณ์ล่าสุดที่กลุ่มสแกมเมอร์ทุนจีน มีความพยายามย้ายฐานการดำเนินงานจากพม่า ที่กำลังถูกปราบปรามอย่างหนักจนต้องกลับไปยังประเทศกัมพูชาอีกครั้ง โดยนับตั้งแต่ปี 2563 มูลนิธิอิมมานูเอลได้ช่วยเหลือผู้เสียหายที่ถูกหลอกไปทำงานทั้งสิ้น 2,700 คน เฉพาะแค่ในเดือนมกราคม 2568 มีผู้เสียหายที่ทางอิมมานูเอลได้รับแจ้งทั้งสิ้น 107 คน

การบังคับทำอาชญากรรมยังคงเป็นเรื่องใหม่และท้าทายสำหรับสังคมไทย เมื่อมีคนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และต้องการงานที่ได้รับผลตอบแทนมากขึ้น พวกเขามักถูกหลอกโดยนายหน้าชาวไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติชาวจีน และบังคับให้ทำงานหลอกลวงผู้อื่น หรือบังคับเปิดบัญชีธนาคารเพื่อนำไปทำบัญชีม้าสำหรับโอนเงินออกนอกประเทศ ผู้เสียหายจำนวนหนึ่งแม้จะถูกช่วยเหลือจนเดินทางกลับมาได้ แต่ก็ต้องมาพิสูจน์ตนเองและยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองต่อไป


Share
สร้างสรรค์โดย
creator
ณฐาภพ สังเกตุ