ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าหากว่า อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ประจำปี 2025 จะถูกเปรียบเปรยเป็นดั่ง ‘ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ’ ในยุคนี้ เพราะเขามีอิทธิพลอย่างมากต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาชุดปัจจุบัน หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งสมัยที่ 2 ได้เพียงไม่กี่สัปดาห์ มัสก์ได้ส่งคนใกล้ชิดของตัวเองไปขอดูข้อมูลลับของหลายกระทรวง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อจะประเมินภาพรวมว่าควรตัดลดหรือปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานรัฐบาลอย่างไรบ้าง
อีลอน มัสก์ และ โดนัลด์ ทรัมป์
เหตุผลนี้มาจากการที่มัสก์ได้รับมอบอำนาจโดยตรงจากทรัมป์ให้เป็น ‘เจ้าหน้าที่พิเศษ’ รวมถึงผู้นำ ‘กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล’ (Department of Government Efficiency: DOGE) ซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่ในยุคทรัมป์โดยเฉพาะ และมัสก์ก็เคยประกาศในช่วงที่เขาช่วยทรัมป์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2024 ด้วยว่าเขาสามารถทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้ราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ จากงบประมาณรวม 5 ล้านล้านดอลลาร์โดยเฉลี่ยในแต่ละปี โดยใช้วิธีง่ายๆ อย่างการกำจัดหน่วยงานที่ ‘ไร้ประโยชน์ ฉ้อฉล และใช้อำนาจในทางมิชอบ’ (waste, fraud and abuse) ทิ้งไปให้หมด
เมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ มัสก์จึงได้รับมอบอำนาจโดยตรงจากประธานาธิบดี เปิดทางให้เขาและทีมงานเข้ามานั่งทำงานในทำเนียบรัฐบาลได้ทันที ทั้งยังมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลชั้นความลับในหลายๆ กระทรวงตามแต่มัสก์จะร้องขอ ซึ่งถ้ารัฐบาลทรัมป์ยอมทำตามข้อเสนอของมัสก์จริง อาจจะทำให้มีผู้ที่ตกงานหรือสูญเสียตำแหน่งงานหลายพันคน
ความเคลื่อนไหวอันรวดเร็วของมัสก์และทีมงานซึ่งเขาหามาเองโดยเลือกจากคนที่เคยทำงานในบริษัทเอกชนต่างๆ ที่เขาเป็นเจ้าของ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทั้ง สส. และ สว. พรรคเดโมแครตซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ทั้งยังมีข้อกังวลอีกไม่น้อยจากนักวิเคราะห์และนักวิชาการซึ่งมองว่านี่คือการเปิดทางให้บุคคลภายนอกเข้ามาแทรกแซงสถาบันการเมืองการปกครองของสหรัฐฯ โดยที่ยังไม่มีกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างชัดเจน เป็นเรื่องอันตรายต่อความมั่นคงและเสถียรภาพรัฐบาลอย่างยิ่ง
ผู้ชุมนุมต่อต้าน อีลอน มัสก์
แม้ทรัมป์จะให้คำมั่นสัญญาว่ารัฐบาลของเขาจะไม่มอบอำนาจให้แก่มัสก์แบบไร้ขอบเขตและย้ำว่ามัสก์จะต้องรายงานความเคลื่อนไหวให้ประธานาธิบดีรับทราบทุกขั้นตอน แต่คนจำนวนไม่น้อยก็ตั้งคำถามว่าถ้ามีประเด็นใดที่เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนจริง ทรัมป์จะกล้าขัดแย้งหรือแตกหักกับมัสก์ซึ่งเป็นนายทุนรายใหญ่ที่ช่วยเขาหาเสียงจนชนะการเลือกตั้งได้จริงหรือ
ยิ่งถ้าดูข้อมูลในอดีตของแวดวงการเมืองสหรัฐฯ (และอีกหลายประเทศทั่วโลก) จะพบว่าผู้นำรัฐบาลส่วนใหญ่ล้วนต้องเกรงอกเกรงใจประนีประนอมกับ ‘นายทุน’ ที่เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของตัวเองด้วยกันทั้งสิ้น การปล่อยให้นายทุนเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายหรือมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการหน่วยงานรัฐบาลจึงต้องตอบให้ได้ว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของใครกันแน่
หลายเสียงบอกว่า ขณะนี้ อีลอน มัสก์ ไม่ต่างจากผู้นำตัวจริงของสหรัฐฯ
สำนักข่าว Aljazeera, AP และ NPR รายงานความเห็นของนักวิเคราะห์และสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ หลายคนที่ระบุว่า การมอบอำนาจทางการเมืองให้แก่ อีลอน มัสก์ เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจอย่างมาก เพราะนี่คืออภิมหาเศรษฐีที่มีประวัติการบริหารบริษัทแบบเผด็จการ ไม่ฟังเสียงทักท้วงของผู้บริหารคนอื่นๆ ทั้งยังมีคดีความเกี่ยวกับการปั่นมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อมัสก์ทุ่มเงินกว่า 250 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ ให้ได้เป็นประธานาธิบดี จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจไม่สงสัยว่าเขาต้องการสิ่งใดเป็นค่าตอบแทนในการลงทุนครั้งใหญ่นี้
ชัค ชูเมอร์ สว.พรรคเดโมแครต และผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภาสหรัฐฯ เปรียบเปรยอิทธิพลของมัสก์ที่มีต่อการเมืองอเมริกันว่าไม่ต่างอะไรกับ ‘รัฐบาลเงา’ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัวจริงเบื้องหลังรัฐบาลทรัมป์ 2.0 เพราะหลายเรื่องที่ทรัมป์ประกาศว่าจะผลักดันหรือจัดการ เป็นสิ่งที่มัสก์เคยแสดงความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์มาก่อนแล้ว และยังมีอีกหลายกรณีที่อาจเอื้อประโยชน์หรือช่วยให้กิจการหลายๆ ด้านของมัสก์มีโอกาสได้เปรียบคู่แข่งอีกเป็นจำนวนมาก
ด้วยเหตุนี้ สว.ชูเมอร์และสื่ออเมริกันบางส่วนจึงเปรียบเปรยการปล่อยให้มัสก์เข้าไปมีอำนาจเหนือหน่วยงานรัฐบาลจึงไม่ต่างอะไรกับการรัฐประหารยึดอำนาจในรูปแบบหนึ่ง เพราะในทางปฏิบัติมัสก์ได้เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของหลายกระทรวงเป็นที่เรียบร้อยแล้วทั้งที่ยังไม่ได้ผ่านมติของรัฐสภาซึ่งถือเป็นกลไกตรวจสอบถ่วงดุลของกระบวนการทำงานของรัฐบาลตามปกติ
แมกซ์เวลล์ ฟรอสต์ สส.เดโมแครต นำผู้ชุมนุมประท้วง อีลอน มัสก์
ขณะที่ ริชาร์ด เพนเทอร์ อดีตประธานฝ่ายกฎหมายของทำเนียบขาว สมัยที่ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี กล่าวถึงตำแหน่ง ‘เจ้าหน้าที่พิเศษของรัฐบาล’ ที่ทรัมป์ลงนามแต่งตั้งมัสก์ โดยทั่วไปเป็นคือผู้รับมอบหมายให้จัดการประเด็นชั่วคราวต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับจริยธรรมและการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นพลเรือนหรือบุคคลภายนอกให้มาช่วยเหลือหรือทำงานให้กับรัฐบาลในประเด็นเฉพาะ จึงเป็นเหมือนกลไกว่าจ้างที่ไม่เคร่งครัดเท่ากับการตั้งคณะทำงานอย่างเป็นทางการของคณะรัฐมนตรี ที่จะต้องผ่านการลงมติเห็นชอบหรือปรับแก้ตามมติของสภาคองเกรส
การจะตรวจสอบหรือถอดถอนเจ้าหน้าที่พิเศษเหล่านี้จึงไม่สามารถใช้กระบวนการทางรัฐสภาตามปกติได้ แต่ต้องอาศัยกระบวนการในชั้นศาลและขึ้นอยู่กับอำนาจในการตัดสินชี้ขาดของผู้พิพากษา ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งข้อกังวลในสายตานักวิชาการ โดยผู้ที่เอ่ยเตือนเรื่องนี้คือ แคทลีน คลาร์ก ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายประจำมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้ตั้งคำถามผ่าน Aljazeera ว่าคณะผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ได้รับการแต่งตั้งด้วยอำนาจประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ จะตัดสินคดีความที่ส่งผลกระทบหรือมีผลที่นำไปสู่การลงโทษมัสก์ซึ่งเปรียบได้กับพันธมิตรคนสำคัญที่สุดของทรัมป์ได้จริงหรือ
คำถามของศาสตราจารย์กฎหมายอ้างอิงสมัยที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกช่วงปี 2017-2021 เขาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าแทรกแซงกฎเรื่องความเป็นกลางของศาลด้วยการแต่งตั้งผู้พิพากษาที่เป็นฝ่ายสนับสนุนพรรครีพับลิกันหรือผู้พิพากษาที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมมากกว่าฝั่งเสรีนิยมหรือผู้ที่สนับสนุนพรรคเดโมแครต จนไปทำลายกลไกการถ่วงดุลของกระบวนการยุติธรรมสหรัฐฯ เห็นได้จากที่มีการพิพากษากลับคำตัดสินคดีเมื่อครั้งอดีต ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการตีความกฎหมายในหลายกรณีที่ส่งผลกระทบต่อคนอเมริกันจำนวนมาก เช่น คดีว่าด้วยสิทธิการทำแท้ง Roe vs Wade และการพิพากษาให้ทรัมป์มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แม้ว่าเขาจะมีคดีความที่ยังไม่ยุติเป็นจำนวนมาก
เมื่อกลไกรัฐสภาไม่สามารถตรวจสอบหรือถอดถอนมัสก์และทีมงานได้ และกลไกของกระบวนการยุติธรรมก็สูญเสียความน่าเชื่อถือในการตรวจสอบถ่วงดุล จึงเกิดคำถามว่าจะมีใครที่สามารถหยุดยั้งหรือสอบทานการใช้อำนาจของมัสก์ได้ และทรัมป์ก็ไม่ใช่ผู้นำที่คนจำนวนมากเชื่อว่าจะเป็นฝ่ายยื่นคำขาดกับจัดการกับมัสก์ด้วยวิธีการที่เด็ดขาดหรือเที่ยงธรรมได้ เพราะเขาคือผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการลงทุนสนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้งของมัสก์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีคนมองว่ามัสก์ต่างหากที่เป็น ‘ผู้นำตัวจริง’ ในยุคนี้
ในวันแรกที่รับตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเกือบร้อยฉบับ และหนึ่งในนั้นเป็นคำสั่งแต่งตั้งมัสก์ในฐานะเจ้าหน้าที่พิเศษของรัฐบาล เพื่อให้มัสก์ทำตามเป้าหมายที่ทรัมป์เคยหาเสียงไว้ว่าจะปฏิรูปรัฐบาลเพื่อประหยัดงบประมาณของประเทศ
ในวันแรกที่รับตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเกือบร้อยฉบับ และหนึ่งในนั้นเป็นคำสั่งแต่งตั้งมัสก์ในฐานะเจ้าหน้าที่พิเศษของรัฐบาล เพื่อให้มัสก์ทำตามเป้าหมายที่ทรัมป์เคยหาเสียงไว้ว่าจะปฏิรูปรัฐบาลเพื่อประหยัดงบประมาณของประเทศ
นโยบายหาเสียงที่สำคัญของทรัมป์ ได้แก่ การส่งกลับผู้อพยพเข้าเมืองที่ไร้สถานะทางกฎหมายราว 11 ล้านคน การปิดชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก การพิจารณายุติการมอบสถานะพลเมืองโดยการเกิด การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ ที่ทรัมป์มองว่าเป็นฝ่ายเอารัดเอาเปรียบสหรัฐฯ การขยายมาตรการลดหย่อนหรือผ่อนผันภาษีให้กับบริษัทเอกชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของรัฐบาลลงให้ได้ราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ด้วยความช่วยเหลือจากมัสก์
ช่วงที่หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2024 สิ่งที่มัสก์ระบุว่าจะใช้เป็นวิธีแรกๆ ในการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลก็คือการปลดเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่จำเป็นออกจากตำแหน่ง ซึ่งไม่ต่างจากวิธีที่มัสก์ใช้กับบริษัท Twitter หนึ่งในสื่อสังคมออนไลน์ที่ทรงอิทธิพลอันดับต้นๆ ของโลก ก่อนจะรีแบรนด์ใหม่กลายเป็น X ในปัจจุบัน เมื่อมัสก์กลายเป็นผู้นำกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาลในยุคสมัยทรัมป์ 2.0 เขาจึงประกาศว่าจะพิจารณายุติสัญญาจ้างเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงยุบกระทรวง หน่วยงาน และองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐแต่เขามองว่า ‘ไร้ประโยชน์’ ให้หมดไป
กระทรวงที่ถูกรัฐบาลทรัมป์พุ่งเป้าว่าจะยุบทิ้ง คือ กระทรวงศึกษาธิการ ส่วนกระทรวงที่ถูกหมายมาดว่าจะตัดหรือเลิกจ้างเจ้าหน้าที่ คือ กระทรวงการคลัง ซึ่งล่าสุดมัสก์และทีมงานขอดูข้อมูลการจ่ายเงินเดือนและบำนาญของเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังทั้งหมด รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาจ้างเจ้าหน้าที่รัฐบาลอีกราว 7,500 คนทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อจะพิจารณาว่าควรต่อสัญญาหรือยุติบทบาทของเจ้าหน้าที่ที่เขาเห็นว่าไม่มีประโยชน์
ประเด็นนี้ทำให้ตัวแทนสหภาพแรงงานกลางและเครือข่ายผู้ได้รับเงินบำนาญของกระทรวงการคลังในสหรัฐฯ เตรียมยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อยับยั้งมัสก์ไม่ให้เข้าถึงข้อมูลของทั้งเจ้าหน้าที่และอดีตเจ้าหน้าที่ เพราะเกรงว่ามัสก์และทีมงานจะแสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลที่สมควรได้รับการคุ้มครอง
นอกจากนี้ยังมี USAID องค์กรเก่าแก่ที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในสังกัดรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นอีกหนึ่งองค์กรไร้ประโยชน์ที่มัสก์คิดจะยุบทิ้ง โดยเขาเปรียบเปรย USAID ว่าเป็นหน่วยงานที่ ‘เต็มไปด้วยหนอนชอนไช’ ในขณะที่ผู้เห็นต่างจากมัสก์และทรัมป์มองว่า USAID คือองค์กรสำคัญซึ่งทำหน้าที่ผลักดันนโยบายและแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ มาทุกยุคทุกสมัย ทำให้แนวคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐบาลสหรัฐฯ มีจุดยืนหรือหยั่งรากลึกจนกลายเป็นประเด็นชี้นำโลก
ที่สำคัญคือ USAID เป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือองค์กรระหว่างประเทศอีกหลายแห่ง ซึ่งไม่ได้รับผิดชอบแค่ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่รวมถึงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การพิจารณายุบ USAID ทิ้งจึงไม่เพียงส่งผลกระทบต่อคนทำงานในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่จะสร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังองค์กรอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งยังอาจทำให้การทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติในบางด้านพลอยหยุดชะงักไปอย่างน่าเสียดาย
แม้จะมีเสียงทักท้วงการมอบอำนาจในการปฏิรูปรัฐบาลให้กับ อีลอน มัสก์ ซึ่งในทางกฎหมายแล้วก็ถือเป็นหนึ่งในผู้อพยพชาวต่างชาติที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ เช่นกัน
แต่ผู้สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์และพรรครีพับลิกันโต้แย้งว่ามัสก์เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สร้างการจ้างงานนับแสนตำแหน่งในสหรัฐฯ และเขาได้รับอำนาจโดยชอบธรรมเพราะทรัมป์กล่าวถึงนโยบายหาเสียงเลือกตั้งอย่างชัดเจน การที่เสียงข้างมากของคนอเมริกันใช้สิทธิโหวตเลือกทรัมป์เป็นประธานาธิบดีจึงเท่ากับการยอมรับว่ามัสก์มีคุณสมบัติเหมาะสมและได้รับความเห็นชอบจากคนอเมริกันไปโดยปริยาย
แต่ถ้าย้อนกลับไปดูผลสำรวจความเห็นที่จัดทำโดยสถาบันวิจัย Pew Research เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2024 เพื่อประเมินว่าคนอเมริกันมีความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายหาเสียงของทรัมป์เรื่องอะไรบ้าง กลับมีผลสวนทางกับข้ออ้างของคนสนับสนุนทรัมป์และมัสก์ เพราะโพลของ Pew Research สรุปว่าผู้สนับสนุนทรัมป์ส่วนใหญ่ ซึ่งคิดเป็น 86 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม เชื่อว่านโยบายทางการเมืองของทรัมป์สำคัญและสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้จริง ขณะที่ผู้สนับสนุน คามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต คู่แข่งของทรัมป์ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีเพียง 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เชื่อมั่นว่าคามาลาจะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ถ้าชนะการเลือกตั้งและได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี
อย่างไรก็ดี ผู้สนับสนุนทรัมป์ 93 เปอร์เซ็นต์ตอบว่านโยบายที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญที่สุด ได้แก่ การจัดการกับผู้อพยพ รองลงมาจึงเป็นนโยบายต่างประเทศ การทำสงครามอิสราเอล-ฮามาส การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ท่าทีของสหรัฐฯ ในสงครามยูเครน-รัสเซีย นโยบายสาธารณสุข และสิทธิการทำแท้ง แต่ไม่ได้พูดถึงนโยบายปฏิรูปรัฐบาลที่ทรัมป์ต้องการให้มัสก์เป็นผู้ดำเนินการ
นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจความเห็นของ The Economist/ YouGov ซึ่งเปรียบเทียบความเห็นของผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันที่มีต่อนโยบายการมอบอำนาจให้ อีลอน มัสก์ เป็นผู้นำการปฏิรูปประสิทธิภาพรัฐบาล ระหว่างผลสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2024 กับผลสำรวจในวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2025 ซึ่งพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างชัดเจน เพราะจำนวนผู้ที่เคยตอบว่าตัวเองอยากให้มัสก์มีอิทธิพลอย่างมากในรัฐบาลทรัมป์ ลดลงจาก 49 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว เหลือเพียง 26 เปอร์เซ็นต์ช่วงต้นปี 2025
ส่วนผู้ที่ตอบแบบสอบถามของ The Economist/ YouGov ที่ระบุว่าตัวเองไม่อยากให้มัสก์มีอิทธิพลต่อรัฐบาลเลยแม้แต่นิดเดียวก็เพิ่มจาก 12 เปอร์เซ็นต์เป็น 17 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คะแนนนิยมของทรัมป์ก็ลดลงจากเดิมซึ่งอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ ลงมาอยู่ที่ 48 เปอร์เซ็นต์ อาจสะท้อนให้เห็นว่าแม้กระทั่งในกลุ่มคนที่สนับสนุนทรัมป์และรีพับลิกันเองก็มีความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติเมื่อได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำหน้าที่ปฏิรูปรัฐบาลของมัสก์-ทรัมป์ ในช่วงต้นกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
การมอบอำนาจในมัสก์เป็นผู้ปฏิรูปรัฐบาลสหรัฐฯ มีผู้ทักท้วงอีกประเด็นคือการเป็นเจ้าของกิจการหลายด้านของมัสก์อาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะมัสก์อาจได้เปรียบคู่แข่งจากการเข้าถึงข้อมูลของรัฐบาล
จึงทำให้เกิดคำถามตามมาจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป ซึ่งตั้งข้อสงสัยว่ามัสก์จะอดใจไม่ใช้โอกาสนี้สร้างมูลค่าเพิ่มหรือเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ส่วนตัวได้จริงหรือ
ปัจจุบันมัสก์เป็นผู้บริหารรายใหญ่ของกิจการหลายด้าน แต่บริษัทที่โดดเด่นและสำคัญที่สุด ได้แก่ SpaceX ซึ่งลงทุนในโครงการอวกาศและเป็นผู้ได้รับสัมปทานมูลค่ากว่าพันล้านดอลลาร์จากรัฐบาลสหรัฐฯ มาหลายฉบับแล้ว ตามด้วย Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและนวัตกรรมอื่นๆ รวมถึง X (หรือ Twitter) ที่เป็นสื่อสังคมออนไลน์ทรงอิทธิพลต่อการรับรู้ข้อมูลของคนจำนวนมหาศาลในโลกยุคดิจิทัล ในขณะที่กระทรวงที่รับผิดชอบด้านอวกาศ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาโครงการพลังงานต่างๆ เป็นกลไกภาครัฐที่มัสก์ได้รับมอบอำนาจให้เข้าถึง
ผู้ที่ตั้งคำถามกับรัฐบาลมัสก์-ทรัมป์ ชี้ว่ามัสก์และทีมงานของเขาอาจใช้ข้อมูลชั้นความลับของแต่ละกระทรวงเพื่อเก็งกำไรให้กับบริษัทของตัวเอง และบทวิเคราะห์จำนวนมากก็ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงว่ามัสก์เคยมีประวัติการใช้ข้อมูลวงในปั่นมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มาแล้ว เมื่อบวกกับแนวทางการบริหารกิจการที่ยึดมั่นในความคิดตัวเองเป็นหลัก จนเคยถูกสื่อไอทีอย่าง TechCrunch ตั้งฉายาว่าเป็นเผด็จการอำนาจนิยม Techno-Fascism ก็ทำให้มัสก์ยิ่งเป็นบุคคลที่ไม่สมควรได้รับมอบอำนาจที่ไร้การตรวจสอบถ่วงดุลจากภาครัฐอย่างยิ่ง
ถึงแม้ว่าทุกรัฐบาลสหรัฐฯ ในอดีตจะถูกกล่าวหาว่าตกอยู่ภายใต้เงาของนายทุนผู้สนับสนุนเรื่องงบประมาณหาเสียงเลือกตั้งมาโดยตลอด แต่การมอบอำนาจให้นายทุนเข้าแทรกแซงกิจการของรัฐบาลโดยตรงอย่างกรณีมัสก์และทรัมป์ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งยังทำให้เกิดความเคลือบแคลงด้วยว่าคดีความต่างๆ ที่ยังไม่ยุติของมัสก์จะได้รับการพิจารณาตามกระบวนการในชั้นศาลอย่างโปร่งใส เสรี เป็นธรรม ไร้แรงกดดันทางการเมืองได้จริงหรือไม่ เพราะถ้าดูจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ จะเห็นว่าคดีความเหล่านี้คงถูกพักไว้ก่อนจนกว่าทรัมป์และมัสก์จะพ้นจากตำแหน่งไป ซึ่งอย่างน้อยก็ต้องใช้เวลาอีกราว 4 ปี
นอกจากนี้ ทรัมป์เองก็มีประวัติที่ชัดเจนในการเป็นประธานาธิบดีผู้ตัดสินใจตามความต้องการของตัวเองเป็นหลัก ทั้งยังถูกกล่าวหาว่าไม่รับฟังเสียงคัดค้านหรือแม้แต่มติของสภาคองเกรส การผนึกกำลังระหว่างมัสก์-ทรัมป์ จึงกลายเป็นเรื่องเหนือความคาดเดาของแทบทุกฝ่าย และผลพวงที่ตามมาเกรงว่าอาจจะสร้างความเสียหายหรือแรงสั่นสะเทือนให้กับผู้คนมากมายทั้งในประเทศและทั่วโลก