นับตั้งแต่กลุ่มกบฏ M23 (March 23 Movement) ยกระดับปฏิบัติการโจมตีกองทัพรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) บุกยึดพื้นที่สำคัญอย่างเมืองโกมาในภูมิภาคนอร์ทคิวู ทางตะวันออกของดีอาร์คองโก เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2025 เหตุการณ์นองเลือดก็เกิดขึ้นตามมาอีกหลายระลอก โดยเฉพาะเหตุจลาจลในเรือนจำมุนเซนเซ กลางเมืองโกมา ซึ่งนักโทษหลายร้อยคนฉวยโอกาสที่กลุ่มกบฏบุกโจมตีเมือง ก่อเหตุข่มขืนและเผานักโทษหญิงทั้งเป็นราว 167 คน ก่อนที่ผู้ก่อเหตุจะแยกย้ายหลบหนีออกจากเรือนจำ
เรือนจำมุนเซนเซ เมืองโกมา
นอกเหนือจากความโหดร้ายซึ่งถูกรายงานผ่านสื่อต่างประเทศ ยังมีภาพเหตุไฟไหม้และควันคละคลุ้งทั่วเมืองโกมาในระหว่างที่กลุ่มกบฏ M23 นำกำลังเข้ายึดครองสถานที่สำคัญต่างๆ โดยมีเสียงปืนดังแทรกอย่างหนักหน่วงเป็นระยะ ทว่าทางการดีอาร์คองโกกลับขาดแคลนกำลังพลจนต้องประกาศขอความร่วมมือจากผู้คนในท้องถิ่นให้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครเพื่อต่อสู้กับกลุ่มกบฏ
สำนักข่าว BBC รายงานอ้างอิงข้อมูลที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ของโครงการสหประชาชาติในดีอาร์คองโก ประเมินว่าผู้เสียชีวิตจากเหตุเกี่ยวพันการบุกยึดเมืองของกลุ่มกบฏ M23 ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมจนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2025 อาจมีมากกว่า 2,900 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกฝังไปแล้ว แต่ยังมีร่างของผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะต่างๆ ราว 900 รายยังรอการชันสูตรและระบุตัวตนอยู่ตามสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาอีกหลายแห่ง และ BBC ย้ำว่าข้อมูลนี้ยังต้องรอการตรวจสอบเพิ่มเติม
ขณะที่ โวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Human Rights) เตือนว่าความรุนแรงในดีอาร์คองโกอาจส่งผลกระทบต่อทั่วทั้งภูมิภาคแอฟริกาและทั่วโลก เพราะการก่อเหตุของกลุ่มกบฏ บวกกับการตอบโต้กลับอย่างรุนแรงของกองทัพรัฐบาลดีอาร์คองโกจะทำให้ผู้คนในที่เกิดเหตุตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามถึงชีวิต ทั้งยังมีผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้นอีกราว 237,000 คน จึงมีแนวโน้มที่คนเหล่านี้จะลี้ภัยข้ามแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองอันเปราะบางในภูมิภาคแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออกมีปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบกระทั่งกันเพิ่มขึ้น
ประธานาธิบดีคองโก เฟลิกซ์ ชิเซเกดี
ด้วยเหตุนี้ ผู้นำกลุ่มประเทศแอฟริกาหลายชาติจึงรวมตัวกันอย่างเร่งด่วนที่แทนซาเนียเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2025 เพื่อกดดันให้ประธานาธิบดี เฟลิกซ์ ชิเซเกดี ผู้นำดีอาร์คองโก หาทางคุยกับ คอร์ไนเญอ นังกา ผู้นำกลุ่มกบฏ M23 เพื่อเจรจาข้อตกลงหยุดยิง-ระงับเหตุการณ์ความรุนแรงที่ส่งผลต่อคนจำนวนมาก และมีตัวละครสำคัญอีกคนถูกเชิญเข้าร่วมการประชุมด้วยคือ พอล คากาเม ประธานาธิบดีรวันดา ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีพรมแดนติดกับภูมิภาคนอร์ทคิวูและเซาท์คิวูในดีอาร์คองโกอันเป็นพื้นที่เกิดเหตุขณะนี้
คอร์ไนเญอ นังกา แกนนำ M23
อย่างไรก็ดี หลังการประชุมผู้นำชาติแอฟริกาจบลงเพียงไม่กี่วัน ก็เกิดการปะทะระลอกใหม่ระหว่างกลุ่มกบฏ M23 และกองทัพดีอาร์คองโก (Armed Forces of the Democratic Republic of the Congo: FARDC) โดยสำนักข่าว Al-Arabiya รายงานเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2025 ว่าการต่อสู้ครั้งใหม่เกิดขึ้นในเมืองอิฮูซี (Ihusi) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองบูคาวู (Bukavu) เมืองเอกของภูมิภาคเซาท์คิวูราว 70 กิโลเมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกประมาณ 50 คน สะท้อนว่าความขัดแย้งรุนแรงรอบนี้คงไม่จบลงง่ายๆ เพราะพื้นที่ที่กลุ่มกบฏรุกคืบเพื่อยึดครองมีทั้งแหล่งแร่ธาตุและใกล้กับที่ตั้งสนามบินซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ จึงเป็นปัจจัยที่จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อภูมิภาคแอฟริกาตามมาอย่างแน่นอน
คอร์ไนเญอ นังกา
การบุกยึดเมืองโกมาโดยกลุ่มกบฏ M23 เป็นปฏิบัติการอย่างฉับพลัน หรือถ้าพูดให้ตรงกับความเป็นจริงกว่านั้นก็ต้องบอกว่า นี่คือปฏิบัติการที่กองทัพและหน่วยข่าวกรองดีอาร์คองโกไม่ทราบล่วงหน้า เพราะไม่มีการแจ้งเบาะแสหรือเตือนภัยใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้ไม่มีการเตรียมตัวรับมือกับการโจมตีของกลุ่มกบฏ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่หน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาลดีอาร์คองโกจะถูกวิจารณ์อย่างหนักในเหตุการณ์ที่ผ่านมา
แต่ถ้าย้อนมองสภาพการเมืองดีอาร์คองโกช่วงเกือบ 3 ทศวรรษจนถึงปัจจุบัน อาจเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดภาครัฐของดีอาร์คองโกถึงได้อ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพอย่างที่เห็น
หลังจากได้รับอิสรภาพจากเบลเยียมเมื่อปี 1960 ดีอาร์คองโกเผชิญกับการลอบสังหาร แพทริซ ลูมุมบา ผู้นำการเรียกร้องเอกราช และนายกรัฐมนตรีคนแรกของดีอาร์คองโกที่เพิ่งก่อตั้งประเทศใหม่ช่วงนั้น โดยลูมุมบาเป็นผู้นำที่มีแนวคิดชาตินิยม เขาจึงต่อต้านกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนายทุนชาวเบลเยียมซึ่งเคยได้รับผลประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรในดีอาร์คองโกสมัยอาณานิคม
แพทริซ ลูมุมบา
การเสียชีวิตของลูมุมบาทำให้การต่อสู้แย่งชิงอำนาจในการปกครองตนเองเกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วประเทศ และนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระบุว่าการแย่งชิงเหล่านี้มีอิทธิพลของชาวต่างชาติอยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่แค่นายทุนจากยุโรป แต่รวมถึงเจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (CIA) ที่ต้องการควบคุมการแผ่ขยายของคอมมิวนิสต์ในทวีปแอฟริกา ดีอาร์คองโกจึงตกอยู่ในความไม่สงบยาวนานข้ามปี จนกระทั่งเกิดรัฐประหารยึดอำนาจโดย นายพลโมบูตู เซเซ เซโก ผู้ได้รับการสนับสนุนจาก CIA และมีสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ เมื่อปี 1965
หลังจากนั้นดีอาร์คองโกก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบเผด็จการของ โมบูตู เซเซ เซโก นานถึง 32 ปี ซึ่งในช่วงนี้ดีอาร์คองโกถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ซาอีร์’ (Zaire) เพื่อให้แตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับ ‘สาธารณรัฐคองโก’ หรือ คองโก-บราซซาวิลล์ ประเทศเพื่อนบ้านของดีอาร์คองโก ซึ่งได้รับอิสรภาพจากฝรั่งเศสไล่เลี่ยกับที่ดีอาร์คองโกพ้นจากการเป็นอาณานิคมเบลเยียม
โมบูตู เซเซ เซโก
การปกครองแบบเผด็จการในซาอีร์ทำให้กลุ่มการเมืองและนักเคลื่อนไหวที่เห็นต่างจากรัฐบาลถูกกดและปราบปรามอย่างหนัก จนกระทั่งย่างเข้าสู่ช่วง 1990’s อำนาจของเผด็จการ เซเซ เซโก เริ่มสั่นคลอน เพราะประชาชนส่วนใหญ่เริ่มอดทนไม่ได้กับสภาพการเมืองในประเทศที่เต็มไปด้วยการทุจริตแต่ไร้ซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน จนเกิดการประท้วงต่อต้านและลุกฮือตอบโต้ด้วยอาวุธในท้องถิ่นหลายพื้นที่ ก่อนที่ความขัดแย้งจะปะทุเป็นสงครามกลางเมืองคองโกครั้งที่ 1 ช่วงปี 1996-1997
สงครามกลางเมืองครั้งที่ 1 ทำให้รัฐบาลเผด็จการถูกล้มล้างจนพ้นอำนาจ และมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากซาอีร์มาเป็น ‘ดีอาร์คองโก’ จนกระทั่งปัจจุบัน
แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นไม่ใช่ความสงบสุขอย่างที่ใครหลายคนคิดไว้ เพราะยังเกิดความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างชนเผ่าต่างๆ และกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่เติบโตในยุคเผด็จการตามมาอีกหลายครั้งจนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองคองโกครั้งที่ 2 ช่วงปี 1998 – 2003
สงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 ในดีอาร์คองโกถูกเปรียบเปรยว่าเป็น ‘สงครามโลกแอฟริกา’ (Africa World War) เพราะเป็นการสู้รบที่กลุ่มต่างๆ ได้รับการหนุนหลังจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านในแอฟริกาที่ต้องการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของดีอาร์คองโก หรือกลุ่มนายทุนจากประเทศอดีตเจ้าอาณานิคม ไปจนถึงสหรัฐฯ ที่เคยมีสัมพันธ์อันดีกับอดีตรัฐบาลเผด็จการ
กลุ่มกบฏ M23 ที่เพิ่งยึดเมืองโกมาในนอร์ทคิวูเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญที่เติบโตยุคหลังสงครามกลางเมืองคองโกครั้งที่ 2 เพราะแกนนำกลุ่มเป็นชาวทุตซีซึ่งเป็นเชื้อชาติเดียวกับผู้นำรวันดาที่กุมอำนาจต่อเนื่องยาวนานหลังเกิดเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเมื่อปี 1994 มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังมีรายงานล่าสุดของ UN ที่ระบุว่ากองทัพรวันดาได้ตามคุ้มกันกลุ่มกบฏ M23 ตามแนวชายแดนระหว่างประเทศ ทำให้การปฏิบัติภารกิจในภูมิภาคนอร์ทคิวูของกลุ่มกบฏประสบความสำเร็จช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา
รวันดาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดฝั่งตะวันออกของดีอาร์คองโก ทั้งยังมีผู้ลี้ภัยหลายล้านคนที่ไปตั้งรกรากในภูมิภาคนอร์ทคิวูและเซาท์คิวูของดีอาร์คองโกตั้งแต่สงครามล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นในรวันดาเมื่อปี 1994 ซึ่งเหตุผลสำคัญที่คนจากรวันดาหนีภัยไปยังพื้นที่แถบนี้เป็นเพราะพวกเขามีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับคนในพื้นถิ่น รวมถึงพูดภาษาในตระกูลเดียวกันกับคนในภูมิภาคคิวูเหนือและใต้
ทหาร M23
กลุ่มกบฏ M23 ก็เป็นชาวทุตซีเช่นเดียวกับประชากรส่วนใหญ่ในรวันดาและผู้อพยพลี้ภัยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาที่ไปตั้งรกรากในดีอาร์คองโกจนถึงปัจจุบัน ทำให้ความเกี่ยวโยงระหว่างผู้คนกลุ่มนี้ซับซ้อนเหนียวแน่นยิ่งกว่าความสัมพันธ์ที่มีต่อรัฐบาลกลางของดีอาร์คองโกซึ่งประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายชนเผ่า
ถึงแม้รัฐบาลรวันดาจะยืนกรานปฏิเสธความเกี่ยวข้องใดๆ กับกลุ่มกบฏ M23 แต่มีรายงานหลายฉบับของทั้ง UN และองค์กรระหว่างประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บ่งชี้ว่ารัฐบาลรวันดามีความเกี่ยวพันกับกลุ่มกบฏ M23 อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการให้ที่พักพิงแก่ผู้ที่รัฐบาลดีอาร์คองโกต้องการตัว ไปจนถึงการปล่อยให้กลุ่มกบฏลำเลียงกำลังพลหรืออาวุธในพื้นที่ตามแนวชายแดนระหว่างรวันดาและดีอาร์คองโกโดยไม่เข้าแทรกแซงใดๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นการกระทำที่สวนทางกับคำปฏิเสธปากเปล่าของผู้นำรวันดา
พรมแดนรวันดากับคองโก
ประเด็นสำคัญที่สุดคือ รวันดาเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลประโยชน์จากเหตุการณ์ความไม่สงบในดีอาร์คองโก เพราะกลุ่มกบฏ M23 ลักลอบทำเหมืองแร่เถื่อนหลายแห่งในพื้นที่ที่บุกยึดมาได้ตั้งแต่ปี 2021 และยังพบเบาะแสบ่งชี้ว่าแร่ส่วนหนึ่งถูกผ่านไปยังรวันดาซึ่งมีพรมแดนติดกับภูมิภาคคิวูทั้งตอนเหนือและตอนใต้ของดีอาร์คองโก และรวันดาก็เป็นหนึ่งในประเทศแถบแอฟริกาที่ข้อตกลงกับประเทศตะวันตกหลายชาติในด้านความร่วมมือเรื่องเหมืองแร่และการส่งออกแร่ธาตุหลายชนิด
ในการสู้รบด้วยอาวุธที่กำลังดำเนินอยู่ ตัวละครในสงครามครั้งใหม่มีมากกว่า M23 และกองทัพคองโก
เป็นอีกกลุ่มที่เกี่ยวพันกับรวันดา แต่สมาชิกของกลุ่มนี้มีเชื้อสายฮูตู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสุดโต่งที่ก่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเมื่อครั้งอดีต จึงต้องหลบหนีการกวาดล้างของรัฐบาลรวันดาชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ พอล คากาเม ประธานาธิบดีเชื้อสายทุตซี และเป็นผู้นำทรงอิทธิพลคนหนึ่งในแอฟริกา
มีหลักฐานว่ากลุ่มติดอาวุธนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลยูกันดา มักก่อเหตุโจมตีและเรียกค่าไถ่ประชาชนดีอาร์คองโกในหลายพื้นที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งยังมีเบาะแสว่ากลุ่มนี้เกี่ยวโยงกับการทำเหมืองเถื่อนในดีอาร์คองโกเช่นกัน
หรือ Mai-Mai Militias ซึ่งมีหลายกลุ่ม เพราะนี่คือประชาชนในท้องถิ่นซึ่งรวมตัวจับอาวุธเพื่อปกป้องดินแดนและทรัพยากรของตนเอง ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าที่อยู่ในพื้นที่มาแต่เดิม และบางครั้งก็ขัดแย้งกับทั้งรัฐบาลกลางและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ และด้วยจำนวนกลุ่มติดอาวุธที่มีมากมายก็ทำให้ดีอาร์คองโกต้องเจอกับความขัดแย้งรุนแรงทางอาวุธอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
แม้ดีอาร์คองโกจะอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแร่โคบอลต์ ทองคำ สังกะสี ทังสเตน หรือโคลแทน ซึ่งเป็นแร่สำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ความขัดแย้งเรื้อรังทำให้รัฐบาลดีอาร์คองโกไร้เสถียรภาพ ไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมั่นคง ขาดความโปร่งใส เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน ส่งผลกระทบต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ การเมือง และคุณภาพชีวิตของประชาชน
สถานการณ์ในดีอาร์คองโกแตกต่างกับประเทศเพื่อนบ้านทางฝั่งตะวันออกอย่างรวันดา ซึ่งเติบโตอย่างมั่นคงภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี พอล คากาเม ผู้นำเชื้อสายทุตซีที่ก้าวสู่อำนาจหลังจากต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเมื่อปี 1994 ที่ก่อการโดยกลุ่มติดอาวุธสายสุดโต่งเชื้อสายฮูตู
ประธานาธิบดีรวันดา พอล คากาเม
ช่วงเดือนธันวาคม 2024 รัฐบาลคากาเมได้ร่วมลงนามความเข้าใจในการพิจารณาข้อตกลงความร่วมมือด้านแร่ธาตุต่างๆ ร่วมกับสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งถูกมองเป็นความก้าวหน้าที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของรวันดาในฐานะผู้ส่งออกแร่ธาตุไปยังประเทศยุโรปที่เป็นสมาชิกอียู
เมื่อเกิดเหตุกลุ่มกบฏ M23 บุกยึดเมืองโกมาและก่อเหตุรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนเป็นจำนวนมาก ผู้ชุมนุมราว 100 คนจึงได้รวมตัวประท้วงในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2025 เรียกร้องให้ผู้นำประเทศสมาชิกอียู รวมถึงรัฐบาลเบลเยียมซึ่งมีประวัติพัวพันดีอาร์คองโกในฐานะเจ้าอาณานิคมในอดีต ยุติหรือระงับข้อตกลงความร่วมมือด้านแร่ธาตุกับรวันดาซึ่งถูกชี้เป้าว่าเป็นผู้หนุนหลังกลุ่มกบฏ M23
ชาวคองโกชุมนุมต่อต้านรวันดา
อย่างไรก็ดี ผู้นำกลุ่มประเทศอียูไม่ได้แสดงท่าทีชัดเจนต่อประเด็นนี้ ทั้งยังไม่มีท่าทีใดๆ บ่งชี้ว่าจะพิจารณาคว่ำบาตรหรือแทรกแซงรวันดา ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนประณามกลุ่มประเทศยุโรปว่าไร้มนุษยธรรมและสองมาตรฐาน โดยมีการเปรียบเทียบกับการบุกยูเครนของรัสเซียซึ่งประเทศกลุ่มอียูส่วนใหญ่ประกาศตอบโต้และคว่ำบาตรรัสเซียในเวลาอันรวดเร็ว
ส่วนเหตุผลที่รัฐบาลชาติตะวันตกไม่ห้ามปรามรวันดาเหมือนที่ปฏิบัติอย่างแข็งกร้าวต่อรัสเซียในกรณียูเครน มีการอธิบายจากนักวิเคราะห์ใน Council on Foreign Relations ว่าเป็นเพราะรวันดาคือชาติพันธมิตรที่สำคัญของหลายประเทศทั่วโลกในการเป็นตัวแทนประเทศแอฟริกาเพื่อผลักดันความร่วมมือในด้านต่างๆ เนื่องจากรวันดาเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศแถบนี้ซึ่งมีเสถียรภาพ ไม่ถูกเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลบ่อยเหมือนกับประเทศอื่นซึ่งต้องเจอกับเหตุการณ์ไม่สงบและการรัฐประหารนับครั้งไม่ถ้วน
แม้ประธานาธิบดี พอล คากาเม จะเป็นหนึ่งในผู้นำที่ยื้ออำนาจในการปกครองประเทศมายาวนานกว่า 30 ปี แต่เขาก็ยังไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการจากคนส่วนใหญ่ในประเทศ เพราะการที่รวันดาได้รับความช่วยเหลือจากประชาคมโลกหลังเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้ นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างช้าๆ แต่มั่นคง และคากาเมก็ขึ้นสู่อำนาจในฐานะผู้ต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จนได้รับฉายาเป็นผู้นำแห่งการปรองดอง เขาจึงได้รับความนิยมยิ่งกว่าผู้นำทางการเมืองคนอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา
ทหารรวันดา
อย่างไรก็ดี บทบาทของรวันดาที่เกี่ยวพันกับกลุ่มกบฏ M23 เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ หลังกลุ่มกบฏยึดพื้นที่ที่เป็นแหล่งแร่ธาตุสำคัญในภูมิภาคคิวูของดีอาร์คองโก และมีรายงานบ่งชี้ว่ากลุ่มกบฏลักลอบทำเหมืองแร่เถื่อนซึ่งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงงานเด็ก การบังคับคนท้องถิ่นให้ทำงานหนักในเหมืองแร่ซึ่งมีสภาพแวดล้อมเลวร้ายและเป็นอันตรายถึงชีวิต ทั้งยังดำเนินการโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมโดยรอบ และมีการพบสารไซยาไนด์และสารพิษอื่นๆ ตกค้างในแหล่งน้ำและผินดินของชุมชนในละแวกเหมืองเถื่อนซึ่งสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานไปมาก
ส่วนรายได้จากการขายแร่ในเหมืองเถื่อนเหล่านี้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะเข้ากระเป๋าคนในรัฐบาลรวันดาในฐานะผู้ดำเนินการส่งออกแร่ธาตุต่างๆ จากแอฟริกาไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ขณะที่รายได้อีกส่วนก็จะถูกนำไปซื้ออาวุธให้กลุ่มกบฏ M23 ไปใช้ต่อสู้กับกองทัพดีอาร์คองโก ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในการปะทะแต่ละครั้ง ทำให้แร่จากเหมืองเถื่อนเหล่านี้ถูกเรียกขานว่าเป็น ‘แร่เปื้อนเลือด’ (blood minerals) จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก
แม้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในดีอาร์คองโกจะดูเหมือนห่างไกลและคงไม่ส่งผลกระทบต่อคนไทยสักเท่าไหร่ แต่สื่อหลายสำนักชี้ว่าความขัดแย้งนองเลือดครั้งนี้อาจเกี่ยวพันกับคนทั่วทั้งโลกยิ่งกว่าที่คิด เพราะแร่ธาตุที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย รวมถึงโคลแทนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของโทรศัพท์มือถือแบรนด์ดังที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากทั่วโลก อาจมีต้นตอจากเหมืองเถื่อนในดีอาร์คองโก
ข้อมูลของ UN บ่งชี้ว่ากลุ่มกบฏและรัฐบาลต่างชาติจำนวนมากเข้าไปเกี่ยวพันกับการแย่งชิงดินแดนและอำนาจในการปกครองแหล่งแร่สำคัญในดีอาร์คองโก เพื่อหารายได้จากการส่งออกแร่ธาตุต่างๆ โดยมีบริษัทข้ามชาติหลายแห่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าพัวพันการใช้แร่เปื้อนเลือดจากการจัดซื้อจัดหาของซัพพลายเออร์ ไม่ว่าจะเป็น แอปเปิล ซัมซุง ไมโครซอฟต์ เทสลา หรืออินเทล ซึ่งล้วนเป็นบริษัททรงอิทธิพลในโลกธุรกิจทั้งสิ้น
ประเด็นแร่เปื้อนเลือดถูกนำมาใช้ในการผลิตอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ ถูกหน่วยงานตรวจสอบด้านธรรมาภิบาลของรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งคำถามและเรียกร้องให้บริษัทข้ามชาติที่ดำเนินการในสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดหาและกระบวนการได้มาซึ่งแร่ธาตุที่อาจเกี่ยวพันกับการทำเหมืองเถื่อนของกลุ่มกบฏในดีอาร์คองโก โดยมีรายงานข่าวจาก CNBC ในปี 2023 ระบุว่าบริษัทที่กล่าวมาข้างต้นได้ส่งรายละเอียดเกี่ยวกับแร่ธาตุที่ใช้ในกระบวนการผลิตทั่วโลกเพื่อชี้แจงกับทางการสหรัฐฯ รวมถึงตีพิมพ์รายงานอย่างเปิดเผยในเว็บไซต์ตัวเอง
อย่างไรก็ดี มีอยู่หนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินการเรื่องนี้ล่าช้า จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวของรัฐบาลดีอาร์คองโกในเดือนธันวาคม 2024 ซึ่งประกาศว่าจะฟ้องร้องคดีแพ่งและคดีอาญากับบริษัท แอปเปิล โดยระบุว่ามีเหตุให้เชื่อได้ว่าซัพพลายเออร์ของแอปเปิลในยุโรปอย่างน้อย 2 ราย จัดซื้อจัดหาแร่เปื้อนเลือดเข้าสู่กระบวนการผลิตชิ้นส่วนภายใน ‘ไอโฟน’ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขายดิบขายดีและมีผู้ใช้งานทั่วโลก
ท่าทีของรัฐบาลดีอาร์คองโกทำให้แอปเปิลออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าทางบริษัทไม่มีเจตนาจะใช้แร่ที่มาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เป็นเพราะอุตสาหกรรมการผลิตนั้นซับซ้อนและเกี่ยวพันกับทั้งบุคคลและนิติบุคคลจำนวนมาก จึงไม่สามารถระบุหรือยืนยันอย่างชัดเจนได้ทั้งหมดว่ากระบวนการแต่ละขั้นตอนไม่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาที่ได้รับ แต่ทางบริษัทก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามไต่สวนข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ แต่สื่อตะวันตกหลายสำนักก็รายงานคล้ายกันว่าโทรศัพท์สมาร์ตโฟนในมือผู้บริโภคทั่วโลกอาจจะเกี่ยวโยงกับแร่เปื้อนเลือดในดีอาร์คองโกโดยไม่รู้ตัว
ดีอาร์คองโกถูกมองเป็นหนึ่งในประเทศต้องคำสาป ซึ่งแทบไม่ต่างจากอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกาที่ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกช่วงศตวรรษที่ 19 - 20 เพราะผู้คนในประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญกับการกดขี่ ละเมิดสิทธิมนุษยชน และถูกสูบทรัพยากรธรรมชาติไปใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับผู้ปกครองในอดีต
สงครามความขัดแย้งในดีอาร์คองโกตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 1960 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน จึงถูกนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระบุว่าเป็นผลพวงอันเลวร้ายของนโยบายแบ่งแยกและปกครองของเจ้าอาณานิคมในอดีต และมีการเฉพาะเจาะจงว่าดีอาร์คองโกยุคที่ถูกปกครองอย่างโหดร้ายที่สุดคือยุคของ กษัตริย์ลีโอโปลด์ที่ 2 แห่งราชวงศ์เบลเยียม ซึ่งเป็นประมุขของดีอาร์คองโกระหว่างปี 1885 - 1905 โดยที่ช่วงนั้นดีอาร์คองโกถูกเรียกว่า Congo Free State
กษัตริย์ลีโอโปลด์ที่ 2 แห่งราชวงศ์เบลเยียม
แม้จะถูกเรียกว่า ‘รัฐอิสระ’ หรือ Free State แต่คองโกยุคกษัตริย์ลีโอโปลด์ที่ 2 ห่างไกลจากคำว่าอิสระไปมากโข เพราะนักประวัติศาสตร์บันทึกว่าชาวพื้นเมืองในคองโกประมาณ 10-15 ล้านคนได้รับความทุกข์ยาก อดอยาก และถูกกดขี่ ถึงขั้นเสียชีวิตและพิการในสมัยกษัตริย์ลีโอโปลด์ที่ 2 โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการถูกบังคับให้ทำสวนยางและล่าช้างเพื่อเอางาไปเป็นบรรณาการให้แก่กษัตริย์แห่งราชวงศ์เบลเยียมพระองค์นี้
ชาวพื้นเมืองที่ไม่สามารถทำตามเป้าหมายในการเก็บเกี่ยวผลิตผลยางพารา รวบรวมงาช้าง ไปจนถึงการทำเกษตรอื่นๆ ของบรรดาผู้ปกครองที่ได้รับมอบอำนาจจากกษัตริย์เบลเยียมในยุคนั้น มักเผชิญกับการสังหารหมู่ การอดอาหาร หรือไม่ก็ถูกตัดอวัยวะ เช่น มือหรือขา เพื่อขู่ให้หลาบจำ
ผลผลิตที่ได้จากเลือดเนื้อและหยาดเหงื่อแรงงานของชาวพื้นเมืองคองโกในยุคอาณานิคมได้สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับกษัตริย์ลีโอโปลด์ที่ 2 โดยตรง แต่ชะตากรรมของคนคองโกที่ต้องสูญเสียครอบครัว ไร้อิสระ และพิการจากการถูกบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส กลายเป็นอุปสรรคทำให้คนพื้นเมืองจำนวนมากไม่สามารถลืมตาอ้าปากหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองได้อีกหลายชั่วอายุคน
ความโหดร้ายที่เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าของคองโกในยุคกษัตริย์ลีโอโปลด์ที่ 2 ทำให้รัฐบาลเบลเยียมถูกกดดันให้แทรกแซงและยุติการกระทำที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชนพื้นเมืองในคองโกหลังจากลีโอโปลด์ที่ 2 สวรรคตในปี 1909 คองโกจึงกลายเป็นดินแดนใต้อาณัติรัฐบาลเบลเยียมแทนที่จะเป็นดินแดนส่วนพระองค์ของกษัตริย์เบลเยียมเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในยุคก่อนหน้า
จนกระทั่งดีอาร์คองโกประกาศอิสรภาพได้สำเร็จในปี 1960 ชะตากรรมของคนส่วนใหญ่ในประเทศก็ไม่ได้ดีไปกว่ายุคอาณานิคมมากนัก เพราะความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่อยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ ทำให้ดีอาร์คองโกกลายเป็นเป้าหมายของเหล่านายทุนหรือชนชั้นนำที่เคยได้รับประโยชน์ในยุคอาณานิคม รวมถึงประเทศรอบด้านที่ต้องการเข้าถึงทรัพยากรอันมีมูลค่ามหาศาลในดินแดนคองโก การเข้าแทรกแซงหรือหนุนหลังผู้ที่ก่อเหตุไม่สงบในหลายพื้นที่ทั่วประเทศจึงเป็นสิ่งที่ดีอาร์คองโกต้องเผชิญอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ถึงจะมีความพยายามจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์และรัฐบาลเบลเยียมเข้าไปมีส่วนร่วมมากกว่านี้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งหรือเยียวยาชาวคองโกที่ได้รับผลกระทบจากการกดขี่และเอารัดเอาเปรียบในยุคอาณานิคมซึ่งยังส่งผลกระทบสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน แต่ข้อเรียกร้องเหล่านี้มักถูกเตะถ่วงหรือปัดตกไปด้วยเหตุผลว่าเบลเยียมและชาติพันธมิตรในยุโรป รวมถึงสหรัฐฯ ได้สมทบทุนช่วยเหลือดีอาร์คองโกในด้านต่างๆ อยู่แล้วในแต่ละปี
อีกประเด็นคือชาติตะวันตกและสหรัฐฯ สนับสนุนงบประมาณและกำลังพลในภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในดีอาร์คองโก (MONUSCO) ซึ่งอยู่ในพื้นที่มายาวนานกว่า 65 ปีแล้ว นับเป็นกองกำลังต่างชาติที่มีอิทธิพลและหยั่งรากลึกในดีอาร์คองโก แต่ขณะเดียวกันก็ถูกตั้งคำถามในหลายครั้งหลังจากที่ MONUSCO ไม่สามารถเข้าช่วยเหลือผู้เสียหายจากการก่อเหตุของกลุ่มกบฏได้ทันเวลา รวมถึงการยึดเมืองโกมาครั้งล่าสุดของกลุ่มกบฏ M23 ทั้งยังมีปัญหาเจ้าหน้าที่ MONUSCO บางส่วนพัวพันการทุจริตและก่อเหตุละเมิดทางเพศชาวพื้นเมือง แต่กลับไม่ได้รับการลงโทษอย่างที่ควรจะเป็น
ด้วยเหตุนี้ ประเทศฝั่งตะวันตกทั้งหลาย โดยเฉพาะเบลเยียม จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักสิทธิมนุษยชนเรื่อง ‘ปากว่าตาขยิบ’ ทั้งที่ความขัดแย้งในดีอาร์คองโกอาจกลายเป็นชนวนวิกฤตอีกหลายเรื่องในแอฟริกาและทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสังหารหมู่ การหนีตายของผู้คนในพื้นที่ ไปจนถึงการก่ออาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวพันกับการค้าและการผลิตที่โยงใยในระบบอุตสาหกรรมทั่วโลก
ข้อบ่งชี้สำคัญที่องค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่าเป็นความลักลั่นทางนโยบายของชาติตะวันตกก็คือทางหนึ่งรัฐบาลเหล่านี้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและความขัดแย้งในดีอาร์คองโก แต่อีกทางหนึ่งก็เพิกเฉยต่อกรณีกลุ่มทุนในประเทศตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับธุรกิจแร่ธาตุที่ส่งออกจากรัฐบาลรวันดา ซึ่งมีเบาะแสชัดเจนว่าอยู่เบื้องหลังกลุ่มกบฏ M23 ซึ่งใช้วิธีการรุนแรงในการแย่งชิงดินแดนและทรัพยากรจากรัฐบาลดีอาร์คองโกจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา