Humberger Menu

ถึงคุณแม่ทั้งสองที่รักที่สุดของฉัน และทุกคน ณ ที่นี้…

วันที่ 24 มกราคม 2025 เป็นวันที่หนูทั้งตื่นเต้นและตื้นตันใจอย่างมาก เพราะมันไม่ใช่แค่การเฉลิมฉลองความรักระหว่างแม่ทั้งสอง แต่ยังเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะของพวกเราครอบครัวสีรุ้งและชุมชน LGBTIQ+ และเฉลิมฉลองความรักของแม่ทั้งสองที่มีต่อกัน

หนูเติบโตขึ้นมาในครอบครัวสีรุ้ง ที่เต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่น และการยอมรับ ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นเพราะแม่ทั้งสองของหนู แม้ในวันที่สังคมต่างไม่ยอมรับการมีอยู่ของพวกเรา หนูจำได้…วันแรกที่หนูได้เลือกเองว่าแม่ทั้งสองคือแม่ของหนู เป็นจุดเริ่มต้นของครอบครัวสีรุ้งของเรา มันไม่ง่ายเลยในสังคมที่ยังไม่ยอมรับครอบครัวสีรุ้งและสิทธิของ LGBTIQ+ แต่แม่ทั้งสองแสดงความกล้าหาญ และยืนหยัดในความรัก เพื่อนิยามครอบครัวที่หลากหลายในสังคม 

ความกล้าหาญและความยึดมั่นได้ถ่ายทอดออกมาจากการกระทำ ที่เป็นทั้งพลัง ความหวัง ที่ต้องการให้ชุมชน LGBTIQ+ มีสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว ดังนั้นความรักของแม่ทั้งสองจึงไม่ได้มีความหมายแค่สำหรับครอบครัวสีรุ้งของเรา แต่ยังเป็นความหวังให้กับหลายครอบครัวสีรุ้งทั่วโลก

แม่-แม่สอนให้ฉันเข้าใจว่า คำว่า ‘ครอบครัว’ ไม่ได้จำกัดว่าเราจะต้องเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกันจึงจะก่อตั้งครอบครัวได้ แต่มันคือพื้นที่ทางร่างกายและจิตวิญญาณที่ได้รับการโอบอุ้ม ดูแล สนับสนุนซึ่งกันและกัน 

วันนี้ลูกอยากขอบคุณแม่ทั้งสอง ที่ได้เลือกและเดินทางไปด้วยกัน สร้างบ้านที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ความอบอุ่น และสร้างความเชื่อมั่นในตัวหนู พี่ๆ ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง และเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้มีความหวังและก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงแม่-แม่เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญสำหรับหนู และสำหรับคนที่อยากลุกขึ้นสร้างการยอมรับและเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นธรรม

ลูกอยากขอให้แม่ทั้งสอง ได้เฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม และวันนี้ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการเดินทาง แต่มันคือจุดเริ่มต้นของการสร้างความทรงจำใหม่ๆ ร่วมกัน ขอให้แม่-แม่มีความสุขในทุกๆ วัน มีพลังที่จะรักและเข้าใจกันเหมือนเดิม และเผื่อแผ่ความสุขนี้ให้กับคนรอบข้างเหมือนที่เคยทำมาตลอด และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเป็นธรรมในมิติอื่นๆ ให้สังคมมีความเป็นธรรมทางเพศและทางสังคม

สุดท้ายนี้ ฉันอยากบอกว่า ฉันภูมิใจในตัวแม่ทั้งสองอย่างมาก และฉันโชคดีที่ได้เติบโตในครอบครัวสีรุ้งที่โอบรับ สนับสนุน และสร้างความหวังในการต่อสู้

รักแม่-แม่ที่สุดจากใจของฉัน…

ถ้อยแถลงของลูกสาว ที่บรรจงเขียนขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อแม่ทั้งสอง

- ครอบครัวธรรมดา -

รถตู้คันใหญ่ค่อยๆ ผ่อนอัตราเร่งเหลือเพียงแรงเฉื่อย ส่งรถให้หยุดจอดลงหน้าป้ายที่พัก ‘เฮินไต รีสอร์ต’ หลังจากแล่นบนถนนที่ว่ากันว่ามีโค้งกว่าพันโค้ง และขับเคลื่อนด้วยความเร็วคงที่มากว่า 5 ชั่วโมง ตั้งแต่ล้อหมุนออกจากสนามบินเชียงใหม่

เฮินไต รีสอร์ต ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทิวทัศน์เกือบทั้งหมดคือทุ่งนา สุดสายตาคือทิวเขารายล้อมอยู่เบื้องหลัง ทางเดินถูกออกแบบให้เป็นสะพานไม้ทอดยาวไปตามคันนา มีทางแยกซ้ายขวาเพื่อตรงไปยังห้องพัก ด้านหลังรีสอร์ตมีลานโล่งที่ขนาดพอเหมาะพอดีแก่การทำกิจกรรมร่วมกัน 

เวลานี้ลานกว้างกลายเป็นที่รวมตัวกันของคนต่างถิ่น ต่างสัญชาติ รูปถ่ายจำนวนมากติดเรียงรายมาตลอดทางเดิน สุดทางเดินสะพานไม้มีบอร์ดสีขาวไว้สำหรับเขียนคำอวยพรให้ ‘เจ้าสาว’ ทั้งสองตั้งตระหง่านอยู่

ที่นี่คือสถานที่จัดงานแต่งของ เจี๊ยบ-มัจฉา พรอินทร์ และ จุ๋ม-วีรวรรณ วรรณะ คู่รักนักเคลื่อนไหวสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง


ผู้คนไม่ได้แน่นขนัดเหมือนงานแต่งทั่วไป แต่บรรยากาศคละคลุ้งไปด้วยมวลของความปิติยินดีแก่เจ้าสาวทั้งสอง หลายคนเป็นเพื่อนนักกิจกรรมที่ร่วมกันผลักดันสิทธิความหลากหลายและความเสมอภาคทางเพศเคียงข้างกับเจ้าสาว 

หลายคนเป็นลูกศิษย์ลูกหาสมัยที่มัจฉาทำงานเป็นครูอาสา สร้างองค์ความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ และมีบางคนที่เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่มาไกลจากต่างแดน ทุกคนล้วนแล้วแต่ตั้งใจเดินทางมาร่วมกันเฉลิมฉลองให้กับความรักของทั้งคู่ รวมไปถึงความรักของหลายๆ คู่ที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน

ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความรักความอบอุ่น เด็กสาวคนหนึ่งยืนอยู่กลางกลุ่มคน พูดคุยทักทายคนที่เดินเข้ามาร่วมแสดงความยินดีกับแม่ทั้งสองของเธอ มองเพียงปราดเดียวก็เห็นว่าเธอแสนจะร่าเริง และน่าจะเติบโตมาอย่างเข้มแข็ง

หงส์-ศิริวรรณ พรอินทร์ หรือที่คนรอบตัวมักจะเรียกเธอว่า ‘ศิริ’ คือลูกสาววัย 22 ปี ของมัจฉาและวีรวรรณ ผู้ได้รับความรักจากแม่และแม่ของเธอมาตลอดระยะเวลาเกือบ 14 ปี 

ภาพบรรยากาศงานแต่งงานตรงหน้าทำให้ศิริค่อยๆ ร้อยเรียงภาพในหัว เธอเล่าว่ามันทำให้นึกถึงบทสทนาบนโต๊ะอาหารในเช้าวันธรรมดาที่บ้าน แต่เช้าวันนั้นศิริเลือกที่จะเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างเล็กน้อย

“แม่จุ๋ม” 

“....” 

“แม่เจี๊ยบ”

“ฮะ…!! นี่เราเป็นแม่กันแล้วหรอ” น้ำเสียงดีอกดีใจของวีรวรรณและมัจฉา ดังก้องขึ้นในหัวของเด็กสาว

เธอจำได้ว่านั่นคือครั้งแรกที่ตัดสินใจเปลี่ยนสถานะของป้าให้กลายเป็น ‘แม่’ หลังจากนั้นความสัมพันธ์ในบ้านก็ยิ่งแนบสนิทกันยิ่งขึ้นกว่าเก่า 

ศิริอยู่ในการเลี้ยงดูของมัจฉาและวีรวรรณตั้งแต่อายุได้ 9 ปี สายเลือดที่ใกล้ชิดที่สุดคือมัจฉาที่เป็นป้าแท้ๆ ของเธอ 

ในวันที่ตัดสินใจเปลี่ยนสรรพนามของป้า เธอคิดเพียงว่าในเมื่อเขาดูแลเราขนาดนี้ เรารักเราราวกับเป็นลูกแท้ๆ และเธอเองก็รู้สึกปลอดภัย อบอุ่น คงสมเหตุสมผลแล้วที่เธอจะเรียกทั้งสองคนว่า ‘แม่’

วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ศิริมีบทบาทเป็นนักศึกษา วันเสาร์และอาทิตย์ เป็นวันที่เธอตามแม่ทั้งสองไปลงพื้นที่ ไปหากลุ่มผู้หญิง กลุ่มเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน 

ครอบครัวนักสิทธิมนุษยชนมีบทสนทนายามเช้า สาย บ่าย ดึก เป็นเรื่องสังคม การเมือง การทำงาน และการดูแลสุขภาพ 

ศิริกล่าวว่า เธอไม่สามารถแยกประเด็นเหล่านี้ออกจากเรื่องส่วนตัวได้ เพราะเธอมีประสบการณ์จากการถูกกดขี่โดยระบบสังคม ดังนั้นการที่ได้ตามแม่ทั้งสองไปทำงานด้วย ทำให้ได้เติมเต็มมุมมองความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน และด้านความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเครื่องเยียวยาเธอไปพร้อมๆ กัน

- เด็กสาวผู้พยายามส่งเสียง -

ตั้งแต่เด็กเธอมักจะถูกตั้งคำถามจากเพื่อนๆ เสมอว่า ใครคือพ่อ และใครคือแม่? ครอบครัวแบบนี้จะส่งผลอย่างไรต่ออนาคตของเธอ? แม้ในโรงเรียนจะมีครูที่ควรจะปกป้องเธอ แต่กลับกลายเป็นว่าครูเป็นอีกคนที่ตั้งคำถามต่อเธอเช่นกัน

“แม่ไปทำให้ครูที่โรงเรียนเห็นว่าหนูคือลูกของแม่ทั้งสองคน แล้วครูก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาละเมิดสิทธิของหนูที่เป็นลูกของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ”

หลายครั้งเด็กสาวน้อยใจกับการถูกตั้งคำถามซ้ำๆ แต่ไม่เคยมีแม้สักครั้งเดียวที่เธอโอนอ่อนไปกับมัน เธอยังคงวางตัวตนได้อย่างมั่นคง

“ทุกครั้งที่หนูเจอคำถามแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่หนูทำเสมอคือการอธิบายกับคนอื่นว่า ครอบครัวไม่ได้จำกัดเพียงแค่ในกรอบชาย-หญิงเท่านั้น แต่บางคนเขาไม่ได้มีเป้าหมายที่อยากจะทำความเข้าใจเรา เขาแค่อยากทำให้เรารู้สึกแย่ รู้สึกผิด หนูก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในส่วนนั้น เพราะมันไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอะไรเลย”

หรือบางครั้ง หากรู้สึกว่าการต้องอธิบายให้หลายคนฟังเริ่มจะสร้างความทดท้อ ศิริจะมีวิธีรับมือกับมัน

ศิริเริ่มวาดภาพครอบครัว ที่ประกอบไปด้วย แม่ แม่ ลูก มือเล็กๆ ในวันนั้นถือภาพวาดนี้ไปให้แม่ของเธอดู มัจฉาจึงเปิดเพจเฟซบุ๊กไว้สำหรับเก็บรวบรวมความทรงจำที่สร้างด้วยมือของลูกสาว โดยที่มัจฉาเป็นผู้ดูแลเพจ ด้วยเหตุผลที่ลูกสาวยังเด็กเกินไปที่จะดูแลด้วยตัวเอง แม่จึงคอยเอาสิ่งที่ศิริอยากพูด อยากสื่อสาร เขียนลงในเพจให้



นอกจากแม่ เธอได้เอาภาพวาดนี้ไปให้เพื่อนที่โรงเรียนดู

“ทำไมมีแม่ 2 คน แล้วพ่อล่ะ”

เธอทำหน้าฉงนก่อนจะตอบว่า…

“ก็ครอบครัวเราเป็นแบบนี้”

ภาพแม่ แม่ ลูก และแมว เป็นภาพที่สะท้อนครอบครัวของเธอได้เป็นอย่างดี ศิริชอบภาพวาดของตัวเองชิ้นนี้มาก เพราะได้ทำให้คนรอบตัวและคนในสังคมได้ซึมซับภาพจำจากครอบครัวของเธอ และหวังว่าจะเป็นเรื่องปกติในสักวัน 



ความพยายามของเด็กหญิงในวันนั้นสัมฤทธิ์ผล อย่างน้อยๆ ก็กับเพื่อนในกลุ่มเดียวกันกับเธอ

“เพื่อนในกลุ่มหนูเขาเข้าใจมากขึ้น แล้วก็ซัพพอร์ตหนู เขามองว่าครอบครัวเราก็เป็นครอบครัวปกติที่อบอุ่นมากๆ”

เมื่ออายุได้ 14 ปี ศิริเห็นข่าวเด็กถูกรังแกในพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนไม่มีมาตรการในการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ศิริจึงได้เขียนถ่ายทอดความรู้สึกในฐานะที่เป็นนักเรียนคนหนึ่ง

“ตอนนั้นหนูโกรธมาก และมันทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย ที่ระบบการศึกษาไทยไม่มีมาตรการหรือนโยบายอะไรที่สามารถคุ้มครองเด็กที่เผชิญกับเหตุการณ์ความรุนแรง หนูก็เลยตัดสินใจเขียนบทความในคืนนั้นที่มีข่าวลง”

นี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ศิริค้นพบอีกช่องทางหนึ่งให้เธอได้ถ่ายทอดความรู้สึกนอกเหนือจากการวาดภาพ

“หลังจากนั้นหนูได้เขียนจดหมายถึงแม่ ในฐานะที่หนูเป็นคนที่เติบโตในครอบครัวสีรุ้งหนูเล่าประสบการณ์ของตัวเอง เล่าว่าหนูรู้สึกอย่างไรกับครอบครัวนี้ หนูถูกตั้งคำถามอย่างไร หนูมีความหวังอย่างไร” 

“มันเหมือนหนูได้ใช้พื้นที่นี้ในการปลดปล่อยตัวเอง ซึ่งตอนนั้นหนูคิดว่าเสียงหนูเป็นเสียงที่คนอาจจะยังไม่เคยได้ยิน หนูก็อยากให้ใครสักคนได้ยินเสียงหนู รับฟังหนู เพราะมันมีตัวตนของหนูอยู่ในเรื่องราวเหล่านั้น” 

ศิริวรรณเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ น้ำใสๆ เอ่อคลอหน่วยตาของเธอ ก่อนจะล้นออกมาอย่างกลั้นไม่อยู่ ก้อนมวลความรู้สึกอันหลากหลายถาโถมอยู่ในจิตใจอย่างไม่ต้องสงสัย แต่นี่คือตัวตนของเธอ เธอเข้มแข็งและเป็นอย่างนี้มาเสมอ…

ด้วยความที่เติบโตมาในวงสนทนาเรื่องสิทธิมนุษยชน และการพัฒนาสังคม หลักการต่างๆ หลอมรวมเข้ามาอยู่ในตัวศิริ

เด็กสาวเดินเข้าไปหาแม่แล้วบอกกับแม่ทั้งสองคนว่า “หนูอยากเป็นนักสิทธิมนุษยชน พอจะมีทางไหนบ้างที่หนูพอจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านนี้” 

เธอได้แรงบันดาลใจมาจากแม่ทั้งสองของเธอ เพราะแม่แสดงให้เห็นทุกครั้งว่าเมื่อใดที่เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น แม่ก็พร้อมที่จะยืนหยัดสู้เพื่อความเป็นธรรม ศิริตระหนักดีว่าสังคมยังต้องการคนแบบนี้อีกมากเพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ความเสมอภาค เป็นธรรม และเท่าเทียม เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เธอจึงตัดสินใจที่จะร่วมผลักดันประเด็นเหล่านี้อีกแรง

มัจฉาและวีรวรรณยอมรับในการตัดสินใจของศิริ พร้อมกับปักหลักยืนเป็นกันชนให้ลูกสาวอย่างมั่นคง

“ไม่ว่าหนูจะเผชิญกับอะไร หนูก็ยังเห็นบ้านที่มั่นคงและปลอดภัยสำหรับหนูอยู่”

ขณะที่หลายคนก็มักจะเข้าใจผิดว่าทั้งหมดทั้งมวลศิริทำเพราะ ‘ถูกแม่บังคับ’

“หนูถูกตั้งคำถามเสมอ ไม่เว้นแม้กับคนในขบวนการกันเอง แต่หนูก็จะตอบเสมอว่านี่คือสิ่งที่หนูเลือก แล้วแม่ก็คอยสนับสนุนในทุกด้าน”

“ยังมีอีกนะ คนมักจะตั้งคำถามกับเราว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เลี้ยงลูกแล้วเด็กจะโตไปเป็นคนที่มีปัญหาหรือเปล่า และเด็กจะกลายเป็นคนหลากหลายทางเพศหรือเปล่า” มัจฉากล่าวเสริมขึ้น

ในยุคหนึ่งสังคมเคยเข้าใจว่าถ้าเด็กเป็น LGBTIQ+ คือสิ่งผิด แต่ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่ LGBTIQ+ เป็นอัตลักษณ์ และมาพร้อมกับ ‘สิทธิ’ ดังนั้นความหลากหลายทางเพศแบบใด ก็ย่อมเป็นตัวตนและอัตลักษณ์ของเขา และการที่คนหลากหลายทางเพศ จะมีบุตรที่หลากหลายทางเพศด้วย ก็เป็นเรื่องปกติ 

ทั้งหมดคือความธรรมดา….

“ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องมาตอบว่าลูกเราจะเป็นหรือไม่เป็นอะไร เพราะไม่ว่าลูกเราจะเป็นอะไรเราก็เคารพเขา รักเขาเท่าเดิม”

ส่วนในเรื่องที่ถูกตั้งคำถามว่าคนหลากหลายทางเพศเลี้ยงลูกแล้วเด็กจะโตไปเป็นคนที่มีปัญหาหรือเปล่า มัจฉากล่าวว่า จะมีคนกดดันอยู่ตลอดเวลาว่าเธอและวีรวรรณจะต้องเลี้ยงลูกให้เพอร์เฟค ซึ่งในทางปฏิบัติเธอก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง แน่นอนว่าเธออยากเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด

“หน้าที่แม่ของเรามันไม่ได้มาจากกรอบเพศ เราเป็นมนุษย์ เราอยากให้มนุษย์มีอิสรภาพ เสรีภาพ ก็ต้องเลี้ยงลูกให้มีเสรีภาพ ให้เขาเลือก และให้เขาเดินอย่างมั่นคง สอนให้เขารับผิดชอบชีวิตและทางเลือกของตัวเอง”

แม่ทั้งสองไม่ได้มานั่งตอบคำถามสังคมว่าเธอทั้งคู่เลี้ยงลูกได้ดีกี่มากน้อย เพื่อตัดตอนการสร้างกรอบที่ว่า ‘คนที่เป็น LGBTIQ+ จะต้องเลี้ยงลูกได้ดีมากๆ เท่านั้น ถึงจะมีสิทธิได้มีหรือเลี้ยงลูก’ เพียงแต่เธอเลี้ยงลูกอย่างไม่ละเมิดสิทธิ และทำให้เป็นปกติเหมือนครอบครัวทั่วไป

“เขาอยากเป็นนักกีฬา เราก็สนับสนุนกีฬา”

“เขาอยากเป็นนักดนตรี เราก็สนับสนุนเครื่องดนตรี”

“เขาอยากเป็นนักเคลื่อนไหว เราก็สนับสนุนแนวคิด”

“เขาประสบความสำเร็จ เราก็ปรบมือให้”

“เจ็บปวดมา เราก็มาดูแลเยียวยา โอบกอดกัน”

“เจี๊ยบกับจุ๋มทำหน้าที่แบบนี้ค่ะ”

- นอกเหนือจาก แม่-แม่ และลูกสาว -

เวลาผ่านไปชั่วครู่ ตอนนี้บนเวทีงานแต่งมีตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองคนหนึ่งกำลังบรรเลงดนตรีจากเครื่องดนตรีพื้นเมือง เธอร้องเพลงที่มีเนื้อหาเป็นคำอวยพรคู่เจ้าสาว

“เดี๋ยวเราให้เจ้าสาวทั้งสองของเรากล่าวอะไรสักหน่อยดีกว่าค่ะ” หลังจากดนตรีบรรเลงจบลง มะเมียะเส่ง สิริวลัย เยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ผู้รับหน้าที่เป็นพิธีกรรันงาน กล่าวเรียกมัจฉาและวีรวรรณขึ้นมาประจำที่ ณ จุดรวมสายตาของแขกในงาน

“เราถูกพรากสิทธิไปนานมากเลย นี่เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ให้พวกเราได้มีสมรสเท่าเทียม มันจึงไม่ใช่แค่การเฉลิมฉลองงานของเรา แต่เราปักหมุดหมายเฉลิมฉลองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว วันนี้เลยอยากจะขอบคุณพี่น้องของเราที่มานั่งอยู่ที่นี่ ณ ที่แห่งนี้ และอีกหนึ่งคนที่สำคัญกับเรามากๆ คือบุตรสาวที่เราภาคภูมิใจ ขอบคุณศิริมากนะลูกที่เข้มแข็งมาตลอด” มัจฉากล่าวขึ้น ก่อนจะเอ่ยเรียกให้ลูกสาวที่เธอภาคภูมิใจขึ้นไปยืนบนเวทีร่วมกัน

“วันนี้หนูรู้สึกภาคภูมิใจทั้งในตัวหนูเอง ในฐานะที่เป็นลูกของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และหนูยืนยันที่จะต่อสู้ว่า ไม่ใช่แค่ครอบครัวชาย-หญิงเท่านั้นที่จะมีลูกได้

“ยังมีครอบครัวจำนวนมากค่ะที่เขาไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่เขาอยู่กับพ่อ-พ่อ หรือ แม่-แม่ แบบหนู เรายืนหยัดว่ามีครอบครัวแบบนี้อยู่จริง และเราต้องการการปกป้องคุ้มครองจากกฎหมาย ต้องการการเคารพจากคนในสังคม” ศิริพูดบนเวที

งานวิจัยจากสหรัฐฯ ระบุว่าปัจจุบันมีเด็กที่เติบโตในครอบครัวหลากหลายทางเพศ มากถึง 29 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรกว่า 11 ล้านคน และในหลายประเทศ การศึกษาแสดงให้เห็นว่าเด็กจากครอบครัวสีรุ้งมีพัฒนาการและความเป็นอยู่ที่ไม่ได้แตกต่างจากเด็กในครอบครัวชาย-หญิงเลย 

ผู้คนในงานเงียบสนิท จดจ่ออยู่กับการบรรยายความรู้สึกที่มันเอ่อล้นของเธอ

“นอกจากจะดีใจกับแม่ทั้งสอง หนูดีใจที่สถานะความเป็นลูกของหนูมีกฎหมายคุ้มครองแล้ว” เธอร้องไห้ออกมาอย่างผ่าเผย  สาเหตุของการรินไหลมีหลายอย่าง ตื้นตัน ภาคภูมิ และโล่งใจ 

วีรวรรณโอบกอดลูกสาวคนเก่งอย่างแผ่วเบา เป็นภาพที่พาหลายคนที่นั่งฟังอยู่ร่วมร้องไห้ไปตามกัน นั่นเป็นเพราะหลายคนเห็นศิริมาตั้งแต่ยังเด็ก รับรู้ว่าเธอเข้มแข็งและสู้เพื่อคำจำกัดความของ ‘ครอบครัว’ มาโดยตลอด

ความรู้สึกทั้งหมดที่เคยเผชิญมา ไม่ว่าจะเป็นการถูกตั้งคำถาม การที่ยืนหยัดที่จะสู้ โมเมนต์ที่แม่เคียงข้างในวันที่คิดว่า ‘เรามาถูกทางใช่ไหม?’ 

ทุกอย่างหลั่งไหลเข้ามาในหัว โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ครอบครัวเคียงข้างกัน สิ่งที่เธอพูดออกมาเป็นสิ่งสะท้อนว่าเธอได้รับการเยียวยาจากกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาเธอและครอบครัวของเธอไม่เคยเสมอกันกับใครๆ ในวันที่ประเทศไทยมีสมรสเท่าเทียมจึงทำให้ได้สัมผัสกับการยอมรับ และได้รับการปกป้องคุ้มครอง แม้ว่าทุกคนสมควรที่จะได้มาตั้งแต่ต้นก็ตาม

“ตอนที่ยังไม่มีกฎหมายหนูไม่สามารถทำพาสปอร์ตได้ เพราะเขาบอกว่าหนูไม่ใช่ลูกของแม่ทั้งสอง แล้วเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน ภาพนั้นมันหายไป หนูสามารถไปทำพาสปอร์ตได้โดยที่กฎหมายเองยอมรับว่าแม่ทั้งสองเป็นแม่ในทางกฎหมายของเราด้วย”

แม้นี่จะไม่ใช่จุดจบของความเสมอภาค แต่ก็พอจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าจากเด็กหญิงตัวเล็กจ้อยที่เริ่มวาดรูปเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกและภาพฝันของตัวเอง จรดปลายปากกาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เธอต้องใช้พลังงานมากมายเพื่อต่อสู้กับมัน บางช่วงเวลาเธอตกอยู่ใต้ความรู้สึกบอบช้ำจนเกิดเป็นความไม่แน่นอนและไม่แน่ใจว่าเธอเดินมาถูกทางแล้วหรือไม่ วันนี้ความจริงประจักษ์แล้วว่าเธอไม่เคยเลือกทางผิด เพียงแต่หลายสิ่งมันค่อยๆ ประกอบสร้างอย่างช้าๆ ประณีต เคียงคู่ไปกับขบวนการเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่ไม่หยุดนิ่ง

“ถ้าหนูย้อนกลับไปหาเด็กคนนั้นได้ หนูจะบอกกับเขาว่าสิ่งที่ทำมามันถูกต้องแล้ว ทำต่อไป ไม่ต้องกลัวใครจะมองเราอย่างไร เพราะเรามีหลังบ้านที่อบอุ่นและปลอดภัย หนูเชื่อว่าไอศิริ เด็กน้อยตัวกระเปี๊ยกคนนั้น จะรู้สึกว่าเราไม่โดดเดี่ยว แล้วหนูเชื่อว่าหนูจะมั่นใจกว่านี้อีก”

หลังจากนี้เป้าหมายสำคัญคือ การได้เห็นสังคมยอมรับครอบครัวหลากหลายทางเพศว่าเป็นเรื่องปกติ และยังมีอีกหลายมิติที่รอคอยการทำความเข้าใจ นอกจากนี้ศิริยังอยากเห็นกลุ่มคนที่ถูกทำให้เป็นคนชายขอบ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง เด็ก ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ชนเผ่าพื้นเมือง และอื่นๆ ได้รับการปกป้องคุ้มครอง ได้รับการเยียวยาจากฎหมายและในทางปฏิบัติจากคนในสังคมด้วยเช่นกัน

“หนูเชื่อมั่นว่าหลักการสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือหลักการของเฟมินิสต์ และหลักการสิทธิมนุษยชน หนูยังยืนยันคำเดิมว่าจะยังทำงานเพื่อสังคมต่อไป”

“แม่ทำให้หนูเห็นว่า คำว่าครอบครัวมันไม่ได้จำกัดว่าเราต้องเป็นลูกของพ่อหรือแม่ตามกำเนิด แต่มันคือพื้นที่หนึ่งที่เราจะได้อยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย”

ครอบครัวแม่-แม่ ของศิริ และครอบครัวหลากหลายทางเพศทุกรูปแบบ ไม่ใช่ความผิดปกติ ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ความพิเศษไปกว่าใครเช่นกัน 

นี่คือความสามัญที่ควรได้รับการยอมรับในฐานะโครงสร้างครอบครัวที่ปกติและมีคุณค่าเช่นเดียวกับ ‘ครอบครัวพ่อ-แม่’ ครอบครัวที่สังคมยกให้เป็นค่านิยมของความสมบูรณ์ ที่ศิริกล่าวว่านี่คือการจำกัดความที่ ‘คับแคบ’ มากๆ 

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
ศศิพร คุ้มเมือง