Humberger Menu

เลือกตั้งเยอรมนี ปลุกผีนาซี?

การเลือกตั้งเยอรมนีที่จะจัดขึ้นในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2025 เป็นการเลือกตั้งก่อนกำหนดเดิมที่เคยวางไว้ช่วงเดือนกันยายน 2025 เพราะนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ สังกัดพรรค SPD (Sozialdemokratische Partei Deutschlands) ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลเยอรมันชุดล่าสุด ประกาศยุบสภาหลังถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อ 16 ธันวาคม 2024 

โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี

นอกจากนี้ การเมืองเยอรมันก่อนเลือกตั้งปลายเดือนกุมภาฯ ยังมีสีสันดึงดูดความสนใจจากคนทั่วโลกเพิ่มขึ้นเมื่อ ‘บุคคลภายนอก’ ซึ่งดำรงตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาลต่างประเทศ ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนพรรคการเมือง ‘บางกลุ่ม’ ในเยอรมนีแบบเฉพาะเจาะจง 

เหตุการณ์ที่ว่าเกี่ยวพันกับ เจดี แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งไปร่วมการประชุมนานาชาติด้านความมั่นคงในเมืองมิวนิกของเยอรมนีกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2025 แต่แวนซ์กลายเป็นข่าวใหญ่เสียเองเมื่อเขาปราศรัยโจมตีผู้นำชาติยุโรปว่า “หวาดกลัวเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” จนเกินไป ทั้งยังเรียกร้องให้ยุโรปเปิดพื้นที่ให้กลุ่มการเมืองขวาจัดได้มีส่วนร่วมทางการเมืองในประเทศเพิ่มเติมอีกด้วย

สื่อหลายสำนักรายงานว่าผู้เข้าร่วมการประชุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวแทนรัฐบาลยุโรปและชาติอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตร ตอบรับคำปราศรัยของแวนซ์อย่างเย็นชาเพราะแทบไม่มีเสียงปรบมือตามมารยาทดังให้ได้ยิน และมีการวิเคราะห์ว่าคำปราศรัยของแวนซ์พาดพิงถึงเรื่องที่รัฐบาลในหลายประเทศยุโรปสั่งตรวจสอบและกำกับดูแลการปราศรัยของกลุ่มการเมืองที่มีแนวคิดขวาจัดโดยระบุว่าเพื่อป้องกันการก่อความรุนแรง คุกคาม หรือเผยแพร่ความเกลียดชังต่อคนกลุ่มน้อยในสังคม 

ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองเยอรมันซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มขวาจัดและประสบความสำเร็จมากที่สุดในการเลือกตั้งระดับรัฐเมื่อเดือนกันยายน 2024 คือพรรค AfD หรือ Alternative für Deutschland ซึ่งเคยถูกหน่วยงานด้านความมั่นคงในเยอรมนีจัดให้อยู่ในกลุ่ม ‘ต้องสงสัย’ ว่าสนับสนุนแนวคิดสุดโต่งและการใช้ความรุนแรง 

แต่แวนซ์กลับเปิดโอกาสให้ อลิซ ไวเดล ผู้นำร่วมของพรรค AfD เข้าพบเป็นการส่วนตัวระหว่างที่เขาร่วมการประชุมที่มิวนิก เหตุการณ์นี้ยังเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชาวแอฟริกาใต้ผู้ร่ำรวยอันดับ 1 ของโลก ทั้งยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลในรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ให้เป็นผู้ดูแลด้านประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) เชื้อเชิญไวเดลมาให้สัมภาษณ์เรื่องเป้าหมายของพรรค AfD ผ่านแพลตฟอร์ม X ที่มัสก์เป็นเจ้าของเมื่อต้นเดือนมกราคม 2025 และมัสก์ยังแสดงจุดยืนเพิ่มเติมด้วยการรีโพสต์ความเห็นของผู้ใช้ X รายหนึ่งที่ระบุว่าพรรค AfD เท่านั้นที่จะกอบกู้เยอรมนีได้

การสนับสนุนพรรคขวาจัดอย่าง AfD โดยผู้มีบทบาททางการเมืองในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ผ่านมามักจะเป็นการแสดงความเป็นเอกภาพภายในกลุ่มพรรคการเมืองยุโรปที่มีแนวคิดขวาจัดเหมือนกัน ส่วนการแสดงความคิดเห็นจากฝั่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอเมริกันที่เคยเป็นผู้นำโลกเสรีนิยมเพิ่งมีให้เห็นชัดเจนในยุคทรัมป์ซึ่งเพิ่งกลับมารับตำแหน่งสมัย 2 อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2025 เช่นกัน ขณะที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นของ โจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครต เอียงไปทางฝั่งเสรีนิยม จึงถูกแปะฉลากเป็นฝ่ายซ้าย

อลิซ ไวเดล ผู้นำร่วมพรรค AfD

การประสานเสียง-ผนึกกำลังของกลุ่มการเมืองขวาจัดในยุโรปและอเมริกาถูกมองอย่างวิตกกังวลผ่านสายตาของผู้สนับสนุนแนวคิดเสรีประชาธิปไตยทั่วโลก เพราะมีตัวอย่างให้เห็นในหลายประเทศที่พรรคการเมืองขวาจัดมีอำนาจทางการเมืองเพิ่มขึ้น มักนำไปสู่การบังคับใช้นโยบายที่ส่งผลกระทบต่อคนบางกลุ่มในสังคมมากขึ้น และบางครั้งก็อาจก่อความปั่นป่วนหรือนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในบางด้าน

อย่างไรก็ดี การเมืองเยอรมนีในศตวรรษที่ 21 มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนกว่าอีกหลายๆ ประเทศ เพราะพรรคการเมืองเยอรมันหลายพรรคต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องร่วมมือกันสกัดไม่ให้พรรคที่มีแนวคิดขวาจัดหรือขวาสุดโต่งมีโอกาสขึ้นเป็นแกนนำจัดตั้งหรือมีอำนาจในรัฐบาล เพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ‘ยุคมืด’ ในสมัยที่นาซีเยอรมนีครองเมือง 

เป็นไปได้หรือไม่ที่เยอรมนีจะมีผู้นำจากพรรคขวาจัด?

ที่จริงแล้วพรรค AfD ไม่ใช่พรรคการเมืองเดียวในเยอรมนีที่มีแนวคิดขวาจัด

เพราะก่อนที่ AfD จะก่อตั้งขึ้นในปี 2013 พรรคขวาจัดที่เก่าแก่ที่สุดของเยอรมนีคือพรรค NPD หรือ Nationaldemokratische Partei Deutschlands ซึ่งถือกำเนิดตั้งแต่ปี 1960 ทั้งยังเชิดชูอุดมการณ์ชาตินิยมสุดโต่งจนถูกสำนักข่าวกรองของเยอรมนี (BfV) จัดกลุ่มเป็นฝ่ายขวาจัดที่ฝักใฝ่อุดมการณ์แบบนาซีใหม่ (Neo Nazi) ทำให้ NPD ไม่ประสบความสำเร็จในการลงสมัครรับเลือกตั้งในประเทศที่คนจำนวนมากยังไม่ลืมความโหดร้ายในยุคนาซีเยอรมนี

ผู้สนับสนุน NPD ชุมนุมชูคำขวัญ White Lives Matter

แม้ภายหลัง NPD จะพยายามปรับภาพลักษณ์ของพรรคให้ห่างจากอุดมการณ์นาซี พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น Die Heimat (The Homeland) แต่หน่วยงานกำกับดูแลการเลือกตั้งของเยอรมนีก็ยังตัดสิทธิในการหาระดมทุนหาเสียงเลือกตั้งของ Die Heimat ไปเมื่อปี 2024 โดยให้เหตุผลว่ากรรมการบริหารพรรคมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มสุดโต่งซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย เช่นเดียวกับพรรค Die Rechte หรือ The Right ที่ก่อตั้งในปี 2012 แต่ไม่เคยมีสมาชิกคนใดได้รับเลือกไปดำรงตำแหน่งในสภาเลย

ด้วยเหตุนี้ AfD จึงเป็นพรรคการเมืองขวาจัดเพียงหนึ่งเดียวในเยอรมนีที่ประสบความสำเร็จในการลงสมัครรับเลือกตั้งมากที่สุดเมื่อเทียบกับพรรคขวาจัดอื่นๆ เพราะสมาชิกพรรค AfD ได้รับเลือกเข้าไปดำรงตำแหน่งในสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พรรค AfD มีที่นั่งในสภารวมทั้งหมด 76 เสียง หรือมากเป็นอันดับ 5 เมื่อเทียบกับพรรคการเมืองเก่าแก่อื่นๆ 

อลิซ ไวเดล ผู้นำร่วม AfD และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค

ผลสำรวจความเห็นชาวเยอรมันซึ่งจัดทำโดยสถาบัน Forschungsgruppe Wahlen วันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2025 บ่งชี้ว่า AfD เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงพรรค CDU (Christlich Demokratische Union Deutschlands) ที่มีจุดยืนแบบขวากลางและเคยเป็นแกนนำรัฐบาลอยู่นานถึง 16 ปีในสมัยที่ อังเกลา แมร์เคล ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี 

ทั้งนี้ โพลดังกล่าวยังได้สอบถามความเห็นชาวเยอรมันเพิ่มเติมอีกว่าถ้าสามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้โดยตรง ใครคือตัวเลือกอันดับหนึ่ง ผลปรากฏว่า ฟรีดริช เมอร์ซ หัวหน้าพรรค CDU มีคะแนนมากสุด คิดเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม และผู้ได้คะแนนรองลงมา คือ โรเบิร์ต ฮาเบก หัวหน้าพรรคกรีนและรองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน (24 เปอร์เซ็นต์) ตามด้วย โอลาฟ ชอลซ์ หัวหน้าพรรค SPD ซึ่งมีแนวคิดแบบซ้ายกลาง นายกฯ คนล่าสุดที่เพิ่งยุบสภาไปเมื่อปลายปี 2024 (18 เปอร์เซ็นต์)

ส่วน อลิซ ไวเดล ผู้นำร่วมและแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค AfD ไม่ถูกกล่าวถึงในรายงานข่าวเรื่องโพลสำรวจความเห็นคนเยอรมันครั้งล่าสุด จึงเห็นได้ชัดว่าไวเดลยังไม่ใช่ตัวเก็งในฐานะนายกฯ ในการเลือกตั้งปลายเดือนกุมภาฯ 2025 ในสายตาของนักวิเคราะห์

แต่ขณะเดียวกันก็มีการประเมินจากบางสื่อที่เชื่อว่าฐานเสียงของพรรค AfD ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องมีความเข้มแข็งจนไม่อาจมองข้ามได้ ประกอบกับสภาพการเมืองในประเทศแถบยุโรปที่พรรคขวาจัดได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ AfD มีแนวโน้มว่าจะได้รับเลือกตั้งเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ถึงขั้นที่ว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะจัดขึ้นตามวาระปกติในเดือนกันยายน 2029 อาจเป็นจังหวะเหมาะสมที่พรรค AfD จะได้รับเลือกเป็นเสียงข้างมากจนมีสิทธิได้จัดตั้งรัฐบาลกับเขาบ้าง

แต่บทวิเคราะห์บางส่วนก็ระบุว่าพรรค AfD ยังไม่อาจหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาว่าพัวพันแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งได้ง่ายๆ เพราะแนวคิดนี้ถูกผูกโยงกับผู้ที่ประกาศจุดยืนการเมืองแบบขวาจัดมาโดยตลอด สื่อบางสำนักจึงรายงานว่าพรรค AfD ยังไม่น่าจะไปถึงจุดที่จะผลักดันให้ไวเดลเป็นนายกฯ ได้ เพราะแวดวงการเมืองเยอรมนียุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดการก่อตัวของกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายจัดซึ่งมุ่งมั่นว่าจะต้องป้องกันไม่ให้ฝ่ายขวาจัดมีโอกาสเป็นแกนนำทางการเมืองหรือการปกครองเป็นอันขาด เพื่อได้ไม่เกิดเหตุร้ายแรงจากการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในยุคนาซีเยอรมนี และแนวคิดเช่นนี้อาจเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่จะดับฝันของ AfD ในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต

นโยบาย Firewall และ Never Again สกัดพรรคขวาจัดไม่ได้ผล

ตอนที่ เจดี แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกร้องในเวทีการประชุมนานาชาติที่มิวนิกให้รัฐบาลยุโรปโอบรับอุดมการณ์ขวาจัดให้เข้ามามีส่วนร่วมในสถาบันการเมืองภายในประเทศตัวเอง มีการตอบโต้กลับจากนายกฯ โอลาฟ ชอลซ์ ทันที โดยเขาระบุว่าเยอรมนีไม่ยอมรับการแทรกแซงจากภายนอก และจะไม่ปล่อยให้กลุ่มอุดมการณ์สุดโต่งได้มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเป็นอันขาด 

อลิซ ไวเดล

สิ่งที่สื่อรายงานพร้อมท่าทีของนายกฯ ชอลซ์ คือนโยบาย Firewall against Far-Right อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพรรคการเมืองกระแสหลักในเยอรมนีที่มีบทบาทนำในรัฐสภามาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1990 เช่น พรรค CDU และพรรค CSU ซึ่งเป็นพันธมิตรหลัก รวมถึงพรรค SDP และพรรคกรีน โดยพรรคเหล่านี้มีเงื่อนไขว่าจะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคที่เชิดชูอุดมการณ์ขวาจัด 

ขณะเดียวกันสังคมเยอรมันก็คุ้นเคยกับแนวคิด Nie wieder Deutschland หรือ Never Again Germany ที่กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายผลักดันยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีเงื่อนไขในการปฏิบัติคล้ายกันกับนโยบาย Firewall คือการสกัดกั้นไม่ให้แนวคิดขวาจัด-ขวาสุดโต่ง กลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงและประชาธิปไตยในเยอรมนีซ้ำรอยยุคอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

นโยบายและแนวคิดต่อต้านอุดมการณ์ขวาจัดจึงถูกแปรรูปออกมาบังคับใช้ในหลายรูปแบบในเยอรมนีนับตั้งแต่ยุค 1990’s ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดบทลงโทษผู้จัดพิมพ์หรือเผยแพร่ Mein Kampf หรือบันทึกอุดมการณ์การเมืองและชีวประวัติของฮิตเลอร์ ไปจนถึงการสั่งห้ามสัญลักษณ์เกี่ยวข้องกับนาซีเยอรมนีปรากฏอยู่ในสื่อต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งเกมหรือหนังสือด้านประวัติศาสตร์ แต่ภายหลังกฎเกณฑ์บางอย่างก็ถูกยกเลิกและปรับแก้ไปบ้าง เพราะคนจำนวนหนึ่งในเยอรมนีและต่างประเทศแสดงความเห็นว่ามาตรการเช่นนี้ออกจะเลยเถิดเกินไป และไม่เป็นผลดีต่อการเรียนรู้หรือถกเถียงในประเด็นวิชาการที่เกี่ยวข้อง

ประกอบกับที่คนเยอรมันถกเถียงกันมากขึ้นยุคหลังปี 2000 ว่าการบีบบังคับหรือห้ามพูดถึงอุดมการณ์ขวาจัดยิ่งทำกลุ่มคนที่สนับสนุนแนวคิดนี้รวมตัวหรือสื่อสารกันไปทางลับ ยิ่งกำกับดูแลได้ยากขึ้น นำไปสู่การผ่อนผันแนวคิด Never Again พร้อมทั้งเปิดให้กลุ่มขวาจัดชุมนุมแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของตัวเองได้ แต่พฤติกรรมไหนที่เข้าข่ายคุกคามกลุ่มคนที่เห็นต่างหรือยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังหรือเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับเชื้อชาติ ศาสนา หรืออุดมการณ์ทางการเมือง ก็ยังเป็นความผิดที่ต้องถูกลงโทษหรือจ่ายค่าปรับอยู่ดี

พรรคการเมืองขวาจัดเก่าแก่อย่าง NPD ถือเป็นตัวอย่างหนึ่ง เพราะต่อให้ก่อตั้งมานานสุดและมีกลุ่มผู้สนับสนุนที่ยึดมั่นในพรรคอย่างเหนียวแน่น แต่ในที่สุดก็โดนตัดสิทธิได้ง่ายๆ หลังแกนนำพรรคถูกสอบสวนในข้อหาพัวพันกลุ่มสุดโต่งที่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรงและมีพฤติกรรมยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังหรือสร้างความปั่นป่วนในสังคม 

ด้วยเหตุนี้ พรรค AfD จึงพยายามตีตัวออกหากจากกลุ่มนีโอนาซีที่ถูกจัดอยู่ในฝั่งขวาสุดโต่งเพื่อขยายฐานเสียงทางการเมืองไปยังกลุ่มคนที่อยู่ในฝั่งขวากลางหรือซ้ายกลางมากขึ้น โดยสิ่งที่เห็นได้ชัดสุดคือการเลือก อลิซ ไวเดล เป็นแคนดิเดตนายกฯ และผู้นำร่วมของพรรค เพราะไวเดลเปิดเผยว่าตัวเองเป็นหญิงรักหญิง ทั้งยังมีคู่ชีวิตเป็นชาวศรีลังกา ซึ่งจะทำให้ข้อกล่าวหาว่าพรรค AfD เป็นฝ่ายขวาจัดที่ต่อต้านสังคมแบบพหุนิยมถูกลดทอนความรุนแรงลงไป 

ทำไมพรรค AfD ถึงหนีไม่พ้นข้อกล่าวหาฝักใฝ่อุดมการณ์นาซี 

ถึงแม้ อลิซ ไวเดล จะถูกยกเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศและสะท้อนการโอบรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมของพรรค AfD ไม่ให้มีภาพลักษณ์แบบกลุ่มขวาจัด-สุดโต่ง แต่ในขณะเดียวกันไวเดลก็ถูกวิจารณ์ว่ามีพฤติกรรมสองมาตรฐานและปฏิเสธข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนาซี

ประเด็นแรกที่ไวเดลถูกพาดพิงจากฝ่ายซ้ายคือการที่เธอมีคู่ชีวิตเป็นชาวศรีลังกา แต่พรรค AfD ภายใต้การนำของไวเดลกลับมุ่งมั่นในนโยบายผลักดันผู้อพยพชาวต่างชาติกลับไปยังประเทศต้นทางให้หมด โดยไม่คำนึงว่าผู้อพยพลี้ภัยที่อยู่ในเยอรมนีมานานนับทศวรรษจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสถานะหรือสมาชิกครอบครัวไปอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ไวเดลยังถูกกล่าวหาว่าบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับฮิตเลอร์ หลังจากที่เธอพูดคุยกับ อีลอน มัสก์ ผ่าน X ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีตอนหนึ่งที่เธอบอกว่าสิ่งที่ผิดพลาดที่สุดในการเมืองเยอรมันคือการกล่าวว่าฮิตเลอร์เป็นพวกขวาจัด เพราะที่จริงแล้วฮิตเลอร์เป็นคอมมิวนิสต์ซึ่งคล้ายกับฝ่ายซ้ายที่ฝักใฝ่สังคมนิยมในการเมืองโลกยุคหลังมากกว่า 

คำกล่าวของไวเดลทำให้นักประวัติศาสตร์ทั้งในเยอรมนีและสหรัฐฯ ออกมาโต้แย้งว่า “ไม่เป็นความจริง” โดยมีการอ้างอิงเนื้อหาในหนังสือ Mein Kampf ของฮิตเลอร์ที่ประณามแนวคิดและระบอบคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน 

หนังสือ Mein Kampf ของฮิตเลอร์ ฉบับแปลไทย

นอกจากนี้ แม้พรรคนาซีที่เป็นรากฐานทางการเมืองให้ฮิตเลอร์จะมีชื่อเต็มๆ อันแปลได้ว่าพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน (The National Socialist German Workers' Party) แต่ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าฮิตเลอร์เชิดชูอุดมการณ์สังคมนิยมที่ถูกผูกโยงกับฝ่ายซ้ายในปัจจุบัน เพราะพรรคนี้เป็นเพียงเครื่องมือที่ฮิตเลอร์ใช้เพื่อก้าวสู่เวทีทางการเมืองเท่านั้น 

เมื่อบวกกับการใช้อำนาจเผด็จการยุคนาซีเยอรมนีครองเมืองก็จะเห็นว่าแนวคิดของฮิตเลอร์หลายอย่างยึดโยงกับแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งที่เป็นดังกระดูกสันหลังของฝ่ายขวามากกว่า จึงมีการสรุปว่าว่าฮิตเลอร์ไม่มีทางเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนที่ไวเดลและมัสก์พยายามเบี่ยงประเด็น

ส่วนข้อหาสองมาตรฐานเกิดจากที่สมาชิกอีกหลายคนของ AfD ต่างแสดงออกทั้งทางตรงและทางอ้อมว่ายกย่องในอุดมการณ์นาซี โดยผู้ที่เป็นตัวอย่างชัดเจนสุด คือ บียอร์น เฮกเก หัวหน้าพรรค AfD ในรัฐทูรินเจีย รัฐที่ AfD ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งแบบถล่มทลายเมื่อปี 2024 โดยเฮกเกได้ใช้สโลแกนของพรรคนาซีในอดีต ‘Everything for Germany’ ในการปราศรัยหาเสียงถึง 2 ครั้ง 2 ครา แม้จะถูกตักเตือนไปรอบหนึ่งก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม สุดท้ายเฮกเกก็ถูกศาลรัฐบาลกลางเยอรมนีตัดสินให้จ่ายค่าปรับฐานละเมิดกฎห้ามเผยแพร่หรืออ้างอิงสิ่งที่เป็นอุดมการณ์ของพรรคนาซีเยอรมนีต่อสาธารณชน 

ขณะที่ผู้สนับสนุนพรรค AfD ที่ชุมนุมกันในหลายพื้นที่ทั่วเยอรมนีในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งระดับรัฐเมื่อปีที่แล้วก็ชูธงที่มีสัญลักษณ์นาซีเยอรมนีอย่างเปิดเผย ทำให้การพร่ำบอกว่าพรรค AfD ไม่เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์นาซีถูกมองเป็นพฤติกรรมปากว่าตาขยิบไปโดยอัตโนมัติ เพราะขณะที่ AfD ย้ำว่าตัวเองไม่ใช่กลุ่มนาซีใหม่ แต่พรรคก็ไม่ได้ห้ามปรามตักเตือนสมาชิกหรือผู้สนับสนุนพรรคที่อ้างอิงอุดมการณ์ขวาสุดโต่งของนาซีแต่อย่างใด

บาดแผลในอดีตทำให้โลกหวั่นใจเมื่อเห็นเยอรมนี ‘เลี้ยวขวา’

เมื่อโลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เยอรมนีถือเป็นหนึ่งในประเทศทรงอิทธิพลอันดับต้นๆ เพราะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกและใหญ่สุดในยุโรป แถมยังมีบทบาทสำคัญด้านการเมืองระหว่างประเทศในฐานะผู้นำโดยพฤตินัยของสหภาพยุโรป (EU)

ขณะเดียวกัน เยอรมนีก็ต้องแบกรับบาปอันใหญ่หลวงจากเหตุการณ์ในอดีตของประเทศตัวเอง 

ก่อนที่เยอรมนีจะกลายเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีปลายทศวรรษ 1990 จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครองหลายครั้ง แต่ช่วงที่ถูกเรียกว่า ‘ยุคมืด’ ในศตวรรษที่ 20 ก็คือห้วงเวลาที่เยอรมนีตกอยู่ภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน (Nationalsozialistische Deutsche Arbeiterpartei: NSDAP) ซึ่งต่อมาถูกเรียกย่อๆ ว่าพรรคนาซี (Nazi)

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

พรรคนาซีมีส่วนร่วมทางการเมืองตั้งแต่ยุคที่เยอรมนีถูกเรียกว่า ‘สาธารณรัฐไวมาร์’ ซึ่งเป็นความพยายามก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยหลังการล่มสลายของจักรวรรดิเยอรมัน แต่ไวมาร์ดำรงอยู่ได้แค่ปี 1918-1933 เท่านั้น เพราะหลังจากพรรคนาซีได้รับชัยชนะมากที่สุดในการเลือกตั้งช่วงปลายปี 1932 หรือคิดเป็น 37 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งในสภา แต่ไม่อาจเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงใช้วิธีเจรจากับแกนนำพรรคฝั่งอนุรักษนิยมเพื่อขอเสียงสนับสนุนให้แต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีแทน 

หลังฮิตเลอร์ได้เป็นนายกฯ สาธารณรัฐไวมาร์ พรรคนาซีและพรรคแนวร่วมผลักดันให้มีการออกรัฐบัญญัติมอบอำนาจแก่ฮิตเลอร์ ตามด้วยการประกาศกฎอัยการศึก ทำให้ฮิตเลอร์สั่งปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองและออกคำสั่งด้านการปกครองต่างๆ ได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการรัฐสภา สาธารณรัฐไวมาร์จึงถูกเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคนาซีเยอรมนีอันมีฮิตเลอร์เป็นผู้นำเผด็จการที่ยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ

อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคนาซีเยอรมนียุคฮิตเลอร์เป็นใหญ่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มขวาจัด เพราะสนับสนุนแนวคิดชาตินิยมแบบสุดโต่ง นำไปสู่การแผ่ขยายอำนาจและรุกรานดินแดนต่างๆ จนกลายเป็นชนวนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งยังต่อต้านชาวยิวและคอมมิวนิสต์ ทำให้มีการจัดระเบียบสังคมใหม่โดยยกย่องให้กลุ่มผู้สืบเชื้อสาย ‘อารยัน’ (Aryan) ซึ่งฮิตเลอร์เชื่อว่าเป็นคนยุโรปทางตอนเหนือ หรือกลุ่มชาวนอร์ดิก คือกลุ่มผู้ที่มีสายเลือดบริสุทธิ์และสูงส่งกว่าชนชาติอื่นๆ 

แนวคิดเชื้อสายอารยันยังทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้คนเชื้อชาติต่างๆ อย่างโหดร้ายในยุคนาซีเยอรมนีเรืองอำนาจช่วงปี 1933–1945 ซึ่งหลักฐานที่บันทึกโดยนาซีเยอรมนีเอง บวกกับปากคำผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันต่างๆ บ่งชี้ว่าชนชาติยิวถูกสังหารมากสุด ประมาณ 6 ล้านคน รองลงมาคือพลเรือนและเชลยศึกจากสหภาพโซเวียต กลุ่มชาติพันธุ์โรมา ผู้พิการ กลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ และกลุ่มคนที่พรรคนาซีเห็นว่า ‘ไร้ประโยชน์’ รวมกว่า 11 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถูกประเมินว่าอาจจะน้อยกว่าความเป็นจริง 

บทบาทของพรรคนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงเมื่อกลุ่มประเทศสัมพันธมิตรทั่วโลกร่วมมือกันตอบโต้กลับจนฝ่ายอักษะผู้ก่อสงครามประกาศยอมแพ้ ซึ่งหมายถึงนาซีเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ส่วนฮิตเลอร์ยิงปืนจบชีวิตตัวเองในหลุมหลบภัยในกรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ 30 เมษายน 1945 หลังจากนั้นเยอรมนีก็เข้าสู่ยุคสงครามเย็นและถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ก่อนถูกผนวกรวมเป็นประเทศเดียวกันยุคทศวรรษ 1990’s กลายเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมาจนถึงปัจจุบัน 

ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเยอรมนีมีการพิจารณาคดีเพื่อลงโทษผู้เกี่ยวข้องกับนาซีเยอรมนีในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ รวมถึงมีการปรับแก้กฎหมายอาญาเยอรมันให้มีข้อห้ามเผยแพร่หรือพูดถึงอุดมการณ์นาซีเยอรมนีในอดีต เพื่อป้องกันไม่ให้สถาบันการเมืองเยอรมันมุ่งหน้าสู่วิถีชาตินิยมสุดโต่งและก่อความเสียหายร้ายแรงต่อผู้คนทั่วโลกเป็นครั้งที่สอง

บาดแผลทางประวัติศาสตร์นี้เป็นหนึ่งในเหตุผลที่คนเยอรมันที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่รู้สึกวิตกกังวลเมื่อได้เห็นพรรคขวาจัดอย่าง AfD ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 18-25 ปี และประชาคมโลกที่ยังจดจำความโหดร้ายของนาซีเยอรมนีได้ ก็พยายามแสดงท่าทีตักเตือนเยอรมนีเช่นกันว่าอย่าได้ถลำลึกเข้าสู่แนวคิดขวาจัด-ขวาสุดโต่งซ้ำรอยเดิม 

ผู้ที่แสดงออกอย่างชัดเจนสุดก็คือ นิโคลัส พอตเตอร์ บรรณาธิการข่าวของ Haaretz สื่ออิสราเอล ซึ่งระบุว่า AfD เปรียบได้กับทายาททางจิตวิญญาณของฮิตเลอร์ การสกัดไม่ให้พรรค AfD มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลคือเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง และเป็นคำเตือนที่สอดคล้องกับแนวทาง Never Again ในเยอรมนี แต่ในทางกลับกันก็มีผู้ที่ออกมาโต้แย้งแนวคิด Never Again โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในเยอรมนีที่มองว่าการโหวตเลือกพรรค AfD ไม่ได้หมายถึงการสนับสนุนแนวคิดขวาจัดเสมอไป 

คนเยอรมันรุ่นใหม่คาดหวังอะไรจากการเลือกตั้งครั้งนี้

สำนักข่าว DW ของเยอรมนีรายงานบทสัมภาษณ์คนรุ่นใหม่ที่บอกว่าตัวเองจะไปโหวตเลือกพรรค AfD ในการเลือกตั้งปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2025 โดยบางส่วนระบุว่าพรรคการเมืองกระแสหลักที่มีอยู่ในเยอรมนีตอนนี้ไม่ใช่ตัวแทนของพวกเขา แต่ AfD มีนโยบายที่เข้าถึงคนจำนวนมากได้ดีกว่า โดยเฉพาะเรื่องที่กระทบต่อคนในสังคมเป็นวงกว้าง เช่น เศรษฐกิจ ผู้อพยพ และการทำตามเงื่อนไขของสหภาพยุโรปจนเยอรมนีเสียประโยชน์ 

นอกจากนี้ เว็บไซต์ Statista และ DW ยังรายงานความเห็นคนเยอรมันรุ่นใหม่ที่ยืนยันว่าตัวเองไม่ได้สนับสนุนแนวคิดขวาจัดหรือขวาสุดโต่ง แต่เพราะรู้สึกไม่มั่นคงหรือปลอดภัยจากสภาพสังคมโดยรวม จึงสนับสนุนพรรค AfD ซึ่งมีนโยบายที่ตอบโจทย์ด้านนี้มากกว่าพรรคกระแสหลักอื่นๆ ที่มีแนวคิดขวากลางหรือซ้ายกลาง

คนเยอรมันที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่อ้างอิงกรณีผู้อพยพลี้ภัยทะลักเข้ามาในประเทศ ทำให้หน่วยงานรัฐบาลต้องแบกรับภาระทางสังคมเพิ่มขึ้น และยังมีอีกหลายคดีที่ผู้อพยพก่อเหตุรุนแรงถึงขั้นเอาชีวิตคนในสังคมเยอรมันซึ่งเป็นพลเมืองดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการก่อเหตุโจมตีในที่สาธารณะโดยอ้างอุดมการณ์ที่ยึดโยงกับศาสนา ไปจนถึงการละเมิดทางเพศหรือทำร้ายร่างกายและจี้ปล้น 

แม้คดีที่ผู้อพยพก่อเหตุจะมีจำนวนไม่มากเท่ากับสถิติคดีความรุนแรงที่เกี่ยวโยงกับผู้มีอุดมการณ์ขวาจัด-ขวาสุดโต่งก่อเหตุในแต่ละปี แต่คดีเหล่านี้ทำให้คนในเยอรมนีเกิดความรู้สึกด้านลบและหวาดระแวงต่อกลุ่มผู้อพยพลี้ภัยโดยรวม

อีกทั้งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พรรค AfD ยังได้พยายามสื่อสารผ่านแพลตฟอร์ม TikTok เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานผู้อพยพยุคก่อนศตวรรษที่ 21 ให้มาสนับสนุนพรรคเพิ่มขึ้น และประชากรกลุ่มนี้คือลูกหลานผู้อพยพจากตุรกีและอดีตประเทศสหภาพโซเวียตที่มาตั้งรกรากในเยอรมนีนานหลายสิบปีจนได้รับสิทธิโหวตเลือกตั้งในปี 2025 รวมกว่า 3 ล้านคน 

ประชากรที่สืบเชื้อสายจากผู้อพยพเหล่านี้มองว่าตัวเองคือพลเรือนเยอรมันเต็มตัว แตกต่างกับผู้อพยพจากซีเรีย อัฟกานิสถาน หรืออิรัก ซึ่งทยอยเข้ามาอยู่ในเยอรมนีหลังจากปี 2015 ที่รัฐบาลประกาศนโยบายเปิดรับผู้ลี้ภัยสงครามจากตะวันออกกลาง ส่วนประเด็นอื่นๆ นอกจากเรื่องผู้อพยพที่คนเยอรมันรุ่นใหม่อยากให้รัฐบาลในอนาคตเข้ามาแก้ไขมากที่สุด คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพพุ่งสูง ภาวะว่างงาน และการทบทวนบทบาทเยอรมนีในสหภาพยุโรป รวมถึงจุดยืนของเยอรมนีต่อสงครามยูเครน-รัสเซีย

ไม่ว่าพรรคขวาจัดอย่าง AfD จะได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลเยอรมันชุดต่อไปหรือไม่ สิ่งที่มั่นใจได้อย่างหนึ่งคือพรรคน่าจะได้รับเสียงสนับสนุนมากพอที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันหรือสกัดนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลในอนาคตแน่นอน และประเด็นนี้คือสิ่งที่พรรคการเมืองเยอรมันและรัฐบาลชาติยุโรปอื่นๆ ต้องเตรียมตัวรับมือ เพราะกระแสการเมืองขวาจัดอาจทำให้นโยบายที่เป็นประเด็นทางสังคมหรือความร่วมมือระหว่างประเทศซึ่งอาจจะคืบหน้าในระดับหนึ่งแล้วต้องเผชิญกับภาวะชะงักงันหรือเปลี่ยนทิศทางได้

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
ตติกานต์ เดชชพงศ