Humberger Menu

เมื่อรัฐสภากลายเป็น ‘สนามรบ’

การประชุมสภาในกรุงเบลเกรดของเซอร์เบียเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2025 มีวาระสำคัญที่การพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณด้านการศึกษา โดยพรรครัฐบาลต้องการผ่านกฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาซึ่งเป็นแกนนำในการประท้วงรัฐบาลที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2024 จนถึงปัจจุบัน

การประท้วงครั้งนี้สะท้อนว่าประชาชนจำนวนมากไม่ไว้วางใจในรัฐบาลเซอร์เบีย และชนวนเหตุที่นำไปสู่การประท้วงเกิดจากเหตุการณ์ที่เพดานสถานีรถไฟทางเหนือของเซอร์เบียถล่มลงมาทับประชาชนเสียชีวิต 15 ราย ซึ่งผู้ชุมนุมจำนวนมากยืนยันว่าโศกนาฏกรรมดังกล่าวเกิดจากการทุจริตฉ้อฉลลดคุณภาพวัสดุก่อสร้างของหน่วยงานรัฐบาล และหลังจากนั้นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมก็ขยายไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ของประชาชน รวมถึงการกดดันให้ ประธานาธิบดี มิลอส วูเชวิช พ้นจากตำแหน่งไป

แม้ประธานาธิบดีวูเชวิชจะประกาศลาออกเมื่อเดือนมกราคม 2025 แต่ผู้ชุมนุมและพรรคฝ่ายค้านย้ำว่าที่ประชุมรัฐสภายังไม่ได้มีมติอย่างเป็นทางการ จึงเรียกร้องให้สภาพิจารณาประเด็นวูเชวิชในการประชุมสภาวันที่ 4 มีนาคม กลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดการปะทะและใช้กำลังทำร้ายร่างกายระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ทั้งยังเป็นความวุ่นวายซึ่งถูกรายงานเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกอีกด้วย

สำนักข่าว AP รายงานว่า ความตึงเครียดในสภาเริ่มขึ้นเมื่อ สส.ฝ่ายค้านพร้อมใจกันชูป้ายประท้วงรัฐบาลและเป่านกหวีดเป็นเชิงสัญลักษณ์ให้ที่ประชุมสภาพิจารณาการลาออกของประธานาธิบดีวูเชวิชก่อนประเด็นอื่นๆ ทำให้เกิดการโต้เถียงระหว่างสมาชิกพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล โดยฝ่ายค้านกล่าวว่ารัฐบาลพยายามสอดไส้วาระกฎหมายอื่นๆ เข้ามาในการประชุม เพื่อเตะถ่วงการพิจารณาลงมติเรื่องสำคัญ ส่อเค้าว่าต้องการตุกติกเข้าข้างการทุจริตของคนในรัฐบาล และในที่สุดสมาชิกพรรคฝ่ายค้านก็นำพลุสีขึ้นมาจุด รวมถึงปาระเบิดควันกลางที่ประชุมรัฐสภา

สื่อเซอร์เบียรายงานว่ามีการขว้างปาขวดน้ำและไข่ดิบเข้าใส่ สส.ฝั่งรัฐบาล นำไปสู่การปะทะและใช้กำลังทำร้ายร่างกายกันทั้งสองฝ่าย มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้ 3 ราย รวมถึง จัสมินา ออบราโดวิช สส.ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งถูกส่งนำตัวโรงพยาบาลเพราะมีอาการบาดเจ็บรุนแรง และ อันนา เบรนาบิช ประธานสภา ประณามพรรคฝ่ายค้านว่ามีพฤติกรรมเหมือน ‘แก๊งก่อการร้าย’  

ปี 2024 เปลี่ยนรัฐสภาเป็นสนามรบ

ความโกลาหลในเวทีการเมืองเซอร์เบียไม่ใช่การใช้ความรุนแรงในรัฐสภาครั้งแรก และอันที่จริงเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ประเด็นแปลกใหม่อะไร เพราะแค่ปี 2024 ปีเดียวก็เกิดเหตุปะทะ ทำร้ายร่างกาย และการใช้ความรุนแรงในรั้วสภาทั่วโลกอย่างน้อย 8 เหตุการณ์ มีตั้งแต่การชกต่อย กระชากเก้าอี้ ปาไมโครโฟน ไปจนถึงขั้นยิงปืนดับชีวิตคน

มัลดีฟส์

ที่ประชุมรัฐสภามัลดีฟส์มีกำหนดพิจารณาลงมติเรื่องการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี 4 ราย ซึ่งถูกเสนอชื่อโดย ประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด มูอิซซู เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2024 แต่ สส.จำนวนหนึ่งของพรรคฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ จึงเสนอให้เลื่อนประชุม ขณะที่ สส.พรรคร่วมรัฐบาลเรียกร้องให้ประชุมต่อ แต่ถูก สส.ฝ่ายค้านขัดขวาง ทั้งยังล้อเลียนด้วยการเป่าแตรของเล่นกลบเสียงทักท้วง จึงเกิดการยื้อยุดกันก่อนจะลงเอยที่การตะลุมบอนชกต่อยและเตะถีบกันระหว่าง สส.ทั้งสองฝั่ง

โบลิเวีย

สส.ฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านถกเถียงกันอย่างดุเดือดระหว่างการอภิปรายเรื่องการกู้เงิน 900 ล้านดอลลาร์เพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้ในโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคภายในประเทศ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2024 แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ ทำให้ สส.สองฝ่ายเริ่มท้าทายด้วยวาจา ก่อนจะยื้อยุดฉุดกระชาก ซึ่งนำไปสู่การชกต่อยตะลุมบอนที่ สส.หลายคนเข้าร่วม ในขณะที่บางคนถูกลูกหลงบาดเจ็บ

จอร์เจีย

รัฐบาลจอร์เจียพยายามผลักดันการพิจารณาเห็นชอบร่างกฎหมายควบคุมการแทรกแซงจากต่างชาติ หรือ Foreign Agent Law ซึ่งเสนอให้มีการตรวจสอบหรือระงับการทำงานขององค์กรภาคเอกชนที่รับเงินสนับสนุนจากต่างชาติ แต่ผู้คัดค้านมองว่ารัฐบาลต้องการจำกัดการเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่วิจารณ์รัฐบาล การประชุมสภาเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2024 สส.ฝั่งรัฐบาลรายหนึ่งได้ลุกขึ้นอภิปรายร่างกฎหมายนี้ในสภา แต่ถูก สส.ฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วยกระชากตัวออกจากที่นั่งและต่อยเข้าอย่างจังที่ใบหน้า และต่อมาในวันที่ 14 พฤษภาคม 2024 เกิดเหตุตะลุมบอนในสภาอีกครั้งระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับเดิม โดย สส.ฝ่ายค้านกล่าวว่า สส.ฝั่งรัฐบาลอยู่เบื้องหลังม็อบที่ก่อเหตุทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมต่อต้านร่างกฎหมายดังกล่าว ทำให้ทั้ง สส.สองฝ่ายลุกขึ้นมาชกต่อยกัน

อิตาลี

รัฐบาลอิตาลีเสนอร่างกฎหมายเพิ่มอำนาจบริหารให้แก่เขตปกครองท้องถิ่น แต่ก่อนจะเริ่มอภิปรายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายดังกล่าวในที่ประชุมสภา วันที่ 13 มิถุนายน 2024 ลีโอนาร์โด ดอนโน รองหัวหน้าพรรค Five Star Movement ซึ่งคัดค้านร่างกฎหมายนี้ ได้นำธงชาติอิตาลีไปชูต่อหน้า โรแบร์โต กัลเดโรลี สส.พรรค Lega Nord พรรคร่วมรัฐบาล เพื่อประท้วงเชิงสัญลักษณ์ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่เป็นภัยต่อเอกภาพของชาติ ทำให้ สส.พรรคร่วมรัฐบาลคนอื่นๆ ราว 20 คนกรูเข้ามาดอนโน และช่วงชุลมุนมีคนต่อยดอนโนหลายครั้ง จนดอนโนต้องถูกส่งตัวไปรักษาอาการบาดเจ็บที่โรงพยาบาล

ตุรกี

สส.พรรค Worker’s Party ฝ่ายค้านของตุรกีลุกขึ้นอภิปรายคัดค้านการระงับเอกสิทธิ์ของสมาชิกพรรครายหนึ่งซึ่งถูกจับกุมด้วยข้อกล่าวหาทางการเมืองเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2024 แต่ถูก สส.พรรครัฐบาลขัดขวาง หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายก็ถกเถียงกันด้วยวาจาอย่างดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ และมีผู้ลงไม้ลงมือกับฝ่ายตรงข้าม นำไปสู่การชกต่อยชุลมุนระหว่าง สส.สองฝั่ง และภาพเหตุการณ์ที่เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ตุรกีแสดงให้เห็นว่าการวิวาทครั้งนี้รุนแรงถึงขั้นเลือดตกยางออก เพราะมีคราบเลือดและเศษซากความเสียหายปรากฏในที่เกิดเหตุ

อัลเบเนีย

ในระหว่างการประชุมสภาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2024 สส.ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับมติเสียงข้างมากซึ่งนำโดย สส.พรรครัฐบาล เห็นชอบให้ดำเนินคดี เออร์วิน ซาเลียนจี สส.จากพรรค Democratic Party (DP) ในข้อหาใส่ร้ายป้ายสีรัฐบาล สืบเนื่องจากการอภิปรายตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และการถกเถียงระหว่างสองฝ่ายรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มมีการขว้างไมโครโฟนและสิ่งของต่างๆ ใส่ผู้อภิปรายและรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมการประชุมสภา ต่อจากนั้นได้มีการเผาเก้าอี้ประท้วง ซึ่งต่อมาศาลอัลเบเนียได้พิพากษาลงโทษ สส.ที่ก่อเหตุวุ่นวายในสภาทั้งหมดด้วยการปรับเงิน

อับคาเซีย

หลังจากรัสเซียนำกำลังทหารบุกเข้าไปยังภูมิภาคอับคาเซีย ทางตะวันตกเฉียงเหนือ และภูมิภาคเซาท์ออสซีเชีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจอร์เจีย จากนั้นได้มีการประกาศรับรองสถานะ ‘รัฐปกครองตนเอง’ ของทั้งสองดินแดน ท่ามกลางเสียงคัดค้านของจอร์เจียและประเทศตะวันตกอื่นๆ ที่มองว่ารัสเซียใช้กำลังเข้าแบ่งแยกดินแดนประเทศอื่น อับคาเซียจึงกลายเป็นรัฐที่ไม่ได้รับการรับรองจากประเทศส่วนใหญ่ในเวทีโลก และการเมืองภายในอับคาเซียไม่ได้มีเสถียรภาพมากนัก โดยเหตุการณ์ที่ชี้ชัดว่าอับคาเซียเผชิญกับความแตกแยกทางการเมืองอย่างหนักคือกรณี สส. วาคตัง โกลันด์เซีย ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2024 โดยผู้ต้องสงสัย คือ สส. อัดกูร์ คาราเซีย แต่สื่ออับคาเซียและรัสเซียไม่ได้เปิดเผยแรงจูงใจของผู้ก่อเหตุ

ไต้หวัน

เกิดการปะทะกันระหว่าง สส.พรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ซึ่งเสนอร่างกฎหมายปฏิรูปฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ สส.บางส่วนของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว จึงบุกเข้ายึดเก้าอี้ของประธานสภาผู้แทนราษฎรช่วงกลางดึกวันที่ 20 ธันวาคม 2024 เพื่อขัดขวางไม่ให้มีการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว สส.พรรคก๊กมินตั๋งจึงเข้าไปกระชากเก้าอี้ออกมา และกลายเป็นชนวนการชกต่อยและกระทืบ สส.หลายราย

งานวิจัยย้ำ ‘การใช้กำลังในสภา’ บั่นทอนหลักการประชาธิปไตย

คณะนักวิจัยของวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics and Political Science: LSE) ระบุในผลงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2022 ว่าการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุและผลของการใช้กำลังและความรุนแรงในรัฐสภาทั่วโลกหลังปี 2000 ยังมีน้อยเกินไป และการวิจัยของทีมได้วิเคราะห์ข้อมูลจาก 375 เหตุการณ์ความรุนแรงในสภาซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี 1980 - 2018 ภายใน 80 ประเทศทั่วโลก พบว่าไต้หวัน ตุรกี และยูเครน เป็นรัฐสมัยใหม่ที่มีเหตุทะเลาะวิวาทหรือใช้กำลังในสภามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

งานวิจัยระบุว่าประเทศที่ใช้ความรุนแรงในสภาส่วนใหญ่ไม่ได้ปกครองในระบอบเผด็จการอำนาจนิยม เพราะประเทศเผด็จการมักจะควบคุมกลุ่มการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จ การใช้กำลังในสภาจึงมักจะเกิดในประเทศที่มีสถานะกลางๆ คือไม่ใช่รัฐเผด็จการ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ 

ประเทศ ‘กลางๆ’ ในความหมายของทีมวิจัยหมายถึงประเทศที่มีผู้นำหรือรัฐบาลที่ยึดครองตำแหน่งยาวนานกว่าวาระปกติเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบที่มักจะมีกฎหมายป้องกันการยื้ออำนาจและมีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด หรือไม่ก็เป็นประเทศที่ขั้วรัฐบาลไม่มีพรรคใดมีเสียงข้างมากแบบทิ้งห่าง ทำให้การลงมติตามกลไกรัฐสภาไม่สามารถตัดสินชี้ขาดได้ง่ายๆ และขณะเดียวกันก็อาจเป็นประเทศที่กำลังเผชิญกับความแตกแยกและแบ่งขั้วอย่างรุนแรงในสังคม 

งานวิจัยยังระบุด้วยว่า ในประเทศเสรีประชาธิปไตยส่วนใหญ่ หน้าที่หลักๆ ของ ‘รัฐสภา’ คือการเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ ผลักดันการออกกฎหมายและตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารแทนประชาชน กระบวนการทางรัฐสภาจึงเป็นหนึ่งในกลไกถ่วงดุลและเจรจาต่อรองทางการเมืองอย่างสันติ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งหรือการใช้ความรุนแรงกับผู้ที่มีอุดมการณ์แตกต่างกัน 

เมื่อพื้นที่ซึ่งควรเปิดกว้างสำหรับการถกเถียงแลกเปลี่ยนและหาข้อสรุปด้วยแนวทางการเจรจาอย่างสันติถูกเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่แห่งการใช้กำลังหรือความรุนแรง จึงอาจเป็นภาพสะท้อนว่าการเมืองในรัฐหรือประเทศนั้นๆ กำลังตกอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ และการใช้ความรุนแรงในสภาบ่อยๆ อาจกระทบต่อความคิดเห็นของประชาชน ถึงขั้นที่อาจทำลายความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยได้

ไทยก็เคยมีเหตุการณ์ ‘ล็อกคอ-กระชากเก้าอี้-ขว้างแฟ้ม’ กลางสภา

กรณีของประเทศไทยหวุดหวิดจะมีการ ‘วางมวย’ เกิดขึ้นในสภาเช่นกัน แม้จะไม่ถึงขั้นเลือดตกยางออกแต่ก็มีการกระทบกระทั่งกันดุเดือดถึงขั้นด่ากันด้วยคำหยาบ รวมถึงการล็อกคอ-กระชากเก้าอี้และปาแฟ้มใส่กัน

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปรัฐบาลขณะนั้น เสนอให้เลื่อนญัตติวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ หรือ ‘พ.ร.บ.ปรองดอง’ รวม 4 ฉบับ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2012 (พ.ศ.2555) ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2553 

สำนักข่าว Thai PBS และมติชน รายงานเรื่องนี้ว่า สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร วินิจฉัยรับพิจารณาญัตติ แต่ถูกคัดค้านจาก สส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ตั้งข้อสังเกตว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถวินิจฉัยรับร่างกฎหมายฉบับนี้ได้โดยลำพัง และสถานการณ์ทวีความตึงเครียดเมื่อมี สส.หลุดคำหยาบคายออกอากาศ

จากนั้น อภิชาติ สุภาแพ่ง สส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ และ สส.ร่วมพรรคอีก 2 คน ได้บุกเข้าประชิดตัวและกระชากแขนสมศักดิ์ให้ลงจากบัลลังก์ประธานสภา ส่วน นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม สส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ขว้างแฟ้มเอกสารใส่สมศักดิ์ ตามด้วย รังสิมา รอดรัศมี สส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ตรงเข้าไปลากเก้าอี้ประธานสภาออกไปเก็บด้านหลัง จนเกือบปะทะกับ สส.หญิงพรรคเพื่อไทยที่เข้าไปปกป้องสมศักดิ์ เหตุวุ่นวายที่เกิดขึ้นนำไปสู่การเปลี่ยนตัวประธานสภาและปิดประชุมในที่สุด

ความรุนแรงอื่นๆ ในสภา: ตบหน้า-ปารองเท้า-ขว้างแก๊สน้ำตา ฯลฯ

การทะเลาะวิวาทและใช้กำลังในสภาที่เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ในปี 2024-2025 มีหลายกรณี และสามารถย้อนกลับไปได้ไกลนับสิบปี โดยสำนักข่าวหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น The Wall Street Journal, The Guardian รวมถึง TRT World ต่างก็เคยรายงานเหตุการณ์อื้อฉาวในสภาเอาไว้อย่างต่อเนื่อง 

ตัวอย่างเช่น สภาเซเนกัล เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2023 สส.หญิงพรรคร่วมรัฐบาล ถูก สส.ชายจากพรรคฝ่ายค้านตบหน้ากลางสภา ระหว่างการอภิปรายเรื่องงบประมาณรัฐบาล และ สส.หญิงยกเก้าอี้ขึ้นโต้กลับ จากนั้น สส.ชายจากทั้งฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านก็พยายามห้ามปราม แต่สุดท้ายทั้งสองฝ่ายกระทบกระทั่งกันหนักขึ้นจนกลายเป็นการชุลมุนต่อยตีเป็นวงใหญ่ ทำให้ประธานสภาสั่งยุติการประชุมและเลื่อนการพิจารณางบประมาณออกไป

แม้กระทั่งญี่ปุ่นซึ่งเป็นสังคมอนุรักษ์นิยมก็เคยมีเหตุวิวาทในสภาเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2015 เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาขัดแย้งกันเองเรื่องที่ นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ พยายามผลักดันร่างกฎหมายเพื่อขยายอำนาจและเพิ่มบทบาททางการทหารของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น โดยผู้คัดค้านร่างกฎหมายนี้บางรายกระโดดขี่คอ สส.ฝ่ายรัฐบาล และต่อยศีรษะฝ่ายตรงข้ามจนคนรอบข้างต้องเข้ามาช่วยแยกออกจากกัน

นอกจากนี้ยังมีกรณี สส.เนปาล ที่ถกเถียงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญในปี 2015 และฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง รธน.ฉบับนี้ก็ใช้วิธีคล้ายของไทย คือ ลากเก้าอี้ประธานสภาหนี ตามด้วยปารองเท้าและไมโครโฟนใส่ สส.ฝ่ายตรงข้ามที่พยายามเข้ามาขัดขวาง

ขณะที่การประท้วงของ สส.ฝ่ายค้านในสภาโคโซโว เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2015 ซึ่งไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงที่รัฐบาลไปลงนามร่วมกับเซอร์เบียและมอนเตเนโกร เพราะฝ่ายค้านเห็นว่าโคโซโวตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ นำไปสู่การขว้างแก๊สน้ำตา ปาก้อนหิน พ่นสเปรย์พริกไทย และสาดสีชมพูในสภา ซึ่งถือว่าไม่น้อยหน้าการเป่านกหวีด จุดพลุสี และใช้ระเบิดควันในสภาเซอร์เบียครั้งล่าสุดเช่นกัน

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
ตติกานต์ เดชชพงศ