Humberger Menu

การจับกุมคู่ข่งแอร์โดอัน ชนวนเหตุชุมนุมใหญ่ที่ตุรกี

เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ตุรกีได้รับเสียงชื่นชมจากคนจำนวนมากทั่วโลก หลังจากประชาชนในหลายเมืองทั่วตุรกี รวมถึงกรุงอังการาและนครอิสตันบูล ออกมารวมตัวบนท้องถนนเพื่อต่อต้านทหารบางกลุ่มซึ่งพยายามก่อรัฐประหารช่วงค่ำวันที่ 15 กรกฎาคม 2016 เพื่อยึดอำนาจในระหว่างที่ประธานาธิบดี เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน เดินทางไปพักผ่อนที่เมืองตากอากาศมาร์มาริส

ประธานาธิบดี เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน

ผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารส่วนใหญ่ใช้แนวทางสันติวิธีอย่างการชูธงชาติและธงของพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (Adalet ve Kalkınma Partisi: AKP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ไปจนถึงการอ่านหนังสือหรือยืนขวางรถถัง แต่ผู้ต่อต้านบางส่วนใช้วิธีขว้างก้อนหินและสิ่งของเพื่อสกัดรถถังของทหาร นำไปสู่การใช้กำลังอาวุธตอบโต้ และมีผู้เสียชีวิตถึง 251 ราย โดยที่ Anadolu Agency สื่อของรัฐบาลตุรกี รายงานว่าผู้ชุมนุมที่เสียชีวิต 90 รายคือ มรณสักขี (Martyrs) ผู้พลีชีพเพื่อศรัทธาแห่งศาสนา

ประชาชนส่วนหนึ่งที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารในครั้งนั้นคือผู้สนับสนุนประธานาธิบดีแอร์โดอัน ซึ่งถูกยกย่องว่าเป็นผู้นำติดดินที่เข้าใจความทุกข์ยากของประชาชนคนธรรมดา ต่างจากอดีตรัฐบาลที่ครองอำนาจบริหารประเทศยุค 1950-1980 รวมถึงเครือข่ายนายทหาร ปัญญาชน และเหล่านักธุรกิจตุรกีที่สนับสนุนแนวคิดรัฐโลกวิสัย หรือรัฐฆราวาส (secular state) ซึ่งยึดหลักการแยกศาสนาออกจากการเมือง แต่ชาวตุรกีจำนวนไม่น้อยกลับมองว่าแนวคิดนี้ฝักใฝ่ตะวันตก ไม่เหมาะกับประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม

แต่หลังจากแอร์โดอันอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองรวมกันมานานกว่า 22 ปี เขาถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจเกินกว่าเหตุและกลายเป็นผู้นำอำนาจนิยมที่ไม่รับฟังความเห็นต่าง และทันทีที่หน่วยงานรัฐบาลภายใต้การนำของแอร์โดอันจับกุม เอเครม อิมาโมกลู นายกเทศมนตรีนครอิสตันบูลคนปัจจุบัน ซึ่งถูกวางตัวเป็นคู่ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในศึกเลือกตั้งที่มีกำหนดจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2028 ประชาชนจำนวนมากก็ออกมารวมตัวบนท้องถนนเพื่อต่อต้านการเคลื่อนไหวที่พวกเขามองว่าเป็นการใช้อำนาจกำจัดคู่แข่งของแอร์โดอัน

การประท้วงเกิดขึ้นตั้งแต่ค่ำวันที่ 19 มีนาคม 2025 ซึ่งเป็นวันที่นายกเทศมนตรีอิมาโมกลูถูกตำรวจจับกุมพร้อมผู้ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดในขบวนการทุจริตรับสินบน บิดเบือนข้อมูล ไปจนถึงสนับสนุนแนวคิดก่อการร้าย รวมทั้งสิ้น 106 คน โดยผู้ชุมนุมจำนวนมากออกเดินขบวนตามท้องถนนในนครอิสตันบูลและกรุงอังการา รวมถึงเมืองอื่นๆ ทั่วตุรกี และการชุมนุมยืดเยื้อต่อเนื่องนานกว่าสัปดาห์แม้จะมีผู้ถูกจับกุมเกือบ 1,900 คนแล้วก็ตาม โดยสถิติดังกล่าวเป็นการรายงานของสำนักข่าว Reuters เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2025 

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าผู้สื่อข่าวของ BBC สื่ออังกฤษ ถูกควบคุมตัวและผลักดันออกนอกประเทศ ขณะที่ช่างภาพข่าวของ AFP สื่อฝรั่งเศส ถูกตำรวจตุรกีควบคุมตัว และมีสื่อตุรกีอีกเป็นจำนวนมากถูกจับกุม-ดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวพันการก่อความไม่สงบและยุยงปลุกปั่น ซึ่งสื่อมวลชนตุรกียืนยันว่าพวกเขาเพียงปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวแต่กลับถูกเจ้าหน้าที่จับกุมอย่างไม่เป็นธรรม

แม้รัฐบาลจะออกคำสั่งห้ามชุมนุมตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคมถึง 1 เมษายน 2025 แต่ดูเหมือนผู้ชุมนุมจะไม่สนใจ ยังคงรวมตัวกันตามท้องถนนและสวนสาธารณะในแต่ละเมืองเหมือนเดิมเพื่อแสดงพลังต่อต้านประธานาธิบดีแอร์โดอัน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนตั้งคำถามว่าการประท้วงใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษของตุรกีจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้หรือไม่ และท่าทีของประเทศตะวันตกต่อรัฐบาลแอร์โดอันจะเป็นอย่างไร ในฐานะที่ตุรกีคือตัวแปรสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์โลก ทั้งประเด็นสงครามยูเครนและความร่วมมือในการรักษาความสงบในตะวันออกกลาง

ออซกูร์ โอเซล 

ด้าน ออซกูร์ โอเซล หัวหน้าพรรคสาธารณรัฐประชาชน (Cumhuriyet Halk Partisi: CHP) ได้เรียกร้องให้ประชาชนออกมาชุมนุมช่วงสุดสัปดาห์ต่อไป หลังจากวันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2025 เกิดการรวมตัวครั้งใหญ่ทั่วอิสตันบูล พร้อมท้ังเรียกร้องให้ผู้ไม่เห็นด้วยกับการจับกุมอิมาโมกลูคว่ำบาตรเครือข่ายธุรกิจที่เกี่ยวพันกับประธานาธิบดีแอร์โดอัน ซึ่งมีตั้งแต่ธุรกิจร้านค้าปลีก ก่อสร้าง และร้านอาหาร

จาก ‘ผู้นำของประชาชน’ สู่ ‘จอมบงการ’ ลุแก่อำนาจ

ก่อนที่ เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน จะถูกประชาชนลุกฮือประท้วงในเดือนมีนาคม 2025 เขาคือ ‘ผู้เป็นที่รักของประชาชน’ และเป็นผู้นำที่ใครๆ ก็ชื่นชมอยู่นานหลายปี

แอร์โดอันเกิดและเติบโตที่นครอิสตันบูล อดีตเมืองหลวงจักรวรรดิออตโตมัน และเป็นสัญลักษณ์การปกครองในระบอบสุลต่าน จึงแตกต่างจากสถานะของกรุงอังการา เมืองหลวงตุรกีในปัจจุบัน อันเป็นที่ตั้งของคณะปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในอดีต ทำให้ปูมหลังของแอร์โดอันเกี่ยวพันกับศาสนาอิสลาม เห็นได้จากการอ้างอิงคำสอนหรือเนื้อหาที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานระหว่างการปราศรัยอยู่หลายครั้ง

ช่วงวัยหนุ่ม แอร์โดอันเคยเป็นนักฟุตบอลทีมคาซิมบาซา ก่อนจะเบนเข็มสู่เส้นทางการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกพรรคสวัสดิการ (Refah Partisi: RP) และได้รับเลือกมาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครอิสตันบูลช่วงปี 1994-1998 ระหว่างนั้นเขาถูกกล่าวถึงในฐานะนักการเมืองติดดินที่เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะชนชั้นรากหญ้าและชาวมุสลิมที่ยึดมั่นในหลักศาสนา ทั้งยังเป็นผู้นำการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ประชาชนในอิสตันบูลด้วยการปรับปรุงระบบประปาและสาธารณูปโภคที่ดีขึ้นกว่าเดิม 

แต่อุดมการณ์ทางการเมืองของแอร์โดอันแตกต่างจากนโยบายรัฐโลกวิสัยอันเป็นรากฐานสำคัญในการก่อตั้งรัฐตุรกีสมัยใหม่หลังจักรวรรดิออตโตมันล่มสลายช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะแอร์โดอันชูแนวคิดว่าการนับถือศาสนาอิสลามเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของชาวตุรกี และเป็นหนึ่งเดียวกันกับแนวคิดชาตินิยม ไม่ได้ไปในทางเดียวกับแนวคิดของคณะปฏิวัติในอดีตที่สนับสนุนเรื่องรัฐโลกวิสัย ทั้งยังออกกฎห้ามการแสดงสัญลักษณ์ศาสนาในที่สาธารณะและห้ามการสวมฮิญาบคลุมผมของผู้หญิงมุสลิมในโรงเรียนและสถานที่ราชการ

การดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีมีส่วนทำให้แอร์โดอันได้รับความนิยมอย่างมาก จนกระทั่งเขาถูกจับกุม ถูกริบตำแหน่ง และถูกคุมขังอยู่หลายเดือนในปี 1998 หลังจากเขาอ้างอิงบทหนึ่งจากพระคัมภีร์อัลกุรอานในที่สาธารณะ และถูกรัฐบาลในขณะนั้นตีความว่าเป็นการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังในสังคม แต่การถูกจับกุมกลับทำให้ภาพลักษณ์แอร์โดอันในฐานะผู้นำที่เป็นตัวแทนชาวตุรกีสายเคร่งศาสนาและชาวมุสลิมที่ถูกกดทับมานานจากการบังคับใช้นโยบายรัฐโลกวิสัยตลอดช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ยิ่งปรากฏเด่นชัดมากขึ้น 

เมื่อแอร์โดอันได้รับการปล่อยตัว เส้นทางสายการเมืองของเขายิ่งรุ่งเรืองขึ้นและได้รับความนิยมถึงขั้นที่ประชาชนเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกัน 3 สมัย ระหว่างปี 2003-2014 ก่อนที่เขาจะกลายเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงคนแรกของตุรกีในเดือนสิงหาคม 2014 และได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งนี้ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 

แต่ช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมา แอร์โดอันได้ใช้อำนาจหลายด้านในการกวาดล้างผู้เห็นต่าง เพราะมีการจับกุมคุมขังคนจำนวนมากทั่วประเทศที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือสื่อที่ตั้งคำถามต่อท่าทีลุแก่อำนาจของแอร์โดอัน รวมถึงการสั่งปลดเจ้าหน้าที่รัฐกว่าแสนคนที่ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุน ‘เฟตุลเลาะห์ กูเล็น’ ผู้สอนศาสนาอิสลามที่เคยเป็นพันธมิตรคนสำคัญของแอร์โดอัน แต่ภายหลังกูเล็นถูกรัฐบาลแอร์โดอันแปะป้ายเป็น ‘ผู้นำเครือข่ายก่อการร้าย’ ซึ่งอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหารที่ไม่สำเร็จในปี 2016

ข้อกล่าวหาต่อผู้เห็นต่างจากรัฐบาลนั้นมีบทลงโทษร้ายแรง แต่ขั้นตอนสอบสวนดำเนินคดีผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้ภายใต้รัฐบาลแอร์โดอันยุคหลัง 2016 กลับรวบรัดตัดตอน ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้ในกระบวนการชั้นศาล หรือแม้แต่นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับพรรค AKP ที่ชนะการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2024 ก็เผชิญชะตากรรมการถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาแตกต่างกันไป ตั้งแต่หมิ่นประมาท ยุยงปลุกปั่น ไปจนถึงทุจริต และลงเอยด้วยการที่พรรครัฐบาล AKP ของแอร์โดอันผลักดันให้คนของพรรคเข้าไปแทนที่ในตำแหน่งเหล่านั้นในภายหลัง 

เมื่อ เอเครม อิมาโมกลู นายกเทศมนตรีอิสตันบูล ซึ่งชนะการเลือกตั้งมาแล้ว 2 ครั้ง เจอกับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลแบบเดียวกับผู้ที่เห็นต่างจากแอร์โดอัน จึงเปรียบเหมือนกับฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้คนตุรกีจำนวนมากออกมาประท้วงเพื่อยับยั้งสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการใช้อำนาจอย่างเผด็จการของผู้นำรัฐบาล

ปูมหลังอิมาโมกลู ว่าที่คู่แข่งในศึกประธานาธิบดีของแอร์โดอัน

เอเครม อิมาโมกลู เป็นสมาชิกพรรคสาธารณรัฐประชาชน (CHP) พรรคการเมืองเก่าแก่ เพราะผู้ร่วมก่อตั้งคือ มุสตาฟา เคมาล อะตาเติร์ก ผู้นำการปฏิวัติตุรกีในอดีต เจ้าของฉายา ‘บิดาแห่งสาธารณรัฐตุรกี’ ซึ่งสนับสนุนแนวคิดรัฐโลกวิสัย แยกศาสนาออกจากการเมือง จุดยืนของอิมาโมกลูจึงต่างจากแอร์โดอันและพรรค AKP ที่ผนวกรวมความเป็นมุสลิมเข้ากับอัตลักษณ์ของความเป็นชาติและชนชาติตุรกี

ผู้สนับสนุนอิมาโมกลูกับธงสัญลักษณ์รูปอะตาเตอร์ก บิดาแห่งตุรกี

สำนักข่าว Aljazeera รายงานว่าอิมาโมกลูจบการศึกษาปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจและปริญญาโทสาขาการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยอิสตันบูล ก่อนจะได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเขตเบลิกดูซูในนครอิสตันบูล ช่วงปี 2014 และได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีนครอิสตันบูลในปี 2019 แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นถูกสภาการเลือกตั้ง (Election Council) ประกาศให้เป็นโมฆะ โดยระบุว่าตรวจพบการทุจริตและสั่งจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งอิมาโมกลูก็ยังเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะเช่นเดิม

เอเครม อิมาโมกลู

อย่างไรก็ดี อิมาโมกลูถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นสภาการเลือกตั้งและถูกศาลตัดสินจำคุก รวมถึงห้ามเล่นการเมืองในปี 2022 แต่เขายื่นเรื่องอุทธรณ์จึงได้รับการปล่อยตัว และกลับเข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรี แต่ในวันที่ 19 มีนาคม 2025 เขากลับถูกกล่าวหาในคดีทุจริตและสนับสนุนแนวร่วมก่อการร้าย ซึ่งหมายถึงพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (Partiya Karkerên Kurdistanê: PKK) ที่ถูกรัฐบาลแอร์โดอันขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้ายเพราะมีแนวคิดแบ่งแยกดินแดนและใช้ความรุนแรงก่อเหตุไม่สงบหลายครั้ง ทำให้อิมาโมกลูถูกจับกุมและคุมขังทันที

ประชาชนในนครอิสตันบูลที่มองว่าข้อกล่าวหาต่ออิมาโมกลูเกิดจากแรงกดดันทางการเมืองเพื่อสกัดไม่ให้เขามีโอกาสลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2028 ในฐานะตัวแทนพรรค CHP ซึ่งเตรียมตัวประกาศชื่ออิมาโมกลูเป็นแคนดิเดตของพรรคอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 มีนาคม 2025 แต่เขากลับถูกกล่าวหาจากรัฐบาลแอร์โดอันเสียก่อน นำไปสู่การรวมตัวประท้วงครั้งใหญ่สุดในรอบทศวรรษของตุรกี และผู้ชุมนุมจำนวนมากยืนยันว่าจะไม่ยอมยุติการชุมนุมแม้จะถูกเจ้าหน้าที่ปราบปรามและใช้กำลังเข้าจับกุม

บทวิเคราะห์ใน Eurasia News และ European Council on Foreign Relations คาดว่าแอร์โดอันมีส่วนรู้เห็นในการสั่งจับกุมอิมาโมกลูซึ่งได้รับความนิยมในอิสตันบูลมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากการที่เขาโจมตีว่าอิมาโมกลูเป็นพวกฉ้อฉลตั้งแต่ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำกำลังเข้าจับกุม ทั้งยังมีความเคลื่อนไหวจากมหาวิทยาลัยอิสตันบูลที่เพิกถอนปริญญาบัตรของอิมาโมกลูในวันที่ 18 มีนาคม 2025 หรือ 1 วันก่อนอิมาโมกลูถูกจับ และปริญญาบัตรเป็นหลักฐานสำคัญที่ต้องใช้ในการสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี

นอกจากนี้ อิสตันบูลยังเป็นฐานเสียงดั้งเดิมของแอร์โดอันและพรรค AKP การที่อิมาโมกลูได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีซ้ำรอยแอร์โดอันทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่าอิมาโมกลูอาจเป็นผู้นำคนใหม่ที่ชาวอิสตันบูลยอมรับ ขณะที่แอร์โดอันกำลังจะหมดวาระในปี 2028 และไม่มีสิทธิลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้อีก เพราะถึงข้อจำกัดที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ประเด็นนี้จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แอร์โดอันต้องดิ้นรนสกัดคู่แข่งก่อนจะมีการวางตัวผู้สืบทอดอำนาจของตัวเองอย่างเป็นทางการ และมีนักวิคราะห์บางส่วนระบุว่าแอร์โดอันอาจผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายเวลาดำรงตำแหน่งของตัวเองต่อไปอีกด้วย

‘รัฐพันลึก’ หรือรัฐซ้อนรัฐ วาทกรรมที่แอร์โดดันใช้กำจัดคู่แข่งการเมือง

เส้นทางการเมืองของแอร์โดอัน จากผู้นำที่เป็นปากเสียงของประชาชน ได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางสายเผด็จการช่วงหลังความพยายามก่อรัฐประหารในปี 2016 และเกี่ยวพันกับวาทกรรม Deep State ที่นักวิชาการไทยบางส่วนเรียกว่า ‘รัฐพันลึก’ หรือรัฐซ้อนรัฐ 

ช่วงก่อนที่แอร์โดอันจะครองอำนาจบริหารประเทศยาวนานถึง 22 ปี วาทกรรมรัฐซ้อนรัฐถูกใช้กับเครือข่ายอำนาจในกองทัพ ชนชั้นนำ และนักธุรกิจตุรกี ที่สนับสนุนแนวคิดรัฐโลกวิสัยของอดีตบิดาแห่งการปฏิวัติอย่าง มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก ซึ่งแม้ว่าจะเริ่มต้นจากการแยกศาสนาออกจากการเมืองเพื่อเป็นสัญลักษณ์การเริ่มต้นใหม่ของประเทศตุรกีที่แตกต่างจากจักรวรรดิออตโตมันที่ปกครองด้วยระบบสุลต่านและหลักศาสนาอิสลามในอดีต แต่ในท้ายที่สุด แนวคิดโลกวิสัยก็กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูกผู้มีอำนาจใช้กดขี่และกวาดล้างผู้เห็นต่าง โดยเฉพาะผู้นำศาสนาอิสลามและชุมชนชาวมุสลิมทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากข้อห้ามเกี่ยวกับหลักปฏิบัติทางศาสนาในที่สาธารณะ 

นอกจากนี้ กองทัพตุรกีและเครือข่ายชนชั้นนำยังมีส่วนทำให้เกิดการรัฐประหารในตุรกีอีกหลายครั้ง ทั้งในปี 1960, 1971, 1980 และ 1997 โดยใช้ข้ออ้างว่าเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติให้พ้นจากภัยคุกคามและล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งยึดมั่นในหลักการโลกวิสัย แต่การทำเช่นนี้ยิ่งส่งผลให้กลุ่มการเมืองที่สนับสนุนแนวคิดศาสนาอิสลามคือส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ตุรกีได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และอิทธิพลของเครือข่ายชนชั้นนำที่ยึดโยงกับแนวคิดรัฐโลกวิสัยถูกมองเป็นรัฐพันลึกหรือรัฐซ้อนรัฐที่คอยแทรกแซงการทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ผู้ประท้วงเปรียบเทียบแอร์โดอันเป็นแฝดของ เบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล

เมื่อแอร์โดอันแยกตัวจากพรรค RP มาก่อตั้งพรรค AKP ในปี 2001 เขาก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากประชาชนฝ่ายเคร่งศาสนาที่รู้สึกว่าพวกเขากลายเป็นเสียงข้างน้อยของสังคมและถูกกดทับจากรัฐบาลที่อ้างอุดมการณ์รัฐโลกวิสัย ทั้งที่ในความเป็นจริงประชากรมุสลิมมีจำนวนเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด 

เมื่อมีความพยายามก่อรัฐประหารในปี 2016 ประชาชนที่สนับสนุนแอร์โดอันและพรรค AKP รวมถึงประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร จึงออกมารวมตัวกันบนท้องถนนและแสดงพลังต่อต้านการตัดตอนยึดอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง

ในปี 2017 แอร์โดอันผลักดันให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับข้อเสนอให้ปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองตุรกี โดยเสนอให้ยกเลิกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและระบบรัฐสภา แต่มอบอำนาจให้ประธานาธิบดีและคณะบริหารที่ขึ้นตรงต่อประธานาธิบดีบริหารประเทศแทน 

แต่การลงประชามติครั้งนั้นถูกวิจารณ์ว่าถูกรัฐแทรกแซงอย่างหนัก เพราะเจ้าหน้าที่รัฐคอยเพ่งเล็งและจับกุมฝ่ายที่เคลื่อนไหวรณรงค์คัดค้านการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อของรัฐ ทั้งยังได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลอย่างราบรื่น 

ผลการลงประชามติในครั้งนั้นบ่งชี้ว่า ผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงคิดเป็น 51.41 เปอร์เซ็นต์ของผู้มาออกเสียงทั้งหมด ขณะที่ผู้โหวตคัดค้านการเปลี่ยนแปลงคิดเป็น 48.59 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งห่างกันไม่มาก ทำให้มีนักวิเคราะห์ระบุว่าการลงประชามติปี 2017 ดำเนินไปท่ามกลางบรรยากาศที่รัฐใช้อำนาจกดดันและจับกุมฝ่ายตรงข้าม ถ้าหากไม่มีการแทรกแซงเหล่านี้ ผู้โหวตไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองตุรกีอาจมีมากกว่าที่เห็น ผลการลงประชามติจึงไม่อาจสะท้อนความเป็นจริงในสังคมได้อย่างเป็นธรรม

ที่สำคัญคือหลังความพยายามรัฐประหารในปี 2016 แอร์โดอันได้ใช้อำนาจประธานาธิบดีแต่งตั้งนายทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายยุติธรรมซึ่งจงรักภักดีต่อพรรครัฐบาล AKP ที่เขาร่วมก่อตั้ง ทั้งยังคงดำรงตำแหน่งประธานพรรคมาจนถึงปัจจุบัน เข้ารับตำแหน่งแทนผู้ที่ถูกปลดไป ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าเขาใช้อำนาจเกินกว่าเหตุและอาจทำให้ตุรกีกลายเป็นรัฐเผด็จการอำนาจนิยมในไม่ช้า 

นักวิเคราะห์ฝั่งตะวันตกระบุว่า จุดเปลี่ยนของรัฐพันลึกในตุรกีจากผู้เล่นหลักที่เป็นเครือข่ายของผู้สนับสนุนแนวคิดรัฐโลกวิสัยมาเป็นเครือข่ายชาตินิยม-อิสลามนิยมของแอร์โดอัน เริ่มจากการแตกหักระหว่าง เฟตุลเลาะห์ กูเล็น กับประธานาธิบดีแอร์โดอัน เพราะก่อนจะเกิดรัฐประหารปี 2016 เฟตุลเลาะห์ กูเล็น เป็นที่รู้จักในฐานะผู้สอนศาสนาอิสลามนิกายซุนนีคนหนึ่งซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ประชาชนตุรกีช่วงทศวรรษที่ 1980-1990 

ในสายตาของคนตุรกีจำนวนไม่น้อย กูเล็นคือผู้บริจาคเงินรายใหญ่เพื่อสร้างโรงเรียนหลายแห่ง ทำให้ประชาชนตุรกีมีโอกาสเข้ารับการศึกษาได้อย่างทั่วถึง จนกระทั่งปี 1998 เขาได้ย้ายไปตั้งรกรากที่รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา แต่ก็ไม่เคยยุติบทบาทการเป็นผู้ส่งเสริมการศึกษาทั้งในตุรกีและประเทศอื่นๆ ที่มีประชากรมุสลิมทั่วโลก 

บทวิเคราะห์ของ European Council on Foreign Relations และ Middle East Eye ขยายความว่ากูเล็นเคยมีความสัมพันธ์อันดีกับแอร์โดอันและพรรค AKP ในช่วงที่แอร์โดอันเป็นนายกรัฐมนตรี และกูเล็นเป็นผู้นำเครือข่ายเงาที่ช่วยให้แอร์โดอันกวาดล้างฐานอำนาจของผู้สนับสนุนแนวคิดรัฐโลกวิสัยที่เป็นปฏิปักษ์กับแอร์โดอัน แต่อิทธิพลของกูเล็นในฐานะนักสอนศาสนาและผู้บริจาคเงินเพื่อการกุศลรายใหญ่กลายเป็น ‘หอกข้างแคร่’ ของแอร์โดอันในเวลาต่อมา และในปี 2007-2013 มีการจับกุมแนวร่วมของกูเล็นด้วยข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ส่อเค้าว่าแอร์โดอันและรัฐบาลพรรค AKP เพ่งเล็งไปที่ผู้สนับสนุนกูเล็นในตุรกีเพิ่มขึ้น

เมื่อเกิดความพยายามรัฐประหารในปี 2016 และแอร์โดอันได้รับการปกป้องจากประชาชน ทำให้เขากวาดล้างเครือข่ายกูเล็น โดยกล่าวหาว่านี่คือผู้อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์รัฐพันลึกที่พยายามจะยึดอำนาจรัฐบาลของตัวเอง นำไปสู่การจับกุม คุมขัง และสั่งปลดคนนับแสนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมของกูเล็น ขณะที่การผลักดันให้ลงประชามติปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองก็ทำให้กองทัพถูกลดบทบาทและถูกจำกัดอำนาจในการเคลื่อนไหว แต่แอร์โดอันซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่แล้วได้รับการเสริมอำนาจให้สามารถแทรกแซงกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ แอร์โดอันยังสั่งปลดผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลซึ่งมีแนวคิดฝักใฝ่รัฐโลกวิสัยออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งผู้สนับสนุนแนวคิดชาตินิยม-อิสลามนิยมของพรรค AKP เข้ารับตำแหน่งแทน ทั้งยังสั่งปิดสำนักข่าวและดำเนินคดีผู้สื่อข่าวที่ตั้งคำถามต่อแอร์โดอันและการใช้อำนาจรัฐกวาดล้างคู่แข่งทางการเมืองของเขา ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าแอร์โดอันใช้วิธีนี้เพื่อให้รัฐบาลสามารถควบคุมกระบวนการยุติธรรมและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้น

กล่าวโดยสรุปคือ แม้กองทัพและเครือข่ายปัญญาชนที่เคยสนับสนุนการรัฐประหารในตุรกีเมื่อครั้งอดีตจะเป็นรัฐพันลึกที่คอยบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลพลเรือนในบางช่วงจริงๆ แต่การรวบอำนาจและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของแอร์โดอันยุคหลังปี 2016 โดยอ้างว่าตัวเองคือผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งอันชอบธรรม แต่กลับตั้งข้อกล่าวหารัฐพันลึกกับอดีตพันธมิตรอย่างกูเล็น ก็ทำให้แอร์โดอันเปลี่ยนผ่านจากผู้นำของประชาชนไปเป็นผู้นำอำนาจนิยมที่ไล่ล่าผู้เห็นต่างและทำลายกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลอย่างเต็มตัว 

ผู้ประท้วงจะขับไล่แอร์โดอันพ้นตำแหน่งประธานาธิบดีได้หรือไม่?

แม้จะเกิดการประท้วงใหญ่ แต่สภาพทางการเมืองในตุรกีอาจไม่เปลี่ยนปลงเลยก็เป็นได้

การประท้วงใหญ่ของประชาชนตุรกีในหลายเมืองที่เกิดขึ้นปลายเดือนมีนาคม 2025 ทำให้สำนักข่าว The Guardian เสนอบทวิเคราะห์ว่านี่คือการแสดงพลังต่อต้านอำนาจเผด็จการของรัฐบาลแอร์โดอัน แต่การประท้วงนี้อาจจะยังไม่สามารถโค่นล้มแอร์โดอันได้

ขณะเดียวกัน บทวิเคราะห์จาก Foreign Policy เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2025 ก็ระบุเช่นกันว่ามีความเป็นไปได้ที่แอร์โดอันและรัฐบาลพรรค AKP จะประกาศยุบสภาก่อนกำหนด และจัดเลือกตั้งก่อนวาระเดิมที่จะมาถึงในปี 2028 เพื่อลดแรงกดดันทางการเมือง เพราะขณะนี้เครือข่ายผู้สนับสนุนแอร์โดอันดำรงตำแหน่งที่ยึดกุมอำนาจสำคัญในการบริหารประเทศไว้ได้เกือบทั้งหมดแล้ว แม้แอร์โดอันจะพ้นจากวาระและหมดสิทธิลงสมัครเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2028 แต่เขาอาจยุบสภาก่อนกำหนดและลงเลือกตั้งในช่วงที่ตัวเองยังไม่หมดวาระได้ ซึ่งจะส่งผลให้เขาสามารถขยายเวลาดำรงตำแหน่งต่อไปได้อย่างน้อย 5 ปี

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์บางส่วนประเมินว่าการชุมนุมของผู้ประท้วงจะแผ่วลงในไม่ช้า เพราะการปราบปรามอย่างรุนแรงอาจทำให้ผู้ประท้วงหันไปเคลื่อนไหวโดยไม่เลือกวิธีการมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการใช้ความรุนแรง และจะส่งผลให้กลุ่มผู้ประท้วงที่ยึดแนวทางสันติวิธีไม่อาจร่วมมือกับกลุ่มที่สนับสนุนความรุนแรงได้อีก เพราะผู้ที่ออกมาประท้วงแอร์โดอันไม่ได้มีเพียงกลุ่มผู้สนับสนุนอิมาโมกลูและพรรค CHP เท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มภาคประชาสังคมและประชาชนอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจกวาดล้างฝ่ายเห็นต่างของรัฐบาล 

ต่อให้ผู้ประท้วงสามารถขับไล่แอร์โดอันออกจากตำแหน่งได้จริง คนกลุ่มนี้ก็อาจจะไม่ได้เลือกผู้สมัครจากพรรค CHP ในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นหลังแอร์โดอันยุบสภา และถ้าการเลือกตั้งที่จัดขึ้นก่อนกำหนดไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับคะแนนเสียงข้างมาก สุดท้ายแล้วการรวมตัวจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรค AKP ก็อาจจะหวนกลับมาใหม่อยู่ดี

ขณะที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งชื่นชอบแนวทางเผด็จการอำนาจนิยม มีแนวโน้มจะสานสัมพันธ์อันดีกับตุรกีโดยไม่คำนึงถึงประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของแอร์โดอัน เพราะสำนักข่าว Anadolu รายงานว่าทรัมป์ได้โทรศัพท์สายตรงคุยกับแอร์โดอันช่วงไล่เลี่ยกับที่มีการประท้วงใหญ่เกิดขึ้น แต่ทั้งคู่คุยกันเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ และไม่ได้พูดถึงการแทรกแซงหรือกดดันให้รัฐบาลแอร์โดอันยุติการปราบปรามผู้ชุมนุมแต่อย่างใด

อีกทั้งประเทศสหภาพยุโรป (EU) ก็น่าจะสงวนท่าทีต่อรัฐบาลแอร์โดอันเช่นกัน และคงไม่สามารถเป็นปัจจัยภายนอกที่จะมาห้ามปรามรัฐบาลแอร์โดอันไม่ให้ใช้อำนาจในทางมิชอบ เพราะตุรกีภายใต้รัฐบาลแอร์โดอันได้ตีตัวออกห่างจากนโยบายต่างประเทศที่ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU มานานแล้ว แต่ปัจจุบัน EU ต้องพึ่งพาตุรกีให้เป็นแนวร่วมสำคัญในฐานะสมาชิกผู้สนับสนุนองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เพื่อสกัดการแผ่ขยายอำนาจของรัสเซียผ่านการทำสงครามยูเครน เพราะ EU ได้สูญเสียความสนับสนุนที่เคยได้รับจากรัฐบาลสหรัฐฯ หลังจากทรัมป์ประกาศว่าจะลดระดับความช่วยเหลือและไม่เห็นด้วยกับการช่วยยูเครนสู้กับรัสเซียทำสงครามยูเครน

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
ตติกานต์ เดชชพงศ