ต้นปี 2025 ศูนย์กลางบริหารงานพระศาสนจักรคาทอลิกสากล (Roman Curia) รายงานว่าสถิติผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกทั่วโลกมีจำนวนมากกว่า 1,400 ล้านคนแล้ว ทำให้คริสตจักรคาทอลิกเป็นนิกายที่มีศาสนิกชนมากที่สุดในโลก
เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาหรือ ‘โป๊ป’ ฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิกลำดับที่ 266 สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2025 จึงเป็นเรื่องกระทบจิตใจชาวคริสต์ทั่วโลกอย่างไม่มีทางเลี่ยง สื่อส่วนใหญ่ก็พากันรายงานเกี่ยวกับการไว้อาลัยของคริสต์ศาสนิกชนทั่วโลก รวมถึงท่าทีของผู้นำประเทศอื่นที่มีต่อประมุขคริสตจักรผู้ล่วงลับ ตลอดจนการรายงานถึงความสมถะและการอุทิศตนเพื่อศาสนาของโป๊ปฟรานซิส
โป๊ปฟรานซิส
อย่างไรก็ดี บทบาทของคริสตจักรโรมันคาทอลิกที่มีความเป็นมายาวนานกว่า 2000 ปีไม่ได้เกี่ยวพันแค่ศาสนาและศรัทธาเท่านั้น แต่รวมถึงบทบาทในฐานะ ‘นครรัฐวาติกัน’ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงโรมของอิตาลี และเพิ่งจะได้รับการสถาปนาเป็นรัฐสมัยใหม่ที่มีอธิปไตยเป็นของตัวเองเมื่อปี 1929 กลายเป็นรัฐทรงอิทธิพลทางความคิดความเชื่อและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจไม่แพ้ประเทศอื่นๆ ในแถบยุโรป
ก่อนพิธีพระศพของโป๊ปฟรานซิสจะจัดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 เมษายน 2025 สื่อจำนวนมากจึงไม่ลืมกล่าวถึงเรื่องอื้อฉาวในคริสตจักรโรมันคาทอลิกซึ่งถูกตีแผ่มาตั้งแต่ทศวรรษ 2010 ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคดีล่วงละเมิดทางเพศ การทุจริต ฟอกเงิน รวมถึงการปกปิดความผิดของผู้ก่อเหตุที่กระทำกันอย่างเป็นระบบภายในเขตปกครองหรือ ‘สังฆมณฑล’ ของคริสตจักรคาทอลิกซึ่งกระจายตัวอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก
โป๊ปฟรานซิสจูบเท้าผู้ลี้ภัยที่โรม ปี 2016
แม้โป๊ปฟรานซิสจะเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้เกิดการสังคายนาและไต่สวนความผิดที่เกี่ยวพันกับคณะนักบวชและบาทหลวงโรมันคาทอลิกโดยการกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิดในข้อหาทางอาญาต่างๆ ลงในธรรมนูญของนครรัฐวาติกัน แต่กระบวนการเหล่านี้อาจเผชิญความไม่แน่นอนในอนาคต เพราะผู้ที่ได้รับเลือกมาดำรงตำแหน่งโป๊ปพระองค์ใหม่อาจไม่เห็นด้วยกับแนวทางของโป๊ปฟรานซิส
ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมายาวนาน ผู้ได้รับเลือกเป็นโป๊ปแต่ละพระองค์จะต้องรับตำแหน่ง ‘บิชอปแห่งโรม’ ไปพร้อมกัน ซึ่งก็คือการเป็นผู้นำ ‘สำนักสันตะ’ (The Holy See) หรือคณะผู้บริหารนครรัฐวาติกัน ทำให้บางครั้งถูกสื่อในไทยเรียกว่า ‘สำนักวาติกัน’ โดยมีหน้าที่หลักๆ คือการกำกับดูแลและบริหารจัดการกิจการเกี่ยวกับสังฆมณฑลคาทอลิกทั่วโลก และผู้มีอำนาจสูงสุดของ The Holy See ก็คือโป๊ปแต่ละพระองค์นั่นเอง
ในการประชุมคณะบาทหลวงที่มีบทบาทภายใน The Holy See ซึ่งจัดขึ้นในนครรัฐวาติกันเมื่อ 1 ตุลาคม 2024 โป๊ปฟรานซิสย้ำว่าคริสตจักรจะต้องยอมรับในความผิดบาปของตัวเอง พร้อมบอกให้คณะพระคาร์ดินัลที่เข้าร่วมประชุมเป็นแกนนำกล่าวขออภัยเพื่อแก้บาป
สิ่งที่โป๊ปฟรานซิสระบุว่าเป็น ‘บาปของพวกเรา’ (our sins) รวมทั้งหมด 7 ข้อ ได้แก่ การล่วงละเมิด การขาดความกล้าหาญและความมุ่งมั่นในสันติภาพ การขาดความเคารพต่อมนุษยชาติโดยถ้วนหน้ากัน การปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมต่อผู้หญิงและไม่ตระหนักรู้ถึงความสามารถและการอุทิศตนของผู้หญิง การใช้คำสอนในคริสตจักรเป็นอาวุธทำร้ายผู้อื่น การเพิกเฉยต่อปัญหาความยากจน และความล้มเหลวในการส่งเสริมศักดิ์ศรีหรือบทบาทของคริสตศาสนิกชน
จะเห็นได้ว่า ‘การล่วงละเมิด’ เป็นเรื่องที่โป๊ปฟรานซิสกล่าวถึงเป็นอันดับแรก เพราะก่อนโป๊ปฟรานซิสจะได้รับเลือกมารับตำแหน่งประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิกในปี 2013 เรื่องอื้อฉาวที่นักบวชและบาทหลวงของคริสตจักรโรมันคาทอลิกก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เยาวชน รวมถึงผู้หญิง ได้ถูกตีแผ่เป็นเรื่องราวใหญ่โตไปทั่วโลกนานแล้ว
โป๊ปฟรานซิสสวดรำลึกถึงเหยื่อที่ถูกคริสตจักรล่วงละเมิดระหว่างเสด็จเยือนไอร์แลนด์ ปี 2018
ตั้งแต่ปี 2002 สำนักข่าว Boston Globe ในสหรัฐอเมริกาได้ตีแผ่การล่วงละเมิดทางเพศเด็กและเยาวชนราว 89 คน โดย จอห์น โจแกน (John Geoghan) นักบวชคนหนึ่งของคริสตจักร ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะผู้บริหารสังฆมณฑลในสหรัฐฯ และต่อมาเรื่องนี้ก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Spotlight ที่มีประเด็นหลักเกี่ยวกับการทำงานเชิงสืบสวนสอบสวนของสื่อมวลชน
การเปิดโปงของสื่ออเมริกันไม่ได้พูดถึงการก่อเหตุของนักบวชจอแกนคนเดียว แต่ยังเปิดโปงเงื่อนงำภายในคริสตจักรโรมันคาทอลิกที่พยายามปกปิดความผิดของผู้ก่อเหตุ แต่กลับเพิกเฉยต่อการร้องเรียนของผู้เสียหาย จนนำไปสู่การตั้งคำถามและสอบสวนเพิ่มเติมว่ามีการปกปิดเหตุล่วงละเมิดแบบเดียวกันนี้ในสังฆมณฑลอื่นๆ ของคริสตจักรด้วยหรือไม่
หลังจากนั้นก็มีรายงานการล่วงละเมิดทางเพศที่ก่อเหตุโดยผู้ดำรงตำแหน่งหรือมีบทบาทในคริสตจักรโรมันคาทอลิกทั่วโลกก็ทยอยเผยแพร่ออกมา ผ่านสื่อมวลชนและองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายในคดีทางเพศ ทั้งในไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยียม ชิลี โดยผู้ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุละเมิดทางเพศมีตั้งแต่นักบวชไปจนถึงบาทหลวงระดับสูง คริสตจักรโรมันคาทอลิกจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ‘หมกเม็ด’ ปล่อยปละละเลยในการกำกับดูแลกันเองจนกลายเป็นเนื้อร้ายภายใน
เมื่อเข้ารับตำแหน่งประมุขคริสตจักรฯ ได้ไม่นาน โป๊ปฟรานซิสก็ประกาศว่าจะแก้ไขความผิดพลาดในอดีตของคริสตจักร และระบุว่าการขออภัย-ชดเชยเยียวยาผู้เสียหายคือภารกิจหลักของตัวเอง
อย่างไรก็ดี เครือข่ายผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียหายบางส่วนระบุว่า กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนของคริสตจักรยังล่าช้า การตอบกลับไปยังผู้ร้องเรียนก็ไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด แถมยังมีกรณีที่ผู้ก่อเหตุถูกตัดสินความผิดแล้ว แต่กลับไม่มีการดำเนินการเรื่องชดเชยเยียวยาอย่างที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ แม้จะมีแนวคิดปฏิรูป แต่โป๊ปฟรานซิสก็เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์หลังให้สัมภาษณ์ปกป้อง ‘คนสนิท’ อย่าง บิชอป ฆวน บารอส (Juan Baros) แห่งชิลี และ พระคาร์ดินัล จอร์จ เพลล์ (George Pell) อดีตที่ปรึกษาส่วนตัว และในเวลาต่อมาบุคคลดังกล่าวก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดทางเพศและถูกปลดจากตำแหน่ง
คาร์ดินัล จอร์จ เพลล์
แม้โป๊ปฟรานซิสจะกล่าวขออภัยเรื่องนี้ในภายหลัง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นหนึ่งในรอยตำหนิจางๆ ระหว่างการดำรงตำแหน่งของพระองค์เช่นกัน และในปัจจุบันก็มีอีกหลายคดีความที่ยังไม่สิ้นสุดขณะที่โป๊ปฟรานซิสได้จากไปแล้ว
ตลอดระยะเวลา 12 ปีก่อนถึงวันสิ้นพระชนม์ โป๊ปฟรานซิสได้ปฏิบัติภารกิจมากมายทั้งในด้านการเผยแผ่ศาสนาและสังคายนาคำสอนให้สอดคล้องกับยุคสมัยและหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นท่าทีที่เป็นมิตรขึ้นต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน การแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมและความยากจน การเปิดรับผู้อพยพลี้ภัย รวมถึงการปฏิรูปแนวทางดำเนินคดีและบทลงโทษสมาชิกคริสตจักรผู้กระทำผิดในคดีต่างๆ ให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบติดตามผลได้
แต่ประเด็นหนึ่งซึ่งโป๊ปฟรานซิสบอกว่า ‘เลวร้ายยิ่งกว่าบาป’ (worse than sins) คือการทุจริตฉ้อโกงซึ่งเกี่ยวพันกับคดีทุจริตฟอกเงินของธนาคารวาติกัน หรือ ‘สถาบันเพื่อกิจการศาสนา’ (Institute for Works of Religion: IOR)
เว็บไซต์ Investopia รายงานว่าในปี 2019 โป๊ปฟรานซิสได้มอบหมายให้ พระคาร์ดินัล ไรน์ฮาร์ด มาร์กซ์ (Reinhard Marx) ดูแลเรื่องการตรวจสอบธนาคารวาติกันซึ่งประสบภาวะขาดดุลต่อเนื่องหลายสิบปีหลังการก่อตั้งธนาคารในปี 1984 เป็นเงินกว่า 18.4 ล้านดอลลาร์ ทั้งที่วาติกันมีรายได้มหาศาลจากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ การบริจาคเงินจากคริสต์ศาสนิกชนและสังฆมณฑลทั่วโลก รวมถึงการลงทุนในกองทุนและกิจการต่างๆ ในอิตาลีและต่างประเทศ
ผลการสอบสวนที่เผยแพร่ในปี 2020 บ่งชี้ว่า ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารวาติกันหลายรายพัวพันการทุจริตยักยอกเงินเข้ากระเป๋าตัวเองผ่านการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ย่านเชลซีของกรุงลอนดอนในสหราชอาณาจักร ทั้งยังมีการโยกย้ายเงินไปลงทุนในบริษัทนอมินีต่างประเทศ ซึ่งอาจเข้าข่ายการฟอกเงินให้แก๊งมาเฟีย
แต่สิ่งที่กลายเป็นคดีความระหว่างประเทศคือ กรณีที่องค์กรการกุศลในเปรู Sodalitium Christiane Vitae (SCV) ซึ่งคณะบาทหลวงของคริสตจักรเป็นผู้บริหาร ถูกกล่าวหาว่าฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากเงื่อนไขยกเว้นภาษีแก่กิจการของคริสตจักรโรมันคาทอลิก ตามสนธิสัญญาลาเตรัน (Lateran Agreement) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 1929 เพื่อรับรองเอกราชและอธิปไตยของนครรัฐวาติกัน
คณะบาทหลวงและผู้บริหารของ SCV ถูกกล่าวหาว่า ใช้วิธีการมิชอบกดดันและข่มขู่ให้เกษตรกรในเปรูขายที่ดินเพื่อให้คริสตจักรนำไปจัดสรรเป็นสุสานรวมกว่า 30 แห่ง แต่ในขณะเดียวกันกลับนำเงินส่วนต่างจากการซื้อขายที่ดินไปลงทุนในบริษัทนอมินีในสหรัฐฯ ซึ่งก่อนโป๊ปฟรานซิสจะสิ้นพระชนม์เพียง 1 วัน พระองค์ได้เปิดโอกาสให้ เจ.ดี. แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าพบ และมีการพูดคุยเรื่องการไต่สวนดำเนินคดีแก่ผู้เกี่ยวข้องในคดีการเงินระหว่างวาติกัน เปรู และสหรัฐฯ
คดีธุรกรรมการเงินของวาติกันอาจไม่ได้ถูกพูดถึงมากเท่าคดีล่วงละเมิดทางเพศ แต่ถ้าดูจากการดำเนินงานอย่างเป็นระบบขององค์กรภายใต้ร่มคริสตจักร จะเห็นได้ว่า การทุจริตฉ้อโกงและฟอกเงินเหล่านี้เกิดจากความร่วมมือที่โยงใยเป็นเครือข่ายข้ามชาติและร้ายแรงซึ่งยากจะตรวจสอบ ทั้งยังมีเงื่อนไขที่แตกต่างทางกฎหมายด้านการเงิน ทำให้มีโอกาสสูงมากที่ผู้ก่อเหตุจะลอยนวลพ้นผิด และเงินที่ถูกฉ้อโกงก็อาจจะทวงคืนมาไม่ได้ด้วย
หลังจากโป๊ปแต่ละพระองค์สิ้นพระชนม์หรือสละตำแหน่ง จะต้องมีกระบวนการคัดเลือกโป๊ปพระองค์ใหม่โดยผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อและออกเสียงลงมติเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นบาทหลวงในระดับพระคาร์ดินัลเท่านั้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะเริ่มต้นได้ต้องรอให้พิธีพระศพของโป๊ปฟรานซิสเสร็จสิ้นลงเสียก่อน จึงอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือนานกว่านั้น
สื่อหลายสำนักพูดถึงตัวเก็งหลายคนที่อาจได้รับเลือกเป็นโป๊ปพระองค์ใหม่แทนโป๊ปฟรานซิส เพราะการคัดสรรโป๊ปครั้งนี้อาจสร้างหมุดหมายใหม่ๆ ทางประวัติศาสตร์ต่อจากการที่โป๊ปฟรานซิสเป็นโป๊ปจากลาตินอเมริกาพระองค์แรกในรอบหลายร้อยปี
The Guardian และ BBC ประเมินว่าผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็น ‘โป๊ปผิวดำพระองค์แรก’ คือ พระคาร์ดินัล ปีเตอร์ เทิร์กสัน วัย 76 ปี จากกานา ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการรณรงค์ให้คนตระหนักถึงปัญหาสภาพแวดล้อม นอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่เผยแผ่ศาสนา และเป็นผู้มีแนวคิดหลายอย่างคล้ายโป๊ปฟรานซิส
ขณะเดียวกันก็ยังมีตัวเก็งว่าที่โป๊ปผิวดำอีกพระองค์ คือ พระคาร์ดินัล โรเบิร์ต ซาราห์ วัย 79 ปี จากกินี หากเขาได้รับเลือกเป็นโป๊ปพระองค์ใหม่ อาจทำให้แนวทางปฏิรูปที่โป๊ปฟรานซิสเคยวางไว้ถูกรื้อถอนหรือปรับเปลี่ยน เพราะพระคาร์ดินัลซาราห์ขึ้นชื่อเรื่องการยึดมั่นในหลักอนุรักษนิยม ต่อต้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน โดยประณามว่าการรักเพศเดียวกันคือภัยคุกคามของสังคม ทั้งยังวิจารณ์ผู้ยึดหลักศาสนาอิสลามแบบสุดโต่งอีกหลายครั้ง ต่างกับโป๊ปฟรานซิสที่ยึดหลักประนีประนอมและไม่ยั่วยุ
นอกจากนี้ยังมี พระคาร์ดินัล ลุยส์ อันโตนิโอ ตาเกล วัย 67 ปี จากฟิลิปปินส์ ถูกจับตามองว่าอาจจะได้รับเลือกเป็น ‘โป๊ปจากเอเชีย’ พระองค์แรก เพราะเขาเคยได้รับคำชมจากโป๊ปฟรานซิสว่าเป็นผู้มีแนวคิดสายกลางที่เหมาะสมกับการทำงานเชิงรุกเพื่อสันติภาพ
ส่วนผู้ที่ใกล้ชิดกับโป๊ปฟรานซิสที่คาดว่าจะมีโอกาสได้รับเลือกสูงสุด คือ พระคาร์ดินัล ปีเอโตร ปาโรลิน วัย 70 ปี จากอิตาลี เพราะนักวิเคราะห์ประเมินว่าถ้าเขาได้รับเลือกเป็นโป๊ปพระองค์ใหม่จะทำให้การดำเนินนโยบายปฏิรูป การสังคายนาคำสอน รวมถึงกระบวนการไต่สวนคดีต่างๆ ของคริสตจักรที่เกิดขึ้นในยุคโป๊ปฟรานซิสดำเนินไปอย่างราบรื่นที่สุด
อย่างไรก็ดี การคาดเดาของสื่อและนักวิเคราะห์ก็อาจผิดพลาดไปไกลได้เช่นกัน เพราะในปี 2013 โป๊ปฟรานซิสไม่ได้อยู่ในโผตัวเก็งของคริสตจักรเลย แต่สุดท้ายก็ได้รับเลือกมาดำรงตำแหน่งแทนอดีตโป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 ซึ่งขอสละตำแหน่งด้วยตัวเอง ทั้งยังกลายเป็นโป๊ปที่ได้รับความนิยมและเรียกคืนความศรัทธาให้กลับคืนมาสู่คริสตจักรได้มากกว่าโป๊ปพระองค์ก่อนๆ อีกด้วย
อ้างอิง:
ABC News, AP, BBC, Bloomberg, The Catholic News Agency, CIA, CNN (1), CNN (2), The Conversation, Crux Now, DW, EBSCO. European CEO, EWTN Vatican. The Guardian, The Investopia, The National Catholic Reporter (1), The National Catholic Reporter (2), OCCRP (1), OCCRP (2), PBS, The Politico EU, Reuters, The Vatican News, Yahoo! News