Humberger Menu

ไทดำ กับอนาคตสิทธิบนผืนดิน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 อิสรีย์ พรายงาม ชาวไทดำจากตำบลทรัพย์ทวี อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เล่าว่า มีป้ายประกาศจากฝ่ายปกครอง นำโดยนายอำเภอบ้านนาเดิม มาติดที่บริเวณชุมชน ระบุไม่อนุญาตให้อาศัยอยู่ในพื้นที่จำนวน 77 แปลง รวมเนื้อที่ 1,408 ไร่ เนื่องจากเป็นการอยู่อาศัยในพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ น.ส.ล. (หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง คือหนังสือสําคัญที่ทางราชการออกเพื่อแสดงแนวเขต ที่ตั้ง จํานวนเนื้อที่ และการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ) ที่มีการประกาศมาตั้งแต่ปี 2529 

อิสรีย์ พรายงาม

ในประกาศระบุว่าผู้อยู่อาศัยในพื้นที่จะมีความผิดถูกดำเนินคดี และอาจจะถูกไล่รื้อโดยให้เวลา 30 วัน เพื่อย้ายออกไป ประกาศนี้ครบกำหนดไปตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา

“เราเกิดที่นั่น อยู่ที่นั่นมาทั้งชีวิต” อิสรีย์ระบุว่าเธอเกิดที่นั่นตั้งแต่ปี 2524 

“ถ้าเขามารื้อบ้านเราแล้วเราจะไปอยู่ไหน เราไม่มีที่ดินที่อื่นแล้ว ตรงนั้นมันคือที่เกิดและที่ตายของเรา”

ข้อมูลจากการเก็บรวบรวมของชุมชนระบุว่า ชุมชนไทดำได้ย้ายถิ่นฐานมาจากภาคกลางโดยมาซื้อที่ดินต่อจากชุมชนเดิมที่ครอบครองอยู่ตั้งแต่ปี 2496 และมีทะเบียนบ้านในปี 2502 เริ่มเสียภาษีบำรุงท้องที่ปี 2509 จนปัจจุบันมีประชากรโดยรวมประมาณ 1,500 คน จากทั้งหมด 300 ครัวเรือน

จันทรัตน์ รู้พันธ์ ผู้ประสานงานกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ชุมชนไทดำ หมู่ 1 และ 4 และเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวไทดำในจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมามีกรณีข้อพิพาทกับรัฐมาโดยตลอด แต่ไม่เคยรุนแรงถึงขนาดที่มาติดป้ายไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ 

“เขาไม่มีการแจ้งให้เราทราบล่วงหน้า” จันทรัตน์กล่าว “ทั้งๆ ที่ประเด็น น.ส.ล.  มีการสอบสวนจากผู้มีอำนาจหน้าที่ คือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วว่าเป็นการระบุผิดตำแหน่ง”

เมื่อพวกเขาเชื่อว่ามีสิทธิในการอยู่อาศัยในที่ดินบรรพบุรุษ และยังมีหลักฐานการตรวจสอบจากภาครัฐเองว่ามีการออก น.ส.ล. ผิดตำแหน่งจนทับที่ดินของพวกเขา การลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของชาวไทดำในพื้นที่ลุ่มน้ำตาปีจึงเริ่มขึ้น ชาวไทดำกว่า 70 ชีวิตออกเดินทางจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อมาปักหลักขอความเป็นธรรมที่ใจกลางเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร

ถ้าเขามารื้อบ้านเราแล้วเราจะไปอยู่ไหน เราไม่มีที่ดินที่อื่นแล้ว ตรงนั้นมันคือที่เกิดและที่ตายของเรา

ไทดำคือใคร?

​ชาวไทดำ กลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม แถบเมืองเดียนเบียนฟู จังหวัดเซินลา และจังหวัดลายเจิว และบางส่วนในประเทศลาวตอนเหนือ แขวงพงสาลีและหัวพัน รวมถึงทางตอนใต้ของประเทศจีน

ไทดำ หรือรู้จักกันในชื่อ ไททรงดำ มาจากไทชุดดำ (Black Tai) นิยมสวมใส่เสื้อผ้าที่ย้อมด้วยสีดำหรือสีครามเข้ม พูดภาษาไทดำ ซึ่งเป็นภาษาในกลุ่มภาษาไทตะวันตกเฉียงใต้ มีความใกล้เคียงกับภาษาไทยและภาษาลาว มีระบบตัวเขียนอักษรไทดำเป็นของตนเอง นอกจากนี้ชาวไทดำยังมีรากเหง้าวัฒนธรรมที่เข้มแข็งจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน นับถือผี ให้ความสำคัญกับการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ 

ตั้งแต่ต้นยุครัตนโกสินทร์ ชาวไทดำเริ่มอพยพไปยังที่ต่างๆ ก่อนจะเกิดการอพยพครั้งใหญ่ช่วงก่อนปี 2500 หลังสงครามเดียนเบียนฟูในเวียดนาม หนึ่งในปลายทางสำคัญของชาวไทดำคือประเทศไทย เริ่มต้นที่จังหวัดเพชรบุรี และกระจายไปยังราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม พิจิตร พิษณุโลก เลย สระบุรี รวมถึงสุราษฎร์ธานี

พวกเราขึ้นมากรุงเทพฯ รอบนี้ มาเพื่อขอสิทธิในการอยู่อาศัยในที่ดินคืนให้กับชุมชนดั้งเดิม พวกเราไม่ใช่ผู้บุกรุก

ไม่ใช่ผู้บุกรุก?

“พวกเราขึ้นมากรุงเทพฯ รอบนี้ มาเพื่อขอสิทธิในการอยู่อาศัยในที่ดินคืนให้กับชุมชนดั้งเดิม พวกเราไม่ใช่ผู้บุกรุก”

อิสรีย์ได้กล่าวหลังจากที่เธอและชาวบ้านคนอื่นๆ เพิ่งเสร็จสิ้นจากการรับประทานอาหารเช้า ที่มีปลาทอดจากแม่น้ำตาปี และแกงเหลืองรสชาติจัดจ้านกินกับข้าวสวยร้อนๆ แต่ถึงแม้อาหารจะอร่อยแค่ไหน การมาปักหลักพักอาศัยอยู่หน้าอาคารสหประชาชาติก็ไม่ใช่ที่น่าอภิรมย์นัก ชาวไทดำเกือบทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่วงกลางคืนร้อนอบอ้าว ยุงชุม อีกทั้งการอาบน้ำและขับถ่ายก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก

“ที่ผ่านมาเราอยู่กันมาอย่างปกติ ชาวบ้านไม่รู้หรอกว่า น.ส.ล. คืออะไร และมีผลกับชาวบ้านอย่างไร จนกระทั่งเริ่มมีการไม่ให้ชาวบ้านขยายทะเบียนบ้านเพิ่ม สามารถให้ย้ายออกจากทะเบียนบ้านได้อย่างเดียว” อิสรีย์กล่าว

โดยความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชุมชนไทดำหมู่ 1 และ 4 อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เริ่มคุกรุ่นในปี 2547 เมื่อนายอำเภอและเจ้าหน้าที่เข้ามาจับกุมคนขับรถไถซึ่งกำลังปรับปรุงพื้นที่ทำไร่เพื่อปลูกข้าวโพดและหว่านงา โดยแจ้งว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ น.ส.ล. จากนั้นวันที่ 21 มีนาคม 2561 นายอำเภอและเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจขณะนั้นได้นำรถแบ็คโฮ 15 คัน มาทำลายสวนปาล์มของชาวบ้านจนเสียหาย 200 กว่าไร่ ทำให้มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินยกฟ้อง เนื่องจากมองว่าชาวบ้านไม่มีสิทธิในที่ดินดังกล่าว

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่จึงอ้างอิงคำตัดสินของศาลปกครองมาเป็นเครื่องมือในการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่

จันทรัตน์ รู้พันธ์

จันทรัตน์ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า เนื่องจากศาลปกครองมองว่าชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิหรือได้รับอนุญาตให้อยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย แม้ว่าคำพิพากษาจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิทธิในที่ดิน แต่เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ จึงทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหยิบเอาประเด็นการอยู่อาศัยในที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาใช้ในการดำเนินการ

“ทางจังหวัดยืนยันเหมือนเดิมว่า ที่ต้องปราบปรามชาวบ้านเพราะเป็นคำสั่งของศาลปกครอง” จันทรัตน์กล่าวในฐานะตัวแทนชาวไทดำที่เข้าพบ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่ชาวไทดำ 70 คนตัดสินใจเดินเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาล

ไทดำประชิดทำเนียบ ความหวังสุดท้ายเมื่อรัฐระดับท้องถิ่นไม่สามารถวางใจได้

อากาศช่วงสายของวันที่ 22 เมษายน 2568 ร้อนระอุ กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่ากรุงเทพฯ อุณหภูมิสูงสุด 36-38 องศาเซลเซียส

ยายหีต เป็นหนึ่งในผู้อาวุโสในชุมชน ที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิในที่ดินของเธอ เธอตัดสินใจร่วมเดินเท้ากับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่พวกเขาไม่อาจเข้าใกล้ทำเนียบรัฐบาลได้ เมื่อตำรวจมีการใช้รั้วเหล็กและกำลังเจ้าหน้าที่มาสกัดกั้น ทำให้ชาวไทดำกว่า 70 คนตัดสินใจนั่งลงบนพื้นถนน และรอคอยคำตอบการเจรจากับทางตัวแทนคณะรัฐมนตรี

ยายหีต

เวลาผ่านไปหลายชั่วโมง จนกระทั่งตัวแทนชาวไทดำ 3 คน ได้แก่ อิสรีย์ พรายงาม, จันทรัตน์ รู้พันธ์ และ ยายหีต ได้เข้าพบหารือกับ รองนายกฯ ประเสริฐ จันทรรวงทอง 

จันทรัตน์ระบุผลการหารือกับรองนายกฯ ซึ่งระหว่างนั้นมีการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และปลัดอำเภอ โดยฝ่ายราชการยังคงยืนยันเหตุผลเดิมว่า การไม่อนุญาตให้ชาวบ้านไทดำอยู่อาศัยเป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครอง

ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) มองว่า ตอนนี้ปัญหาของกลุ่มไทดำที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เข้าไปสู่การรับรู้ของฝ่ายการเมืองส่วนกลางแล้ว อย่างไรก็ดี วันที่ 23 เมษายน 2568 จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดินสาธารณประโยชน์และเอกชนปล่อยทิ้งร้าง ณ กระทรวงมหาดไทย จึงทำให้ความหวังของชาวไทดำขึ้นอยู่กับการประชุมในวันรุ่งขึ้น ทำให้พวกเขาตัดสินใจเดินเท้าจากที่พักค้างแรมหน้าอาคารสหประชาชาติไปยังกระทรวงมหาดไทย 

600 กิโลเมตรเพื่อกระดาษ 1 ใบ กลับบ้านพร้อมสิทธิในที่ดินที่ถูกแขวนอยู่บนเส้นด้าย

ขวัญเมือง เรียนผง หนึ่งในผู้อาวุโสชาวไทดำจากจังหวัดเพชรบุรี เล่าประวัติของชาติพันธุ์ไทดำให้ฟังว่า ชาวไทดำส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนาผสมกับความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับบรรพบุรุษ โดยมีความเชื่อว่าผีบรรพบุรุษจะคอยปกป้องคุ้มครองลูกหลาน ทำให้ทุกครั้งก่อนที่ชาวไทดำจะเริ่มทำกิจกรรมใดก็ตาม พวกเขาจะสวดมนต์เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย

ช่วงสายของวันที่ 23 เมษายน 2568 หลังจากที่ชาวไทดำกว่า 70 ชีวิตทำการสวดมนต์เสร็จสิ้น พวกเขาตั้งแถวเดินเท้าไปยังที่ว่าการกระทรวงมหาดไทยจากถนนราชดำเนินนอก ตัดเข้าสู่ถนนราชดำเนินกลางท่ามกลางการจราจรคับคั่ง ก่อนเลี้ยวเข้าสู่ถนนอัษฎางค์ในช่วงเวลาเกือบเที่ยง

บริเวณหน้ากระทรวงมหาดไทยคับคั่งไปด้วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ภายในกระทรวงที่ออกมาสังเกตการณ์ กลุ่มชาวไทดำบางส่วนได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดินสาธารณประโยชน์และเอกชนปล่อยทิ้งร้าง ซึ่งการประชุมครั้งนี้มี ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการประชุม

จันทรัตน์ ตัวแทนชาวไทดำ กล่าวในที่ประชุม โดยอ้างถึงการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขที่สาธารณประโยชน์และที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันอังคาร ที่ 16 สิงหาคม 2565 ณ  อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ประชุมได้รับทราบข้อเท็จจริงตามรายงานผลการตรวจสอบระดับอำเภอและระดับจังหวัดที่ยุติแล้วเรื่องตำแหน่งที่ตั้งที่ดิน น.ส.ล. ออกไม่ตรงตามตำแหน่ง

“ผลการสอบสวนที่ผ่านมาระบุชัดเจนว่าที่ดิน น.ส.ล. ตรงนี้ผิดตำแหน่ง ดังนั้นต้องเพิกถอน น.ส.ล. เพราะถ้ายังไม่เพิกถอน ชาวบ้านก็จะถูกข่มขู่ต่อไปอย่างนี้” จันทรัตน์กล่าว

อย่างไรก็ดี บันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แย้งในที่ประชุมว่า เรื่องตำแหน่งที่ตั้งนั้น ผลการตรวจสอบจากทางสำนักงานที่ดินจังหวัดพบว่า แผนที่ น.ส.ล. ที่มีข้อพิพาท ถูกต้องตามตำแหน่งแล้ว

หลังจากการให้ข้อมูลของรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และสร้างความสับสนให้แก่ที่ประชุม จน ทรงศักดิ์ ทองศรี ประธานในที่ประชุมกล่าวว่า ข้อมูลที่ทั้งสองฝ่ายนำเสนอนั้นไม่สอดรับกัน จึงต้องมีการหาข้อสรุปในเรื่องนี้ภายใน 30 วัน

ชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านกิจการความมั่นคงภายใน ให้ความเห็นว่า เนื่องจากสถานะของที่ดินยังคงเป็นแนวเขตที่ดินของรัฐ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ดูแลที่ดินสาธารณะไม่ให้ใครบุกรุก และศาลก็ยืนยันมาในคำพิพากษาว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ดำเนินการใดๆ ก็จะถูกตรวจสอบโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงกลายเป็นเรื่องบานปลายและยากลำบากสำหรับทุกฝ่ายที่จะหาหนทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ชำนาญวิทย์เข้าใจว่า ฝั่งชาวไทดำมองว่าพื้นที่ตรงนี้อยู่มาตั้งแต่ 60-70 ปีที่แล้ว แต่มีการออก น.ส.ล. ทับที่ดินผิดตำแหน่ง ซึ่งเป็นที่ดินที่พวกเขาครอบครองมาตั้งแต่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ตามมาตรา 1304

ชำนาญวิทย์จึงเสนอทางออกสำหรับเรื่องนี้ไว้ 2 แนวทางคือ

1. ต่อสู้เพื่อยืนยันสิทธิการครอบครองที่ดินมาตั้งแต่ในอดีต เพื่อนำมาสู่การออกเอกสารตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งใช้ระยะเวลาและการพิสูจน์หลักฐาน 

2. ยอมรับว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ จากนั้นต้องยื่นขอใช้ประโยชน์ และทำการเช่าที่ดินเพื่อใช้ในการยังชีพต่อไป

ประยงค์ ที่ปรึกษา P-move ไม่เห็นด้วยกับการให้ชาวบ้านยอมรับว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ เขามองว่าเพื่อให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน เมื่อมีการตรวจสอบแล้วว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดิน น.ส.ล. ก็ควรต้องไปสืบหาความจริงว่า ที่ดินที่แท้จริงคือพื้นที่ตรงไหน 

ประยงค์ตั้งข้อสังเกตว่า การไม่มีความคืบหน้าของการสืบหาความจริงเรื่องนี้ เพราะที่ดิน น.ส.ล. แปลงที่มีปัญหาอยู่นี้นั้น ได้กลายเป็นที่ดินที่มีโฉนดไปแล้ว และเกี่ยวข้องกับผู้มีผลประโยชน์อื่นๆ ในพื้นที่

ในตอนท้ายของการประชุมได้มติออกมาว่า ให้มีการออกหนังสือลงนามโดย ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานีและคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง และปัญหาที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยระดับจังหวัด (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) ให้หยุดคุกคามและดำเนินการใดๆ ที่สร้างผลกระทบให้กับพี่น้องไทดำในพื้นที่ โดยให้ยึดหลักการทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 และวันที่ 16 ตุลาคม 2566  ซึ่งได้กำหนดแนวทาง พร้อมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทราบข้อเท็จจริง

ส่วนเรื่องข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งที่ดิน น.ส.ล. ที่ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มชาวไทดำ อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่นั้น ทรงศักดิ์กำหนดให้มีการประชุมอีกครั้งภายใน 30 วัน โดยให้ตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายนำหลักฐานมาแสดง ณ ที่ว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องการแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินต่อไป

“ถ้าวันข้างหน้า พวกเขามาไล่เราอีกจะทำอย่างไร”

อิสรีย์กล่าวหลังจากเดินออกมาจากที่ว่าการกระทรวงมหาดไทย และต้องเตรียมตัวเดินทางกลับบ้านของเธอที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

“เราไม่ใช่ผู้บุกรุก ที่พวกเราขึ้นมากรุงเทพฯ ก็เพื่อขอสิทธิในการอยู่อาศัยในที่ดินคืนให้กับชุมชนดั้งเดิม เราไม่ได้ขออะไรมากไปกว่าการยกเลิก น.ส.ล. ที่มันผิดตำแหน่ง เราอยู่กันมาอย่างไม่มีโฉนดที่ดิน จนกระทั่งที่ดิน น.ส.ล. มาประกาศทับที่ของพวกเรา”


แม้ว่าครั้งนี้กลุ่มชาวไทดำจะสามารถเดินทางกลับบ้านได้อย่างสบายใจว่าจะไม่มีใครเข้ามาคุกคามและละเมิดสิทธิของพวกเขาอย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ในระยะยาวแล้วนั้น ยังคงไม่มีใครสามารถการันตีสิทธิในที่ดินทำมาหากินของพวกเขาได้  แม้ว่าพวกเขาจะพยายามยืนยันและส่งเสียงดังมาถึงส่วนกลางแล้วว่า พวกเขาคือคนที่อยู่ที่นั่นก่อนการมาถึงของการประกาศแสดงแนวเขตที่ดินของรัฐก็ตาม

“เราไม่ใช่ผู้บุกรุก ที่พวกเราขึ้นมากรุงเทพฯ ก็เพื่อขอสิทธิในการอยู่อาศัยในที่ดินคืนให้กับชุมชนดั้งเดิม เราไม่ได้ขออะไรมากไปกว่าการยกเลิก น.ส.ล. ที่มันผิดตำแหน่ง เราอยู่กันมาอย่างไม่มีโฉนดที่ดิน จนกระทั่งที่ดิน น.ส.ล. มาประกาศทับที่ของพวกเรา”

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
ณฐาภพ สังเกตุ