Humberger Menu

พจนานุกรมจาก 15 ปีก่อน เมื่อครั้งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง และความทรงจำที่ยังไม่ลบเลือน

ทศวรรษให้หลังของการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 นำพามาสู่ห้วงเวลาที่ความทรงจำใต้พรมประวัติศาสตร์ค่อยๆ ถูกเลิกขึ้นเพื่อปัดป่ายฝุ่นหนาเตอะให้บางลงบ้าง ถ้อยคำที่เคยใช้ป้ายสีถูกชำระ แม้ยังไม่หมดจดแต่ก็พอจะชะล้างความชั่วร้ายที่ไม่ได้ก่อทิ้งไปได้บ้าง

แต่คำบางคำคือรอยแผล

คำบางคำคือความเข้าใจผิด

คำบางคำคือเกราะที่เหล่า ‘ไพร่’ ใช้ดุนดันกับอำนาจ

15 ปีผ่านมา…หลายภาพยังถูกบิดเบือน เรื่องราวบางเรื่องถูกลืมเลือนแทบสิ้น ถ้อยคำบางถ้อยคำยังถูกใช้ด้วยน้ำเสียงเหยียดหยามดูแคลน

เราอยากชวนคุณย้อนกลับไปมองและทำความเข้าใจเหตุการณ์ในอดีตผ่าน ‘คำ’ ที่บอกเล่าบริบทสถานการณ์ การช่วงชิงความหมาย หรือกระทั่งวาทกรรมที่คลุมครอบคนเสื้อแดงเอาไว้ ซึ่งทั้งหมดคือคำสำคัญที่ปรากฏให้เห็นตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

ไพร่-อำมาตย์

“ก่อนใช้คำอำมาตย์-ไพร่ ตอนนั้นคิดคำให้สั้น ถ้าใช้ ‘อำมาตยาธิปไตย’ มันยาวไปก็ใช้คำว่า ‘อำมาตย์’ แล้วอีกคำที่มาคู่เพื่อให้ดูว่าต่ำมากๆ ก็คือ ‘ไพร่’ และไม่ได้บอกว่าเราอยากเป็นไพร่นะ แต่พวกคุณคิดว่าเราเป็นไพร่ เราก็จะเป็นเพื่อสู้กับคุณ ให้มันรู้เลยว่าไพร่ในสายตาคุณเนี่ยสู้ ให้รู้เลยว่าไพร่ในสายตาคุณเขาไม่ยอมคุณ ก็เลยมีปฏิกิริยาจากฝ่ายอำมาตย์หรือฝ่ายตรงข้ามไม่ยอมให้เราเป็นไพร่อีก”

ถ้อยคำปราศัยปลุกสำนึกทางชนชั้นของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในช่วงการชุมนุมปี 2553 หลังจากที่เหล่าคนเสื้อแดงได้ช่วงชิงคำต่ำศักดินาอย่างคำว่าไพร่ มานิยามพวกตนเองและขับเคลื่อนความเชื่อของผู้ถูกกดขี่

ย้อนไปเมื่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ยึดอำนาจจากรัฐบาลไทยรักไทย ประชาชนทั้งกลุ่มคนที่สนับสนุนทักษิณ ชินวัตร และไม่สนับสนุนแต่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ต่างออกมาต่อต้านกันอย่างเนืองแน่น เช่น กลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ 

ต่อมากลุ่มเล็กๆ หลายกลุ่มรวมตัวก่อตั้งเป็นองค์กรร่ม (umbrella organization) คือ ‘แนวร่วมประชาชนต่อต้านการรัฐประหาร’ (นตปร.) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวภายใต้กรอบ ‘คว่ำ โค่น ล้ม’ โดยมีเป้าหมายเพื่อ ‘คว่ำ’ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปรับแก้ภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตย ‘โค่น’ ระบอบอำมาตยาธิปไตยที่มีประธานองคมนตรีเป็นสัญลักษณ์หลัก และผลักดันการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ตลอดจน ‘ล้ม’ คมช. และผลพวงทั้งหมดที่เกิดจากการยึดอำนาจของ คมช. 

นับแต่นั้นระบอบอำมาตยาธิปไตย หรืออำมาตย์ จึงไม่ได้อยู่แค่ในหน้าตำรารัฐศาสตร์ แต่ถูกพูดถึงในฐานะผู้มีอิทธิพลในการกำหนดชี้นำหน่วยงานราชการ หรือสถาบันทางการเมืองต่างๆ หลังการรัฐประหาร พร้อมกับจับตัวเองใส่ในสมการชนชั้นผ่านตัวแปร ‘ไพร่’

ไพร่-อำมาตย์ ที่มาคู่กัน จึงยิ่งขับเน้นการมีอยู่ของอิทธิพลชนชั้นนำ ฟื้นความหมายดั้งเดิมของการเป็นพลเมืองสามัญเพื่อยืนยันความเท่าเทียมอันพึงมี

ควายแดง

มวลชนคนเสื้อแดงมีจำนวนอยู่หลายแสนคน บ้างปักหลักอยู่เวทีกลางร่วมกับกลุ่มแกนนำ บ้างเคลื่อนไหวอยู่ตามต่างจังหวัด ภูมิภาคที่มีคนเสื้อแดงอยู่หนาแน่นและถูกเรียกว่าเป็นหัวเมืองของพรรคเพื่อไทยคือภาคเหนือและอีสาน มักจะถูกฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กล่าวหาว่าเป็นลิ่วล้อและรับเงินจากทักษิณ เป็นหมากที่ถูกตระกูลชินวัตรหลอกใช้ตามเกมการเมือง

จากสายตาคนเมืองและผู้เรียกตนเองว่าปัญญาชนได้มองและตัดสินว่า เหล่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ไม่มีการศึกษา ถูกละทิ้งจากรัฐบาลมาเป็นระยะเวลานาน จึงเห็นแก่นโยบายประชานิยม ยอมเดินทางมาชุมนุมกลางกรุงด้วยเงินต่อหัวเพียงเล็กน้อย

เหล่าปัญญาชนจึงสร้างวลีกระทบกระเทียบคนเสื้อแดงอย่างคำว่า ‘ควายแดง’ เปรียบเทียบว่าเป็นพวกโง่เขลาเบาปัญญา โดนจูงจมูกด้วยคนตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทย แปะป้ายใส่ผู้ที่ตนเองเชื่อว่าไม่สามารถคิดวิเคราะห์ได้ กระทั่งภายหลังคำนี้ถูกคนเสื้อแดงนำมาใช้เรียกตัวเองด้วยความภูมิใจและเพื่อยืนยันว่าไม่เป็นความจริง 

ตีนตบ

เป็นสัญลักษณ์ที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง สร้างขึ้นเพื่อตอบโต้ ‘มือตบ’ ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มเสื้อเหลืองที่เคยใช้กันอย่างแพร่หลาย เมื่อประมาณปี 2551 ขณะนั้นภาพของมือตบกลายเป็นกระแสฟีเวอร์ ในหมู่คนเสื้อเหลืองเรียกกันว่าเป็น ‘มือตบต้านทักษิณ’ 

ต่อมาปี 2552 มวลชนคนเสื้อแดงทำอุปกรณ์ตีนตบออกมาโต้กลับ เพื่อไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีเป็นผลพวงจากการรัฐประหารของ คมช. นี่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของการตอบโต้เชิงสัญลักษณ์แบบที่อาจเรียกได้ว่า ‘หนามยอกเอาหนามบ่ง’

พื้นที่กระสุนจริง

วันที่ 12 พฤษภาคม 2553 คือจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของการประกาศพื้นที่กระสุนจริง ที่ประกาศโดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่ยุทธการสลายการชุมนุมของประชาชนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รัฐใช้นโยบายปิดล้อมย่านราชประสงค์อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดสัญญาณโทรศัพท์ ประกาศห้ามการบินเหนือพื้นที่ และระดมกำลังทหารพร้อมอาวุธสงคราม กระสุนจริง รวมถึงสไนเปอร์เข้าสู่พื้นที่

แม้ระหว่างการชุมนุมจะมีความพยายามเจรจาและเสนอแผนปรองดอง แต่รัฐกลับเลือกใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2553 จนนำไปสู่ความสูญเสียครั้งแรก มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 ราย

เมื่อการชุมนุมยืดเยื้อเกินหนึ่งเดือน รัฐบาลได้เสนอแผนจัดเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553 พร้อมกำหนดเงื่อนไขให้แกนนำ นปช. ยุติการชุมนุมและเข้ามอบตัวภายในวันที่ 12 พฤษภาคม แต่รัฐก็แนบท้ายข้อเสนอดังกล่าวด้วยคำขู่ ‘หากไม่ยินยอม รัฐมีความชอบธรรมทุกประการในการดำเนินการเพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบ’

ฝ่ายผู้ชุมนุมจึงยื่นข้อเสนอโร้ดแมป 5 ข้อกลับไป โดยหนึ่งในนั้นคือพร้อมยุติการชุมนุม หากสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศอฉ. ผู้มีบทบาทในการสั่งการสลายการชุมนุม 10 เมษายน เข้ารับผิดชอบและยอมมอบตัวเช่นกัน

แต่ในวันที่ 12 พฤษภาคม ไม่มีการตอบรับข้อเสนอ จึงไม่ได้ยุติการชุมนุม รัฐบาลจึงให้สัญาณว่าพร้อมเดินหน้ามาตรการทางทหารอย่างเต็มที่

กระชับวงล้อม

หลังจากประกาศใช้พื้นที่กระสุนจริง กดดันด้วยการตัดน้ำ ตัดไฟ สาธารณูปโภคต่างๆ ประกาศห้ามบินเหนือพื้นที่ และระดมกำลังทหารพร้อมอาวุธสงคราม รัฐบาลได้ประกาศล้มข้อเสนอแผนจัดเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553 อย่างเป็นทางการ พร้อมประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้เดินทางมาชุมนุมเพิ่ม

หลังจากนั้น ศอฉ. ปิดล้อมพื้นที่การชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ตั้งด่านตรวจโดยอ้างว่ามีผู้ก่อการร้ายและอาวุธสงครามในพื้นที่ชุมนุม พร้อมกับประกาศแนวทางการจัดการหากเกิดการปะทะ โดยจะเริ่มจากเบาไปหนัก ซึ่งรวมถึงการใช้กระสุนจริงด้วย

เวลา 19.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม เพียง 7 ชั่วโมงหลังการประกาศของ ศอฉ. พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ ‘เสธ.แดง’ ถูกลอบยิงจนเสียชีวิตขณะให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศบริเวณแยกศาลาแดง นำไปสู่ความรุนแรงต่อเนื่อง เสียงปืนและระเบิดดังขึ้นหลายระลอก ก่อนจะเข้าสู่ปฏิบัติการกระชับวงล้อมเต็มรูปแบบระหว่างวันที่ 14-19 พฤษภาคม ซึ่งจบลงด้วยการสูญเสียครั้งใหญ่ ประชาชนอย่างน้อย 94 รายเสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 1,283 ราย

เขตอภัยทาน

เมื่อเวลา 13.20 น. วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 แกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุมและเข้ามอบตัว ด้วยความหวังว่าความรุนแรงจะยุติลงตามไปด้วย ทว่า เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมา วัดปทุมวนารามราชวรวิหารซึ่งควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย กลับกลายเป็นจุดสังหาร มีผู้เสียชีวิตภายในวัดถึง 6 ราย

ทั้งที่เพียงสองวันก่อนหน้านั้น ศอฉ. เพิ่งประกาศให้วัดปทุมฯ เป็น ‘เขตอภัยทาน’ ตามข้อเสนอของกลุ่มองค์กรสันติวิธีที่นำโดยนายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีการขึ้นป้ายชัดเจนเพื่อคุ้มครองผู้ชุมนุมที่เป็นเด็ก สตรี และผู้สูงอายุ

เมื่อแกนนำลงจากเวทีราชประสงค์ ผู้ชุมนุมราว 4,000 คนจึงหลั่งไหลเข้าสู่วัดปทุมฯ ตลอดช่วงบ่าย เพื่อหลบภัยระหว่างรอการเดินทางกลับบ้าน กระทั่งเวลาประมาณ 17.00 น. พยานหลายรายระบุว่าเริ่มได้ยินเสียงปืนดังมาจากบริเวณรางรถไฟฟ้าบีทีเอส เป้าหมายคือตรงเข้าสู่พื้นที่เขตอภัยทาน

หนึ่งในผู้เสียชีวิตคือ กมลเกด อัคฮาด อาสาพยาบาล ถูกยิงเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ในเต็นท์พยาบาลภายในวัด รายงานการชันสูตรจากสถาบันนิติเวชวิทยา ระบุว่าเธอเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนทำลายสมอง และยังพบร่องรอยกระสุนอีก 10 แห่งบนร่างกาย

ต่อมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำวินิจฉัยในคดีไต่สวนการตายว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 6 คนในวัดปทุมฯ ถูกยิงด้วยวิถีกระสุนจากเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบบนรางรถไฟฟ้า BTS หน้าวัดและบริเวณถนนพระรามที่ 1 

นักสู้ธุลีดิน

แผ่นดินร่ำร้องระงม ผู้คนทับถมสะอื้น
ผ่านวันและคืน ลบเลือนจางหาย
ไหม้มอดเป็นเถ้าธุลี คนกล้ากว่านี้มีไหม
ถึงวันที่สุดท้าย พร้อมตายเคียงกัน
หากคนหยัดยืนทะนง ตั้งหลักปักธงไม่หวั่น
อย่ายอมแพ้มัน เท่านั้นก็พอ
นี่คือความจริงที่เป็น เหนื่อยยากลำเค็ญไม่ท้อ
ใช้เลือดเท่าไหร่หนอ ล้างสังคมทราม
ข้างหน้า อนาคตงดงาม
แม้ไฟลุกลาม จะแผดเผา
พรุ่งนี้ เปรียบชีวิตของเรา
คล้ายเป็นดังเงา หนึ่งเถ้าธุลี
เกียรติภูมิอยู่กลางสนาม นักสู้นิรนามไม่สิ้น
ผองธุลีดิน จักพลิกชะตา

ถ้อยคำนี้เป็นทั้งคำที่ใช้เรียกคนเสื้อแดง และเป็นชื่อบทเพลงที่ ‘จิ้น กรรมาชน’หรือ สุธาชัย ยิ้มประเสิรฐ เป็นผู้แต่ง เพื่อสดุดีเหล่าวีรชนผู้ลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐในช่วง เมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่จบลงด้วยการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ด้วยความเชื่อที่เต็มเปี่ยมว่า ‘ผองธุลีดิน จักพลิกชะตา’ ต่อมาถูกนำมาขับร้องในงานรำลึกถึงพี่น้องผู้จากไปของคนเสื้อแดงทุกปี

เผาบ้าน เผาเมือง

เผาบ้าน เผาเมือง คือวาทกรรมที่ถูกนำมาใช้สร้างความชอบธรรมในการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เขียนไว้ว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ มีไฟไหม้ในจุดที่มีผู้ชุมนุมอยู่อย่างน้อย 7 จุด ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 และหลังจากแกนนำประกาศยุติการชุมนุมก็ยังมีไฟไหม้กว่า 30 จุดในพื้นที่กรุงเทพฯ 

ภาพเหตุการณ์ไฟไหม้เซ็นทรัลเวิลด์และโรงภาพยนตร์ ถูกนำไปเชื่อมโยงกับคำปราศรัย “เผาไปเลยพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง” ของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ซึ่งพูดไว้ก่อนหน้าที่เวทีชุมนุมเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี แต่ถูกนำมาตัดต่อคลิปราวกับเกิดขึ้นในเวทีกรุงเทพฯ 

ทั้งนี้คดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ถูกยกฟ้องเพราะหลักฐานไม่มีน้ำหนักพอ รวมถึงคดีอื่นๆ บางคดีด้วยเช่นกัน แม้หลักฐานมีน้ำหนักไม่เพียงพอ แต่น้ำหนักทางวาทกรรมยังคงอยู่ในสังคมเช่นเคย

ชายชุดดำ

10 เมษายน 2553 มีคลิปเหตุการณ์ชายใส่ชุดสีดำยิงตอบโต้จากฝั่งผู้ชุมนุมไปยังฝั่งทหาร โดยมีพยานบอกว่าหลังจากชายชุดดำปรากฏตัวก็ไม่มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตอีกเลย เป็นสาเหตุที่รัฐบาลอภิสิทธิ์อ้างว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้าย 

ระหว่างการสอบสวนของ คอป. ผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้ข้อมูลว่า วันที่ 10 เมษายน 2553 พบเห็นชายแต่งกายชุดดำปรากฏตัวอยู่บริเวณปากซอยใกล้ร้านแมคโดนัลด์ ซึ่งเชื่อมต่อไปยังถนนตะนาว ด้านหลังอาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ก่อนที่ในเวลาต่อมา ทหารที่ประจำการอยู่บนถนนตะนาวและถนนดินสอจะถูกโจมตีด้วยอาวุธสงคราม

รายงานของ คอป. บรรยายลักษณะการใช้อาวุธของกลุ่มชายชุดดำอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเหตุปะทะบริเวณแยกคอกวัว และหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา โดยสรุปว่า กลุ่มชายชุดดำเป็นฝ่ายเปิดฉากโจมตีเจ้าหน้าที่ด้วยอาวุธสงครามก่อน และในหลายกรณีพบว่าคนเหล่านี้ปะปนอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยไม่มีการห้ามปรามหรือขัดขวางจากการ์ด นปช. ตรงกันข้าม บางส่วนยังอาจมีลักษณะให้ความร่วมมือหรือสนับสนุนด้วยซ้ำ

ผลของเหตุรุนแรงเฉพาะบริเวณแยกคอกวัวและหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา มีผู้เสียชีวิตรวม 24 ราย แบ่งเป็นพลเรือน 19 ราย และทหาร 5 ราย ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ ได้แก่ นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นจากสำนักข่าวรอยเตอร์ และ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม (ยศในขณะนั้น) รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์

ภาพถ่ายและวิดีโอจากเหตุการณ์ ทำให้คำว่า ‘ชายชุดดำ’ ถูกแทนที่ด้วยถ้อยคำที่มีน้ำหนักทางกฎหมายและการทหารมากขึ้น เช่น ‘กองกำลังติดอาวุธ’ หรือ ‘ผู้ก่อการร้าย’

จากจุดนี้เป็นต้นมา ชายชุดดำจึงกลายเป็นคำอธิบายที่ ศอฉ. ใช้อ้างอิงต่อเนื่องแทบทุกครั้งที่เกิดเหตุรุนแรงในระหว่างการชุมนุม และกลายเป็นประเด็นถาวรในรายงานของ คอป. ท่ามกลางข้อถกเถียงถึงการมีอยู่จริง หรือความเชื่อมโยงระหว่างชายชุดดำกับผู้ชุมนุม ซึ่งยังไม่มีคำตอบที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์มาจนถึงปัจจุบัน

ภายหลังพิสูจน์ว่ามีภาพชายชุดดำปรากฏตัวแค่วันเดียวก็คือ 10 เมษายน 2553 และประชาชนเสียชีวิตหลายรายจากกระสุนจริงของเจ้าหน้าที่ ซ้ำร้ายยังมีคนติดคุกฟรีเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นชายชุดดำด้วย

สลิ่ม

คำว่าสลิ่ม เพี้ยนมาจาก ซาหริ่ม ขนมไทยหลากสีใส่กะทิ สแลงทางการเมืองนี้เริ่มจากกระแสต่อต้านข้อเรียกร้องและการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ต้องการให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากรัฐบาลดังกล่าวมีที่มาอย่างไม่ชอบธรรม เป็นผลผลิตหนึ่งของการรัฐประหาร จนได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่ตั้งขึ้นในค่ายทหาร 

หนึ่งในกลุ่มที่ออกมาต่อต้านการชุมนุมของคนเสื้อแดงคือ กลุ่มประชาชนพิทักษ์ชาติ นำโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ หรือที่คนเรียกติดปากกันว่าหมอตุลย์ ต่อมาขนานนามตัวเองว่าเป็นกลุ่ม ‘เสื้อหลากสี’ คนเสื้อแดงจึงบัญญัติคำว่า ‘สลิ่ม’ เพื่อใช้โต้กลับว่าเป็นแค่การรีแบรนด์ของกลุ่มเสื้อเหลืองเดิม ภายใต้ความนิยมที่ลดลงของพันธมิตรฯ ประกอบกับกลุ่มพันธมิตรฯ ได้กลายเป็นผู้ต้องหาทางการเมืองในคดีสำคัญ

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
ศศิพร คุ้มเมือง