เธอกำลังนั่งสนทนาอย่างออกรสออกชาติกับทั้งเพื่อนเก่าและใหม่…
เสียงหัวเราะคละเคล้ากับกลิ่นกรุ่นของกาแฟริมชายหาด
บทสนทนาที่บางครั้งก็เป็นคำถามค้างคาใจ บ้างก็เป็นเรื่องไร้แก่นสารสาระ
หรือบางครั้งก็นั่งรับฟังและให้คำปรึกษากับ ‘เด็กใหม่’ ที่เพิ่งเข้าวงการ
สถานที่เดิม บรรยากาศแสนเคยคุ้น
ผู้คนมากหน้าหลายตาแต่ไม่ได้ชวนให้รู้สึกว่าที่นี่แปลกไป
เธอยังคงชอบที่นี่ แม้จะย่ำเหยียบ และเดินกลับไปกลับมาแล้วหลายสิบปี
.
เธอหันมาให้ความสนใจกับชายหนุ่มที่เดินมาหยุดยืนตรงหน้า
เขายื่นปลายนิ้วเรียวมาสะกิด
ไม่พูดอะไร นิ้วมือขยับขยุกขยิกพิมพ์ข้อความลงบนโทรศัพท์
เธอรู้ทันที เขาพูดไม่ได้…
เธอก้มอ่านข้อความ เงยหน้ายิ้มให้ ก่อนจะพิมพ์ตอบกลับไป
‘โอเค…ดีล’
.
.
.
ทั้งหมดง่ายดาย เพราะเขาไม่เรื่องมาก
“ไม่เ-ี้ย ไม่เหวี่ยง ดูแลดี ไม่เหยียดเพศ”
“ตอนกำลังจะขึ้น ม.1 อายุประมาณ 12-13 ปี บ้านแม่อยู่ที่อุดรฯ ตอนนั้นเพื่อนชวนลงมาหาพี่สาวเขาที่พัทยา ทีแรกก็กะว่าจะลงมาเที่ยวเฉยๆ ไม่ได้คิดว่าจะมาทำงานอะไรหรอก”
แม่สุมา ทรานส์เจนเดอร์วัย 58 ปี เปิดฉากเล่าเรื่องราวความเป็นมาของอาชีพ sex worker ที่เริ่มต้นอย่างไม่มีแบบแผน (แม่สุมาเล่าว่าหลายคนที่ทำอาชีพนี้ก็คงไม่ได้มีแบบแผนเช่นกัน) “ตอนที่เราเป็นเด็ก เราไม่รู้หรอกว่าเขาทำงานอะไร พี่สาวของเพื่อนทำงานอยู่ที่นี่อยู่แล้ว เป็น sex worker เขาชวนลงมาเที่ยวพัทยาก็เลยลงมาเที่ยวกับเขา แล้วหอพักที่เรามาพักส่วนมากตรงนั้นเขาก็เป็นคนที่เขาทำงานขายบริการอยู่แล้ว เราเห็นหมด เพราะเขาไปไหนเราก็ไปด้วยกับเขา (พี่สาวเพื่อน) ตอนกลางวันเขาไปทะเล ไปอาบแดด แล้วก็ไปจับแขกกันที่หาด เราก็ไปกับเขา”
คีย์เวิร์ด ‘จับแขก’ บ้างคงเคยผ่านหูผ่านตากันบ้างแล้ว แต่สำหรับคนเพิ่งเคยได้ยินคงเดาได้ไม่ยากว่าการเอื้อนเอ่ยคำนี้ วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายปลายทางคืออะไร
เธอเล่าอย่างไม่ต้องการเฉพาะเจาะจงมากนักว่าเธอเริ่มรับแขกคนแรกเมื่อไร แต่ประสบการณ์อันไม่น่าพึงใจของเธอตั้งแต่วันแรกจนวันนี้เพียงพอที่จะทำให้รู้ว่าเธอควรหลีกเลี่ยงสิ่งใด แม้จะได้เงินเยอะ แต่เธอก็เลือกที่จะไม่เสี่ยง
“เคยเจอแบบนัดกะเทยมา 5 คน ผู้หญิงอีก 5 คน เอามามั่วกันโดยที่เราไม่รู้เลยว่าแต่ละคนตรวจหรือดูแลสุขภาพตัวเองขนาดไหน แล้วมาเจอคนเล่นยาด้วย แบบนี้เราก็กลัวไง แขกแบบนี้ส่วนใหญ่เขาจะมีนายหน้าหาคนมาให้ พอไปเจอหน้างานไม่โอเคแค่ไหนเราก็ปฏิเสธไม่ได้ ก็ต้องทำให้จบงาน จบงานแล้วก็ให้มันจบไป นับแต่นั้นเลยตัดสินใจว่าจะไม่รับแขกที่เล่นยาแล้ว”
หลังจากนั้น แขกของแม่สุมามักเป็นกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ เธอบอกเหตุผลสั้นๆ ให้ฟังว่า ‘เขาไม่เรื่องเยอะ’
“ส่วนมากจะรับคนสูงอายุ คนพิการ ที่เจอมาก็หูหนวก เป็นใบ้ แม่ถนัดแบบนี้มากกว่า รับลูกค้ากลุ่มนี้มานานแล้วด้วยตั้งแต่อายุประมาณ 30 ปี เขาไม่เรื่องมาก ไม่เยอะ ไม่สั่ง ออกแนวตามใจ ใจดีกับเรา ไม่งี่เง่าเรื่องเพศ ไม่ลีลามากมาย”
พวกเขามักจะเดินผ่านสถานที่ที่รู้กันว่าเป็น ‘แหล่งขาย’ พอล็อกเป้าหมายได้ก็จะเข้ามานัดแนะกันไป แม่สุมาเล่าว่าลูกค้ารู้อยู่แล้วว่าตรงไหนเป็นที่ประจำ
“ทั้งผู้หญิง ทั้งกะเทย ก็จะนั่งอยู่แถวนั้นหมดเลย เป็นแหล่งของมันอยู่แล้ว สตาร์บัคชายหาด สตาร์บัคตึกคอม คนขายบริการก็จะนั่งอยู่ตรงนั้น”
“คนที่เป็นใบ้หูหนวกเดินมาถึงเขาก็จะยื่นโทรศัพท์มาให้เราเลย พิมพ์คุยกัน แขกพวกนี้จะดี ไม่เจอปัญหาเรื่องเล่นยาหรือใช้ความรุนแรง ปีหนึ่งก็จะมาใช้บริการเรา 1-2 ครั้งทุกปีเลย เขาดีนะ ปฏิบัติกับเราดี ไม่เ-ี้ย ไม่เหวี่ยงใส่เรา”
ราตรีที่พัทยางดงามสำหรับผู้มาเยือน คาบาเรต์โชว์เป็นที่เลื่องลือมาแต่ไหนแต่ไร อย่างน้อยๆ คงไม่น้อยไปกว่า 51 ปี เพราะคณะคาบาเรต์โชว์คณะแรกของไทยอย่าง ‘ทิฟฟานี่ โชว์ พัทยา’ (Tiffani show Pattaya) เริ่มวาดลวดลายครั้งแรกจนมีชื่อเสียงไปทั่วโลกราวปี 2517
เมื่อฝ่าเท้าได้สัมผัสเกือบทุกตารางนิ้วในเมืองหลวงของนางโชว์มาหลายปี จึงไม่น่าแปลกใจนักในเรื่องที่แม่สุมาเล่าให้ฟังถึงความฝันอีกอย่างหนึ่งของเธอ
“แม่อยากเป็นนางโชว์ แต่จับพลัดจับผลูมาทำงาน sex worker ก่อน”
แม่สุมาเล่าต่อว่า พออายุมากขึ้นสักหน่อยมีโอกาสได้ไปเต้นอะโกโก้ พอเริ่มเบื่อจึงได้ไปสมัครนางโชว์สานฝันตัวเอง
“แต่ตอนที่ไปเป็นนางโชว์ก็ยังทำ sex work อยู่นะ เพราะเงินที่ได้จากการเป็นนางโชว์ไม่ได้เยอะมาก ไม่พอกิน ใช้เงินเดือนชนเดือน ช่วงกลางเดือนเงินเราไม่มีก็ต้องไปเซ็นข้าวสาร หรือเซ็นกับข้าวคนที่รู้จักกิน พอเงินเดือนออกค่อยเอามาจ่ายเขาพร้อมค่าห้อง กับค่าใช้จ่ายอื่นๆ
แต่เราเห็นพี่ๆ ทำแล้วเราก็ชอบไงเลยอยากทำ อยากทำมานานแล้ว”
สมัยก่อนนางโชว์ไม่ค่อยยอมรับ sex worker จากคำบอกเล่าของแม่สุมาก็สามารถพูดได้ว่ามีการเหยียดคนทำงานบริการทางเพศอยู่
“ก็มีเหยียดๆ บ้างล่ะ สมัยนั้นนางโชว์กับคนทำงานขายบริการเลยจะไม่ค่อยกินเส้นกัน แต่เงินเราไม่พอกินเราก็ต้องหรอย (แอบ) เขาไปทำ”
“แล้วเราเคยทำ เราก็รู้อยู่ว่าต้องไปตรงไหน รู้ที่รู้ทางอยู่แล้ว คนที่คาบาเรต์เขาก็จะไม่รู้ว่าเรารับงานไปด้วย หลังๆ มาเขาก็คงรู้แหละ แต่ก็ทำเฉยๆ เพราะว่าเขาสนิทกับเรา แต่ส่วนมากนางโชว์เขาก็ไม่ได้มาคลุกคลีอะไรมากอยู่แล้ว เขาเป็นหน้าเป็นตา โชว์เสร็จเขาก็กลับบ้าน”
แม่สุมาทำงานรับลูกค้ามาเรื่อยๆ จนอายุได้ 40 กว่าปี จึงเพลาลง
“ไม่ได้เบื่อนะ ร่างกายก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเพราะเป็นคนที่ดูแลสุขภาพมาโดยตลอด แต่เราก็มีแฟนด้วยไงเลยรับงานน้อยลงเยอะ ผู้ชายเขาทำให้เราเปลี่ยนไปด้วย แต่เขาก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ บางวันเรายังหรอยๆ ไปรับงานอยู่” แม่สุมาเล่า
ปัจจุบันนี้ กิจวัตรทุกวันจันทร์-ศุกร์ของเธอคือการทำงานประจำ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ เธอจะตื่นแต่เช้าไปนั่งอยู่ที่พื้นที่จับแขกแสนคุ้นเคย ดื่มกาแฟตรงที่เธอเคยนั่งเป็นประจำ “พอไปก็จะไปเห็นคนนู้นคนนี้ที่เคยทำงานด้วยกัน หรือคนใหม่ๆ จะไปนั่งพูดคุยทำความรู้จักกัน สนุกดี ไปนั่งคลุกคลีอยู่กับเขานั่นแหละ บางวันไม่ได้รับลูกค้าด้วยซ้ำ แต่ก็ไปนั่งคุยเม้ามอยกับรุ่นเก่าๆ เด็กใหม่ๆ ยังชอบใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่”
ในวัยใกล้เกษียณเช่นนี้ แม่สุมาเล่าว่าเธอตระเตรียมแผนชีวิตมาแล้วตั้งแต่ 10 ปีก่อน เป็นช่วง 10 ปีที่เธอเดินทางไป-กลับ บ้านเกิดที่อุดรธานีบ่อยๆ ภารกิจหลักคือไปทำสวน ปลูกต้นไม้ ซื้อสัตว์ทั้งเป็ด ไก่ วัว ควาย ไว้ให้พี่สาวช่วยเลี้ยง เพื่อพอให้มีรายได้เมื่อกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านเกิด
“ทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว เพราะว่าเรารู้ว่าเราเป็นกะเทยแบบนี้จะไม่มีใครสนใจ เลยต้องเตรียมเอาไว้ก่อน” เธอกล่าว พร้อมย้ำว่าหากมีทรัพย์สินติดตัวบ้างเสียหน่อย คงพออุ่นใจได้บ้างว่าญาติพี่น้องจะไม่ทอดทิ้ง
ขณะที่เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันหลายคนไม่ได้มีเงื่อนไขที่พร้อมแบบเดียวกันกับเธอ ไม่มีประกันสังคม ไม่มีเงินเก็บ เมื่อร่างกายไม่เอื้อให้ขายบริการได้เหมือนเดิม จึงต้องอาศัยทำอะไรก็ได้ที่นึกออก โดยยังอยู่ในพื้นที่เดิมเพื่อกอดเกี่ยวสังคมเพื่อนฝูงเอาไว้
แม่สุมาเล่าถึงเพื่อนเก่าที่เคยขายเรือนร่างเคียงกันมานานหลายปี ตอนนี้เพื่อนคนนั้นผันตัวเป็นแม่บ้านทำความสะอาดบาร์อะโกโก้ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเวทีของตัวเอง เคยมีชีวิต เคยมีราคาในที่แห่งนี้มาก่อน
อีกคนเดินถือตะกร้า 2 ใบ เดินขายเครื่องสำอางตามบาร์ริมหาด บางวันก็รับกันคิ้วให้สาวๆ ที่รอขายบริการ แลกค่าจ้างหัวละ 20 บาท
ครั้งหนึ่งแม่สุมาเคยถามหนึ่งในสองคนนี้ว่า “ไม่คิดจะกลับไปอยู่บ้านหรือ?” คำตอบที่ได้รับกลับมาคือรอยยิ้มบางๆ กับเสียงที่อ่อนลงอย่างคนรู้ชะตา “ไม่รู้กลับไปแล้วจะไปใช้ชีวิตอยู่ยังไง กลับไปก็อยู่ไม่ได้หรอก”
แม่สุมารู้ดีว่าความสัมพันธ์ของแต่ละครอบครัวนั้นต่างกัน สำหรับบางคนบ้านคือจุดเริ่มต้นของบาดแผล ไม่ใช่ที่พักใจ หลายคนออกมาเพราะจำเป็น และคงไม่มีทางที่จะย้อนกลับไปได้อีก แม่สุมากล่าวอีกว่า สำหรับเธอโชคยังพอเข้าข้างอยู่บ้าง ความสัมพันธ์ของเธอกับครอบครัวยังดี ญาติพี่น้องยังอยู่ ยังพูดคุยและไปมาหาสู่ แม้ชีวิตจะออกนอกเส้นทางที่สังคมขีดไว้ แต่ความรักของครอบครัวยังมากพอที่จะรับฟังเธออยู่
บางคนมีบ้านให้กลับ ส่วนบางคนไม่มีแม้ที่จะให้วางร่างลงในตอนแก่ และนี่คือความต่างที่น้อยครั้งนักจะถูกพูดถึงในระบบเช่นนี้ ระบบที่วางผู้มีความหลากหลายทางเพศไว้เบื้องหลังเสมอ
สุรางค์ จันทร์แย้ม ผอ. SWING Thailand ให้มุมมองว่า โครงสร้างสังคมแบบระบบสองเพศ ไม่เคยเอื้อต่อการมีอยู่ของคนที่มีอัตลักษณ์หลากหลาย “เวลารัฐจะทำอะไรก็ตาม มักเริ่มจากการมองผ่านระบบสองเพศ” สุรางค์ พูดขึ้น
เธอกำลังพูดถึงกรอบคิดทั้งระบบที่ไม่เคยเผื่อใจให้เพศอื่นๆ ได้มีที่ทางอยู่ในนโยบาย ยิ่งเมื่อบุคคลเหล่านั้นประกอบอาชีพที่สังคมไม่ยอมรับ และกลายเป็นผู้สูงอายุในระบบที่ไร้การออกแบบ ยิ่งเหมือนการซ้อนทับของอคติหลายชั้นที่ไม่เปิดช่องให้พวกเขาเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานแม้แต่เรื่องสุขภาพ
“บางทีเขาแค่จะไปโรงพยาบาล แต่ก็ต้องมาเจอคำถามว่า ‘อายุขนาดนี้ยังมีเพศสัมพันธ์อยู่อีกเหรอ?’ มันไปแตะความรู้สึก ไปจี้ปมของเขา เขาก็เลยเลือกจะไม่เข้าไปเลยดีกว่า” สุรางค์เล่าถึงเสียงของผู้สูงอายุที่เป็นทั้ง LGBTQ+ และ sex worker ซึ่งต้องรับมือกับคำถามที่ทำให้รู้สึกผิดในตัวตนของตัวเองการเข้าถึงระบบสาธารณสุขไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนกลุ่มนี้ แม้แต่การรอคอยนานๆ ขั้นตอนที่ซับซ้อน แอปพลิเคชันที่ต้องสแกน เอกสารที่อ่านไม่เข้าใจ หรือแม้กระทั่งน้ำเสียงของเจ้าหน้าที่ที่ไม่รับฟัง ก็เพียงพอจะทำให้ผู้สูงวัยจำนวนมากเลือกที่จะไม่ไปเลยเสียยังดีกว่า
“ในเมืองใหญ่พอจะค่อยๆ ปรับตัวเข้าใจความหลากหลายทางเพศบ้างนะ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเขายอมรับจริงหรือแค่คุ้นเคยเฉยๆ” เธอเว้นจังหวะ “แต่ถ้าเป็นเมืองเล็กๆ ยังยากอยู่ ยากจริงๆ”
“สังคมพยายามกันเด็กไม่ให้เข้ามาในอาชีพนี้ แล้วก็ลืมไปว่าคนที่อยู่ในอาชีพนี้มานานแล้วล่ะ เขาจะอยู่กันยังไงต่อ” สุรางค์ อธิบายต่อถึงปัญหาที่ไม่ถูกมองเห็น
ในขณะที่สังคมยังเถียงกันไม่ตกถึงความชอบธรรมของ sex work ในภาพรวม เรากลับไม่มีพื้นที่สนทนาแม้แต่น้อยสำหรับผู้สูงอายุในอาชีพนี้ สุรางค์ชี้ว่าไม่มีการเตรียมตัว ไม่มีนโยบาย ไม่มีแม้แต่คำถามง่ายๆ ที่ว่า แล้วร่างกายและจิตใจของเขาจะเอาอย่างไรต่อไป“อายุมากขึ้น มันไม่ใช่แค่เรื่องเงินวันนี้พอไหม แต่มันคือพรุ่งนี้จะอยู่ยังไง ถ้าเจ็บป่วยจะไปไหน ไม่มีเงิน ไม่มีบ้าน จะอยู่กับใคร จะฝากชีวิตไว้กับใคร”
ร่างกายที่ผ่านการทำงานหนัก ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอดหรือทางทวารหนัก ต่างก็เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ อักเสบ และโรคเรื้อรังมากขึ้น ส่วนจิตใจก็แบกรับภาวะความกังวล การเปรียบเทียบตัวเองกับรุ่นน้อง ลูกค้าที่น้อยลงแต่กลับเรียกร้องมากขึ้น และภาวะซึมเศร้าที่ยังไม่มีใครรับรู้sex worker วัยกลางคนถึงวัยชรา เมื่อไม่มีรายได้ เจ็บป่วย ไม่มีหลักฐาน ไม่มีครอบครัว ไม่มีที่อยู่ หลายคนติดต่อใครไม่ได้ หลายคนไม่ถูกนับแม้แต่ในทะเบียนบ้าน คล้ายคลึงกับกรณีที่แม่สุมาเล่าถึงเพื่อนของเธอ
ทั้งนี้ สุรางค์ได้เล่าถึงกรณีที่ต้องเข้าช่วยเหลือ sex worker ที่ป่วยหนัก “เราไปรับเขาจากฟุตบาท ส่งโรงพยาบาล พอออกมาก็ต้องหาที่ให้พักฟื้น ต้องดูแลเรื่องอาหาร ยา บางคนเสียชีวิตโดยไม่เคยติดต่อบ้านมา 30 ปี เราต้องตามหาผู้ใหญ่บ้านตามทะเบียนราษฎร์ แจ้งข่าวกับพ่อแม่ให้รู้ว่าลูกตายแล้ว”
สุรางค์เน้นย้ำว่า หากไม่มีการออกแบบนโยบายรองรับตั้งแต่วันนี้ ความช่วยเหลือแบบเคสต่อเคสจะไม่มีทางพอในอนาคต“เรากำลังพูดถึงผู้คนที่ไม่เคยมีสวัสดิการเลย ไม่เคยถูกนับว่าเป็นแรงงาน ทั้งที่ตอนยังทำงาน พวกเขาก็สร้างรายได้ให้ประเทศไม่น้อย พอแก่ตัวลง กลับไม่มีที่ทางในระบบรัฐเลย”
ยิ่งไปกว่านั้น ระบบการช่วยเหลือผู้สูงอายุในประเทศยังยึดโยงกับเพศกำเนิด และอายุเกณฑ์ที่วัดจากตัวเลข มากกว่าสภาพร่างกายและชีวิตจริง “บางคนอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ แต่สภาพร่างกายเขาเข้าสู่วัยชราไปนานแล้ว แต่เขากลับยังไม่มีสิทธิจะขอรับความช่วยเหลืออะไรเลย”
ยามที่ฟ้าเปลี่ยนสีจากส้มปนเหลือง กลายเป็นสีม่วงหม่น ที่คล้ายว่าดูง่วงงุนลงเล็กน้อย แสงไฟจากร้านอาหารและบาร์เบียร์ยังสาดส่องตามริมทาง ฟุตบาทเยียบเย็นเป็นที่นอนชั่วคืนของใครบางคน ที่หนึ่งในบางคนก็เคยยืนรับลมทะเลคอยจับแขกช่วงกลางวัน และยืนใต้แสงไฟดึงดูดสายตาคนแปลกหน้าด้วยรอยยิ้มและเสื้อผ้าฉูดฉาดยามพลบค่ำ
ทว่า…วันนี้ พวกเขาหรือเธอต้องล่วงหล่นลงมาสู่เงามืดโดยที่ไม่มีอะไรมากางรับเพื่อนๆ ของแม่สุมาที่ผันตัวไปเป็นแม่บ้าน หรือกระทั่งคนที่คอยรับกันคิ้วให้สาวๆ พวกเธอเคยมีจุดยืนเดียวกัน เคยหารายได้จากร่างกาย และไม่เคยได้ยืนอยู่ในระบบใดของรัฐ แม้จะเสียภาษีทางอ้อมแทบทุกวันด้วยการบริโภคเช่นเดียวกับคนอื่น
การ ‘พบ’ ของพวกเธอในยามค่ำ ไม่ใช่เพียงการพบหน้าทักทาย แต่มันคือการยืนยันซึ่งกันและกันว่ายังมีอยู่ ยังมีชีวิต และยังมีกันและกัน
“บ้านพักคนชราพอจะเป็นทางเลือกของแม่ๆ ได้ไหมคะ” ฉันถามขึ้น เมื่อบทสนทนาเงียบลงสักพัก
แม่สุมาเงียบคิดไปชั่วขณะ ก่อนตอบออกมาอย่างแผ่วเบา “ตรงนั้นเขามีแค่ชายกับหญิง แล้วเพศอย่างเรามันจะไปอยู่ตรงไหน เหมือนระบบมีแต่ชายหญิง พวกเราจะไปอยู่ได้ยังไง ทีนี้คนรุ่นเราก็เลยอยู่กันตามมีตามเกิด เดินขายข้าวขายของกันอยู่แถวนี้แหละ แล้วก็อาศัยเพื่อนฝูงไปมาหาสู่กัน”
ช่วงค่ำหลังเลิกงาน หรือทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็นของวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จึงเป็นช่วงเวลาที่แม่สุมาจะทำสิ่งที่พูดกับเราไปก่อนหน้านี้ก็คือ ‘ไปมาหาสู่’ เพราะเธอรู้ ต่างคนต่างมีกันและกันเท่านั้น
แม้ตัวเธอจะมีบ้านเกิด มีครอบครัวที่พร้อมอ้าแขนต้อนรับ มีต้นไม้และสัตว์เลี้ยงที่เธอเตรียมไว้รองรับวันเกษียณในอนาคตอันใกล้ แม่สุมากลับบอกว่า เธอไม่สามารถมองชีวิตแค่ของตัวเองคนเดียวได้
“เราเห็นคนมีปัญหาต่างๆ ก็ช่วยเหลืออะไรเขาไม่ได้เพราะเราก็รู้ว่าเขาต้องทำมาหากิน แล้วเขาอยากได้ที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง คนเป็น LGBTQ+ ส่วนใหญ่เขาไม่ได้มีลูกหลานมาดูแล ไม่ได้มีครอบครัวคอยดูแลกันทุกคน เขาก็ต้องดูแลตัวเอง”
“แม่คาดหวังให้รัฐเข้ามาดูแลทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยแล้วก็เรื่องสุขภาพของคนที่เป็น sex worker อยากให้รัฐบาลมีงานอะไรที่สามารถให้เราทำได้ในวันที่เราแก่ตัวไปแล้ว” แม่สุมาเอ่ยออกมาอย่างต่อเนื่อง
ชีวิตบั้นปลายที่ไม่ได้ร่ำรวย ก็ใช่ว่าจะต้องจบลงอย่างเงียบเหงาไร้ศักดิ์ศรี หากรัฐจะมีบ้านพักที่เปิดกว้างต่อเพศทางเลือก มีงานเล็กๆ น้อยๆ ให้ทำ มีเพื่อนให้พูดคุยและได้พบกันในยามค่ำ ที่ไม่ใช่แค่แสงไฟนีออนที่ส่องลงบนฟุตบาทเย็นเยียบ แต่เป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นบ้าน เป็นชุมชนที่เข้าใจเพศและอาชีพของพวกเธอ นั่นคงดีไม่น้อย
“คนเรามันไม่ได้อยากได้อะไรมากหรอก แค่อยากมีที่ซุกหัวนอน ที่เราจะได้อยู่กับเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน อยู่กันอย่างคน ไม่ใช่อยู่ไปวันๆ แบบไม่รู้ชะตากรรม”
ท้ายที่สุด ทุกค่ำคืนคือการ ‘พบ’ ซ้ำๆ ระหว่างความทรงจำกับความจริง ความหวังกับคำถามที่ยังไร้คำตอบ ว่าผู้สูงวัย LGBTQ+ ที่เป็น sex worker ที่ไม่มีบ้าน ไม่มีระบบรองรับ จะไปทางไหนต่อในชีวิตที่เหลืออยู่ ก่อนที่ช่วงเวลาพลบค่ำของชีวิตจะมาถึง
ภาพถ่าย: จิตติมา หลักบุญ