ในช่วงเวลานี้ ไม่ว่าใครก็ต้องเห็นคำว่า ‘ลาบูบู้’ (Labubu) ผ่านตา ตุ๊กตาหน้ายิ้มแยกเขี้ยวขนฟู ที่กลายมาเป็นของสะสมใหม่ บางกระแสก็บอกว่าจะมาแทน ตุ๊กตาเฟอร์บี้ (Ferby) หรือตุ๊กตาบลายธ์ (Blythe) ในตลาด
แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร เราก็ต้องได้ยินคำว่า ‘อาร์ตทอย’ พ่วงเข้ามาด้วย อาร์ตทอยคืออะไรกันแน่ ระหว่างของเล่นที่เป็นศิลปะ หรือศิลปะในรูปแบบของเล่น?
‘อาร์ตทอย’ (Art Toy) คำนี้กลายเป็นที่สนใจหลังจากตลาดมองเห็นศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินรุ่นใหม่ ศิลปินสตรีท หรือแม้แต่ภาคการศึกษา อาร์ตทอยกลายเป็น ‘สิ่งที่ต้องมี’ สำหรับคนทำงานสายวัฒนธรรมจำนวนมาก
ความจำเป็นยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีก เมื่อภาครัฐประกาศผลักดันให้อาร์ตทอยเป็นแม่เหล็กดึงดูด เพื่อแคมเปญซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ในตอนนี้ แต่คำถามคือ อาร์ตทอย เป็นพระเอกคนใหม่ทางวัฒนธรรมจริงๆ หรือเป็นแค่ Buzzword ใหม่ ที่รัฐหยิบมาใช้ใต้ร่มใหญ่ของกระแสซอฟต์พาวเวอร์กันแน่?
ล่าสุด ดูจากการที่รัฐไทยต้อนรับลาบูบู้เวอร์ชันพิเศษด้วยชุดไทยที่สนามบิน ในขณะที่ถ้าไปถามว่า อาร์ตทอยโดยคนไทยนอกจาก Crybaby มีอะไรอีกบ้าง เราอาจไม่ได้คำตอบด้วยซ้ำ สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำว่าอาร์ตทอยเป็นเพียงกระแสที่รัฐมองว่าสามารถหากินได้ ในขณะที่ศิลปินและนักสร้างสรรค์กลับถูกละเลยเสียจนหมด
ในฐานะคนทั่วไป การตื่นเต้นกับอาร์ตทอยเป็นเรื่องปกติ มันน่ารัก มันมีหลายแบบ น่าสะสม จะวางประดับบ้านหรือห้อยกระเป๋าก็ได้ และบทความนี้ไม่ได้จะชี้นิ้วใส่คนที่สะสมอาร์ตทอย แล้วบอกว่า “เฮ้ย ไอ้ที่แกซื้ออยู่มันไร้สาระ” ไม่เลย เพราะตัวผู้เขียนเองก็มีติดบ้านเหมือนกัน
เราในฐานะคนทั่วไปมีสิทธิที่จะสนุกกับการได้ใช้จ่ายและสะสมสิ่งที่ให้ความเพลิดเพลินแก่เรา ไม่ว่าจะเป็นอาร์ตทอย กระเป๋าแบรนด์เนม รองเท้าผ้าใบลิมิเต็ด การเติมเกม หรือการสะสมอะไรก็ตามที่ให้คุณค่าแก่จิตใจของเรา แต่สิ่งที่ควรกลับมาทบทวนคือ นอกจากในฐานะปัจเจกแล้ว การสะสมอาร์ตทอยในระดับสถาบัน รวมไปถึงระดับภาครัฐ เป็นสิ่งที่สมควรมากน้อยแค่ไหน เมื่อดูจากประโยชน์ทางการศึกษาและทางวัฒนธรรมที่สังคมจะได้รับ
สิ่งที่กล่าวมาเกิดขึ้นไปแล้วในงาน Splash ที่จัดโดย THACCA ในภาคส่วนของศิลปะ และชูผลงานอาร์ตทอย Crybaby โดยศิลปินไทยขึ้นมาเป็นตัวอย่างที่ ‘ประสบความสำเร็จ’ รวมทั้งจัดแสดงเคียงข้างผลงานของ มณเฑียร บุญมา ศิลปินไทยร่วมสมัยรุ่นบุกเบิก ที่ทำงานศิลปะว่าด้วยความตาย ความป่วยไข้ การรักษาตัว และความเชื่อทางศาสนาพุทธ ผู้วางรากฐานและเป็นอาจารย์ผู้ผลิตศิลปินร่วมสมัยอีกหลายคน
เมื่อเห็นภาพที่ผลงานรุ่นเก่าและรุ่มใหม่ที่ต่างกันสุดขั้วมาวางเคียงข้างกันราวกับจะให้มีบทสนทนาแล้ว ก็ทำให้ยิ้มมุมปากแล้วก็เบะปากในเวลาเดียวกัน ว่าคนที่คิดคอนเซปต์ในการจัดแสดงงานนี้กำลังคิดอะไร …หรือไม่ได้คิดอะไรเลย
แน่นอนว่าอาร์ตทอยมันเท่ มันน่ารัก มันตลก มันสนุกที่จะมอง แต่นอกจากนั้นแล้วมันให้อะไรกับเราบ้าง เราได้สร้างบทสนทนาอะไรนอกจาก “โห อันนี้ซื้อมาขายต่อได้ 2-3 เท่าเลยนะ”
เมื่ออ้างอิงจากบทความในเว็บ Xinhuathai ที่นอกจากจะพูดถึงการเติบโตของตลาดอาร์ตทอยในภูมิภาคเอเชียแล้ว ยังกล่าวถึงอาร์ตทอยว่า “อาร์ตทอยเป็นมากกว่าของเล่นแบบดั้งเดิม เพราะมีคุณค่าทางอารมณ์ ความรู้สึก และความเป็นศิลปะยิ่งขึ้น”
แต่เมื่อยกตัวอย่างคอนเซปต์ของ Crybaby ที่มีแนวคิดเบื้องต้นที่ว่า ‘อยากเห็นผู้คนแสดงออกทางอารมณ์เศร้าและร้องไห้ได้ง่ายขึ้น’ เป็นแนวคิดที่ดีและเข้ากับยุคนี้มาก เพราะหลายคนคงรู้สึกเห็นด้วยกับการเก็บกดความรู้สึกไว้ใต้ความเป็นมืออาชีพ ที่จะต้องแสดงออกว่าเรามีความสุขท่ามกลางโลกที่น่าหดหู่แบบนี้
แต่ Crybaby ได้ออกมาพูดถึงต้นตอของภาวะซึมเศร้าร่วมกับที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญอยู่บ้างไหม? เท่าที่ผ่านมา แทบจะยังไม่เคยได้ยินว่า Crybaby ได้วิเคราะห์ความรู้สึกเหล่านี้เลย ทั้งความเครียด ความเศร้า ภาวะสงคราม หรือแม้แต่การเจาะลึกลงไปที่สภาวะทางจิตใจ ยังไม่มีการบันทึกไว้ว่ามีคนดูงาน Crybaby แล้วกระทบความรู้สึกจนทำให้ Cry ออกมาเลย
จริงอยู่ที่งานศิลปะไม่จำเป็นต้องมีหลายชั้นเชิงหรือมีความลึกซึ้งมากขนาดนั้น หรือต้องอิงไปกับประวัติศาสตร์และโลกรอบข้างมากมายถึงจะสามารถชื่นชมได้ แต่ถ้าหากตัวชิ้นงานศิลปะไม่สามารถมอบอิสระในการแสดงออกซึ่งความรู้สึกอึดอัดคับใจ หรือไม่สามารถช่วยให้เราเข้าใจมันได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของ ‘ศิลปะ’ หรือ ‘ของเล่น’ แล้ว คำกล่าวอ้างทั้งหมดก็อาจกลายเป็นเพียงกลยุทธ์ทางการตลาดที่อาศัยความน่ารักเท่านั้นเองหรือเปล่า?
จากบทความเดิมของ Xinhuathai ยังกล่าวอีกว่า “คนรุ่นใหม่กล้าแสดงออกทางตัวตน ผู้บริโภคจำนวนมากจึงเลือกอาร์ตทอย เพราะเป็นของเล่นที่แสดงตัวตนของเขาได้”
น่าสงสัยว่า ‘การแสดงออกทางตัวตน’ เป็นคำจำกัดความที่ครอบคลุมเฉพาะสิ่งที่เป็นของใช้ที่ซื้อขายได้เท่านั้นหรือเปล่า (ซึ่งก็น่าแปลก ที่คำนี้ออกมาจากสื่อของประเทศที่แค่การแสดงออกทางความเห็นยังทำได้ยาก)
เช่นนั้นแล้ว ‘การแสดงออกทางตัวตน’ ก็ช่างเป็นสิ่งที่ตื้นและง่ายเกินไปหรือเปล่า เพียงแค่มีเงินซื้อก็สามารถเป็นอะไรบางอย่างได้แล้ว โดยเฉพาะในยุคที่การผลิตถูกทำให้ต้นทุนต่ำลง เราสามารถซื้อเสื้อผ้าที่แสดงออกทางตัวตนของเราในราคาหลักสิบได้จากร้านค้าออนไลน์ ส่งตรงจากต่างประเทศ โดยที่ไม่ได้สงสัยถึงที่มาของสินค้าเหล่านั้น ความเป็นธรรมในการใช้แรงงาน หรือแม้แต่ผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเลย
และสุดท้ายแล้ว คุณค่าของ ‘ตัวตน’ ที่สร้างโดยการจ่ายเงินอย่างรวดเร็วอยู่ตรงไหน และเราเข้าใจตัวตนเหล่านั้นดีแค่ไหน หรือสุดท้ายแล้ว เราก็เป็นแค่ผลผลิตจากโรงงานล่องหนที่ประกอบสร้างเราขึ้นมากันแน่
แล้วถ้าตัวตนของเรากลายเป็นสิ่งที่ซ้ำกับคนอีกกี่ร้อยกี่พันคน เราคืออะไรกันแน่ นอกจากสินค้าอีกชิ้นที่พร้อมจะจูงใจให้คนอื่นเสียเงินให้กับสินค้าชิ้นต่อไป
เมื่อเทียบกันแล้ว ก็นึกถึงไอเดียของสแปม (Spam) อ้างอิงจากบทความโดย ฟินน์ เบอร์ตัน (Finn Bunton) ที่กล่าวถึง ‘สแปมบุคลิกภาพ’ (Personality Spamming) เวลาที่ใครสักคนโพสต์เรื่องตัวเองมากเกินไป - ทวีตข้อความอัปเดตกิจกรรมส่วนตัวมากเกินควร
จุดเริ่มต้นของคำว่าสแปมเองก็มาจากตอนหนึ่งในซีรีส์ Monty Python’s Flying Circus ในช่วงปี 1970 ที่ Spam อาหารกระป๋อง เข้ามาแทนที่อาหารเช้าอื่นๆ เช่น เบคอน แฮม ไข่ดาว จนเหลือแต่อาหารกระป๋อง Spam นี้ ดังนั้น การสแปมอะไรบางอย่าง ก็คือการป้อนข้อมูลอีกอย่างเข้าไปเรื่อยๆ จนสิ่งอื่นในพื้นที่นั้นถูกแทนที่ไปจนแทบมองไม่เห็น
ด้วยจำนวนที่มากจนเน้นให้ผลิตออกมาเรื่อยๆ โดยไม่ได้คำนึงถึง ‘ใจความ’ หรือเนื้อใน ซึ่งคงไม่ต่างอะไรกับการพูดถึงสแปม ว่าเนื้อหาไม่ได้ความสำคัญ ปริมาณต่างหากที่สำคัญ
คำว่า ‘สแปม’ กลายเป็นวัสดุที่จับต้องได้ จนสามารถปิดกั้นข้อมูลที่ไม่ต้องการทางกายภาพของศิลปินภาพเคลื่อนไหวและนักเขียน ฮิโต สเตอริล (Hito Steryl) ในบทความ ‘Digital Debris: Spam and Scam’ เมื่อเรามองว่าอาร์ตทอยส่วนหนึ่งที่ผลิตออกมาอย่างไม่จบสิ้นนั้นกลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่ควรมีในพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรีต้องจัดแสดง หอศิลป์จะต้องมี หรือแม้แต่นักศึกษาศิลปะจำเป็นต้องเรียนรู้ โดยที่พวกเราไม่ได้ศึกษาคุณค่าหรือประวัติศาสตร์ของอาร์ตทอย ว่ามีคุณค่าในเชิงการศึกษาอย่างไร
ดังนั้น การพุ่งเป้าความสนใจที่อาร์ตทอย เพียงเพราะเป็นสิ่งที่ขายได้โดยวงการศิลปะและภาครัฐ กำลังสแปมสิ่งนี้เข้าไปในระบบนิเวศทางวัฒนธรรม จนแทบมองไม่เห็นสิ่งอื่นนอกจากอาร์ตทอยหรือเปล่า?
ไม่ว่าจะชอบ หรือไม่ชอบอาร์ตทอย เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอาร์ตทอยหยอกล้อกับระบบที่นำตัวเองเข้าไปในยุคแห่งโซเชียลมีเดียและการป้อนข้อมูลไม่รู้จบเข้าสู่อัลกอริทึมได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทุกครั้งที่มีการออกซีรีส์หรือคาแรกเตอร์ใหม่ๆ เมื่อจุดติดจนเป็นที่รู้จักแล้ว อาร์ตทอยเป็นสิ่งที่ผลิตใหม่แทบจะไม่ยากเลย จากคาแรกเตอร์หนึ่งตัว สามารถสร้าง Spin Off ได้ในหลายสี หลายแบบ หลายท่าทาง หรือหน้าตา แน่นอนยิ่งถ้ามีชิ้น Secret หรือชิ้นที่เราเรียกกันติดปากว่า SSR (Super Super Rare) แล้ว การจะมีของที่หายากได้ ต้องมีจำนวนที่มากมายเพื่อทำให้ชิ้นที่หายากมีค่ามากขึ้น การอัปโหลดรูปและข้อมูลใหม่ๆ ลงฟีดก็ยิ่งตอกย้ำพฤติกรรมการไถไปเรื่อยๆ ของผู้บริโภคในยุคนี้
ด้วยจำนวนอันมหาศาลและราคาที่จับต้องได้ ไม่มีศิลปะอะไรขายง่ายไปกว่าอาร์ตทอยแล้ว
แต่ท่ามกลางจำนวนอันมากมายเหล่านี้ ความต้องการของอาร์ตทอยที่ล้นตลาดอยู่ตรงไหนกันแน่? การผลิตอาร์ตทอยที่เป็นเหมือนภาพ 3D ที่เรนเดอร์ออกมาเป็นชิ้นอันด้วยพลาสติกในจำนวนมหาศาลแบบที่กำลังเกิดขึ้น ให้อะไรกับผู้ชมหรือผู้สะสม นอกเสียจากการรับใช้ตลาด FOMO (Fear of Missing out) และการขายต่อเพื่อปั่นราคา?
แน่นอนว่ามีบริษัทอาร์ตทอยในไทยที่น่าจับตามองอย่าง Toylaxy ที่ผลิตอาร์ตทอยสำหรับศิลปินและนักออกแบบไทย รวมทั้งได้รับลิขสิทธิ์จาก Blackpink เพื่อผลิตอาร์ตทอยของวง Blackpink โดยตรง แต่สัดส่วนนี้เมื่อเทียบกับตลาดแล้ว ก็ยังเล็กมาก และมีราคาที่แพงกว่าอาร์ตทอยหลายเจ้า
ในมุมหนึ่งก็น่ายินดีที่ได้เห็นผลงานศิลปะขายในราคาที่จับต้องได้ง่ายขึ้น จนมีข้อโต้แย้งว่า อาร์ตทอยทำให้ศิลปะมีความเท่าเทียมมากขึ้น แต่ในสายธารการผลิตสินค้าเพื่อให้ราคาต่ำลง ใครบ้างที่ได้กำไรจากสมการอันยิ่งใหญ่เหล่านี้? การผลิตเพื่อให้ต้นทุนต่ำจากต่างประเทศ และนำเข้ามาในประเทศเรา พร้อมผ่านพ่อค้าคนกลางและผู้ซื้อที่นำงานไปขายต่อในราคาที่สูงขึ้น สุดท้ายแล้ว เม็ดเงินที่หมุนเวียนในตลาดอาร์ตทอยไปอยู่ตรงไหนกันแน่ ถ้าหากผู้ผลิตและผู้ซื้อต้นน้ำเป็นต่างประเทศ เรากำลังขาดดุลการค้าอยู่หรือเปล่า?
และที่สำคัญ กำลังการผลิตในจำนวนมากเพื่อให้ราคาขายต่ำนี้ ก็คัดกรองศิลปินที่ต้องการมีอาร์ตทอยของตัวเองออกไปหลายคน เนื่องจากมีต้นทุนไม่เพียงพอที่จะสร้างผลงานของตัวเอง เพื่อนำมาขายในราคาที่ ‘จับต้องได้’
สุดท้ายแล้ว ศิลปินหรือนักออกแบบที่เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดของสินค้านี้ รวมทั้งแรงงานด้านวัฒนธรรมในไทยกำลังได้ผลประโยชน์มากแค่ไหนในสมการนี้กันแน่?
และหากศิลปินไม่สามารถสร้างผลงานของตัวเองได้แล้ว อาร์ตทอยจะสร้างความเท่าเทียมให้กับศิลปินทุกคนได้อย่างไร?
สิ่งที่ควรโดนชี้นิ้วกล่าวโทษที่สุด อาจเป็นการตลาดในวงการศิลปะที่อาร์ตทอยนำมาใช้กับการขายของตัวเอง ด้วยการเก็งกำไรราคาและปั่นความนิยมของศิลปิน จนทำให้ศิลปะกลายเป็นสิ่งที่หลายคนเอื้อมไม่ถึง การเดินในงานเทศกาลศิลปะ หรือ Art Fair อาจให้ความรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในเขาวงกต เต็มไปด้วยภาพวาดและประติมากรรมสีสันสดใส ซึ่งทุกอย่างดูรวดเร็วและน่าเบื่อ ซึ่งอาจเป็นเพราะความอ่อนล้าจากข้อมูลมหาศาลที่ผลงานศิลปะเหล่านั้นมอบให้ และการพูดคุยกับตัวแทนการขายต่างๆ ที่พยายามให้ความรู้เกี่ยวกับผลงานเหล่านี้
ขณะที่การเดินชมงานแสดงอาร์ตทอยนั้น ไม่ได้ให้ความรู้สึกเหนื่อยล้าแบบนั้น ส่วนหนึ่งเพราะอาร์ตทอยไม่ได้เชื้อเชิญให้เราสร้างบทสนทนา หรือตั้งคำถามกับสิ่งที่อยู่รอบตัวเราและตัวอาร์ตทอย แทบจะไม่มีบรรยากาศที่สื่อว่าอาร์ตทอยมีคุณค่าแม้แต่จากผู้จัดงานเอง เพราะเมื่อเราดูจากการจัดวางในกล่องใสเสี่ยงจะล้มแหล่ไม่ล้มแหล่ในงานที่คนพลุกพล่านแบบนี้ การใช้แสงไฟส่องสว่างไปทั่วถึงทุกชิ้น แทบไม่มีชิ้นไหนที่โดดเด่นหรือน่าสนใจขึ้นมา มีเพียงแค่ชื่อของเล่น แต่แทบจะไม่มีชื่อของศิลปินเลย
รอบงาน Expo เองก็เต็มไปด้วยตัวแทนผู้ขายที่พร้อมจะขายของเล่นชิ้น Limited Edition มือสอง ในราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เราอาจจะโทษระบบเก็งกำไรในตลาดศิลปะได้ แต่อย่างน้อยสิ่งที่แกลเลอรีและวงการศิลปะทำก็คือ การให้เกียรติศิลปินด้วยการยกย่องชื่อของพวกเขา ในวงการศิลปะยังมีการเสวนา มีการถกเถียง และคิวเรตผลงานให้เกิดบทสนทนาในผลงานนั้น ให้ผลงานศิลปะเป็นได้มากกว่าสิ่งที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า
นี่อาจจะเป็นความต่างที่สำคัญของอาร์ตทอยกับงานศิลปะ เมื่อเทียบกันแล้ว เราจะรู้จักศิลปินที่สร้าง Labubu หรือ Crybaby บ้างไหม ถ้าสื่อไม่ได้ขุดคุ้ยข้อมูลออกมา? ชื่อของพวกเขาไม่แม้แต่จะปรากฏบนเว็บไซต์ของ Pop Mart ที่เป็นตัวแทนขายรายใหญ่ด้วยซ้ำ
สิ่งที่จะช่วยส่องแสงให้กับกระแสของอาร์ตทอย อาจจะเป็นเรื่องของการออกแบบของเล่น (Toy Design) เองก็ได้ การโฟกัสไปที่ของเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น เอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น ก็น่าจะเป็นประโยชน์ได้ ยกตัวอย่างเช่น ปาป้า-ทูทู่ ตัวละครปลาทูน่ารักประจำจังหวัดสมุทรสาคร ที่ออกแบบได้อย่างน่ารักและน่าจดจำ
แต่การออกแบบที่หยิบยกอะไรบางอย่างมา จะสร้างประโยชน์ไปในทางไหน? ถ้าเราจะหยิบอะไรบางอย่างมาเชิดชูอีกสักชิ้น แล้วคอยปั่นกระแสจากมันไปเรื่อยๆ แสงไฟแห่งความน่าสนใจก็คงมอดลงในไม่ช้า เช่นเดียวกับอัมพวาและแสงหิ่งห้อย ที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่นั้นมานาน แต่พวกมันหายไปอย่างรวดเร็ว เมื่อสภาพแวดล้อมถูกสร้างเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแออัด แสงไฟจากร้านค้ากลบแสงจากแมลงตัวเล็ก จนพวกมันแทบจะสูญพันธุ์ไปเกือบหมด ถึงอย่างนั้นเสื้อยืดลายหิ่งห้อยก็ยังคงวางขายอยู่ทั่วอัมพวา
และเมื่อเรามองในมุมนี้ ที่รัฐบาลที่พยายามชูอาร์ตทอยให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ใหม่ จะต่างอะไรกับกรณีกางเกงช้าง ที่มีความพยายามผลักดันให้เกิดหนึ่งจังหวัด หนึ่งกางเกงช้าง แบรนด์แฟชั่นต่างๆ ผลิตกางเกงช้างในดีไซน์ของตัวเองออกมา แต่กลับมีข่าวว่ากางเกงช้างที่ขายทั่วไปในกรุงเทพฯ ถูกผลิตในจีน
เมื่อมองในมุมนี้แล้ว การพยายามชูอาร์ตทอยให้เป็นกางเกงช้างแบบใหม่ ก็ไม่ต่างกับการกัดกินวัฒนธรรมที่มีมาก่อนหน้าหลายสิบปี สูบเลือดเนื้อของมันไปหมด แล้วโยนทิ้งไปเมื่อมันเหือดแห้ง เช่นเดียวกับแสงของหิ่งห้อยที่ดับมอดไปจนเกือบหมด
ดังนั้น ถ้าขอเสนอแนวคิดที่ยั่งยืนกว่านี้ คงเป็นการดูแลและส่งเสริมภาคส่วนของวัฒนธรรม โดยเปลี่ยนจากการเริ่มต้นโจทย์ด้วยคำถามว่า "เราจะพัฒนาสิ่งนี้ได้อย่างไร" แทนที่จะเป็น "เราจะขายมันอย่างไร" ดีกว่าไหม เพราะท้ายที่สุดแล้ว การนำสิ่งต่างๆ มาสร้างเป็นสินค้า (Commodify) จะค่อยๆ กัดกินคุณค่าของมัน กลายเป็นเพียงภาพลักษณ์ที่พร้อมจะถูกผลิตซ้ำในโรงงาน ขณะที่วัฒนธรรมที่ควรจะเบ่งบาน วัฒนธรรมที่ควรจะปรับเปลี่ยนไปตามการสร้างสรรค์โดยผู้คน กลับถูกตัดตอนตั้งแต่ยังเป็นดอกตูม