Humberger Menu

Monet: The Late Waterscapes นิทรรศการว่าด้วยชุดภาพสระดอกบัวของโมเนต์ และความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับคนญี่ปุ่น

ภาพ: กรุณพร เชษฐพยัคฆ์


เราไม่ใช่เด็กสายศิลป์ที่เรียนเกี่ยวกับด้านศิลปะเชิงลึก แต่ถ้าอ้างอิงจากความทรงจำในคาบวิชาศิลปะสมัยมัธยมปลายที่ครูสอนประวัติศาสตร์ศิลปะพูดถึงเหล่าจิตรกรชื่อดัง รวมไปถึงผลงานรูปภาพชื่อก้องโลก นั่นก็คงถือเป็นความสัมพันธ์ของเราที่เกิดกับ โคลด โมเนต์ ศิลปินผู้บุกเบิกภาพยุคอิมเพรสชันนิสม์ และเป็นคนทำให้เราสนใจงานศิลปะเป็นครั้งแรก

ด้วยความที่เป็นคนชอบดอกไม้และสีสันสดใส รูปภาพดอกไม้นานาชนิด รวมถึงแสงเงาสะท้อนบนภาพบ่อบัวพร้อมสีสันหลากหลายที่แต่งแต้มลงไป นั่นคือเหตุผลง่ายๆ ที่เด็กมัธยมปลายจะตัดสินใจเลือกโมเนต์เป็นศิลปินคนโปรด แต่เราไม่ได้ต่อยอดความชอบนั้นไปสู่การเรียนด้านศิลปะอย่างลึกซึ้งมากนัก เพราะการได้เห็นผลงานของโมเนต์ก็เป็นความสบายใจแล้ว

และเมื่อพบว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะตะวันตกแห่งชาติ กรุงโตเกียวกำลังจะจัดแสดงนิทรรศการภาพวาดของโมเนต์ในช่วงเวลาที่เรากำลังมีแพลนจะไปโตเกียวอยู่แล้วนั้น เราจึงไม่พลาดที่จะจดลงในลิสต์สถานที่ที่ต้องไปให้ได้อย่างแน่นอน

 

นิทรรศการ ‘Monet: The Late Waterscapes’ เป็นการรวบรวม ‘ชุดภาพสระดอกบัว’ ของโมเนต์กว่า 60 ชิ้น ซึ่งโมเนต์วาดขึ้นในช่วงที่เขาย้ายไปใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายในหมู่บ้านจิแวร์นี แคว้นนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส 

การวาดภาพสระดอกบัวนี้ เกิดจากความคลั่งไคล้วัฒนธรรมและสุนทรียะของญี่ปุ่นที่ได้รับการเผยแพร่และเป็นที่นิยมไปทั่วฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 19 โมเนต์จึงนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้าง ‘สระดอกบัว’ ที่มี ‘สะพานญี่ปุ่น’ (Japanese Bridge) ในสวนนั่นเอง 

และด้วยนิสัยของโมเนต์ที่ไม่ชอบเปิดเผยโปรเจกต์งานที่ยังวาดไม่เสร็จสิ้น เขาจึงเก็บผลงานส่วนใหญ่ของสระดอกบัวเอาไว้ในสตูดิโอของเขาจนกระทั่งสิ้นชีวิต แต่บุคคลเดียวที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปชมก่อน คือ มัตซึกาตะ โคจิโร่ 

โคจิโร่ เป็นนักอุตสาหกรรมและนักสะสมงานศิลปะชาวญี่ปุ่นที่ได้เดินทางไปซื้อภาพโดยตรงกับโมเนต์ที่จิแวร์นีในปี 1921 เขาสะสมผลงานของโมเนต์มากกว่า 30 ชิ้น เพื่อที่จะนำไปรวมกับผลงานศิลปินคนอื่นๆ และจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะเพื่อให้ชาวญี่ปุ่นได้มีโอกาสดูและพัฒนาฝีมือตัวเอง โคจิโร่เก็บผลงานไว้ทั้งญี่ปุ่น อังกฤษ และฝรั่งเศสเป็นเวลาหลายสิบปี แต่แล้วเมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลฝรั่งเศสได้เข้ายึดทรัพย์สินของเขาในฝรั่งเศส ก่อนจะส่งคืนเพื่อฟื้นความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นในเวลาต่อมา ทำให้ผลงานศิลปะที่โคจิโร่สะสมเอาไว้กลายมาเป็นคอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์ศิลปะตะวันตกแห่งชาติ กรุงโตเกียวในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงผลงานโมเนต์ด้วย

พิพิธภัณฑ์ศิลปะตะวันตกแห่งชาติ กรุงโตเกียว ตั้งอยู่บริเวณสวนอุเอโนะ เดินทางด้วยรถไฟจะลงสถานีอุเอโนะ เมื่อเราถึงที่หมายก็เห็นป้ายโปสเตอร์นิทรรศการขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านในสถานีรถไฟเหมือนเป็นสัญญาณบอกเราว่ามาถูกที่แล้ว 

เดินออกจากสถานีรถไฟจนเกือบถึงบริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์ก็เห็นแถวยาวเหยียดของผู้คนต่อคิวรอซื้อตั๋วเข้าชมงาน ผู้ชมที่มาในวันนี้มีมากกว่าที่เราคิด จนไม่อยากเชื่อว่าเป็นวันธรรมดา ทำให้เรากับเพื่อนชาวญี่ปุ่นตัดสินใจซื้อตั๋วออนไลน์ผ่านเว็บไซต์แทน จึงพลาดการได้เก็บตั๋วกระดาษที่มีภาพวาดบึงดอกบัวของโมเนต์ไป

ถัดจากจุดขายตั๋ว หน้าพิพิธภัณฑ์มีบิลบอร์ดโปสเตอร์ของงานติดอยู่ ชาวญี่ปุ่นผู้สวมชุดยูกาตะพร้อมถุงช็อปปิ้งของที่ระลึกเดินมาขอให้เราถ่ายรูปให้ จึงสังเกตได้ว่าจุดนี้เป็นแลนด์มาร์กเช็กอินของทุกคน 

จากนั้นก็ถึงเวลาที่เราจะเริ่มเดินเข้าไปชมนิทรรศการกันแล้ว

‘These landscapes of water and reflections have become an obsession. It is beyond my powers as an old man, and yet I want to arrive at rendering what I feel.’ 

'ภูมิทัศน์ของผืนน้ำและเงาสะท้อนกลายเป็นสิ่งที่ครอบงำจิตใจของฉัน มันเกินความสามารถของฉันในฐานะชายชรา แต่ฉันก็อยากจะแสดงสิ่งที่ฉันรู้สึกออกมา' 

– จดหมายของโมเนต์ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 1908

 

นี่คือข้อความส่วนหนึ่งที่อยู่บนผนังในห้องจัดแสดง ผลงานทั้ง 64 ชิ้นถูกแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ร้อยเรียงเรื่องราวให้เราเห็นชีวิต ความสนใจ และความเปลี่ยนแปลงในงานของโมเนต์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุค โดยจะมีโซนที่ผู้ชมไม่สามารถถ่ายรูปได้ ทำให้เราต้องใช้เพียงดวงตาในการดื่มด่ำกับผลงานศิลปะที่หาชมได้ยาก เนื่องจากภาพสระดอกบัวที่นำมาจัดแสดงนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่คอลเลกชันของพิพิธภัณฑ์ศิลปะตะวันตกแห่งชาติ กรุงโตเกียว แต่อีกกว่า 50 ชิ้นนั้นมาจากคอลเลกชันของ ‘พิพิธภัณฑ์มาร์มอตตอง โมเนต์’ (Musée Marmottan Monet) ในปารีส พร้อมทั้งผลงานของโมเนต์ชิ้นอื่นๆ ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะต่างๆ ทั่วญี่ปุ่น เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะยามากาตะ (Museum of Art, Yamagata) ก็นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ด้วย ทำให้นิทรรศการนี้เป็นการรวบรวมผลงานสระดอกบัวของโมเนต์ที่มากที่สุดที่เคยจัดในญี่ปุ่น

ผู้ชมที่เข้ามาในนิทรรศการมีตั้งแต่คนชรา คู่รักวัยกลางคน นักเรียน คุณแม่และเด็กน้อยที่อยู่ในรถเข็น ทำให้เราเห็นว่าผลงานของโมเนต์เป็นที่ชื่นชอบ และได้รับความนิยมในกลุ่มคนญี่ปุ่นทุกเพศทุกวัยจริงๆ ทุกรูปภาพสระดอกบัวต่างแน่นขนัดไปด้วยผู้คนที่ไหลเข้ามาต่อเนื่อง เดินกันเข้ามาเป็นแถวตามทิศทางบ้าง ไร้ทิศทางบ้าง และกระจายตัวอยู่ทั่วห้องนิทรรศการ

เราเริ่มต้นดูภาพวาดของโมเนต์ด้วยความตื่นเต้น เพราะนอกจากรูปภาพโด่งดังที่มักปรากฏอยู่ในอินเทอร์เน็ตแล้ว ในวันนี้เป็นครั้งแรกที่เราได้ดูหลายๆ ผลงานที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน เราจึงต้องมองดูทีละภาพ และไล่อ่านคำอธิบายของภาพที่ติดอยู่ใกล้รูป 

สำหรับเรา การได้ดูภาพของศิลปินที่ชอบก็เหมือนการวาดภาพจินตนาการในหัวถึงตัวตนของโมเนต์ และการเติบโตของเขาผ่านวัตถุต่างๆ ที่เขาหยิบจับมาวาดลวดลาย ไม่ว่าจะเป็นสะพาน วิวทิวทัศน์ ต้นไม้ และบ่อดอกบัว เราสัมผัสได้ถึงความสนใจของโมเนต์ที่มีต่อดอกบัวและบึงไม้ต่างๆ เพราะผลงานเหล่านี้แสดงออกถึงความหลงใหล คลั่งไคล้ในธรรมชาติที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่ขาดไม่ได้ของจิตรกรผู้นี้

หลังเดินชมภาพวาดของโมเนต์ไปได้สองส่วน เราก็เดินไปสู่ส่วนที่สาม ซึ่งเป็นห้องชั้นล่างที่สามารถถ่ายรูปได้ เมื่อได้รับอนุญาต หลายคนก็ไม่พลาดที่จะคว้าโทรศัพท์ หรือกล้องถ่ายรูปขึ้นมาเพื่อขอบันทึกภาพเหล่านี้เก็บไว้บ้าง ซึ่งเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น

หนึ่งในภาพที่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูปได้ คือ ภาพบึงดอกบัวขนาดใหญ่ที่มีความสูงกว่า 2 เมตร ซึ่งเป็นภาพไฮไลต์ของงานครั้งนี้และยังถูกนำมาทำเป็นภาพโปสเตอร์ด้วย อีกภาพที่สำคัญ คือภาพวาดของโมเนต์ที่ถูกค้นพบภายหลัง และเป็นภาพหนึ่งเดียวที่ได้รับความเสียหาย ทำให้ลักษณะบึงบัวแตกต่างจากภาพอื่นๆ 

หลังจากที่เรารู้จักโมเนต์ผ่านภาพวาดสีสันสดใสของดอกบัวหลายสิบชิ้น นิทรรศการในส่วนที่สี่ ทำให้เราเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวศิลปิน เริ่มต้นด้วยภาพวิดีโอขาวดำไร้เสียง ซึ่งเป็นหนึ่งในวิดีโอที่บันทึกภาพของโมเนต์ตอนนั้นเอาไว้ จากนั้นตัวตนขาวดำที่เคลื่อนไหวในจอค่อยๆ นำเราไปสู่ภาพสีฉูดฉาด สร้างความตื่นเต้น ระทึก และเร้าใจมากขึ้นกว่าภาพแรกๆ ที่เป็นสีขมุกขมัว โทนอ่อน และให้ความรู้สึกสงบ  

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นในภาพวาดของโมเนต์ หลังจากที่เขาต้องเผชิญกับความยากลำบาก ทั้งการสูญเสียสมาชิกในครอบครัว และความบกพร่องทางสายตาจากโรคต้อกระจกที่ทำให้เขามองสีต่างๆ ผิดเพี้ยนไป และแม้จะเห็นได้ชัดว่าสไตล์งานเปลี่ยนไป แต่ในฐานะผู้ชม เรากลับทึ่งและชื่นชอบในผลงานแนวนี้ไม่แพ้กับภาพบึงดอกบัวเลย

ความสนใจของโมเนต์ต่อประเทศญี่ปุ่นยังคงสะท้อนชัดในผลงานช่วงนี้เช่นกัน เขาได้วาดภาพสะพานญี่ปุ่นในหลายชิ้น เพื่อนชาวญี่ปุ่นที่มาด้วยกันถึงกับตั้งคำถามว่า “โมเนต์เคยมาญี่ปุ่นด้วยเหรอ?” ซึ่งคำตอบนั้นคือ เขาไม่เคยเดินทางเยือนญี่ปุ่น เพียงแต่ในช่วงศตวรรษที่ 19 วัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นที่นิยมในฝรั่งเศสอย่างมาก จนมีชื่อเรียกการคลั่งไคล้ในสุนทรียะแบบญี่ปุ่นว่า Japonisme (เป็นคำนิยามในภาษาฝรั่งเศส ส่วนภาษาอังกฤษเรียกว่า Japonism) โมเนต์ก็เป็นกลุ่ม Japonisme ที่สะสมภาพพิมพ์และภาพวาดญี่ปุ่นไว้หลายร้อยชิ้น เขาได้รับอิทธิพลการวาดภาพธรรมชาติ รวมถึงการจัดสวนสระบัวมาจากความชื่นชอบในวัฒนธรรมญี่ปุ่นนี่เอง

ในส่วน Epilogue ส่งท้ายของนิทรรศการเป็นการเล่าเรื่องชีวิตส่วนตัวและความสนใจทางการเมืองของโมเนต์ ช่วงที่เขาอยู่จิแวร์นีกำลังเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในนิทรรศการนี้จึงจัดแสดงสองภาพที่โมเนต์มอบให้กับประเทศฝรั่งเศส โดยเขามอบให้ ฌอร์ฌ เกลม็องโซ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสและเพื่อนรักของเขา ในปี 1922 เพื่อต้องการฉลองวันแห่งชัยชนะของประเทศ ภาพวาดสองชิ้นนี้จึงถือเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพหลังสิ้นสุดสงครามด้วย 

ชาวญี่ปุ่นกับความคลั่งไคล้ในโมเนต์และบึงบัว

หลังได้รับความรู้สึกเหมือนดวงตาเคลือบทองจากการรับชมภาพวาดของโมเนต์ทั้ง 64 ภาพแล้ว แผนต่อไปของเราคือการเข้าร้านค้าเพื่อซื้อของที่ระลึก ซึ่งมีคนต่อคิวยาวเหยียดเลยออกไปถึงนอกอาคาร เราต้องต่อคิวประมาณ 30 นาทีก่อนจะได้เข้าไป ของที่ระลึกที่เราได้เห็นนั้นแสดงออกชัดถึงการสร้างสรรค์ในความเป็นญี่ปุ่นที่มาบรรจบกับผลงานของโมเนต์ เพราะในร้านเต็มไปด้วยสารพัดของกุ๊กกิ๊กลายดอกบัว ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าผ้า แฟ้ม แก้วน้ำ ไปจนถึงของกินอย่างคุกกี้ และหนึ่งในสินค้าที่ประทับใจมากๆ คือ ถุงกระดาษที่มีภาพดอกบัวและบึงบัวของโมเนต์ในราคา 300 เยน ทั้งสวยงามและราคาย่อมเยา

 

การเห็นความนิยมของนิทรรศการ ‘Monet: The Late Waterscapes’ ในโตเกียวครั้งนี้ ทำให้เราอดตั้งคำถามถึงความชื่นชอบ และคลั่งไคล้โมเนต์ของชาวญี่ปุ่นไปไม่ได้ โดยเพื่อนชาวญี่ปุ่นบอกเราว่า ทั่วญี่ปุ่นเองก็มีสถานที่ท่องเที่ยวบ่อบัวที่ตั้งชื่อเกี่ยวกับโมเนต์มากมาย ไม่ว่าจะบ่อน้ำนะโมนากิในจังหวัดกิฟุ หรือที่เรียกว่าบ่อบัวโมเนต์, บ้านโมเนต์ ในจังหวัดชิซุโอกะที่สร้างจำลองจากบ้านจริงๆ ของโมเนต์ หรือสวนโมเนต์ ในหมู่บ้านคิตางาวะ จังหวัดโคจิ

ความสงสัยนี้ ยังทำให้เราค้นพบบล็อกของคนญี่ปุ่นที่เล่าว่า เขาเองก็ตั้งคำถามว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงชอบโมเนต์หลังจากที่เจอชาวฝรั่งเศสบอกกับเขาว่า "คนส่วนใหญ่ที่อยู่หน้าภาพวาดของโมเนต์ในพิพิธภัณฑ์ฝรั่งเศสเป็นชาวญี่ปุ่น" แม้จะไม่รู้ว่า ทำไมชาวฝรั่งเศสคนนั้นถึงคิดว่าคนที่ไปดูภาพเหล่านั้น คือคนญี่ปุ่น แต่ถ้าลองไปถามคนฝรั่งเศสคนอื่นๆ เขาก็มีความคิดแบบนี้เช่นกัน และถ้าคุณลองไปถามชาวญี่ปุ่นว่า “ใครคือจิตรกรคนโปรดของคุณ” คําตอบมักจะเป็น "โมเนต์"

 

ชาวญี่ปุ่นหลายคนได้ให้คำตอบของความสงสัยนี้ว่า นั่นคงเป็นเพราะองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในงานของโมเนต์มีกลิ่นอายของญี่ปุ่น หรือส่วนผสมของความคลั่งไคล้สุนทรียะญี่ปุ่นที่คนฝรั่งเศสเรียกว่า Japonisme ทำให้สวนดอกบัว และภาพวาดต่างๆ มีความรู้สึกเหมือนสวนญี่ปุ่น 

นอกจากนี้คนญี่ปุ่นยังมองว่า ความหลงใหลในแสงและการสะท้อนผิวน้ำของโมเนต์ ยังคล้ายกับวัฒนธรรมความเงียบของญี่ปุ่น รวมทั้งทักษะการวาดผิวน้ำและแสงสะท้อนที่พิถีพิถันในรายละเอียดของโมเนต์ ยังเหมือนนิสัยของคนญี่ปุ่นด้วย

 

“หากคุณรู้สึกว่าลวดลายที่ใช้ในภาพวาดอยู่ใกล้ตัวคุณ นั่นคงทำให้คุณรู้สึกเหมือนมีความคุ้นเคย และรู้สึกหลงใหลในงานนั้นได้ง่าย” ซึ่งภาพของโมเนต์ให้ความรู้สึกแบบนั้น ชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งกล่าวเป็นข้อสรุปของคำตอบนี้

สำหรับนิทรรศการ Monet: The Late Waterscapes จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะตะวันตกแห่งชาติ กรุงโตเกียว (The National Museum of Western Art) ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2024 จนถึง 11 กุมภาพันธ์ 2025 

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
กรุณพร เชษฐพยัคฆ์