ทำอย่างไรหากญาติ “เสียชีวิต” เพราะวัคซีนโควิด-19 คุยกับ สปสช.และญาติของผู้เสียชีวิต
Auto Play
ทำอย่างไรหากญาติ “เสียชีวิต” เพราะวัคซีนโควิด-19 คุยกับ สปสช.และญาติของผู้เสียชีวิต
"ผมเจ๋งนะครับ" เรื่องราวชีวิตของคน ตจว. กับค่าครองชีพในเมืองหลวง
ว่าด้วย 6 ตุลา 19 และ มาตรา 112 พลังหนุ่มสาวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง คุยกับ ‘ปริญญา เทวานฤมิตรกุล’
จากกรณีที่นายประมาณ แต้เถา หลานของผู้เสียชีวิตมาร้องขอความเป็นธรรมจากสื่อมวลชน เหตุเกิดจากนายถาวร เขียววิจิตร ญาติของเขาเข้ารับวัคซีนสูตรไขว้เข็มแรก ‘ชิโนแวค’ เข็มสอง ‘แอสตราเซนเนกา’ แล้วมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลต่อเนื่องรวม 17 วัน แล้วเสียชีวิตในที่สุด โดยแพทย์แจ้งสาเหตุการเสียชีวิตคลุมเครือ อาทิ ถุงลมโป่งพอง หัวใจล้มเหลว โรคประจำตัว ทั้งๆ ที่นายถาวรสุขภาพปกติแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวหรือมีประวัตินอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมาก่อน
หลานของผู้เสียชีวิตกล่าวว่า การดำเนินเรื่องขอความเป็นธรรมหรือรับการเยียวยาก็ไม่คืบหน้า เพราะโรงพยาบาลว่าจะทำเรื่องยื่นเอกสารให้ ยืนยันว่านายถาวร เขียววิจิตร ไม่ได้เสียชีวิตจากวัคซีน แต่เสียชีวิตจากโรคประจำตัว แล้วญาติก็ไม่ทราบว่าสาเหตุของภาครัฐที่ไม่ระบุว่าเกิดจากวัคซีนคืออะไร จึงอยากให้สืบต้นสายปลายเหตุกระบวนการต้นน้ำคือ ฉีดวัคซีนแล้วมีภาวะอะไรตามมา เพราะว่าถ้าเป็นสภาพนี้ก็ไม่มีความถูกต้อง การยื่นเอกสารต่างๆ ก็ไม่สามารถทำได้ตามนโยบายของภาครัฐเลย
“ผมขอความช่วยเหลือ ขอความเป็นธรรมให้รู้ว่าวัคซีนมันมีผลอย่างไร อยากให้เคสของผมเป็นเคสสุดท้าย แล้วก็เห็นหลายเคสไม่เคยมีคำว่าฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิตเลยเป็นอย่างนี้มาตลอด ผมไม่รู้จะขอความยุติธรรมจากใคร ผมก็สงสัยว่าถ้าเขาไม่ฉีดวัคซีน ไม่เป็นนโยบายภาครัฐมาบีบบังคับ เขาจะมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาวครอบครัวมันสูญเสีย มันไม่คุ้มกับการที่จะมาเยียวยาหรืออะไรก็ตามหลายชีวิตต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปเกี่ยวกับนโยบาย เกี่ยวกับแผนที่วางมาตรการ มาตีกรอบให้พวกผมเดิน แต่ถ้าผมไม่ทำตามผมก็ดำรงชีพไม่ได้ ผมอยากให้กระบวนการภาครัฐ ก่อนจะฉีดหรืออะไรให้มีการคัดกรองที่ดีมากกว่านี้ และอย่างเคสนี้ไม่เคยมีประวัติการรักษาเลยมาฉีดแล้วก็สรุปผลการตายออกมาคือ โรคประจำตัว” นายประมาณ กล่าว
จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ‘ไทยรัฐพลัส’ จึงไปสัมภาษณ์เลขาธิการ สปสช. เพื่อหาข้อสรุปและทางออกของปัญหานี้ว่า หากญาติของผู้เสียชีวิตยืนยันว่า คนในครอบครัวเสียชีวิตหลังจากไปฉีดวัคซีนแต่โรงพยาบาลกลับไม่ระบุว่า สาเหุตการเสียชีวิตมาจากวัคซีน แล้วแบบนี้จะเรียกร้องความเป็นธรรมได้จากหน่วยงานไหน
ถ้าหากการให้บริการทางการแพทย์ใด ๆ เกิดความเสียหายกับพี่น้องประชาชน ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ถูกผิด
สปสช. มีหลักเกณฑ์เยียวยาเบื้องต้นให้กับบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนหรือไม่
วัคซีนโควิด-19 ยังอยู่ในระหว่างใช้ในภาวะฉุกเฉิน ยังไม่มีบริษัทไหนกล้าที่จะมาบอกว่าปลอดภัยทั้งหมด คำถามคือทำไมจำเป็นจะต้องนำวัคซีนมาใช้ เพราะเชื่อว่าผลดีของการฉีดวัคซีนมีมากกว่าการที่ไม่ฉีดแล้วปล่อยให้ประชาชนติดโควิด ดังนั้นทุกประเทศจึงนำวัคซีนนี้มาใช้
เงื่อนไขสำคัญของบริษัทขายวัคซีนคือ ถ้าเกิดความเสียหายใด ๆ จะฟ้องร้องกับบริษัทที่ผลิตวัคซีนไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ทุกประเทศต้องจัดกลไกดูแลหากพี่น้องประชาชนเมื่อไปฉีดวัคซีนแล้วเกิดความเสียหายขึ้น แล้วไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ก็มีกฎหมายมาตรา 41 บอกว่า ถ้าหากการให้บริการทางการแพทย์ใด ๆ เกิดความเสียหายกับพี่น้องประชาชน ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ถูกผิด ไม่จำเป็นต้องหาผู้รับผิดชอบ สปสช. มีงบกองทุนส่วนหนึ่งมาดูแลให้
ดังนั้นคณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องวัคซีนก็ได้มีการหารือกันว่าในประเทศไทยจะมีกลไกโดยใช้หลักการเดียวกับมาตรา 41 ของ พรบ. หลักประกันมาดำเนินการ
ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิดหมายถึงอย่างไร
ทุกคนอยากให้ผู้ได้รับวัคซีนได้รับภูมิคุ้มกัน ไม่มีใครอยากจะทำร้ายประชาชนด้วยวัคซีน ดังนั้นไม่ต้องไปหาว่าใครผิด เพราะมันไม่มีใครผิดแต่หากเกิดความเสียหายเพราะว่าวัคซีนอาจจะมีผลข้างเคียง มีอาการแพ้จึงต้องมีมาตรการในการป้องกัน เพราะไม่มีใครอยากให้เกิด ไม่สามารถจะบอกได้ว่าคนนี้จะแพ้หรือไม่แพ้ ดังนั้นจึงต้องดูแลทั้งในเรื่องสุขภาพและส่วนหนึ่งก็คือเป็นเรื่องค่าเสียหายที่อาจจะมองเป็นเรื่องตัวเงิน ไม่ว่าอะไรให้ท่านคิดไว้ก่อนว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน อันนี้เป็นหลักการสำคัญ
ไม่ว่าอะไรให้ท่านคิดไว้ก่อนว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน
มีหลักเกณฑ์พิจารณาอย่างไรว่า บุคคลไหนได้รับเงินเยียวยา บุคคลไหนไม่ผ่านเกณฑ์
ต้องไปฉีดวัคซีนก่อนเพราะมันเป็นความเสียหายจากวัคซีน แล้วต้องคิดอย่างนี้เสมอว่า หากหลังฉีดวัคซีนแล้วเกิดความเจ็บป่วยหรือเกิดอันตรายจากร่างกายให้คิดไว้ก่อนว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน
ยกตัวอย่างเสียชีวิตหลังไปฉีดวัคซีนมา ต้องคิดไว้ก่อนว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน จนกว่าจะพิสูจน์ว่าไม่ใช่ สปสช. มีกลไกเพื่อรับเรื่องของประชาชนว่า หากไปฉีดวัคซีนแล้วเกิดเสียชีวิต ต้องมีคณะกรรมการมาตัดสินว่าอันนี้เป็นความเสียหายเบื้องต้นไหม ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิดไหม ให้ทุกเขต 13 เขตของ สปสช. ทั่วประเทศ
มีคณะอนุกรรมการแต่ละชุดขึ้นมาเพื่อรับเรื่องของผู้ป่วยที่ไปฉีดวัคซีนแล้วอาจเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล พิการ ทุพพลภาพถาวรหรือเสียชีวิต ญาติก็ยื่นเรื่องมาได้
แล้วเรื่องผลวินิจฉัยทางการแพทย์ที่มีหน้าที่ระบุสาเหตุการเสียชีวิตต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วยไหม
ไม่เกี่ยวกับหลักทางการแพทย์เพราะแพทย์จะบอกเสมอว่า วัคซีนไม่มีผลทำให้เสียชีวิตได้โดยตรงเหตุเพราะหลักการแพทย์จะดูว่าการเสียชีวิตดังกล่าวเป็นสาเหตุจากการฉีดวัคซีนโดยตรงหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิตจากการเส้นเลือดหัวใจตีบ เวลาหมอวินิจฉัยว่าเส้นเลือดหัวใจตีบ ประชาชนก็เข้าใจว่าไม่ใช่สาเหตุจากวัคซีน จึงไม่ควรจะได้รับความชดเชย
แต่คณะอนุกรรมการของ สปสช.ไม่ได้พิจารณาแบบนั้น แม้มันยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นเรื่องของวัคซีนโดยตรงแต่อาจมีผลทางอ้อมได้ เช่น ฉีดวัคซีนไปทำให้เส้นเลือดหดตัว แล้วการหดตัวทำให้พยาธิสภาพซึ่งมีอยู่เดิมอยู่แล้วกระตุ้นให้รุนแรงขึ้น คณะอนุกรรมการ สปสช.ก็พิจารณาว่าผ่าน ดังนั้นจึงไม่เหมือนกับวิธีที่พิสูจน์ทางการแพทย์ต้องขอให้แยกกันตรงนี้ระหว่างการผลวินิจฉัยของแพทย์กับเงื่อนไขการได้รับเงินเยียวยา
แต่ก็ยังมีความขัดแย้งระหว่างญาติกับโรงพยาบาลเพราะโรงพยาบาลยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีน แล้วแบบนี้ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไร
เวลา สปสช. พูดออกไปสู่การปฏิบัติไม่ใช่ทุกคนจะคิดได้เหมือนกัน เพราะอนุกรรมการอาจจะคิดไม่เหมือนกัน คณะอนุกรรมการจะมีทั้งแพทย์ ทั้งภาคประชาชน เราสร้างความสมดุลของการอยู่ร่วมกัน หลายครั้งคำพิจารณาอาจไม่ตรงกับสิ่งที่ญาติหรือประชาชนต้องการ ผมก็เห็น ดังนั้น สปสช.จึงพื้นที่ให้ญาติหรือประชาชนอุทธรณ์มาได้เพราะ สปสช.มีคณะกรรมการอีกชุดมาพิจารณา
ดังนั้นถ้าหากญาติหรือบุคคลใดที่ประสบปัญหาความเสียหายแล้ว ผลการพิจารณาไม่เป็นอย่างที่ต้องการก็สามารถอุทธรณ์เข้ามาได้มายังสำนักงานกลาง มีคณะกรรมการที่มีความละเอียดรอบคอบ แต่ไม่ได้หมายความว่าคณะอนุกรรมการพื้นที่จะไม่มีความละเอียดรอบคอบนะ แต่บางครั้งอาจจะมีบางเรื่องที่มีความซับซ้อนหรือมีการยื่นเรื่องเข้ามาเป็นจำนวนมากแล้วอาจเกิดข้อผิดพลาดได้
มีกรณีแบบไหนบ้างที่ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา
เป็นไข้สองวัน ฉีดก็ต้องเป็นไข้ ทานยาก็หาย หรือปวดแขนปวดข้างที่ฉีดสองวัน อย่างนี้ยื่นมาก็มีคณะอนุกรรมการก็ไม่ให้ เพราะการฉีดวัคซีนผู้เข้ารับการฉีดต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นได้ ถ้าเกิดขึ้นแล้ว ถ้ายอมรับตรงนี้จึงเดินเข้าไปฉีดวัคซีน
แต่บางกรณีเช่น ชาตามร่างกายไปครึ่งซีก 3-7 วัน แม้หลังจากนั้นจะหายเป็นปกติแต่คณะกรรมการเห็นว่าช่วงที่ชาไปครึ่งซีกมันเกิดความเสียหาย เสียงาน ก็ชดเชยไปให้ ไม่จำเป็นต้องว่าเป็นเสียชีวิตทุกครั้ง ดังนั้นเวลาจะจ่ายเงินชดเชย คณะกรรมการจะดูระดับความรุนแรงของความเสียหายด้วย ตั้งแต่ขาดงานไประยะหนึ่ง หรือว่าทำกิจการประจำวันไม่ได้ หรือถึงขนาดพิการแล้ว ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต
ส่วนค่าความเสียหายเป็นจำนวนเงินก็จะพิจารณาจากทำงานไม่ได้ เสียรายได้ไปกี่วัน วันละกี่บาท ผู้ที่ยื่นเรื่องก็ไปพิจารณาและยื่นเรื่องมา บางเรื่อง สปสช.ไม่มีไม้บรรทัดวัดเป็นเกณฑ์ได้ ก็มีความหลากหลาย แต่หากผู้ที่ยื่นเรื่องเห็นว่า เงินเยียวยาที่จ่ายให้น้อยเกินกว่าค่าเสียหายที่ได้รับก็สามารถอุทธรณ์เข้ามาได้
วัคซีนอาจจะไปกระตุ้นให้โรคกำเริบก็มีอุทธรณ์เข้ามา คณะกรรมการกลางก็อุทธรณ์ให้ก็มี
มีรายไหนไหมที่เสียชีวิตแล้วญาติมายื่นเรื่องแล้วไม่ผ่านการพิจารณาได้รับเงินเยียวยา
ฉีดวัคซีนมานานสามเดือนแล้วมาเสียชีวิต ถ้าเป็นแบบนี้อาจจะไม่ผ่านการพิจารณาเพราะระยะเวลาหลังฉีดวัคซีนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมักจะมีผลต่อการพิจารณา เช่น ฉีดเมื่ออาทิตย์ที่แล้วจากนั้นเสียชีวิต อันนี้น่าจะเกี่ยวข้อง คำว่าเกี่ยวข้องหรือได้รัลผลกระทบจากวัคซีน
แต่ว่าบางกรณีที่ไม่ให้อย่างเช่น ฉีดเมื่อสามเดือนก่อนวันนี้เกิดมาเสียชีวิตด้วยโรคเก่าของตัวเองที่เป็นอยู่แล้ว แบบนี้มีเหมือนกัน บางครั้งมันเกิดผลข้างเคียงได้ประมาณอาการมันจะเกิดสักเดือนนึงก็ถือว่านานมากแล้ว แต่ถ้า 3-4 เดือนต้องเรียนว่าความเกี่ยวข้องก็อาจจะน้อยแล้วก็เป็นไปได้ที่คณะอนุกรรมการจะตัดสินว่าไม่เกี่ยวไม่น่าจะเกี่ยวข้อง
ฟังแบบนี้ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะเป็นเรื่องของระยะเวลาที่ฉีดวัคซีนไปจนถึงช่วงที่แสดงอาการออกมา
อีกสาเหตุคือโรคประจำตัวที่เขาเป็นด้วย บางกรณีอาจเป็นมีประวัติเป็นโรคหัวใจขาดเลือด แล้วก็อาการค่อนข้างจะรุนแรงพอสมควร แล้วระยะเวลา 1-2 เดือน แล้วเสียชีวิตทางคณะอนุกรรมการก็ไม่ให้เพราะถือว่ามันเกี่ยวกับโรคเดิมแน่นอน แต่ก็มีหลายรายที่ญาติไม่พอใจผลการพิจารณาเพราะเห็นว่า วัคซีนอาจจะไปกระตุ้นให้โรคกำเริบก็มีอุทธรณ์เข้ามา คณะกรรมการกลางก็อุทธรณ์ให้ก็มี
ดังนั้นอยากให้ประชาชนยื่นเรื่องเพื่อขอเงินเยียวยามาเถอะครับ สปสช.ก็มั่นใจคณะอนุกรรมการ คณะกรรมการอุทธรณ์ ไม่อยากให้ประชาชนไปตัดสินเองว่าไม่ได้แน่ มีประชาชนยื่นเรื่องมากว่า 5,000 ราย มีถึง 4,000 รายรับเงินเยียวยาไป ฉะนั้นถ้าสื่อมวลชนได้รับการร้องเรียนกรุณาแจ้ง สปสช.ก็ลงไปช่วยเหลือ
ระบบราชการมักจะไม่ค่อยเป็นช่องทางที่ประชาชนเข้าถึง สปสช.