Humberger Menu

ว่าด้วย 6 ตุลา 19 และ มาตรา 112 พลังหนุ่มสาวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง คุยกับ ‘ปริญญา เทวานฤมิตรกุล’

Auto Play

Playing

ว่าด้วย 6 ตุลา 19 และ มาตรา 112 พลังหนุ่มสาวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง คุยกับ ‘ปริญญา เทวานฤมิตรกุล’

ว่าด้วย 6 ตุลา 19 และ มาตรา 112 พลังหนุ่มสาวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง คุยกับ ‘ปริญญา เทวานฤมิตรกุล’

"ผมเจ๋งนะครับ" เรื่องสมมติสะท้อนค่าครองชีพของคนต่างจังหวัดเมื่ออาศัยในเมืองหลวง

"ผมเจ๋งนะครับ" เรื่องสมมติสะท้อนค่าครองชีพของคนต่างจังหวัดเมื่ออาศัยในเมืองหลวง

เมื่อไม่มีคนจ้างก็ไม่มีศิลปะ และเคล็ดลับของการอยู่รอดคือ ‘ฟังนายจ้าง’

เมื่อไม่มีคนจ้างก็ไม่มีศิลปะ และเคล็ดลับของการอยู่รอดคือ ‘ฟังนายจ้าง’

Politics & Society

20 กรกฎาคม 2565 12:19 น.

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2563 - 30 ก.ย. 2564 มีคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 ทั้งสิ้น 144 คดี โดย ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกดำเนินคดีสูงสุด 20 คดี 

คดีจากการออกมาชุมนุม แยกเป็นคดีที่เกี่ยวกับการปราศรัยในที่ชุมนุม 33 คดี คดีการแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย เช่น ติดป้าย พิมพ์หนังสือ แปะสติกเกอร์ 35 คดี คดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ 63 คดี และยังไม่ทราบสาเหตุ 13 คดี มีนักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ปราศรัย ไม่น้อยกว่า 9 คน ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว และถูกคุมขังระหว่างดำเนินคดี

เหตุเหล่านี้ นำมาสู่กระแสที่สังคมตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม ทั้งในสื่อสังคมออนไลน์ และการทำกิจกรรมทางการเมือง “ยืน หยุด ขัง” บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดา และศาลฎีกา สนามหลวง ในช่วงที่ผ่านมา

ไทยรัฐพลัสพูดคุยกับนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ‘ปริญญา เทวานฤมิตรกุล’ เปิดคำสัมภาษณ์ที่นักวิชาการคนนี้บอกกับไทยรัฐพลัสว่า ไม่เคยให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้กับสื่อที่ไหนมาก่อน

รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2492 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมอเสมือนเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้ต้องปฏิบัติต่อเขาอย่างผู้บริสุทธิ์

ในรัฐธรรมนูญวางหลักเกณฑ์เรื่องการขอปล่อยตัวชั่วคราวอย่างไรบ้าง

มาตรา 29 วรรคสอง [รัฐธรรมนูญปี 2560] ระบุว่า ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ‘presumption of innocence’ สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ 

ในโลกนี้มีสองหลัก คือ สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ‘บริสุทธิ์’ หรือสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ‘ผิด’ จะเห็นว่าตรงข้ามกัน เดิมระบบกฎหมายของโลกเคยใช้วิธีให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด เมื่อฝ่ายบังคับใช้กฎหมายจับใครมาแล้วก็ถือว่ามีความผิดเลย นำตัวเข้าคุก และเป็นเรื่องที่ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาทำหน้าที่พิสูจน์ว่าตัวเองบริสุทธิ์ ถ้าพิสูจน์ได้ก็พ้นผิด พิสูจน์ไม่ได้ก็ถูกลงโทษไป เป็นหน้าที่ของฝ่ายผู้ถูกจับต้องพิสูจน์ต่อศาล 

แต่ระบบแบบนี้ไม่ได้คุ้มครองประชาชนจากการใช้กฎหมายหรืออำนาจรัฐ แล้วจากการปิดปาก จับกุม รังแกประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากประชาชนเห็นต่างจากรัฐบาลขึ้นมา จนกระทั่งมองเตสสิเออร์ (Montesquieu) เขียนหนังสือเรื่อง The Spirit of Laws หรือจิตวิญญาณกฎหมาย โดยเสนอว่า ต้องมีศาลที่แยกออกมาเป็นอิสระ จุดนี้เองเป็นจุดเปลี่ยนจากการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ‘ผิด’ เป็นการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ‘บริสุทธิ์’ เพราะเมื่อศาลเป็นอิสระออกมาจากรัฐบาลแล้ว ศาลต้องรับฟังทั้งการกล่าวหาและการแก้ข้อกล่าวหา ต้องฟังทั้ง โจทก์ จำเลย จนครบถ้วน ถึงค่อยพิพากษา ศาลจึงไม่อาจที่จะตัดสินล่วงหน้าไปได้ว่า ที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายจับกุมมาคือ ‘ผิด’ 

ฉะนั้น พอแยกศาลให้เป็นอิสระจากรัฐบาล ก็นำมาสู่การสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหานั้น ‘บริสุทธิ์’ และศาลต้องมีใจที่นิ่ง ปราศจากการตัดสินล่วงหน้าหรืออคติใดๆ รับฟังการสืบพยานครบทุกฝ่าย ถึงจะพิพากษา

รัฐธรรมนูญของไทยก็วางเป็นหลักไว้ตั้งแต่ปี 2492 ด้วยถ้อยคำที่ไม่ได้ต่างออกไป ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก็ขยายความไปถึงการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหา ว่าจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมอเสมือนเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ‘บริสุทธิ์’ ก็ปฏิบัติต่อเขาอย่าง ‘ผู้บริสุทธิ์’ และที่ตามมาคือ เรื่องของสิทธิในการสู้คดี ที่เขาย่อมมีสิทธิสู้คดีนอกคุก เพราะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างผู้ไม่ได้กระทำความผิด

ฉะนั้นในมาตรา 29 วรรคสาม มีประโยคต่อมาคือ การจับกุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้กระทำได้เพียง ‘เท่าที่จำเป็น’ การจับกุม คุมขัง เพียงเพื่อป้องกันไม่ให้มีการหลบหนี หรือมีวิธีการอื่นที่เชื่อว่าเขาจะไม่หลบหนี เช่น มีกำไล EM ใส่ ก็ต้องปล่อยชั่วคราว ภาษากฎหมายเรียก ‘ปล่อยชั่วคราว’ หรือตามหลักแล้วควรเรียกว่า ‘การประกันตัว’


แต่ในทางปฏิบัติคดีความทางการเมืองส่วนใหญ่ดูเหมือนไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ในวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคน.. ใช้คำนี้ ‘ทุกคน’ (เน้นเสียง) พึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เนื้อหาชัดเจน สอดรับกันกับรัฐธรรมนูญ 

แล้วมาตรา 108/1 บัญญัติไว้ว่า การจะไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ต้องเข้าเหตุใดเหตุหนึ่งใน 5 เหตุดังต่อไปนี้ 1. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี 2. จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน 3. จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น 4. หลักประกันหรือผู้ประกันไม่น่าเชื่อถือ 5. การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอันตราย จะกระทบ มีปัญหาต่อกระบวนการสืบสวนและกระบวนผิดการพิจารณาในชั้นศาล ถ้าศาลเห็นว่าเข้าเหตุใดเหตุหนึ่ง และจะไม่ปล่อยชั่วคราว ต้องแจ้งผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยเร็ว

คดีที่เกี่ยวข้องกับบางมาตรา เช่น คดีการเมือง ศาลไม่ให้ปล่อยชั่วคราว โดยบอกเหตุในการไม่ปล่อยตัว ซึ่งไม่เข้าเหตุหนึ่งเหตุใดใน 5 เหตุเลย เช่น ศาลบอกว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วคดีมีอัตราโทษร้ายแรง” แล้วอัตราโทษร้ายแรงมันอยู่ในเหตุหนึ่งเหตุใดใน 5 เหตุหรือ...ก็ไม่มี หากศาลเป็นอิสระ และสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์ จะเอาเกณฑ์จากตำรวจเป็นเกณฑ์ในการให้หรือไม่ให้ประกันตัวได้อย่างไร เพราะถ้าตำรวจไม่อยากให้ประกันตัว ก็จะตั้งข้อหาร้ายแรงไว้ก่อนใช่ไหม แต่ก็ปรากฏว่า ในคดีจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ศาลก็ให้ประกันตัวมาเยอะแยะ 

ดังนั้นฟังแล้ว ไม่มีเหตุผลเลย และที่สำคัญคือ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ทางกฎหมายอีกด้วย เมื่อมีการไม่ปล่อยชั่วคราวโดยไม่ทำตามกฎหมายก็น่าเป็นห่วง 

หลักการแบ่งแยกและถ่วงดุลบอกไว้ว่า ฝ่ายตุลาการควบคุมฝ่ายบริหาร ไม่ให้ใช้อำนาจที่ขัดต่อกฎหมาย และฝ่ายตุลาการก็ควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ให้ออกกฎหมายที่มันขัดรัฐธรรมนูญ ตามหลักการแบ่งแยกตอนนี้ อำนาจตุลาการคุมทั้งฝ่ายบริหารและคุมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ คำถามคือ แล้วใครล่ะที่จะคุมฝ่ายตุลาการ จะเกิดอะไรขึ้นหากฝ่ายตุลาการเป็นฝ่ายที่ทำผิดกฎหมายเสียเอง นี่เป็นเรื่องใหญ่ และคำถามก็ดังขึ้นเรื่อย ๆ 

คราวนี้ก็เป็นเรื่องที่สังคมและสื่อมวลชนตื่นตัว เรียกร้อง และทักท้วงไปยังตุลาการว่า ต้องยึดถือกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 188 ระบุว่า อำนาจพิจารณาพิพากษาตัดสินคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการตามกฎหมาย และพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และศาลต้องมีอิสระในการพิจารณาคดี โดยต้องดำเนินคดีให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติ หลักใหญ่สุดคือ ต้องตัดสินคดีตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อำเภอใจของศาล เพราะทุกฝ่ายต้องอยู่ใต้กฎหมาย รวมถึงศาลด้วย

แล้วจะพบเห็นย้อนหลังไปว่า การไม่ปล่อยชั่วคราวของคดีจำนวนมาก เป็นเหตุผลที่ไม่เปิดมาตรา 108/1 เหตุผลซ้ำๆ คือ เป็นคดีที่มีพฤติการณ์ร้ายแรง คดีที่มีอัตราโทษสูง แล้วเรื่องที่มันมีปัญหามากเลยคือ ศาลมักจะบอกว่า ท่านพิจารณาคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ซึ่งรัฐธรรมนูญก็เขียนเช่นนั้นอยู่แล้ว ว่าท่านตัดสินคดีในพระประมาภิไธย หลักก็คือว่า ทำไมอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหารถึงไม่ใช้อำนาจในพระปรมาภิไธยบ้าง


ทำไมมีแต่ศาลที่ใช้อำนาจในพระปรมาภิไธยได้อย่างเดียว

ในเรื่องของอำนาจตุลาการ แต่ดั้งเดิมมา พระมหากษัตริย์ไปประสาทความยุติธรรมให้กับพสกนิกร พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตุลาการ ต่อมาก็เป็นตุลาการออกไปทำหน้าที่ ฉะนั้น เมื่อมอบหมายตุลาการไปปฏิบัติหน้าที่ในนามพระมหากษัตริย์ ตุลาการก็ต้องทำหน้าที่ยึดถือกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม ปราศจากอคติ 

ทุก ๆ ปีจะมีคนประมาณ 60,000 คนยังไม่ใช่ผู้กระทำความผิดแต่ศาลไม่ให้ประกันตัว

ช่องโหว่ในกระบวนการพิจารณาคดียังมีประเด็นใดอีกบ้าง 

กระบวนการพิจารณาควรจะเร็ว เพราะการพิจารณาที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม เรื่องนี้นักกฎหมายเรียนกันมาในระดับปริญญาตรีทั้งสิ้น แต่ในทางปฏิบัติกลับกลายเป็นช้า ช้าแบบไม่ได้ช้าธรรมดา ช้ามาก คดีหนึ่งกินเวลาหลายปี ในชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นอัยการ กว่าจะส่งฟ้องก็กินเวลาเป็นปี พอเรื่องถึงศาล ก็กินเวลาอีกหลายปีกว่าคดีจะจบในชั้นต้น กว่าจะจบชั้นอุทธรณ์และถึงศาลฎีกา ใช้เวลา 7-8 ปี 

ยิ่งช้ายิ่งไม่เป็นธรรม ยิ่งช้ายิ่งเป็นภาระแก่โจทก์หรือจำเลยในการสู้คดี ทั้งค่าทนายความ ค่าขึ้นโรงขึ้นศาล ค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นปัญหาทั้งสิ้น ดังนั้น วิธีการดีที่สุดคือ ให้สู้นอกคุก ไม่ใช่เอาเขามาขังไว้เฉยๆ ทุกๆ ปีจะมีคนประมาณ 60,000 คนที่ยังไม่ใช่ผู้กระทำผิด แต่ศาลไม่ให้ประกันตัว หรือไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ผมคิดว่าข้อที่ควรทำคือ ต้องเปลี่ยนทัศนคติของคนในกระบวนการยุติธรรม และเรื่องที่ทำได้เลยคือ แก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา [ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ] ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหายังไม่ได้กระทำผิด และเปลี่ยนถ้อยคำจากคำว่า ‘ปล่อยตัวชั่วคราว’ ให้เป็นคำที่ถูกต้องตามหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ‘บริสุทธิ์’ คือใช้คำว่า ‘ประกันตัว’ เพราะคำว่าปล่อยชั่วคราวมันสันนิษฐานไว้ก่อนแล้วว่า ‘ผิด’

ทราบไหมว่า ตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดว่า ให้เอาลายนิ้วมือของผู้ต้องหาและประวัติของผู้ต้องหาทุกคนบันทึกลงในทะเบียนประวัติอาชญากรรม ทราบไหมว่าเราเป็นอาชญากรถ้าถูกพิมพ์ลายนิ้วมือ แบบนี้มันขัดกับรัฐธรรมนูญที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ แล้วทำไมต้องเป็นอาชญากรตั้งแต่พิมพ์ลายนิ้วมือ

ทราบไหมว่า จำนวนแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือปัจจุบันคือ 17 ล้านแผ่น จำนวน 10 ล้านคน เพราะบางคนอาจมีมากกว่าหนึ่งคดี แล้วคนไทย 10 ล้านคน ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่ได้เพราะมีชื่อติดว่าเป็นอาชญากร ถามจริงๆ เมืองไทยมีอาชญากรเยอะขนาดนั้นเลยหรือ บางทีอัยการสั่งไม่ฟ้อง บางทีศาลก็ยกฟ้อง บางทีเป็นคดีโทษปรับ บางทีเป็นคดีแค่รอลงอาญา แต่เป็นอาชญากรหมดเลย 

ในสิบล้านคน ให้อย่างดีก็แค่ 30 เปอร์เซ็นต์ที่ศาลตัดสินว่าผิดจริง อีก 7,000,000 คน เป็นอาชญากรอยู่โดยกระบวนการยุติธรรมที่ต้นทางของไทยมีปัญหาทั้งสิ้น

แล้วที่แย่ไปกว่านั้น คดีทั้งหลายที่ส่งฟ้องต่อศาล คนฟ้องคือตำรวจ ตำรวจคือต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ทราบไหมว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยราชการ มีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี คำถามคือ เมื่อตำรวจถูกนายกฯ สั่งได้ แต่งตั้งโยกย้ายโดยนายกฯ หากไปประท้วงนายกฯ อะไรคือหลักประกันว่า จะไม่ถูกนายกฯ ใช้ตำรวจมารังแกประชาชน หรือปราบปรามประชาชนด้วยกฎหมาย

แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร คำตอบคือ มีแต่ศาลเท่านั้น ศาลต้องรับฟังพยาน โจทก์ จำเลย จนครบถ้วนโดยไม่มีอคติ ในรัฐธรรมนูญวางหลักมาแล้ว ตัดสินโดยยึดกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวดเร็ว อิสระ เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง สังคมต้องการหลักประกันว่าจะไม่ถูกฝ่ายบังคับใช้กฎหมายมารังแก หลักประกันคือฝ่ายตุลาการที่เป็นอิสระ แล้วรัฐธรรมนูญก็วางหลักนี้เอาไว้แล้ว


สังคมต้องการหลักประกันว่า จะไม่ถูกฝ่ายบังคับใช้กฎหมายรังแก หลักประกันคือฝ่ายตุลาการที่เป็นอิสระ คำตอบมีแต่ศาลเท่านั้น

ในคดีมาตรา 112 ดูเหมือนจะค่อนข้างมีข้อยกเว้นที่แตกต่างจากการใช้กฎหมายทั่วไปหรือไม่

ในประเด็นสำคัญข้อหนึ่ง คือเรื่องโทษของมาตรา 112 ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความผิดหมวดนี้โทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี ไม่มีโทษขั้นต่ำ คือ ลงโทษหนึ่งเดือนสองเดือนก็ได้ แต่ไม่เกินเจ็ดปี แล้วกฎหมายหมิ่นถูกแก้ไขมาเป็นจำคุกอย่างต่ำ 3 ปี สูงสุดคือ 15 ปี ได้อย่างไร ก็จากประกาศคณะปฏิวัติยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แล้วเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เกิดจากเฟกนิวส์

ตอนนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร กลับมาเมืองไทยโดยบวชเป็นสามเณร จนเกิดการประท้วงต่อต้านของนักศึกษาหลายคนว่า นี่เป็นผู้ที่ปราบปรามประชาชนจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการติดโปสเตอร์กัน ปรากฏว่ามีช่างไฟที่นครปฐมเอาไปติดโปสเตอร์ตอนเย็น แต่คืนนั้นไม่กลับบ้าน เช้ามาพบเป็นศพ มีกุญแจมือไขว้หลังผูกไว้ที่ประตูสีแดง ไม่รู้ใครลงมือทำ แต่ข้อเท็จจริงคือ ถูกผูกคอสองคน และมีกุญแจมือมัดหลัง เหตุการณ์นี้นำไปสู่การชุมนุมกันที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แล้วก็มีการแสดงละครเพื่อจะทวงถามความเป็นธรรมให้กับช่างไฟที่ถูกแขวนคอตาย ให้จับคนผิดมาลงโทษ

ปรากฏว่าก็มีสื่อมวลชนสองฉบับไปบิดเบือนว่านักศึกษาเล่นละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สื่อฝ่ายขวาเลยปล่อยข่าวปลุกระดมว่า นักศึกษาล้มเจ้า ปลุกระดมคนเข้าไปเข่นฆ่า ไปปราบปรามนักศึกษาในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม เย็นวันนั้นก็เกิดการยึดอำนาจ แล้วคณะปฏิวัติก็ออกคำสั่งมาแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเพิ่มโทษจากไม่เกิน 7 ปี เป็นอย่างต่ำ 3 ปี และสูงสุด 15 ปี ทั้งหมดนี้มาจากภาพตัดต่อเฟกนิวส์

ที่เล่ามาสะท้อนให้เห็นว่า หากศาลจะใช้มาตรา 112 เรื่องการลงโทษ อยากให้ทราบประวัติศาสตร์ของมันว่า โทษจากเดิมมันไม่เกิน 7 ปี ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แล้วกลายเป็น 15 ปี กำหนดโทษขั้นต่ำเป็น 3 ปี เพราะการรัฐประหาร เพิ่มโทษโดยคำสั่งคณะคณะปฏิวัติ ไม่ใช่กระบวนการนิติบัญญัติที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย

คำถามสำคัญคือ คำสั่งคณะปฏิวัติ มีผลเป็นกฎหมายได้อย่างไร นั่นก็เพราะศาลเองไปรับรองคำสั่งคณะปฏิวัติเป็นกฎหมาย แล้วศาลจะเอาตรงนี้มาลงโทษหนักขึ้นไปอีก โดยที่ก่อนปี 2475 ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โทษก็ยังไม่เกิน 7 ปีด้วยซ้ำ

ดังนั้น มาตรานี้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ถ้าใช้ไม่ระมัดระวัง ศาลจะถูกใช้เป็นเครื่องมือมาจัดการกับประชาชนผู้เห็นต่าง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ศาลไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น หากศาลไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เที่ยงตรงต่อกฎหมาย ต่อความเป็นธรรม และปราศจากอคติ จะเกิดปัญหา แล้วในที่สุดก็ไปกระทบถึงสถาบันฯ ได้ ฉะนั้น ก็ต้องเรียนว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 188 บอกอยู่แล้ว ศาลต้องตัดสินโดยยึดถือกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นอิสระ รวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติ


จำเลยในคดีมาตรา 112 หลายคน ได้รับการประกันตัวบนเงื่อนไขว่าห้ามทำผิดซ้ำในมาตรานี้อีก เงื่อนไขลักษณะนี้ขัดกับหลักกฎหมายหรือไม่

อย่างน้อยการใช้มาตรา 108 วรรคสาม ตั้งเงื่อนไขต่างๆ เพื่อปล่อยตัว ก็ยังดีกว่าไม่ปล่อย แต่อยากจะให้ศาลได้ใช้มาตรา 29 วรรคสาม ตามรัฐธรรมนูญให้มาก เพราะเป็นกฎหมายสูงสุด การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนีเท่านั้น

เรื่องนี้มันเป็นสองเรื่องอยู่ด้วยกัน หนึ่งคือ หลักการประชาธิปไตย คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน สองคือประชาธิปไตยของเรามีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นสองเรื่องซึ่งอยู่ด้วยกันได้ เราก็ต้องปกป้องทั้งสองหลักการ 

ถามว่าถ้าหากมีใครไปล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างรัฐบาล ล้มล้างนิติบัญญัติ ก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 โทษคือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต แต่ศาลไม่เคยใช้มาตรา 113 กับคณะรัฐประหารเลย ขณะที่ มาตรา 112 ศาลจะใช้ มาตรา 112 กับคนที่ศาลเห็นว่าดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ แต่คนที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ศาลไม่เคยใช้มาตรา 113 กับคนที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญเลย การล้มล้างรัฐบาล คือรัฐประหาร แต่ศาลไม่เคยใช้ ซึ่งพอถามทุกครั้ง เขาก็นิรโทษกรรมตัวเอง 

ผมพูดทั้งหมดเพื่อจะบอกว่า มันเป็นสองเรื่องที่เราต้องปกป้องไปพร้อมๆ กัน 

ประมวลกฎหมายอาญา เขาวางหลักไว้ว่า ศาลต้องปกป้องทั้ง 2 อย่าง การดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เดิมโทษไม่เกิน 7 ปี ส่วนการล้มล้างรัฐธรรมนูญ โทษจำคุกตลอดชีวิตถึงประหารชีวิต ก็อยากให้ศาลได้เห็นว่า วิธีการปกป้องสถาบันฯ ที่ดีที่สุดคือ การยึดถือกฎหมาย ยึดถือรัฐธรรมนูญ ก็จะช่วยให้ความขัดแย้งและความเห็นต่างในบ้านเมืองเป็นไปตามกติกา และเป็นเรื่องปกติที่จะมีคนเห็นต่างในบ้านเมือง ก็ต้องว่ากันตามกฎหมาย การรัฐประหาร คือการไม่ทำตามกฎหมาย เพราะไปล้มเลิกกฎหมายสูงสุดเลย หากศาลเป็นผู้ไปรับรองการล้มเลิกรัฐธรรมนูญ และนี่คือปัญหาของทุกอย่างที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง

justice must not only be done, but must also be seen to be done


ถ้าสังคมทักท้วงแล้ว ท้ายที่สุดไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมันเห็นอะไรบางอย่าง 

เสียงทักท้วงจากสาธารณะ ที่เป็นเสียงที่ใช้เหตุผล สุภาพ ศาลก็น่าจะฟังอยู่


มองปรากฏการณ์ที่ม็อบไปชุมนุมหน้าศาลอาญาและศาลฎีกาอย่างไร

ไม่เคยเกิดมาก่อน (ตอบทันที) มันไม่เคยมีอย่างนี้มาก่อนนะ ศาลไม่พอใจแน่ๆ และการแสดงออกของนักกิจกรรมบางคนก็อาจจะเลยเถิดไปจริง แต่สรรพสิ่งมันมีที่มาแต่เหตุ มีคำพูดหนึ่งที่สอนกันในโรงเรียนกฎหมายทั่วโลก เป็นคำพูดของผู้พิพากษาอังกฤษ เขาบอกว่า ความยุติธรรมไม่เพียงแต่ต้องทำให้เกิดขึ้นมา แต่ต้องทำให้คนเห็นว่า ที่ทำลงไปคือความยุติธรรม ภาษาอังกฤษเขาบอกว่า Justice is not only to be done ความยุติธรรมไม่เพียงแต่ต้องทำให้เกิดขึ้นมา but also seen to be done แต่ต้องทำให้เขาเห็นว่าศาลได้ทำ ความยุติธรรมได้เกิดขึ้นมาแล้ว ประโยคหลังสำคัญมากกว่าประโยคแรกนะ

การที่มีคนรู้สึกไม่เห็นด้วย รู้สึกรับไม่ได้กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มันต้องสะท้อนกลับมา ศาลจะอ้างแต่ว่านี่คือความยุติธรรมแล้ว แต่ถ้าคนเขาไม่รับ สังคมรับไม่ได้ มันก็มีปัญหา เพราะฉะนั้นมันต้องไปด้วยกัน คือ justice ต้องทำให้เกิด แต่ต้อง seen to be done คือ ทำให้เห็นว่า สิ่งที่ทำไปคือความยุติธรรม เพราะถ้าหากคนไม่เชื่อว่าเป็นธรรมแล้ว สังคมก็จะไม่เชื่อถือศาล แล้วถ้าไม่เชื่อถือศาลแล้วจะอยู่กันอย่างไร จะอยู่กันอย่างไรภายใต้ความขัดแย้ง อย่าลืมว่าเราอยู่ร่วมกันบนความขัดแย้งได้ เพราะสังคมเชื่อว่าจะมีศาลเป็นกลาง ปฏิบัติต่อทุกฝ่ายอย่างเสมอกันในการตัดสินปัญหา ฉะนั้นข้อนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก Justice must not only be done, but must also be seen to be done. 


Latest

+
5 คำถาม กับ 3 นักแสดงนำ Squid Game 3