กระแส ‘อโยธยา’ กลับมาป๊อปอีกครั้ง เมื่อ ‘เว็บตูน’ ทำให้คนสนใจประวัติศาสตร์ไทยมากขึ้น
...
Summary
- ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ในโลกออนไลน์มีหลากหลายโพสต์ที่พูดถึงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยอโยธยาอยู่เนืองๆ ทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่าทำไมกระแสประวัติศาสตร์อโยธยาถึงกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง?
- อโยธยาเอยาวดี เป็นชื่อเรื่องของการ์ตูนสั้น bromance ย้อนยุคโดยมีแรงบันดาลจากประวัติศาสตร์สมัยอโยธยา ซึ่งปัจจุบันมียอดคนอ่านในเว็บ readAwrite มากถึง 1.85 ล้านคน
- ผู้อ่านส่วนใหญ่รีวิวว่าชื่นชอบการ์ตูนเรื่องนี้มาก จนมีกระแสอื่นๆ ตามมา เช่น กระแสการแห่ซื้อน้ำหอมกลิ่นกุหลาบมอญและหยกพม่า
- แม้นี่อาจดูเป็นเรื่องราวที่ดู ‘ไปเรื่อย’ แต่สิ่งเหล่านี้กลับสร้างกระแสประวัติศาสตร์อโยธยาได้สำเร็จอย่างน่าสนใจและยังสะท้อนถึงข้อจำกัดในการนำประวัติศาสตร์ไทยมาสร้างผลงานด้วย
...
ภาพจาก AMULIN
เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่เคยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยากันมาบ้าง และหลายคนคงจดจำบุคคลสำคัญอย่าง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชหรือ ‘พระองค์ดำ’ ได้อย่างแน่นอน
ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้เราสังเกตเห็นว่าในโลกออนไลน์มีหลากหลายโพสต์ที่พูดถึงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยอโยธยาอยู่เนืองๆ รวมถึงการพูดถึงพระนเรศวรฯ จนเริ่มมีกระแสระลึกความทรงจำวัยเด็กเกี่ยวกับหนังแอนิเมชั่นก้านกล้วย
ทำให้เราเกิดสงสัยขึ้นมาว่าทำไมกระแสประวัติศาสตร์อโยธยาถึงกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง?
เมื่อเราเริ่มค้นหาที่มาที่ไปก็ได้พบกับแฮชแท็กที่ชื่อว่า #อโยธยาเอยาวดี ซึ่งเป็นชื่อเรื่องของการ์ตูนสั้น bromance ย้อนยุคโดยมีแรงบันดาลจากประวัติศาสตร์สมัยอโยธยา เขียนโดย AMULIN นักเขียนเว็บตูนเรื่องดังอย่าง ‘บุษบาเสี่ยงตรีน’ ซึ่งปัจจุบันมียอดคนอ่านในเว็บ readAwrite มากถึง 1.85 ล้านคน
เราเห็นการ์ตูนเรื่องนี้บนหน้าฟีดอยู่เป็นครั้งคราว แม้จะไม่เคยอ่านเรื่องราวทั้งหมด แต่เราก็เห็นผู้อ่านส่วนใหญ่รีวิวว่าชื่นชอบการ์ตูนเรื่องนี้มาก จนมีกระแสอื่นๆ ตามมา เช่น กระแสการแห่ซื้อน้ำหอมกลิ่นกุหลาบมอญและหยกพม่า หรือกระแสชวนขำขันที่บางคนสนใจเลี้ยงไก่ชนจริงๆ รวมไปถึงมีคนไปเที่ยวสถานที่ทางประวัติศาสตร์ต่างๆ เพราะความอิน และเกี่ยวโยงไปจนถึงกระแสการผลักดันก้านกล้วยภาค 3 ที่เพิ่งประกาศจะสร้างเมื่อปลายปีที่แล้ว
แม้นี่อาจดูเป็นเรื่องราวที่ดู ‘ไปเรื่อย’ แต่สิ่งเหล่านี้กลับสร้างกระแสประวัติศาสตร์อโยธยาได้สำเร็จอย่างน่าสนใจและยังสะท้อนถึงข้อจำกัดในการนำประวัติศาสตร์ไทยมาสร้างผลงานด้วย
อโยธยาเอยาวดีไม่เหมาะสม?
เราเห็นเรื่องอโยธยาเอยาวดีใน X มาอยู่เรื่อยๆ และพบว่าหลายคนเรียกชื่อตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ด้วยชื่อเล่นที่ตั้งกันในหมู่แฟนคลับด้วยการใช้คำผวนหรือฉายาที่เข้าใจกัน
การใช้ศัพท์เฉพาะเหล่านี้ แน่นอนว่าจุดประสงค์เพื่อให้เรื่องนี้ยังสามารถใช้พูดคุยกันได้ในหมู่แฟนคลับได้และหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มคนที่มองว่าเรื่องนี้ไม่เหมาะสม
อีกทั้ง ผู้เขียนยังประกาศชัดเจนว่าเรื่องราวนี้เป็นเรื่องแต่งที่สมมติขึ้นเพียงเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลทางประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น แต่แน่นอนว่าการแต่งเรื่องอิงประวัติศาสตร์ แม้จะเป็นเพียงเรื่องสมมติก็มักมีข้อกังวลเรื่องความเหมาะสมตามมาด้วย
เนื่องจากความเชื่อและวัฒนธรรมไทยมองว่าประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษไม่ใช่สิ่งที่สมควรนำมาล้อเล่นหรือหากนำมาดัดแปลงก็ต้องทำอย่างเหมาะสมและอิงความเป็นจริงเท่านั้น ทำให้การแต่งเรื่องอิงประวัติศาสตร์มักต้องมีความระมัดระวังและรัดกุมอย่างมาก เพราะมีความเสี่ยงว่าผลงานรูปแบบนี้อาจถูกกดดันจากสังคมอย่างหนักก็ได้
เมื่อไม่นานมานี้ก็มีโพสต์หนึ่งจากผู้อ่านการ์ตูนเรื่องนี้แสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ใน X ว่า แม้อโยธยาเอยาวดีอาจถูกมองว่าไม่เหมาะสมตามความคิดของคนบางกลุ่ม จนทำให้เหล่าแฟนคลับต้องพูดคุยกันด้วยศัพท์เฉพาะกลุ่มแทน แต่การแต่งเรื่องอิงประวัติศาสตร์ทำให้ผู้คนรับรู้ถึงการมีตัวตนของบุคคลสำคัญเหล่านั้นได้ถือเป็นข้อดีและยังเป็นแรงกระตุ้นให้คนสนใจศึกษาประวัติศาสตร์มากขึ้น ซึ่งนี่ไม่ใช่การทำให้ประวัติศาสตร์เหล่านั้นเสื่อมเสีย
นอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายโพสต์ที่เข้ามาสนับสนุนแนวคิดนี้และมองว่าการนำประวัติศาสตร์ไทยมาดัดแปลงเป็นเรื่องราวตามจินตนาการของผู้เขียนไม่ใช่เรื่องผิดและบางคนยังให้กำลังใจผู้เขียน เพราะผลงานนี้มีคุณค่าที่ทำให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น การช่วยให้ผู้คนสนใจประวัติศาสตร์ การซื้อสินค้าเกี่ยวกับเนื้อเรื่อง หรือการทำให้ชาวต่างชาติรู้จักกับประวัติศาสตร์ไทยมากขึ้น เพราะผลงานนี้มีการแปลทั้งภาษาเกาหลี ญี่ปุ่นและอังกฤษด้วย
ก้านกล้วยมาได้ยังไง
หลังจากฟีเวอร์อโยธยาเอยาวดีที่กลายเป็นที่พูดถึง สักพักเราก็เริ่มเห็นหลายคนเริ่มพูดถึงก้านกล้วยมากขึ้น ทั้งในแง่ความรู้สึกประทับใจและการวิเคราะห์เรื่องราวในหนังมากขึ้น เพราะเมื่อ 20 ปีก่อน ก้านกล้วยเคยเป็นหนังที่ทำให้เด็กๆ หลายคนอินกับประวัติศาสตร์สมัยอโยธยามากๆ
ก้านกล้วยเป็นเรื่องราวของลูกช้างที่เกิดในสมัยอโยธยาและเติบโตจนเป็นช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งเด็กๆ ที่เติบโตมาพร้อมกับแอนิเมชั่นเรื่องนี้ก็ต่างชอบตัวละครก้านกล้วยที่ถูกสมมติขึ้นมาเพื่อให้เรื่องราวสนุกขึ้น
เมื่อลองเปรียบเทียบกันทั้งเรื่องก้านกล้วยและอโยธยาเอยาวดีก็ถือเป็นเรื่องแต่งอิงประวัติศาสตร์ที่หลายคนแยกแยะความจริงและเรื่องแต่งได้ เช่น ก้านกล้วยที่เป็นช้างสีฟ้ากับชบาแก้วที่เป็นช้างสีชมพู ทุกอย่างล้วนเป็นโลกในจินตนาการที่ผู้แต่งสร้างขึ้นมา โดยมีแรงบันดาลใจมาจากประวัติศาสตร์จริงเพียงเท่านั้น เช่นเดียวกับหนังหรือละครเรื่องอื่นๆ อย่าง บุพเพสันนิวาส
การทำให้ประวัติศาสตร์ดูสนุกและน่าค้นหาเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้คนสนใจเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง ทั้งยังส่งผลให้คนหันมาสนับสนุนผลงานคนไทยมากขึ้น เช่น การช่วยโปรโมตก้านกล้วยภาค 3 หรือการแนะนำหนังและละครเก่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อโยธยา นอกจากนี้ยังทำให้ผู้คนหันมาสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ทางประวัติศาสตร์กันด้วย
แม้ปัจจุบันผลงานไทย ไม่ว่าจะหนัง ละคร การ์ตูนหรือเรื่องแต่งจะยังคงมีอุปสรรคหลายอย่างในการสร้างสรรค์เรื่องราวอิงประวัติศาสตร์ แต่กระแสเหล่านี้กำลังสะท้อนให้เราเห็นว่ายังมีผู้คนที่พร้อมสนับสนุนผลงานที่แตกต่างจากรูปแบบเดิม ซึ่งอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดผลงานใหม่ๆ ในอนาคตอีกก็เป็นได้
Thairath Poll
แบบสำรวจปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจใช้บริการเข้าร่วมทัวร์ชมสถานที่และกิจกรรมท่องเที่ยว
ประเภทของกิจกรรมท่องเที่ยวที่คุณชื่นชอบคืออะไร?
การเก็บรวบรวมข้อมูลนี้นำไปใช้เพื่อ กิจกรรมทางการตลาดโดย ยึดหลัก ปฏิบัติตามนโยบายคุ้มครองข้อมูล ส่วนบุคคล
![creator](https://media.thairath.co.th/image/n7dnsGA8GCWibzeccgQGpTIvxwwQDaIGmkD8Jp1V2K5jcse9vA1.jpeg)