อังกฤษติดโซลาร์รูฟท็อปสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่า 7 ปี สู้วิกฤติพลังงาน ลดบิลค่าไฟ
...
LATEST
Summary
- ความนิยมติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปของคนอังกฤษสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี หรือกว่า 50,700 ครัวเรือน ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 เนื่องจากพยายามลดค่าไฟที่พุ่งสูง
- แผงโซลาร์รูฟท็อปที่ติดตั้งในไตรมาสแรกมีกำลังการผลิต 265 เมกะวัตต์ หรือครึ่งหนึ่งของปริมาณไฟฟ้าที่เคยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงการผลิต
- ข้อมูลจากบริษัทดูแลระบบไฟฟ้าเผยว่า ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ขณะนี้อยู่ที่ 4.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เทียบกับก๊าซธรรมชาติที่ 35.9 เปอร์เซ็นต์ และลม 23.3 เปอร์เซ็นต์
...
ความนิยมติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปของคนอังกฤษสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี หรือกว่า 50,700 ครัวเรือน ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 เนื่องจากพยายามลดค่าไฟที่พุ่งสูง
จากสถิติแสดงให้เห็นว่า ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ที่ผ่านมา มากกว่า 50,700 ครัวเรือน ติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2015
แผงโซลาร์รูฟท็อปที่ติดตั้งในไตรมาสแรกมีกำลังการผลิต 265 เมกะวัตต์ หรือครึ่งหนึ่งของปริมาณไฟฟ้าที่เคยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงการผลิต
แกเรท ซิมกินส์ (Gareth Simkins) โฆษกของ Solar Energy UK สมาคมการค้าด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ระบุว่า สาเหตุที่จำนวนการติดตั้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากครัวเรือนได้ตระหนักถึงประโยชน์ที่จะช่วยลดค่าไฟฟ้า และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
“ในปีที่แล้วการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้รับแรงผลักดันจากวิกฤติพลังงาน สงครามในยูเครนมีส่วนให้ค่าพลังงานพุ่งสูงขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนก็มีความตระหนักอย่างมากว่าแผงโซลาร์เซลล์สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้” ซิมกินส์ กล่าว
หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันของอังกฤษ (Competition and Markets Authority: CMA) เปิดการสอบสวนเมื่อปีที่แล้วเกี่ยวกับอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวและฉนวนภายในประเทศ เนื่องจากกังวลว่าความพยายามลดค่าไฟครัวเรือนอาจไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม
“มีความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพของการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม เช่น การกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงประสิทธิภาพและความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์” หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขัน กล่าว
ความนิยมของการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปรอบนี้ยังสูงกว่ายอดลงทะเบียนในโครงการรับซื้อจากผู้ผลิตรายย่อย (MCS) ของรัฐบาลอังกฤษกว่า 2 เท่า ในไตรมาสแรกของปี 2019 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Feed-in Tariff: FiT)
ก่อนหน้านี้ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เคยพุ่งสูงสุดมาแล้วในช่วงปลายปี 2015 เนื่องจากครัวเรือนต่างๆ รีบใช้ประโยชน์จากโครงการ FiT ซึ่งลดลง 65 เปอร์เซ็นต์ จากต้นปี 2016 และปิดโครงการไปเมื่อปี 2019
พรรคแรงงานกล่าวหาว่ารัฐบาล ‘กำลังรื้อ’ อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศ หลังจากตัดสินใจปิดโครงการไปโดยไม่มีมาตรการอื่นมาทดแทน ทำให้ประชาชนขาดแรงจูงใจในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และส่งผลให้บริษัทที่รับติดตั้งขนาดเล็กจำนวนมากประสบภาวะล้มละลาย
แม้การติดโซลาร์รูฟท็อปกลับมาบูมอีกครั้ง แต่ข้อมูลจากบริษัทดูแลระบบไฟฟ้าของอังกฤษอย่าง National Grid เผยว่า ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ขณะนี้อยู่ที่ 4.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เทียบกับก๊าซธรรมชาติที่ 35.9 เปอร์เซ็นต์ และลม 23.3 เปอร์เซ็นต์
สถิติเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จากกระทรวงพลังงานอังกฤษที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อในเดือนกุมภาพันธ์เป็น กระทรวงความมั่นคงทางพลังงานและปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Department for Energy Security and Net Zero) ระบุว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2022 สูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับปี 2020
ขณะที่ส่วนแบ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจาก 39.6 เปอร์เซ็นต์ เป็น 41.4 เปอร์เซ็นต์ในปีที่แล้ว ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการผลิตพลังงานจากลมและแสงอาทิตย์ที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
โดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมีส่วนแบ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 24.6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลลดลงเล็กน้อยเหลือ 40.8 เปอร์เซ็นต์ แต่ก๊าซธรรมชาติยังคงเป็นสัดส่วนหลักของการผลิตไฟฟ้าในอังกฤษที่ 38.4 เปอร์เซ็นต์
ปลายเดือนมีนาคม รายงานของรัฐบาลยอมรับว่า อาจไปไม่ถึงเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 รวมไปถึงความมุ่งมั่นภายใต้ข้อตกลงปารีสเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 68 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับระดับในปี 1990 ภายในปี 2030 โดยจะทำได้ราว 92 เปอร์เซ็นต์
แม้ตามแผนเดิมจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สูงถึง 70 กิกะวัตต์ ภายในปี 2035 เพื่อให้เพียงพอสำหรับบ้าน 20 ล้านหลัง (ปี 2021 อังกฤษมี 28.1 ล้านครัวเรือน)
อ้างอิง: theguardian.com[1], theguardian.com[2], assets.publishing.service.gov.uk[1], assets.publishing.service.gov.uk[2]
