Humberger Menu

เรามีสิทธิในอากาศสะอาดหรือไม่? ในรัฐบาลเศรษฐา เมื่อทางแก้ไขยังไม่ชัดเจน

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Nature Matter

Environment

19 ก.ย. 66

creator
ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • เครือข่ายอากาศสะอาด ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาวิชาการ ‘สิทธิมนุษยชนสิ่งแวดล้อม: สิทธิในอากาศสะอาด’ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายอากาศสะอาด
  • ประเด็นสำคัญคือผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ รวมไปถึงแนวทางแก้ไขทั้งด้านการเมือง และความมั่นคง ที่เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

...


ก้าวแรกของรัฐบาลใหม่ที่แค่เพียงเริ่มต้นก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบการทำงานอย่างหนักหน่วง ซึ่งนอกจากนโยบายปากท้องที่สำคัญแล้ว ยังมีนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ถูกให้ความสำคัญจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ต่างยกประเด็นนี้ขึ้นมาอภิปรายในวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำตอบถึงเรื่องนี้เพียงภาพรวมถึงการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 

ด้าน พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนใหม่ และเป็นน้องชายของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้ตอบคำถามในการอภิปรายของเหล่า สส. และ สว. ในวันนั้น จึงเป็นที่น่าจับตาต่อว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาในด้านสิ่งแวดล้อมนี้จะเป็นอย่างไร

เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ถือเป็นวันอากาศสะอาดสากล ที่เครือข่ายอากาศสะอาด ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาวิชาการ ‘สิทธิมนุษยชนสิ่งแวดล้อม: สิทธิในอากาศสะอาด’ ที่อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายอากาศสะอาด โดยเราได้คัดเลือกประเด็นในด้านผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ รวมไปถึงแนวทางแก้ไขทั้งด้านการเมือง และความมั่นคง ที่เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลเศรษฐา



สุขภาพ การเมือง และความเหลื่อมล้ำ คือปัญหาแรกที่ต้องแก้

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยสิ่งที่เหนือกว่าเราคือฝ่ายการเมือง ฝ่ายการเมืองสามารถทำให้กฎหมายแทบจะไม่มีค่า หรือเป็นอัมพาต (paralyzed) ไปชั่วคราว เพราะฉะนั้นนอกจากการผลักดันต้องมองไปที่ฝ่ายการเมืองด้วย ยกตัวอย่างเช่น ห้องปลอดฝุ่นของ กทม. 200 กว่าล้านบาท ถูกสภา กทม. ไม่เห็นชอบ


ในแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ วาระเร่งด่วนไม่มีนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ในนั้น นโยบายระยะกลางระยะยาว มีพูดถึงเรื่องการเพิ่มการยกระดับคุณภาพชีวิต และมีพูดถึงเรื่องการใช้พลังงานสะอาดนิดหน่อย

share


รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เล่าถึงประเด็นสำคัญต่างๆ ว่า ยังมีเรื่องการเข้าถึงสิทธิการเข้าถึงอากาศสะอาด น้ำดื่มที่สะอาด อาหารที่ไม่ปนเปื้อนมลพิษต่างๆ อีกทั้งมีเรื่องออฟฟิศซินโดรมที่สัมพันธ์กับเรื่องอากาศ และคุณภาพอากาศในอาคาร ที่ PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อทุกวัย 

“เราให้ฝุ่น PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2562 แต่พอช่วงที่ฝุ่นไม่มีแล้ว ก็เก็บไว้ในลิ้นชัก ก็ไม่เห็นทำอะไร พอฝุ่นมาก็บอกว่าเรากำลังทำอยู่ ตอนนี้ก็ประทังปัญหาไปก่อน เพราะฉะนั้นเราไม่อยากได้ยินการแก้ตัวอย่างนี้ซ้ำๆ ในประเทศไทย ไม่รวมเรื่องอื่นๆ ที่เห็นแล้วบาดหูบาดตาทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเรื่องยาเสพติด หรือการควบคุมวัณโรค ดูเหมือนโรคที่เกี่ยวกับคนจนน่าจะแก้ยากในประเทศนี้ ฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องแก้คือแก้การเมืองและความเหลื่อมล้ำก่อน”

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เสริมว่า ปีนี้มีกรุงเทพฯ อย่างน้อย 2 เขต คือเขตดินแดง และเขตภาษีเจริญ คุณภาพอากาศจะต่ำกว่าเส้นมาตรฐาน 6 เดือน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม นับไปจนถึง 31 มีนาคม และปีนี้เราอยู่ในสภาพอากาศร้อนกว่าปกติ ปี 2567 ปัญหาฝุ่นจะรุนแรงขึ้น ปริมาณฝนน้อยลงก็จะทำให้อากาศแย่ 

“ภัยใกล้ตัวเราทุกที ตอนนี้ใครจะซื้อเครื่องฟอกอากาศรีบไปซื้อ เพราะซื้อตอนนี้ถูก พอปลายเดือนตุลาคม ใครจะรอดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 ตอนนั้นราคาก็จะคูณ 2 ใครที่ต้องการห้องปลอดฝุ่น ต้องการพื้นที่ที่จะหลบภัยชั่วคราว เราเสนอเรื่องพวกนี้ให้ผู้บริหาร แต่ก็ถูกปัดตกหมด เนื่องจากลำดับความสำคัญก็จะเรียงเราไว้อยู่ข้างหลัง สิ่งที่เราทำจะมีผลต่ออนาคต คือเยาวชนของเรา”


สมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เล่าว่า ตนเองเคยทำงานในโรงงานมาก่อน และสูญเสียสมรรถภาพปอด จนกระทั่งไปชุมนุมเรียกร้องสิทธิ แพทย์ และกฎหมาย ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ รวมทั้งมีพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 และจะมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด

“คนที่ต้องพิการอย่างดิฉัน ปัจจุบันการสู้เรื่องสิทธินานถึง 15 ปี และถูกต่อต้านเหมือนเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุงทำไม จนวันนี้ปัญหาคือหน่วยงานรัฐพยายามปกป้องปิดบัง ให้การเจ็บป่วยเป็นศูนย์ แต่จำนวนที่ลดลงไปไม่ได้สิทธิเลย ตายฟรี บางโรงงานที่มาจากต่างชาติเอาคนมานั่งทำงานทั้งๆ ที่ป่วย บังคับให้ทำงาน ถ้าคนงานคนไหนเรียกร้องสิทธิกองทุนทดแทน ถูกปลดออกไปทันที”   

สมบุญ สะท้อนปัญหาว่า สังคมใช้แรงงาน คนที่อันตรายที่สุดไม่ใช่แรงงานนอกระบบ เป็นแรงงานในระบบ แต่ถูกคลุมไปด้วยอิทธิพลของนายจ้าง พูดไม่ได้ พูดแล้วต้องออกจากงาน

“ดิฉันหวังว่า ถ้า พ.ร.บ.อากาศสะอาด ออกมา มีค่าทนาย มีกองทุน มีคณะกรรมการตรวจสอบ แต่ฝากว่าคณะกรรมการควรมีส่วนของผู้ถูกกระทบ ถ้าสิ่งที่ได้รับผลกระทบ จากสารเคมีหรือป่วยต้องรักษาด้วยแพทย์ที่เชี่ยวชาญ เพราะแพทย์ประกันสังคมหรือแพทย์ทั่วไปไม่มีความรู้”

 

ผู้ป่วย PM 2.5 เพิ่มขึ้น กับปัญหาทุนผูกขาดที่อยู่เหนืออำนาจรัฐ

วราภรณ์ รักษาพราหมณ์ เจ้าหน้าที่โครงการด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เล่าว่า ต้นปีที่ผ่านมา มีตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุขว่าประเทศไทยมีตัวเลขผู้ป่วยจาก PM 2.5 มากกว่า 1.7 ล้านคน และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยว่า มีตัวเลขผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 2 ล้านกว่าคน

“ในปี 2019 ทางยูนิเซฟได้ออกมาเผยข้อมูลของสหภาพยุโรปว่า มีเด็กเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากกว่า 2,312 คน โดย 91 เปอร์เซ็นต์ เป็นเด็กที่เสียชีวิตก่อนอายุ 1 ขวบ อยากทราบว่าประเทศไทยมีการเปิดข้อมูลเด็กเยาวชนที่เป็นกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อ PM 2.5 มากแค่ไหน และมีอาการป่วยรุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิตแค่ไหน”



สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ในขณะนี้ ถ้าย้อนกลับไปในอดีตระบบทุนนิยมแพร่กระจายไปทั่วโลก เกิดโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย ประเทศไทยก็เช่นเดียวกันไม่แตกต่าง ฉะนั้นภาวะที่สะสมในอากาศ และส่งผลต่อโลกร้อน ซึ่งไม่แน่ใจว่ามาตรการในการปฏิบัติตามหรือการบังคับใช้กฎหมาย มีศักยภาพหรือประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน 

“เราต้องยอมรับว่า ทุนผูกขาดอำนาจเหนือรัฐมีอยู่จริง ดังนั้นกระบวนการในภาคประชาชนที่ต้องออกไปเคลื่อนไหวต่อสู้หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้น อันนี้เป็นกลไกที่ยากลำบาก ทนายความที่เราจะหาได้ต้องใช้เงินทองทั้งนั้นในการต่อสู้เพื่อให้ได้ความยุติธรรมมากมาย ซึ่งใช้เวลานานมาก ดังนั้นเมื่อพูดถึงความล่าช้าของความยุติธรรม คือความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น”

“สิ่งที่เราพยายามเรียกร้องเหมือนที่รัฐธรรมนูญเขียน ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2517 2540 หรือ 2560 ในปัจจุบัน พูดถึงเรื่องการจัดการส่ิงแวดล้อมที่จะต้องปลอดภัย แต่เอาเข้าจริงการมีส่วนร่วมของประชาชนมีอยู่จริงหรือเปล่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเป็นเพียงแค่พิธีกรรมให้ได้มาซึ่งองค์ประกอบว่าได้รับฟังความคิดเห็นแล้ว แต่สุดท้ายอำนาจในการตัดสินใจจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ประชาชน งานวิจัยที่ออกมาก็เป็นผลตอบรับที่คนให้งบประมาณต้องการให้ตอบโจทย์มาแบบนี้”

สาวิทย์ ตั้งคำถามถึงสถานการณ์ตอนนี้จะแก้ไขอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และสิ่งสำคัญที่สุดคือจะจัดการต้นตอของสภาพแวดล้อมที่เสื่อมทรุดโทรม และส่งผลต่อมลภาวะ ไม่ว่าจะเสียง กลิ่น หรืออากาศอย่างไร 

“กระบวนการในการเคลื่อนไหว พูดง่ายๆ คือสำแดงพลัง เพราะถ้าเขียนลงคีย์บอร์ดไปว่าต้องการกฎหมายแบบไหน ท้ายที่สุดก็ถูกเขี่ยทิ้งปัดทิ้ง ถ้ากฎหมายของประชาชนยากมาก ดังนั้นบางครั้งโดยประสบการณ์ที่ผ่านมา ถ้าไม่เห็นตัวเห็นตน ไม่สำแดงพลังออกมา บางทีเขาก็ไม่เห็น”


ความมั่นคงกับหมอกควันข้ามแดน โจทย์ที่รัฐต้องแก้

ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยนเรศวร อธิบายว่า ความมั่นคงในตำราจะมีบทหนึ่งว่าด้วยเรื่องของอากาศ ถ้าหากถามว่าอากาศมีผลต่อสงครามหรือไม่ ถ้าตอนเช้าฝนไม่ตกในสงครามวอเตอร์ลู นโปเลียนจะแพ้หรือไม่ หรือถ้าอากาศไม่หนาว ฮิตเลอร์จะแพ้หรือไม่ เพราะฉะนั้นงานประเภทนี้เข้ามาอยู่ในงานของรัฐศาสตร์และความมั่นคง 


คำถามคืออะไรคือภัยคุกคามต่อมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21 บางคนตอบสงครามยูเครน ซึ่งความจริงอาจจะเล็ก คำตอบจริงๆ คือความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ ถ้ารัฐและระบบนิเวศล่มสลายจะเป็นอย่างไร จะอยู่อย่างไร ผมว่าโจทย์ชุดนี้เป็นปัญหาความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุด

share


ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุรชาติ ยังเสนอว่า ให้เสนอกฎหมายกับ ครม.เศรษฐา 1 และขับเคลื่อนต่อไปที่กระทรวงสาธารณสุข และผลักไปในระดับนโยบาย 

“โจทย์ที่เร่งด่วนยังคงเป็นสุขภาพของพี่น้องประชาชน เราเผชิญกับโควิดมาแล้ว โรคระยะยาวกลายเป็นว่าไม่ใช่โรคระบาด ผมว่าเราคงต้องชูคำขวัญว่า PM 2.5 คือโรคระบาดระยะยาว และอาจต้องทำให้ภาครัฐสนใจมากขึ้น”



รศ.วิษณุ อรรถวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย เผยว่า ปลายปีนี้จนกระทั่งถึงปีหน้า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แนวทางในการรับมือเรื่องนี้สามารถทำได้ในระยะสั้น คือเราต้องเร่งออกกฎหมายอากาศสะอาดที่บูรณาการกฎหมายและภารกิจของหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน ถัดมาคือการต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของฝุ่นพิษต่อสุขภาพของประชาชน และมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจด้วย ซึ่งต้องเร่งออกมาตรการเสริมเพิ่มเติม และต้องมีงบประมาณที่สอดคล้องกับปัญหาด้วย 

“ต้องมีการสนับสนุนการจัดระเบียบการเผา โดยเฉพาะต้องมีบทลงโทษหากมีการละเมิด ควรต้องมีการปรับเปลี่ยนการช่วยเหลือจากการเยียวยาให้เปล่า ไปสู่การเยียวยาแบบมีเงื่อนไข โดยที่เกษตรกรต้องไม่เผาหรือเปล่า นอกจากส่วนของเงินแล้วรัฐต้องส่งเสริมให้ความรู้ด้วย”



รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยว่า ปัจจัยฝุ่น PM 2.5 ในเชียงใหม่คือการเผาเป็นหลัก เรามีอุปสรรคคือปัญหาฝุ่นที่ภาคเหนือนั้นใหญ่เกิน และสู้ไม่ได้โดยใช้กลไกแบบเดิม และการเผาทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด ปลูกได้ทุกแห่งและมีการซื้อตลอด นอกจากนี้ในรัฐฉานรัฐใหญ่ของพม่านั้นปลูกข้าวโพดหมดเลย และก็จะมีการเผา ปัญหาฝุ่นก็จะเกิดขึ้นข้ามแดนมาทางฝั่งไทย ซึ่งยังไม่มีทางแก้ปัญหา เพราะเราไม่มีกรรมการระดับชาติไปคุยได้ เพราะรัฐฉานเป็นรัฐอิสระ และคนรับซื้อก็เป็นประเทศจีน ในขณะที่ไทยรับซื้อน้อยมาก คิดว่าทางแก้ไข พ.ร.บ.อากาศสะอาดจะมีส่วนสำคัญ 

“การต่อสู้จากฝุ่นในรอบ 5 ปีต่อไปยังสู้ไม่ได้ที่ต้นตอแหล่งกำเนิด ต้องใช้เวลาอีกนานมาก แต่เราจำเป็นต้องให้คนที่อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ นักท่องเที่ยวมาต้องรับข้อมูล มีหน้ากากแจก หรือหาสิ่งที่จัดการฝุ่นได้ง่ายที่สุดเป็นสิ่งที่รัฐต้องพึงกระทำ”


ติดตามการเสวนา ‘สิทธิมนุษยชนสิ่งแวดล้อม: สิทธิในอากาศสะอาด’ ย้อนหลังได้ที่: 



Share article
  • Line
  • link

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat