Humberger Menu

เปิดกฎหมายจัดการ ‘ข่าวปลอม’ เพื่อความมั่นคง หรือควบคุมความจริง?

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

Politics

12 ส.ค. 64

creator
กองบรรณาธิการ
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • หากย้อนดูความผิดฐานเผยแพร่ข้อมูลเท็จในไทย มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายอย่างน้อย 3 ฉบับ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
  • ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ผู้เอาผิดต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ข้อมูลที่ถูกนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นเป็น ‘ข้อมูลอันเป็นเท็จ’ และข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นข้อมูลที่ ‘กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ’ เพราะมีหลายคดีที่ศาลยกฟ้อง เพราะไม่ครบตามองค์ประกอบความผิด
  • ภายใต้ข้อกำหนดฉบับที่ 27 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ใช้ในปี 2564 หากมีการนำเสนอข้อมูลข่าวที่เป็นความจริง แต่ทำให้คนเกิดความหวาดกลัว ก็กลายเป็นความผิดตามกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

...

คำว่า ‘ข่าวปลอม’ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐอยากเข้ามาควบคุมข้อมูลข่าวสารเพื่อป้องกันความวุ่นวายที่มาจากความวิตกกังวลในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะในยามที่ประเทศต้องเผชิญกับภัยโรคระบาดที่ยังรับมือไม่ได้ ซึ่งแต่ละประเทศก็มีมาตรการแตกต่างกันออกไป 

ประเทศไทยมีการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้น แต่มาตรการดังกล่าวกลับถูกตั้งข้อสังเกตว่า รัฐกำลังใช้ ‘ข่าวปลอม’ เป็นข้ออ้างในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนหรือไม่

ทั้งนี้ ถ้าย้อนดูความผิดฐานเผยแพร่ข้อมูลเท็จ จะพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายอย่างน้อย 3 ฉบับ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และล่าสุดคือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งกฎหมายแต่ละฉบับก็มีบริบทการใช้ที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้


1. ประมวลกฎหมายอาญา ‘ความผิดฐานหมิ่นประมาท’ 

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 กับ มาตรา 328 บัญญัติว่า

"มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน หนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

"มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทําโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทําให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทําโดยการกระจายเสียง หรือการ กระจายภาพ หรือโดยกระทําการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"

จากทั้งสองมาตรา จะเห็นว่า กฎหมายมุ่งเอาผิดกับการกระทำที่มีลักษณะเป็น ‘การใส่ความบุคคลอื่นต่อบุคคลที่สาม’ ไม่ว่าจะทำด้วยวิธีการใดก็ตาม เพื่อให้บุคคลนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง 

ดังนั้น กฎหมายดังกล่าวจึงกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐใช้เพื่อรับมือกับการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกที่เป็นการใส่ร้าย ใส่ความ ต่างๆ โดยอ้างว่า สิ่งเหล่านี้คือ ‘ข่าวปลอม’

แต่ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกล่าวหาว่ามีการใส่ความกันอย่างกว้างขวาง ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 และ 330 จึงสร้างหลักในการคุ้มครองไว้ว่า 

หากการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม หรือการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการหมิ่นประมาทไม่ต้องรับผิด หรือไม่เป็นความผิด

ยกตัวอย่าง คดีบริษัท อัครา เจ้าของเหมืองทองคำ ยื่นฟ้อง สมลักษณ์ หุตานุวัตร และ สมิทธ์ ตุงคะสมิต ในข้อหาหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว 

คดีนี้ ศาลมีคำสั่งให้ยกฟ้อง โดยศาลเห็นว่า จำเลยไม่ได้มีเจตนาทำให้โจทก์ได้รับการดูหมิ่นหรือเกลียดชัง เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมตามวิสัยของประชาชนพึงกระทำ ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษายกฟ้อง

 

2. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 'ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ'

สำหรับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้กำหนดความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จไว้ ดังนี้

"มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทำต่อประชาชน แต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำ ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้"

จากบทบัญญัติข้างต้น มาตราที่เกี่ยวข้องกับการรับมือข่าวปลอมมากที่สุด คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) โดยมาตรานี้ กำหนดให้การนำเข้า ‘ข้อมูลอันเป็นเท็จ’ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์‘ และการนำเข้าข้อมูลนั้นทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ตื่นตระหนกตกใจ หรือสร้างความเสียหายที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เป็นความผิด ซึ่งที่ผ่านมา ข้อหานี้ถูกนำมาใช้กับการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการแสดงออกที่รัฐเห็นว่าเป็นการโจมตีหรือทำให้ภาครัฐเสียหาย

ทั้งนี้ แม้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะไม่มีบทบัญญัติให้การคุ้มครองเรื่องการแสดงออกสุจริต แต่การจะเอาผิดตามกฎหมายนี้ได้ ผู้เอาผิดต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ข้อมูลที่ถูกนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นเป็น ‘ข้อมูลอันเป็นเท็จ’ และข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นข้อมูลที่ ‘กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ’ เพราะที่ผ่านมา มีหลายคดีที่ศาลยกฟ้อง เพราะไม่ครบตามองค์ประกอบความผิด 

ยกตัวอย่างเช่น คดีประชาชนแชร์โพสต์ของเพจ 'กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ' คดีนี้จำเลยถูกตั้งข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) และ (5) โดยถูกกล่าวหาว่า จำเลยเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจว่ามีตำรวจและทหารเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด ซึ่งเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ และกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ แต่ศาลกลับมีคำพิพากษา 'ยกฟ้อง' เนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นการแชร์ข้อมูลข่าวสารทั่วไป แม้กระทบต่อภาพลักษณ์ คสช. แต่ไม่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือหมายความว่า การแสดงความคิดเห็นก็ดี การวิพากษ์วิจารณ์ต่อการทำงานของรัฐบาลก็ดี สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นความผิด

หรือ คดีของ 'รสนาหมิ่นปิยสวัสดิ์' หรือคดีที่ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ผู้บริหาร ปตท. ฟ้อง รสนา โตสิตระกูล จากกรณีเฟซบุ๊กเพจของตนเผยแพร่บทความเรื่อง 'มหากาพย์ฮุบท่อก๊าซ สมบัติชาติ' โดยคดีนี้ศาลได้พิพากษายกฟ้อง พร้อมทั้งระบุว่า ข้อความของจำเลยเป็น 'การแสดงความคิดเห็น' เมื่อจำเลยมีความเห็นและเชื่อเช่นนั้น การถ่ายทอดออกเป็นข้อความดังกล่าว จำเลยย่อมถ่ายทอดได้อย่างถูกต้องตามแหล่งที่มาของข้อมูล ซึ่งก็คือตัวจำเลยเอง ข้อความพิพาทจึงไม่อาจเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จได้ หรือหมายความว่า การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไม่สามารถเป็นข้อมูลเท็จตามกฎหมายได้

 

3. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ‘ความผิดฐานนำเสนอข่าวที่ไม่จริง หรือทำให้หวาดกลัว’

ย้อนกลับไปเดือนมีนาคม 2563 ท่ามกลางการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ระลอกแรก รัฐบาลตัดสินใจใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์ พร้อมออกมาตรการจำกัด หรือควบคุมข้อมูลข่าวสาร เห็นได้จาก ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อที่ 6 ซึ่งกำหนดว่า ห้ามการเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ ที่ไม่เป็นความจริงและอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอันทำให้เกิดความเข้าใจผิด

ต่อมา เดือนกรกฎาคม 2564 หลังประเทศไทยต้องกลับมาเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ และเป็นระลอกใหญ่กว่าครั้งที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลหันกลับไปใช้มาตรการควบคุมข้อมูลข่าวสารอย่างเข้มข้นอีกครั้ง ดังที่ปรากฏใน ข้อกำหนด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 ข้อที่ 11 ว่า ห้ามการเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิด

ถ้าดูจากข้อกำหนดทั้งสองฉบับจะพบว่า มีความแตกต่างกัน โดยข้อกำหนดฉบับที่ 27 ได้แยกความผิดระหว่าง ‘การนำเสนอข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง’ กับ ‘การนำเสนอข้อมูลที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว’ ออกจากกัน ทั้งที่จากเดิมกำหนดให้เฉพาะการนำเสนอข้อมูลที่ไม่จริงที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวเป็นความผิด ซึ่งหมายความว่า ภายใต้ข้อกำหนดฉบับที่ 27 หากมีการนำเสนอข้อมูลข่าวที่เป็นความจริง แต่ทำให้คนเกิดความหวาดกลัว ก็กลายเป็นความผิดตามกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท 

นอกจากการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีแล้ว ภายใต้ข้อกำหนด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ข้อที่ 2 ยังขยายอำนาจของรัฐในการควบคุมข่าวสารอย่างกว้างขวาง โดยกำหนดให้ กสทช. กำกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น ทรู เอไอเอส ทำการตัดการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่ตามหมายเลขไอพีนั้นได้ หากพบว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือมีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 กลุ่มสื่อมวลชนและภาคประชาชนได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อขอเพิกถอนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ต่อมา ในวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ศาลแพ่งได้มี คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวว่า "ให้นายกรัฐมนตรีห้ามดำเนินการบังคับใช้ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ทั้งฉบับ" เนื่องจากเห็นว่า เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ และการตัดอินเทอร์เน็ตผู้นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกก็เป็นมาตรการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ให้อำนาจไว้

สุดท้าย เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการออก ข้อกำหนดฉบับที่ 31 ที่ให้ยกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 29 โดยมีการอ้างอิงถึงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งที่ห้ามการบังคับใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 29 

แต่ทั้งจากคำสั่งของศาลและข้อกำหนดฉบับที่ 31 ยังไม่ชัดเจนว่าสถานะของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 ที่ครอบคลุมถึงการเอาผิดกับการนำเสนอข่าวที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว (แม้เป็นความจริง) นั้นจะเป็นอย่างไร รัฐยังมีอำนาจในการดำเนินคดีได้อยู่หรือไม่

 

รัฐกำลังอ้าง ‘ข่าวปลอม’ เพื่อจำกัดการแสดงออกทางการเมือง?

จากข้อมูลที่ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) แถลงเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ระบุว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2564 ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดและดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการเสนอข่าวอันไม่เป็นความจริงตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวนทั้งสิ้น 35 url โดยไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด

อย่างไรก็ดี จากบรรดาคดีที่กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นผู้ดำเนินการ พบว่า มีบางคดีที่รัฐกำลังเข้าไปจำกัดการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยอ้างเรื่อง ‘ข่าวปลอม’ ยกตัวอย่างเช่น กรณี 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' ประธานคณะก้าวหน้า ทำการถ่ายทอดสดผ่านทางเพจคณะก้าวหน้า เพื่อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำสัญญาผลิตวัคซีนระหว่างบริษัทแอสตราเซเนกากับสยามไบโอไซเอนซ์ แต่กลับถูกตัวแทน รมว.ดิจิทัลฯ เข้าแจ้งความดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ ประมวลกฎหมายอาญา ‘มาตรา 112’ อีกทั้งยังยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งระงับการเผยแพร่คลิปดังกล่าว แต่ในท้ายที่สุดศาลก็ยกคำร้องเพราะเนื้อหาไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่คดียังคงดำเนินต่อไป

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีกลไกที่เรียกว่า 'คณะกรรมการตรวจสอบและดําเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก' (คตส.) ซึ่งจัดตั้งมาตามคําสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 32/2563 ยังทำให้ผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลต้องถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 23 คดี (ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน) โดยมีคดีที่ปรากฏตามหน้าสื่อ อย่างเช่น

  • คดีของ 'ฮาร์ท-สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล' นักร้อง จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กวิพากษ์การจัดหาวัคซีน COVID-19 โดยมีคำว่า ‘เจ้านาย’ ในโพสต์ ในคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

  • คดีของ 'จอห์น-วิญญู วงษ์สุรวัฒน์' นักจัดรายการวิพากษ์การเมืองชื่อดัง จากการทวีตข้อความ 2 ข้อหา ในเดือนธันวาคม 2563 และเดือนเมษายน 2564 ในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

 

ทางเลือกแทนกฎหมาย: รับมือ ‘ข่าวปลอม’ ด้วยข้อเท็จจริง

จาก แถลงการณ์ของนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และคนในแวดวงสื่อมวลชนที่ออกมาคัดค้านมาตรการทางกฎหมายที่รัฐอ้างว่าใช้รับมือกับข่าวปลอม อาทิ ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 จะพบว่า การรับมือข่าวปลอมไม่ได้มีแค่การบังคับใช้มาตรการทางกฎหมาย กลุ่มสื่อมวลชนได้เสนอให้รัฐแก้ปัญหาข่าวปลอมด้วยการ ‘ชี้แจงข้อมูลข่าวสาร’ โดยเสนอว่า แทนที่รัฐบาลจะเสียทรัพยากรในการดำเนินคดีกับผู้ใช้สื่อออนไลน์ ควรจะเปลี่ยนไปใช้แนวทางการให้ความรู้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact-checking) หรือการสร้างวัฒนธรรมความรู้เท่าทันสื่อและข่าวสารดิจิทัล (digital media and information literacy) มากกว่า 

อีกทั้งยังอาจใช้วิธีการรณรงค์ไม่ให้มีผู้ลงโฆษณาสนับสนุนทางการเงินเพื่อตัดเส้นทางรายได้ของสื่อ หรือผู้ให้บริการเนื้อหาออนไลน์ที่ขาดจริยธรรมและนำเสนอเนื้อหาปลอม เป็นเท็จ และบิดเบือน มากกว่าการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีอาญาแก่ประชาชน



Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

วิชารู้ทันเฟกนิวส์ กระทรวงศึกษาฯ อังกฤษเตรียมเพิ่มหลักสูตร ‘รับมือข่าวปลอม’ และ ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ ในโรงเรียนประถมฯ

2024 ปีแห่งการเลือกตั้ง เมื่อ AI ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เอเชียพร้อมรับมือข้อมูลปลอมๆ แค่ไหน

เปิดโปง IO รัสเซีย ปลอมเป็นเว็บไซต์สื่อฝรั่งเศสอย่างน้อย 4 ฉบับ

ผลสำรวจอเมริกันชนเชื่อว่า ความเกลียดชังและแนวคิดสุดโต่ง เกิดจากข้อมูลข่าวสารที่ ‘ถูกบิดเบือน’

สงครามข่าวสารในสงครามยูเครน

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat