ประเด็นที่น่าสนใจ ก่อนประชุมฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญ
...
LATEST
Summary
- ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการรับหลักการในวาระ 1 เมื่อวันที่ 23-24 มิถุนายน 2564 มีร่างทั้งหมด 13 ร่าง ที่ผ่านการพิจารณาคือร่างที่ 13 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ที่ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง
- มาตรา 83 ว่าด้วยจำนวน ส.ส. และบัตร 2 ใบ สำหรับเลือก ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนมาตรา 91 คือการคำนวณให้ได้มาซึ่งจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค
- ก่อนวันประชุม พบว่า ร่างฯ ของ กมธ. ที่มี ไพบูลย์ นิติตะวัน มีการแก้ไขเพิ่มเติมไปมากกว่า 2 มาตราที่ว่าไว้ จึงต้องส่งให้ที่ประชุมรัฐสภาวินิจฉัยการทำงานของ กมธ. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่ามีความชอบธรรมหรือไม่
...
บนปฏิทินการเมืองไทย รัฐสภามีนัดพิจารณาให้ความเห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... วาระที่ 2 วันที่ 24-25 สิงหาคม 2564 หลังจากผ่านวาระแรกไปเมื่อ 2 เดือนก่อน
หากมองว่าการเลือกตั้งครั้งถัดไปจะเป็นการกำหนดอนาคตของชาติ หัวใจของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ‘ระบบเลือกตั้ง’ คือสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นต้นทางที่มา ส.ส. ทั้งความได้เปรียบ-เสียเปรียบ ของทั้งพรรคเล็กและพรรคใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ชนะในสนามเลือกตั้งจะมีโอกาสกุมอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาล การประชุมรัฐสภาครั้งนี้จึงเป็นทางแพร่งที่ท้าทายของระบอบประชาธิปไตยไทย และมีหลายประเด็นน่าสนใจที่ไทยรัฐพลัสรวบรวมมา ดังนี้
- ย้อนไปที่การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่ 1 วันที่ 23-24 มิถุนายน 2564 มีร่างรัฐธรรมนูญฯ ทั้งหมด 13 ร่าง ที่ผ่านการพิจารณาคือร่างฯ ที่ 13 เสนอโดย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และคณะ รายละเอียดคือ การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส. ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91)
- ในวาระที่ 1 มีการเสนออีกประเด็นสำคัญ คือ แก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. 250 คน ในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ร่างฯ ที่มีการเสนอแก้ไขมาตรานี้ไม่ผ่านการพิจารณา
- การผ่านวาระที่ 1 เป็นขั้นรับหลักการ ต้องได้คะแนนเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา คือ ส.ส. และ ส.ว. ที่มีอยู่ โดยร่างที่ 13 นี้ มี ส.ส. เห็นชอบ 342 เสียง และ ส.ว. เห็นชอบ 210 เสียง
- มาตรา 83 ‘บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ’ กำหนดว่า สภาผู้แทนราษฎรประกอบไปด้วยสมาชิก 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน การเลือกตั้งให้ได้มาซึ่ง ส.ส. ต้องมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยใบแรกเลือก ส.ส.เขต ใบที่ 2 เลือกพรรคการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ ของแต่ละพรรค
- มาตรา 91 ‘การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ’ กำหนดว่า ให้นำคะแนนที่พรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนร่วมข้างต้น.
- ระบบเลือกตั้งเดิมที่ใช้ในการเลือกตั้งปี 2562 คือระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ Mixed Member Apportionment System (MMA) ทำให้พรรคใหญ่เสียเปรียบ เช่น เพื่อไทย ซึ่งมี ส.ส.เขต มากที่สุด 136 ที่นั่ง แต่จากสูตร MMA ทำให้ไม่มี ส.ส. บัญชีรายชื่อเลย ขณะที่พลังประชารัฐได้ ส.ส.เขต 97 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 19 ที่นั่ง รวมเป็น 116 ที่นั่ง จึงคาดกันว่า ที่พรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคเสนอกลับไปใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพราะไม่อยากเจอปัญหาเหมือนพรรคเพื่อไทย คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นศูนย์
- การแก้ไขรัฐธรรมนูญขั้นต่อมาคือชั้นกรรมาธิการฯ โดยมี ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ซึ่งจะพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตราตามข้อสรุปของ (กมธ.) ก่อนเสนอประธานรัฐสภาเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 ที่กำหนดไว้ 24-25 สิงหาคม
- แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากการ กมธ. นอกจากการแก้ไขมาตรา 83 และ 91 มีการแก้ไขและยกเลิกมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง คือ มาตรา 85, 86, 92, 94, 105 และบทเฉพาะกาล ทำให้ กมธ. หลายคนทักท้วงว่าควรทำการแก้ไข 2 มาตราตามที่รับหลักการมาในวาระที่ 1 เท่านั้น ขณะที่ กมธ.เสียงข้างมากเห็นว่า ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาปี 2563 ข้อ 124 วรรคสาม อนุญาตให้ทำได้ หากการแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเพิ่มเติม เกี่ยวเนื่องกับหลักการนั้น ซึ่งในที่นี้มาตราข้างต้นทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง
- วันที่ 24 สิงหาคม 2564 วันแรกของการประชุมรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ จึงเสนอญัตติด่วน ให้รัฐสภาวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ กมธ. ว่าผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 114 วรรคสอง ว่า กมธ. เสียงข้างมากแปรญัตติเพิ่มเติมเกินหลักการที่วางไว้ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการรับหลักการวาระที่ 1 หรือไม่ เพราะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมและยกเลิกมากกว่า 2 มาตราที่ผ่านการรับหลักการในวาระแรก รวมถึงยังมีความไม่สอดคล้องกับข้อบังคับการประชุมฯ ที่ 124 ซึ่งใช้สำหรับการแปรญัตติโดยสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น
- เช้าวันเดียวกัน ไพบูลย์ นิติตะวัน ประธาน กมธ. พิจารณาร่างฯ ได้เรียกประชุม กมธ. ก่อนการวินิจฉัยญัตติด่วนของธีรัจชัยจะเริ่มต้น ผลสรุปออกมาว่า จะมีการถอนการแก้ไขอย่างน้อย 4 มาตรา ซึ่งคาดกันว่าเป็นมาตราที่เกินหลักการไปมาก เช่น มาตรา 85 แก้ไขให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 30 วัน และบทเฉพาะกาลว่าด้วยการกำหนดระยะเวลาให้รัฐสภาตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ภายใน 120 วัน เป็นต้น
- ผลของการอภิปรายญัตติด่วนวันนี้ออกมาในช่วงเย็นว่า มติรัฐสภาเสียงข้างมาก ‘ไม่เห็นด้วย’ ว่า คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบธรรม ตามที่ธีรัจชัยเสนอ โดยผลมีดังนี้
จำนวนผู้ลงมติ 631 เสียง
เห็นด้วย 60
ไม่เห็นด้วย 374
งดออกเสียง 193
ไม่ลงคะแนนเสียง 4
หลังจากนี้ การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จะเดินหน้าต่อไป และคงมีประเด็นสำคัญและรายละเอียดปลีกย่อยให้ติดตามอีกไม่น้อย
