บทสรุปการประชุม COP26 เมื่อมหาอำนาจชวนประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ยุค Green Economy
...
LATEST
Summary
- เราอาจเห็นการประชุม COP26 ที่เน้นการพูดคุยเรื่องของสภาวะแวดล้อม แต่ละประเทศออกมาพูดถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์
- ทว่าในอีกด้านหนึ่งของการประชุมนี้ ได้มีการพูดคุยกันของหลายประเทศถึงแนวทางการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการลงทุนต่างๆ แต่กลับไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมว่า จะสามารถผลักดันให้ประเทศเหล่านี้ลงทุนกับ Green Economy ได้มากแค่ไหน
- ไม่ใช่ว่าการลงทุนใน Green Economy จะเป็นไปไม่ได้เลย แต่ในช่วงที่ผ่านมามีมาบ้างแล้ว และการลงทุนเหล่านี้จะมากขึ้นกว่าเดิมในอนาคต จับตามองให้ดี
...
ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลกได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ใกล้ตัว ก็เช่น ปัญหาในกรุงเทพฯ ที่น้ำท่วมจากปัญหาฝนตกนอกฤดูกาล อากาศที่เปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดฝนแล้ง ซึ่งกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการเกษตร
เมื่อเร็วๆ นี้ คิดว่าคุณผู้อ่านคงได้ผ่านตาบ้างกับงานประชุม COP26 ซึ่งย่อมาจาก United Nations Climate Change Conference โดยปกติแล้วงานนี้เป็นงานที่มีขึ้นทุกปี จะยกเว้นก็แค่ปีที่แล้ว ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตัวงานก็เริ่มต้นจัดครั้งแรกตั้งแต่ปี 1995 โน่นเลย
สิ่งที่ผู้คนจำนวนมากสงสัยว่า งาน COP26 มันสลักสำคัญอะไรนักหนา
คำตอบก็คือ การประชุมนี้ เป็นการพบปะระหว่างผู้นำประเทศ เพื่อทำความตกลง กำหนดมาตรการ และควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับอุณหภูมิในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมคือเมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว ในการประชุม COP21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ในบทความนี้ ผมจะชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการประชุม COP26 ซึ่งจะส่งผลในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจโลก
ราคาที่ต้องจ่ายของประเทศกำลังพัฒนา
เราจะเห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างมาก GDP หลายประเทศถดถอยกันเป็นทิวแถว ธนาคารกลางกับการประกาศนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ไปจนถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและเงินเยียวยาต่างๆ
ถ้าหากเรามองว่า การลงทุนของประเทศกำลังพัฒนาก็ต้องมีการลงทุนไม่แพ้กัน เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อาจเป็นตรงกันข้ามกับประเทศใหญ่ๆ เพราะไม่ได้มีเม็ดเงินมากนัก อย่างเช่น การลงทุนในโรงไฟฟ้าอาจไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสะอาดได้เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
ปัจจัยสำคัญอยู่ตรงที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องสร้างโรงไฟฟ้าที่มีราคาถูกลง เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานฟอสซิลอย่างถ่านหิน ซึ่งเป็นที่นิยมในประเทศจีนและประเทศอินเดีย หรือดีขึ้นมาหน่อย ก็คือประเทศไทย ซึ่งใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี การลงทุนเหล่านี้ มาพร้อมกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลอยู่ดี
ที่น่าสนใจ มีบทวิเคราะห์จาก UBS คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้น้ำมันดิบ จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติเหมือนกับปี 2019 ประมาณไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 นั่นแปลว่า จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกจำนวนไม่น้อย ขณะที่เศรษฐกิจโลกเองก็กำลังเติบโตหลังจากโควิด-19 เช่นกัน
พร้อมกันนี้ เราจะเห็นว่า ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว ที่ต้องการเบนเข็มไปใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น ตรงกันข้ามกับประเทศกำลังพัฒนา ก็ต้องการลงทุน แต่ติดเรื่องเม็ดเงินที่มีไม่เท่ากับประเทศพัฒนาแล้ว แม้ในความเป็นจริง ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศก็มีความต้องการและสนใจที่จะลงทุนในพลังงานสะอาดอยู่ไม่น้อยก็ตาม
ภาพหลักที่เราเห็นจาก COP26
สำหรับการประชุม COP26 ครั้งนี้นั้นมีการผลักดันวาระสำคัญไม่ว่าจะเป็น
- ผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้น
- ส่งเสริมการลงทุนในพลังงานสะอาด
- เร่งการเลิกใช้พลังงานจากถ่านหิน
- ลดการตัดไม้ทำลายป่า
บทวิเคราะห์จาก DBS ชี้ว่า เป้าหมายในการประชุม COP26 จะสามารถบรรลุได้โดยการจัดหาเม็ดเงินจำนวนมาก ซึ่งอาจต้องมาจากการระดมทุน ก่อนที่จะนำไปลงทุนในพลังงานสะอาด
ในการประชุม COP26 นเรนทรา โมดี ผู้นำของอินเดีย ประกาศว่า อินเดียจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2070COP26 ผลักดันให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
อย่างไรก็ดี อินเดียต้องการเม็ดเงินลงทุนในส่วนนี้มากถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศต่างๆ เพื่อที่จะผลักดันเป้าหมายดังกล่าวให้ได้
มุมมองของ DBS คาดว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะจัดหาเงินทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างน้อย 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี นอกจากนี้องค์กรการเงินระหว่างประเทศก็ต้องมีบทบาทสำคัญเช่นกัน และในอนาคตข้างหน้าเราจะเห็นเม็ดเงินระดับล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในการลงทุนต่างๆ เพื่อที่จะรักษาเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ทั่วโลก
การลงทุนใน Green Economy ของประเทศกำลังพัฒนาจะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล
จากการประชุม COP26 ประเทศกำลังพัฒนาได้ร้องขอเม็ดเงินจากประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นจำนวนมาก เหมือนกับราวว่าไม่เคยมีการลงทุนเลยก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว เม็ดเงินในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากการระดมทุนของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ผ่านกองทุนที่เน้นการลงทุนในพลังงานสะอาด หรือแม้แต่กองทุนความมั่งคั่งของประเทศต่างๆ เหล่า Private Equity ไปจนถึงกองทุนบำเหน็จบำนาญที่มีเม็ดเงินมหาศาล กองทุนเหล่านี้เองก็เริ่มสนใจที่จะลงทุนในพลังงานสะอาดมากขึ้น หรือแม้แต่เริ่มลงทุนไปบ้างแล้ว อย่างเช่นในปีที่ผ่านมา เทมาเส็ก ได้จับมือกับ EQT ซึ่งเป็น Private Equity ในประเทศสวีเดน ลงทุนในโซลาร์ฟาร์มที่ประเทศอินเดีย เป็นต้น
ไม่เพียงแค่นั้นครับ กองทุนเหล่าที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นเอง ส่วนใหญ่เริ่มมีการประกาศเจตนารมณ์ที่เป็นพัฒนาการที่สำคัญ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญของประเทศนอร์เวย์ประกาศลดการลงทุนในบริษัทพลังงานที่ยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และลงทุนในบริษัทที่เน้นพลังงานสะอาดเป็นล่ำเป็นสันมากขึ้น
นอกจากนี้หลังการประชุม COP26 มีความเป็นไปได้สูงว่า องค์กรการเงินระหว่างประเทศ เช่น ADB และประเทศมหาอำนาจ จะมีแผนเริ่มปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศกำลังพัฒนาในการลงทุนโครงการต่างๆ เหล่านี้เร็วแค่ไหน และเรื่องสำคัญก็คืออัตราดอกเบี้ยก็ต้องจูงใจให้ประเทศพัฒนาเหล่านี้สนใจที่จะลงทุนด้วยเช่นกัน
เราอาจได้เห็นความคึกคักในตลาดตราสารหนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออก Green Bond จากภาคเอกชนมากขึ้นหลังจากการประชุม COP26 ซึ่งเงินที่ได้จาก Green Bond ก็จะนำมาลงทุนในพลังงานสะอาด หรือการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม เช่น การสร้างหรือปรับปรุงอาคารให้ลดการใช้พลังงานมากกว่าเดิม
ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ผมจะชี้ให้เห็นอีกเรื่องในการประชุม COP26 คือแม้ว่า เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ของประเทศต่างๆ อาจทำได้ช้ากว่าที่เหล่าผู้รณรงค์เรียกร้องก็ตาม แต่ในการประชุมครั้งนี้เหมือนเป็นการพูดคุยโดยเฉพาะเรื่องใหญ่นั่นก็คือการจัดหาเม็ดเงินต่างๆ และได้ย้ำเตือนประเทศต่างๆ ถึงสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
ขอวกกลับมาที่ประเทศไทยของเราบ้าง เราจะเห็นได้ว่า ประชาชนคนทั่วไป เริ่มตระหนักในเรื่องของพลังงานสะอาดมากขึ้น ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ก็คือ รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนแบรนด์หนึ่ง ซึ่งได้รับความนิยม จนเป็นกระแสไปทั่วโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ ยังมีมุมในเรื่องของการลงทุน ที่เราน่าจะได้เห็นกองทุนรวมที่ลงทุนโดยเน้นการลงทุนไปที่พลังงานสะอาดหลากหลายกองทุน ก็น่าจะได้รับความนิยมไม่น้อย
ท้ายที่สุดแล้วถ้าหากประเทศไหนที่ไม่ปรับนโยบายเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ประเทศนั้นอาจตกขบวนเม็ดเงินมหาศาลนี้ทันทีครับ
ที่มา: บทวิเคราะห์จาก DBS, NYTimes, Yahoo News, Bloomberg, Bloomberg
