Humberger Menu

บริษัทใหญ่รุก-ซื้อ ‘ธุรกิจใหม่’ ไม่ใช่แค่ลองตามเทรนด์ แต่มองเห็นและต้องการคว้าทุกโอกาส

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

Economy

Economy

14 ธ.ค. 64

creator
รุ่งนภา พิมมะศรี
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • เฉพาะในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมเพียงสองเดือน มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวบริษัทใหญ่ๆ เกี่ยวกับ ‘ธุรกิจใหม่ๆ’ หลายบริษัท
  • ไทยพาณิชย์ที่ซื้อบิทคับ และทุ่มทุนให้โรบินฮู้ดขยายธุรกิจใหม่ พร้อมเตรียมเป็นสตาร์ทอัพ, เดอะมอลล์ผนึกบิทคับตั้งบริษัทใหม่ทำดิจิทัลคอมมูนิตี้ชื่อ Bitkub M Social, เซ็นทรัล รีเทล ซื้อหุ้นบริษัทที่ถือหุ้น Grab, สยามพิวรรธน์เปิดตัวซุปเปอร์แอป และกรุงไทยร่วมทุ่มกับพาร์ตเนอร์ตั้งบริษัทใหม่ผลิตบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล
  • ไทยรัฐพลัสขอชวนดูว่า บริษัทยักษ์ใหญ่รายไหนทำอะไร ด้วยวัตถุประสงค์หรือความคาดหวังอะไรบ้าง

...


เพราะอยากลองทำอะไรตามเทรนด์ที่บริษัทอื่นๆ เขาทำ 

เพราะธุรกิจเดิมที่ทำอยู่เริ่มอิ่มตัว เติบโตยาก จึงหารายได้เสริม  

เพราะมองเห็นโอกาสเติบโตในธุรกิจใหม่ๆ 

เพราะจะให้ธุรกิจใหม่มาเสริมธุรกิจเดิมซึ่งยังคงเป็นธุรกิจหลัก

เพราะต้องการสร้างหน่วยสนับสนุนการเติบโตของบริษัท 

ฯลฯ 

อาจจะเพราะเหตุผลข้อใดข้อหนึ่งหรืออาจจะเพราะทุกๆ เหตุผลรวมกัน ที่ทำให้บริษัทใหญ่ๆ ในไทยพาเหรดเข้าสู่ธุรกิจใหม่ในช่วงปลายปี 2021 นี้ ไม่ว่าจะโดยการซื้อ-เข้าลงทุน การร่วมทุนตั้งบริษัทใหม่ หรือการชวนพันธมิตรเข้ามาร่วมขยายบริการใหม่ๆ ไปด้วยกัน 

เฉพาะในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมเพียงสองเดือน มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวบริษัทใหญ่ๆ กับ ‘ธุรกิจใหม่ๆ’ กันหลายบริษัท ยังไม่ได้พูดถึงบริษัทที่เข้าร่วมขบวนเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเปิดรับเงินดิจิทัลในการจ่ายค่าสินค้าและบริการที่มีให้เห็นมากมาย 

ไทยรัฐพลัสขอชวนดูว่า บริษัทยักษ์ใหญ่รายไหนทำอะไร ด้วยวัตถุประสงค์หรือความคาดหวังอะไรบ้าง 


SCB ซื้อ Bitkub 

เริ่มต้นเดือนพฤศจิกายนอย่างฮือฮา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) บริษัทย่อยของ SCB เข้าซื้อหุ้น บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือ Bitkub ในสัดส่วน 51 เปอร์เซ็นต์ (คิดเป็นมูลค่าประมาณ 17,850 ล้านบาท) จาก บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด คาดการณ์ว่าธุรกรรมการเข้าซื้อหุ้น Bitkub จะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2565 

Bitkub เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้บริการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอันดับหนึ่งของประเทศไทย 

ในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน 2564 Bitkub มีมูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรวมประมาณ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 92 เปอร์เซ็นต์ และในช่วงเก้าเดือนที่ว่านี้ Bitkub มีรายได้รวม 3,279 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,533 ล้านบาท 

SCB บอกเหตุผลที่เข้าไปลงทุนในบริษัทดาวรุ่งพุ่งแรงแห่งยุคว่า “การเข้าลงทุนใน Bitkub เนื่องจากการเล็งเห็นถึงโอกาสในการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และยังช่วยให้ SCBS ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Bitkub มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบนิเวศของสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย” 


SCB ส่ง Robinhood ขยาย 3 ธุรกิจ และเตรียมระดมทุน

นอกจากการซื้อหุ้น Bitkub แล้ว บริษัทย่อยหลายบริษัทของ SCB กำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ และขยายธุรกิจไปในน่านน้ำใหม่ หนึ่งในนั้นคือ โรบินฮู้ด (Robinhood) แอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรีที่ชาวกรุงค่อนข้างคุ้นเคยกัน 

SCB ให้กำเนิดโรบินฮู้ดขึ้นมาในฐานะโปรเจกต์ซีเอสอาร์ของบริษัท แต่ขึ้นชื่อว่าการทำธุรกิจก็มักจะไม่ปล่อยให้โอกาสที่มองเห็นหลุดลอยไป ตอนนี้โรบินฮู้ดกำลังนับถอยหลังจะเปิดตัวสามธุรกิจใหม่ คือ โรบินฮู้ดทราเวล บริการด้านการท่องเที่ยว, โรบินฮู้ด มาร์ท บริการสั่งสินค้าจากซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าต่างๆ และ โรบินฮู้ด เอ็กซ์เพรส บริการรับ-ส่งของ ซึ่งมีการแถลงข่าวกันไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 

การรุกธุรกิจใหม่นี้จะเริ่มจากการเปิดให้บริการ โรบินฮู้ด ทราเวล ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แล้วอีกสองธุรกิจจะตามมาภายในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งทุกบริการจะรวมในแอปพลิเคชันเดียวเป็น Robinhood แบบซุปเปอร์แอปฯ และถัดจากนั้นในช่วงกลางปี โรบินฮู้ดจะผันตัวเองเป็นสตาร์ทอัพเปิดระดมทุนในระดับซีรีส์เอ นอกจากตั้งเป้าจะเติบโตไวตามวิถีสตาร์ทอัพ และหารายได้เลี้ยงตัวเองแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือโรบินฮู้ดจะสร้างผลประโยชน์ให้บริษัทแม่อย่างคุ้มค่าด้วยการดึงผู้ประกอบการที่ใช้บริการในแอปฯ มาเป็นลูกค้ากู้เงินธนาคารไทยพาณิชย์ 

The Mall x Bitkub

เดอะมอลล์ บิ๊กเนมแห่งธุรกิจค้าปลีกร่วมทุนกับ บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด จัดตั้ง บริษัท บิทคับ เอ็ม จำกัด สัดส่วน 50 : 50 เพื่อลงทุนและบริหาร Bitkub M Social ดิจิทัลคอมมูนิตี้แห่งแรกของเมืองไทย บนพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตร ณ โซนฮีลิกซ์ ควอเทียร์ อาคาร A ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ 

นางสาวศุภลักษณ์  อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด บอกว่า Bitkub M Social จะเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนความรู้ การจัดสัมมนา และการประชุมทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล สนับสนุนในการสร้างองค์ความรู้สำหรับสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และเป็นแหล่งพบปะของนักลงทุนที่สนใจในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ เป็นศูนย์การเทรดและการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งมี NFT Gallery & Gaming และนำเข้าสู่โลก meteverse ในอนาคต

เดอะมอลล์หวังอะไรจาการลงทุนครั้งนี้? 

ศุภลักษณ์ อัมพุช กล่าวว่า การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกสรรพสินค้าในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ ต่างจากในยุคก่อน จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโต และเป็นฐานการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศด้วย สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือธุรกิจเทคโนโลยีจะมีอนาคตเติบโตสูงมาก กระแสสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอนาคตของโลก จึงมีความคิดว่าจะนำธุรกิจค้าปลีก และท่องเที่ยวมาเชื่อมต่อกัน เพื่อสร้าง digital asset ecosystem ขึ้นมาเพิ่มมูลค่าให้ขยายวงกว้างขึ้น พร้อมกับวางเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัลระดับภูมิภาคเอเชีย

นอกจากผลตอบแทนที่จะได้จาก Bitkub M Social โดยตรงแล้ว เราอาจจะวิเคราะห์เอาเองได้ว่า ผลประโยชน์ทางอ้อมแบบพื้นฐานที่สุดที่เดอะมอลล์จะได้จากการทำ Bitkub M Social ก็คือ การดึงลูกค้าที่สนใจในสินทรัพย์ดิจิทัล (ซึ่งมีกำลังซื้อสูง) เข้าห้างนั่นเอง 


เซ็นทรัล รีเทล ซื้อหุ้นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้น Grab 

วันที่ 1 ธันวาคม 2564 Hillborough Group บริษัทย่อยของ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ซื้อคืนหุ้น 67.0 เปอร์เซ็นต์ ของ Porto World Wide Limited ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 40 เปอร์เซ็นต์ของ แกร็บแท็กซี่ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) 

เซ็นทรัล รีเทล (CRC) บอกว่า การลงทุนในธุรกิจ Grab ประเทศไทยจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาอีโคซิสเท็มและแพลตฟอร์มออมนิแชนเนลของ เซ็นทรัล รีเทล ให้แข็งแกร่ง เนื่องจาก Grab เป็นผู้นำแพลตฟอร์มบริการออนไลน์สู่ออฟไลน์ที่มีการเติบโต และมีการขยายการให้บริการอย่างรวดเร็วทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทย Grab มีบริการที่หลากหลายและครบถ้วน ทั้งบริการส่งอาหาร บริการเดินทาง บริการระบบโลจิสติกส์ บริการจองโรงแรมและที่พัก และบริการการเงิน ที่จะส่งเสริมและผลักดันองค์กรให้เป็น digital retail อย่างสมบูรณ์แบบ และช่วยในการต่อยอดการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคต 

นอกจากนี้ CRC อาจได้รับผลประโยชน์อีกด้านหนึ่ง หาก Porto World Wide ใช้สิทธิ์ที่มีเพียงครั้งเดียวในการแลกหุ้น แกร็บแท็กซี่ โฮลดิ้งส์ ประเทศไทย ไปเป็นหุ้นประเภท class A ordinary share ของ Grab Holdings Limited หรือ GHL ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ประเทศสหรัฐอเมริกา วันที่ 2 ธันวาคม 2564 

“เราจะนำเอาความแข็งแกร่งของทั้งสองฝ่ายมาเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าคนไทยทุกคน วันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญและความภาคภูมิใจที่เราได้มีพันธสัญญาร่วมกัน เพื่อยกระดับวงการค้าปลีกและบริการของไทย ร่วมผลักดันเศรษฐกิจประเทศไทยให้เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง เรามีความมุ่งมั่นและพร้อมที่จะนำพาองค์กรไปสู่การพัฒนาและการเติบโตอย่างยั่งยืน” นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว 


สยามพิวรรธน์เปิดตัว ONESIAM SuperApp 

วันที่ 9 ธันวาคม 2564 บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้พัฒนาธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ เจ้าของและผู้บริหารศูนย์การค้า สยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอรี่ และหนึ่งในพันธมิตรเจ้าของ ไอคอนสยาม และ สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ เปิดตัว ‘ONESIAM SuperApp’ ซุปเปอร์แอปพลิเคชันใหม่ที่อวดว่าเป็นการรวม 4 จักรวาลแห่งประสบการณ์เหนือความคาดหมาย ‘The Universe of Extraordinary Experiences’ ไว้ในแพลตฟอร์มเดียว 

นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญมากในการทำธุรกิจ ซึ่งส่งผลให้ระบบนิเวศธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เกิดโอกาสในการเชื่อมโยงระบบดิจิทัลซึ่งกันและกัน ดังนั้นธุรกิจค้าปลีกไม่จำเป็นต้องวางกรอบตัวเองอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมอีกต่อไป 

“วันนี้ สยามพิวรรธน์พร้อมแล้วที่จะเดินหน้าสู่โลกใหม่ของธุรกิจที่สามารถขยายไปได้อย่างไร้พรมแดน โดยนำเสนอจักรวาลแห่งประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมายในโลกดิจิทัล ‘ONESIAM SuperApp’ แอปพลิเคชันรูปแบบใหม่ที่จะทลายทุกข้อจำกัด และสามารถเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มต่างๆ อีกหลากหลายประเภทของพันธมิตรในระบบนิเวศของเรา” 

ชฎาทิพย์บอกอีกว่า ‘ONESIAM SuperApp’ ใช้นวัตกรรมจากหลายองค์กรชั้นนำต่างประเทศ มุ่งเน้นให้การสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจของร้านค้าใน 4 ศูนย์การค้าของสยามพิวรรธน์ รวมถึงพันธมิตรกว่า 1,000 แบรนด์ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มาร่วมในโกลบอล อีโคซิสเท็มนี้

1 ใน 4 ‘จักรวาลแห่งประสบการณ์เหนือความคาดหมาย’ ของ ONE SIAM ที่ไม่พลาดเทรนด์ของโลกยุคปัจจุบันคือ ‘จักรวาลแห่งระบบรีวอร์ดที่ไร้ขีดจำกัด’ เป็นระบบ loyalty program แบบใหม่ที่ใช้ VIZ COIN เข้ามาแทนการสะสมแต้มแบบเดิม โดย 1 เหรียญ VIZ COIN มีค่าเท่ากับ 1 บาท 


‘กรุงไทย’ ตั้งบริษัทผลิตคนเก่งดิจิทัล หาคนทำงาน รองรับการรุกน่านน้ำใหม่

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงไทยมีบริษัทย่อยที่ทำหน้าที่เสมือนสปีดโบ๊ตบุกเบิกธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ด้านดิจิทัลอยู่แล้ว นั่นคือ บริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทใน ‘กลุ่มธุรกิจการเงิน’ ที่ธนาคารกรุงไทยก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2563 

และเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา บริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย จำกัด ก็ได้ลงทุนสร้างบริษัทใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งบริษัท โดยร่วมกับ บริษัท เอคเซนเชอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด ตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ Arise by Infinitas ที่จะทำหน้าที่สร้างอัจฉริยะสายพันธุ์ดิจิทัล หรือ ‘digital talents’ เพื่อรองรับแผนขยายธุรกิจของ ‘กรุงไทย อินฟินิธัส’ รวมถึงสร้างคนเก่งป้อนให้แก่พันธมิตรทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าสร้างมูลค่ากิจการ 20,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ให้ข้อมูลว่า อินฟินิธัสจับมือเป็นพันธมิตรกับ บริษัท เอคเซนเชอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ ‘Arise by Infinitas’ ในสัดส่วน 51 : 49 ด้วยทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท เพื่อเป็นศูนย์กลางพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ รองรับการขยายธุรกิจของธนาคารกรุงไทย, อินฟินิธัส และพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการร่วมทุนในครั้งนี้ เป็นการร่วมทุนของแอคเซนเชอร์กับกลุ่มสถาบันการเงินเป็นครั้งแรกในเอเชีย 

Arise by Infinitas ตั้งเป้าดำเนินธุรกิจด้วยแนวทาง TechFin เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรรองรับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งด้านนวัตกรรมทางการเงิน และการพัฒนาบุคลากร โดยมุ่งพัฒนาโครงการและโซลูชั่นใหม่ๆ ที่จะเร่งให้ธนาคารกรุงไทยสามารถปรับกระบวนการปฏิบัติงานต่างๆ ให้เป็นดิจิทัล (digitization) และปรับไปสู่ cloud-centric model ได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานของการเติบโตในประเทศไทยและในระดับภูมิภาคของธนาคารกรุงไทยในระยะยาว 

บริษัท Arise by Infinitas ตั้งเป้าพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่มีมาตรฐาน มีประสบการณ์การทำงานระดับ World class ด้วยการสร้างฐานบุคลากรในประเทศ และดึงกลุ่ม technology talents จากต่างประเทศมาร่วมงาน พร้อมมีแผนจัดตั้ง virtual office ในหลายประเทศ คาดว่าภายใน 5 ปีจะมีมูลค่ากิจการสูงถึง 20,000 ล้านบาท 

.

นี่แค่ผ่านมาถึงกลางเดือนธันวาคมเท่านั้น เรายังไม่รู้ว่าในอีกครึ่งเดือนที่เหลือของปีนี้ จะมีบิ๊กดีลหรือบิ๊กโปรเจกต์ของบริษัทใหญ่กับการรุกธุรกิจใหม่ๆ อะไรให้ฮือฮาอีกบ้าง 





Share article
  • Line
  • link

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat