11 ปี ‘อาหรับสปริง’ การปฏิวัติเปลี่ยนผ่านที่ปลายทางไม่ใช่ประชาธิปไตย
...
Summary
- ตูนิเซียเป็นเพียงชาติเดียวที่อยู่บนเส้นทางเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งที่ใกล้เคียงประชาธิปไตยที่สุด แม้จะมีเค้าลางของการใช้อำนาจนิยมในการปลดนายกรัฐมนตรีในปีนี้ แต่ก็ถือว่าสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ
- กลุ่ม ‘รัฐริมอ่าว’ มีจุดร่วมที่เหมือนกันคือ เป็นระบอบอำนาจนิยมแบบกษัตริย์นิยม ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน กาตาร์ โอมาน ยูเออี และคูเวต ซึ่งไม่ได้อยู่ในศูนย์กลางการปฏิวัติ แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ ระบอบกษัตริย์อัปเกรดตัวเอง
- ลิเบียคือชาติที่อยู่ในภาวะรัฐล้มเหลวหลังอาหรับสปริง เพราะเมื่อผู้นำอำนาจนิยมที่อยู่มายาวนานถูกโค่น เกิดสุญญากาศทางการเมือง การแก่งแย่งชิงอำนาจภายในประเทศจึงตามมา
...
คลื่นปฏิวัติครั้งใหญ่ของโลกเริ่มต้นที่ตูนิเซีย
มูฮัมเหม็ด บูอาซีซี ต้องลาออกจากการเรียน ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เอื้อต่อการเริ่มต้นใช้ชีวิต เขาจึงต้องมาเข็นรถขายผักผลไม้เพื่อช่วยเหลือครอบครัว แต่ต้องถูกตำรวจหญิงหมิ่นหยามและตบหน้า ยึดรถขายผลไม้ ปรับเงินเพราะไม่มีใบอนุญาต
บูอาซีซี วัย 26 ปี ตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการเผาตัวเอง ที่เมืองซิดีบูซิด เมื่อ 17 ธันวาคม 2010 หรือวันนี้เมื่อ 11 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะเสียชีวิตในวันที่ 4 มกราคม 2011
การเผาตัวเองของบูอาซีซีลุกลามสู่ ‘การปฏิวัติดอกมะลิ’ (Jasmine Revolution) และลุกลามไปทั่วดินแดนอาหรับ กลายเป็น ‘อาหรับสปริง’ (Arab Spring)
ป้าย มูฮัมเหม็ด บูอาซีซี ที่แสดงให้เห็นว่าเกิดการประท้วงลุกลามไปทั่วโลก
การลุกฮือของประชาชาติในชาติอาหรับเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดมิโนตัวแรกล้มลงที่ตูนิเซีย เมื่อประธานาธิบดี ซีน เอล อบิดีน เบน อาลี ถูกโค่น และต้องหนีออกประเทศ หลังอยู่ในอำนาจมา 23 ปี ตามมาด้วย ลิเบีย อียิปต์ เยเมน บาห์เรน ซึ่งผู้นำสายอำนาจนิยมล้วนถูกขับไล่
กล่าวกันว่า อาหรับสปริง คือ ชัยชนะครั้งสำคัญของประชาชน เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ฝันใฝ่ถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจและสังคมทั่วโลก
และความคาดหวังหนึ่งคือ เราจะได้เห็นประชาธิปไตยผลิบานในดินแดนอาหรับ และยิ่งไปกว่านั้นจะเป็นศักราชเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่ที่ผู้คนมีสิทธิและเสียงเท่ากัน
แต่เวลาผ่านไป ประชาธิปไตยหลังอาหรับสปริงไม่ปรากฏ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศก็เป็นคนละรูปแบบ บ้างอยู่บนเส้นทางสู่ประชาธิปไตย บ้างเปลี่ยนไปสู่อำนาจนิยมแบบใหม่ และบ้างเรียกได้ว่าการลุกขึ้นมาปฏิวัติของประชาชนนั้นสูญเปล่า
“อาหรับสปริงนั้นไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไปสู่ระบอบที่ประชาชน หรือมวลชนรู้สึกว่าเขามีที่มีทาง มีที่ยืนในการเมืองมากขึ้น เสียงของเขาได้รับการรับฟังมากขึ้น ซึ่งอาจไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตกเสมอไป”
คือคำตอบถึง ‘ปลายทาง’ ประชาธิปไตยที่ไม่เกิดขึ้นจริงบนแผ่นดินอาหรับ ของ ผศ.อาทิตย์ ทองอินทร์ ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงศึกษา การก่อการร้าย และการเมืองในพื้นที่ตะวันออกกลาง
ผศ.อาทิตย์ ทองอินทร์
โดมิโนที่ล้มไปคนละทิศคนละทาง
การเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นจากตูนิเซีย ส่งผลให้ผู้นำหลายประเทศต้องหลุดจากตำแหน่งที่ครองมายาวนานก็จริง แต่หากดูในระดับโครงสร้างอำนาจการปกครอง เวลาที่ผ่านมา 11 ปี การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองถือว่าเป็นกระบวนการที่ต้องการเวลายาวนานไม่สิ้นสุด
“เอาเข้าจริงก็คือ มันไม่ใช่บทสรุปในตัวเอง หมายถึงเราบอกไม่ได้ว่าสุดท้ายแล้ว ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศเหล่านั้นปั๊บ แล้วแฮปปี้เอนดิ้ง ไม่ใช่แค่นั้น มันเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งบางครั้งก็เดินไปข้างหน้า คือเดินไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่บางยุคสมัย บางช่วงเวลามันก็ถดถอย คือกลับกลายมาเป็นอำนาจนิยม
“โลกอาหรับอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่กินระยะเวลายาวนาน และปัจจุบันก็ยังไม่เสร็จสิ้น ผมว่าก็ไม่มีทางเสร็จสิ้นด้วย เพราะมันคือเส้นทางของแต่ละประเทศ นี่คือภาพรวมเบื้องต้น”
กลุ่มประเทศอาหรับสปริงเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างแตกต่าง ตูนิเซีย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น คือตัวแบบของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้สำเร็จ แต่ในปีที่ผ่านมา ประธานาธิดีก็ใช้อำนาจปลดนายกรัฐมนตรี ซึ่งแม้จะสามารถทำได้อย่างถูกต้องตามที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ แต่ผู้คนส่วนหนึ่งก็มองว่า นี่คือระบอบอำนาจนิยมครั้งใหม่ ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น
“ตัวแบบของตูนิเซีย เป็นตัวอย่างหลักฐานที่ยืนยันถึงกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งสำหรับผม ไม่เชื่อว่าทฤษฎีนั้นสามารถใช้งานได้จริง เวลาเราดูระบอบการเมือง ผมจะเชื่อในทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองมากกว่า คือมันยื้อยุดฉุดกระชากกันไปมาระหว่างระบอบต่างๆ
“กรณีตูนิเซียก็จะเป็นตัวอย่าง หลักฐานที่ยืนยันว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองมีลักษณะอย่างที่ผมว่ามา คือมันยื้อยุดกันไปมาระหว่างกลุ่มการเมืองที่สังกัดอยู่ในระบอบที่แตกต่างกัน บางครั้งก็มีความเป็นอำนาจนิยม บางครั้งฝ่ายประชาธิปไตยก็ชนะ มันไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีผลลัพธ์ตรงนั้น ก็ต้องต่อสู้กันไปตลอดเวลา”
อาหรับสปริงที่ตูนิเซีย
อาจกล่าวได้ว่า ตูนิเซียเป็นเพียงชาติเดียวที่อยู่บนเส้นทางเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งที่ใกล้เคียงประชาธิปไตยที่สุด ขณะที่อิยิปต์จบลงที่ชัยชนะของประชาชนเช่นกัน มีแนวโน้มจินตนาการถึงการเมืองรูปแบบใหม่ได้ แต่บทสรุปของกระบวนการประชาชนในอียิปต์ไม่ได้นำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก กลับเป็นประชาธิปไตยที่ผสานอยู่กับหลักการอิสลามการเมือง
“คือจะว่าเขาเป็นเผด็จการก็คงไม่ใช่ แต่จะว่าเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่เป็นประชาธิปไตยเสรี ก็ไม่ใช่แบบนั้น จะมีการนำหลักการทางอิสลามมาใช้ โดยยึดโยงอยู่กับเสียงข้างมาก หรือเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ นั่นก็แปลว่า ตัวอย่างของอียิปต์ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ยืนยันผลของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองว่า ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย”
อาทิตย์ย้ำถึงจุดตั้งต้นของคำถามถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงว่า
“คือถ้าเราไปตั้งหลักโจทย์ว่า กระบวนการ ‘อาหรับสปริง’ เป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยแล้วเราจะจนต่อโจทย์ หรือจนตรอกเลย เพราะเราจะอธิบายต่อไม่ได้”
หากจะอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอียิปต์ควรถูกนิยามแบบไหน อาจเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง จากอำนาจอธิปไตยในมือคนคนเดียว หรือคนกลุ่มเล็ก ประชาชน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ สิ่งนี้อาจฟังดูคล้ายประชาธิปไตย แต่เจตนารมณ์ของประชาชนที่เป็นเสียงส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบตะวันตก พวกเขาเพียงต้องการการเมืองที่มีอิสลามเป็นทางนำมากขึ้น ด้วยเหตุผลที่เชื่อว่า ความตกต่ำถดถอยของประเทศ เป็นผลมาจากการออกห่างจากหลักการทางนำของอิสลาม
“ระดับภายในประเทศก็ดูเหมือนว่ามันก็จะได้ดุลยภาพตรงนั้น ไม่ได้มีกระแสต่อต้านภายในประเทศที่มากมายแต่อย่างใด ปัจจัยของอียิปต์ก็คือการที่มหาอำนาจที่มีบทบาทอยู่ในภูมิภาคอย่างอเมริกาไม่แฮปปี้ ถ้าพูดกันตามตรงก็คือว่าไม่แฮปปี้กับผลลัพธ์ของอียิปต์เช่นนี้ จึงมีบทบาทในการแทรกแซงสนับสนุนกองทัพของ นายพลอัล-ซีซี (อับดุล ฟัตตอห์ อัล-ซีซี) ให้ก่อการรัฐประหาร ซึ่งก็บังเอิญเกิดขึ้นในปีเดียวกับรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์พอดี”
อาหรับสปริงที่เยเมน
รัฐริมอ่าว ระบอบอำนาจนิยมตั้งมั่น และสถาบันฯ ที่อัปเกรดตัวเอง
กลุ่มถัดมาคือกลุ่มประเทศที่อาทิตย์เรียกว่า ‘รัฐริมอ่าว’ มีจุดร่วมที่เหมือนกันคือ เป็นระบอบอำนาจนิยมแบบกษัตริย์นิยม นำโดยซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน กาตาร์ โอมาน ยูเออี และคูเวต รวมกลุ่มกันเป็นองค์การระหว่างประเทศระดับภูมิภาคชื่อว่า สภาความร่วมมือแห่งอ่าว (Gulf Cooperation Council: GCC)
ประเทศเหล่านี้อาจไม่ใช่ศูนย์กลางของอาหรับสปริง แต่ใช่ว่าแรงสั่นสะเทือนจะมาไม่ถึง เพราะระบบอำนาจนิยมนั้นทำงานอยู่ทุกพื้นที่ การรวมตัวประท้วงเพื่อส่งความต้องการไปถึงผู้ครองอำนาจจึงมีเป็นระยะ ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ การตรึงราคาน้ำมัน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เรียกร้องสวัสดิการและค่าแรง เป็นต้น
“ส่วนหนึ่งที่ร่วมอยู่ในขบวนชุมนุมประท้วงที่เกาะเกี่ยวอยู่กับเหตุการณ์อาหรับสปริง ‘ส่วนใหญ่’ แล้วไม่มีโจทย์วาระไปไกลถึงการล้มระบอบ โจทย์ที่เห็นเรียกร้องมากสุดจะไปถึงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง หรือผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้มีวาระไปไกลถึงการล้มระบอบ”
บาห์เรน คือหนึ่งในกลุ่มประเทศนี้ที่มีความแตกต่าง แม้จะมีระบอบกษัตริย์ แต่ภาคประชาชนเข้มแข็ง และมีอำนาจเงินจากน้ำมันน้อย ไม่เหมือนชาติอื่นที่ร่ำรวยจากน้ำมัน และใช้เงินหล่อเลี้ยงเพื่อไม่ให้ประชาชนลุกฮือได้
ขณะที่กาตาร์ต่างจากบาห์เรน ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ แต่มีรัฐสภา และค่อนข้างเป็นเสรีนิยมมากกว่าประเทศอื่นๆ เป็นที่ตั้งของสำนักข่าวอัลจาซีรา (Aljazeera) สำนักข่าวหลักสำนักเดียวในโลกอาหรับที่ให้พื้นที่การสื่อสารต่อกลุ่มผู้ประท้วงในประเทศต่างๆ
“สำหรับกลุ่มประเทศเหล่านี้ นับมาถึงปัจจุบัน ผลลัพธ์ก็คือ ระบอบอำนาจนิยมแบบกษัตริย์ยังคงดำรงอยู่ได้อย่างตั้งมั่น ภาษาวิชาการเรียกว่า ‘ระบอบอำนาจนิยมตั้งมั่น’ (consolidated authoritarianism) ที่ตั้งมั่นอยู่ได้ เพราะมีการปรับตัว มีการยกระดับความสามารถ คือระบอบอำนาจนิยมที่มีการอัปเกรดตัวเอง ไม่ได้ใช้วิธีการขู่ การปราบปรามเพียงอย่างเดียว …แน่นอนว่าการขู่ การปราบปรามยังมีอยู่ ขณะเดียวกันก็ทำอีกหลายเรื่อง เช่น มีภาคประชาสังคมที่ทำเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ในประเทศ ซึ่งดูก็รู้แล้วว่าประเทศเหล่านี้มีโจทย์เรื่องการละเมิดสิทธิเยอะแน่ๆ ดังนั้นเชื้อพระวงศ์ก็จะไปตั้งองค์กรที่ทำเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วยตนเอง
“พูดง่ายๆ ว่าชิงทำเสียก่อน และทำในเรื่องสิทธิมนุษยชนเล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องสิทธิสตรี สิทธิเยาวชนจากการติดยาเสพติด ในการเล่นกีฬา ในการเข้าถึงการศึกษา ก็ทำแต่เรื่องพวกนี้ เรื่องราวที่ไม่กระทบต่อการดำรงอยู่อย่างตั้งมั่นของระบอบ ก็ยิ่งได้รับความนิยมจากประชาชนที่อยู่ในระบอบได้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการแปรรูปกิจการบางอย่างให้กับเอกชน”
อาทิตย์สรุปว่า มาตรการหลักๆ ที่ประเทศรัฐริมอ่าวใช้อัปเกรดระบอบตัวเองให้ตั้งมั่น คือการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ไม่เปิดเสรีทางการเมือง หรือเปิดเพียงเล็กน้อย เช่น มีการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือการอนุญาตให้ผู้หญิงลงเลือกตั้งได้ อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถได้ ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อลดแรงเสียดทานเท่านั้น
อาหรับสปริงที่ลิเบีย
ความพังพินาศหลังการปฏิวัติประชาชน
ใช่ว่าการลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชนในเหตุการณ์อาหรับสปริงจะนำไปสู่สิ่งที่ ‘ดีขึ้น’ หรือ ‘พอไปได้’ ทั้งหมด เพราะมีประเทศอีกกลุ่มที่ยังต้องอยู่กับความพังพินาศมายาวนาน
ตัวอย่างที่หนึ่งคือ ลิเบีย ที่ประชาชนประสบกับชัยชนะ มูอัมมา กัดดาฟี ที่ครองอำนาจมายาวนาน 30-40 ปี ถูกสังหารอย่างทารุณ แต่เมื่อผู้นำที่สามารถใช้ระบบอำนาจนิยมมายาวนาน จนเหมือนเป็นเสาหลักของประเทศถูกโค่น สุญญากาศทางการเมืองก็เกิดขึ้น
“กรณีลิเบียจะเกิดสภาวะสุญญากาศทางอำนาจ ซึ่งขุนศึก นายพลตามหัวเมืองต่างๆ ต่างกระด้างกระเดื่องขึ้นมาเป็นผู้นำ ก็กลายเป็นกลุ่มการเมืองติดอาวุธ เพราะตัวเองคุมอาวุธด้วย เฉกเช่นเดียวกันกับอิรัก ก็เป็นขุนศึกและนายพลตามหัวเมืองเหล่านี้ที่มีฐานการเมือง ฐานมวลชนของตัวเอง คุมหัวเมือง แล้วมีอาวุธครบมือ ซึ่งอาวุธเดิมเคยใช้กดปราบประชาชนเพื่อผู้นำสูงสุด แต่พอผู้นำไม่อยู่แล้ว ตัวเองก็ไม่ยอมกับคนอื่น ตัวเองก็ใหญ่ไม่แพ้คนอื่น”
กรณีอย่างลิเบีย บทสรุปจากคำอธิบายของอาทิตย์คือ ผลของอาหรับสปริงทำให้ลิเบียกลายเป็น ‘รัฐล้มเหลว’ (failed state)
กรณีพังพินาศที่สุด เราอาจเข้าใจว่าคือซีเรีย เพราะยังมีสงคราม เป็นต้นกำเนิดของคลื่นผู้อพยพนับล้านทั่วโลก และเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการรัฐอิสลาม หรือ ISIS แต่อาทิตย์บอกว่า ยังมีปัจจัยที่ทำให้ซีเรียดูมีทีท่าที่จะฟื้นได้ง่ายกว่าลิเบีย
“ถ้าดูความสามารถที่จะฟื้นตัวกลับขึ้นมาจากความเป็นรัฐล้มเหลวได้ ลิเบียพังกว่า เพราะอย่างน้อยซีเรียเอง บาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย ก็ยังอยู่ในอำนาจ หมายถึงว่าระบอบอำนาจนิยม ไม่ว่าจะดีจะชั่วอย่างไรก็ยังไม่ล้ม ระเบียบทางการเมืองยังไม่ล้ม”
การปฏิวัติประชาชนที่ปลายทางยังไม่ใช่ประชาธิปไตย
เมื่อมองภาพรวมปรากฏการณ์ลุกฮือหลังผ่านไป 11 ปี เห็นได้ชัดว่าประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่งอกงามขึ้นมา แต่ก็ใช่ว่าความเปลี่ยนแปลงใดๆ ของชีวิตผู้คนจะไม่เกิดขึ้น อาทิตย์ยังยืนยันคำเดิมว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเพียงกระบวนการหนึ่ง
“อาหรับสปริงก็เป็นอีกกระแสหนึ่ง ซึ่งโลกอาหรับพยายามจะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไปสู่ระบอบอะไรสักอย่างที่ให้คุณค่า ให้ศักดิ์ศรีต่อประชาชนมากขึ้น โดยผลลัพธ์ที่เกิดจากการลุกฮือของมวลชนนั้นไม่แน่เสมอไปว่าจะเป็นประชาธิปไตย แต่อย่างน้อยมันแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแน่นอน แม้ไม่แน่เสมอไปว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่เป็นระบอบที่สะท้อนเสียง สะท้อนความปรารถนาของประชาชนมากขึ้น
“อย่างที่สองคือ กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองนี้เป็นกระบวนการที่ไม่มีที่สิ้นสุด มันต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เหมือนประชาธิปไตยที่ไม่ใช่ผลลัพธ์ปลายทาง แต่เป็นกระบวนการที่เราต้องทำทุกวัน มันต้องสู้ ต้องยืนยันอุดมการณ์นี้กันในชีวิตประจำวัน
“ฉะนั้นก็เช่นเดียวกัน เราบอกไม่ได้หรอกว่าอาหรับสปริงนั้นให้บทสรุปที่เลวร้าย หรือล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะการต่อสู้มันยังไม่จบ เรายังนับศพไม่ได้ครับ”
