ใช้หวยช่วยพัฒนาท้องถิ่น จะออกแบบให้การเสี่ยงโชคส่งผลกับประโยชน์ของพื้นที่ได้มากแค่ไหน?
...
LATEST
Summary
- ทุนการศึกษา ‘หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน’ หรือ ODOS เคยมีแนวคิดที่จะใช้เงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งฯ ในนามของ ‘หวยออนไลน์’ เลขท้าย 2 และ 3 ตัวอันลือลั่น ที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับเจ้ามือหวยเถื่อน แต่ต่อมาต้องยกเลิกไป
- ข้อมูลล่าสุดปี 2562-2563 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล อนุมัติเงินบริจาคและสนับสนุนไป 144.32 ล้านบาท ให้แก่โครงการจำนวน 142 โครงการ ที่มักไม่เป็นชิ้นเป็นอัน และเป็นเบี้ยหัวแตก
- บทความนี้จะพาไปดูกรณีเปรียบเทียบว่า เงินหวยของต่างประเทศ ในกรณีของอังกฤษ ทำอะไรได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันเป็นเงินที่ช่วยพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่นประจำเมืองต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่เฉพาะในเขตเมืองหลวงเพียงอย่างเดียว
...
สำหรับคนที่เกิดทันรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อาจเคยได้ยินทุนการศึกษา ‘หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน’ หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า ODOS (One District One Scholarship) ทุนดังกล่าวเป็นทุนที่ส่งนักเรียนไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ก่อนหน้านั้น ประเทศไทยมีทุนที่รู้จักกันดีคือ ทุนก.พ. (ทุนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ที่สัมพันธ์กับระบบการจัดอัตรากำลังคนของส่วนกลาง แต่ทุน ODOS ยึดโยงกับพื้นที่ในระดับอำเภอ
นอกจากทุน ODOS จะสร้างนวัตกรรมที่ยึดโยงกับ ‘พื้นที่’ แล้ว โครงการดังกล่าวใช้เงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งฯ ในนามของ ‘หวยออนไลน์’ เลขท้าย 2 และ 3 ตัวอันลือลั่น ที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับเจ้ามือหวยเถื่อน อย่างไรก็ดี หวยออนไลน์ก็ถูกล้มลงไปพร้อมกับคำพิพากษาให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ผิดในฐานะดำเนินโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) ตั้งแต่งวดวันที่ 1 สิงหาคม 2546 - 16 กันยายน 2549 โดยมิชอบ ทุน ODOS ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งในเรื่องที่มาของเงิน และความไม่พร้อมในการเตรียมตัวจนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมเมื่อช่วงปี 2547 แต่ถึงอย่างนั้น ทุนนี้ถือว่าเป็นความพยายามที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
อันที่จริง รายได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาลในทุกวันนี้ ถูกนำไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์อยู่เหมือนกัน แต่เป็นปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมด ข้อมูลเท่าที่หาเจอในเว็บไซต์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ปี 2556 ได้ให้ทุนการศึกษานักเรียน-นักศึกษาเพียง 118 คน ในวงเงิน 1,178,180 เท่านั้น
เงินนำส่งรายได้แผ่นดิน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลระหว่างปี 2562-2563
ที่มา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, รายงานประจำปี 2563 (ม.ป.ท : ม.ป.พ., ม.ป.ป.), หน้า 44
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลส่งเงินเข้ารัฐบาลระดับ 3 หมื่นล้านบาท ในปี 2562-2563 ไม่เพียงเท่านั้น ปี 2562 ที่เคยส่งรายได้ 3% (มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท) เข้ากองทุนสลากฯ เพื่อพัฒนาสังคม งบก้อนนี้ถูกตัดออกในปี 2563 และนำไปผนวกรวมเงินรายได้ส่งเข้ารัฐ ทำให้เพิ่มจาก 25% เป็น 28% หลังจากมีการตราพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562
การจัดสรรรายได้ของการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มา: https://www.glo.or.th/about/performance/revenue
ข้อมูลของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแสดงให้เห็นผลงานของพวกเขาจากโครงการที่สนับสนุนในปี 2562-2563 อนุมัติเงินบริจาคและสนับสนุนไป 144.32 ล้านบาท แบ่งเป็นด้านสาธารณสุข การศึกษา กีฬา สังคมสงเคราะห์ และศิลปวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ศาสนา จำนวน 142 โครงการ (มากที่สุดคือสังคมสงเคราะห์ 66 โครงการ) ที่มักไม่เป็นชิ้นเป็นอันและเป็นเบี้ยหัวแตก ต่างจาก ODOS ที่ถือเป็นพลังทางการเมืองสำคัญที่มีความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ ที่อาจนับเป็นส่วนหนึ่งในการตลาดทางการเมืองไปด้วย
ความแตกต่างเช่นนั้นอาจเป็นเพราะระบบการจัดการด้านนี้ เป็นภารกิจที่อยู่ในสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ไม่ได้มีหน้าที่หลักในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม
บทความนี้จะพาไปดูกรณีเปรียบเทียบว่า เงินหวยของต่างประเทศ ในกรณีของอังกฤษ ทำอะไรได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันเป็นเงินที่ช่วยพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่นประจำเมืองต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่เฉพาะในเขตเมืองหลวงเพียงอย่างเดียว
รายได้จากหวยอังกฤษ ตั้งเป็นกองทุนทำประโยชน์เพื่อสังคม
อังกฤษ นำรายได้ส่วนหนึ่งจาก National Lottery หรือ สลากกินแบ่งแห่งชาติ มาทำประโยชน์เพื่อสังคม (good cause) ในนาม National Lottery Distribution Fund หรือ NLDF (กองทุนกระจายสลากกินแบ่งแห่งชาติ) ตั้งแต่ตั้งปี 2537
สลากกินแบ่งแห่งชาติได้สมทบเงินสนับสนุนประโยชน์เพื่อสังคมกว่า 5.2 หมื่นล้านปอนด์ (ประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท) โดยสนับสนุนกิจการด้านกีฬา ศิลปะ มรดกทางวัฒนธรรม สุขภาพ การศึกษา และสิ่งแวดล้อม โดยกองทุนนั้นมาจากยอดขายสลากและรายได้อื่นๆ อย่างรางวัลที่ไม่มีผู้ได้รับ
หากประมวลภาพรวมการให้ทุน เมื่อแรกตั้งยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ทำให้มีการให้ทุนก้อนใหญ่กับโครงการขนาดใหญ่ เช่น
ปี 2539 สภาท้องถิ่น Gateshead Metropolitan Borough Council ได้รับทุนสนับสนุน 584,000 ปอนด์ในการสร้างประติมากรรมแลนด์มาร์กที่รู้จักกันในนาม Angel of The North โครงการสถาปัตยกรรมขนาดยักษ์มาพร้อมกับการมองไปข้างหน้าที่จะเฉลิมฉลองปี 2000 ในฐานะยุคมิลเลนเนียม
ต่อมา ในปี 2540 ได้สนับสนุนการสร้างมิลเลนเนียมโดมที่ลอนดอนด้วยเงิน 600 ล้านปอนด์ เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ เช่น Millennium Bridge ที่นิวคาสเซิล และ Wales Millennium Centre ที่เมืองคาร์ดิฟฟ์
ปีต่อมา สนับสนุนเงิน 31.8 ล้านปอนด์เพื่อสร้างศูนย์อวกาศแห่งชาติที่เมืองเลสเตอร์
ปี 2542 สนับสนุนเงิน 46.3 ล้านปอนด์เพื่อสร้างสนาม Millennium Stadium ที่เวลส์
ปี 2543 ยังสนับสนุนทุนสร้างภาพยนตร์ที่สร้างจากละครเพลงชื่อ Topsy-Turvy จนได้รับรางวัลออสการ์สาขาการออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมและการแต่งหน้ายอดเยี่ยม
ปี 2544 สนับสนุนงบ 56 ล้านปอนด์สร้างส่วนเอเด็นจนกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้
ปี 2545 ได้สนับสนุนให้สร้างย่านศิลปะที่ชื่อว่า The De La Warr Pavilion ริมทะเลเมือง Bexhill ฯลฯ
กองทุน HLF ให้ทุนสนับสนุนการก่อสร้าง National Marine Park ที่เมือง Plymouth กว่า 9.5 ล้านปอนด์ ที่มา: https://oneplymouth.co.uk/advertise-your-business/

กองทุนแรก เรียกในอีกชื่อว่า Heritage Lottery Fund (HLF) มีฐานมาจาก National Land Fund (กองทุนที่ดินแห่งชาติ) ที่ตั้งขึ้นในปี 2489 และ National Heritage Memorial Fund (กองทุนมรดกโบราณสถานแห่งชาติ) ในปี 2523 มาผนวกอยู่ในร่มของ National Lottery เมื่อปี 2537 โดยมีจุดประสงค์เพื่ออนุรักษ์มรดกของสหราชอาณาจักรที่หลากหลาย และกระตุ้นให้ผู้คนมีส่วนร่วมในมรดกทางวัฒนธรรมและขยายการเข้าถึงและเรียนรู้
จนถึงปัจจุบันมีโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนไปถึง 44,000 โครงการ เป็นเงินกว่า 8.3 พันล้านปอนด์ ขณะที่สมัยยังเป็นกองทุนแบบเดิม พวกเขาได้เงินเพียง 10 ล้านปอนด์ต่อปีเท่านั้น หลังจากกองทุนใหม่เกิดขึ้น ก็ได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มเป็น 1.5 พันล้านปอนด์ในช่วงสามปีแรก
กองทุนให้การสนับสนุนอย่างกว้างขวางด้วยงบประมาณหลายระดับตั้งแต่ 3,000 ปอนด์ จนถึง 5 ล้านปอนด์ และยังเพิ่มมิติของโครงการให้ซับซ้อนขึ้นในกรณีของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ รวมไปถึงการฟื้นฟูย่านเมืองเก่า ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้คน
ขณะที่ National Lottery Community Fund หรืออีกชื่อว่า Big Lottery Fund (BLF) เกิดจากการรวมตัวกันของสององค์กรอย่าง New Opportunities Fund และ the Community Fund
ส่วนนี้ จะมุ่งช่วยเหลือชุมชนและประชาชน ซึ่งกว่า 80 เปอร์เซ็นต์สนับสนุนอาสาสมัครและองค์กรระดับชุมชน และยังรวมไปถึงองค์กรของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกิจการเพื่อสังคม รวมไปถึงงานด้านสุขภาพ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และงานด้านการกุศล ซึ่งคงคล้ายกับองค์กรอย่าง สสส. (สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ) ของบ้านเราที่มีที่มาของเงินมาจากภาษีเหล้าและบุหรี่
ว่ากันว่า ตั้งแต่ปี 2559-2564 BLF มอบทุนสนับสนุนโครงการไปกว่า 3.4 พันล้านปอนด์ นับได้มากกว่า 72,000 ทุน
โอกาสของเงินเสี่ยงโชค สู่การพัฒนาท้องถิ่น
กลับมาที่ไทย เป็นไปได้หรือไม่ว่าสำนักสลากกินแบ่งรัฐบาลจะถูกปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และสร้างกองทุนที่ครอบคลุมและตอบโจทย์ในสังคมไทยที่โอบอุ้มกับกิจการสาธารณะต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะทุนสำหรับการพัฒนาเชิงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัย การก่อสร้าง หรือการหนุนเสริมการผลิตในวิสาหกิจท้องถิ่นที่ไม่ใช่งานที่ทับซ้อนกับงานของหน่วยงานราชการหรือท้องถิ่นโดยตรง
หากย้อนกลับไปพิจารณาที่มาและวัตถุประสงค์ของทุน ODOS อาจจะนำไปสู่การสร้างทุนการศึกษาเรียนต่อต่างประเทศที่สนับสนุนระดับ อบจ. ที่พิจารณาส่งเสริมนักเรียนที่อยู่ในเทศบาลต่างๆ ให้ลูกชาวบ้านมีโอกาสทางการศึกษา ออกไปเปิดโลก สร้างเครือข่ายนานาชาติให้มาเชื่อมต่อกับท้องถิ่น
และหากกองทุนวางระบบให้ดี ก็สามารถจะนำไปสู่การพัฒนาบนฐานของท้องถิ่นที่นำไปสู่การเขียนขอทุนเพื่อรับการสนับสนุนในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรทางสังคมต่างๆ ที่ยึดโยงกับพื้นที่เพื่อเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้
ดังนั้น การซื้อหวยจึงมิใช่เพียงการเสี่ยงโชค แต่หมายถึงโอกาสในการต่อยอดการพัฒนาท้องถิ่นให้ได้ด้วย หากกลไกเอื้ออำนวย
