Humberger Menu

สถานการณ์สื่อพม่าวิกฤติ หลังช่างภาพอิสระเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

Politics

24 ธ.ค. 64

creator
กองบรรณาธิการ
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • ตั้งแต่ยึดอำนาจมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 คณะรัฐประหารพม่าควบคุมการทำงานของสื่ออย่างเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งห้ามใช้คำว่า ‘เผด็จการทหาร’ เมื่อกล่าวถึง นายพลมิน อ่อง หล่าย และคณะทหารที่ร่วมก่อการ
  • นับตั้งแต่รัฐประหาร สื่อมวลชนมากกว่า 100 คนที่ถูกควบคุมตัว ประมาณครึ่งหนึ่งที่ได้รับการปล่อยตัว โดย โก โซ หน่าย ช่างภาพอิสระ เป็นสื่อคนแรกที่เสียชีวิต
  • ขณะที่สื่ออิสระรายงานข่าวการประท้วงเงียบในย่างกุ้งให้เห็นถึงสภาพเมืองร้าง สื่อภายใต้การควบคุมของรัฐจะเผยแพร่ภาพประชาชนไปรวมตัวกันที่วัดและฉลองวันหยุดอย่างสงบ

...


นับตั้งแต่ยึดอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 นักข่าวและสื่อมวลชนกลายเป็นเป้าหมายของรัฐบาลทหารในการควบคุมข้อมูลข่าวสารให้เป็นไปในแนวทางที่รัฐต้องการเท่านั้น การคุกคามจากรัฐหลายรูปแบบทำให้สื่อต่างๆ ในพม่าต้องใช้วิธีปิดสำนักงาน หรือทำงานใต้ดิน ขณะที่พนักงาน นักข่าว ช่างภาพ ก็เสี่ยงต่อการถูกจับกุมและนำไปสู่การทารุณกรรมด้วยวิธีต่างๆ

มีรายงานว่า ช่างภาพข่าวอิสระในพม่าเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ระหว่างการควบคุมตัวของกองทัพ หลังจากถูกจับไปเพียงไม่กี่วัน ขณะกำลังถ่ายภาพการชุมนุมประท้วงเงียบ (silent strike)

เท่าที่โลกภายนอกมีข้อมูล นับตั้งแต่รัฐประหารในพม่าเป็นต้นมา มีสื่อมวลชนมากกว่า 100 คนที่ถูกควบคุมตัว ประมาณครึ่งหนึ่งที่ได้รับการปล่อยตัว โดย โก โซ หน่าย (Ko Soe Naing) เป็นสื่อคนแรกที่เสียชีวิต

โก โซ หน่าย เป็นกราฟิกดีไซเนอร์และสื่อมวลชนอิสระ เขาถูกจับเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2021 ตอนที่กำลังถ่ายภาพการชุมนุมประท้วงเงียบ (silent strike) ที่เมืองย่างกุ้ง ซึ่งนับเป็นการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายเดือน เมื่อประชาชนทิ้งให้ท้องถนนในย่างกุ้งว่างเปล่านาน 6 ชั่วโมง


ภาพจากอินสตาแกรม soe_naing_11

 

โซ หน่าย และเพื่อนร่วมงานทำข่าววิกฤติในพม่านานหลายเดือน เผยให้เห็นการประท้วงต่อต้านรัฐบาล และการถูกทหารปราบปรามอย่างรุนแรง ซึ่งมักถูกสำนักข่าวต่างประเทศนำวัตถุดิบไปใช้ในการทำข่าว

หลังถูกจับ เขาถูกส่งไปค่ายกักกันทหารทางตะวันออกของเมืองย่างกุ้ง ต่อมาครอบครัวได้รับการแจ้งว่าเขาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) ทวีตข้อความว่า โซ หน่าย ช่างภาพข่าวที่ถูกทหารลักพาตัวไประหว่างถ่ายภาพการชุมนุม เสียชีวิตแล้ว หลังจากถูกทหารควบคุมตัว ปัจจุบันไม่รู้ชะตากรรมของเพื่อนที่อยู่ด้วยกัน ภรรยา ลูกวัย 4 ขวบ

เขาไม่ใช่ประชาชนคนแรกที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว แม้จะไม่มีตัวเลขแน่ชัด แต่มีรายงานจำนวนหนึ่งระบุว่า มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD เสียชีวิต หลายกรณีปรากฏร่องรอยตามร่างกายว่า สาเหตุของการเสียชีวิตคือการถูกทำร้ายและทรมาน

วันที่ 11 ธันวาคม เช่นกัน ออง ซาน ลิน (Aung San Lin) ผู้สื่อข่าวจาก Democratic Voice of Burma (DVB) เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกเจ้าหน้าที่ประมาณ 20 นาย บุกควบคุมตัวจากบ้านพักช่วงกลางดึก เนื่องจากเผยแพร่ข่าวการบุกเผาบ้านผู้สนับสนุนพรรค NLD โดยคนของกองทัพและกองกำลังพยูซอตี (Pyu Saw Htee)

ตั้งแต่ทหารยึดครองอำนาจ มีศูนย์กักขังเพื่อทรมานผู้ถูกควบคุมตัวเพิ่มขึ้นมากมายทั่วประเทศ ทั้งศูนย์ที่สร้างและใช้งานในยุคเผด็จการทหาร และศูนย์ที่สร้างขึ้นใหม่ในค่ายทหารหรืออาคารของชุมชน

คณะรัฐประหารควบคุมการทำงานของสื่ออย่างเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งห้ามใช้คำว่า ‘เผด็จการทหาร’ เมื่อกล่าวถึง นายพลมิน อ่อง หล่าย และคณะทหารที่ร่วมก่อการ ทั้งนี้ มีสื่อ 5 สำนัก ซึ่งรวมถึง Democratic Voice of Burma และ Khit Thit ถูกยึดใบอนุญาตแล้ว

รัฐพยายามสร้างภาพว่า สื่อที่ไม่ได้ทำงานให้คณะรัฐประหารเป็นศัตรูของรัฐ นักข่าวท้องถิ่นคนหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าวต่างประเทศว่า สื่อที่ถูกควบคุมโดยรัฐและสื่ออิสระรายงานข่าวการประท้วงเงียบของประชาชนต่างกันอย่างสิ้นเชิง สื่อภายใต้การควบคุมของรัฐเผยแพร่ภาพประชาชนไปรวมตัวกันที่วัดและฉลองวันหยุดอย่างสงบ ขณะที่สื่ออื่นๆ ต่างเผยแพร่ภาพเมืองย่างกุ้งที่ตกอยู่ในสภาพทิ้งร้าง

อย่างไรก็ตาม วิธีการของรัฐทำให้ประชาชนเริ่มหันมาเชื่อสื่ออิสระรายเล็กๆ มากกว่า เพราะพวกเขาเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าด้วยตาของตัวเอง โดยเฉพาะการปราบปรามอย่างรุนแรงของเจ้าหน้าที่




Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

BIMSTEC คืออะไร ทำไมใครๆ ไม่อยากให้ มิน อ่อง หลาย ผู้นำพม่าเข้าร่วม?

ตรวจแนวรบสงครามกลางเมืองพม่า ความไม่สงบและการสู้รบยังคงเกิดขึ้นทุกทิศทาง

จีนจะทำให้การเลือกตั้งพม่า 2025 เกิดขึ้นในภาวะสงครามได้อย่างไร

ผู้แทนพิเศษอาเซียนด้านกิจการพม่า อาจถึงเวลาต้องทบทวนบทบาท

ประชุมแก้ไขปัญหาพม่าที่กรุงเทพฯ เมื่อเชิญไม่ครบทุกฝ่าย จะจัดกี่ครั้งก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat