Humberger Menu

ความรัก ศรัทธา เสาไฟฟ้า ชัยชนะเลือกตั้งซ่อมของประชาธิปัตย์ สะเทือนถึงสนามผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

Politics

17 ม.ค. 65

creator
รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • การเลือกตั้งปี 2554 พื้นที่ภาคใต้มี 53 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ได้ไป 50 ที่นั่ง แต่ในปี 2564 ประชาธิปัตย์ได้ไปเพียง 22 จาก 50 ที่นั่งเท่านั้น
  • การเลือกตั้ง 2562 ประชาธิปัตย์ไม่ได้ที่นั่งในกรุงเทพฯ เลย และการเลือกตั้งซ่อมนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2564 ก็แพ้พลังประชารัฐ การกลับมาชนะที่ชุมพรกับสงขลา จึงสำคัญอย่างมากกับประชาธิปัตย์
  • ชัยชนะครั้งนี้จะส่งผลถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ แน่นอน สำหรับพรรคเก่าแก่ที่ต้องการชัยชนะและการเปลี่ยนแปลงอย่างประชาธิปัตย์

...

การเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สองที่นั่งภาคใต้ เขต 1 ชุมพร และ เขต 6 สงขลา ผลออกมาคงไม่ได้เกินความคาดหมาย เพราะพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนนำเป็นอันดับ 1 ทั้งสองพื้นที่

เจ้าของพื้นที่เดิมที่หลุดจากตำแหน่งจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีชุมนุม กปปส. คือ ชุมพล จุลใส ส.ส. ชุมพร 3 สมัย และ ถาวร เสนเนียม ส.ส. 7 สมัย เจ้าของพื้นที่สงขลา

ผลการเลือกตั้งเขต 1 ชุมพร อิสรพงษ์ มากอำไพ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนอย่างไม่เป็นทางการ 49,014 เสียง และ สุภาพร กำเนิดผล เขต 6 สงขลา ได้ไป 45,576 เสียง

เท่ากับว่า ขณะนี้ ประชาธิปัตย์ยังคงเป็นเจ้าของตำแหน่ง ส.ส. ของทั้งสองพื้นที่อย่างไม่เป็นทางการ 

ชัยชนะในสองพื้นที่นี้ อาจเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อการเมืองภาพใหญ่มากนัก แต่นัยที่ซ่อนอยู่นั้นมีความน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ ที่เจอกับความพ่ายแพ้ซ้ำๆ มาหลายครั้ง ได้ประสบชัยชนะในที่สุด


จากชัยชนะด้วยรัก ศรัทธา สู่ความพ่ายแพ้ยุคการเมืองใหม่ 

ประชาธิปัตย์ยึดครองพื้นที่ ส.ส. ภาคใต้มาเป็นเป็นเวลานาน ตั้งแต่ยุค ชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค ประชาชนในจังหวัดภาคใต้มีความผูกพันกับพรรคการเมืองเก่าแก่นี้ชนิดเรียกได้ว่าเป็นความรักและศรัทธา ในฐานะ ‘สถาบันทางการเมือง’ ของคนใต้

ในการเลือกตั้งปี 2554 พื้นที่ภาคใต้มี 53 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์กวาดไป 50 ที่นั่ง แผนที่ประเทศไทยโซนใต้เป็นสีฟ้าเกือบทั้งหมด นอกนั้นคือภูมิใจไทย 1 มาตุภูมิ 1 และชาติไทยพัฒนาอีก 1 ที่นั่ง 

แต่หลังจากเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญ รัฐประหาร 2557 การมีรัฐธรรมนูญ 2560 การเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐ การย้ายพรรคไปมา และความนิยมในตัว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีไม่น้อย ก็ทำให้สถานะของประชาธิปัตย์เปลี่ยนไป จากพรรคใหญ่ที่แข่งขันกับเพื่อไทย กลายเป็นพรรคขนาดกลาง และคาดว่าอาจเป็นขนาดเล็กในอนาคต 

กล่าวกันว่า ด้วยความเป็นสถาบันการเมืองของประชาธิปัตย์ที่ปักหลักมั่นคงในภาคใต้ คนรักประชาธิปัตย์ เลือกพรรคมากกว่าคน ดังนั้น ต่อให้ส่งเสาไฟฟ้าลง ก็ต้องชนะ 

แต่วาทกรรม ‘เสาไฟฟ้า’ ถูกลดทอนความจริงไปในการเลือกตั้ง 2562 เมื่อพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด 50 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ได้ไปเพียง 22 ลดลงจากปี 2554 ประมาณครึ่งหนึ่ง

ส่วนเจ้าของพื้นที่หน้าใหม่ ได้แก่ พลังประชารัฐ 13 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 8 พรรคประชาชาติ 6 และอีก 1 ที่นั่งเป็นของพรรครวมพลังประชาชาติไทย 

และหากข้ามมาดูในกรุงเทพฯ ประชาธิปัตย์ที่เคยมีที่นั่ง 70 เปอร์เซ็นต์ของจำนวน ส.ส. กรุงเทพฯ ทั้งหมด กลับถูกล้างบางไม่เหลือแม่แต่ที่นั่งเดียว โดยมีผู้ท้าชิง

อย่างพลังประชารัฐ เพื่อไทย และอนาคตใหม่ (ขณะนั้น) เข้ามายึดพื้นที่แทน


ความล้มเหลวในปี 2562 ทำให้ประชาธิปัตย์ต้องทบทวนตัวเองครั้งใหญ่ 

และความเป็นสถาบันการเมืองเก่าแก่ ที่ดูเหมือนความเก่าและแก่จะไม่ไปไหน ทำให้กลุ่ม New Dem ที่ตั้งขึ้นมาด้วยความหวังช่วงชิงพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ นำโดย ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ถูกสลาย พริษฐ์เคยให้เหตุผลของการลาออกจากพรรคว่า ประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่กว่าตัวบุคคล จากนั้นไม่นาน พริษฐ์ก็ผันตัวไปเป็นหนึ่งในแกนนำ Re-Solution ผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชน รื้อระบอบประยุทธ์ และปิดสวิตช์ ส.ว. 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ด้วยเหตุผลไม่อยากเลือก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ แทนที่โดย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ที่ประกาศเมื่อครั้งรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคว่า จะเป็น ‘ทีมอเวนเจอร์ส’

“...สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือ นโยบายวิสัยทัศน์ ต้องเปลี่ยนให้เท่าทันโลก ต้องมีระบบบิ๊กดาต้า เอไอ นำมาใช้รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์สังเคราะห์ประกอบการตัดสินใจทางการเมือง เดินหน้าสู่ความทันสมัยในอนาคต บุคลากรต้องเปลี่ยน หมดยุคซุปเปอร์แมน ต้องเป็นยุคของอเวนเจอร์ส ซุปเปอร์ฮีโร่ของพรรคต้องจับมือเป็นทีมอเวนเจอร์สประชาธิปัตย์ นำทัพเดินไปข้างหน้า”

ครั้งนั้น หมุดหมายสำคัญของประชาธิปัตย์หมายถึงการปฏิรูปภายใน ทำงานเป็นทีม ใช้จุดเด่นของแต่ละคนมาพัฒนาพรรค และพยายามปรับตัวเข้าหาคนรุ่นใหม่ สร้างการเมืองร่วมสมัยมากขึ้น 

เปลี่ยนวาทกรรม ‘เสาไฟฟ้า’ เป็น ‘ทีมอเวนเจอร์ส’ 

แต่สองสามปีผ่านไป ดูคล้ายกับว่า หลายคนน่าจะลืมคำว่า ‘ทีมอเวนเจอร์ส’ ที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เคยพูดไปเสียแล้ว


เลือกตั้งซ่อมภาคใต้ วาทกรรมเสาไฟถูกท้าทาย

เลือกตั้งซ่อมภาคใต้ พื้นที่สีฟ้าถูกท้าทายโดยพลังประชารัฐ 

ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล พลังประชารัฐคงไม่หวังเล็กเหมือนพรรคก้าวไกล แต่พลังประชารัฐคิดใหญ่กว่า หลังจากเมื่อปี 2564 อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ จากพลังประชารัฐ สามารถยึดพื้นที่เขต 3 นครศรีธรรมราช ได้ ด้วยการชนะ พงศ์สิน เสนพงศ์ จากประชาธิปัตย์ 4,000 คะแนน   

การเลือกตั้งซ่อมชุมพรและสงขลา เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ถือว่ามีความเข้มข้นมากกว่าการเลือกตั้งซ่อมนครศรีธรรมราช เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลกำลังเผชิญวิกฤติ และเป็นการโยนหินถามทางครั้งสำคัญ พูดง่ายๆ ว่าเป็นการเช็กเรตติ้ง ก่อนที่การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเกิดขึ้น - ซึ่งคาดกันว่าอีกไม่นานเกินรอ

พลังประชารัฐส่งแกนนำของพรรคลงหาเสียงในพื้นที่ ทั้ง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า 

“เขามีที่มาที่ไปที่มาสมัครในนาม พปชร. และเขาตั้งใจในฐานะของคนรุ่นใหม่ ไฟแรง บ้านมีตังค์ พี่น้อง เราเลือก ส.ส. เราเลือกตัวแทนของพวกเรา เราต้องเลือกคนที่มีความพร้อม ถูกต้องไหมพี่น้อง หนึ่ง ชาติตระกูลต้องดี นั่นคือศรีตรังใช่เปล่าก็ไม่รู้ สอง ต้องมีตังค์”

การปราศรัยข้างต้นของร้อยเอกธรรมนัส กลายเป็นแนวรุกด้านกลับ ให้ประชาธิปัตย์นำวาทะ ‘คนมีตังค์’ มาย้อนรอย โดย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กล่าวบนเวทีว่า “ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องเลือกตั้ง ประชาชนก็ไม่มีความหมาย เอาเก้าอี้มาตั้งแล้วก็ประมูลกัน ใครหาเบี้ยมาได้ คนนั้นเป็นผู้แทนฯ” 

เช่นเดียวกับผู้สมัคร ส.ส. ของก้าวไกล ก็ยื่นคำร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) สงขลา ว่าคำปราศรัยของร้อยเอกธรรมนัส เข้าข่ายฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่ 

เรื่องนี้มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นจุดเปลี่ยนผลการเลือกตั้ง เหมือนที่ประชาธิปัตย์ใช้คำว่า “อย่าเหยียบคนสงขลา” เพราะไม่ต่างกับเป็นการดูแคลน ว่าคนใต้จะเลือกคนที่มีเงินมากกว่า จึงกลายเป็นว่า คะแนนที่พลังประชารัฐควรจะได้ ก็สวิงกลับไปหาประชาธิปัตย์แทน

นอกจากวาทกรรมเจ้าปัญหา แนวทางการหาเสียงของพลังประชารัฐค่อนข้างชัดเจนว่าเน้นภาพใหญ่ที่การเมืองระดับชาติเป็นจุดขาย โดยเฉพาะผลงานรัฐบาล เช่น คนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เรียกได้ว่า พลังประชารัฐค่อนข้างเอาจริงเอาจังกับการแย่งชิงพื้นที่ประชาธิปัตย์ โดยหวังว่าจะคว้าเก้าอี้ในสภาฯ เพิ่มอีก 2 ที่นั่ง หลังจากทำสำเร็จมาแล้วที่นครศรีธรรมราช 

แต่ที่สุดแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ก็สามารถยึดเก้าอี้ในสองพื้นที่เอาไว้ได้ พร้อมประกาศชัยชนะด้วยการขอบคุณคนชุมพรที่คืนความเป็นธรรมให้อดีต ส.ส. ชุมพล จุลใส ด้วยการเลือกตัวแทนจากประชาธิปัตย์เข้ามาอีก ขณะที่ สุภาพร กำเนิดผล ก็ถูกยกย่องในฐานะ ส.ส. หญิงคนแรกของสงขลา 

การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ที่กรุงเทพฯ

ถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองใดๆ คาดว่าในปีนี้ คนกรุงเทพฯ น่าจะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ หลังจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 64/2559 ปลด หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร จากตำแหน่ง และแทนที่ด้วย พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 

และค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า ประชาธิปัตย์จะส่งผู้สมัครลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คือ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ซึ่งไม่ใช่บุคลากรลูกหม้อของพรรค เป็นแคนดิเดต พร้อมประกาศ ‘เปลี่ยนกรุงเทพฯ’ ทำให้ฐานเสียงประชาธิปัตย์คาดว่า การให้โอกาสคนรุ่นใหม่ อาจเป็นเวลาที่ประชาธิปัตย์จะเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างจริงจัง 

หลายคนอาจคิดว่า สุชัชวีร์ ไม่น่าจะชนะ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งได้รับความนิยมมาเป็นเวลานาน แม้ประชาธิปัตย์จะเสียกรุงเทพฯ ในการเลือกตั้ง ส.ส. แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

ตั้งแต่ปี 2547 ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เป็นคนจากประชาธิปัตย์ทั้งหมด ตั้งแต่ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่เอาชนะ ปวีณา หงสกุล ต่อมาปี 2552 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร เอาชนะ ยุรนันท์ ภมรมนตรี จากเพื่อไทย

และในปี 2556 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์และประชาธิปัตย์ มาพร้อมกับวาทกรรม “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” ประโยคนี้คือยุทธศาสตร์สำคัญ หลังชุมนุม 2553 และหลังการชนะแบบแลนด์สไลด์ของเพื่อไทย และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2554 

ความมั่นใจของประชาธิปัตย์ครั้งนั้นมาจากจำนวน ส.ส. 23 ที่นั่งจาก 33 ที่นั่งใน กทม. ความเป็นพรรคอันดับ 2 และมั่นใจว่า คนกรุงมีสิ่งที่ ‘ไม่พึงประสงค์’ ร่วมกัน คือ เพื่อไทย + ทักษิณ + โกง + เสื้อแดง จึงเป็นที่มาของประโยคที่ว่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” 

และน่าจะเป็นความย่ามใจในแลนด์สไลด์ของเพื่อไทยเช่นกัน ที่ส่ง พลตำรวจเอกพงศพัศ พงษ์เจริญ เพราะสิ่งที่ลือกันว่า มาจากปาก ทักษิณ ชินวัตร “ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ” (ภายหลัง จิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทยขณะนั้น กล่าวว่า เป็นคำพูดของตนเอง) แต่คาดกันว่า สิ่งที่หลายคน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยมองข้าม และประมาทกันเกินไป คือ สิ่ง ‘ไม่พึงประสงค์’ ของคนกรุงเทพฯ ที่กล่าวไปข้างต้น สามารถปลุกปั่นพูดซ้ำๆ ได้ทุกสนาม และเป็นสิ่งที่ทำให้หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ ทิ้งห่างพลตำรวจเอกพงศพัศ 200,000 คะแนน แม้มีกระแสเบื่อหน่ายของคนกรุงเทพฯ ก็ตาม 

ชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อมของประชาธิปัตย์ในภาคใต้ บางคนก็ปรามาสว่า ด้วยความรักและศรัทธาในสถาบันการเมืองเก่าแก่ มีภาพลักษณ์ซื่อสัตย์ ทำให้ ‘ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ’ เช่นกัน 

แต่การขยับขยายมาสู่การเลือกตั้งกรุงเทพฯ อาจต้องคิดใหม่ ในพื้นที่ที่ไม่มี ส.ส. เลยแม้แต่ที่นั่งเดียว สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คงไม่ได้ถูกวางตัวเหมือน ‘เสาไฟฟ้า’ แต่เป็นจุดเปลี่ยนที่จะปัดฝุ่นความเก่าของประชาธิปัตย์ให้สดใสขึ้นบ้าง 

สิ่งนี้ทำให้สุชัชวีร์เป็นเครื่องบ่งชี้อนาคตของประชาธิปัตย์ ถ้าพ่ายแพ้ในสนามกรุงเทพฯ อเวนเจอร์สก็แล้ว สุชัชวีร์ก็แล้ว พรรคจะไปทางไหนต่อ

เมื่อเวลาเลือกตั้งจริงมาถึง คงต้องติดตามกันอีกว่า คนกรุงเทพฯ จะเลือกผู้ว่าจากตัวบุคคล พรรค แนวทาง อุดมการณ์ หรือวาทกรรมอะไรสักอย่าง  



Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

เฉลิมชัย ศรีอ่อน ผู้กรีดเลือดออกมาเป็นสีฟ้า กับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่

เปิดมติพรรคว่าที่ฝ่ายค้าน โหวต ‘พิธา’

ว่าที่ฝ่ายค้านใช้เหตุผลอะไร ในการโหวตหรือไม่โหวต ให้พิธาเป็นนายกฯ คนที่ 30

ครบ 90 ปี ปรีดี พนมยงค์ ถูกเนรเทศ เพราะข้อกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์

สรุปเบอร์ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรคการเมือง

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat